ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯประชุม ส.ส.เพื่อไทย ถอดบทเรียนเลือกตั้ง อบจ.-สั่งคลัง – สำนักงบฯ หาเงิน 3.4 แสนล้าน สร้างรถไฟไทย-จีน เฟส 2

นายกฯประชุม ส.ส.เพื่อไทย ถอดบทเรียนเลือกตั้ง อบจ.-สั่งคลัง – สำนักงบฯ หาเงิน 3.4 แสนล้าน สร้างรถไฟไทย-จีน เฟส 2

4 กุมภาพันธ์ 2025


เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯประชุม ส.ส.เพื่อไทย ถอดบทเรียนเลือกตั้ง อบจ.
  • กำหนดการนายก ฯ เยือนจีน 5-8 ก.พ.นี้
  • ชู ‘แลนด์บริดจ์-รถไฟความเร็วสูง’ โรดโชว์นักลงทุนจีน
  • ไม่กลัวเจอ ‘ตอ’ จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ ดำเนินคดีแน่นอน
  • ไฟเขียว พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน ‘Fin Hub’
  • มติ ครม.สั่งคลัง – สำนักงบฯ หาเงิน 3.4 แสนล้าน สร้างรถไฟไทย-จีน เฟส 2
  • อนุมัติงบฯปี’69 ให้ สปสช. 2.75 แสนล้านบาท
  • แก้ ป.วิแพ่ง ปรับลด-ยกเว้น ค่าธรรมเนียมบังคับคดี
  • ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
  • ตั้ง ‘ธิรินทร์ ณ ถลาง’ เป็นผู้อำนวยการ อคส.
  • เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและแถลงผลการประชุม ครม.มีรายละเอียดดังนี้

    เยือนจีน 5-8 ก.พ.นี้

    นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ตนได้แจ้งที่ประชุม ครม. ว่าตั้งแต่วันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2568 จะมีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง และเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ณ นครฮาร์บิน ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นปีทองแห่งมิตรภาพไทย – จีน (Golden Jubilee for Thailand – China Friendship) ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน

    นางสาวแพทองธาร ให้ข้อมูลว่า ในการเดินทางครั้งนี้มีกิจกรรมการพบหารือกับภาคเอกชนของจีนและไทย เพื่อพูดคุยในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การพูดคุยในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การพูดคุยและสนับสนุนในหลักการ (One country, two systems) และการพูดคุยในประเด็นเชื่อมโยงอุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ไฟฟ้ารถยนต์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการพูดคุยในเรื่องของการเร่งรัดการสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน

    นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงประเด็นความร่วมมือในด้านการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อยกระดับพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) หลายฉบับ โดยในส่วนนี้จะเป็นการยกระดับความร่วมมืออย่างรอบด้านในทุกมิติ

    ไฟเขียว พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน ‘Fin Hub’

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้มีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินของโลก หรือ Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบการธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป

  • ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ. ศูนย์กลางการเงิน Fin Hub
  • สั่ง ‘ภูมิธรรม’ หารือ สมช. ตัดไฟชายแดนไทย-เมียนมา

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นการด่วน เพื่อหารือมาตรการตัดไฟฟ้าชายแดนไทย-เมียนมา

    ขอความร่วมมือจีน แก้อาชญากรรมออนไลน์

    ผู้สื่อข่าวถามว่า การเดินทางเยือนจีนจะมีการพูดคุยเรื่องการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “แน่นอนค่ะ เรื่องนี้ต้องได้พูดคุยกันอยู่แล้ว และคิดว่าเป็นปัญหาของทั่วโลกไม่ใช่แค่กับจีน เดี๋ยวไปคุยกันและต้องถามถึงเทคโนโลยีหรือวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยได้ด้วย”

    ถามต่อว่า นายกฯ จะขอให้ช่วยเรื่องใดบ้าง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เป็นความร่วมมือซึ่งกันและกันว่าจะสามารถช่วยทั้งสองฝั่งได้อย่างไร”

    ถามย้ำว่า จีนมีบทบาทในประเทศเพื่อนบ้านของเรา นายกฯ จะขอให้เขามาช่วยได้อย่างไรบ้าง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “คิดว่าต้องให้มาร่วมมือกัน จีนก็น่าจะเล็งเห็นปัญหาในเรื่องนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นการขอความร่วมมือก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร…บ่ายนี้ก็มีการมาพบกับท่านรองนายกฯ ด้วย”

    ทั้งนี้ ช่วงบ่ายวันที่ 4 ก.พ. จะมีกำหนดการพบกันระหว่างนายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน กับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

    เมื่อถามว่า นายกฯ ทราบข้อมูลเบื้องต้นที่จะคุยกันหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ชี้แจงว่า “รัฐมนตรีเขาไม่ได้มาแบบทางการ เขามาเป็น Personal ทางเราก็จะไม่ได้มีการรับทราบและไม่ได้มีการไปต้อนรับใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเขามาของเขาเอง มาเสร็จก็มีการพูดคุยในข้อมูลก็เป็นไปตามหลังบ้านอยู่แล้ว…กับจีนเองไม่ได้มีการเข้าใจผิดกันในเรื่องนี้ ฉะนั้นไม่มีปัญหาแน่นอน”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า คนไทยตั้งความหวังกับการเยือนจีนครั้งนี้ว่าจะแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ ทำให้นางสาวแพทองธาร พูดว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก คิดว่าจะต้องมีความคืบหน้าแน่นอน เพราะปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับประเทศจีนด้้วยเช่นกัน ไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น ฉะนั้นการที่ไปคุยถึงเรื่องนี้ก็คิดว่าต้องได้รับความคืบหน้า และมีผลกลับมาเล่าให้ทางประเทศไทยฟัง เดี๋ยวรอดูอีกทีว่าเราจะทำอะไรร่วมมือกันได้บ้าง”

    มอบ สมช.พิจารณาตัดไฟแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ทันที

    ผู้สื่อข่าวถามความคืบหน้าเรื่องการตัดไฟแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นปัญหาโยนกันไปมา โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “จริงๆ ไม่มีความลังเลนะคะ ที่พูดใน ครม. ก็ไม่มีความลังเลเกิดขึ้น ถ้าสุดท้ายแล้ว เราดูเรื่องชายแดนอะไรชัดเจนแล้วก็ตัดไฟได้เลย และเรื่องน้ำมันก็ไม่ต้องส่ง”

    “เราต้องโอบอุ้มคนของเราก่อน ต้องดูแลคนของเราก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นผลกระทบต่อคนไทยมากมาย ต่อภาพลักษณ์ของประเทศมากมาย ถ้าเรามีความเห็นใจและเรียงลำดับไม่ถูกต้องก็จะเกิดปัญหาที่ยาวนานและต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่ประเทศไทยเจอหนักหน่วงกับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นมาตรการที่เข้มข้นแล้ว ถึงเวลาที่ต้องเรียกคุยกันและจัดการเลย” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    ถามย้ำว่า ในสัญญาขายไฟ เราสามารถตัดไฟได้ทันทีหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ได้ทันทีค่ะ”

    ไม่กลัวเจอ ‘ตอ’ จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ ดำเนินคดีแน่นอน

    เมื่อถามว่าจะเอาผิดผู้ที่อยู่เบื้องหลังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ก็มีการดำเนินการตามกฎหมายแน่นอน คงไม่สามารถปล่อยไปได้ เพราะเป็นเรื่องจริงจัง เป็นเรื่องระดับชาติ”

    “จริงๆ แล้วทุกประเทศ Concern มากๆ ในเรื่องนี้ ถ้าเราจับได้แล้ว ไม่ดำเนินการใดๆ ก็จะเสียความน่าเชื่อถือ” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นายกฯ กังวลจะเจอ ‘ตอ’ หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบทันทีว่า “ไม่กังวลค่ะ”

    จากนั้นนางสาวแพทองธาร ย้ำเรื่องการตัดไฟกับนายภูมิธรรม และตอบสื่อมวลชนว่า “วันนี้ได้เลยค่ะ ถ้าคุยแล้วมันชัดเจนก็วันนี้ได้เลย”

    ประชุม ส.ส.เพื่อไทย ถอดบทเรียนเลือกตั้ง อบจ.

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการเข้าประชุม สส.พรรคเพื่อไทย ในช่วงบ่ายวันนี้ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “คงต้องพูดเรื่องการเลือกตั้ง อบจ. แน่นอน เป็นเมนสำคัญ อย่างที่ให้สัมภาษณ์ไปเมื่อวาน ต้องดูว่าเราชนะเพราะอะไร เราไม่ชนะเพราะอะไร อันนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด คงไปคุยกันและน่าจะได้รับฟังคนในพรรคด้วยว่าระหว่างการหาเสียง Process ทั้งหมดเจออะไรมาบ้าง และอยากได้อะไร Support เพิ่มขึ้น ก็ต้องทำงานร่วมกันกับพรรคด้้วย”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง เหมือนยังไม่พอใจกับผลการเลือกตั้ง อบจ. ของพรรคเพื่อไทย ทำให้นางสาวแพทองธาร บอกว่า “เหรอ ท่านให้สัมภาษณ์ เหรอ ผู้ช่วยหาเสียงให้สัมภาษณ์เหรอ”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า ดูเหมือนเป้าหมายอยากจะได้มากกว่านี้ นางสาวแพทองธาร จึงบอกว่า “ก็บอกแล้วไง ว่าอยากได้ทั้ง 16 จังหวัดนั่นแหละ”

    กำหนดการนายก ฯ เยือนจีน 5-8 ก.พ.นี้

    ด้านนายจิรายุ รายงานกำหนดการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง ของนายกฯ และคณะ ตั้งแต่วันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2568 ดังนี้

    วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568

      • ช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเข้าประชุมหารือกับ นายสี จิ้นผิง (H.E. Xi Jinping) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายจ้าว เล่อจี้ (H.E. Mr. Zhao Leji) ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายหลี่ เฉียง (H.E. Mr. Li Qiang) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งการค้าการลงทุน เศรษฐกิจ และสังคมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปี 2568 นี้ เป็นปีทองแห่งมิตรภาพไทย – จีน ครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะวางพวงมาลาที่อนุเสาวรีย์วีรชน ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
      • ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมพิธีตรวจแถวสวนสนามภายในศาลามหาประชาชน และเข้าพบปะหารือร่วมกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนและคณะ จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงต่างๆ ระหว่างไทย – จีน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจการค้าการลงทุน และข้อตกลงต่างๆ ระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศที่ได้บรรลุข้อตกลงระหว่างกัน
      • ช่วงค่ำรัฐบาลจีนโดยนายกรัฐมนตรีจีน และคณะผู้บริหารของรัฐบาลจีนได้จัดงานเลี้ยงรับรองคณะนายกรัฐมนตรีและคณะ

    วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568

      • ช่วงเช้านายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะออกเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปยังเมืองฮาร์บิน ในมณฑลเฮย์หลงเจียง ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศจีน ตามคำเชิญของรัฐบาลจีน
      • ช่วงเที่ยงวันดังกล่าวประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเป็นประธานเลี้ยงต้อนรับผู้นำของแต่ละประเทศ และเชิญนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 อย่างเป็นทางการ

    “นอกจากในส่วนของการต้องรับของรัฐบาลจีนแล้ว นายกรัฐมนตรีจะพบกับนักกีฬาไทยที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันในงานแสดงศิลปะแกะสลักน้ำแข็ง หรือ Harbin Ice and Snow World โดยในปีนี้จะร่วมทำการแข่งขันอีกด้วย” นายจิรายุ ให้ข้อมูล

    ทั้งนี้ คณะของนายกรัฐมนตรีประกอบไปด้วย 1.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 3.นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 4.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 5.นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6.นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 7.นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 8.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 9.นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

    ชู ‘แลนด์บริดจ์-รถไฟความเร็วสูง’ โรดโชว์นักลงทุนจีน

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการเนื่องในโอกาสที่ไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการว่า ให้เร่งส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะในสาขาแห่งอนาคตที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัล เช่น EV, Semiconductor, Data Centre

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้คณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับมาตรการกำกับดูแล มาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร

    นอกจากนี้ ขอให้เดินหน้าพัฒนาโครงการ Land Bridge และพร้อมเปิดรับการลงทุนจากประเทศจีน หากนักลงทุนจีนให้ความสนใจ และขอให้ติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิดในการติดตามมติ ครม. ซึ่งได้มีการอนุมัติโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางจากจังหวัดนครราชสีมา-หนองคาย

    ยกระดับมาตรการสกัดอาชญากรรมข้ามชาติ

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มีข้อสั่งเรื่องความปลอดภัยและการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาตินั้น โดยขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว และยกระดับมาตรการต่างๆ โดยไม่ยอมให้ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติใช้ไทยเป็นทางผ่าน โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์

    เตรียมรับแพนด้ายักษ์ เป็นทูตสันถวไมตรี

    นอกจากนี้ยังมีข้อสั่งการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีน ดังนี้

      • ให้เร่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อมต่ออนาคต
      • ให้สนับสนุนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม soft power
      • การเตรียมความพร้อมในการรับแพนด้ายักษ์คู่ใหม่จากจีน ในฐานะทูตสันถวไมตรีในปีนี้

    ย้ำ ‘ภูมิธรรม-สมช.’ พบการกระทำผิด ตัดน้ำ-ไฟ ได้ทันที

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการกรณีเรื่องของปัญหาที่มีอยู่ในเรื่องการตัดน้ำ หรือไฟ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้น นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการว่า การกำกับเรื่องมาตรการการตัดน้ำตัดไฟในพื้นที่ชายแดนของ สมช. หากมีข้อมูลของการกระทำผิด ขอให้รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย เรียกประชุมกับทาง สมช. เพื่อพิจารณาในมาตรการต่อไปอย่างชัดเจน โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ และความปลอดภัยของประชาชนคนไทย และประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ หากต้องตัดก็ให้ดำเนินการ

    จี้ รมต.ทุกกระทรวง เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของแต่ละกระทรวง โดยกล่าวว่าเมื่อวาน (วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568) ได้มีการประชุมเร่งรัดติดตามเรื่องงบการลงทุนของแต่ละกระทรวง ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม และจะมีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยที่ทางอธิบดีกรมบัญชีกลางจะช่วยเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามกำหนด โดยขอให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร่งติดตามให้ทุกกระทรวงดำเนินการตามเป้าหมาย เพราะถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

    มติ ครม.มีดังนี้

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ฯ และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษก ฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    สั่งคลัง – สำนักงบฯ หาเงิน 3.4 แสนล้าน สร้างรถไฟไทย-จีน เฟส 2

    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบฯ 2568-75) โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม

    ทั้งนี้ เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างไทย และจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ซึ่งที่ผ่านมา ครม. มีมติเมื่อ 11 กรกฎาคม 2560 ที่อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. -หนองคาย (โครงการฯ ระยะที่ 1) กทม.- นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบฯ 2560-63) ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีความคืบหน้าโดยรวมร้อยละ 35.74 ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

    นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่

    ส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่จะเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจังหวัดหนองคาย วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท ระยะทาง 357.12 กม. ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ (1) สถานีบัวใหญ่ (2) สถานีบ้านไผ่ (3) สถานีขอนแก่น (4) สถานีอุดรธานี และ (5) สถานีหนองคาย โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบฯ 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบฯ 2575 (รวม 8 ปี)

    ส่วนที่ 2 การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นการก่อสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า – ขาออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตร ของรถไฟไทย และขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว – จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service)

    สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2 เมื่อพิจารณา EIRR เชิงกว้าง กรณีโครงการฯ ระยะที่ 1 + 2 พบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 13.23 ซึ่งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้ง คณะกรรมการการรถไฟฯ มีมติเห็นชอบโครงการฯ ระยะที่ 2 และ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ได้เห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการฯ ระยะที่ 2 ด้วยแล้ว

    ทั้งนี้ เลขาฯ ครม. ได้สรุปความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

    • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม เร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง เสนอ ครม. พิจารณาโดยเร็ว และให้การรถไฟฯ ศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และเสนอขออนุมัติพร้อมกันกับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ทบทวนและปรับปรุงสมมติฐานที่ใช้ในการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน”

    โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการว่า ขอให้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนมานานแล้ว

    จากนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการโครงการฯ ระยะที่ 2 โดยให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ดำเนินการตามความเห็นของสภาพัฒน์ฯ ก่อนดำเนินการต่อไป และให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาด้วย โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องต่อไป

    ต่ออายุวงเงิน O/D ให้ รฟท. 1,500 ล้าน อีก 2 ปี

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม โดย รฟท. จะดำเนินการกู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 1,500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    1. ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม (คค.) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกู้เงินระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ รฟท. ใช้ในกรณีที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อไม่ให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงัก โดยสัญญากู้เงินฉบับล่าสุดจะครบกำหนดในวันที่ 29 มีนาคม 2568 ในครั้งนี้ คค. โดย รฟท. จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกู้เงินระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 1,500 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญาเงินกู้ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2568 – 29 มีนาคม 2570 โดยกระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เงินกู้ดังกล่าวได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แล้ว

    2. กค. สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ และมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น

      (1) ให้ รฟท. พิจารณาคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูลวงเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) (กค.)
      (2) ให้ รฟท. เร่งรัดการดำเนินการตามแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 (แผนฟื้นฟู รฟท.) (สงป. และ สศช.)
      (3) ให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเกี่ยวกับการให้รัฐบาลชดเชยผลการขาดทุนรายปีให้แก่ รฟท. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สะสมและพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนของ รฟท. (กค.)

    แก้ ป.วิแพ่ง ปรับลด-ยกเว้น ค่าธรรมเนียมบังคับคดี

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว และปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามดำพิพากษา หรือ คำสั่งและอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้น ยธ. จึงได้ยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว ต่อไปได้ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง โดยลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีบางประการที่ไม่จําเป็น เพื่อเป็นการบรรเทา ผลกระทบจากการไม่สามารถชําระหนี้ได้ และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนี้

      • กรณี ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด ค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย
      • กรณีจ่ายเงินที่ยึดหรืออายัดแก่เจ้าหนี้ ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด และ
      • กรณีการขายโดยวิธีประมูลระหว่างคู่ความ ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของราคาประมูลสูงสุด
      • ส่วนกรณีเมื่อยึดทรัพย์สิน ซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย และกรณีเมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้ยกเลิกค่าธรรมเนียม

    ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน 5 ตำบล จังหวัดอุดรธานี

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

    นายคารม กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัวฯ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท ถนนสาย ก 7 ถนนสาย ง 8 และถนนสาย จ ตามโครงการผังเมืองรวมอุดรธานี และถนนต่อเชื่อม เนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบ้านจั่น ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองบัว และตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2562 ได้สิ้นผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2566 แต่โดยที่กรมทางหลวงชนบทจะขอรับการจัดสรรงบประมาณในการใช้จ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2569 ทำให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาตามแผนการดำเนินการที่กำหนดไว้

    กระทรวงคมนาคมจึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด มีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี ให้เริ่มต้น เข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. …. แล้ว ตามที่กระทรวงคนนาคมเสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเสร็จแล้ว

    เห็นชอบ MOU ด้าน AI ไทย-จีน

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านปัญญาประดิษฐ์ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมดำเนินการได้โดยการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ และไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้ง อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และการประยุกต์ใช้ AI แบบบูรณาการระหว่างสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงของทั้งสองประเทศ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและพัฒนานักวิจัย โดยฝ่ายไทยและจีนจะพิจารณามอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่มีภารกิจเกี่ยวข้องให้ร่วมจัดตั้งและพัฒนาห้องปฏิบัติการร่วม เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

    “การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จะเป็นการขยายความร่วมมือไทย – จีนในด้าน AI ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในการมุ่งพัฒนากำลังคนและเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศบนฐานของ AI เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาญาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565-2569) ที่มุ่งกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่ง AI เป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือที่ได้ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการร่วมฯ ตลอดจนสอดคล้องกับแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือด้านห้องปฏิบัติการร่วม อุทยานวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยของทั้งสองประเทศ” นายคารม กล่าว

    มอบปลัด อว.เซ็น MOU ‘ไทย-จีน’ สำรวจอวกาศ – นิวเคลียร์

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้

    1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับหน่วยงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้

      (1) ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เกี่ยวกับอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศโดยรอบของดวงจันทร์ไทย – จีน ภายใต้พันธกิจอวกาศยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ หมายเลข 7

      (2) ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การพลังงานปรมาณูแห่งชาติจีนว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ ทั้งนี้ ในกรณีที่ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้น มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมดำเนินการได้โดยการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ และไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

    2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจ ฯ ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กับหน่วยงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 ฉบับ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

      1) ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เกี่ยวกับอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศโดยรอบของดวงจันทร์ไทย – จีน ภายใต้พันธกิจอวกาศยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ หมายเลข 7 (Memorandum of Understanding between the Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation of the Kingdom of Thailand and the China National Space Administration Concerming the Flight of the Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope (MATCH) Instrument on the Chang’e-7 Lunar Exploration Mission) มีสาระสำคัญในการวางกรอบข้อตกลงและข้อกำหนดสำหรับความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศโดยรอบของดวงจันทร์ไทย – จีน (Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope : MATCH)

      2. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การพลังงานปรมาณูแห่งชาติจีนว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ (Memorandum of Understanding between the Ministry Higher Education, Science, Research and Innovation of the Kingdom of Thailand and the China Atomic Energy Authority for Cooperation in Peaceful Uses of Nuclear Technology) มีสาระสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ การพัฒนาความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และกำหนดให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทั้งสองประเทศ ตลอดจนสนธิสัญญาและพันธกรณีระหว่างประเทศสองฝ่ายเข้าร่วม

    “การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวนี้สอดดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในการมุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการขยายความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในด้านเทคโนโลยีอวกาศ และด้านพลังงานและเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะส่งผลให้ไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ รวมทั้งเกิดการพัฒนาขีดความสามารถด้านวิจัยและพัฒนากำลังคนในสาขาที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต อีกทั้งการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ทั้ง 2 ฉบับ สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565-2569) ที่มุ่งกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนสอดคล้องกับแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรรษที่ 21 ที่สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือด้านห้องปฏิบัติการร่วม การแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยของทั้งสองประเทศ” นายคารม ระบุ

    ไฟเขียวลงนามพิธีสารตรวจสอบผลิตภัณฑ์ประมงส่งออกจีน

    นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้

      1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในพิธีสารว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ กักกันโรค และสุขอนามัยทางสัตว์แพทย์ของผลิตภัณฑ์ประมงที่มาจากการเพาะเลี้ยงส่งออกมายังสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ระหว่าง กษ. และสำนักงานศุลกากรจีน (ร่างพิธีสารฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขร่างพิธีสารฯ ในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ขอให้ กษ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

      2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ ผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างพิธีสารฯ โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) (สำนักงานศุลกากรจีนประสงค์ให้มีการลงนามร่างพิธีสารฯ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ในห้วงการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีไทย)

    ทั้งนี้ ร่างพิธีสารฯ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามโดยคู่ภาคี และจะมีผลบังคับใช้ต่อไปเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยจะได้รับการขยายเวลาอัตโนมัติทุก 5 ปี ซึ่งภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถสิ้นสุดร่างพิธีสารฯ ได้ โดยการแจ้งเป็นลายลักอักษรไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการสิ้นสุดจะมีผลบังคับใช้ 6 เดือน นับตั้งแต่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้รับหนังสือแจ้งการสิ้นสุดร่างพิธีสารฯ โดยร่างพิธีสารฯ จัดทำเป็นสำเนาจำนวน 2 ฉบับ ในภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทุกฉบับมีความถูกต้องเท่าเทียมกัน กรณีมีความแตกต่างในการตีความหมายจะถือข้อความภาษาอังกฤษเป็นหลัก

    รับทราบผลประชุม รมต.เกษตรฯอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3

    นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ นครคุณหมิง มณฑลยูนนาน สาธารรัฐประชาชนจัน โดยมีรัฐมนตรีเกษตรของประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งหมด 6 ประเทศ (กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน) เข้าร่วมประชุม สรุปได้ ดังนี้

      1. ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อรับมือกับความท้าทายของสถานการณ์โลกปัจจุบัน อาทิ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่มั่นคงทางอาหาร และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เป็นต้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่ยั่งยืน (Transformation to Agrifood system) จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยต้องมีการดำเนินการประสานงานกันในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

      2. การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและนโยบายในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร เพื่อรับมือกับความท้าทายในสถานการณ์โลกปัจจุบันโดยประเทศไทยมีนโยบายที่ยึดหลักการขับเคลื่อนด้วยตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่เน้นการบูรณาการทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่ดินและน้ำอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อย สตรี เยาวชน และกลุ่มด้อยโอกาสต่าง ๆอย่างเท่าเทียม โดยประเทศไทยมีศักยภาพและยินดีสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศสมาชิกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เกี่ยวกับห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคสัตว์ การควบคุมโรคระบาดสัตว์ข้ามแดนการจัดการการดื้อยาจุลชีพ เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทำโครงการหมอดินอาสา

      3. ที่ประชุมได้รับรองกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิงสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร ภายใต้ GMS 2030 (GMS 2030 Strategy for Transformationof Agri-Food Systems) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านเกษตร เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานและความพร้อมในการรับมือผลกระทบและความท้าทายที่เป็นภัยต่อความยั่งยืน และความสามารถในการขึ้นตัวของระบบเกษตรอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือผ่านการสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในอนุภูมิภาค

    ส่วนการหารือทวิภาคี กับนาย Zhang Zhili รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านวิชาการและโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกัน สรุปได้ ดังนี้

      1. การส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเกษตรไทย – จีน (Sino-Thai Agricultural Technical Cooperation) ที่ผ่านมามีการจัดประชุมร่วมกันมาแล้ว 12 ครั้ง สามารถดำเนินโครงการความร่วมมือร่วมกันมากกว่า 70 โครงการ โดยในครั้งที่ 13 ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ จะเป็นโอกาสในการผลักดันโครงการความร่วมมือด้านการเกษตร อาทิ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการขจัดความยากจนในพื้นที่ชนบท เป็นต้น

      2. การหารือให้จีนสนับสนุน และผลักดันการพิจารณาการขอยื่นการเปิดตลาดสินค้าเกษตร จำนวน 6 รายการ โดยจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก 11,271 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด มีสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ทุเรียน มันสำปะหลัง ยางพารา สำหรับสินค้าผลไม้ที่ไทยส่งออกไปจีนแล้ว มีทั้งสิ้นจำนวน 22 รายการ

      3. ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน คาดว่าจะมีการลงนามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหารด้านสัตว์แพทย์ การปกป้องพืช เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of China: GACC) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกน้ำผึ้งรวมไปถึงนมผึ้งและเกสรผึ้งไปจีนได้มากขึ้น

    อนุมัติ MOU พัฒนาพลังงานสีเขียว ‘ไทย-จีน’

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนด้านการพัฒนาสีเขียว ระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

      1) มุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสองประเทศ ในด้านการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการแสวงหาการสนับสนุนทางการเงินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อเร่งไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังานและการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกันในอนาคต

      2) ขอบเขตของความร่วมมือด้านพลังงานภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว จะครอบคลุมถึงการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในการพัฒนาพลังงานสีเขียวและยั่งยืน อุปกรณ์และบริการสำหรับการอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ และการกำจัดและการรึไซเคิลแผงเซลล์ แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเทคโนโลยีสีเขียว การดำเนินการวิจัยร่วมระดับสูงซึ่งใช้งานได้จริงและใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ผ่านการจัดตั้งเวทีนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

      3) กรมความร่วมมือเศรษฐกิจและการลงทุนต่างประเทศ (Department of Outward Investment and Economic Cooperation) กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานแห่งราขอามาจักรไทยจะเป็นหน่วยงานผู้ประสานงานหลัก เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนนโยบายและดำเนินกิจกรรมความร่วมมือตามที่ได้กำหนดไว้ภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว

    ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. … ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงรายการสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพิกัดอัตราศุลกากร ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างประกาศในเรื่องนี้เป็นการยกเลิกประกาศ พณ. เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 เพื่อปรับปรุงรายการสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพิกัดอัตราศุลกากร สำหรับของเสียอันตราย ภายใต้อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของเสียอันตราย และการจำกัด จากระบบฮาโมไนซ์ ปี 2017 เป็นระบบฮาโมไนซ์ ปี 2022 จากเดิม 428 รายการ เป็น 463 รายการ โดยกำหนดให้รายการสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อลดปริมาณของเสียที่นำเข้ามากำจัดภายในประเทศ รวมทั้งช่วยลดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน โดยให้ร่างประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    ทั้งนี้ให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

    ออกกฎกระทรวงกำกับดูแลปั๊มก๊าซ

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงสถานีบริการก๊าชธรรมชาติ พ.ศ. 2564 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการติดตั้ง ถัง ท่อ อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ และระบบท่อก๊าซธรรมชาติ การจัดให้มีคู่มือวิธีปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และการรายงานการเกิดอุบัติเหตุภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ เพื่อประโยชน์แก่การป้องกัน หรือ ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ ความเสียหาย หรืออันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือ สิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ หมายรวมถึง สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บ และเป็นจุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้บริการแก่ยานพาหนะหรือจ่ายให้กับถังขนส่งก๊าซธรรมชาติอัด ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจกรรมถังขนส่งก๊าซธรรมชาติ โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ได้ให้อำนาจรัฐมนตรี เป็นผู้ประกาศมาตรฐานกำหนดหลักเกณฑ์ หรือ วิธีการติดตั้งถัง ท่อ อุปกรณ์ หรือ เครื่องมือต่าง ๆ และระบบท่อก๊าซธรรมชาติแทนการกำหนดมาตรฐานไว้ในกฎกระทรวง และได้เพิ่มหมวด 5/1 ในเรื่องของการควบคุม เช่น เพิ่มการจัดทำแผนระงับเหตุฉุกเฉิน การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง การจัดทำรายงานการฝึกซ้อมแผนระงับเหตุฉุกเฉินพร้อมทั้งจัดส่งแผนระงับเหตุฉุกเฉินและรายงานการฝึกช้อม

    นอกจากนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ยังได้เพิ่มการจัดให้มีระบบการจัดเก็บเอกสาร พร้อมแบบก่อสร้างและรายการคำนวณความมั่นคงแข็งแรง หลักฐานการทดสอบและตรวจสอบ และรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบเกี่ยวกับสถานีบริการก๊าซธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ให้สามารถตรวจสอบค้นหาหลักฐานเรื่องเดิมได้โดยง่ายและรวดเร็วตลอดระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาต โดยสามารถจัดเก็บเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เอกสารได้ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบค้นหาหลักฐานเรื่องเดิมได้โดยง่ายและรวดเร็วตลอดระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาต ทำให้การประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติได้รับการป้องกันหรือระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายหรืออันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการประกอบกิจการ

    อนุมัติงบฯปี’69 ให้ สปสช. 2.75 แสนล้านบาท

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติกรอบงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 274,889.82 ล้านบาท ประกอบด้วย งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนฯ) 272,583.33 ล้านบาท และงบบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2,306.50 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) นำเสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) จัดทำคำของบประมาณต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณางบกองทุนฯ และงบบริหารงานของ สปสช. ในปี พ.ศ. 2569 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

      1. งบกองทุนฯ 9 รายการ วงเงิน 272,583.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวงเงินที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (236,386.52 ล้านบาท) จำนวน 36,196.81 ล้านบาท

      2. งบประมาณบริหารของ สปสช. วงเงิน 2,306.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวงเงินที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (1,564.54 ล้านบาท) จำนวน 741.95 ล้านบาท

    นอกจากนี้ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีมติรับทราบข้อเสนองบประมาณกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และมีมติเห็นชอบข้อเสนอ งบกองทุนฯ และ งบบริหารของ สปสช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 274,889.82 ล้านบาท

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง

    ตั้ง ‘ธิรินทร์ ณ ถลาง’ เป็นผู้อำนวยการ อคส.

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ / อนุมัติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1) เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายเกรียงศักดิ์ ฤชุศาศวัต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพันธุกรรมทางคลินิก (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ) กลุ่มพันธุกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (จุลชีววิทยา) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ)

      2. นางสุนันทา กาญจนพงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ (ด้านแผนยุทธศาสตร์สาธารณสุข) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ (ด้านแผนยุทธศาสตร์สาธารณสุข) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2) เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นางสาวจิตติมา ศรีถาพร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายวราวุฒิ สมหวังประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตั้งเป็นต้นไป

    3) เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้ง นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตั้งเป็นต้นไป

    4) เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นายธิรินทร์ ณ ถลาง เป็น ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการองค์การคลังสินค้าในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 และครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้าง เป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

    5) เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต จำนวน 5 คน ต่ออีกวาระหนึ่ง เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้

      1. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ 1) นายสหธน รัตนไพจิตร 2) นางสุนทรีย์ ส่งเสริม
      2. ด้านการเงินการธนาคาร ได้แก่ นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี
      3. ด้านคอมพิวเตอร์ ได้แก่ นางประราลี รัตน์ประสาทพร
      4. ผู้แทนผู้ประกอบการด้านธุรกิจภาคเอกชน ได้แก่ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป

    6) เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐจำนวน 6 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้

      1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิศิษฐ์ แสง-ชูโต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาวิศวกร
      2. นายคธาทิพย์ เอี่ยมกมลา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาสถาปนิก
      3. นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
      4. นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
      5. นายประยงค์ หิรัญญะวณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านวิศวกรรม
      6. นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านสิ่งแวดล้อม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป

    7) เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้

      1. นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ประธานกรรมการ
      2. นายกฤษณ์ กระแสเวส กรรมการ
      3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์กังวาน ยอดวิศิษฎ์ศักดิ์ กรรมการ
      4. นางสาวจรสพร เฉลิมเตียรณ กรรมการ
      5. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการ
      6. ศาสตราจารย์ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ กรรมการ
      7. นางสาววารี แว่นแก้ว (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) กรรมการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เพิ่มเติม