ThaiPublica > เกาะกระแส > ทรัมป์ประกาศนโยบาย “อัตราภาษีต่างตอบแทน” สั่นคลอนครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก

ทรัมป์ประกาศนโยบาย “อัตราภาษีต่างตอบแทน” สั่นคลอนครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก

19 กุมภาพันธ์ 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ทรัมป์ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารให้ศึกษาการใช้ภาษีต่างตอบแทน ที่มาภาพ : wavy.com

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ศึกษาวิธีการ ที่จะปรับอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ให้มีอัตราเท่ากับภาษีนำเข้า ที่ประเทศนั้นเรียกเก็บต่อสินค้าสหรัฐฯ รวมถึงการปฏิบัติทางการค้าของประเทศคู่ค้า ต่อสินค้านำเข้าสหรัฐฯ รวมทั้งมาตรการอุดหนุนต่างๆต่อการผลิตสินค้า โดยให้กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เสนอรายงานถึงขั้นตอนต่างๆ ที่จะนำไปสู่สภาพการค้าต่างตอบแทน โฮเวิร์ด ลัทนิกค์ (Howard Lutnick) รัฐมนตรีพาณิชย์กล่าวว่า รายงานจะเสร็จในวันที่ 1 เมษายน

ทรัมป์กล่าวที่ทำเนียบขาวว่า “ในเรื่องการค้า ผมได้ตัดสินใจแล้วว่า เพื่อความเที่ยงธรรม ผมจะเก็บอัตราภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariff) หมายความว่า ประเทศต่างๆเก็บภาษีอัตราเท่าไหร่กับสหรัฐฯ เราจะเก็บภาษีพวกเขาในอัตรานั้น ไม่มากกว่าหรือน้อยกว่า”

ทำลายหลักการ MFN ของ WTO

ผู้เชี่ยวชาญการค้าโลกกล่าวว่า นโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน หรืออัตราภาษีแบบ “ประเทศต่อประเทศ” จะทำลายหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องฐานะ “ประเทศได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง” (Most Favored Nation – MFN) ที่กำหนดเป็นพันธะให้ประเทศสมาชิก WTO ต้องให้หลักประกันเรื่องภาษีการค้าและกฎระเบียบการค้า ที่เท่าเทียมกัน แก่ประเทศสมาชิกอื่นๆของ WTO ยกเว้นประเทศสมาชิกที่มี “ข้อตกลงการค้าเสรี” ระหว่างกัน ระบบอัตราภาษีต่างตอบแทน จะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับมูลฐานครั้งใหญ่ ของนโยบายการค้าสหรัฐฯในระยะ 75 ปี

ทรัมป์มอง “อัตราภาษี” เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ในการทำให้ประเทศอื่นขอยอมตามข้อเรียกร้องเรื่องผู้อพยพ การปราบปรามยาเสพติด และการอ้างดินแดนประเทศอื่น ตัวทรัมป์เองและผู้สนับสนุนยังมอง “อัตราภาษี” เป็นโยบายสำคัญ ที่จะทำให้โรงงานการผลิตย้ายกลับมาสหรัฐฯ เกิดการสร้างงาน และลดการขาดดุลการค้า

ทรัมป์เองมีความคิดแบบนี้มานานแล้ว แต่ถูกพวกคัดค้านมาตรการอัตราภาษี ยับยั้งการดำเนินการในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก ที่ปรึกษาของทรัมป์เองบางคน นักการเมืองชั้นนำของพรรครีพับลิกัน และภาคธุรกิจจำนวนมากในสหรัฐฯโต้แย้งว่า การใช้อัตราภาษีนำเข้าแบบรุนแรง จะสร้างความเสียหายแก่ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจโลก ทรัมป์อาจลังเลหากมาตรการนี้ ทำให้ตลาดหุ้นพังลง เพราะทรัมป์มักถือตลาดหุ้นเป็นตัววัดผลงานของเขา

ภัยต่อเศรษฐกิจโลก

ทางด้าน The New York Times ก็เสนอบความเรื่อง แผนการเก็บภาษี “ประเทศต่อประเทศ” ของทรัมป์ จะเป็นภัยต่อเศรษฐกิจโลก โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และปัญหาซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แผนงานภาษีต่างตอบแทนของทรัมป์คือการทำลายนโยบายการค้า ที่ใช้มานานหลายสิบปี เพิ่มความผันแปรแก่ธุรกิจระหว่างประเทศ และขยายขอบเขตของสงครามการค้าออกไปทั่วโลก

นโยบายภาษีต่างตอบแทนจะทำให้ระบบการค้าโลก ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ระบบแบบพหุภาคี ต้องตกต่ำลง ไปสู่ยุคใหม่ของการเจรจาแบบประเทศต่อประเทศ ระบบการค้าโลกในปัจจุบัน ประเทศสมาชิก WTO จะเป็นฝ่ายกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภท แล้วขยายอัตราภาษีนำเข้าพื้นฐานนั้น ไปให้แก่ประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ สมาชิก WTO จะมีการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่น หรือในรูปกลุ่มการค้าเสรีของภูมิภาค เพื่อลดอัตราภาษีให้ต่ำลงอีกระหว่างกัน

ในทางปฏิบัติ มาตรการภาษีต่างตอบแทน จะสร้างปัญหายุ่งยากมากมาย เพราะต้องกำหนดภาษีนำเข้ากับสินค้าหลายพันรายการ ที่มาจากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก นับจากประเทศเริ่มต้นอักษร A คือแอลบาเนีย มาจนถึง Z คือซิมบับเว การเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบภาษีต่างตอบแทน จะสร้างแรงกดดันต่อ “ห่วงโซ่อุปทานโลก” มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา เผชิญกับความปั่นป่วนต่างๆ เช่น สงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯ หรือค่าระว่างเรือบรรทุกสูงขึ้น จาการแล่นผ่านคลองซูเอซ

ที่มาภาพ : CATO Institute

วิธีคำนวณอัตราภาษีต่างตอบแทน

บทความของ The Wall Street Journal เรื่อง Reciprocal Tariffs to Shift Trading Norms กล่าวว่า การเก็บภาษีในอัตราเท่ากับที่ประเทศอื่นเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ จะทำให้สินค้าประเทศกำลังพัฒนาถูกเก็บภาษีสูงขึ้น เช่น จากอินเดีย บราซิล เวียดนาม และประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แผนการตอบโต้ของสหรัฐฯไม่ได้มีเพียงการเก็บภาษีต่างตอบแทนในอัตราเท่ากันเท่านั้น แต่ยังมีการพิจารณามาตรการอื่นที่เป็นการกีดกันการค้า เช่น การเก็บภาษีต่อบริษัทอเมริกัน กฎระเบียบกีดกันการทำธุรกิจต่อบริษัทอเมริกัน และการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตัวอย่างเช่นจีน แม้อัตราภาษีนำเข้าจะต่ำกว่าสหรัฐฯ แต่มีมาตรการกีดกันการค้าอื่นๆ ทำให้สหรัฐฯสามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นจากจีน รวมทั้ง EU และญี่ปุ่นจะถูกเก็บภาษีอัตราสูงกว่า ที่ประเทศเหล่านี้เรียกเก็บกับสินค้าสหรัฐฯ

การที่ทรัมป์หันมาใช้มาตรการเก็บภาษีในอัตราต่างตอบแทน ทำให้แนวคิดเดิมที่จะเรียกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ในอัตราเพิ่มขึ้นเท่ากัน เช่น 10% หรือ 20% เป็นความคิดที่ไม่อยู่ในการพิจารณาอีกต่อไป ก่อนหน้าออกคำสั่งฝ่ายบริหารเรื่องภาษีต่างตอบแทน ทรัมป์เองให้สัมภาษณ์ว่า มีความคิดโน้มเอียงไปทางใช้ภาษีแบบประเทศต่อประเทศ

Peter Navarro ที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์ให้สัมภาษณ์ CNN ว่า นอกจากภาษีนำเข้า การอุดหนุนการผลิต และระเบียบที่กีดกันการค้า ก็ส่งผลกระทบแบบเดียวกันกับอัตราภาษี สหรัฐฯจะพิจารณาประเทศคู่ค้าทั้งหมด เริ่มต้นจากประเทศที่เสียเปรียบบดุลการค้ามากที่สุด
กระทรวงพาณิชย์ คลัง และสำนักงานผู้แทนการคาสหรัฐฯ จะพิจารณามาตรการภาษีและมาตรการกีดกันการค้าของประเทศคู่ค้า เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ฝ่ายบริหารจะคำนวณว่า มาตรการกีดกันจากต่างประเทศทำให้การค้าสหรัฐฯถูกเบี่ยงเบนไปหรือสูญเสียอย่างไร และจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้า ที่สะท้อนปริมาณการค้าที่เบี่ยงเบนดังกล่าว

ที่มาภาพ : Uday India

“ภาษีต่างตอบแทนไม่สมเหตุผลเลย”

Douglas Irwin นักประวัติศาสตร์นโยบายการค้าของสหรัฐฯ เขียนบทความลง The Wall Street Journal ชื่อ Reciprocal Tariffs Make No Sense ว่า แนวคิดภาษีต่างตอบแทน ฟังดูก็ยุติธรรมดี คือสหรัฐฯจะเก็บภาษีประเทศไหนในอัตราเท่าไหร่ ขึ้นกับประเทศนั้นเก็บภาษีสหรัฐฯเท่าไหร่ แต่เป็นแนวคิดที่ไม่ได้เรื่อง แนวคิดแบบนี้เท่ากับมอบอำนาจนโยบายภาษีนำเข้าให้กับประเทศอื่นเป็นฝ่ายกำหนดว่า สหรัฐฯควรมีอัตราภาษีแบบไหน

ระบบภาษีต่างตอบแทนจะนำไปสู่นโยบายที่ไม่สมเหตุผล ตัวอย่างเช่น จีนส่งออกแร่หายาก ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญต่อสินค้าไฮเทค สหรัฐฯไม่ได้ส่งออกแร่นี้ไปที่จีน หากว่าจีนตั้งอัตราภาษีนำเข้าสูง สหรัฐฯจะเก็บภาษีนำเข้าแร่นี้จากจีนในอัตราสูงหรือไม่ หรือนิวซีแลนด์ไม่ได้เก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์นม แล้วสหรัฐฯจะปล่อยให้ผลิตภัณฑ์นมจากนิวซีแลนด์เข้ามาโดยไม่อัตราภาษีนำเข้าเลยหรือไม่

Douglas Irwin วิจารณ์ว่า เสน่ห์ของแนวคิดภาษีต่างตอบแทน มาจากการเข้าใจผิด 2 เรื่อง ประการแรก ประเทศอื่นเอาประโยชน์จากสหรัฐฯในเรื่องการค้า หลักฐานคือการขาดดุลการค้า แต่ปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคคือสิ่งที่กำหนดดุลการค้า ได้แก่ดุลระหว่างการออมในประเทศกับการลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ เป็นต้น ไม่ใช่อัตราภาษีอย่างเดียว สหรัฐฯเองได้เปรียบดุลการค้ากับสิงคโปร์ และออสเตรเลีย จะหมายความว่าสหรัฐฯเอาเปรียบสองประเทศนี้หรือไม่

ประการที่ 2 คือความคิดที่ว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของประเทศอื่น เป็นมาตรการกีดกันสินค้าสหรัฐฯ ประเทศในยุโรปใช้ภาษี VAT กับสินค้านำเข้าต่างประเทศ เพราะใช้ภาษีนี้กับผู้ผลิตในประเทศเช่นเดียวกัน ภาษี VAT จึงเป็นภาษีที่เก็บกับการบริโภค ไม่ได้ใช้กับสินค้านำเข้าเท่านั้น Adam Smith บิดาของแนวคิด “การค้าเสรี” ก็ยอมรับแนวคิดที่ว่า อัตราภาษีที่ใช้ปฏิบัติเท่าเทียมกัน ระหว่างสินค้าในประเทศและต่างประเทศ มีความชอบธรรม เพราะไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบ

โจน โรบินสัน (Joan Robinson) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในอดีตของอังกฤษเคยไว้กล่าวว่า ประเทศไม่ควรนำก้อนหินมาถมบนท่าเรือของตัวเอง เพราะว่าประเทศอื่นมีชายทะเลที่เป็นโขดหิน เช่นเดียวกัน สหรัฐฯไม่ควรมีนโยบายภาษีที่ไร้หัวคิด แบบเดียวกับประเทศอื่นเขามีนโยบายภาษีที่ไร้หัวคิด

เอกสารประกอบ

President Moves to Upend Triff System, February 15, 2025, The Wall Street Journal.
Reciprocal Tariffs Make No Sense, Douglas Irwin, February 14, 2025, The Wall Street Journal.
How Trump’s One-for-One Tariff Plan Threatens the Global Economy, Feb 16, 2025, nytimes.com