1721955
Squid Game (2021) กลายเป็นซีรีส์เกาหลีระดับตำนานที่เป็นกระแสระดับโลก ระบาดหนักพอๆ กับโควิดในช่วงปีที่มันออนแอร์ข้ามไปดังทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ทั่วทุกทวีปต้องหยุดดู แล้วทั้งที่ตัวผู้กำกับ ฮวังด็องฮยอก เคยออกปากไว้ทีแรกว่าจะไม่มีซีซันสอง แต่เพราะความดังระเบิดระเบ้อทำให้มีข่าวว่าเขาตัดสินใจจะกำกับซีซันสอง และสาม ซึ่งสองซีซันหลังนี้จะถ่ายทำต่อเนื่องกัน แล้วนับจากนั้นผู้คนทั่วโลกก็ต่างรอคอยภาคต่อของมันจนมาฉายเอาปลายปีที่ผ่านมาด้วยความยาว 7 อีพี (ซีซันแรกมี 9 อีพี)
ตอนโผล่มาซีซันแรก หลายคนเข้าใจว่าฮวังด็องฮยอกเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ แต่อันที่จริงแล้วเขาเคยมีผลงานโด่งดังและกวาดทั้งรางวัลและรายได้ขนานใหญ่ (กว่า 1,700 ล้านบาท) มาแล้วจากหนัง Miss Granny (2014) หนังว่าด้วยคุณยายวัย 70 ย้อนกลับไปตอนอายุ 20 ต้นๆ แถมยังถูกอะแดปต์เป็นหนังอีก 9 เวอร์ชัน ในไต้หวัน เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ อินเดีย เม็กซิโก สหรัฐฯ และฉบับไทยใช้ชื่อว่า “20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น” อีกทั้งยังเป็นละครอีก 2 เวอร์ชันในจีน และในเกาหลีเพิ่งออนแอร์ไปเมื่อปีที่แล้วในชื่อ Who is She (2024)
หนังกระแสก็ปัง หนังปาดน้ำตาก็ไม่น้อยหน้า เมื่อเขาเคยหยิบคดีจริงสุดอื้อฉาวที่บรรดาครูข่มขืนและทำร้ายเด็กพิการทางการได้ยินมาทำเป็นหนัง Silenced (2011) ที่ได้พระเอกตลอดกาล กงยู มาแสดงนำ ก็ทำให้หนังดราม่าเรื่องนี้กลายเป็นหนังทำเงินอันดับหนึ่งในช่วงที่ฉายไปในทันที แล้วก่อนหน้า Squid Game เขาก็เคยโด่งดังจากหนังอิงประวัติศาสตร์ The Fortress (2017)
จากนั้น ในที่สุดเขาก็โดดมากำกับ Squid Game เป็นซีรีส์แรกของเขาที่ได้เงินลงทุนไป 730 ล้านบาทในซีซันแรก แล้วจากความฮิตหนักไปทั่วโลก ในซีซัน 2 และ 3 เขาจึงได้เงินลงทุนเพิ่มไปเป็น 2,355 ล้านบาท หรือเกินกว่า 3 เท่าของซีซันแรก ทำให้ตอนนี้ Squid Game กลายเป็นซีรีส์เกาหลีที่ลงทุนหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ (รองจากนั้นคือ Moving 1,400 ล้านบาท)
นอกจากลงทุนสูงแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ Squid Game 2 มีมูลค่าการตลาดพุ่งไปอีกคือการระดมนักแสดงมากฝีมือ นับตั้งแต่อีจุงแจจากภาคแรก เขาคือพระเอกระดับตำนานที่เคยโด่งดังในบ้านเราอย่างหนักจากหนังรักย้อนเวลาสุดอบอุ่น Il Mare (2000), อิมซีวอน จากซีรีส์สุดฮิต Misaeng: Incomplete Life (2014) Strangers From Hell (2019), คังฮานึล จากซีรีส์ When the Camellia Blooms (2019) และ Moon Lovers: Scarlet Heart Ryeo (2016 ที่กำลังจะมีฉบับรีเมกโดย GMM) แถมยังได้กงยูแห่ง Train to Busan (2016) มาสมทบ พร้อมด้วยสุดยอดดาราระดับฮอลลีวูด อีบย็องฮอน จากหนัง G.I. Joe (2009 และ 2013) Red 2 (2013) และคนเหล็ก Terminator Genisys (2015)
Squid Game 2 ส่วนตัวเรามองว่าขาดความสดใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเพราะมันเป็นการถูกเค้นเพื่อมาเขียนตอนต่อ อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปที่ซีซันแรก เราก็ยังรู้สึกว่าจริงๆ แล้วซีรีส์นี้มันคือส่วนผสมของหนังญี่ปุ่น As the Gods Will (2014) ของผู้กำกับรุ่นลุงสุดเก๋า ทาคาชิ มิอิเกะ ที่ดัดแปลงจากมังงะชื่อดัง ฉบับลิขสิทธิ์ไทยแปลว่า “เกมเทวดา FROM THE NEW WORLD (2011-2012)” ซึ่งใช้เกมสมัยเด็กๆ มาฆ่าคนโดยไม่มีเหตุผล แม้ว่าตัวผู้กำกับเกาหลีจะปฏิเสธ แต่ส่วนตัวเรามองว่ามันเหมือนกันมากเกินไป แล้วอันที่จริงก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีปฏิเสธว่าหยิบยืมหรือขโมยอะไรมาจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะรามยอน เทควันโด วงไอดอลบอยแบนด์ ถ้าถามคนเกาหลี เกาหลีก็จะเคลมว่าตนเป็นออริจิ
แต่ไม่แค่นั้น เหตุการณ์บนเกาะ คนไม่รู้จักกันกลุ่มหนึ่งมาร่วมกิจกรรมกัน แล้วก็ย้อนกลับไปเล่าความเป็นมาของแต่ละคน ก็มีส่วนคล้ายซีรีส์อเมริกันสุดฮิต Lost (2005-2010) อยู่ไม่น้อย นี่ยังไม่นับประเด็นทางเศรษฐกิจแล้วมีกลุ่มจารชนแต่งชุดยูนิฟอร์มสวมหน้ากาก ก็มีความคล้ายซีรีส์สเปนสุดลือลั่น Money Heist (2017-2021) ซึ่งล้วนแล้วมาก่อน Squid Game ทั้งสิ้น
หรือแม้จะมีข้อมูลบางกระแสที่ว่าด้วยเรื่องชุดยูนิฟอร์มที่ทุกคนใส่เหมือนกันนี้ว่า อิงเอามาจากข่าวสะเทือนขวัญที่เคยเกิดขึ้นจริงใน Brothers Home ศูนย์พักพิงในปูซาน สมัยปลายยุคทศวรรษ 1980 ที่บังคับใช้แรงงานทาสเด็กเร่ร่อน แล้วพอตายก็มีการขายอวัยวะให้กับโรงพยาบาลแบบเถื่อนๆ ก็ดูจะเป็นการดึงดราม่าเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาเรื่องการลอกเลียนอยู่ดี

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับBrothers Home
ดังนั้น สำหรับเราที่รู้สึกขาดความออริจิไปตั้งแต่ต้น พอมาซีซันนี้ก็เหมือนพยายามเข็นเรื่องให้ไปต่อได้ ช่วง 2-3 อีพีแรกมันเลยดูไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เมื่อมีเงื่อนไขที่ต้องเอานักแสดงหลักคนดังอย่างอีจุงแจกลับเข้ามาสู่เกม แถมจากที่คิดจะเปิดหน้ากากตัวบอสในภาคแรกที่แสดงโดยอีบยองฮอนแบบแค่ทิ้งไว้เป็นกิมมิกตอนจบให้ฮือฮากัน (แบบเดียวกับการเอาดาราซูเปอร์สตาร์อย่างกงยูมาเป็นตัวเปิดเรื่องทั้งหมด) มาในซีซันสองเลยต้องเอาตัวละครเหล่านี้กลับเข้ามาในเรื่องด้วย ซึ่งสำหรับเราหลายๆ ตรรกะมันไม่เลยเมกเซนส์
นี่ยังไม่นับว่าตัวละครซงกีฮุน หรือ “456” ที่อีจุงแจนำแสดงนั้น มีความเป็นฮีโร่ใฝ่คุณธรรมสูงส่งมากจนเหลือเชื่อ เหตุผลสารพัดสารเพในการกลับเข้าสู่เกมมันเลยยิ่งไม่เมกเซนส์ เพราะในตอนแรกเขาเข้ามาในเกมนี้ด้วยความกระหายเงินไม่ต่างจากคนอื่น แต่ดันกลับมาเพื่อขัดขวางคนอื่น แม้บทพยายามจะอ้างว่าเขาผ่านความตายมามากมายก็ตามที เคลลี ลอว์เลอร์ นักวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์ USA Todayให้ซีซันนี้ 2 ดาวจาก 4 ดาว โดยกล่าวว่า “พลอตเรื่องมันแสนจะทะแม่งๆ แล้วตอนจบยังไม่น่าประทับใจเท่าที่ควรอีก”
นี่ยังไม่นับกรณีที่ซีรีส์นี้ถูกแบนในเวียดนาม เนื่องจากมีตัวละครหนึ่งออกมายกย่องพ่อตนเองที่เคยไปร่วมรบกับสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม โดยทางการเวียดนามออกมาโจมตีว่า “เป็นการฟอกขาวแก่อาชญากรสงคราม เนื่องจากตัวละครพูดว่าพ่อผมเป็นคนดี เพราะเคยไปรบในเวียดนาม ทั้งที่ความเป็นจริงการฆ่าคนตายในสงครามดังกล่าวไม่ใช่ความดี และซีรีส์เรื่องนี้กำลังบิดเบือนประวัติศาสตร์”
สำนักข่าวจีน South China Morning Post ได้ระบุในเนื้อข่าวว่า “การพรรณนาถึงทหารผ่านศึกสงครามเวียดนามของเกาหลีว่าเป็นบุคคลที่มีเกียรติถือเป็นสิ่งที่ผิด” ในโซเชียลมีเดียมีการโจมตีจากเวียดนามว่า “ซีรีส์นี้ปกปิดความโหดร้ายที่ทหารเกาหลีใต้กระทำในช่วงสงคราม” มีคอมเมนต์มากมายบนโลกโซเชียลจวกด้วยว่า “เกาหลีใต้เป็นชาติสองมาตรฐาน ขณะที่พวกเขาเรียกร้องคำขอโทษและการชดใช้จากญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองและในช่วงการปกครองของญี่ปุ่น… แต่พวกเขากลับโอ้อวดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางทหารในเวียดนาม”
เมื่อซีรีส์รู้ตัวว่าอ่อนด้อยเรื่องเหตุผล ซีซันนี้เลยพยายามอย่างหนักในการใส่เหตุผลต่างๆ นานา โดยเฉพาะพวกที่ถูกสังคมมองว่าเป็นสวะ เป็นพวกชายขอบ ไม่ว่าจะคนเร่ร่อน ขี้ยา ติดพนัน อาชญากรสงคราม คอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ ฯลฯ เพื่อสร้างน้ำหนักให้เรื่องน่าสนใจ ซึ่งบางประเด็นก็พอกล้อมแกล้ม บางประเด็นก็ไม่ไหวจะเคลียร์ แต่หนึ่งในนั้นที่เราอยากพูดถึงในบทความนี้คือ 120
เธอชื่อ… บยอนฮีซู
120 ในเรื่องเธอมีชื่อว่าโจฮยอนจู รับบทโดยพัคซองฮุน ที่พลิกบทบาทจากตัวละครร้ายสุดๆ อย่างในซีรีส์ Glory และ Queen of Tears มาไกลแบบสุดโต่ง คือเป็นสาวข้ามเพศที่ต้องการเงินไปผ่าตัดแปลงเพศที่เมืองไทย และตัวละครนี้เคยเป็นทหารที่ถูกปลดจากราชการ
ตอนแรกที่ซีรีส์ออนแอร์ ในฟากฝั่งสหรัฐฯ มีดราม่าเล็กๆ เรื่องการนำนักแสดงชายแท้มารับบทนี้แทนที่จะใช้หญิงข้ามเพศมาแสดงจริงๆ อย่างไรก็ตาม ทางซีรีส์ได้โต้แย้งกรณีนี้ว่า หากใช้หญิงข้ามเพศมาแสดงอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้แสดง เนื่องจากสังคมเกาหลียังคงมีการบูลลี่คนกลุ่มนี้อยู่มาก หลายคนถึงกับต้องออกจากวงการ ไปจนถึงฆ่าตัวตายเลยก็มี
แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ถูกมองผ่านไปได้คือการแสดงของพัคซองฮุน และบทของตัวละครนี้ที่มีหลายอย่างทำให้คนดูรักและเอาใจช่วยอย่างมาก ฮวังด็องฮยอกให้สัมภาษณ์กับเว็บ Decider ว่า “คนที่มาร่วมเล่นเกม Squid Game มักเป็นคนที่ถูกละเลยหรือถูกสังคมมองข้าม ในซีซันแรกตัวแทนของคนกลุ่มนี้คืออาลี ชาวต่างชาติผิวดำที่มาเป็นผีน้อยในเกาหลี เป็นหนึ่งในคนชายขอบในสังคมเกาหลี ขณะที่คนข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติ สังคมเกาหลีไม่เคยยอมรับคนกลุ่มนี้ ผมจึงเห็นว่าตัวละครแบบนี้แหละที่เหมาะมากจะเป็นตัวแทนการต่อสู้เพื่อชุมชน… ผมเคยคิดจะคัดเลือกนักแสดงข้ามเพศจริงๆ แต่ในช่วงรีเซิร์ชพบว่าแทบไม่มีนักแสดงที่เป็นคนข้ามเพศอย่างเปิดเผยเลยในเกาหลีใต้ นี่ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มเกย์อย่างเปิดเผยที่เป็นไปได้ยากมาก ชุมชน LGBTQ+ ยังคงถูกละเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ แล้วด้วยเหตุผลนี้ เราจึงต้องมีตัวละครแบบนี้ในซีซันสอง”
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ LGBTQ ในสังคมเกาหลี
แต่สิ่งที่น่าสะเทือนใจกว่านั้น ตัวละคร 120 ที่ถูกเอ่ยถึงนี้มีแบกกราวด์ที่สอดคล้องกับนายทหารหญิงข้ามเพศ บยอนฮีซู เรื่องนี้เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกในปี 2020 ที่กองทัพเกาหลีประกาศปลดประจำการบยอนฮีซูออกจากกองทัพ เนื่องจากเธอไปผ่าตัดแปลงเพศที่เมืองไทยเมื่อปี 2019
โฆษกกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ระบุในขณะนั้นว่า “คำสั่งจะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2020 เป็นต้นไป เนื่องจากผลตรวจร่างกายที่ออกโดยโรงพยาบาลทหารระบุว่า บยอนสูญเสียอวัยวะเพศชายในการผ่าตัดแปลงเพศ เข้าข่ายเป็นความพิการ อันเป็นหนึ่งในเหตุผลที่กองทัพใช้พิจารณาปลดทหาร และกรณีที่ความพิการไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่จะทำให้บุคลากรดังกล่าว ‘ขาดคุณสมบัติ’ ในการรับใช้กองทัพ”
จ่าสิบเอกพลขับรถถังแห่งกองทัพเกาหลีใต้วัย 23 ปี บยอนฮีซู กล่าวทั้งน้ำตาต่อหน้าสื่อที่ให้ความสนใจต่อกรณีนี้เป็นอย่างมากเมื่อเดือนมกราคม 2020 ว่า “ฉันอยากจะบอกกับทุกท่านให้ทราบว่า ฉันสามารถจะเป็นทหารที่ยิ่งใหญ่ได้ ด้วยการปกป้องประเทศชาติของฉันได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศ โปรดให้โอกาสฉันสักครั้ง ฉันคือกำลังทหารของเกาหลีใต้ ขอบคุณ ทงกิล (ภราดรภาพ)!” ในรายงานข่าวระบุด้วยว่าเธอมีคะแนนสูงสุดในการขับเคลื่อนรถถัง และปัจจุบันมี 19 ประเทศที่ยอมรับบุคคลข้ามเพศในการรับใช้กองทัพ
บยอนฮีซูตกเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อพบว่าในวันที่ 28 กุมภาพนธ์ 2021 เธอต้องเข้ามาในกองทัพเพื่อทำเรื่องปลดประจำการอย่างเป็นทางการ แต่ไม่มีใครสามารถติดต่อเธอได้ จนกระทั่งในวันที่ 3 มีนาคม ได้มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเดินทางไปตรวจสอบในบ้านพักของเธอที่เมืองชองจู ทางตอนใต้ของกรุงโซล ก่อนจะพบว่าเธอน่าจะเสียชีวิตมาหลายวันแล้ว
ย้อนกลับไปในถ้อยแถลงของเธอเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2020 ขณะนั้นเธอกล่าวด้วยว่า “ฉันหวังว่ากองทัพที่กำลังปรับตัวอย่างเป็นมิตรและยกระดับสิทธิมนุษยชน จะมองเห็นว่าทหารที่เป็นคนชายขอบทางเพศทุกคน รวมถึงตัวฉันเอง จะสามารถปฏิบัติหน้าที่และภารกิจของตนได้ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ฉันต้องการให้ผู้คนจดจำฉันในฐานะตัวอย่างที่ดีเช่นกัน แม้ฉันอาจเป็นบุคคลที่อ่อนแอ แต่ฉันก็หวังว่าจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนี้ได้หากทางกองทัพจะสนับสนุน ไม่ว่าฉันจะเป็นเพศอะไร ฉันก็ยังอยากแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่าฉันสามารถเป็นทหารที่ปกป้องประเทศนี้ได้”
ภายหลังเหตุการณ์
ข้อมูลจากเว็บ namu บันทึกอย่างละเอียดว่า อันที่จริงกองทัพไม่ได้ห้ามให้มีการผ่าตัดแปลงเพศ เนื่องจากตอนที่บยอนฮีซูเข้ารับการผ่าตัดในกรุงเทพฯ เธอลาราชการไปโดยมีการยื่นคำขออนุญาตลางานและระบุอย่างชัดเจน รวมถึงทางกองทัพได้อนุญาตให้เธอไป อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีการฟ้องร้องกองทัพ ซึ่งในที่สุดคำตัดสินเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2021 โดยศาลได้ตัดสินว่า “ควรพิจารณาเพศสภาพตามกฎหมายของอดีตจ่าสิบเอก บยอน ที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพศหญิงแล้ว และการที่มีหรือไม่มีอวัยวะเพศชาย ไม่ควรใช้เป็นเหตุผลในการระบุความพิการของร่างกาย หรือความบกพร่องในสภาพจิต” หมายความว่าในคดีดังกล่าว บยอนเป็นฝ่ายชนะ โดยทางกองทัพตอบรับว่า “จะเคารพคำตัดสินของศาล และยังไม่ตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้หรือไม่ รวมถึงทางกระทรวงกลาโหมยังประกาศด้วยว่า จะศึกษาแนวทางปรับให้มีบุคคลข้ามเพศสามารถเข้ารับราชการทหารได้
ทว่า เมื่อเวลาผ่านไปในวันที่ 20 ตุลาคม 2021 ทางกองทัพกลับคำประกาศว่าจะยื่นอุทธรณ์ โดยแถลงว่าลำพังคำตัดสินจากการพิจารณาคดีเพียงครั้งเดียวไม่เพียงพอ และกำลังหาแนวทางเพิ่มเติมกับคณะลูกขุนในชั้นศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีคดีจำนวนมากที่คำตัดสินถูกพลิกไปจากการพิจารณคดีในครั้งที่สอง ฝ่ายโจทก์จึงมีความกังวลอย่างมาก ส่วนการตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่นั้นจะไม่ได้กระทำโดยกองทัพอีกต่อไป แต่โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบในทุกคดีที่มีการฟ้องรัฐ
แต่ผ่านไปเพียงสองวัน เมื่อ 22 ตุลาคม หลังจากทานกระแสสังคมไม่ไหว กระทรวงยุติธรรมได้ออกมายอมรับคำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษา สั่งให้กองทัพถอนคำอุทธรณ์ ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐ ภายใต้มาตรา 30 ของข้อบังคับว่าด้วยค่าชดเชยข้าราชการ
ต่อมา 26 ตุลาคม 2021 เนื่องจากไม่มีการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา ส่งผลให้จ่าสิบเอก บยอนฮีซูเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในคดีนี้ นอกจากนี้ กองทัพยังประกาศว่าจะเปลี่ยนประวัติของเธอ จากการปลดประจำการโดยบังคับให้เป็นการปลดประจำการตามปกติ และจะจริงจังในการดำเนินการวิจัยนโยบายเกี่ยวกับการเข้ารับราชการของบุคคลข้ามเพศ
31 ธันวาคม 2021 นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้พบยูนิฟอร์มที่ปักชื่อของจ่าสิบเอก บยอนในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าน่าจะมาทางบริษัทกำจัดขยะในระหว่างกระบวนการจัดระเบียบข้าวของผู้เสียชีวิต นักท่องเที่ยวดังกล่าวจึงอีเมลไปหาทนายความของบยอน ก่อนที่ทางทนายได้แจ้งไปยังครอบครัวซึ่งปรารถนาขอให้คืนชุดดังกล่าว นักท่องเที่ยวเกาหลีรายนั้นจึงซื้อชุดนั้นเอาไว้แล้วส่งกลับไปยังครอบครัว ซึ่งต่อมาได้นำไปวางรำลึกในช่องบรรจุอัฐิตามความประสงค์ของครอบครัว
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2022 สมาคมสตรีเกาหลีได้มอบรางวัลพิเศษให้จ่าสิบเอก บยอนฮีซู ในงานประชุมสตรีเกาหลีครั้งที่ 37 เพื่อรำลึกถึงวันสตรีสากลในวันที่ 8 มีนาคม
1 ธันวาคม 2022 ตามที่กองบัญชาการกองทัพบกได้แถลง คณะกรรมการพิจารณาการเสียชีวิตของทหารทั่วไปได้จัดการประชุม และมีมติให้ถือว่าการเสียชีวิตของบยอนเป็นการเสียชีวิตธรรมดา ไม่ถือว่าเป็นการเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ คณะกรรมการยังพิจารณาแล้วว่า การเสียชีวิตของเธอ ไม่มี “ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่สำคัญกับหน้าที่ราชการ” ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
27 กุมภาพันธ์ 2023 คณะกรรมการแรงงานสังคมได้จัดพิธีรำลึกที่หน้าศาลาโพซินเพื่อรำลึกถึงวันครบรอบ 2 ปีการเสียชีวิตของพลทหารบยอนฮีซู การประชุมสวดมนต์ในวันนั้นมีคณะกรรมการร่วมเพื่อการคืนสถานะและฟื้นฟูเกียรติยศของจ่าสิบเอก บยอนฮีซู ร่วมด้วยกลุ่มศาสนาบางกลุ่มที่ยอมรับอัตลักษณ์หลากหลายทางเพศ เช่น Rainbow Jesus, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งศาสนาพุทธ Won, คณะกรรมการประชาชนคาทอลิก และศูนย์วิจัยความสามัคคีเพื่อสิทธิมนุษยชนของคณะเยซูอิต เข้าร่วมด้วย
29 มีนาคม 2024 คณะกรรมาธิการทหารกลาง ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของกระทรวงกลาโหม ได้ยอมรับการเสียชีวิตของจ่าสิบเอก บยอนฮีซู และกระทรวงกลาโหมได้แจ้งข่าวนี้ให้ครอบครัวผู้สูญเสียทราบเมื่อวันที่ 4 เมษายนปีเดียวกันนั้น โดยเปลี่ยนกำหนดประเภทการเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ของบยอนให้เป็น “การเสียชีวิตประเภทที่ 3 ขณะปฏิบัติหน้าที่” คือ การเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศโดยตรง
กรณีนี้ค่อนข้างเป็นที่ฮือฮา เพราะการที่กองทัพยอมรับว่าเป็นการเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ หนึ่งในสิทธิพิเศษนั้นคืออัฐิของเธอจะได้รับการบรรจุในสุสานแห่งชาติ อันเป็นสุสานเกียรติยศสำหรับทหารผู้พลีชีพ และแม้ทางกองทัพจะไม่เคยเอ่ยปากขอโทษ แต่เป็นการยอมรับความผิดนี้อย่างจริงใจเท่าที่กองทัพจะแสดงออกได้ ซึ่งต่อมาได้มีการย้ายอัฐิเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ปีที่ผ่านมานี้เอง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทัพเกาหลีใต้ยังคงไม่เปิดให้บุคคลข้ามเพศเข้ารับราชการทหาร ส่วนผู้กำกับฮวังด็องฮยอกได้ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีนี้ว่า “คงเป็นการโกหกถ้าจะบอกว่าบยอนไม่ใช่แรงบันดาลใจในการเขียนตัวละครนี้ขึ้นมา เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเศร้าและสะเทือนใจอย่างมาก เป็นประเด็นสำคัญ แม้แต่ในสหรัฐฯ ที่ถึงจะยอมรับคนข้ามเพศจำนวนมากในกองทัพ แต่ล่าสุดประธานาธิบดีทรัป์ได้กล่าวว่าเขาจะขับไล่คนกลุ่มนี้ออกจากองทัพ และการข้ามเพศยังเป็นประเด็นร้อนในโอลิมปิกที่ผ่านมา ขนาดว่าแม้แต่ในเกมกีฬาที่ถูกสร้างมาเพื่อความสามัคคีของมวลมนุษยชาติ ผมจึงสร้างตัวละครนี้โดยคำนึงถึงบรรยากาศและสถานการณ์โดยรวมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้”
แม้ว่าบยอนฮีซูจะชนะคดีต่อกองทัพและกระทรวงกลาโหม ได้รับการกอบกู้ศักดิ์ศรีคืนกลับมา ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ตัวละคร 120 ในซีรีส์สำคัญ Squid Game 2 ทว่าน่าเสียดายที่เธอไม่มีโอกาสรับรู้เรื่องเหล่านี้ได้อีกแล