ThaiPublica > เกาะกระแส > เวียดนามกับอุตสาหกรรม “เซมิคอนดักเตอร์” ผลิตภัณฑ์ที่เป็น “สมอง” ของเศรษฐกิจดิจิทัล

เวียดนามกับอุตสาหกรรม “เซมิคอนดักเตอร์” ผลิตภัณฑ์ที่เป็น “สมอง” ของเศรษฐกิจดิจิทัล

29 มกราคม 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : Vietnam Imvestment Review

ในรายงานชื่อ Overview of Vietnam Semiconductor Industry (July 2024) ของบริษัทวิจัยGuotai Junan (VN)Research เขียนไว้ว่า เวียดนามมีศักยภาพสูง ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือ “คอมมิวเตอร์ชิป” ในอีกไม่นาน อุตสาหกรรมเซมิฯจะกลายเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของเวียดนาม ปี 2024 รายได้จากเซมิฯจะมีมากถึง 18 พันล้านดอลลาร์ ช่วงปี 2024-2029 รายได้จะเติบโตปีละ 11.4% ในปี 2029 จะมีรายได้หมด 31.3 พันล้านดอลลาร์

รายงานกล่าวว่า แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิฯของเวียดนาม ค่อนข้างสดใส เพราะเวียดนามได้เปรียบในหลายด้าน เช่น ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจที่บูรณาการอย่างแนบแน่นกับเศรษฐกิจโลก เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรีกับ 16 ประเทศ แรงงานมีที่มีฝีมือมีปริมาณมากและจำนวนเพิ่มขึ้น มีแหล่งแร่ที่หายาก (rare earth) และนโยบายรัฐที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิฯ

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิฯของเวียดนามยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่การเคลื่อนย้ายบริษัทไฮเทคด้านเซมิฯ เข้ามาเวียดนาม เช่น Samsung, Amkor, Nvidia, Qualcomm รวมทั้งการมีบริษัทออกแบบตัวชิปของเวียดนามเอง เช่น FPT และ Viettel ทำให้ในระยะยาว เวียดนามจะสามารถเจาะลึกเข้าสู่ “ห่วงโซ่คุณค่า” ของอุตสาหกรรมนี้

“สมอง” ของเศรษฐกิจดิจิทัล

รายงานของ Semiconductor Industry Association เรื่อง Beyond Borders: The Global Semiconductor Value Chian กล่าวว่า เซมิคอนดักเตอร์ และที่รู้จักกันในนาม “แผงวงจร” “ไมโครชิป” หรือ “ชิป” คือสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เซมิฯแต่ละตัวจะประกอบด้วยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นับเป็นพันๆตัว ที่เชื่อมโยงกัน ทำให้เซมิฯเป็น “สมอง” ของอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์ คอมมิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ไปจนถึงอุปกรณ์ทางธุรกิจ อุตสาหกรรม และทางทหาร

ในปี 2015 อุตสาหกรรมเซมิฯมีมูลค่ายอดขาย 335 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากเซมิฯมีลักษณะซับซ้อนและเชื่อมโยงกันและกัน ทำให้ “ห่วงโซ่คุณค่า” เป็นแบบเฉพาะด้านสูงมาก ขั้นตอนต่างๆกระจายไปทั่วโลก และเชื่อมโยงกันและกัน สิ่งนี้เป็น “ระบบนิเวศเซมิคอมดักเตอร์ของโลก” ประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า หรือมีกิจกรรมสนับสนุน จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากมาย ทั้งการจ้างงานเพิ่มขึ้น และโอกาสการส่งออก

การมีดำรงอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างช่วยอธิบายว่า ทำไมระบบนิเวศของเซมิฯจึงมีลักษณะเกี่ยวพันทั่วโลก ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมนี้เป็นตัวช่วยอธิบายได้อย่างดี ความต้องการของผู้บริโภคที่จะได้สินค้าที่มีความสามารถ ความรวดเร็ว และไว้วางใจได้ ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องลงทุนอย่างมาก ในการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ และการประกอบการผลิต ที่มีต้นทุนต่ำ แรงกดดันเหล่านี้ทำให้บริษัทเซมิฯต้องพัฒนา “โมเดลธุรกิจ” แบบข้ามพรมแดน เพื่อให้ตัวเองมีประสิทธิภาพในตลาดการแข่งขัน

ที่ผ่านมา ความต้องการเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆด้านเทคโนโลยีในตัวเซมิฯ มีสูงมาก อุตสาหกรรมเซมิฯได้พัฒนาไปสู่พื้นที่ใหม่ๆอย่างรวดเร็ว เช่น การประมวลผลแบบสมองมนุษย์ (brain-inspired computing) Internet of Things ระบบประสาทสัมผัสการประหยัดพลังงาน อุปกรณ์อัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

ที่มาภาพ : Global Trade Law Blog

ทำไม “ห่วงโซ่คุณค่า” กระจายทั่วโลก

รายงาน Beyond Borders อธิบายเรื่องทำไมห่วงโซ่คุณค่าของเซมิฯกระจายทั่วโลกว่า เซมิฯเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญต่อการทำงานในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภค อุปกรณ์สื่อสารกับประมวลผล และอุปกรณ์ในภาคเศรษฐกิจสำตัญๆเช่น การบิน รถยนต์ การเงิน การแพทย์ และการค้าปลีก คนใช้ประโยชน์จากเซมิฯต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทาน ที่มีการบูรณาการทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยธุรกรรมด้านการวิจัยพัฒนา การออกแบบ การประกอบการผลิต การทดสอบ และการกระจายผลิตภัณฑ์

การดำเนินงานแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านสูง แต่ละขั้นตอนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา เพราะเหตุนี้ สิ่งที่เป็น “ห่วงโซ่อุปทาน” (supply chain) จึงกลายเป็น “ห่วงโซ่คุณค่า” (value chain) เพราะแต่ละขั้นตอน ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อความได้เปรียบในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ระบบนิเวศของเซมิฯจึงประกอบด้วยซับพลายเอร์วัตถุดิบ นักออกแบบ ผู้พัฒนาการทำงานของแผงวงจร หรือ IP Cores ผู้สร้างอุปกรณ์การผลิต และการประกอบการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย

เซมิฯจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมไม่กี่ประเภท ที่ห่วงโซ่คุณค่าและระบบนิเวศมีความซับซ้อน เกี่ยวพันกัน และกระจายไปทั่วโลก บริษัทผู้ผลิตเซมิฯรายหนึ่งของอเมริกามีซับพลายเออร์มากถึง 16,000 แห่ง อุตสาหกรรมนี้จึงมีโครงสร้างที่อาศัยประโยชน์ จากทักษะที่หลากหลาย และความได้เปรียบที่หลากหลาย ที่ได้จากประเทศต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศการผลิต

แคนาดา ชาติในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ชำนาญในด้านการออกแบบเซมิฯ และการผลิตห่วงโซ่ขั้นตอนระดับสูง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และบางชาติในยุโรป เชี่ยวชาญด้านการสร้างอุปกรณ์การผลิต และวัตถุดิบ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย และบางชาติในเอเชียถนัดในด้านการประกอบการผลิต และการทดสอบ แคนาดา จีน เยอรมัน อินเดีย อิสราเอล สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อังกฤษ และสหรัฐฯ เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา
ในอดีตเมื่อทศวรรษ 1950 บริษัทเซมิฯจะดำเนินการผลิตในทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง และดำเนินงานการผลิตอยู่ในประเทศเดียว แต่ที่ผ่านมา โครงสร้างอุตสาหกรรมเซมิฯมีพัฒนา ที่ยังไม่หยุดนิ่ง โดยมีโมเดลธุรกิจที่กระจายกันหลากหลาย และเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ข้ามพรมแดน ตัวความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการแข่งขัน ทำให้เกิดพัฒนาการการผลิตดังกล่าว

การมีระบบนิเวศของเซมิฯที่กระจายทั่วโลก ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศและผู้ประกอบการ ที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า ประเทศจะได้ประโยชน์จากการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ได้เรียนรู้จากนวัตกรรม มีโอกาสจากการส่งออก และการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม
ตัวประโยชน์เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า รวมไปถึงขั้นตอนที่ไม่ใช่การวิจัยพัฒนา หรือการทำอุปกรณ์การผลิต ประเทศจะมีส่วนทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้นแก่อุตสาหกรรมเซมิฯ เมื่อมีแรงงานในประเทศที่มีทักษะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศนั้นสามารถยกระดับตัวเองในห่วงโซ่คุณค่าให้สูงขึ้น

ห่วงโซ่คุณค่าที่มีมูลค่าสูงขึ้น หมายถึงการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ที่มาพร้อมกับการยกระดับดังกล่าว ตัวบริษัทที่มีส่วนหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่า จะได้ประโยชน์จาก “ผลิตภาพ” (productivity) “ประสิทธิภาพจากต้นทุน” ที่เกิดจากความชำนาญการผลิตเฉพาะด้าน จากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น และองค์ความรู้ที่มีมากขึ้น

สำหรับยุทธศาสต์เวียดนามที่จะต้องการเจาะลึกในห่วงโซ่คุณค่าของเซมิฯนั้น มีทั้งปัจจัยที่เป็นบวก และที่เป็นลบ ที่เป็นบวกคือการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจมากขึ้น ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การย้ายการผลิตของบริษัทไฮเทค ที่เรียกว่า “จีน+1” ส่วนปัจจัยด้านลบคือนโยบายกีดกันการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีการนำเข้าเซมิฯ ที่ผลิตในต่างประเทศ เพื่อกดดันให้บริษัทไฮเทคย้ายการผลิตกลับมาสหรัฐฯ

เอกสารประกอบ
Overview of Vietnam Semiconductor Industry, Guotai Junan (VN) Research, July 2024.
Beyond Borders: The Global Semiconductor Value Chain, Semiconductor Industry Association, 2016.