เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
เมื่อเร็ว ๆ งานวิจัยของ Pew Research Center รายงานว่า ประเทศไทยครองอันดับหนึ่งในโลกที่ประชาชนใช้รถมอเตอร์ไซค์มากที่สุด โดย 18 ล้านครอบครัว จะมีรถมอเตอร์ไซค์รวมกันอย่างน้อย 15 ล้านคัน (ประเทศที่มีการใช้รถมอเตอร์ไซค์มากที่สุดตามสัดส่วนของจำนวนครัวเรือน ได้แก่ ไทย 87%, เวียดนาม 86%, อินโดนีเซีย 85%, มาเลเซีย 83%, จีน 60%)
โดยงานวิจัยระบุว่า เหตุที่คนไทยจำใจต้องใช้ยานพาหนะนี้เนื่องจากระบบการบริการขนส่งสาธารณะที่ล้มเหลว (รถน้อย-รอนาน-บริการแย่) ความไร้ประสิทธิภาพของระบบขนส่งมวลชนที่มีอย่างจำกัดและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แม้แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่มีเพียบพร้อมทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ แต่ไม่สามารถพาไปส่งถึงใกล้บ้านที่มักจะอยู่ตรอกซอกซอยกระจายอยู่ทั่วเมืองอย่างนับไม่ถ้วน
ยิ่งในต่างจังหวัดที่ความพร้อมด้านขนส่งสาธารณะมีน้อยและด้อยประสิทธิภาพกว่ากรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่ง นั่นจึงทำให้ผู้คนทั่วประเทศจำต้องใช้มอเตอร์ไซค์ที่ทั้งสะดวก แถมมีราคาที่พอจับต้องได้ เรียกได้ว่าซื้อง่ายขายคล่อง มอเตอร์ไซค์จึงกลายเป็นพาหนะหลักของครอบครัวไทย ซึ่งไม่น่าแปลกใจ ที่ไทยมีการจดทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์มากกว่า 22 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 กว่า 4.5 แสนคัน
ดังนั้นสิ่งตามมาที่ยากจะปฎิเสธได้ก็คือ คนไทยตายเพราะอุบัติเหตุจราจรปีละ 22,491 คน โดยเหตุจากการใช้มอเตอร์ไซค์ ไม่ต่ำกว่าปีละ 16,000 คน และที่น่าตกใจก็คือผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวัย 5 ขวบ – 29 ปี (จากรายงานของ Global Status Report On Road Safety 2018)
แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในทุก ๆ ปีจะมีเด็กไทยวัยต่ำกว่า 15 ปี ต้องสังเวยชีวิตบนท้องถนนถึงปีละกว่า 1,300 คน โดยราว 80 เปอร์เซ็นต์ หรือ กว่า 1,000 คน ที่ต้องเสียชีวิตเพราะการใช้มอเตอร์ไซค์นั้น มีทั้งที่ซ้อนท้ายและขับขี่เอง ซึ่งไม่มีสิทธิขับขี่ตามกฎหมาย เพราะอายุยังไม่ถึง 15
ประเทศไทยมี พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนอายุ 15 – 17 ปี ขับขี่เครื่องยนต์ไม่เกิน 110 ซีซี มานานกว่า 40 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยปล่อยปละละเลยเรื่องนี้ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์มาโดยตลอด
จากการสำรวจของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์เป็นถึง 58% โดยเริ่มหัดขับอายุน้อยสุด 7 ขวบ คนที่สอนให้เด็กน้อยขี่มอเตอร์ไซค์โดยมากก็คือคนเป็นพ่อแม่นั่นเอง
ทั้ง ๆ ที่แทบทุกประเทศในโลกนี้ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีขับขี่มอเตอร์ไซค์ (หรือแม้แต่วัยรุ่น 16-18 ที่หลายประเทศอนุญาตให้สอบใบขับขี่ได้ แต่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดอย่างมากมาย แม้ว่าสภาพถนนหนทางจะปลอดภัยกว่าบ้านเราก็ตาม) เหตุที่โลกนี้ห้ามเด็กขับขี่รถยนต์ โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ นอกจากวุฒิภาวะและประสบการณ์แล้ว ยังรวมถึงพัฒนาการด้านการประสานงานของกล้ามเนื้อ การมองเห็น การแยกแยะภาพเคลื่อนไหว เพื่อการตอบสนองอย่างฉับไว และการตัดสินใจภาวะฉุกเฉินยังไม่สมบูรณ์ก่อนอายุ 18 – 25 ปี และแนวโน้มพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เช่น การขับขี่ตัดหน้า การแซงทางโค้ง การขับขี่รถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ฯลฯ รวมถึงความเสี่ยงในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาก่อนขับขี่ และไม่นิยมใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เช่น เด็กไทยวัยไม่เกิน 15 ปี ใส่หมวกกันน็อคขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายเพียง 7 เปอร์เซนต์เท่านั้น
จากการวิจัยศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบว่า
1. เสี่ยงตั้งแต่แรกเกิด
โดยเฉพาะคุณแม่หลังคลอดที่ต้องอุ้มทารกน้อยซ้อนมอเตอร์ไซด์ที่มีพ่อเป็นผู้ขับขี่ ทั้งที่ทารก (ตั้งแต่แรกเกิด – เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี) ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะให้โดยสารรถมอเตอร์ไซค์ สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนก็คือ เพิ่มการวิจัยทางหลักกลศาสตร์เพื่อผลิตนวัตกรรมป้องกันการบาดเจ็บที่เหมาะสมสำหรับเด็กทารก เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน (2-6 ปี) และให้โดยสารได้เฉพาะเมื่อเด็กสามารถเหยียบบนที่วางเท้าได้ และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยมาตรฐานเดียวกับสากลโลก เช่น ที่นั่งนิรภัย (Car seat) หรือระบบยึดเหนี่ยวอื่น ๆ ร่วมกับการจำกัดความเร็วรถ เพื่อการเดินทางอย่างปลอดภัยของเด็กวัยนี้ในอนาคต และรวมทั้งการสวมหมวกนิภัยสำหรับเด็กสำหรับ 2 ขวบขึ้นไป
2. ขับขี่เป็นตั้งแต่เด็ก
ตามกฎหมายเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่สามารถมีใบขับขี่ได้ แต่สิ่งที่พวกเราเห็นกันเป็นปกติก็คือ เด็กอายุน้อยกว่า 15 (แม้เพียง 8-9 ขวบก็เคยพบเห็น) ขับขี่กันได้โดยไม่มีใบขับขี่
ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการควรมีหลักสูตรการอบรมให้ความรู้ด้านจราจรปลอดภัยให้แก่นักเรียน ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการขับขี่ที่ปลอดภัยฝึกการรับรู้ความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยหลักสูตรอาจแบ่งเป็น 2 ช่วงวัยเพื่อความเหมาะสมก็ได้ (เช่นในเด็กอายุ 13 – 15 ปี และ เด็กอายุ 16 – 18 ปี)
เพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัยสำหรับวัยรุ่น เช่น ในช่วง 2-3 เดือนแรกของการขับขี่จะต้องมีผู้ใหญ่คอยควบคุมดูแลและเพิ่มความปลอดภัยด้วยการกำหนดถนนที่ขับขี่ได้, ห้ามขับกลางคืน, ไม่ให้มีเด็กหรือเพื่อนซ้อนท้าย
สิ่งน่าสลดใจก็คือ 1. ภาคธุรกิจขาดความรับผิดชอบ แต่กลับทุ่มเทกับกลยุทธการตลาด การจูงใจด้วยโฆษณาประชาสัมพันธ์กระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะการเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เด็กวัยรุ่นทั้ง ๆ ที่ยังไม่พร้อมทั้งกายภาพและวุฒิภาวะในการขับขี่ 2. ภาครัฐมุ่งแต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่าสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ให้ประชาชนได้ใช้อย่างสะดวก ปลอดภัย และทั่วถึง 3. ที่ผ่านมารัฐฯได้เคยทุ่มเงินไปถึงกว่า 4 แสนล้าน เพื่อสร้างถนนให้เยอะเข้าไว้ แต่ไม่ใส่ใจในเรื่องการลงทุน ให้นักเรียนมีรถรับส่งไป – กลับโรงเรียนที่มีมาตรฐานความปลอดภัย เรียกได้ว่าเน้น สร้างถนนปลอดฝุ่น แต่เมินที่จะสร้างถนนปลอดภัย และถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีกองทุนสำหรับรับส่งนักเรียนไปกลับบ้านโรงเรียนอย่างปลอดภัย