ผู้กำกับจีน สร้างสารคดี “Grandma Sirin” เส้นทางชีวิต “ย่าสิรินทร์” สะพานเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน ถ่ายทอดเรื่องราว ตระกูลพัธโนทัย ผ่านชีวิต “สิรินทร์ พัธโนทัย” กับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน เพื่อเผยแพร่เรื่องราวให้ผู้ชมทั่วโลกรับชม

“เราก็ตัวเล็กๆ แต่มีโอกาสสัมพันธ์กับผู้หลักผู้ใหญ่ผู้นำโลก ก็เป็นชีวิตที่แปลกเหมือนกัน” บทเริ่มต้นสนทนาด้วยรอยยิ้มของ “สิรินทร์ พัธโนทัย” ในวัยเกือบ 70 ปีปลายๆ แต่ยังคล่องแคล้วสดใส ในวันที่เธอเปิดบ้านย่านเอกมัย ต้อนรับคณะผู้กำกับจากจีน ที่ยกกองถ่ายทำสารคดี “Grandma Sirin” ในประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวและจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่ยาวนานกว่า 70 ปี
“ตระกูลพัธโนทัย” เรื่องราวประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน เริ่มต้นที่บ้านสิรินทร์ เป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทำสารคดี โดยตัวบ้านเป็นอาคารสองชั้นสีขาวแบบสมัยใหม่ แต่ภายในตบแต่งที่สัมผัสได้ทั้งความเป็นจีน ตัวอักษรจีน ที่จัดวางตามมุมต่างๆ ของบ้าน ขณะที่ยังความเป็นวัฒนธรรมไทย ด้วยศิลปะพระพุทธรูป ทำให้บ้านสิรินทร์มีทั้งความเป็นไทยและความเป็นจีนที่ลงตัว
ด้านตะวันออกของอาคารมีสระว่ายน้ำขนาดกลาง เลยขึ้นไปเป็นอาคารแบบไทยแท้ที่สร้างจากไม้สักอายุกว่า 100 ปี โดยภายในอาคารทรงไทยจัดแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็น ห้องสมุดตระกูลพัธโนทัยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยภายในจัดแบ่งพื้นที่บอกเล่าเรื่องราว ภาพถ่าย ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยจีน ที่มีทั้งเอกสารและวีดิโอ ให้สำหรับลูกหลานและผู้มาเยือนได้เรียนรู้เรื่องราวของตระกูล
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 50 ตระกูลพัธโนทัย จุดเริ่มต้นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน เมื่อ“สังข์ พัธโนทัย” บิดาของ สิรินทร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าที่ปรึกษาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นไทยได้รับแรงกดดันจกสหรัฐอเมริกา แต่ก็เล็งเห็นว่า จีน “มังกรแห่งตะวันออกกำลังจะตื่น” จึงต้องการสานสัมพันธ์กับจีน
“สังข์” ได้ตัดสินใจส่งลูกๆ คือ สิรินทร์ พัธโนทัย อายุ 8 ปี และวรรณไว พัธโนทัย พี่ชาย อายุ 12 ปีไปใช้ชีวิตที่เมืองจีน โดยความดูแลของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เพื่อแสดงถึงความจริงใจการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ จึงถือจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการทูตของประเทศไทย

นับจากวันนั้นครอบครัวพันธโนทัยจึงถือเป็นตำนานของการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งส่งต่อรุ่นต่อรุ่นไม่ได้จบแค่ “สิรินทร์” และ วรรณไว หากแต่ส่งต่อผ่านลูกหล่นกระทั่งปัจจุบัน
“สิรินทร์” บอกว่า หลายคนอาจจะบอกว่า “ครอบครัวพัธโนทัย รักประเทศจีน ตรงนี้ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยพูด ไม่เคยบอกว่าเป็นความรัก แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกกว่าความรักเพราะจีนเขาเป็นเพื่อนบ้านที่ต้องเรียนรู้กันและกันทุกระยะทุกสมัย และทุกเจนเนอเรชั่น ที่ผ่านมาจึงพยายามเอาลูกไปฝากไว้ ก็อยากให้ลูกเข้าใจเมืองจีน หลานเข้าใจเมืองจีน เพราะยังไงเราต้องสัมพันธ์กับประเทศจีน
“ถ้ายิ่งรู้จักเขามากขึ้นก็จะสามารถทำประโยชน์ให้กับไทยได้มากขึ้น คือ ถ้าเราไม่ได้ศึกษาประเทศจีนเพียงพอแล้ว บอกว่ารักเหลือเกินแบบนั้นมันไม่ใช่ รักแล้วไม่รู้จะทำอะไร แต่ถ้าเข้าใจประเทศนี้ เราจะทำประโยชน์ให้ประเทศได้ ซึ่งครอบครัวของเราจะเป็นแบบนี้”
“สิรินทร์” ย้ำว่า ไอ เลิฟ ไซน่า คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน เราไม่รักก็ได้ แต่ความเข้าใจสำคัญเพราะแต่ละประเทศก็พัฒนาในส่วนของเขา และเราก็พัฒนาในส่วนของเรา ทุกอย่างไปตามยุคสมัย การเรียนรู้ประเทศจีนจึงเป็นภารกิจของครอบครัว “พัธโนทัย” ซึ่งขณะนี้ก็ยังพยายามจะเข้าใจให้ลึกซึ้ง และถ่ายทอดให้สืบทอดกันไป โดยลูกชาย และหลานๆก็ทำอยู่ ครอบครัวของเราก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำจีน ลูกหลานผู้นำจีนมาอย่างต่อเนื่อง

เรื่องราวของ “ย่าสิรินทร์และตระกูลพัธโนทัย” จะถูกถ่ายทอดผ่าน สารคดี Grandma Sirin โครงเรื่องที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยจีน ผ่านชีวิต “สิรินทร์ พัธโนทัย” ด้วยบทบาทสะพานเชื่อมระหว่างไทยกับจีน ขณะที่ทั้งสองประเทศเป็นฝ่ายตรงข้ามของสงครามเย็นแบ่งแยกในความวุ่นวายในทศวรรษ 1950 และ 1960
“สิรินทร” ในฐานะลูกสาวบุญธรรมของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เติบโตขึ้นมาภายใต้การดูแลของเขาเป็นเวลา 30 ปี แม้ต่อมาเธอก็ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มแดงในช่วงวัยรุ่น และเธอรอดชีวิตจากการปฏิวัติวัฒนธรรม
หนีจากจีนไปด้วยความช่วยเหลือของ “เอ็ดเวิร์ด เฮลธ์” ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในภายหลัง จากนั้น “สิรินทร์” ได้กลับมาประเทศจีนในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยหลักในการสถาปนาความสัมพันธ์อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดด้วยการสถาปนาการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทยในปี พ.ศ. 2518

นอกจากนี้ สารคดียังเจาะลึกชีวิตของ “สิรินทร์” ในฐานะแม่ของลูกทั้งสอง โดยเธอแต่งงานที่สหราชอาณาจักร มีบุตรชาย 2 คน คือ “โจ ฮอร์น พัธโนทัย”และ “เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย”
เธอเลี้ยงดูพวกเขาให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สืบทอดมรดกทางภูมิรัฐศาสตร์ของครอบครัวในการทูตของประชาชน ให้สืบทอดต่อไปยังรุ่นที่ 4 เช่นเดียวกับหลานสาวของเธอ ก็ถูกเลี้ยงดูเพื่อรับภารกิจนี้ต่อไปในอนาคตเช่นกัน
สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางอันเป็นเอกลักษณ์ของ “สิรินทร์” อย่างลึกซึ้งผ่านความสัมพันธ์ใกล้ชิดของเธอ กับครอบครัวชั้นนำของจีน ขณะที่เธอยังคงรักษาความเป็นไทยเอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่นเช่นกัน
การจัดทำสารคดี “Grandma Sirin อยู่ภายใต้การดูแลของผู้กำกับชื่อดัง หลี่ เซียว อดีตหัวหน้าผู้อำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ ช่องสารคดีเซี่ยงไฮ้ และบริษัท Gaudi Culture Media ซึ่งมีประวัติอันยาวนานในด้านการผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ในประเทศจีนและต่างประเทศ โดยสารคดีเรื่องนี้มีการวางแผนไว้โดยจะจัดจำหน่ายทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศและจะเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสำคัญเพื่อให้ผู้ชมทั่วโลกได้รับชมรวมถึงประเทศไทย