
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
นายกฯเพิ่มงบฯ แก้น้ำท่วมจังหวัดละ 70 ล้านบาท เพิ่ม ‘Cash Rebate’ เป็น 30% ดึงต่างชาติถ่ายหนังในไทย มติ ครม.ไฟเขียว ‘โททาลฯ’ โอนสัมปทานปิโตรเลียมให้ ปตท.สผ. ลดภาษีที่ดินฯให้โรงผลิตน้ำประปา 50% ออก กม.คุมเข้มใบกระท่อม – ส่งออกลดค่าธรรมเนียมลง 50% เพิ่มค่าเลี้ยงดูบุตรผู้ประกันตนเดือนละ 1,000 บาท เริ่ม 1 ม.ค.ปีหน้า ยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก ‘AFTA’ ถึงสิ้นปี’68 ขึ้น ‘ทางด่วน’ ฟรี เริ่ม 26 ธ.ค.-2 ม.ค.ปี’68
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นางสาวแพทองธาร มอบหมายให้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ
เพิ่มงบฯ แก้น้ำท่วมจังหวัดละ 70 ล้านบาท
นายจิรายุ รายงานว่า การประชุม ครม. วันนี้เริ่มตั้งแต่ 9.00 น. และปิดประชุมเวลา 10.45 น. เนื่องจากนายกฯ มีภารกิจเดินทางไปประชุมเพื่อแก้ไขสถานการณ์และอนุมัติหลักการต่างๆ ให้ประชาชนในจังหวัดภาคใต้ ตามหมายกำหนดการนายกฯ จะเดินทางออกจากสนามบินดอนเมืองในเวลา 13.00 น. เพื่อไปจังหวัดนครศรีธรรมราช และหารือกับส่วนราชการต่างๆ และใช้การประชุมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom) เพื่อรับฟังสภาพปัญหาของแต่ละอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี โดยขอเน้นย้ำให้ไม่ต้องมารอรับ
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายกฯ ได้หารือกับ ศปช. ซึ่งยังคงประชุมทุกวันเวลา 9.00 – 12.00 น. และกรณีเร่งด่วนจะประชุมอีกครั้งช่วง 15.00 น. เพื่อออกเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ว่าจะมีฝนตกลงมาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2567 ซึ่งรัฐบาลโดย ศปช.ได้ออกเตือนประชาชนในจังหวัดภาคใต้มาตลอด โดยเฉพาะการให้ ศปช.ส่วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปแก้ไขปัญหา
“นายกฯ จะเดินทางไปในวันนี้เพื่อจะรับฟังปัญหา อะไรที่จะพิจารณาได้ตามอำนาจของนายกฯ และอำนาจของจังหวัด ซึ่งก่อนหน้านี้จังหวัดจะมีงบฉุกเฉินแค่ 20 ล้านบาท ก็จะมีการเพิ่มในที่ประชุม ครม. และมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการได้ทันทีทั้งหมด จังหวัดละ 70 ล้านบาท แต่ถ้า 70 ล้านบาทไม่พอ สามารถขออนุมัติผ่านกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ได้ทันที ก็เป็นการดำเนินงานของนายกฯ” นายจิรายุ กล่าว
ปรับ ‘Cash Rebate’ เป็น 30% ดึงต่างชาติถ่ายหนังในไทย
นายจิรายุ กล่าวถึงเรื่องการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยว่า หลังจากที่นายกฯ เดินทางไปนครลอสแอนเจลิสเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้พบผู้ผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของโลก และแจ้งว่า ที่ผ่านมาตลอด 1 ปีได้เข้ามาผลิตภาพยนตร์ หรือ ถ่ายทำในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของงประเทศไทยมากกว่า 38 เรื่อง ใช้เงิน 2 – 3 ล้านบาทต่อวัน หรือ คิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาทในการส่งเสริมด้านภาพยนตร์
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ยังพูดถึงเรื่องนี้ในการประชุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ APEC ที่ประเทศเปรู โดยได้พูดถึงการปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) ให้นักลงทุนที่เข้ามาผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทย จากเดิม 15-20 % เป็น 15 -30 % สำหรับการลงทุนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท รวมทั้งมีการเพิ่มเพดานจำนวนเงินที่คืน จากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่อง เป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง
“หมายความว่านักลงทุนที่ผลิตภาพยนตร์ สารคดีอะไรก็แล้วแต่ที่เข้ามาถ่ายทำในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะมีการคืนเงิน Cash Rebate เช่น ลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยหลายเรื่องรวมแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท อาจเงินคืนประมาณ 300 ล้านบาท ถือว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมาคึกคักในธุรกิจภาพยนตร์ในต่างประเทศ อย่างที่เราเคยเห็นภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวูดหลายเรื่องถ่ายทำในประเทศไทย คนก็อยากจะย้อนรอยเข้ามาชื่นชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย” นายจิรายุ กล่าว
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
ไฟเขียว ‘โททาลฯ’ โอนสัมปทานปิโตรเลียมให้ ปตท.สผ.
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มติอนุมัติให้โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ โอนสิทธิประโยชน์ และพันธะที่ถือครองอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 33.33 ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48 ให้แก่บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ พน. จะออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
-
1. กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้เสนออนุมัติการโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48 ตามที่โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมถือสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทานดังกล่าวในปัจจุบัน ได้แจ้งความประสงค์ขอโอนสิทธิประโยชน์ และพันธะในสัมปทานที่ถือครองอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 33.33 ให้แก่ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน และผู้ดำเนินงานในแปลงสำรวจดังกล่าวอยู่แล้ว (ถือครองสิทธิ ประโยชน์ และพันธะอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 66.67) ทั้งนี้ เมื่อการโอนสัมปทานตามที่เสนอขอในครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว จะมีผลทำให้ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานเพียงรายเดียวของสัมปทานนี้
2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ขัดข้องต่อการโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/ แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48 ตามที่ พน. เสนอ
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติการโอนสัมปทานปิโตรเลียมอีก 2 แปลง คือ แปลงแรก สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2549/76 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48 ตามที่ บริษัท พลังโสภณ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร่วมถือสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทานแปลงดังกล่าว ในปัจจุบันได้แจ้งความประสงค์ขอโอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทานที่ถือครองอยู่ ในสัดส่วนร้อยละ 11 ให้แก่ บริษัท แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานในแปลงสำรวจดังกล่าวอยู่แล้ว (ถือครองสิทธิ ประโยชน์ และพันธะอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 64) ทั้งนี้ การดำเนินการโอนสัมปทานดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อค่าภาคหลวงที่ภาครัฐได้รับแต่อย่างใด
ส่วนแปลงที่ 2 ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด และเมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2578 เนื่องจากสัมปทานดังกล่าวจะสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในวันที่ 23 ตุลาคม 2568 และผู้รับสับสัมปทานได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัมปทานอย่างครบถ้วน และได้ยื่นคำขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ตามขั้นตอน ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เจรจากับผู้รับสัมปทานเกี่ยวกับผลประโยชน์พิเศษเพิ่มเติมจนได้ข้อยุติแล้ว โดยคิดเป็นมูลค่า 39.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ คาดว่าการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว จะก่อให้เกิดเป็นรายได้แก่รัฐตลอด การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมประมาณ 752 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ คณะกรรมการปิโตรเลียม (ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2566/610 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 ออกไปอีก 10 ปี (ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2568 – 23 ตุลาคม 2578) แล้ว
ลดภาษีที่ดินฯให้โรงผลิตน้ำประปา 50%
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ (กค.) เสนอ โดยกำหนดให้ที่ดินเป็นที่ตั้งของโรงผลิตน้ำประปา และโรงผลิตน้ำประปา รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผลิตน้ำประปา ได้รับลดภาษีในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต้องเริ่มดำเนินการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 อันจะทำให้ อปท. สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาให้แก่กิจการผลิตน้ำประปาซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยรายงานว่าการดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้ อปท. สูญเสียรายได้ประมาณ 54.45 ล้านบาทต่อปี แต่จะเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาให้แก่กิจการผลิตน้ำประปาซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมการดำเนินกิจการผลิตน้ำประปาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการผลิตน้ำประปายังคงมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ตั้งของอาคารซ่อมและบำรุงรักษาภายในโรงงานผลิตน้ำ โดยไม่ได้รับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมาตรการดังกล่าว
ออก กม.คุมเข้มใบกระท่อม – ส่งออกลดค่าธรรมเนียม 50%
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ลด และยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตใบแทนอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม พ.ศ. … รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ มีรายละเอียดดังนี้
-
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ลด และยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตนําเข้า ใบอนุญาตส่งออก การออกใบแทนใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต รวมทั้งลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการนําเข้า หรือส่งออกใบกระท่อม
2. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตนําเข้า หรือ ส่งออกใบกระท่อม พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตนําเข้า หรือ ส่งออกใบกระท่อม ซึ่งจะเป็นมาตรการในการกำกับดูแลการนําเข้า หรือ ส่งออกใบกระท่อม
นายคารม กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เป็นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตนำเข้า ใบอนุญาตส่งออก การออกใบแทนใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ลด และยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้า หรือส่งออกใบกระท่อม ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 5 วรรคสอง มาตรา 6 มาตรา 10 มาตรา 13 มาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 (เป็นกฎหมายใหม่ภายหลังจากการถอดพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดเรื่องดังกล่าว ไว้ในกฎกระทรวง สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. ร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตพืชกระท่อม (มีอายุ 5 ปี) กรณีการนําเข้า ส่งออก การออกใบแทนใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาต เช่น
-
1) ใบอนุญาตนําเข้าพืชกระท่อม ค่าธรรมเนียม ฉบับละ 5,000 บาท
2) ใบอนุญาตส่งออกใบกระท่อม ค่าธรรมเนียม ฉบับละ 5,000 บาท
3) ใบแทนใบอนุญาต ค่าธรรมเนียม ฉบับละ 1,000, บาท
4) การต่ออายุใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น และลดค่าธรรมเนียมการส่งออกใบกระท่อมลงกึ่งหนึ่งแก่ผู้ส่งออกใบกระท่อม ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และลดค่าธรรมเนียมการส่งออกใบกระท่อมลงกึ่งหนึ่งแก่ผู้ส่งออกใบกระท่อม ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน และให้ยกเว้น ค่าธรรมเนียมการส่งออกใบกระท่อมแก่ผู้ส่งออกใบกระท่อมซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนและหน่วยงานของรัฐตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
2. ร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้า หรือส่งออกใบกระท่อม ดังนี้
-
1) กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นคําขอ ใบอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เช่น เป็นหน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้อนุญาต นิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลซึ่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่กำหนด เช่น มีสัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือ คนเสมือนไร้ความสามารถ และเป็นกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วน หรือ ผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 หรือเป็นวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชนที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นผู้ได้รับมอบหมายกิจการแทนซึ่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด เช่น ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาต และไม่เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าด้วยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติพืชกระท่อมฯ
2) การยื่นคําขอและต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคําขออนุญาตต่อผู้อนุญาต (เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่ ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่นด้วยตนเอง พร้อมด้วยข้อมูลเอกสาร หรือหลักฐานตามที่กำหนด เช่น เลขประจำตัวประชาชน ในกรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้ขออนุญาต ชื่อและเลขทะเบียนนิติบุคคล ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต
3) ข้อยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตนําเข้าหรือส่งออก ได้แก่ การนําใบกระท่อมติดตัวเข้ามาใน หรือ ออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อบริโภคเป็นการส่วนตัว (สำหรับบริโภคเล่น เช่น ลักษณะคล้ายเคี้ยวหมากฝรั่ง) หรือ บริโภคเพื่อบำบัดรักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยของผู้ซึ่งเดินทางระหว่างประเทศ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตนําเข้า หรือ ส่งออก ทั้งนี้ ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด (ใบของพืชกระท่อมจำนวนไม่เกิน 50 ใบ หรือมีน้ำหนักใบของพืชกระท่อมไม่เกิน 100 กรัม และน้ำต้มใบของพืชกระท่อม จำนวนไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร)
เพิ่มค่าเลี้ยงดูบุตรผู้ประกันตนเดือนละ 1,000 บาท เริ่ม 1 ม.ค.ปีหน้า
นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทน ในกรณีสงเคราะห์บุตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกันตน ในวันที่ 1 มกราคม 2568
นายคารม กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อเป็นการส่งเสริมการเพิ่มอัตราการมีบุตรของผู้ประกันตน และเป็นการบรรเทาภาระการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
-
1. เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน (เดิม เหมาจ่ายในอัตรา 800 บาท ต่อเดือนต่อบุตร 1 คน)
2. กำหนดให้มีผลใช้บังคับสำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีแตรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ไฟเขียว ศธ.ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น คกก.ยูเนสโก
นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2572 (ค.ศ. 2025 – 2029) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) หรือ ยูเนสโก (คณะกรรมการบริหารฯ) ระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2572 (ค.ศ. 2025 – 2029) ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารฯ รวม 5 วาระ (วาระล่าสุดระหว่างปี 2562 – 2566 โดยครบวาระการเป็นสมาชิก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566) และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกในคณะกรรมการบริหารฯ ในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 43 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568
ทั้งนี้ การลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารฯ เป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้รัฐสมาชิกของยูเนสโกเห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมในการบริหาร การดำเนินภารกิจ โครงการ และงบประมาณของยูเนสโกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสถานะและบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกของยูเนสโก และกระชับความสัมพันธ์กับรัฐสมาชิกเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้กรอบยูเนสโกของประเทศไทย ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารฯ ไม่มีการจัดทำความตกลงขึ้นใหม่ จึงไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย
กำหนดโควตาต่างชาติขอมีถิ่นที่อยู่ในไทย ประเทศละไม่เกิน 100 คน/ปี
นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
นายคารม กล่าวว่า ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทยตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการกำหนดจำนวนคนต่างด้าว ซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเป็นไปตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดจำนวนคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปี ประเทศละไม่เกิน 100 คนต่อปี และสำหรับคนไร้สัญชาติไม่เกิน 50 คนต่อปี ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวเป็นการออกประกาศรายปี และดำเนินการทุกปี
ทั้งนี้ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในแต่ละปี สามารถยื่นคำขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป เมื่อคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแล้ว ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อพำนักอยู่ต่อเป็นการชั่วคราวในแต่ละปีอีก และมีสิทธิยื่นคำขอแปลงสัญชาติให้เป็นสัญชาติไทยได้ รวมไปถึงบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรโดยเกิดจากการสมรสของบิดามารดา ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร บุตรนั้นย่อมมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยตามหลักดินแดนอีกด้วย อันเป็นการส่งเสริมให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศไทย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุน อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวมีความมั่นคงและอบอุ่น การให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแก่คนต่างด้าว จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย
ขยายเวลาจ่ายเงินสมทบ สปส.ผ่าน ‘e – Payment’ ไปอีก 7 วัน
นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเสริมเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดเวลา กรณีนายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ และการนำส่งเงินสมทบ ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตามที่ กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) ออกไปอีก 7 วันทำการ นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ สำหรับค่าจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 ถึงเดือนธันวาคม 2572 เป็นระยะเวลา 60 เดือน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
เปิดศาลแขวงจังหวัดร้อยเอ็ด
นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการรวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ ดังนี้
-
1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน เขตอำนาจ และวันเปิดทำการศาลแขวงในจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีศาลแขวงสุวรรณภูมิ ในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีเขตอำนาจในอำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอพนมไพร อำเภอโพนทราย อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอหนองฮี และกำหนดให้เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด สำหรับคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในท้องที่อำเภอจตุรพักตรพิมาน อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอธวัชบุรี อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทอง อำเภอเมยวดี อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเมืองสรวง อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอเสลภูมิ อำเภอหนองพอก และอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
ยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก ‘AFTA’ ถึงสิ้นปี’68
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2568 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
นายอนุกูล กล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2568 พ.ศ. …. เป็นการขยายระยะเวลาการนำเข้าข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) สำหรับปี 2568 พิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 1005.90.99 รหัสสถิติ 001 ซึ่งมีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้นำเข้าจะต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบการนำเข้า เช่น หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) หรือหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) เอกสารที่ปรากฏคำรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Origin Declaration) ซึ่งจัดทำโดยผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง (Certified Exporter) ได้แก่ ใบกำกับสินค้า (Commercial Invoice) หรือ ใบเรียกเก็บเงินค่าสินค้า (Billing Statement) และหนังสือรับรองหรือเอกสารหลักฐานอื่นใด ซึ่งแสดงว่าสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ หรือ หน่วยงานอื่นที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองดังกล่าวของประเทศผู้ส่งออก ผู้นำเข้าจะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ 0 ในกรณีองค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้า ต้องนำเข้าระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์
ทั้งนี้ ต้องนำเข้าทางด่านศุลกากรที่มีด่านตรวจพืชและด่านกักสัตว์ หรือมีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจของด่านดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ และให้เสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำเข้าในอัตราเมตริกตันละ 0 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 อันเป็นการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร ซึ่งเป็นมาตรการที่ต่อเนื่องจากมาตรการตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2566 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยคงนโยบายและมาตรการนำเข้าเช่นเดียวกับปี 2567 เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศออกสู่ตลาดน้อย ตลอดจนเพื่อให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยผูกพันไว้
ขึ้น ‘ทางด่วน’ ฟรี เริ่ม 26 ธ.ค.-2 ม.ค.ปี’68
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ตามประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และรับทราบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2568 ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางบนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่และช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงหยุดเทศกาลปีใหม่ของปี พ.ศ. 2568 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2567 – วันที่ 2 มกราคม 2568 ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 207.8645 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ โดยสามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ประมาณ 448 ล้านบาท ซึ่งประเมินจากมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถและมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง
ตั้ง ‘รณรงค์ พูลพิพัฒน์’ เลขาธิการ สคบ.
นายอนุกูล กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ดังนี้
-
1. นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล เป็นประธานกรรมการ
2. นายพณิชย์ วิทยาภัทร์ (ด้านการบริหาร) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
3. นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา (ด้านผังเมือง) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
4. นางสาวสมฤดี จิตรจง (ด้านการท่องเที่ยว) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุดสันต์ สุทธิพิศาล (ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
6. นางอังคณา อุทัยแสงชัย (ด้านสิ่งแวดล้อม) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
2. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายราชันย์ ซุ้นหั้ว เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง แทนกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
3. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 4 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้
-
1. นางสุพิชชา จันทรโยธา
2. นางสุภา หารหนองบัว
3. นายสมหมาย เตชวาล
4. นางบุษบา ฤกษ์อำนวยโชค
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติรับโอน นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว
5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายปารเมศ โพธารากุล เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์)]
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
6. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จำนวน 14 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ดังนี้
-
1. นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาศิลปศาสตร์
2. นายคณิต วัฒนวิเชียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาวิทยาศาสตร์
3. นายระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขารัฐศาสตร์
4. นายวินัย สมประสงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาเกษตรศาสตร์
5. นายสมชาย รัตนชื่อสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขานิติศาสตร์ (ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค)
6. นายสมหมาย เตชวาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาภูมิศาสตร์
7. นางสาวกริชผกา บุญเฟื่อง สาขานิติศาสตร์
8. พันตำรวจเอก ประเวศน์ มูลประมุข สาขารัฐศาสตร์
9. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ สาขาเกษตรศาสตร์
10. นายสถิระ อุดมศรี สาขาเกษตรศาสตร์
11. นางพรพิณี บุญบันดาล สาขาเกษตรศาสตร์
12. นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ สาขาประวัติศาสตร์
13. นางธิติมา มิ่งโมฬี สาขาวิทยาศาสตร์
14. นางสาวศศิวิมล มีจรูญสม สาขาวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เพิ่มเติม