ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ปรับเกณฑ์ใบอนุญาตแรงงานต่างชาติทำงานได้จนถึงอายุ 63 ปี

ASEAN Roundup สิงคโปร์ปรับเกณฑ์ใบอนุญาตแรงงานต่างชาติทำงานได้จนถึงอายุ 63 ปี

9 มีนาคม 2025


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-8 มีนาคม 2568

  • สิงคโปร์ปรับเกณฑ์ใบอนุญาตแรงงานต่างชาติทำงานได้จนถึงอายุ 63 ปี
  • มาเลเซียเซ็นจ้าง Arm พัฒนาออกแบบชิปและเทคโนโลยีมุ่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์มูลค่าสูง
  • เวียดนามเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไฮเทค
  • เวียดนามเตรียมเปิดแพลตฟอร์มนำร่องซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล
  • อินโดนีเซียวางแผนลงทุน 4 หมื่นล้านดอลล์ใน 21 โครงการพลังงานปี 2568

    สิงคโปร์ปรับเกณฑ์ใบอนุญาตแรงงานต่างชาติทำงานได้จนถึงอายุ 63 ปี

    ที่มาภาพ: https://fintechnews.sg/41014/remittance/matchmove-and-kpmg-partner-with-construction-firm-to-facilitate-e-remittance-for-migrant-workers/
    กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ (MOM) ได้ประกาศปรับปรุงกรอบใบอนุญาตทำงาน(Work Permit )และ S Pass(S Pass ใบอนุญาตทำงาน สำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานระดับกลางด้วยความรู้และทักษะเฉพาะทาง) ครั้งใหญ่ โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มเสถียรภาพของกำลังแรงงานและให้แน่ใจว่านโยบายแรงงานต่างด้าวสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของประเทศ การปรับเปลี่ยนเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคมถึง 1 กันยายน 2568 โดยมุ่งเน้นไปที่การขยายโอกาสในการจ้างงานสำหรับแรงงานต่างด้าว ปรับปรุงคุณสมบัติของ S Pass และยกระดับการเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะในภาคส่วนต่างๆ

    การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับใบอนุญาตทำงาน ได้แก่ การยกเลิกระยะเวลาการจ้างงานสูงสุดสำหรับผู้ถือใบอนุญาตทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ข้อจำกัดระยะเวลาการจ้างงานเดิม (ตั้งแต่ 14-26 ปี ขึ้นอยู่กับภาคส่วน ระดับทักษะ และประเทศต้นทาง) จะถูกยกเลิก

    การปรับเปลี่ยนนี้จะทำให้ผู้ถือใบอนุญาตทำงานยังคงได้รับการจ้างงานไปเรื่อยๆ โดยต้องเป็นไปตามข้อกำหนดคุณสมบัติและความต้องการของนายจ้าง ส่งผลให้นายจ้างสามารถรักษาแรงงานต่างชาติที่มีทักษะไว้ได้นานขึ้น ซึ่งช่วยลดการลาออกและต้นทุนการฝึกอบรม

    นอกจากนี้ยังขยายอายุการจ้างงานสูงสุด โดยอายุการจ้างงานสูงสุดสำหรับผู้ถือใบอนุญาตทำงานจะเพิ่มขึ้นจาก 60 ปีเป็น 63 ปี และอายุสูงสุดสำหรับผู้ยื่นขอใบอนุญาตทำงานรายใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็น 61 ปี (ปัจจุบันคือ 50 ปีสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวมาเลเซีย และ 58 ปีสำหรับผู้ที่เป็นคนมาเลเซีย) การปรับเปลี่ยนนี้ช่วยให้แน่ใจว่าจะมีความต่อเนื่องของแรงงานและเพิ่มโอกาสในการจ้างงานในระยะยาวสำหรับแรงงานต่างชาติ

    กระทรวงแรงงานได้เพิ่มรายชื่อประเทศต้นทางและอาชีพที่มีสิทธิตามเกณฑ์ใหม่ โดยภูฏาน กัมพูชา และลาว จะถูกเพิ่มเข้าในรายชื่อประเทศต้นทางที่ได้รับการอนุมัติตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป จากเดิมที่มีบังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และไทย

    สำหรับประเภทอาชีพที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม (NTS) จะขยายออกไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2568 ให้ครอบคลุมคนขับรถบรรทุก ตำแหน่งต่างๆในการผลิต และพ่อครัวในทุกประเภทอาหาร

    การขยายรายชื่อประเทศต้นทางและอาชีพ ทำให้ผู้จ้างงานมีกลุ่มผู้มีความสามารถที่กว้างขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมหลัก

    การปรับเปลี่ยนด้านคุณสมบัติของใบอนุญาตประเภท S Pass ได้แก่ หนึ่ง การทบทวนเงินเดือนขั้นต่ำ โดยทุกภาคส่วน (ไม่รวมบริการทางการเงิน) เงินเดือนขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นจาก 3,150 ดอลลาร์สิงคโปร์เป็นอย่างน้อย 3,300 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยผู้ยื่นขอที่มีอายุสูงขึ้นจะต้องได้รับเงินเดือนขั้นต่ำที่สูงขึ้น

    สำหรับภาคส่วนบริการทางการเงินนั้น เงินเดือนขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นจาก 3,650 ดอลลาร์สิงคโปร์เป็นอย่างน้อย 3,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยปรับขึ้นตามอายุและประสบการณ์

    การปรับเปลี่ยนนี้จะทำให้เงินเดือนของ S Pass สอดคล้องกับเงินเดือน 1 ใน 3 ลำดับแรกของ ผู้ฏิบัติงานด้านเทคนิคและช่างเทคนิค (Associate Professionals and Technicians:APT)

    สอง ปรับอัตราภาษี S Pass เพิ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2025 เป็นต้นไป ภาษี S Pass ประเภทพื้นฐาน/Tier 1 จะเพิ่มขึ้นจาก 550 ดอลลาร์สิงคโปร์เป็น 650 ดอลลาร์สิงคโปร์ แต่ภาษีสำหรับ Tier 2 จะยังคงอยู่ที่ 650 ดอลลาร์สิงคโปร์

    นายจ้างจะต้องประเมินกลยุทธ์การจ้างงานใหม่โดยคำนึงถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานแรงงานที่ใช้ใบอนุญษตแบบ S Pass

    ทางด้านผลกระทบต่อนายจ้างและคนงานต่างด้าว ผู้ถือใบอนุญาตทำงานจะได้รับประโยชน์จากความมั่นคงในการทำงานที่มากขึ้นเนื่องจากการยกเลิกข้อจำกัดระยะเวลาการจ้างงานและการเพิ่มอายุการจ้างงานสูงสุด ขณะที่นายจ้างสามารถรักษาคนงานต่างด้าวที่มีประสบการณ์ไว้ได้นานขึ้น ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมใหม่

    ผู้ถือและผู้ยื่นขอ S Pass ควรเตรียมพร้อมสำหรับข้อกำหนดเงินเดือนที่เข้มงวดขึ้น และให้แน่ใจว่ามีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ ธุรกิจต่างๆ ต้องคำนึงถึงต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น และพิจารณากลยุทธ์การวางแผนกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจ้างงานภายใต้กรอบงานที่แก้ไขใหม่

    การปรับเปลี่ยนเหล่านี้แสดงถึงความพยายามเชิงยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์ในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของตลาดแรงงาน โดยการยกเลิกข้อจำกัดการจ้างงานด้วยใบอนุญาตทำงาน ขยายประเทศแหล่งที่มาของแรงงาน และปรับโครงสร้างเงินเดือนและภาษีของ S Pass ให้เหมาะสม สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะรักษาคนงานต่างด้าวที่มีทักษะไว้ในขณะที่มั่นใจว่านโยบายการจ้างงานยังคงมีความสามารถในการแข่งขัน

    ณ เดือนมิถุนายน 2567 สิงคโปร์มีผู้ถือใบอนุญาตทำงานประมาณ 843,400 ราย ไม่รวมคนงานในบ้าน ตัวเลขนี้นับเป็นยอดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดถึง 17% ตามข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดร.ตัน ซี เล้ง

    ดร. ตันกล่าวว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้ถือใบอนุญาตทำงานและใบอนุญาตประเภท S Pass เพิ่มขึ้น 38,000 ราย ขณะที่จำนวนผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการ ผู้บริหาร และช่างเทคนิค (Professionals, Managers, Executives and Eechnicians:PMET) ในประเทศเพิ่มขึ้น 382,000 ราย ซึ่งแตกต่างกันถึง 10 เท่า

    “เราไม่ควรพัฒนาทัศนคติแบบ คนสิงคโปร์เท่านั้น เพราะจะทำให้เราขาดบุคลากรที่มีทักษะที่จำเป็นในการยึดโยงธุรกิจระดับโลกที่ให้ประโยชน์แก่คนสิงคโปร์”ดร. ตันกล่าว

    มาเลเซียเซ็นจ้าง Arm พัฒนาออกแบบชิปและเทคโนโลยีมุ่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์มูลค่าสูง

    ที่มาภาพ:Tech Wire Asia
    Arm Holdings plc บริษัทในอังกฤษที่มี SoftBank Group Corp เป็นผู้ถือหุ้นตกลงที่จะจัดสนับสนุนการออกแบบชิปและเทคโนโลยีให้กับมาเลเซียเป็นระยะเวลา 10 ปี ภายใต้ข้อตกลงมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับใบอนุญาตและความรู้ความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์

    มาเลเซีย ซึ่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประมาณหนึ่งในสิบของโลกมีเป้าหมายที่จะยกระดับประเทศให้ก้าวข้ามจากการประกอบชิปไปสู่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

    รัฐบาลวางแผนที่จะใช้เงินจำนวนนี้เพื่อช่วยเหลือบริษัทในประเทศในการออกแบบชิปของตนเอง และกำหนดเป้าหมายการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 1.2 ล้านล้านริงกิตภายในปี 2573

    รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ดาโต๊ะ ราฟิซี รามลี กล่าวในการสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 4 มีนาคมว่า “เราต้องการที่จะโยกจากขั้นตอน back-end ((Back-end: การประกอบ การทดสอบ และบรรจุ) รัฐบาลได้ใช้แนวทางเชิงรุกมากขึ้น ในการทำงานร่วมกับ Arm ด้วยมุมมองของการสร้างระบบนิเวศทั้งหมด

    ด้วยข้อตกลงนี้ มาเลเซียมีเป้าหมายที่จะสร้างบริษัทผลิตชิปมากถึง 10 แห่งที่มีรายได้รวมต่อปี 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อตกลงนี้อาจช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศได้ 1%

    มาเลเซียเป็นศูนย์กลางสำคัญในการทดสอบและบรรจุภัณฑ์ชิปอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญในด้านการออกแบบชิป ปัจจุบัน มาเลเซียมีโรงงานบรรจุภัณฑ์ชิปหลายแห่งสำหรับ Intel Corp, GlobalFoundries Inc และ Infineon Technologies AG ผู้ผลิตชิปเกียร์ในประเทศยังพยายามหาทางเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอุปกรณ์ระดับโลก โดยดึงดูดบริษัทอย่าง Applied Materials Inc ให้มาสร้างโรงงานในประเทศ

    ดาโต๊ะราฟิซีหวังว่ามาเลเซียจะเริ่มผลิตชิปของตัวเองภายใน 5-10 ปีข้างหน้า หลังจากที่มาเลเซียให้คำมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างน้อย 25,000 ล้านริงกิตเมื่อปีที่แล้ว

    เวียดนามเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ไฮเทค

    ชิป 5G DFE ของ Viettel ที่มาภาพ:https://vietnamnet.vn/en/vietnam-launches-national-semiconductor-strategy-plans-first-local-chip-factory-2375330.html

    รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติการลงทุนมูลค่า 12.8 ล้านล้านด่อง (500 ล้านดอลลาร์) เพื่อตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไฮเทค ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมชิปในประเทศและการรักษาความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน

    เวียดนามตั้งเป้าที่จะเสริมสร้างตำแหน่งของตนในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยได้ประกาศโรงงานผลิตชิปแห่งแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และศักยภาพในการผลิตในประเทศ

    ด้วยเงินทุนจากรัฐบาลมูลค่าสูงถึง 12.8 ล้านล้านด่อง (500 ล้านดอลลาร์) เวียดนามกำลังดำเนินขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมในการจัดตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมไฮเทค และความต้องการด้านการวิจัย

    เพื่อเร่งการวิจัย การออกแบบ และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เวียดนามจะลงทุนในโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างวิสัยทัศน์ระยะยาวในการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีภายในปี 2593

    เวียดนามตระหนักถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของเซมิคอนดักเตอร์ จึงเปิดโรงงานผลิตชิปแห่งแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อสร้างเวทีสำหรับการเติบโตในอนาคตของอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI

    เวียดนามกำลังดำเนินการอย่างกล้าหาญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกด้วยแผนการสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมูลค่า 12.8 ล้านล้านดอง (500 ล้านดอลลาร์) โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ การรับรองอธิปไตยทางเทคโนโลยี และการบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่อุปทานชิประดับโลก

    นาย เหวียน คัก ลิก (Nguyen Khac Lich) ผู้อำนวยการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า โครงการนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามถึงปี 2573 หรือวิสัยทัศน์ 2593 ซึ่งนายกรัฐมนตรีลงนามไปเมื่อไม่นานนี้

    เวียดนามตั้งเป้าที่จะก้าวข้ามการเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีต้นทุนต่ำด้วยการลงทุนในการวิจัย การออกแบบ และการผลิตชิป โรงงานผลิตแห่งใหม่นี้จะเน้นที่การผลิตชิปเทคโนโลยีขั้นสูงขนาดเล็กเป็นอันดับแรก เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ความมั่นคงของชาติ และห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

    วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ ได้แก่ การเสริมสร้างความสามารถในการผลิตชิปในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์ระดับโลก การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) การสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ AI ที่กำลังเติบโตของเวียดนาม และการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติด้วยชิปที่ผลิตในประเทศ

    เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ รัฐบาลเวียดนามเสนอสิทธิประโยชน์ทางการเงินหลายประการให้กับบริษัทที่ลงทุนในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งรวมถึงเงินทุนโดยตรงจากรัฐบาล 30% สำหรับโครงการนี้ (สูงสุด 10 ล้านล้านด่อง) หากแล้วเสร็จก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2573 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ช่วยให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์สามารถเก็บรายได้ที่ต้องเสียภาษีไว้เพื่อนำไปลงทุนเพิ่มได้สูงถึง 20% และการจัดสรรที่ดินสำหรับโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์โดยไม่ต้องประมูล ซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีขั้นสูงได้เร็วขึ้น

    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่กำกับดูแลการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการริเริ่มโครงการนี้โดยตรง

    บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของเวียดนาม รวมถึง Viettel และ FPT ได้เข้าสู่การแข่งขันด้านเซมิคอนดักเตอร์แล้ว โดย Viettel ประสบความสำเร็จในการออกแบบชิปเซ็ต 5G ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถประมวลผลการคำนวณได้ถึง 1 ล้านล้านรายการต่อวินาที

    “เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์คืออนาคต” นาย เหวียน จุง เคียน (Nguyen Trung Kien) รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของ Viettel กล่าว “Viettel ได้วางรากฐานสำหรับการวิจัยและการผลิตชิป และความคิดริเริ่มนี้จะช่วยให้เวียดนามสามารถแข่งขันในระดับโลกในด้านการออกแบบและการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้”

    ขณะเดียวกัน เล กว่าง ดัม(Le Quang Dam) ซีอีโอของ Marvell Technology Vietnam ได้ย้ำถึงความเร่งด่วนทางภูมิรัฐศาสตร์ในการลงทุนในเซมิคอนดักเตอร์ “นี่เป็นโอกาสครั้งหนึ่งในศตวรรษสำหรับเวียดนามในการสร้างตัวเองให้กลายเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ”

    ด้วยความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อและการขาดแคลนชิปทั่วโลก ทำให้เวียดนามอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจากบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่ต้องการกระจายการผลิต

    ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้ให้คำมั่นแล้วว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือด้านชิปกับเวียดนาม โดยมองว่าเวียดนามเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์แทนจีนและไต้หวัน

    แม้จะมีมุมมองทางบวก แต่เวียดนามก็เผชิญกับความท้าทายหลายประการ รวมถึงการขาดแคลนวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ที่มีทักษะสูง ต้นทุนการลงทุนเริ่มต้นที่สูงสำหรับโรงงานผลิตชิป และการแข่งขันระดับโลกที่รุนแรงจากยักษ์ใหญ่ด้านชิปที่ยืนหยัดมานาน เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ

    อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล การลงทุนของภาคเอกชน และแรงงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามอาจกลายเป็นผู้เล่นหลักในระบบนิเวศชิประดับโลกได้ภายในปี 2593

    เวียดนามเตรียมเปิดแพลตฟอร์มนำร่องซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเหวียน ดึ๊ก ชี (Nguyen Duc Chi) เวียดนามในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 ที่มาภาพ:https://vir.com.vn/vietnam-to-pilot-digital-asset-and-cryptocurrency-exchange-124039.html
    กระทรวงการคลังกำลังเตรียมข้อเสนอเพื่อเดินหน้าโครงการนำร่องแพลตฟอร์มการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเหวียน ดึ๊ก ชี (Nguyen Duc Chi) ​​ประกาศในการแถลงข่าวตามปกติของรัฐบาลเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเน้นย้ำถึงความซับซ้อนและความแปลกใหม่ของสินทรัพย์ดิจิทัลและสกุลเงินดิจิทัล โดยระบุว่าหลายประเทศยังคงพัฒนากรอบกฎหมายเพื่อจัดการอย่างโปร่งใสและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้ส่งข้อเสนอไปยังรัฐบาลภายในเดือนมีนาคม เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีการกำกับดูแลสำหรับนักลงทุน ธุรกิจ และประชาชนทั่วไปในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ โดยมีรัฐบาลคุ้มครองสิทธิของผู้เข้าร่วม

    กระทรวงฯจะร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อร่างกฎระเบียบที่อนุญาตให้ธุรกิจในเวียดนามออกสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเอง ระดมทรัพยากรทางการเงินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และปรับเวียดนามให้สอดคล้องกับแนวโน้มระดับโลก

    กระทรวงฯกำลังดำเนินการตามข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายที่ทันสมัยสำหรับบริษัทเอกชน โดยทำงานร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อทบทวนผลกระทบของนโยบายปัจจุบันและกำหนดแนวทางแก้ไขในอนาคต

    เพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคเอกชน กระทรวงฯกำลังจัดการกับความท้าทายทางกฎหมายและข้อบังคับ และจะรายงานอุปสรรค ต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ กระทรวงฯยังตั้งเป้าที่จะสร้างสภาพแวดล้อมด้านข้อบังคับที่ยืดหยุ่น ช่วยให้บริษัทเอกชนสามารถเข้าถึงและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนา

    กระทรวงฯมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่านโยบายสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ช่วยให้บริษัทเอกชนของเวียดนามขยายตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    อินโดนีเซียวางแผนลงทุน 4 หมื่นล้านดอลล์ใน 21 โครงการพลังงานปี 2568

    ที่มาภาพ: https://www.pertamina.com/en/news-room/news-release/funding-secured-pertamina-balikpapan-refinery-rdmp-becomes-an-environmentally-friendly-modern-refinery
    อินโดนีเซียซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยความตั้งใจที่จะลงทุน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (38,100 ล้านยูโร) ในปี 2568 ในโครงการพลังงานหลัก 21 โครงการ โดยแผนริเริ่มดังกล่าวประกาศโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายบาห์ลิล ลาฮาดาเลีย เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มศักยภาพในการกลั่นของประเทศ เพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน ทดแทนการนำเข้าก๊าซ LPG ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป

    โครงการที่วางแผนไว้ ได้แก่ โครงการถ่านหินเป็นไดเมทิลอีเทอร์ (Dimethyl Ether: DME) ซึ่งมุ่งที่จะลดการพึ่งพาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่นำเข้านอกจากนี้ ยังจะสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวันและคลังเก็บน้ำมัน

    นายบาห์ลิล ระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างงาน เงินทุนส่วนหนึ่งจะมาจาก Danantara ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ของอินโดนีเซีย ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนที่แล้วและบริหารสินทรัพย์มูลค่ากว่า 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังคงพึ่งพาถ่านหินอย่างมากและเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลก อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ได้ให้คำมั่นว่าจะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินภายใน 15 ปี และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

    นอกจากนี้ ปราโบโวยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปีของอินโดนีเซียจาก 5% ในปัจจุบันเป็น 8% พร้อมทั้งสั่งลดงบประมาณของหน่วยงานรัฐบาลจำนวนมาก