ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน Global Organized Crime Index “เมียนมา” กลายเป็นแหล่งอาชญากรรมใหญ่สุดของโลก

รายงาน Global Organized Crime Index “เมียนมา” กลายเป็นแหล่งอาชญากรรมใหญ่สุดของโลก

7 กุมภาพันธ์ 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อปี 2023 หน่วยงาน NGO ชื่อ Global Initiative Crime ซึ่งตั้งอยู่ที่สวิตเซร์แลนด์ เผยแพร่รายงาน 2023 Global Organized Crime Index ระบุว่า เมียนมาก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอันดับ 1 ในดัชนีอาญชญากรรมระดับที่ 8.15 ทำให้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราสูงสุดด้านอาชญากรรม เป็นตลาดใหญ่สุดด้านการค้ามนุษย์ และการค้าอาวุธ รวมทั้งตลาดใหญ่ด้านอาชญากรรมทางการเงิน การค้าแร่หายาก และการทำลายป่าเพื่อค้าไม้สัก เมียนมามีประชากร 53 ล้านคน เศรษฐกิจมีมูลค่า 65 พันล้านดอลลาร์ จัดอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง

ชายแดนจีน-เมียนมา เมืองเล่าก์ก่าย ที่มาภาพ : wikipedia

อาชญากรรมระดับสูงในทุกด้าน

Global Organized Crime Index รายงานดัชนีอาชญากรรมของเมียนมาในด้านต่างๆ ดังนี้

1) ประชาชน การค้ามนุษย์เป็นปัญหาร้ายแรงในเมียนมา เหยื่อการค้ามนุษย์จะถูกส่งมาไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมทั้งประเทศในภูมิภาคอื่น โควิด-19 และรัฐประหาร 2021 ทำให้ประเทศประสบวิกฤติต่างๆ รวมทั้งด้านมนุษยธรรม คนในประเทศหาทางออกไปทำงานต่างประเทศ ทำให้ตกเป็นเหยื่อของพวกค้ามนุษย์

2) การค้า เมียนมากลายเป็นตลาดการค้าอาวุธ รัฐประหาร 2021 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก เพราะความต้องการอาวุธของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล มีมากขึ้น การถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ ทำให้เมียนมากลายเป็นตลาดสินค้าปลอม โดยเฉพาะจากอินเดีย รวมทั้งวัคซีนปลอมโควิด-19 ส่วนบุหรี่ปลอมของเมียนมา ก็ขายข้ามพรมแดนในจีนและไทย บุหรี่ปลอมเป็นธุรกิจได้กำไร เพราะตลาดท้องถิ่นมีความต้องการ ต้นทุนการผลิตต่ำ บุหรี่ทั่วไปถูกเก็บภาษีสูง และมีความเสี่ยงน้อยกว่ายาเสพติด

3) สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคนี้ที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด แต่กำลังประสบปัญหาการทำลายป่าในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ตลาดการค้าไม้สักของเมียนมาถือเป็นตลาดค้าไม้อันดับต้นๆ ของโลก นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรายงานว่ารถบรรทุกไม้ในพื้นที่ป่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ที่ติดชายแดนอินเดีย ในรัฐคะฉิ่น และรัฐฉาน พื้นที่เหล่านี้เป็นเส้นทางการค้าไม้สัก ที่ส่งไปยังมณฑลยูนานของจีน เมียนมายังเป็นแหล่งแร่ธรรมชาติ อัญมณีและหยก ที่จำนวนมากถูกลักลอบส่งไปยังจีน มีรายงานการทำเหมืองแร่หายากเพิ่มขึ้น ภาวะความไม่สงบในประเทศ ทำให้เกิดการฉวยโอกาสทำเหมืองแร่เหล่านี้มากขึ้น

4) ยาเสพติด เมียนมาเป็นประเทศที่มีส่วนสำคัญต่อการค้ายาเสพติดโลก เป็นชาติผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สองของโลก มีปริมาณผลิตฝิ่น 1 ใน 4 ของโลก เป็นผู้ผลิตเฮโรอีนรายใหญ่สุดของภูมิภาคนี้ การค้าฝิ่นอยู่ตามชายแดนเมียนมากับจีน และเมียนมากับไทย เมียนมาเป็นศูนย์กลางการผลิตยาเสพติดทางเคมีเพื่อส่งออก เช่น ยาไอซ์และยาบ้า นับจากรัฐประหารปี 2021 โรงงานผลิตยาเสพติดมีมากขึ้น ปริมาณการผลิตล้นเกินทำให้ไหลบ่ามายังประเทศเพื่อนบ้าน และกดให้ราคายาเสพติดลดต่ำลง

5) อาชญากรรมทางการเงิน อาชญากรรมทางการเงินในเมียนมา โดยเฉพาะการพนันผิดกฎหมาย และการหลอกลวงทางออนไลน์ คือสิ่งที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ พวกมิจฉาชีพในประเทศ และอาชญากรคนต่างชาติ ศูนย์กลางอาชญากรรมการเงินอยู่ที่เมืองชเวก๊กโก และเขตพื้นที่โกก้าง ทางเหนือรัฐฉาน ที่ทำการพนันผิดกฎหมาย แก่หมู่คนจีน เมียนมายังเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายอาชญากรรทางการเงินโลก อาศัยดิจิทัลเทคโนโลยี (fintech) มาใช้ในการโอนเงิน และเป็นเครือข่ายการหลอกลวงออนไลน์ (scam) ที่กระจายไปถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

6) อาชญากร เจ้าหน้าที่ในกลไกรัฐ เป็นอาชญากรสำคัญในเมียนมา เพราะรัฐบาลทหารต้องอาศัยเงินทุนจากเศรษฐกิจผิดกฎหมายมากขึ้น เช่น เอาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของดินแดนเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชายแดน ที่ถูกควบคุมโดยกองกำลังติดอาวุธชนส่วนน้อย ทำธุรกิจการค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ และการค้าหยก ส่วนกลุ่มคนจีนและบริษัทจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าผิดกฎหมายต่างๆ เช่น ฝิ่น ยาเสพติด หยก และไม้สัก

7) การปกครองและธรรมาภิบาล ความขัดแย้งในเมียนมาถูกจัดว่าเป็น “ความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างรัฐต่างๆ” ที่ยังไม่มีทางออกชัดเจน ความขัดแย้งที่มีหลายกลุ่มและหลายชนชาติ ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้น ในสายตาคนเมียนมาส่วนใหญ่ รัฐบาลทหารที่มาจากรัฐประหารปี 2021 ขาดความชอบธรรมการเมือง การบริหารประเทศเป็นแบบ “ตามสถานการณ์” “ไม่แน่นอน” และครอบงำในเรื่องความมั่นคง ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจและมนุษยธรรมที่ประเทศประสบอยู่รุนแรงมากยิ่งขึ้น การถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ทำให้ต้องหันไปอาศัยเศรษฐกิจผิดกฎหมายแทน

8) ระบบอาชญากรรมและความมั่นคง รัฐประหารปี 2021 ทำให้รัฐบาลทหารเข้ามาควบคุมระบบความยุติธรรม มาตรการป้องกันการจับกุมคุมขังโดยพละการยกเลิกไป การประกาศกฎอัยกาศึกทำให้ศาลทหารตัดสินลงโทษประหารชีวิตพลเรือน และจำนวนนักโทษการเมืองพุ่งสูงขึ้น และจำนวนนักโทษล้นคุก

9) สภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและการเงิน เมียนมาถูกขึ้นบัญชีดำจากกลุ่มประเทศ G7 เรื่องการฟอกเงิน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลกระทบที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อประชาชน ราคาสินค้าพุ่งขึ้น ค่าเงินตกต่ำ บริการสาธารณะและของธนาคารล้มพังลง ระบบสาธารณสุขและการศึกษา อยู่ในสภาพปั่นป่วน ประชากรกว่า 50% อยู่ในสภาพยากจน ความก้าวหน้าในชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2005-2017 สูญหายไปหมด

10) ประชาสังคมกับการปกป้องทางสังคม ในพื้นที่ที่ขาดการดูแลจากรัฐบาลกลาง ประชาสังคมจะเข้ามาทำหน้าที่แทน ในเรื่องการป้องกันอาชญากรรม รัฐบาลทหารยกเลิกมาตรการป้องกันการจับกุมคุมขังโดยพละการ ทำให้ประเทศขาดระบบความรับผิดกับเจ้าหน้าที่เป็นผู้ละเมิด รัฐบาลทหารออกกฎหมายใหม่ลงโทษรุนแรงกับผู้ประท้วงการเมือง และการนัดหยุดงาน ข้อความที่ต่อต้านรัฐบาลทหารถือเป็นคดีอาญา ทำให้สื่อมวลชนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

แหล่งคาสิโน พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่มาภาพ : Casinos, Money Laundering, Underground Banking and Trannational Organized Crime in East and Southest Asia

สงครามทำให้เป็นศูนย์อาชญากรรมโลก

ส่วน The New York Times ก็ทำรายงานเรื่อง Myanmar’s War Has Made It the Global Crime Capital ไว้ว่า 4 ปีหลังจากรัฐประหาร ประเทศจมปลักสู่สงครามการเมืองเต็มที่ เมียนมาทำให้ตัวเองกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อาชญากรรมข้ามชาติ สถานที่ผจญภัยของพวกขุนศึก พ่อค้าอาวุธ พวกค้ามนุษย์ พวกลักลอบค้าสัตว์ พ่อค้ายาเสพติด และนายพลทหาร ที่ล้วนมีหมายจับของศาลระหว่างประเทศ Global Organized Crime Index ก็ระบุว่า ทุกวันนี้ เมียนมาเป็นแกนกลางใหญ่สุดของกลุ่มอาชญากรรมของโลก

อาชญากรรมที่เฟื่องฟูในดินแดนเมียนมา ส่งผลที่เป็นหายนะภัยแก่คนเมียนมา 55 ล้านคน และยังแพร่กระจายพฤติกรรมผิดกฎหมายออกไปทั่วโลก ทุกวันนี้ เมียนมาเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่สุดของโลก หนึ่งในผู้ผลิตยาเสพติดจากสารเคมีใหญ่สุดของโลก โดยอาศัยสารเคมีที่มาจากอินเดียกับจีน ยาเสพติดทำในเมียนมาส่งออกไปไกลถึงออสเตรเลีย เมื่อโรงงานเร่งผลิตเต็มที่ และการบังคับใช้กฎหมายในประเทศต่างๆ ไม่รู้จะรับมืออย่างไร ราคาตลาดของยาเสพติดถูกลงอย่างน่าตกใจ

นอกจากเป็น “รัฐยาเสพติด” (narco-state) เมียนมายังเป็นผู้ส่งออกแร่หายากบางอย่างรายใหญ่ของโลก ที่นำไปผลิตพลังงานสะอาด หยกและอัญมณีที่ดีที่สุดอยู่ในเมียนมา สงครามกลางเมืองทำให้กลุ่มอาชญากรของจีนสามารถขยายตัวเข้ามาเมียนมา พื้นที่บริเวณชายแดน แหล่งการรวมตัวเครือข่ายอาชญากร ระหว่างหัวหน้ากลุ่มอาชญากรจีนกับขุนศึกในท้องถิ่น ได้ทำการลักพาตัวคนทั่วโลก มาทำงานด้านการหลอลวงออนไลน์

ตัวแทนประจำภูมิภาคของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวกับ The New York Times ว่า “กลุ่มอาชญากรมีผลประโยชน์ได้เสีย ที่มาจากความขัดแย้ง ที่ยังคงดำเนินอยู่ เพราะอาชญากรรมเหล่านี้ รุ่งเรืองขึ้นมาได้จากสภาพแวดล้อมแบบนี้ ผลกำไรที่ได้ล้วนมาจากสิ่งที่น่าหวาดกลัว เพราะได้ทำลายชีวิตคนในเมียนมา และในอีกหลายประเทศ”

เอกสารประกอบ
Myanmar, Global Organized Crime Index 2023, globalinitiative.net
Drugs, Scams and Sin: Myanmar’s War Has Made It the Global Crime Capital, December 31, 2024, nytimes.com