ThaiPublica > เกาะกระแส > โควิด-19 เปลี่ยนเขมรให้กลายเป็นศูนย์กลาง “อุตสาหกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์”

โควิด-19 เปลี่ยนเขมรให้กลายเป็นศูนย์กลาง “อุตสาหกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์”

30 สิงหาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ในรายงานการค้ามนุษย์ปี 2023 (Trafficking in Persons Report June 2023)ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ เช่น online romance, การค้าเงินสกุล cryptocurrency และแก็งคอลเซ็นเตอร์ (cyber scam) แม้อาชญากรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อาชญากรรมออนไลน์รุนแรงมากขึ้นโดยมีการใช้การค้ามนุษย์มาประกอบอาชญากรรมเหล่านี้

ความรุ่งเรืองของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ส่วนรายงานของ Center for Strategic & International Studies (CSIS) ระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอย่างมาก เพราะก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมืองท่องเที่ยวและเขตเศรษฐกิจพิเศษของบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นแหล่งพักพิงของคนจีน โรงแรม การพนันออนไลน์และแหล่งคาสิโน กลายเป็นธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองมาก ในเวลานั้นพวกแก๊งคอนเซ็นเตอร์มีเป้าหมายอยู่ที่คนจีนในประเทศจีน

ต่อมา อุตสาหกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์เปลี่ยนมาอาศัยการค้ามนุษย์ให้มาประกอบอาชญากรรมออนไลน์ ในปี 2019 เมื่อเขมรห้ามการพนันออนไลน์ ทำให้ธุรกิจคาสิโนและโรงแรมมีรายได้ลดลงจำนวนมาก ราคาอสังหาริมทรัพย์ของเมืองที่เป็นแหล่งการพนัน ก็ตกต่ำลงมาก

ในปี 2020 นโยบายของรัฐบาลจีนเรื่องโควิด-19 มีส่วนกดดันให้คนจีนที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเดินทางกลับประเทศจีน รวมทั้งห้ามคนจีนออกนอกประเทศ เมื่อรายได้ตามปกติหายไป ทำให้เจ้าของโรงแรมและคาสิโนหันไปร่วมมือกับกลุ่มอาชญากรรม แปลงพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้กลายเป็นแหล่งอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ การเดินทางกลับประเทศของคนจีนจำนวนมากที่เดิมเคยทำงานให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้พวกอาชญากรไซเบอร์ เริ่มหันมาใช้การค้ามนุษย์โดยให้ชาวต่างชาติมาทำงานแทนคนจีน

การค้ามนุษย์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

บทความของ CSIS กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความยากลำบากทางเศรษฐกิจเลวร้ายลงมากขึ้น คนส่วนหนึ่งจึงตกเป็นเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องยากที่จะระบุว่ามีคนจำนวนมากแค่ไหน ที่ถูกล่อลวงมาทำงานในอาชญากรรมทางไซเบอร์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาติ (UNHCR) คาดการณ์ว่ามีคนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบต่างๆ จำนวนมากกว่า 100,000 คนถูกกักขังอยู่ในเมืองสีหนุวิลล์

รายงานของ UNHCR เปิดเผยว่า คนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จะถูกฝึกฝนในเรื่องการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์
เช่น เว็บไซต์ปลอมของการพนันออนไลน์ การลงทุนใน cryptocurrency เมื่อเสร็จจากการอบรมแล้ว คนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จะถูกกระจายไปทำงานในจุดต่างๆในเขมร และได้รับการมอบหมายงานตามลักษณะเชื้อชาติและความชำนาญทางภาษาการค้ามนุษย์ด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ จึงเล็งเป้าหมายเหยื่อที่มีการศึกษา เช่น มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

ที่ตั้ง Call Center ในเขมร ที่มาภาพ : The New York Times

ศูนย์กลาง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โลก

ส่วนบทความของ nytimes.com กล่าวถึงอุตสาหกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเขมรว่า ทั่วโลกอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็นศูนย์กลางของอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือเขตที่มีการสู้รบทางทหาร แต่ในเขมรอุตสาหกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับรุ่งเรืองชนิดที่ว่ามองจากมุมไหนก็มองเห็น

ในปี 2022 มีรายงานว่า พวกอาชญากรไซเบอร์ได้ล่อลวงพลเมืองหลายชาติจำนวนหลายหมื่นคน ให้มีทำงานในเขมร โดยเสนอค่าตอบแทนสูงแต่ในที่สุดก็ถูกบังคับให้มาทำงานเรื่องคอลเซ็นเตอร์ เมื่อถูกกดดันมากขึ้น ในเดือนสิงหาคม 2022 เจ้าหน้าที่เขมรแถลงว่าได้เข้าช่วยพลเมืองจากประเทศอื่นที่ถูกล่อลวงกว่า 2 พันคน ปิดกิจการ 5 บริษัทและจับกุมคน 95 คน แต่ธุรกิจนี้ยังรุ่งเรือง เนื่องจากระบบอุปถัมภ์ที่นักธุรกิจที่มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทำให้ไม่มีการสอบสวนหรือจับกุมรายใหญ่

รายงานของกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯระบุว่า มีคนจากทั่วโลกราว 10,000 คนที่ติดอยู่ในบริเวณพื้นที่กิจกรรมผิดกฎหมายในเขมร เหยื่อหลายรายมาจากจีน เวียดนาม มาเลเซีย และไทย รัฐบาลประเทศเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เขมรเพื่อช่วยเหลือพลเมืองของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วความพยายามแก้ปัญหาของเขมรจะเป็นรายๆ

เดือนมิถุนายน ตำรวจสากล (Interpol) เปิดเผยว่าคนหลายหมื่นคนถูกล่อลวงมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นที่เขมร
แล้วขยายตัวไปยังเมียนมาและลาว

ทาง Intepol เตือนว่าแนวโน้มการล่อลวงประชาชน ให้มาทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นับวันจะเพิ่มทวีคูณและกำลังเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็น “ภัยอาชญากรรมของภูมิภาค” ให้กลายมาเป็น “วิกฤติการค้ามนุษย์ของโลก”

ตำรวจเขมรเข้าไม่ถึงแหล่ง

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501347064/a-new-era-national-assembly-approves-composition-of-the-new-council-of-ministers-with-his-excellency-dr-hun-manet-as-new-pm/

บทรายงานของ nytimes.com ระบุว่า ตำรวจเขมรรู้ดีว่าภายในอาคารต่างๆ ทำธุรกิจอะไร แต่ไม่สามารถเข้าไปภายในอาคารจะเข้าไปตรวจอาคารได้ จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกิจการภายใน เพราะคนที่เป็นเจ้าของอาคารคือวุฒิสมาชิกชื่อ หลี ยงพัด (Ly Yong Phat) นักธุรกิจที่มั่งคั่งที่สุดของเขมร มีเชื้อสายจีนและไทย และเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเขมรคนใหม่ ฮุน มาเนต

แม้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่า หลี ยงพัด เกี่ยวข้องโดยตรงกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่พวกนักกิจกรรมบอกว่า นักธุรกิจยักษ์ใหญ่จะเป็นพวกให้การคุ้มครองจากการจับกุมของตำรวจ

ในกรณีที่ตำรวจเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ ก็จะมองว่าเป็นปัญหาสภาพการจ้างงาน ไม่ใช่อาชญากรรม การหน่วงเหนี่ยวไม่ให้พนักงานออกจากงาน เพราะยังไม่ได้เคลียร์ “ปัญหาหนี้สิน” ให้หมด

วิธีการเรียกว่า “การฆ่าหมู”

Matt Friedman ผู้บริหารองค์กร Mekong Club ในฮ่องกงที่รณรงค์ต่อสู้กับทาสสมัยใหม่ ให้ความเห็นว่า “ความคิดที่รวมอาชญากรรม 2 อย่าง เข้าด้วยกัน คือ อาชญากรรมออนไลน์กับการค้ามนุษย์ ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่” ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนใน 35 ปีที่ผ่านมาของการทำงานในเรื่องนี้

วิธีการที่ใช้อย่างแพร่หลายของพวกอาชญากรรมออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นที่รู้จักกันในนามว่า “การฆ่าหมู” (pig butchering) คือ การขุนหมูให้อ้วนก่อนที่จะนำไปฆ่า วิธีการเริ่มต้นใช้กับเหยื่อ คือการสร้างความไว้วางใจลักษณะเดียวกับ “แชร์ลูกโซ่” แต่ปรับให้เข้ากับยุคอินเทอร์เน็ต โดยอาศัยโซเชียลมีเดียมาเป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ และวิธีการเคลื่อนย้ายเงินที่สะดวกทางอิเล็กทรอนิกส์

กรณีตัวอย่างคืออาชญากรจะสร้างความสัมพันธ์ทางออนไลน์และโน้มน้าวเหยื่อให้ฝากเงินมากขึ้นใน “แพลตฟอร์มการลงทุน” ที่ถูกกำหนดควบคุมโดยตัวอาชญากร เมื่อเหยื่อไม่สามารถฝากเงินได้มากขึ้นก็จะไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนที่โอนผ่านมาของตัวเอง หลังจากนั้น เหยื่อจะถูกแจ้งว่าวิธีเดียวที่จะได้เงินคืนมาคือ การฝากเงินมากขึ้น หรือไม่ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นเงินก้อนจำนวนมาก และเงินที่จ่ายเพิ่มขึ้นก็จะสูญหายไปแบบเดียวกันกับเงินก้อนแรก

การกำจัดอาชญากรรมออนไลน์ต้องอาศัยการดำเนินการหลายส่วน รัฐบาลแต่ละประเทศต้องจัดการเครือข่ายอาชญากรรมนี้ ที่อยู่ภายในประเทศตัวเอง ประสานงานกับบริษัทเทคโนโลยีและสถาบันการเงิน เพื่อเข้าใจการเคลื่อนย้ายเงินและปิดศูนย์แก็งคอลเซ็นเตอร์โดยการปราบปรามอาชญากรรมภายในและการคอร์รัปชัน รวมทั้งการร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อระบุเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาตินี้

เอกสารประกอบ

Cyber Scamming as a New Destination for Human Trafficing Victims, August 17,
2023, csis.org

A Global Cyber-Scam Industry Is Booming in Plain Sight in Cambodia, 28 August
2023.