ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 การบริหารราชการแผ่นดินยังอยู่ในรูปแบบจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา)
ขณะที่การตรวจสอบสมัยนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เนื่องจากยังขาดหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ขาดบุคลากรผู้ตรวจสอบ รวมถึงขาดองค์ความรู้ที่ใช้ในการตรวจสอบ
ด้วยเหตุนี้ การรั่วไหลของเงินแผ่นดิน ทรัพย์สินหลวงจึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ดี จากการค้นคว้าของผู้เขียนในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394–2411 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ตอนที่ 157 โปรดให้ชำระเจ้าพนักงานฉ้อพระราชทรัพย์ พบว่า มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจซึ่งปรากฏเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อพระราชทรัพย์
เรื่องมีอยู่ว่า วันเสาร์ที่ 22 เมษายน ปี พ.ศ. 2399 หลวงพิไชยวารี (หณุ) ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องพระยาสมบัตยาธิบาล กับจมื่นราชนาคา ซึ่งเป็นข้าราชการผู้รับผิดชอบเบิกจ่ายเหล็กหลวง โดยกล่าวหาว่าทั้งสองคนโกงกินเงินหลวงไปมากกว่า 5,000 ชั่ง (สมัยนั้นหนึ่งชั่งเท่ากับเงิน 80 บาท)
หลวงพิไชยวารี (หณุ) สังเกตเห็นความผิดปกติในการใช้จ่ายและปริมาณเหล็กที่เบิกออกมาใช้ในราชการ โดยปริมาณการเบิกจ่ายนั้นมีสูงเกินความจำเป็นอย่างผิดปกติ
หลวงพิไชยวารีเห็นว่า การเบิกจ่ายลักษณะนี้อาจเป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่เพื่อราชการ จึงร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อ “ชำระความ”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชโองการ ให้พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์เป็นผู้พิพากษา (ตระลาการ) ไต่สวนคดีนี้ให้ได้ความจริง
พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ หรือท่านวร บุนนาค บุตรชายคนโตของ “สมุหพระกลาโหม” เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ในฐานะ “ตระลาการ” ได้ตรวจสอบบัญชีเบิกจ่ายเหล็กจากกรมพระคลังในขวา เทียบกับบัญชีของกรมพระคลังมหาสมบัติ พบว่า มีการเบิกจ่ายเหล็กและเงินหลวง ดังนี้
* ปีระกา ตรีศก จ่ายเหล็ก 44,040 หาบ
* ปีจอ จัตวาศก จ่ายเหล็ก 51,550 หาบ
* ปีกุญ เบญจศก (10 เดือน) จ่ายเหล็ก 65,890 หาบ
* ปีชวด ฉศก เหล็ก 75,800 หาบ คิดเป็นเงิน 6,158 ชั่ง 15 ตำลึง (รวมค่าเหล็กและค่าถ่าน)
เมื่อรวมตัวเลขการเบิกจ่ายเหล็กในช่วง 3 ปี 8 เดือน พบว่า เบิกเหล็กรวม 237,280 หาบ คิดเป็นเงินหลวงที่จ่ายไป 18,133 ชั่ง 17 ตำลึง 3 สลึง
พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ซึ่งนับเป็นข้าราชบริพารที่ทรงไว้วางพระทัย ได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยเริ่มจากการเปรียบเทียบบัญชีเบิกจ่ายเหล็กจากท้องพระคลังมหาสมบัติ กับความต้องการใช้จริง
ผลการสอบสวนชี้ให้เห็นความผิดปกติชัดเจน กล่าวคือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเบิกเหล็กเกินความจำเป็น
เหล็กที่เบิกไปจากคลังหลวงทำให้หลวงสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล… จำนวนเงินนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสูญเสียของราชสำนัก แต่ยังทำให้เกิดคำถามถึงระเบียบการเบิกจ่ายของหลวงอีกด้วย
หลังจากที่พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ชำระความแล้วได้นำเรื่องเสนอต่อสมุหพระกลาโหม เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเห็นว่า พระยาสมบัตยาธิบาลและจมื่นราชนาคากระทำความผิดจริง
….ภาษาโบราณใช้ว่า “เจ้าพนักงานฉ้อพระราชทรัพย์ของหลวง”
เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ปลดทั้งสองคนออกจากตำแหน่ง และนำตัวไปขังคุก พร้อมทั้งยกเลิกกฎระเบียบการเบิกจ่ายแบบเดิม “สังคายนา” กฎระเบียบขึ้นใหม่เพื่อป้องกันการทุจริต
หลังจากนั้นเป็นต้นมา การเบิกจ่ายเหล็กของหลวงจึงเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ทำให้เงินหลวงที่ใช้จ่ายในแต่ละปีลดลงเหลือเพียงปีละ 600–700 ชั่ง ต่างจากเดิมที่ต้องจ่ายถึงปีละ 4,000–5,000 ชั่ง
กรณีการฉ้อพระราชทรัพย์ครั้งนี้ นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดการตรวจเงินแผ่นดินในอดีต ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ตั้ง “ออดิตออฟฟิศ” หรือออฟฟิศหลวง ในพระบรมมหาราชวัง
ผู้สนใจดูเพิ่มเติม พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394–2411 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ตอนที่ 157 โปรดให้ชำระเจ้าพนักงานฉ้อพระราชทรัพย์