ปีนี้เป็นปีครบรอบ 41 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตไทย-จีน
หากเป็นเรื่องเล่าก่อนหน้านี้ บันทึกประวัติศาสตร์ที่มักถูกกล่าวถึงเสมอเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของไทยกับจีนในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคที่ไทยถูกแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีใจอยากผูกสัมพันธ์กับจีน ทว่าก็ไม่อยากเป็นปฏิปักษ์กับอเมริกา จอมพล ป. จึงมอบหมายให้ “สังข์ พัธโนทัย” ในฐานะที่ปรึกษาคนสนิท ติดต่อพูดคุยกับจีนอย่างลับที่สุด
ย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อน “สังข์ พัธโนทัย” ได้ส่งลูกชายและลูกสาว 2 คน คือ “วรรณไว พัธโนทัย” และ “สิรินทร์ พัธโนทัย” ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 12 และ 8 ขวบ ไปใช้ชีวิตที่เมืองจีน โดยอยู่ในความดูแลของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
การตัดสินใจเรื่องนี้ของฝ่ายไทย ทำให้นายกฯ โจวนับถือความจริงใจและความกล้าหาญของสังข์ พัธโนทัย ที่เขาถือเป็นมิตรของจีน ในการมุ่งเปิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน จึงเลี้ยงดูพี่น้องคนไทยทั้งสองเป็นอย่างดี เหมือนเป็นลูกหลานของตัวเอง ตลอดช่วงเวลาที่เด็กทั้งสองใช้ชีวิตอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่
เหตุการณ์นี้ ได้ถูกบันทึกเป็นข้อเท็จจริงไว้ในประวัติของอดีตนายกฯ โจว เอินไหล และมีผลต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนในเวลาต่อมา ขณะเดียวกัน ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ “ตระกูลพัธโนทัย” ไม่มีวันลืมเลือน
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ตระกูลพัธโธทัยจัดงาน “รำลึก 60 ปีสายสัมพันธ์ตระกูลพัธโนทัยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน” ผ่านนิทรรศการ จดหมาย และภาพประวัติศาสตร์ พร้อมกับจัดเวทีเสวนา “ย้อนอดีต สะท้อนปัจจุบัน สานต่ออนาคต” ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล
แม้งานจะจัดกันแบบเล็กๆ แต่ก็มีแขกมาร่วมงานกันอย่างอบอุ่น เช่น “หนิง ฟู่ขุย” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุทธิชัย หยุ่น จากเดอะเนชั่น และที่ขาดไม่ได้คือ ลูกหลานตระกูลพัธโนทัย ที่มารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
นโยบาย “ใช้ลูกผูกใจ” สร้างสัมพันธ์ไทย-จีน
“วรรณไว พัธโนทัย” เล่าในงานเสวนาว่า ช่วงนั้นแม้จะยังโตไม่ทันที่จะรับรู้เรื่องราวต่างๆ แต่ตอนหลังก็สนิทกับคุณพ่อมาก เพราะคุณพ่อมีเรื่องอะไรไม่เคยปกปิดลูก เล่าให้ฟังหมด
ตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่า แทบทุกคืน คุณพ่อต้องไปบ้านชิดลมของจอมพล ป. บางวันกว่าจะกลับบ้านก็เช้า กลับมาบ้านก็เครียด ไม่ได้ไปดื่มนะครับ พ่อบอกว่าไปคุยเรื่องเกี่ยวกับเมืองจีน
“ท่านจอมพล ป. กับคุณพ่อ เห็นพ้องต้องกันว่าไทยเป็นประเทศเล็ก จะไปยืนอยู่ข้างหนึ่งข้างใด ไปสุดโต่งกับอเมริกาเหมือนแต่ก่อน จะเป็นอันตรายกับประเทศมาก เพราะหากมีอะไรขึ้นมา เราจะไปหวังน้ำในที่ไกลมาดับไฟในที่ใกล้ไม่ได้ ฉะนั้น เราเป็นมิตรกับจีนไม่ได้ก็อย่าเป็นศัตรูกัน จีนอยู่ใกล้กับบ้านเรานิดเดียว ยังไงก็ต้องยึดจีนไว้เป็นหลักก่อน”
“คุณพ่อเล่าว่า จอมพล ป. บอกว่า “คุณสังข์ลองหาทางติดต่อกับจีนได้มั้ย” เพราะว่าคุณพ่อมีเพื่อนคนจีนเยอะ ท่านจอมพล ป. จึงมอบหมายงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับจีน ให้ไปเดินแผนที่จะเป็นมิตรกับจีนให้ได้ และอย่าแพร่งพรายให้ใครรู้เป็นอันขาด โดยเฉพาะตำรวจ”
ที่ไม่ให้ตำรวจรู้เพราะตำรวจในยุค พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ กับอเมริกาสนิทกันมาก อเมริกาให้ความช่วยเหลือตำรวจเยอะที่สุด ถ้าตำรวจรู้ตอนนั้นแผนก็แตกแน่ เพราะถ้าตำรวจรู้ ซีไอเอต้องรู้
ดังนั้น งานต่างๆ ที่คุณพ่อติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีน คุณพ่อใช้นโยบาย “ใช้ลูกผูกใจ” เพราะตอนนั้นเราเป็นศัตรูกับเขา ทำอย่างไรให้เขาไว้วางใจเราได้ ก็เลยใช้วิธีที่ดีที่สุด คือใช้ลูกไปผูกใจ เพราะคุณพ่อศึกษาประวัติศาสตร์จีนมาแล้ว
วรรณไวกล่าวว่า การที่คุณพ่อตัดสินใจเช่นนี้ ต้องอาศัยความกล้าหาญและความเสียสละอย่างมาก เพราะคนที่จะเอาลูกตัวเองไปให้กับฝ่ายตรงข้าม ถ้าใจไม่ถึงจริงๆ ทำอย่างนี้ไม่ได้
เช่นเดียวกับคุณแม่ของผม (วิไล พัธโนทัย) ถือว่าเป็นยอดหญิงเหมือนกัน คนเป็นแม่จะรู้สึกอย่างไร ที่ให้ลูกตัวเองถึง 2 คน ไปอยู่กับจีนในขณะนั้น แต่ท่านก็เคารพการตัดสินใจของคุณพ่อ
ท่านปรีดี (พนมยงค์) เคยพูดกับผมว่า “…พ่อไวเล่นการเมืองใจใหญ่เหลือเกิน กล้าหาญเหลือเกินนะ ขนาดเอาลูกไปเป็นเดิมพันทีเดียว”
“วิธีการส่งลูกผูกใจของคุณพ่อ จึงเป็นเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกก็ว่าได้ เพราะโลกใบนี้ จะมีไหมที่คนต่างด้าวของประเทศไหน หรือคนในตระกูลไหน ที่เป็นคนธรรมดาสามัญ ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในทางราชการเลย เป็นแต่ที่ปรึกษาส่วนตัวของจอมพล ป. สามารถเอาลูกตัวเองถึง 2 คน ไปเป็นบุตรบุญธรรมของคนระดับนายกรัฐมนตรีของประเทศมหาอำนาจ แล้วท่านโจว เอินไหล ก็รับไว้ โดยที่ทั้งคู่ไม่เคยเจอกันด้วยซ้ำจนกระทั่งเสียชีวิต” วรรณไวกล่าว
“สิรินทร์ พัธโนทัย” กล่าวเสริมพี่ชายว่า 20 ปีให้หลัง เธอคิดจะส่งลูกชาย 2 คนคือโจ (โจ ฮอร์น พัธโนทัย) กับเลี่ยว (เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย) ไปปักกิ่ง แต่คุณย่าคัดค้านเป็นคนแรกเลย (หัวเราะ) ไม่ให้ส่งไป บอกว่าโจกับเลี่ยวไปไม่ได้
สิรินทร์เล่าย้อนเหตุการณ์สำคัญว่า พอเรา 2 พี่น้องถึงประเทศจีน ท่านนายกฯ โจว เอินไหล ไปเรียนท่านประธานเหมา เจ๋อตุง ว่า มีเด็ก 2 คน จากประเทศไทย จะให้มาอยู่เป็นสะพานเชื่อมไทย-จีน เราควรจะเลี้ยงเอาไว้
ท่านประธานเหมาหัวเราะหึๆ แล้วบอกว่า “เอามาทำไม เดี๋ยวสองอาทิตย์ก็ร้องกลับบ้าน แล้วจะทำไง” แต่ท่านนายกฯ โจวก็บอกว่า “คงจะต้องรับเอาไว้ เพราะมีใครที่จะส่งลูกจริงๆ มาอยู่กับเรา แล้วก็ไม่ใช่เพื่อนเราด้วย เป็นอริกับพวกเรา”
เธอบอกด้วยว่า เวลาคุณพ่อจะทำอะไร ท่านจะทำหลังฉาก ไม่ค่อยมีใครรู้ เธอเล่าว่าหลังจาก 20 ปีผ่านมา มีคนเอาเอกสารเพนตากอนที่เขาเลิกปิดเป็นความลับแล้วมาให้อ่าน เพราะเขาสนใจประวัติศาสตร์ตรงนี้ของประเทศไทยมาก อ่านจบแล้วดูออกเลยว่า ท่านทูตอเมริกันขณะนั้นไม่รู้เลยว่า จอมพล ป. กับคุณพ่อทำอะไรกัน
“อานันท์ ปันยารชุน” กล่าวว่า ตอนผมเด็กๆ ผมได้ยินชื่อคุณสังข์ พัธโนทัย ตลอดเวลา เพราะตอนนั้นผมเกิดมาในระยะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ครอบครัวคุณสังข์ พัธโนทัย สมัยนั้น ชื่อเสียงโด่งดังมากเพราะว่ามีรายการจากกรมประชาสัมพันธ์เรียกว่า “นายมั่นนายคง” ผมแทบจะเรียกว่าเป็นทอล์กโชว์อันแรกของเมืองไทย
เมื่อคุณสังข์ท่านทำงานกับจอมพล ป. ทำงานกับรัฐบาลจอมพล ป. มาเป็นเวลาค่อนข้างมาก ความใกล้ชิดก็ต้องมีมากแน่นอน และการสนทนาของนายมั่นนายคง โดยธรรมชาติก็เป็นเรื่องของการสนับสนุนนโยบายจอมพล ป. และอาจจะเชิดชูจอมพล ป. โดยเฉพาะ
ฉะนั้น ส่วนหนึ่งของสังคมไทยรับคุณสังข์ไม่ได้ แต่กี่คนได้รู้นิสัยคุณสังข์จริงๆ เป็นอย่างไร ผมก็ไม่เคยรู้ และผมต้องขอยอมรับว่า ตอนเด็กๆ ผมก็ไม่ค่อยชอบนะ เพราะฟังผู้ใหญ่เขาคุยกัน ทุกคนก็สวดทั้งนั้นเลย
แต่จริงๆ แล้ว คุณสังข์ พัธโนทัย เป็นคนที่มีความคิดอิสระ ผมสามารถวิเคราะห์ได้หลังจากที่ไม่เคยเจอท่าน และจากประวัติศาสตร์ที่ได้เรียนรู้มา เป็นคนที่มองการณ์ไกลมากกว่าคนไทยโดยทั่วไป
อานันท์เห็นว่า การที่คุณสังข์ส่งลูกชายและลูกสาวไปเมืองจีน โดยติดต่อกับนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล และบรรดาผู้ใหญ่ของรัฐบาลจีน แล้วรู้จักนายกฯ โจวเฉพาะการติดต่อกันทางจดหมายเป็นเรื่องที่ “อะเมซิง” อย่างยิ่ง
“คุณสังข์ไม่ใช่คนธรรมดา อยู่ดีๆ ส่งลูกชายคนหนึ่งอายุ 12 ขวบไปเมืองจีน ผมว่าจีนก็อะเมซิงเหมือนกันนะ ก็ยอมรับ เอาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม”
“แล้วอะเมซิงอีกอันหนึ่งก็คือว่า น้องสาวคุณวรรณไว คือ คุณสิรินทร์ อายุเพียง 8 ขวบ เห็นพี่ชายจะไปเมืองจีน ก็ร้องไห้ขอตามไปด้วย อันนี้อะเมซิงด้วย และที่อะเมซิงอีกก็คือ นายกฯ โจว เอินไหล ก็รับไว้ด้วย”
อานันท์ยังเล่าว่า ก่อนหน้านั้น ก็ไม่ค่อยมีใครรู้ว่า คุณสังข์ได้ส่ง ดร.มั่น พัธโนทัย ลูกคนโตไปอเมริกา ไปเรียนที่อเมริกา กลับมาเข้าเล่นการเมือง เป็นนักการเมือง แม้ไม่ได้ส่งไปอยู่กับประธานาธิบดีอเมริกา แต่กลับมาก็คล้ายเป็นลูกคนอเมริกัน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ส่งไป 2 คน ก็กลายเป็นลูกคนจีน แต่ผมคิดว่าคนที่น่าสงสารที่สุดคือภรรยาคุณสังข์ (หัวเราะ)
“ผมไม่รู้นะ ผมไม่เคยพบท่าน ไม่ได้เคยอ่านประวัติท่าน แต่ผมว่าทั้งหมด ภรรยาท่านสุดยอดแล้ว ที่ทนอยู่กับคุณสังข์ได้ ผมคิดว่าน่าจะมีใครเขียนเล่าเป็นประวัติศาสตร์ ให้เป็นข้อเท็จจริง”
อานันท์ยังตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของคุณสังข์ นอกจากจะแสดงความเด็ดเดี่ยว ความเสียสละ รวมทั้งความกล้าหาญแล้ว ยังแสดงถึงความรัก สนิทสนม และผูกพัน ระหว่างคุณสังข์ ภรรยา และลูก
“ถ้าเปรียบเป็นธรรมดา ดีไม่ดีลูกกลับมา ลูกอาจจะว่าพ่อหรืออาจะว่าแม่ได้ แต่สุดท้ายความสัมพันธ์ทางจิตใจในสถาบันครอบครัวของไทยยังเหลืออยู่”
“ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าต้องชมจีน ผู้นำเขาคือนายโจว เอินไหล ก็เป็นคนมองการณ์ไกล เป็นคนมองด้านยุทธศาสตร์ด้วย ทางเราเสี่ยงในแง่เป็นตัวประกัน แต่ในแง่ของเขา ถ้าเผื่อถามจริงๆ ตัวประกัน 2 คนนี้ สำคัญมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นลูกจอมพล ป. ก็อีกเรื่องหนึ่ง นี่เป็นลูกคุณสังข์ อาจจะใกล้ชิดจอมพล ป. แต่ก็ไม่ได้เคยเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้มีฐานอำนาจทางการเมืองอะไรเลย อันนี้ผมคิดว่าจีนเขามองการณ์ไกลมาก แล้วในปัจจุบัน พวกมหาอำนาจเสียเปรียบจีน เพราะ 1. จีนเขารู้จักประวัติศาสตร์เขาดี และ 2. เขาไม่เคยลืมประวัติศาสตร์”
อานันท์บอกว่า หลังจาก 41 ปีที่แล้ว ก็กลับไปเมืองจีนบ่อยๆ ในฐานะที่ไม่ได้เป็นนายกฯ แล้ว ไม่ว่าผมจะไปมลฑลไหน เขารู้จักผม เขาบอกต่อไปหมดเลย ผมจะไปพบผู้ว่าฯ ก็ดี ไปพบเลขาธิการพรรคก็ดี ก็ได้เข้าพบ ไม่ได้ไปขออะไรเป็นพิเศษ
“แต่เขาจะพูดให้ลูกน้องเขาฟังเสมอว่า สุภาษิตจีนคือ “บ่อน้ำในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้าน เขาจะจำได้เสมอว่าใครเป็นผู้ขุด ดังนั้น เขามองระยะไกล ความจำเขาไม่ค่อยสั้นเหมือนมหาอำนาจบางมหาอำนาจ และทุกอย่างเขาคิดเป็นกระบวนการ คิดเป็นเรื่องยุทธศาสตร์”
สัมพันธ์ไทย-จีน เกิดจาก “ประชาชน” กับ “ประชาชน” ที่แน่นแฟ้น
อดีตนายกฯ อานันท์ ยังกล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ไทยกับจีน ไม่ว่าจะเป็นจีนรัฐบาลใด หรือเมืองไทยรัฐบาลใดก็ตาม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการฑูตหรือความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเลย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนจีนมีมาเป็นร้อยๆ ปี ตั้งแต่สมัยอยุธยาหรืออาจจะสมัยสุโขทัยด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้น ลักษณะเด่นที่ไม่ตรงกับสภาพการณ์โดยทั่วไปก็คือ ความสัมพันธ์ไทยกับจีนเริ่มต้นจากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน เป็นความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากการอพยพของคนจีนจนมาถึงปัจจุบันนี้หลายล้านคน มาอยู่เมืองไทย มาตั้งรกรากเมืองไทย มาแต่งงานกับคนจีนบ้าง แต่งงานกับคนไทยบ้าง มีลูกมีหลาน ถ้าดูตระกูลในเมืองไทยแล้วผมคิดว่า เกิน 50% คือเชื้อจีนแท้ๆ อีกสัก 30-40 % เป็นเชื้อจีนกลายๆ
“เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์อันนี้ผมคิดว่ามันแน่นแฟ้นและมันลึกซึ้ง และเป็นความสัมพันธ์ที่ผมคิดว่ามีความมั่นคงในตัวของมันเอง เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาล มันเป็นความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา จะเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง เหตุผลทางเศรษฐกิจ เหตุผลทางยุทธศาสตร์ หรือเหตุผลอะไรก็แล้วแต่”
ฉะนั้น เวลาผมมองความสัมพันธ์ไทยกับจีน ที่เราบอกว่ามีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนปักกิ่ง เพราะสมัยก่อนเรารับรองรัฐบาลจีนไต้หวัน มันไม่มีนะ เรามีความสัมพันธ์ทางการฑูตกับจีน เพราะเราถูกบังคับ
“คนไทยที่เกิดมาไม่เคยรู้สึกเลยว่า ความสัมพันธ์ทางการฑูตมันคืออะไร แต่กับจีนเราเข้าใจและเราฝังใจว่าเป็นความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง ถึงได้มีคำว่า “คนจีนคนไทยไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน”
“และการติดต่อ การผสมผสานระหว่างครอบครัว เชื้อสาย เนื้อเลือด ความใกล้ชิดติดต่อค้าขาย จีนเอาสังคโลกส่งมาเมืองไทย ไทยส่งสินค้าต่างๆ ไป ความสัมพันธ์เหล่านี้คนไทยไม่เคยคิด ความสัมพันธ์ทางการฑูตส่วนใหญ่มันมาเริ่มส่วนใหญ่ในประเทศยุโรป เป็นเรื่องของรัฐบาล” อานันท์กล่าว
ความสัมพันธ์ทางการฑูตไทย-จีน เป็นเรื่องถูกบังคับ
อานันท์เล่าว่า ความสัมพันธ์ทางการฑูตเป็นการถูกบังคับก็เพราะก่อน ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นปีที่มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ในระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งๆ ที่จิตใจของคนไทยส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายพันธมิตร ชอบอังกฤษ ชอบอเมริกา ชอบยุโรป แม้แต่รัสเซียครั้งหนึ่งก็ใกล้ชิดกันมาก
ระหว่างสงครามระยะหนึ่ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งคุณสังข์ พัธโนทัย ท่านก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย แต่ความคิดส่วนตัวท่านตอนนั้น ผมไม่รู้
สำหรับจอมพล ป. ที่ตัดสินใจไม่ยอมเสียเรื่องเลือดเนื้อเชื้อไขของคนไทยหรือทหารไทย เพราะว่าทางด้านกำลังสู้ไม่ได้แน่ ก็ยอมจำนน ญี่ปุ่นก็มาครอบครองประเทศ ขอใช้เป็นที่เดินทางไปรบกับพม่า รบกับมาเลเซีย ซึ่งจริงๆ แล้วเมืองไทยโชคดี เวลาญี่ปุ่นไปอยู่ที่ไหนก็จะทารุณกรรมมากมาย คนสิงคโปร์ก็ไม่ชอบญี่ปุ่น ไม่ชอบทหารญี่ปุ่น มลายูก็ไม่ชอบ ฟิลิปปินส์ก็เหนื่อยมาก อินโดนีเซียก็มีปัญหามาก
แต่ระหว่างที่ไทยอยู่ภายใต้ทหารญี่ปุ่น ข้อขัดแย้งหรือเหตุการณ์ที่ให้เกิดการแสดงความทารุณต่างๆ ค่อนข้างน้อยมาก นอกจากตอนที่จะสร้างทางรถไฟเท่านั้น ฉะนั้น ความรู้สึกของคนไทยกับญี่ปุ่นก็ไม่ถึงกับเกลียด ไม่เหมือนกับประเทศในเอเชียตะวันออกทั้งหลาย
พอเสร็จสงคราม ประเทศที่ยังมีความกระหายความเป็นเจ้าโลกทางด้านอาณานิคม โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ก็ยังอยากที่จะปรับให้เมืองไทยเป็นเมืองขึ้นต่อไป ฉะนั้น ก็ต้องมีการเจรจา เรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ที่รัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าชดใช้
จนกระทั่งมีอเมริกาเข้ามาช่วย อเมริกาบอกว่าไม่ได้ มันถึงยุคที่จะยกเลิกอาณานิคมแล้ว อังกฤษก็กลัวอเมริกา ก็ยอม ฝรั่งเศสก็คงมีท่าทีเช่นเดียวกัน แต่เผอิญตอนนั้นมีภาระหนักอยู่ทางด้านอินโดจีน
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาก็คือ ไต้หวันตอนนั้น ซึ่งยังเป็นตัวแทนของประเทศจีนทั้งหมด ก็ยังอยู่ในผืนแผ่นดินใหญ่ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงก็ถือเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งที่ชนะ
ในการเขียนกฎบัตรสหประชาชาติก็จะมี 5 ประเทศมหาอำนาจที่ได้รับสิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์ในการเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติก็มี 15 ประเทศ และมี 5 ประเทศเป็นสมาชิกถาวร
แล้วการได้เป็นสามชิกถาวร ก็เรียกว่าให้โอกาสกับตัวเองมีสิทธิ์ที่จะวีโต้ มีสิทธิ์ที่จะคัดค้าน ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรสหประชาชาติ จะเป็นข้อมติที่ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกจะต้องปฏิบัติตาม
“แต่ถ้าเผื่อจะเป็นมติอย่างนั้นแล้ว ทั้ง 5 ประเทศจะต้องเห็นด้วย ถ้ามีประเทศใดประเทศหนึ่งวีโต้ ก็ไม่สามารถเป็นมติได้ ก็เลยต้องเอาใจไต้หวัน ไต้หวันบอกว่า ‘ได้’ ให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกได้ แต่ต้องเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต นี่เป็นข้อใหญ่ ซึ่งคนไทยหลายคนอาจไม่รู้ ไทยก็ต้องยอมทำตาม เพราะเราอยากเข้าสหประชาชาติ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้น”
ตอนไต้หวันมาเป็นรัฐบาลจีนที่รับรองโดยสหประชาชาติ ตอนนั้นก็เริ่มเกิดความเห่อเหิมเหมือนกัน ตัวเองเป็นมหาอำนาจก็มีปัญหาที่เมืองไทย มีปัญหาเรื่องคนจีนที่ทำมาหากินที่เมืองไทย ก็ไม่แน่ใจว่าจะขึ้นกับไทยดี หรือจะขึ้นกับจีนไต้หวัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มันนำพามาสู่ตอนที่ผมไปเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์ใหม่กับปักกิ่ง” อานันท์กล่าว
วิเคราะห์สัมพันธ์ไทย จีน และอเมริกา
อานันท์ยังวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทย จีน และสหรัฐอเมริกา ว่า ในอนาคต การเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก จากการที่ประชาชนเบื่อระบบการเมือง และเบื่อรัฐบาลที่มีอำนาจ
“ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเรา ผมว่าจะเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะว่ามันไม่ใช่เกิดจากเรื่องโดนัลด์ ทรัมป์ คนเดียว แต่ผมว่ามันเกิดจากเรื่องปาฏิหาริย์ทั่วโลก ที่ประชาชนอยู่ในประเทศระบอบประชาธิปไตยมาช้านาน แล้วนับถือเรื่องการเลือกตั้งว่าเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนส่วนใหญ่นั้น”
“ก็ปรากฏว่าหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาเรื่องทรัมป์ สหราชอาณาจักรเรื่อง Brexit หรือ อิตาลี เนเธอแลนด์ เยอรมัน ออสเตรีย คนเบื่อ เบื่อระบบการเมืองที่ใช้อยู่ พอเบื่อระบบการเมืองก็เบื่อรัฐบาลที่มีอำนาจ”
“อย่างที่เมืองไทยครั้งหนึ่งเคยพูดถึงเรื่องอำมาตย์ พวกอีลิต (elite) เบื่อพรรคการเมือง แล้วก็ไปเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต ถ้าเผื่อเลือกคนผิดเข้ามา มันก็จะซ้ำซาก บารัก โอบามา ก็มีความเป็นที่นิยมค่อนข้างจะมาก แต่คนจำนวนไม่น้อยในอเมริกาก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไร ทั้งที่จริงก็ไม่ค่อยยุติธรรมนัก”
“อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกนี้ที่ระบาดในการเมืองนี้ ข้อเท็จจริงมันไม่ค่อยมีความหมาย มันอยู่ที่ว่าคนเขาเชื่อยังไง ในภาษาอังกฤษพูดเสมอ In politics perception is reality แล้วผมว่ามันเป็นโรคระบาด ฉะนั้น ถ้าเผื่อเสาหลักใหญ่ในประชาธิปไตยของโลกตะวันตก ในผู้ก่อตั้งประชาธิปไตย (establish democracy) มันหวั่นไหว สั่นคลอน ก็ต้องมีผลมาทางนี้แน่นอน”
อานันท์กล่าวว่า ผมรำคาญที่มีการสนทนาก็ดี หรือมีการตอบโต้ โต้เถียงกันก็ดีว่า ไทยจะไปทางไหน ไทยรำคาญอเมริกา เพราะอเมริกาคอยจู้จี้กับเรื่องภายในของไทย รายงานข่าวก็ไม่ค่อยเป็นความจริง ไม่ค่อยคำนึงถึงข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นบีบีซี ซีเอ็นเอ็น โฆษกรัฐบาลอเมริกัน เมืองไทยก็คงจะต้องไปหาจีน
ทุกครั้งที่นายกฯ หรือรองนายกฯ หรือนักการเมืองไทยไปเมืองจีน หรือทางเมืองจีนมาเมืองไทย ก็บอกว่า กำลังคบค้ากันใหญ่แล้ว
“ผมก็บอกเพื่อนอเมริกันผมทั้งหลายว่า จริงๆ แล้วภายใต้จิตใจ คนไทยยังชอบอเมริกามาก ชอบมาก เพราะว่าความสัมพันธ์ทางจีนมันเป็นคนละเรื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนอเมริกัน”
“แต่อเมริกาเองลืมไปว่า พื้นฐานระหว่างความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการมีความสัมพันธ์ทางการฑูต มันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน อาจจะเริ่มต้นจากพวกมิชชันนารี”
“ก็ดูสิ ปัจจุบันทิ้งของดีๆ ไว้ให้เมืองไทยมากมาย เช่น โรงเรียนมิชชันนารี ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพคริสเตียน, หมอบรัดเลย์ และอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง”
อเมริกามีบทบาทสำคัญที่ทำให้เมืองไทยไม่ต้องกลับไปเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก คนไทยมีความประทับใจที่อเมริกาเข้ามาช่วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนที่ภัยคอมมิวนิสต์กำลังมีอำนาจมาก ซึ่งระหว่างการช่วยเหลือก็ทำให้เมืองไทยยุ่งยากไปด้วย แต่คนไทยไม่ลืม
แต่จากการที่จุ้นจ้าน จากการที่เหน็บแนมไทยอยู่เรื่อยๆ คนไทยเบื่อ เพลาๆ ลงบ้าง เราก็ไม่ได้คิดว่าเราทำถูก รัฐประหารก็ไม่ถูก แต่มันเกิดขึ้นแล้ว แล้วเมื่อมีรัฐบาลทหาร ก็แน่ล่ะว่าเขาก็ต้องมีนโยบายหรือมาตรการอะไรบางอย่างที่อาจจะขัดกับมาตรฐานของโลก
“แต่รัฐประหารที่ทำ ก็ทำที่เมืองไทยนะ ทำโดยคนไทยนะ จะเสียยังไงก็เสียหายที่เมืองไทยนะ แล้วคนก็ไม่ได้ตายนะ ความเสียหายทางวัตถุก็น้อยลง แต่ยู (อเมริกา) ไปทำรัฐประหารทั่วโลก ฉะนั้น ต้องเข้าใจ ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งก็ดี มันต้องคำนึงถึงบริบท จะต้องคำนึงถึงสาระด้วย”
อานันท์ย้ำว่า สิ่งสำคัญซึ่งผมอยากให้คนหลายคนเข้าใจก็คือ ถ้าเราไปใกล้ชิดกับเมืองจีน มันไม่ใช่เรื่องของยุทธศาสตร์ 100% แต่เป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) มันป็นเรื่องว่าเขาอยู่ห่างกับเราไม่กี่ร้อยกิโลฯ เขาเป็นมหาอำนาจ เขาเป็นเครื่องจักรแห่งความเจริญเติบโต
เขามีความสัมพันธ์พิเศษกับประชาชน แล้วเขาไม่มายุ่งเกี่ยวการเมืองภายในของเมืองไทย แล้วเขาไม่เคยรุกรานประเทศอื่นนะ ประวัติศาสตร์จีนเขาไม่เคยรุกราน
เขาอาจจะมีปัญหาบ้างในทิเบต อาจจะมีปัญหาบ้างในซินเจียง แต่ทุกประเทศก็มีปัญหา ในอิตาลีก็มี ในอังกฤษก็มีสกอตแลนด์ เวลส์ เยอรมันก็มี ทุกประเทศมี
แล้วทำไมจะไปยุ่งปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้ กองทัพอเมริกาอยู่ทั่วโลก ใครไปแตะต้องเม็กซิโก ใครไปแตะต้องคิวบา ใครไปแตะต้องเฮติ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาเราจะมองอะไรแล้ว อย่ามองแต่ใจตัวเอง ต้องพยายามเข้าใจเหตุผลและจุดยืนของอีกฝ่ายหนึ่ง ผมว่าต้องเรียนรู้อันนี้
แล้วผมแน่ใจว่าเรื่องทะเลจีนใต้มีทางออก จะผิดจะถูก จะเถียงกันอย่างไรเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ตราบใดที่เขาเปิดให้มีการเดินเรืออย่างเสรี (free navigation) ให้มีการเคลื่อนไหวได้ มันไม่ได้ไปคุกคามประเทศอะไร
ถึงแม้จะมีมาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ตอนแรกทำท่าขึงขัง ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการที่รู้สึกว่าอเมริกันสนับสนุน ตอนนี้ฟิลิปปินส์ก็เปลี่ยนไปมาก แล้วตอนนี้อาเซียนก็สามารถมีบทบาทได้ต่อไป
ผมว่าสิ่งสำคัญ ถ้าตัว (อเมริกา) ทำอะไรไปแล้วถูก แต่ถ้าคนอื่นทำอย่างที่ตัวทำผิด ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไทยจะเข้าหาจีนไม่ใช่เพราะเข้าหาจีนด้วยเสน่ห์อะไร แต่มันเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การค้า การเจริญเติบโตต่างๆ
แล้วเราก็บอกเสมอว่า เราก็ยังรักอเมริกาและอยากเป็นเพื่อนที่ดีกับอเมริกา แต่บางสิ่งบางอย่างที่มันเป็นของที่เกินไป ที่อเมริกาทำในอดีต ก็ควรลดลงไปบ้าง
อานันท์เห็นว่า การที่ทรัมป์มา ประเทศต่างๆ จะต้องหงอยลงไป และอาจจะดีสำหรับเอเชีย ในประวัติศาสตร์โลก จะตีกันก็ต่อเมื่อมหาอำนาจเขาตีกัน แม้แต่สงครามเวียดนาม เป็นสงครามตัวแทน (by proxy) สงครามในตะวันออกกลางเป็น proxy
หรือเวียดนามต่อสู้กัน ด้านหนึ่งเป็นฝรั่งเศส อีกด้านหนึ่งเวียดนาม แล้วจีนเข้ามา อเมริกาเข้ามา ต่อสู้เพื่ออะไร จะเป็นคอมมิวนิสต์ หรือไม่เป็นคอมมิวนิสต์
คอมมิวนิสก็เป็นลัทธิที่เกิดขึ้นในยุโรปนะ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเอเชียเลย แล้วที่สู้กันตายไปเป็นแสน สู้เพื่อใคร สู้เพื่อจีน สู้เพื่อฝรั่งเศส สู้เพื่อเมริกา แล้วเวียดนามก็มีคนตายเป็นแสนๆ คน
“ดังนั้น ผมว่า มีคนอย่างทรัมป์ก็ดีเหมือนกัน มันกระตุ้นคิดว่า ของเก่าๆ บางสิ่งบางอย่าง มันต้องปรับ แล้ววันนี้ รุ่นเด็กๆ เขาก็ไม่คิดอย่างพวกเรา” อานันท์กล่าว
อนาคตไทย-จีน จะสดใสสวยงาม
ด้าน “หนิง ฟู่ขุย” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานรำลึกงาน 60 ปี สายสัมพันธ์จีนและครอบครัวพัธโนทัย ในนามเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
ท่านทูตจีนเชื่อว่า ผู้ที่ได้ชมนิทรรศการทั้งรูปภาพ จดหมาย และคลิปวิดีโอต่างๆ เกี่ยวกับครอบครัวพัธโนทัยกับความสัมพันธ์จีน ต่างก็รู้สึกว่าครอบครัวพัธโนทัยได้มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับประเทศจีนอย่างมาก
“เมื่อ 60 ปีก่อน การที่ท่านวรรณไวและท่านสิรินทร์ได้เดินทางไปยังจีนและพำนักอยู่ในจีน ถือว่านับจากนั้นได้สร้างความสัมพันธ์และผูกพันกับประเทศจีนอย่างลึกซึ้ง ซึ่งไม่อาจแยกขาดจากกันได้”
การได้ดำรงอยู่ในประเทศจีนและศึกษาเล่าเรียนในจีนเป็นเวลา 10 กว่าปี ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ศึกษาเล่าเรียนถึงวัฒนธรรมและภาษาของจีน แต่มีความผูกความสัมพันธ์และความใคร่รักกับผู้นำรุ่นเก่าของจีนมาหลายท่าน รวมทั้งท่านนายโจว เอินไหล และภรรยา ที่ได้ให้ความเอาใจใส่ทั้ง 2 ท่านเป็นอย่างดี
ในทศวรรษ 1970 แม้ทั้ง 2 ท่านได้เดินทางจากจีนไป แต่หัวใจก็ยังผูกพันกับประเทศจีนตลอดเวลา หลังจากนั้นก็ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างจีนกับไทยตลอดมา
ฉะนั้น ผมอยากจะขอขอบพระคุณอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวพัธโนทัยและเพื่อนเก่าหลายท่าน โดยเฉพาะอดีตผู้นำของประเทศไทย เช่น คุณอานันท์ ที่ได้ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนให้พัฒนาด้วยดีตลอดมา
ถึงบัดนี้ ถือว่าเป็นปีที่ 41 ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างจีน-ไทย และตอนนี้การพัฒนาทางด้านความร่วมมือด้านต่างๆ ก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในทุกปริมณฑล ทุกสาขา ถือว่าได้นำมาซึ่งผลประโยชน์อย่างมากให้แก่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ
ขณะเดียวกัน มีแขกผู้มีเกียรติหลายท่านยังดำรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีน-ไทย มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล หรือประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ต่างเอาใจใส่ในการผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งสองให้พัฒนาด้วยดี ดังนั้น เชื่อมั่นว่าอนาคตของความสัมพันธ์ทั้งสองย่อมจะเป็นอนาคตที่สดใสสวยงาม
“ส่วนประชาชนชาวจีนจะจดจำเพื่อนเก่า ก็คือครอบครัวพัธโนทัยไว้ตลอดไป และไม่มีวันลืมคุณูปการของครอบครัวพัธโนทัยที่ได้สร้างการส่งเสริมพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งสองประเทศ”