ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามพร้อมเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ รับมือภาษีตอบโต้

ASEAN Roundup เวียดนามพร้อมเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ รับมือภาษีตอบโต้

16 กุมภาพันธ์ 2025


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 กุมภาพันธ์ 2568

  • เวียดนามพร้อมเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ รับมือภาษีตอบโต้
  • ส่งออกเหล็กเวียดนามรับประโยชน์จากภาษีของทรัมป์-อลูมิเนียมกำไรหด
  • อินโดนีเซียตั้งเป้าพลังงานหมุนเวียน 35%
  • กัมพูชาเล็งเพิ่มไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ในปีนี้
  • มาเลเซียตั้งเป้ารายได้ 3.6 พันล้านริงกิตจากอุตสาหกรรมดาต้า เซ็นเตอร์ในปีนี้
  • อินโดนีเซีย-อินเดีย สมาชิก BRICS ลดพึ่งดอลลาร์หันใช้เงินสกุลท้องถิ่น

    ที่มาภาพ: https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-spends-us1-billion-on-soybean-imports-in-11-months-post1142472.vov

    เวียดนามพร้อมเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ รับมือภาษีตอบโต้

    เมื่อวันศุกร์(14 กุมภาพันธ์ 2568) เวียดนามแสดงความเต็มใจที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในขณะที่เวียดนามเผชิญกับความเสี่ยงจากการเก็บภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นจากสหรัฐอเมริกา รัฐมนตรีการค้าเวียดนาม เหงียน ฮง เดียน สื่อสารถึงความพร้อมของประเทศกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำเวียดนาม มาร์ค แนปเปอร์ โดยกล่าวว่า “เวียดนามพร้อมที่จะเปิดตลาดและเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกา”

    ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี ว่าเขาจะเริ่มใช้มาตรการภาษีตอบโต้ที่เรียกเก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocal tariff)ทั่วโลก เวียดนามซึ่งเกินดุลการค้าอย่างมากกับสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากภาษีดังกล่าว ในปี 2567 การเกินดุลการค้าของเวียดนามกับสหรัฐฯ สูงถึง 123.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการเกินดุลการค้าที่ใหญ่ที่สุดรองจากจีน สหภาพยุโรป และเม็กซิโก

    จากรายงานของ รอยเตอร์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของการส่งออกของสหรัฐฯ ไปยังเวียดนามในปีที่แล้ว โดยการขนส่งซึ่งรวมถึงฝ้าย ถั่วเหลือง และถั่วเปลือกแข็ง มีมูลค่ารวม 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ องค์การการค้าโลกระบุว่าภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของเวียดนามอยู่ที่ 9.4% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

    เพื่อรับมือกับความตึงเครียดทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น รัฐบาลเวียดนามได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แม้สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมใหม่ 25% ในสัปดาห์นี้ แต่การส่งออกเหล็กของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้อัตราเดียวกันก่อนหน้านี้ ซึ่งช่วยลดผลกระทบได้ อย่างไรก็ตาม อลูมิเนียมของเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เก็บภาษี 10% จะได้รับผลกระทบที่มีนัยสำคัญมากขึ้น

    เพื่อจัดการกับการเกินดุลการค้า เวียดนามได้หารือเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ กับฝ่ายบริหารของทรัมป์ รวมถึงความเป็นไปได้ในการซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวของสหรัฐฯ นอกจากนี้ VietJet ยังได้ตกลงที่จะซื้อเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น 737 MAX จำนวน 200 ลำ และกำลังเจรจาซื้อเครื่องบินขนส่งทางทหาร C-130 Hercules ของ Lockheed Martin

    ธุรกิจของทรัมป์ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาสนามกอล์ฟมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐญในเวียดนาม ซึ่งบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

    ส่งออกเหล็กเวียดนามรับประโยชน์จากภาษีของทรัมป์-อลูมิเนียมกำไรหด

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/new-us-tariffs-to-benefit-vietnam-steel-exporters-but-aluminum-companies-under-pressure-4849877.html
    อัตราภาษีใหม่ของสหรัฐฯ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกเหล็กของเวียดนาม แต่บริษัทอะลูมิเนียมอยู่ภายใต้แรงกดดัน
    อัตราภาษีล่าสุดที่เสนอโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจบีบอัตรากำไรสำหรับผู้ส่งออกอะลูมิเนียมของเวียดนาม แต่จะยกระดับการแข่งขันสำหรับบริษัทเหล็ก
    ภาษีอะลูมิเนียมซึ่งมีกำหนดมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนมีนาคม จะส่งผลให้อัตราภาษีอะลูมิเนียมเวียดนามที่เรียกเก็บในอัตรา 10% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 15%

    การส่งออกเหล็กของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์เนื่องจากเสียภาษีในอัตรา 25% มาตั้งแต่ปี 2561 ในขณะที่ภาษี 25% ล่าสุดของ Trump จะนำไปใช้กับผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ เช่น แคนาดา เม็กซิโก และบราซิล ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการยกเว้นจากภาษีที่สูง

    การปรับขึ้นภาษีคาดว่าจะลดการส่งออกอลูมิเนียมของเวียดนามไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 60% ของการส่งออกทั้งหมด ตามข้อมูลของ Vietnam Aluminium Profile Association ซึ่งระบุว่าผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ผลิตที่เป็นการลงทุนของต่างชาติเนื่องจากเป็นผู้ส่งออกหลัก

    อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล็กของเวียดนามอาจเผชิญกับความท้าทายทางอ้อม เนื่องจากคู่แข่งรายใหญ่ เช่น แคนาดา เม็กซิโก และบราซิล สามารถเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกไปยังตลาดอื่นได้

    “หากพวกเขาไม่สามารถขายในสหรัฐฯ ได้ พวกเขาอาจย้ายไปยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้แต่เวียดนาม” Nghiem Xuan Da ประธานสมาคมเหล็กเวียดนาม กล่าว

    Do Ngoc Hung หัวหน้าสำนักงานการค้าของเวียดนามในสหรัฐฯ กล่าวว่าผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ทั่วโลกอาจมุ่งเน้นที่การขายในประเทศของตนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการจำกัดโอกาสสำหรับผู้ส่งออกของเวียดนาม

    เวียดนามเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐฯ ในปี 2567 โดยมีมูลค่าการขนส่ง 1.7 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของ American Iron and Steel Institute

    “เนื่องจากบริษัทอื่นๆ ไม่มีข้อได้เปรียบเป็นพิเศษ บริษัทเหล็กของเวียดนามก็ไม่เสียเปรียบด้านภาษีและโควต้าเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกรายอื่นๆ” ผู้บริหารธุรกิจรายหนึ่งกล่าว

    สหรัฐอเมริกายังคงพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก โดยเหล็ก 12-15% และอะลูมิเนียม 40-45% มาจากซัพพลายเออร์ต่างประเทศ

    ธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ควรขอบริการให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอน Nguyen Manh Quyen หัวหน้าสำนักงานการค้าของเวียดนามในเมืองฮูสตัน กล่าว

    Vietnam Aluminium Profile Association แนะนำว่าผู้ผลิตควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และเจรจากับผู้ซื้อในสหรัฐฯ เพื่อให้มั่นใจว่าการขายยังเดินหน้าได้

    ในระยะยาวธุรกิจควรลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและดูดซับความเสี่ยงด้านภาษีได้ดีขึ้น

    อินโดนีเซียตั้งเป้าพลังงานหมุนเวียน 35%

    ที่มาภาพ: https://www.reccessary.com/en/news/id-regulation/indonesia-targets-35-percent-renewable-energy
    อินโดนีเซียได้เปิดตัวแผนการจัดหาพลังงานแห่งชาติ (National Power Supply Plan:RUPTL)ที่ปรับปรุงใหม่ โดยคาดการณ์กำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้น 71 กิกะวัตต์ ในทศวรรษหน้า โดยมุ่งไปที่พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพเพื่อขับเคลื่อนการผลิตพลังงานหมุนเวียน แผนดังกล่าวตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 35% ของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (Energy Mix)ทั้งหมดของประเทศภายในปี 2577

    ตามแผนของบริษัท PLN ซึ่งเป็นบริษัทไฟฟ้าของรัฐ พลังงานหมุนเวียนจะคิดเป็น 70% ของกำลังการผลิตติดตั้งใหม่ โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ (17 กิกะวัตต์) ตามมาด้วยไฟฟ้าพลังน้ำ (16 กิกะวัตต์) และความร้อนใต้พิภพ (5 กิกะวัตต์) ส่วนที่เหลืออีก 12 กิกะวัตต์ จะมาจากพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น ลมและชีวมวล

    อย่างไรก็ตาม 30% ของพลังงานใหม่จะยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งรวมถึงก๊าซธรรมชาติ 15 กิกะวัตต์ และพลังงานถ่านหิน 5 กิกะวัตต์ ซึ่ง Kartika Wirjoatmodjo รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ อธิบายว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ๆ เป็นโครงการที่ถูกเลื่อนออกไปก่อนหน้านี้ ในขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนความต้องการพลังงานไฟฟ้าพื้นฐานในเกาะชวา ชวาเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดในอินโดนีเซียและเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ

    ในแง่ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีปราโบโวมุ่งมั่นที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และได้ทบทวนจุดยืนด้านถ่านหินเมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่าจะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่หลังปี 2583 ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ยังคงเดินหน้าต่อไปจะต้องผ่านกระบวนการทบทวนหรือมีแผนการลดการปล่อยก๊าซที่สอดคล้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ด้วย

    Kartika เน้นย้ำว่าพลังงานหมุนเวียนจะคิดเป็น 35% ของพลังงานผสมทั้งหมดภายในปี 2577 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก 23% จากสัดส่วนในปัจจุบัน แผนงานที่ปรับปรุงได้ถูกส่งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแล้ว และจะเปิดเผยต่อสาธารณะหลังจากได้รับอนุมัติขั้นสุดท้าย

    แม้ว่ารัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างการพัฒนาพลังงานทดแทน แต่การดำเนินการตามแผนเหล่านี้จริงยังคงเป็นความท้าทาย

    รายงานที่เผยแพร่โดยสถาบันเศรษฐศาสตร์พลังงานและการวิเคราะห์ทางการเงิน (Institute for Energy Economics and Financial Analysis:IEEFA) เมื่อปลายปีที่แล้ว ชี้ถุงการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของ PLN ในการบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน ในแผน RUPTL ฉบับก่อนหน้านี้ PLN ตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 21 กิกะวัตต์ แต่บรรลุเป้าหมายเพียง 0.6 กิกะวัตต์ ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2.1 กิกะวัตต์มาก

    นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าแผนการยุติโรงไฟฟ้าดีเซลจำนวน 5,200 แห่ง แม้การประมูลระยะแรกในปี 2565 จะเสร็จสิ้น และลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent:LOI) แล้ว ยังไม่ได้จัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนที่เป็นรูปธรรม ในทำนองเดียวกัน แผนเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน “อินโดนีเซียสีเขียว” หรือ “Green Indonesia” (Hijaunesia) ถูกเลื่อนออกไปสองปี และยังคงติดอยู่ที่ขั้นตอนการคัดเลือกพันธมิตร

    IEEFA แนะนำให้รัฐบาลอินโดนีเซียปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อพลังงานทดแทนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ เช่น หน่วยงานการลงทุนของอินโดนีเซีย (Indonesia Investment Authority :INA) การดูแลให้มีการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น และการเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเลือกโครงการเพื่อให้มีที่ดินและทรัพยากรเพียงพอสำหรับการพัฒนา

    กัมพูชาเล็งเพิ่มไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ในปีนี้

    สถานีพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดกำปงชนัง กัมพูชา ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501636605/kingdom-to-add-more-720mw-from-solar-sources-this-year/

    กัมพูชากำลังก้าวกระโดดในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยโซลาร์ฟาร์มจะเพิ่มการจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็น 2 เท่าในปีนี้สู่โครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

    รายงานจากการไฟฟ้าแห่งกัมพูชา ( Electricity Authority of Cambodia:EAC) แสดงให้เห็นว่า โซลาร์ฟาร์มถูกวางให้ผลิตไฟฟ้าประมาณ 720 เมกะวัตต์สู่โครงข่ายในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 827 เมกะวัตต์ที่ผลิตในปี 2567

    แก้ว รัตนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกล่าวว่า รัฐบาลกำลังส่งเสริมการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อสร้างพลังงานสะอาดสำหรับโครงข่ายไฟฟ้า

    โครงการดังกล่าวจะเพิ่มส่วนแบ่งกำลังการผลิตพลังงานสะอาดของกัมพูชาเป็น 70% ภายในปี 2573 จากมากกว่า 62% ในปัจจุบัน

    “เมื่อเปรียบเทียบกัมพูชากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ยกเว้นลาว หากเราสามารถผลิตได้ 70% ภายในปี 2573 กัมพูชาก็จะอยู่ในอันดับที่ 2 ใน 10 ประเทศอาเซียนที่มีพลังงานสะอาดสูงสุด และพลังงานสะอาดนี้จะให้ประโยชน์มากมายในด้านอื่นๆ” รัฐมนตรีกล่าวในการประชุมประจำปีที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

    การขยายพลังงานแสงอาทิตย์สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลได้หยุดการออกใบอนุญาตสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่

    แหล่งพลังงานหมุนเวียนหลัก ได้แก่ พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล กัมพูชายังซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง

    ตามแผนแม่บทการพัฒนาพลังงาน (Power Development Master Plan:PDP) ปี 2565-2583 รัฐบาลประกาศว่าจะไม่มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกต่อไปหลังจากปี 2567 และพลังงานหมุนเวียนจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของกัมพูชา

    เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว รัฐบาลได้อนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า 23 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้า 5,950 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งพลังงาน

    กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมของกัมพูชาอยู่ที่ 5,044 เมกะวัตต์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 8.5% จาก 4,649เมกะวัตต์ ในปี 2566

    ในปี 2568 EAC วางแผนที่จะเพิ่มแหล่งพลังงานเป็น 6,044 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 5,044 เมกะวัตต์ในปี 2567

    ตามรายงาน แหล่งพลังงานอื่นๆ ที่จะเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศในปี 2568 ได้แก่ 1,796 เมกะวัตต์จะมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 49 เมกะวัตต์จากพลังงานชีวมวล 1,430 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 400 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นเชื้อเพลิง และ 822 เมกะวัตต์จะถูกนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย เวียดนาม และลาว

    มาเลเซียตั้งเป้ารายได้ 3.6 พันล้านริงกิตจากอุตสาหกรรมดาต้า เซ็นเตอร์ในปีนี้

    ที่มาภาพ: https://malaysia.news.yahoo.com/data-centre-planning-guidelines-among-065009031.html

    มาเลเซียตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายรายได้ 3.6 พันล้านริงกิตในอุตสาหกรรมดาต้า เซ็นเตอร์ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากมีสัญญาณเชิงบวกที่รัฐบาลได้รับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับกิจกรรมการลงทุนและแผนการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่

    รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล Gobind Singh Deo กล่าวว่า กระทรวงฯมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้ผ่านโครงการริเริ่มเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ตลอดปี 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ

    “การอนุมัติแนวทางการวางแผนดาต้าเซ็นเตอร์(Data Centre Planning Guidelines)โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆ นี้ถือเป็นก้าวสำคัญไปข้างหน้า” Gobind กล่าวในการกล่าวปาฐกถาในงานประชุมดาต้า เซ็นเตอร์ของ Siemens ในหัวข้อ ‘Building the Future of Data Centres in Malaysia’ ที่จัดขึ้นที่เมืองดามันซารา รัฐสลังงอร์ เมื่อวานนี้(13 กุมภาพันธ์ 2568)

    “แนวทางเหล่านี้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานและปรับปรุงกระบวนการอนุมัติแอปพลิเคชันและการวางแผน สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดาต้า เซ็นเตอร์ ด้วยการให้แนวทางและขั้นตอนการวางแผนสถานที่ที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน เรามุ่งที่จะอำนวยความสะดวกในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ขณะเดียวกันก็ทำให้มั่นใจได้ว่าทรัพยากรของเราได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ”

    นอกจากนี้ยังกล่าวว่า แนวปฏิบัติเหล่านี้จะไม่เพียงแต่สนับสนุนการทำธุรกิจ แต่ยังช่วยเสริมระบบนิเวศอุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลโดยรวมอีกด้วย

    “แนวปฏิบัติเหล่านี้ย้ำถึงความสำคัญของการวางแผนตำแหน่งเชิงกลยุทธ์สำหรับดาต้า เซ็นเตอร์เพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนาสอดคล้องกับเขตการใช้ที่ดินที่กำหนด แนวทางนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตของอุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน เนื่องจากดาต้า เซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่อยู่อาศัยจะต้องมีเขตกันชนเพื่อลดเสียงรบกวน

    “ยิ่งกว่านั้น ความยั่งยืนจะยังคงเป็นความสนใจหลักสำหรับกระทรวงดิจิทัลในการก้าวไปข้างหน้า ขณะที่ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มาเลเซียก็ตระหนักถึงความเร่งด่วนของการพัฒนาโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ข้อมูล”

    Gobind กล่าวอีกว่า รัฐบาลกำลังพัฒนาแนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิภาพการใช้น้ำ ซึ่งจะจัดทำข้อกำหนดด้านความยั่งยืนขั้นต่ำสำหรับดาต้า เซ็นเตอร์ใหม่ที่จะเปิดตัวออนไลน์ในปี 2568

    “แนวปฏิบัติเหล่านี้จัดทำขึ้นภายใต้คำแนะนำของสถาบันวิจัยมาตรฐานและอุตสาหกรรมแห่งมาเลเซีย และจะทำให้มั่นใจว่าโรงงานของเราเป็นไปตามมาตรฐานสากลในการจัดการพลังงานและการใช้น้ำในปริมาณมาก”

    ด้วยดาต้า เซ็นเตอร์ใหม่ประมาณ 17 แห่งที่เตรียมเปิดให้บริการเฉพาะในรัฐสลังงอร์เพียงแห่งเดียวในปีหน้า มาเลเซียกำลังเตรียมการสำหรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจเพิ่มขึ้นจาก 990 เมกะวัตต์ ในปัจจุบันเป็น 1,400 เมกะวัตต์ ภายในปี 2572

    “การเติบโตนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เล่นในอุตสาหกรรมเพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานของเราสามารถรองรับการขยายตัวนี้ได้อย่างยั่งยืน”

    อินโดนีเซีย-อินเดีย สมาชิก BRICS ลดพึ่งดอลลาร์หันใช้เงินสกุลท้องถิ่น

    นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ให้การต้อนรับประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ในการเยือนนิวเดลีอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนมกราคม 2568 ที่มาภาพ:https://jakartaglobe.id/business/dedollarization-indonesia-india-look-forward-to-local-currency-trade
    อินโดนีเซียและอินเดียต่างพร้อมที่จะพึ่งพาเงินดอลลาร์น้อยลงพึ่งพาเงินดอลลาร์น้อยลงในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน

    เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารกลางอินโดนีเซียและธนาคารกลางอินเดียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าชำระเงินเป็นรูเปียะฮ์หรือรูปีได้ ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลาง

    นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ให้การต้อนรับประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ในการเยือนนิวเดลีอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แถลงการณ์ร่วมที่ออกหลังการประชุมกล่าวถึงการจะเริ่มใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าทวิภาคี

    “[ผู้นำทั้งสอง] เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการที่รวดเร็ว” แถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศระบุ

    “พวกเขาแสดงความมั่นใจว่าการใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการทำธุรกรรมทวิภาคีจะส่งเสริมการค้าระหว่างอินโดนีเซียและอินเดียต่อไป และทำให้การบูรณาการทางการเงินลึกมากขึ้นระหว่างสองเศรษฐกิจ”

    การประชุมทวิภาคีของทั้งสองผู้นำยังได้กล่าวถึงการเข้าร่วม BRICS ของอินโดนีเซียเมื่อเร็วๆ นี้ BRICS เป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่รู้จักกันดีว่ามีความพยายามลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ BRICS เกิดจากการรวมตัวของบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และยังมี อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นสมาชิก

    แถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการเจรจาล่าสุดกับโมดีระบุว่า อินเดียยินดีต้อนรับอินโดนีเซียเป็สมาชิกกลุ่ม BRICS และยังเขียนด้วยว่าอินโดนีเซียมั่นใจว่าการเป็นสมาชิกของอินโดนีเซียสามารถ “เสริมสร้างความสามัคคีของ BRICS ต่อไปได้” ในการแถลงข่าวร่วม ประธานาธิดบีปราโบโวบอกกับนายกรัฐมนตรีโมดีด้วยว่าการมีอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่ม BRICS อาจ “เป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพระดับโลกและความร่วมมือระดับภูมิภาค”

    ปัจจุบันอินโดนีเซียใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมทวิภาคีกับจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทยอยู่แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำอินโดนีเซีย เซอร์เก โทลเชนอฟ เปิดเผยว่า รัสเซียซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง BRICS กำลังเจรจาเพื่อทำข้อตกลงเรื่องสกุลเงินท้องถิ่นกับอินโดนีเซีย

    ข้อมูลของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าปริมาณการค้าอินเดีย-อินโดนีเซียมีมูลค่ารวม 24.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 อินโดนีเซียส่งออกสินค้ามากกว่าการนำเข้าจากอินเดีย อินโดนีเซียมียอดเกินดุลเกือบ 13.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯกับอินเดีย อาเซียนซึ่งมีอินโดนีเซียเป็นสมาชิกอยู่ กำลังพยายามทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีกับอินเดียให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Trade in Goods Agreement:AITIGA) ที่กำลังปรับปรุงนี้ คาดว่าจะช่วยเอื้อต่อการทำธุรกิจได้ดีขึ้น