ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 มีนาคม 2568
เวียดนามประกาศ 5 ภารกิจสำคัญดันเป้าหมาย GDP โต 8%

ด้านการปฏิรูปการบริหาร รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่นลดเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนการบริหารลงอย่างน้อย 30% และลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจลงอย่างน้อย 30% และยกเลิกเงื่อนไขทางธุรกิจที่ไม่จำเป็นลง 30%
กระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่น จะต้องปรับปรุงข้อมูลขั้นตอนการบริหารในฐานข้อมูลขั้นตอนการบริหารแห่งชาติให้ทันท่วงที ครบถ้วน และแม่นยำ
สำนักงานของรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักและประสานงานกับกระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่น เพื่อจัดทำและเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติแผนงานลดและปรับลดขั้นตอนการบริหารที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตและการดำเนินธุรกิจในช่วงปี 2568-2573 โดยให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2568
ด้านการจัดการตามข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจ กระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่นต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเจรจาและการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างผู้นำคณะรัฐมนตรีและผู้นำรัฐวิสาหกิจ เอกชน และบริษัทที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจากประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป และอาเซียน อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลที่เป็นรูปธรรม สำหรับประเด็นที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้า จะต้องรายงานให้กระทรวงการคลังพิจารณาและรายงานต่อนายกรัฐมนตรีก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2568
ด้านการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล รัฐบาลได้ขอให้กระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่นต่างๆ กำหนดแผนเฉพาะเพื่อนำมติที่ 57-NQ/TW ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ของคณะกรรมการกรมการเมืองว่าด้วยความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลไปปฏิบัติ รวมทั้ง มติที่ 03/NQ-CP ลงวันที่ 9 มกราคม 2568 ของรัฐบาลที่อนุมัติแผนปฏิบัติการเพื่อนำมติที่ 57-NQ/TW ไปปฏิบัติ และมติที่ 193/2025/QH15 ของสมัชชาแห่งชาติเกี่ยวกับการดำเนินการนำร่องกลไกพิเศษและนโยบายหลายประการเพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลไปปฏิบัติ
กระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่นต้องเร่งดำเนินการโครงการหมายเลข 06 และส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาคส่วนและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลอย่างครอบคลุมเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ข้อมูล เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม
กระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่นต้องส่งเสริมการทูตด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ นวัตกรรม และผู้ประกอบการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอกลไกและนโยบายเพื่อดึงดูดและรักษาผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติสูงทั้งในและต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมในการพัฒนาและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเวียดนาม และส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจดิจิทัล
กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรมจะดำเนินการตามแนวทางแก้ไขและนโยบายเพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสูงสำหรับสาขาที่มีความสำคัญและสาขาใหม่
ด้านนโยบายวีซ่า กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักและประสานงานกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเพื่อดำเนินการตามมติที่ 44/NQ-CP ลงวันที่ 7 มีนาคม 2568 ของรัฐบาลเกี่ยวกับการยกเว้นวีซ่าสำหรับพลเมืองจาก 12 ประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเสนอแนวทางต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการยกเว้นวีซ่าฝ่ายเดียวสำหรับพลเมืองจากหลายประเทศในยุโรป ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา โดยให้ความสำคัญในการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ บุคคลที่มีความมั่งคั่ง และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในสาขาที่เวียดนามต้องการเป็นอันดับแรก
กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการจัดทำแนวทางในการปรับปรุงนโยบายด้านวีซ่า ขยายการออกวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ให้กับนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตลอดจนนโยบายใบอนุญาตทำงานให้กับชาวต่างชาติในลักษณะที่เปิดกว้างและเป็นมิตรมากขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีเงินหนาและแรงงานที่มีทักษะมายังเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และการบูรณาการระหว่างประเทศ และนำเสนอต่อรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2568
กระทรวงการคลังมีหน้าที่หลักในการประสานงานกับกระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่นอื่น ๆ เพื่อจัดทำร่างกฎหมายขยายเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าเช่าที่ดิน ปี 2568 และร่างกฎหมายขยายเวลาการชำระภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ที่ประกอบและผลิตในประเทศ และนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐบาลก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2568
กระทรวงการคลังจะเสนอขยายรายการภาษีที่มีสิทธิได้รับการลดหย่อนและลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่มใน 6 เดือนสุดท้ายของปี 2568 และ 2569 และรายงานต่อรัฐบาลก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2568
กระทรวงการคลังจะผลักดันกลไกและนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษเพื่อดึงดูดโครงการ FDI ขนาดใหญ่และเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของธุรกิจในประเทศในห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคและระดับโลก และจะสรุปร่างโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเอกชนและรายงานต่อคณะกรรมการพรรครัฐบาลในเดือนมีนาคม 2568 ก่อนที่จะส่งไปยังคณะกรรมการกรมการเมือง ตลอดจนจะสรุปเอกสารของมตินำร่องเกี่ยวกับการจัดการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์เสมือนและสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างรวดเร็วและรายงานต่อรัฐบาลก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2568
ธนาคารกลางเวียดนามจะศึกษาและเสนอแนวทางที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารต่างประเทศเข้าร่วมกระบวนการแก้ไขหนี้เสียและปรับโครงสร้างสถาบันสินเชื่อที่อ่อนแอในเวียดนามในเชิงรุกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม กระทรวงการก่อสร้างจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักและประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาและเสนอกลไกและนโยบายพิเศษเพื่อเร่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อสังคมให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจอย่างรวดเร็ว อนุญาตให้บริษัทและองค์กรต่างประเทศซื้อและเช่าที่อยู่อาศัยเพื่อสังคมสำหรับพนักงานและแรงงาน
นายกฯ เวียดนามสั่งทบทวนนโยบายภาษีในยุทธศาสตร์การค้าโลก

คำสั่งดังกล่าวซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามไปเมื่อไม่นานนี้ ได้ระบุถึงภารกิจเร่งด่วนและแนวทางที่จะช่วยให้เวียดนามปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันก็รักษาเป้าหมายการเติบโต รักษาเสถียรภาพของสภาวะเศรษฐกิจมหภาค ควบคุมเงินเฟ้อ และสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจหลักในปี 2568 และในอนาคต
เอกสารดังกล่าวเน้นย้ำถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นของเศรษฐกิจโลก โดยมีการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ในตลาดการเงินและอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายการค้าและภาษีศุลกากรใหม่ๆ ที่บางประเทศนำมาใช้
เพื่อรับมือต่อเรื่องนี้ เวียดนามจึงตั้งเป้าที่จะเสริมสร้างนโยบายเศรษฐกิจและการค้าเพื่อฝ่าฟันความท้าทายเหล่านี้
กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายให้ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับคู่ค้าสำคัญ เพื่อเสริมสร้างสถานะทางเศรษฐกิจระดับโลกของเวียดนาม
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าต้องสรุปแผนปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าการค้าจะสมดุลและยั่งยืน โดยเน้นที่ความสัมพันธ์ทางการค้าที่เสริมซึ่งกันและกันมากกว่าการแข่งขันโดยตรง
แผนดังกล่าวจะครอบคลุมมาตรการต่างๆ เพื่อกระจายตลาด ขยายการส่งออก ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็ดำเนินการตามข้อตกลงใหม่กับตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชียกลาง อินเดีย และบราซิล
นอกจากนี้ กระทรวงยังได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงการกำกับดูแลการปฏิบัติทางการค้าเพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและปกป้องชื่อเสียงของเวียดนาม
นอกจากนี้จะมีการควบคุมแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น ปราบปรามการลักลอบนำเข้า และแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรผ่านการลงทุนจากต่างประเทศที่ไม่เหมาะสม
กระทรวงการคลังจะเป็นแกนนำการทบทวนนโยบายภาษี โดยเน้นที่การดูแลความเป็นธรรม ความสมดุล และผลประโยชน์ร่วมกันในข้อตกลงด้านภาษีของเวียดนามกับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจหลัก
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับอัตราภาษีสำหรับสินค้าบางประเภทเพื่อให้สะท้อนถึงภูมิทัศน์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนนี้จะต้องจัดทำอย่างรวดเร็วและเสนอเพื่อขออนุมัติภายในเดือนนี้
การปรับนโยบายการเงินก็อยู่ในวาระการปรปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยธนาคารกลางเวียดนามได้รับมอบหมายให้จัดทำยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศในด้านการชำระเงินและธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้แน่ใจว่าเวียดนามยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในระบบการเงินโลก
นอกเหนือจากการค้าและการเงินแล้ว คำสั่งดังกล่าวยังระบุถึงแนวทางของเวียดนามเกี่ยวกับวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน และนโยบายการพำนักอาศัย เพื่อสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติและแรงงานที่มีทักษะอีกด้วย
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายให้ทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติทำงานและพำนักอาศัยในเวียดนามได้ง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงการขยายการยกเว้นวีซ่า การปรับกระบวนการวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ให้คล่องตัวขึ้น และการปรับข้อกำหนดเกี่ยวกับใบอนุญาตทำงานสำหรับภาคส่วนที่มีความสำคัญสูงง่ายขึ้น
รัฐบาลยังกำลังพิจารณานโยบายใหม่ในการออกบัตรประจำตัวผู้พำนักอาศัยชั่วคราวและใบอนุญาตพำนักอาศัยระยะยาวเพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถจากต่างประเทศ
คำสั่งของนายกรัฐมนตรีออกมาในขณะที่เวียดนามกำลังเผชิญกับความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับอุปสรรคด้านภาษีศุลกากร โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ต่อสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้
แนวทางเชิงรุกของรัฐบาลมุ่งหวังที่จะให้แน่ใจว่ามีสภาพแวดล้อมการค้าที่เป็นธรรมและมีเสถียรภาพในขณะที่ปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเวียดนาม
ด้วยมาตรการเหล่านี้ เวียดนามกำลังเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก เสริมสร้างความร่วมมือทางการค้า และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยมากยิ่งขึ้นสำหรับทั้งวิสาหกิจในและต่างประเทศ
เวียดนามยกระดับการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศตามแนวทาง OECD

เมื่อวันที่ 3 มกราคม นายเหวียน วัน ทังห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามในข้อตกลง CbC MCAA หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากรองนายกรัฐมนตรี บุ่ย แทงห์ เซิน เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลตามแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในประกาศเพิ่มเติมอีก 5 ฉบับเพื่อให้กลไกการรายงาน CbC กับประเทศคู่ค้ามีผลบังคับใช้ รวมถึงประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุพันธกรณีของเวียดนามต่อการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (Base Erosion and Profit Shifting:BEPS) และความมุ่งมั่นในการบังคับใช้มาตรฐานขั้นต่ำ BEPS ในการรายงาน CbC (มาตราที่ 13)
ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจะดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอัตโนมัติภายใต้มาตรา 6 ของ ความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี( Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters: MAC) ซึ่งเวียดนามได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคมของปีเดียวกัน
การรายงาน CbC เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้หน่วยงานภาษีประเมินความเสี่ยงการกำหนดราคาการซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทในเครือ (transfer pricing) และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงภาษีผ่านรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้ กำไร ภาษีเงินได้ที่ชำระ ทรัพย์สินจับต้องได้ และกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินงานในแต่ละประเทศ
ภายใต้ CbC MCAA บริษัทแม่ในเวียดนามจะต้องส่งรายงาน CbC ของบริษัทไปยังหน่วยงานภาษีในประเทศ ซึ่งจะส่งต่อรายงานไปยังประเทศที่ลงนามอื่นๆ โดยอัตโนมัติผ่านระบบการใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ (Common Transmission System:CTS)ของ OECD ผู้เสียภาษีในเวียดนามที่มีบริษัทแม่ตั้งอยู่ในประเทศอื่นไม่ต้องส่งรายงาน CbC ไปยังหน่วยงานภาษีของเวียดนาม หากทั้งเวียดนามและประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่เป็นผู้ลงนามใน CbC MCAA และตกลงกันเรื่องการแลกเปลี่ยนรายงาน CbC โดยอัตโนมัติ
เวียดนามกลายเป็นประเทศที่ 107 ที่เข้าร่วม CbC MCAA อย่างเป็นทางการหลังจากส่งปฏิญญาและประกาศต้นฉบับไปยังสำนักเลขาธิการ OECD สหภาพยุโรปตระหนักถึงความพยายามของเวียดนามในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และยังได้จัดให้เวียดนามอยู่ในรายชื่อเขตอำนาจรัฐที่ให้ความร่วมมือ
กรมสรรพากรกล่าวว่า การเข้าเป็นภาคี CbC MCAA หมายความว่าสหภาพยุโรปจะไม่ใช้มาตรการภาษีหรือมาตรการที่มิใช่ภาษีกับเวียดนาม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติของประเทศและสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยมากขึ้น
การลงนามในช่วงต้นปี 2568 สอดคล้องกับแผนงานของเวียดนามด้านภาษีขั้นต่ำทั่วโลก(global minimum tax) และยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการส่งเสริมความโปร่งใสทางการเงินและการบูรณาการทางเศรษฐกิจเข้ากับโลก
เวียดนาม-อินโดนีเซียยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน

การยกระดับความสัมพันธ์ครั้งนี้มุ่งหวังที่จะตอบสนองผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และมีส่วนสนับสนุนสันติภาพ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองในอาเซียนและทั่วโลก
การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการหารือระหว่างนายโต เลิ่ม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต แห่งอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ในระหว่างการเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2568 ของเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และคณะผู้แทนระดับสูงของเวียดนาม
ประธานาธิบดีซูเบียนโตเน้นย้ำว่าการเยือนของเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้งสองประเทศเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต และยืนยันว่าเวียดนามกับอินโดนีเซียมีประวัติศาสตร์ที่คล้ายกันหลายด้าน มีค่านิยมร่วมกัน และมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศมุ่งหวังที่จะเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและมีรายได้สูงภายในปี 2588
ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่าเวียดนามยังคงเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของอินโดนีเซียในภูมิภาค และแสดงความปรารถนาของอินโดนีเซียที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเวียดนามให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามย้ำว่า เวียดนามให้คุณค่าและให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียอย่างยิ่ง โดยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของอินโดนีเซียในภูมิภาค
เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามชื่นชมความสำเร็จของอินโดนีเซียและแสดงความเชื่อมั่นว่าอินโดนีเซียจะมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงถึง 8% และจะก้าวสู่เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2588 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการเฉลิมฉลองประเทศครบ 100 ปี นอกจากนี้ ยังได้แบ่งปันข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์โดยรวมของเวียดนาม
ผู้นำทั้งสองแสดงความพอใจกับมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การก่อตั้งหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2556 โดยบนรากฐานนี้ ทั้งสองตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน
ผู้นำทั้งสองตกลงที่จะเพิ่มการแลกเปลี่ยนและการติดต่อระดับสูงในทุกช่องทาง ดำเนินกลไกความร่วมมือทวิภาคีอย่างมีประสิทธิผล และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับความร่วมมือในทุกสาขาอย่างรวดเร็ว
ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง รวมถึงการแบ่งปันข่าวกรอง การดำเนินการในการค้นหาและช่วยเหลือ และการแบ่งปันประสบการณ์ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเครือข่ายการฉ้อโกงออนไลน์ การค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ และภัยคุกคามจากการก่อการร้าย
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ขจัดอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสัตว์น้ำ โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุมูลค่าการค้าทวิภาคี 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้
ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจจากทั้งสองประเทศในการลงทุนในตลาดของกันและกัน โดยเฉพาะในภาคส่วนที่เกิดขึ้นใหม่พัฒนา เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า อีคอมเมิร์ซ ระบบจัดส่งอัจฉริยะ การชำระเงินแบบดิจิทัล การออกแบบและการผลิตซอฟต์แวร์สำหรับโรงงานผลิต โซลูชันเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองฮาลาล
ทั้งสองฝ่ายยังให้คำมั่นที่จะขยายความร่วมมือในระดับภาคส่วนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัล
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในพื้นที่ที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการประสานงานที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นภายในอาเซียน เพื่อสร้างกลุ่มที่แข็งแกร่งและเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น ที่จะรักษาบทบาทสำคัญของอาเซียนไว้
ในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติที่ทั้งสองฝ่ายมีความกังวลร่วมกันนั้น ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และเสรีภาพในการเดินเรือและการบินในทะเลตะวันออก (ซึ่งในระดับนานาชาติรู้จักในชื่อ ทะเลจีนใต้) และได้ย้ำถึงการสนับสนุนการแก้ไขข้อพิพาท การไม่ใช้กำลังหรือการคุกคามด้วยกำลัง และการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยสันติวิธี รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 (1982 United Nations Convention on the Law of the Sea:UNCLOS)
ในโอกาสนี้ เลขาธิการพรรค โต เลิ่ม ได้เชิญประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ไปเยือนเวียดนาม และได้เชิญผู้นำอินโดนีเซียให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 4 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( Partnering for Green Growth and the Global Goals (P4G) Summit) ในกรุงฮานอยในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ตอบรับด้วยความยินดี
หลังจากการหารือ ผู้นำทั้งสองได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการแลกเปลี่ยนเอกสารความร่วมมือ รวมถึงหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามและกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในภาคส่วนเศรษฐกิจเทคนิคและดิจิทัล หนังสือแสดงเจตจำนงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเวียดนามและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย และข้อตกลงการดำเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกรมประมงของกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของเวียดนามและกรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงของอินโดนีเซียในสาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
อินโดนีเซียเปิดธนาคารทองคำแห่งแรกของประเทศ

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโตได้เปิดตัวธนาคารทองคำแท่งแห่งแรกของอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการในกรุงจาการ์ตา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการดำเนินการที่จะเร่งการเติบโตของประเทศ โดยคาดว่าธนาคารทองคำแท่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ GDP ให้เติบโตเกือบ 15,000 ล้านดอลลาร์
โดยหน่วยงานของรัฐ โรงรับจำนำ Pegadaian และธนาคารชารีอะห์ Bank Syariah Indonesia (BSI) จะเป็นผู้ดำเนินการให้บริการทองคำแท่ง ธนาคารทองคำแท่งดำเนินการซื้อขายและบริหารจัดการโลหะมีค่า รวมถึงทองคำ ธนาคารทองคำได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ของปราโบโวในการใช้ประโยชน์จากทองคำสำรองจำนวนมากของประเทศ ซึ่งรัฐบาลเปิดเผยว่ามีทองคำสำรองที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก
“เราเชื่อว่า [ธนาคารทองคำ] สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ [GDP] ของเราได้ 245 ล้านล้านรูเปียะฮ์ [เกือบ 15,000 ล้านดอลลาร์] และสร้างงานได้ 1.8 ล้านตำแหน่ง ช่วยเพิ่มและรักษาเงินสำรองเงินตราต่างประเทศของเราได้” ประธานาธิบดีปราโบโวกล่าว
“… เพราะทองคำ [ที่เราขุด] จะถูกแปรรูปและเก็บรักษาไว้ในประเทศ ทองคำจะไม่ไหลออกจาก [อินโดนีเซีย] ธนาคารทองคำแท่งเหล่านี้จะยกระดับเสถียรภาพทางการเงินของเราด้วยกลไกสภาพคล่องของทองคำ” ประธานาธิบดีปราโบโวกล่าว
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีปราโบโวเปิดเผยว่าอินโดนีเซียซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ได้จัดเก็บทองคำจำนวนมากไว้ในต่างประเทศ
Pegadaian เป็นบริษัทแรกที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานบริการทางการเงิน (OJK) ให้ดำเนินการบริการทองคำแท่ง บริการของ Pegadaian ในปัจจุบันรวมถึงการให้ลูกค้าซื้อขายทองคำและแม้กระทั่งฝากเงินโดยใช้โลหะมีค่า ส่วน BSI ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจาก OJK เพื่อให้บริการทองคำแท่งเมื่อต้นเดือนนี้ BSI เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างหน่วยงานชารีอะห์ของธนาคารรัฐสามราย ได้แก่ BNI, BRI และ Mandiri ธนาคารที่ควบรวมกิจการนี้เปิดให้ลูกค้าซื้อทองคำแบบผ่อนชำระในขณะที่ดูแลให้ธุรกรรมของธนาคารเป็นไปตามกฎหมายอิสลาม
นายเอริก โทฮีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิสาหกิจของรัฐ เปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีทองคำสำรอง 2,600 ตัน โดยรัฐบาลประเมินว่าการผลิตทองคำในแต่ละปีเพิ่มขึ้นจาก 100 ตันเป็น 160 ตัน อย่างไรก็ตาม ทองคำแท่งสำรองของอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 201 ตัน ซึ่งยังตามหลังสิงคโปร์ที่มีทองคำแท่งสำรอง 228 ตัน
นายเอริกกล่าวว่า “นอกจากนี้ ยังมีทองคำหมุนเวียนอยู่ในมือประชาชนอยู่ประมาณ 1,800 ตัน โดยบางคนนำทองคำไปซุกไว้ใต้หมอนและใกล้ห้องน้ำ” พร้อมทั้งเสริมว่าบริการทองคำแท่งจะกระตุ้นให้ชาวอินโดนีเซียเก็บทองคำไว้ในระบบการเงินอย่างเป็นทางการ
ประธานาธิบดีปราโบโวต้องการให้ GDP แต่ละปีโต 8% ก่อนที่เขาจะสิ้นสุดวาระในปี 2572 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติกลาง (BPS) แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโต 5.03% ตลอดปี 2567 ซึ่งค่อนข้างไกลจากเป้าหมายของปราโบโว
การเปิดตัวธนาคารทองคำเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากประธานาธิบดีจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ Danantara อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นกัน Danantara จะจัดการสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจของประเทศและลงทุนในโครงการกลยุทธศาสตร์เช่น การแปรรูปนิกเกิล
เมื่อไม่นานนี้ ปราโบโวได้ลงนามในนโยบายที่กำหนดให้ผู้ส่งออกทรัพยากรของประเทศต้องเก็บรายได้ไว้ในประเทศเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี กฎใหม่นี้ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในเดือนหน้า จะทำให้สำรองเงินตราต่างประเทศของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025
อินโดนีเซียเตรียมเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้การทุ่มตลาดแผ่นฟิล์มไนลอนจากจีน ไทย และไต้หวัน

ไนลอนใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและอุตสาหกรรม ยา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ
กระทรวงได้ระบุรายชื่อบริษัทจากจีน ไทย และไต้หวันที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 1,254 รูเปียะฮ์ถึง 31,510 รูเปียะฮ์ (0.076-1.92 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อกิโลกรัม
บริษัทเหล่านี้ ได้แก่ Kunshan Yuncheng Plastic Industry และ Yuncheng Heshan New Material ของจีน และ AJ Plast ของไทย รวมถึงบริษัทอื่นๆ ในทั้งสองประเทศ และภาษีดังกล่าวจะมีผลกับบริษัททั้งหมดในไต้หวัน
การเก็บภาษีนำเข้าเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการป้องกันการทุ่มตลาดของอินโดนีเซียทำการสอบสวนและพบว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านี้ก่อให้เกิดการสูญเสียในอุตสาหกรรมในท้องถิ่น
จีนเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย
มาเลเซียบังคับแรงงานต่างชาติจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการผ่านด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบหลังจากมีการอภิปรายโดยสมาชิกรัฐสภา 8 คนจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ร่างกฎหมายเป็นการแก้ไข 11 วรรคเพื่อเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับภาระผูกพันในการจ่ายเงินสมทบและอัตราเงินสมทบที่ใช้บังคับสำหรับแรงงานที่ไม่ใช่พลเมือง
ก่อนหน้านี้ ดาโต๊ะ สรี อามีร์ ฮัมซาห์ อาซิซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวสรุปการอภิปรายร่างกฎหมายดังกล่าวว่า การกำหนดให้แรงงานที่ไม่ใช่พลเมืองต้องจ่ายเงินสมทบจะช่วยเสริมโครงสร้างเงินเดือนของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนและประเทศ
“การปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้จะทำให้ครัวเรือนมีอำนาจซื้อมากขึ้น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การกำหนดการคุ้มครองทางสังคมให้แรงงานที่ไม่ใช่พลเมืองเป็นข้อบังคับจึงสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับสากล” ดาโต๊ะอามีร์กล่าว
ดาโต๊ะอามีร์กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจช่วยลดการพึ่งพาแรงงานที่ไม่ใช่พลเมืองทางอ้อมในระยะยาว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในท้องถิ่น และส่งเสริมการเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติ
โดยชี้ไปที่งานวิจัย Low-Skilled Foreign Workers’ Distortion to the Economy (2018) ของธนาคารกลางมาเลเซีย ซึ่งพบว่าการพึ่งพาแรงงานที่ไม่ใช่พลเมืองในอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์อย่างมากกับระดับผลผลิต
“หากไม่มีการสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับแรงงานต่างด้าว การจ้างแรงงานต่างด้าวก็จะถูกกว่าการจ้างแรงงานท้องถิ่น… นั่นคือเหตุผลที่การดำเนินการนี้มีความสำคัญเพื่อป้องกันความไม่สมดุลและส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังช่วยให้รัฐบาลลดจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารได้ เนื่องจากเฉพาะผู้ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับนายจ้างเท่านั้นที่มีสิทธิ์สมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”ดาโต๊ะอามีร์กล่าว
สำหรับแรงงานต่างด้าว เงินสมทบภาคบังคับถือเป็นแรงจูงใจที่สามารถถอนออกได้เมื่อกลับถึงประเทศต้นทางหลังจากใบอนุญาตทำงานหมดอายุ พร้อมหลักฐานการสิ้นสุดการจ้างงาน
ดาโต๊ะอามีร์กล่าวว่า ปัจจุบันคนงานที่ไม่ใช่พลเมืองมีทางเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการ EPF ภายใต้แนวคิด “เมื่อเข้ามาแล้วก็อยู่ตลอดไป” โดยกำหนดอัตราเงินสมทบไว้ที่ 11% ของค่าจ้างรายเดือนสำหรับพนักงานและ 5 ริงกิตสำหรับนายจ้าง
“ณ เดือนธันวาคม 2567 มีเพียง 22,635 คนที่ไม่ใช่พลเมือง หรือ 0.9% จาก 2.5 ล้านคนเท่านั้นที่เลือกที่จะสมทบเข้ากองทุน EPF อย่างจริงจัง ความแตกต่างในส่วนเงินสมทบของนายจ้างยังส่งผลให้ค่าจ้างของคนงานที่ไม่ใช่พลเมืองต่ำกว่าคนงานในประเทศ” ดาโต๊ะอามีร์กล่าว
ข้อเสนอในการกำหนดให้ผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติในไตรมาสที่สี่ของปี 2568
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ รัฐบาลประกาศว่าอัตราเงินสมทบสำหรับแรงงานต่างชาติจะถูกกำหนดไว้ที่ 2% ทั้งสำหรับพนักงานและนายจ้าง ซึ่งต่ำกว่าอัตราบังคับสำหรับแรงงานชาวมาเลเซียและผู้มีถิ่นพำนักถาวร ซึ่งอยู่ที่ 11% สำหรับพนักงาน และ 12% หรือ 13% สำหรับนายจ้าง
CPF เตรียมขายหุ้น IPO ในเวียดนาม

Viet Nam News สื่อของรัฐในเวียดนามรายงานว่า นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPF เผยกับสื่อมวลชนว่า บริษัทฯ จะเริ่มดำเนินการ IPO ทันทีที่ได้รับการอนุมัติจากทางการเวียดนาม
“เวียดนามจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่ใหญ่ที่สุดของเราในอีกหลายปีข้างหน้า เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและประชากรจำนวนมาก การจดทะเบียนในเวียดนามจะช่วยให้เรามีแหล่งเงินทุนใหม่ๆ และสร้างชื่อเสียงให้กับเราในเวียดนามด้วย” นายประสิทธิ์กล่าว
จากข้อมูลของ CPF เวียดนามเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท โดยมีมูลค่าประมาณ 122,000 ล้านบาท (3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 21% ส่วนจีนอยู่อันดับสอง โดยมีสัดส่วนประมาณ 6%
ซีพีเอฟเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์ม และอาหารทั่วโลก ท่ามกลางการเติบโตที่ชะลอตัวและประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ใน 18 ตลาด รวมถึงสหรัฐอเมริกา บราซิล รัสเซีย และจีน
ในปี 2567 บริษัทมีกำไร 19,600 ล้านบาท (576 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากการฟื้นตัวของธุรกิจเนื้อหมูในเวียดนามและจีน หลังจากรายงานขาดทุนสุทธิ 5,210 ล้านบาท (153 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีก่อนหน้า
CPF คาดรายได้รวมปี 2568 โต 8% พร้อมคาดการณ์กำไรปีนี้เพิ่ม จากกำไรในกิจการต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามและจีน