พิเศษ เสตเสถียร
อีลอน มัสก์ เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla และจรวด SpaceX ที่ชอบทำตัวให้เด่นดังผ่านโซเชียลมีเดียชื่อ X (ของเขาเอง) ยิ่งในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่ 2 เขาก็ยิ่งเด่นดังเพราะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลงานของกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency หรือ DOGE) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูป คือ การรื้อระบบราชการ ลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ตัดงบประมาณที่สิ้นเปลือง และปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐบาล
แต่เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2025 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ได้ฟ้องร้องอีลอน มัสก์ เกี่ยวกับการซื้อหุ้นของ Twitter, Inc. ในปี 2022 โดยกล่าวหาว่ามัสก์ไม่ได้เปิดเผยการถือหุ้นเกิน 5% ของ Twitter ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
SEC ระบุว่ามัสก์ทำผิดกฎ Rule 13d แห่ง Securities Exchange Act of 1934 โดยไม่รายงานการถือหุ้นเกิน 5% ของ Twitter ภายใน 10 วันตามที่กฎหมายกำหนดตาม Rule 13d-1(a) ซึ่งการรายงานอย่างนี้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็มีอยู่เช่นเดียวกันในมาตรา 246 ที่กำหนดว่า
“บุคคลใดกระทำการไม่ว่าโดยตนเองหรือร่วมกับบุคคลอื่นอันเป็นผลให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการในจำนวนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อรวมกันแล้ว มีจำนวนทุกร้อยละห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการนั้น ไม่ว่าจะมีการลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์นั้นหรือไม่ และไม่ว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นจะมีจำนวนเท่าใดในแต่ละครั้ง บุคคลนั้นต้องรายงานการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนหลักทรัพย์ในทุกร้อยละห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการดังกล่าวต่อสำนักงานทุกครั้ง ทั้งนี้ การคำนวณจำนวนสิทธิออกเสียงและการรายงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด
การเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการมีสิทธิที่จะซื้อหรือได้รับการส่งมอบหลักทรัพย์ของกิจการอันเนื่องมาจากการเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ที่กิจการมิได้เป็นผู้ออกหรือจากการเข้าเป็นคู่สัญญากับบุคคลอื่นใด ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด”
ความมุ่งหมายของกฎหมายที่ให้รายงานนี้ไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐอเมริกาหรือของไทยก็คือ ถ้าใครจะเข้าครอบครองกิจการโดยการซื้อหุ้นเข้ามาสะสมไว้ ก็จะต้องรายงานการเข้ามาเพื่อให้ผู้ถือหุ้นและสาธารณชนทั่วไปได้รับรู้ ไม่ใช่แอบย่องเข้ามา และวันดีคืนดีก็ประกาศว่าตนได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนี้แล้ว และการรายงานการได้หุ้นมานี้ก็เพื่อให้ผู้ที่ถือหุ้นของบริษัทนั้นอยู่ได้พิจารณาว่า การเข้ามานั้นจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อบริษัท ซึ่งผู้ถือหุ้นก็จะได้พิจารณาที่จะถือหุ้นนั้นต่อหรือขายไป
และถ้าผู้ถือหุ้นคนนั้นยังเก็บรวบรวมหุ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 25% ของหุ้นทั้งหมด เขาก็จะต้องเสนอซื้อหุ้นเป็นการทั่วไปจากผู้ถือหุ้นคนอื่นตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ซึ่งตามมาตรา 247 ได้บัญญัติไว้ว่า
“บุคคลใดเสนอซื้อหรือได้มาไม่ว่าโดยตนเองหรือร่วมกับบุคคลอื่น หรือกระทำการอื่นใด อ้นเป็นผลหรือจะเป็นผลให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการ ร่วมกันถึงร้อยละยี่สิบห้าขี้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการนั้น ให้ถือว่าเป็นการเข้าถือ หลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ เว้นแต่การเป็นผู้ถือหลักทรัพย์นั้นเป็นผลจากการได้มาโดยทางมรดก ในการนี้ ให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ โดยอาจกำหนดให้บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลที่ร่วมกัน จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนดใหัจดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ตามวรรคหนึ่ง คำเสนอดังกล่าวต้องยื่นต่อสำนักงาน และให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด”
คำเสนอซื้อหลักทรัพย์เป็นการทั่วไปนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า tender offer เราจึงมักจะได้ยินนักลงทุนพูดว่า มีการ tender หุ้นของบริษัทนั้นบริษัทนี้อยู่เสมอ
ในกรณีของมัสก์ SEC กล่าวหาว่ามัสก์ชะลอการเปิดเผยข้อมูลเป็นเวลา 11 วัน ทำให้เขาสามารถซื้อหุ้น Twitter เพิ่มเติมมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงวันที่ 25 มีนาคม ถึง 1 เมษายน 2022 ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากผู้ถือหุ้นทั่วไปไม่ทราบข้อมูลการถือหุ้นและแผนการของ Musk
มัสก์ยื่นแบบฟอร์ม Schedule 13G ครั้งแรกในวันที่ 4 เมษายน 2022 ซึ่งเปิดเผยการถือหุ้น 9.2% ของ Twitter แม้ว่า Schedule 13G จะยื่นภายใต้ Rule 13d-1(c) ที่อนุญาตให้ยื่นแบบสั้นได้หากผู้ถือหุ้นไม่มีเจตนาในการควบคุมบริษัท แต่มัสก์ก็เปลี่ยนไปยื่น Schedule 13D ในวันที่ 5 เมษายน 2022 ซึ่งระบุว่าเขาได้ตกลงกับ Twitter ในการแต่งตั้งเขาเป็นกรรมการบริษัท และจำกัดการถือหุ้นของเขาไม่เกิน 14.9%
เมื่อมัสก์เปิดเผยการถือหุ้นในที่สุด ราคาหุ้น Twitter เพิ่มขึ้นกว่า 27% SEC กล่าวหาว่าการไม่ยื่นรายงานการถือหุ้นทันเวลาทำให้มัสก์ได้กำไร 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากผู้ถือหุ้น Twitter ที่ขายหุ้นโดยไม่ทราบข้อมูลนี้ คดีนี้ต้องการให้มัสก์จ่ายค่าปรับและคืนกำไรที่ได้มา
ซึ่งในเรื่องนี้ก็จะต้องรอดูต่อไปว่ามัสก์จะให้การต่อสู้คดีอย่างไร แต่ทนายความของมัสก์เรียกการฟ้องร้องของ SEC ว่าเป็นความพยายามของ “การคุกคามที่ดำเนินมาหลายปี” ต่อลูกความของเขา โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าคดีนี้เป็น “เรื่องหลอกลวง” (sham) ว่าไปนั่น!