เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
มีเรื่องเล่าว่า วัยรุ่นคู่หนึ่งนัดกินข้าวกันเป็นครั้งแรกในร้านอาหารบนตึกสูง หลังแนะนำตัวเพิ่มเติมจากข้อความออนไลน์เสร็จ ก็ได้รับคำถามจากฝ่ายหนึ่งว่า “อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้” ผมเองได้ยินแล้วก็ไม่แน่ใจว่า ใช่คำถามปกติที่คนทุกวันนี้ถามกันหรือเปล่า และก็ไม่แน่ใจอีกว่า ผู้ถามคาดหวังคำตอบสุดแสนวิเศษพรรค์ไหน แต่ที่แน่ๆ คำตอบดาษดื่นอย่าง “เงิน” “เขาจ้างมา” คงไม่ใช่อะไรที่เหมาะสมในสถานการณ์นี้
คงจะเป็นคนจำพวกใหญ่ๆ ประเภทเดียวกันกับที่ถามว่า “What keeps you up at night?” (ดึกๆ ดื่นๆ คุณทำอะไรถึงได้ไม่หลับไม่นอน) อะไรดีล่ะ เสียงหมาข้างบ้านเห่า ไม่ก็ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์กระมัง [“Making the world a better place” (ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น) คือคำตอบที่ถูกต้อง]
แรงบันดาลใจกลายเป็นยาครอบจักรวาลที่ไลฟ์โค้ชทุกคนท่องจนขึ้นสมอง หลังสังคมพบความจริงที่ว่า หน้าที่การงาน ความหวังที่จะมีอนาคต รวมไปถึงโชคชะตาวาสนา ไม่อาจดลบันดาลให้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้มีชีวิตเช่นที่วาดหวังไว้ได้
ทุกอย่างจึงต้องเริ่มต้นที่แรงบันดาลใจ เพราะเราไม่อาจคาดหวังการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดๆ ได้ ซึ่งพอคิดเช่นนี้แล้ว เราก็ยิ่งถอยห่างจากความหวังที่จะลงมือเปลี่ยนโครงสร้างที่เป็นอยู่
ผมเคยรู้จักคนคนหนึ่งในแวดวงสื่อ (ซึ่งเป็นแวดวงที่เชื่อมั่นศรัทธากับคำว่า “แรงบันดาลใจ” เป็นพิเศษ) ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อ “ตามหาแรงบันดาลใจ” เป็นเวลา 2 ปี โชคดีที่ทางบ้านมีธุรกิจเป็นเงินถุงเงินถัง นายคนนี้จึงไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับแรงบันดาลใจนามธรรมที่ตามหาอยู่ การตามหาแรงบันดาลใจโดยนัยหนึ่งแล้วจึงเป็นเรื่องที่มีราคาแพง มิหนำซ้ำ หากมองในมุมของลากองสิ่งนี้ก็ควรจะนับได้ว่าเป็น surplus jouissance เป็นแฟนตาซีส่วนเกินจากความพึงพอใจปกติที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน เป็น “หมอนรองทางจิตวิทยา” นั่นเอง
ในสังคมที่วาทกรรมเรื่องความสำเร็จและแรงบันดาลใจเป็นกระแสหลัก (แม้ผู้ที่นิยมใช้คำเหล่านี้จะนิยามว่า ตัวเองแตกต่างหรือเป็นแกะดำก็ตาม) การยัดเยียดให้ทุกคนต้องมีแรงบันดาลใจ นอกจากกำลังผลักขยายให้เกิดช่องว่างทางชนชั้น (ระหว่างกลุ่มคนที่มีต้นทุนเพียงพอจะมีแรงบันดาลใจและตามหามันเท่าไรก็ได้ กับกลุ่มคนที่แรงบันดาลใจเป็น placebo ในการดำรงชีวิตประจำวันซ้ำซากจำเจต่อไป) สิ่งนี้กำลังสร้างภาพลวงซึ่งดูเหมือนจะเป็นแรงผลักดัน แต่แท้จริงแล้วกลับตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม
ภาพของเศรษฐีรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จถือแก้วกาแฟในมือ (จำเป็นต้องเป็นแก้วกาแฟ เนื่องจากแก้ววิสกี้นั้นล้าสมัยไปแล้ว ทั้งยังไม่ให้ภาพลักษณ์ของนักธุรกิจไฟแรงบ้างาน) พร้อมบทสาธยายคล้ายๆ กัน ทำนองให้มีแรงบันดาลใจ กำลังสร้างแรงกดดันให้คนทั่วๆ ไปที่อันที่จริงก็มีชีวิตปกติสุข มีเงินพอใช้แต่ละเดือน และใช้ชีวิตตามครรลองคลองธรรมสามัญ ต้องทำอะไรพิเศษพิสดาร เพื่อยืนยันคุณค่าของการมีอยู่ในโลกสมัยใหม่ และหากไม่ทำเช่นนั้นคุณก็จะกลายเป็นเพียงคนทั่วๆ ไป ไม่แตกต่าง ไม่โดดเด่น ไม่เป็นที่น่าภาคภูมิใจ และไม่มีอะไรจะโพสต์ลงเฟซบุ๊กในท้ายที่สุด
แรงบันดาลใจ หรือภาพขายฝันกันแน่
ในช่วงหลังโควิดมานี้ นอกจากอาศัยอยู่บนโลกโซเชียลมีเดียวงจำกัดแล้ว ยังพบว่า แทนที่จะเปิด news feed แล้วไถอย่างไม่มีวันสิ้นสุดนั้น ผมมีความสุขกับการไปเยี่ยมบ้านเพื่อนเป็นครั้งคราว ผ่านไปเปิดดูเฟซบุ๊กเฉพาะของคนที่เราสนิทหรืออยากปฏิสัมพันธ์ด้วย สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความสุขสงบในชีวิต ทั้งชีวิตในเชิงคุณภาพ และชีวิตในเชิงตัวเลข จากผลลัพธ์ screen time ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่พ้นจะเห็นคลิปลูกชายมหาเศรษฐีเล่าเรื่องแรงบันดาลใจของตัวเองว่า ที่ประสบความสำเร็จจนมีวันนี้ได้ (ไม่ใช่เพราะพ่อกูรวยสัสๆ) แต่เพราะครอบครัวส่งไปเป็นเซลส์ในห้างตั้งแต่วัยสิบต้นๆ จึงได้สั่งสมประสบการณ์ ความสามารถ และแรงบันดาลใจให้ปัจจุบันกลายเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่สื่ออวยเช้าเย็น
ให้ตายเถอะ วัยสิบขวบต้นๆ ผมยังอ่านขายหัวเราะอยู่เลย เหตุนี้นี่เอง ชีวิตปัจจุบันจึงได้กระเบียดกระเสียนปานนี้
ละครคุณธรรมแห่งเรื่องราวของเศรษฐีวัยรุ่นที่กลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับคนรุ่นใหม่ การ “เริ่มต้นจากศูนย์” “มีชีวิตสุดแสนจะล้มเหลวเละเทะในช่วงวัยรุ่น แต่เกิดคิดได้ ลงมือทำ และมีวินัย” หรือ “ทำงานหนักจนสำเร็จ” หากเมื่อมองลึกลงไป เรามักพบว่า ศูนย์ที่ว่านี้คือ ศูนย์กลางแห่งทรัพยากรและต้นทุนอลังการ ที่ครอบครัว ตลอดจนแวดวงสังคม สะสมไว้มหาศาลและส่งต่อมายังรุ่นต่อรุ่น แรงบันดาลใจเป็นเพียงผงซักฟอก ให้คนเหล่านี้บิดเบือนความจริงว่า พวกเขากล้าหาญกว่า กล้าลงมือทำมากกว่า มีวินัยสูงส่งกว่า ทำงานหนักกว่าตาสีตาสาทั่วไป ที่วันๆ เอาแต่จน เครียด กินเหล้า (และดูดพอด) ไม่ยอมออกเดินทางตามหาความฝันและอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง
ในแง่หนึ่ง แรงบันดาลใจก็เป็นเครื่องกระตุ้นให้คนจำนวนน้อยริเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่คนจำนวนน้อยนิดเหล่านี้ ถูกเอาไปใส่เครื่องขยายเสียงกำลังขยายมหาศาลเพื่อบอกสังคมว่า ชีวิตเราไม่ต้องการอะไรเลย (หลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมเป็นธรรม อากาศบริสุทธิ์ ค่าแรงที่ไม่ใช่แค่ขึ้นตามเงินเฟ้อ ฯลฯ) นอกจากแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ เราจึงเชิดชูนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่กี่คนในโลก ราวกับคาดหวังให้เนตรนารีทุกคนโตขึ้นไปเป็นฟลอเรนซ์ ไนติงเกล สิ่งนี้เองทำให้เราไม่สนใจโครงสร้างทางสังคมที่โยงใยซับซ้อน แต่มีผลกับคนจำนวนมหาศาลเป็นวงกว้าง (เนื่องด้วยโครงสร้างที่ว่านี้ ไม่ค่อยจะมีผลกับคนจำนวนน้อยข้างต้น คนจำนวนน้อยข้างต้นและสื่อกระแสหลักจึงไม่ค่อยพูดถึงมัน)
แรงบันดาลใจที่แท้จริงคืออะไร ผมไม่แน่ใจและไม่คิดว่าจำเป็นต้องมี เช่นเดียวกับที่ว่า คนเราไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จ และไม่จำเป็นต้องมี growth mindset บนการยอมรับความจริงประการหนึ่งที่ว่า เราแต่ละคนนั้นแตกต่างหลากหลาย ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ชีวิตคนไม่ใช่กาแฟที่จะเลือกได้ว่า วันนี้ใส่นม พรุ่งนี้ใส่ครีม เราทุกคนล้วนมาเป็นแพ็กเกจ มีชอบ มีไม่ชอบ มีถูกใจ มีผิดหวัง มีน่าตื่นเต้น มีซ้ำซากจำเจเป็นปกติวิสัย ไม่ใช่เรื่องต้องกดดันตัวเอง และนิยามการประสบความสำเร็จของคนคนหนึ่งย่อมแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีแรงบันดาลใจไม่ใช่ทั้งหมดของโลกใบนี้ โลกซึ่งมีองค์ประกอบแวดล้อมอีกเกินจะจินตนาการ การย่อความซับซ้อนของโครงสร้างทั้งหมดเหลือเพียงแรงบันดาลใจ ที่จะทำให้คนคนหนึ่งสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย หน้าที่ของเราไม่ใช่การเคลิบเคลิ้มหลงใหลไปกับสิ่งที่มีโอกาสถูกยากกว่าหวยนี้ แต่คือการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า ภาพลวงตาเหล่านี้คือแรงบันดาลใจหรือของเล่นคนรวย
มีงานวิจัยและสถิติหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า “แรงบันดาลใจ” หรือความพยายามส่วนบุคคล ไม่ได้มีผลกระทบเท่ากับโครงสร้างพื้นฐานหรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จ โดยเฉพาะในกรณีของคนทั่วไปและคนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน
งานวิจัยของ Raj Chetty และทีมจาก Harvard University พบว่า “ความสามารถในการขยับฐานะทางสังคม” (social mobility) ในสหรัฐอเมริกานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านโครงสร้าง เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การดูแลสุขภาพ และความปลอดภัยในชุมชน มากกว่าความพยายามส่วนบุคคล หรือแรงบันดาลใจแต่เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น ในเมืองที่มีระบบโรงเรียนที่ดีและโอกาสทางเศรษฐกิจสูง เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าพื้นที่ที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน
ข้อมูลจาก OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) แสดงว่า การที่เด็กมีครูที่มีคุณภาพ และการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ที่ดี มีผลต่อความสำเร็จของพวกเขามากกว่าแรงจูงใจส่วนตัว ยกตัวอย่าง นักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้น้อยในประเทศที่มีระบบการศึกษาเท่าเทียม เช่น ฟินแลนด์ มีโอกาสประสบความสำเร็จทางวิชาการสูงกว่าประเทศที่การศึกษาไม่ทั่วถึง เช่น ประเทศไทย
งานวิจัยจาก Stanford Center on Poverty and Inequality ระบุว่า คนที่มาจากชนชั้นสูงมักมี “ทุนทางสังคม” (social capital) ที่ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงโอกาส เช่น การได้งานในบริษัทที่ดี หรือการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งคนที่ขาดเครือข่ายเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าจะมีแรงบันดาลใจมากแค่ไหนก็ตาม เช่นเดียวกับคนที่มีพ่อแม่ทำงานในตำแหน่งบริหารหรือเป็นเจ้าของธุรกิจ มีโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพมากกว่าคนที่เริ่มต้นจากครอบครัวแรงงาน
รายงานจาก World Bank ระบุว่า คนที่เติบโตในครอบครัวที่มีทรัพย์สิน เช่น บ้านหรือที่ดิน มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งในอนาคตได้สูงกว่าคนที่ไม่มีทรัพย์สินใดเลย การมีทรัพย์สินช่วยให้ครอบครัวลงทุนในการศึกษาของลูกๆ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต ในขณะที่คนที่ไม่มีทรัพย์สินต้องเผชิญกับความเสี่ยงและข้อจำกัดมากกว่า
งานศึกษาจาก Brookings Institution พบว่า การสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากรัฐ เช่น การให้ทุนการศึกษา การประกันสุขภาพ และโครงการช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีผลต่อการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำมากกว่าการกระตุ้นให้คนทำงานหนักหรือมีแรงบันดาลใจ ตัวอย่างที่สำคัญคือ โครงการ Head Start ในสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้เด็กยากจนได้รับการศึกษาก่อนวัยเรียน ส่งผลให้พวกเขามีโอกาสเรียนต่อและทำงานที่ดีขึ้นในอนาคต
โดยสรุปแล้ว แรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตส่วนบุคคลและเป็นเรื่องของปัจเจก แต่ในบริบทของความสำเร็จเชิงโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจ การมีแรงบันดาลใจเพียงอย่างเดียว นอกจากจะไม่สามารถเอาชนะข้อจำกัดที่เกิดจากโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียมได้แล้ว ยังทำให้เราหลงมัวเมากับวาทกรรมมอร์ฟีนนี้ด้วย การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเข้าถึงทรัพยากร และความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน คือสิ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ “แรงบันดาลใจ” ที่เราแต่ละคน (หากจะ) มีนั้น มีความหมายและผลลัพธ์อย่างแท้จริง
ทุกอย่างไม่ได้เริ่มต้นด้วยแรงบันดาลใจอย่างที่เขาหลอกลวง
สวัสดีปีใหม่ครับ