หากเรายื่นกระดาษเปล่าให้เด็กวาดภาพเมืองไทยในฝันออกมา เราอาจจะได้เห็นภาพของเมืองที่มีรถยนต์บินอยู่บนฟ้า หรือเมืองที่อากาศเย็นสบายไม่ร้อนอบอ้าว หากเราถามคำถามเดียวกันนี้กับผู้ใหญ่วัยทำงาน เมืองในฝันของพวกเขาคงจะเป็นเมืองที่การจราจรไม่ติดขัดในเช้าวันทำงาน เมืองที่อากาศดีไม่เต็มไปด้วยฝุ่นควันท่อไอเสีย เมืองที่เราจะสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ภาพเมืองในฝันของใครแต่ละคนคงจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ด้านของเมืองที่คนคนนั้นได้สัมผัส
ในครั้งหนึ่ง สิ่งเหล่านี้คงเป็นได้แต่เพียงฝันหวานของผู้คน แต่โลกของเราไม่ได้หยุดนิ่ง การใช้เทคโนโลยี ความรู้ และข้อมูลเพื่อบริหารจัดการเมือง ได้ก้าวหน้าขึ้นอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น น่าเสียดายที่ประเทศไทยซึ่งพูดเรื่องการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” กันมานาน ยังไม่สามารถใช้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ประเด็นการจราจรเป็นปัญหาใหญ่ที่คาใจคนกรุงเทพมายาวนาน ซึ่งปัญหาหนึ่งคือการที่เรายังไม่มีรถโดยสารประจำทางที่เป็นที่พึ่งให้กับคนได้จริง แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะมีการปรับปรุงเส้นทางเดินรถและกำหนดตารางเวลารถใหม่ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน Moovit ที่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบเวลารถโดยสารในแต่ละเส้นทางได้ แต่ในความเป็นจริง ผู้ใช้รถโดยสารยังคงประสบปัญหารถไม่มาตรงเวลา เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่ได้ทำให้เกิดการบริหารจัดการให้ดีที่สุด
หากเราหันไปมองกรุงโซล พวกเขาไม่ได้ปรับผังการเดินรถอย่างลอยๆ หน่วยงานบริหารเมือง ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Seoul Metropolitan Government (SMG) และ Korea Telecom (KT) สามารถใช้บิ๊กดาต้าจากโทรศัพท์มือถือเพื่อระบุปริมาณความต้องการรถในเส้นทางต่างๆ และลงรายละเอียดเส้นทางการเดินรถ การออกแบบเส้นทางและเวลาการเดินรถดังกล่าว สามารถลดปริมาณคำร้องเกี่ยวกับเส้นทางเดินรถได้อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการนบิ๊กดาต้าและเทคโนโลยี มาใช้ในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวคิดเมืองอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยได้อนุมัติรับหลักการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และจัดตั้งสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นเจ้าภาพในการช่วยผลักดันและวางแผนแม่บทของเมืองอัจฉริยะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่ง DEPA ได้กำหนดลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ครอบคลุม 7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การบริหารภาครัฐ การขนส่ง พลังงาน เศรษฐกิจ การดำรงชีวิต และหรือว่าพลเมือง
พวกเราใช้งบประมาณปีละหลายพันล้านบาท ในการพัฒนาเมืองหลักให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ภูเก็ต และระยอง โดยหน่วยงานหรือผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะสามารถลงทะเบียนและยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับรองเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งการพิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบ fast track การได้ยกเว้นกฎหมายบางฉบับ (regulatory sandbox) ให้ SMART Visa สำหรับนักลงทุนต่างชาติ และการสนับสนุนทางการเงินผ่านกองทุนและมาตรการทางภาษี
แต่ 6 ปีผ่านไป หากเราพิจารณาเมืองที่อยู่ต่อหน้าเรา เราสามารถพูดได้หรือไม่ว่า “นี่แหละคือเมืองอัจฉริยะ!” หรือเมืองกำลังมีความอัจฉริยะมากขึ้นอย่างไรบ้าง
ผู้เขียนในฐานะคนกรุงคนหนึ่ง รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง เช่น การติดต่อราชการผ่านระบบออนไลน์, การแจ้งปัญหาต่าง ๆ ผ่านระบบ Traffy Fondue, การเดินทางแบบ ride-sharing ผ่านแอป MuvMi, หรือการจองสนามกีฬาผ่านแอป CSTD โครงการเพียงจำนวนหยิบมือในแต่ละด้านแม้จะทำให้เกิดความรู้สึกสะดวกสบายขึ้น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคนเมือง
ทุกคนรู้หรือไม่ว่าเมืองที่อัจฉริยะที่สุดของไทยคือที่ไหน คำตอบนั้นไม่ใช่กรุงเทพฯ เพราะตามดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะ (Thailand Smart City Competitiveness Index หรือ TSCCI) ที่ DEPA จัดทำ ยกให้ “เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์” จ.ระยอง เป็นเมืองที่อัจฉริยะที่สุดของประเทศไทยในปี 2566 โดยได้คะแนนเฉลี่ยรวมที่ 83.55 เต็ม 100 โดยมาจากคะแนน 5 ด้าน คือ 1. วิสัยทัศน์ 75/100 คะแนน 2. โครงสร้างพื้นฐาน 100/100 คะแนน 3. แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (city data platform หรือ CDP) 100/100 คะแนน 4. ระบบบริการอัจฉริยะ (smart solutions) 65.92/100 คะแนน และ 5. ความยั่งยืน 100/100 คะแนน
คะแนนที่สูงขนาดนี้ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า นี่คือเมืองอัจฉริยะที่มีโครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง และความยั่งยืน ที่สมบูรณ์แบบที่สุดแล้วจริงหรือ ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับระบบอัจฉริยะทำได้อย่างไร้ที่ติแล้วหรือ ความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานสมบูรณ์ 100% แล้วหรือ ท่านที่มีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมเมืองอัจฉริยะแห่งนี้อาจเคยให้คะแนนเมืองในใจ คะแนนที่ท่านให้เหมือนกันหรือแตกต่างจากตัวเลขข้างต้นหรือไม่อย่างไร
เมื่อเรามองไปยังขั้นตอนถัดไป หากทุกเมืองที่ยื่นข้อเสนอเพื่อเป็น “เมืองอัจฉริยะ” สามารถตอบสนองตัวชี้วัดที่ DEPA ตั้งไว้ได้ เมืองเหล่านั้นจะมีศักยภาพและความสามารถในการเป็นเมืองในฝันที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้จริงหรือไม่
โครงการพัฒนาที่เห็นได้ทั่วไปมักจะเป็นการนำเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ มาติดตั้งในเมือง ซึ่งบางครั้งก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์ผู้คนอย่างแท้จริง แม้ว่าจะ “ดูเหมือน” ว่าเมืองเหล่านั้นจะเป็นเมืองอัจฉริยะก็ตาม ตัวอย่างเช่น การติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 10–20 ตัวรอบอาคารเพื่อเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย จะทำให้เมืองปลอดภัยขึ้นจริงหรือไม่ หรือการติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่จอดรถ แล้วสร้างแดชบอร์ดเพื่อแสดงข้อมูลตลอดทั้งวัน จะช่วยลดอุณหภูมิในเมืองได้จริงหรือ หรือแม้แต่การนำจักรยานไฟฟ้ามาตั้งให้เช่าและสร้างแอปพลิเคชันสำหรับการเช่าจักรยาน จะช่วยลดปัญหารถติดในช่วงเช้าได้จริงหรือไม่ หากคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้คือ “ไม่”
การประเมินความสำเร็จของเมืองอัจฉริยะตามดัชนีที่จัดทำขึ้นอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าที่ควร และเมืองอัจฉริยะที่เราพูดถึงนี้จะเป็น “อัจฉริยะ” จริงๆ หรือแค่ “อัจฉริยะในกระดาษ”
นอกจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้แล้ว หัวใจสำคัญของแนวคิด “เมืองอัจฉริยะ” คือการใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และทันเวลาตามสภาพหน้างาน โดยการเก็บข้อมูลจากโครงการต่างๆ และนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างมูลค่า เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV บนท้องถนน ซึ่งนอกจากจะช่วยตรวจจับความเร็วรถที่ขับเกินกำหนดแล้ว ยังสามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณรถยนต์ และจำนวนผู้โดยสารที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ด้วย ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาคำนวณเพื่อปรับเปลี่ยนเวลาการปล่อยรถ และจำนวนรถโดยสารสาธารณะในแต่ละเส้นทาง ให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เพื่อลดปัญหาความแออัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร โดยไม่ให้การติดตั้งกล้อง CCTV กลายเป็นเพียงต้นทุนจมที่ไม่ถูกต่อยอดให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการบริหารจัดการเมือง
ประเทศไทยมีการทำแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง เป็นการจัดเก็บในรูปแบบของ data application program interface (API) ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยให้ส่วนประกอบโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์สองส่วนสามารถสื่อสารกันได้ ปัจจุบันมีชุดข้อมูลบนแพลตฟอร์มทั้งหมด 559 ชุด จาก 71 องค์กร1 อย่างไรก็ตาม DEPA ยังไม่ได้สร้างแนวทางการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้เปรียบเทียบหรือวิเคราะห์ทางสถิติได้ อีกทั้งการแสดงผลยังมีความสับสนอยู่บ้าง ทำให้การค้นหาและการนำข้อมูลไปใช้ไม่สามารถทำได้ง่ายเท่าที่ควร
การที่ไม่สามารถใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์เช่นนี้ สะท้อนออกมาผ่านการคาดการณ์รายได้ต่อปีทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจากเมืองอัจฉริยะ ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนที่รัฐใส่เข้าไปเพียงฝ่ายเดียวเสียอีก ในปี 2566 กระทรวงมหาดไทยจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 7,435.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวางผังเมือง 120 ผังและจัดรูปที่ดิน 1,476 ไร่ ครอบคลุมงาน 20 ด้านใน 13 จังหวัด แต่ข้อมูลของ STATISTA คาดว่ารายได้ของตลาดเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 228.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7,400 ล้านบาท) หากเราสามารถจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการลงทุนให้สูงขึ้น ตลาดเมืองอัจฉริยะของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
สุดท้ายนี้…
ประเด็นหัวใจหลักของความสำเร็จในการพัฒนาเมืองให้เป็นอัจฉริยะอย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่การทุ่มเม็ดเงินมหาศาลลงไปเพื่อให้เกิดเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ แต่ควรเป็นการมุ่งพัฒนาระบบและแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาของคนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เราอาจคิดว่าเมืองไทยไม่สามารถแข่งขันกับเมืองต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและทุนมากกว่าได้ แต่ความอัจฉริยะของเมืองไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยีหรือเงินทุน ทว่าสำคัญตรงมูลค่าซึ่งเกิดจากคนที่สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้แก้ปัญหาจริงๆ
อ้างอิง
1. ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 บนเว็บไซต์ https://catalog.citydata.in.th/en