การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากร และความเหลื่อมล้ำทางสังคม คือปัญหาสำคัญในปัจจุบัน ธุรกิจพลังงานและโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายนี้ โดยเฉพาะในมิติ ESG (Environmental, Social, Governance)
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ผู้นำธุรกิจพลังงานของไทย ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ด้วยแนวคิด “Greenovate to Regenerate – สมดุลธรรมชาติ สรรค์พลังไม่สิ้นสุด” ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างมูลค่าทางธุรกิจและคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา บางจากฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาสมดุลระหว่างมูลค่าในการทำธุรกิจและคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งถือเป็นรากฐานที่มีส่วนผลักดันให้ธุรกิจของบางจากฯ ทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน กลุ่มธุรกิจการตลาด กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
โดยเฉพาะช่วง 10 ปีหลังที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางจากฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจ กระจายความเสี่ยง สร้างสมดุลให้กับพอร์ตโฟลิโอของบริษัท และริเริ่มนวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย จนสามารถพาตัวเองจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเล็ก ๆ มาสู่กลุ่มบริษัทพลังงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ในปี 2567 นี้ บางจากฯ ได้รับรางวัล SET Awards 2024 “Sustainability Awards of Honor” ในกลุ่มรางวัล Sustainability Excellence จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 สะท้อนถึงขีดความสามารถและศักยภาพของบางจากฯ ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ขอขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้กับพวกเรา รางวัลนี้เปรียบเสมือนเครื่องยืนยันถึงการได้รับการยอมรับและเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคนในองค์กร ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดจากการทุ่มเทและความร่วมมือของพนักงานทุกคนที่บางจากฯ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ฝ่ายที่ดูแลเรื่องความยั่งยืนเพียงเท่านั้น”
สร้างสมดุล ESG ระหว่าง “มูลค่า” กับ “คุณค่า” ในการทำธุรกิจ
นางกลอยตาเล่าว่า ปีนี้บางจากฯ ครบรอบ 40 ปี ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 โดยมีรากฐานการทำธุรกิจมาจากเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “มูลค่า” กับ “คุณค่า” โดยมีปรัชญาตั้งแต่ต้นว่า เมื่อทำธุรกิจมีกำไรแล้ว ต้องมอบกำไรให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชนด้วย
ทั้งนี้ จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของบางจากฯ ก็คือ การเติบโตคู่มากับชุมชน จากโรงกลั่นที่เล็กที่สุดในประเทศ จากที่เคยตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่เคยเป็นป่าจากมาก่อน(สุขุมวิท 62) มีคนอาศัยอยู่ไม่มาก แต่พอโรงกลั่นตั้งขึ้น ก็มีการจ้างงาน มีการตั้งถิ่นฐาน จนวันนี้พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกันก็ได้มีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพราะฉะนั้นบางจากฯ จึงให้ความสำคัญกับสมดุล ทั้งในเรื่องของการทำกำไรของธุรกิจ การตอบแทนให้สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน รวมถึงมีให้ผู้ถือหุ้น ไปจนถึงสมดุลในการทำเรื่อง ESG ที่คำนึงถึงผู้ที่อยู่โดยรอบและสังคมในภาพรวม
สอดคล้องกับวัฒนธรรมพนักงานที่ไม่เคยเปลี่ยนไปตลอด 40 ปี นั่นก็คือ “เป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น” สะท้อนถึงความเป็นคนดีของสังคมมาจากข้างใน ทำให้เป็นรากฐานของความยั่งยืน เพราะการที่เราจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เราต้องดูแลทุกอย่าง
“วันนี้เวลาพูดเรื่องความยั่งยืน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเรื่องของสภาพภูมิอากาศ เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องแรก ซึ่งไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด แต่จริง ๆ แล้ววันนี้ความยั่งยืนครอบคลุมมากกว่านั้น ทั้งในเรื่องการศึกษา การจ้างงาน สิทธิมนุษยชน เรื่องคุณภาพน้ำ และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย สิ่งนี้เป็นรากฐานของบางจากฯ ที่ทำให้เราดูแลเรื่องความยั่งยืนอย่างครอบคลุมมาตั้งแต่ต้น”
ล่าสุดตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่บางจากฯ เข้าซื้อหุ้นเอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ BSRC ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มสัดส่วนในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ (Energy Security) รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม (Energy Affordability) โดยมีสถานีบริการกว่า 2,200 แห่งให้ลูกค้าสามารถเข้าไปใช้บริการได้
เมื่อเพิ่มพอร์ตที่เป็นตัว Fossil fuel เป็นไฮโดรคาร์บอน จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) เป็นการตอบโจทย์ความท้าทายทางพลังงาน 3 ประการ หรือ Energy Trilemma ซึ่งเราได้ประกาศแผนที่จะไปสู่เป้าหมาย Net Zero มาตั้งแต่ปี 2564 ชวนทุกคนที่เกี่ยวข้องมาอยู่ในเส้นทางนี้ด้วยกัน
“วันนี้ความเป็นบางจากฯ สะท้อนผ่านแนวคิด “Greenovate to Regenerate สมดุลธรรมชาติ สรรค์พลังไม่สิ้นสุด” พยายามมองเรื่องความสมดุลในทุก ๆ อย่าง สามารถเริ่มต้นขึ้นได้ ใช้นวัตกรรมและธรรมชาติมาผสานกัน นี่คือความยั่งยืนในมุมของบางจากฯ”
วิสัยทัศน์ “ผู้นำ” นวัตกรรมพลังงานสะอาดและการสร้างระบบนิเวศคาร์บอนต่ำ
บางจากฯ ยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาด เช่น การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel :SAF) จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว และการพัฒนาแพลตฟอร์มจักรยานยนต์ไฟฟ้า “วินโนหนี้” (Winnonie) รวมถึงการจัดตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
นางกลอยตากล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บางจากฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจและริเริ่มนวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การส่งเสริมเทคโนโลยี Synthetic Biology การลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และร่วมกับพันธมิตรในการจัดตั้ง Carbon Markets Club เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ที่สำคัญ การเป็นผู้นำในธุรกิจเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) จากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว โดยมีการจัดเก็บผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของเศรษฐกิจ BCG (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy)
นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มให้เช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ภายใต้แบรนด์ “วินโนหนี้” (Winnonie) ไปจนถึงการเป็นผู้นำด้านการสร้างระบบนิเวศสังคมคาร์บอนต่ำ
นอกจากการทำธุรกิจ บางจากฯ เล็งเห็นว่าพื้นฐานของการสร้างสังคมยั่งยืนคือการศึกษา จึงมีโครงการส่งเสริมการศึกษาเยาวชนที่หลากหลาย ล่าสุดในวาระครบรอบ 40 ปี ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ได้ริเริ่มรายการทีวี “Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่ Presented by Bangchak Group” ร่วมกับบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และส่งเสริมการพัฒนาเยาวชน ตามแนวคิด “ส่งต่อความสุขไม่สิ้นสุด” เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถศักยภาพในเชิงวิชาการ ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การที่บางจากฯ ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับมาจนถึงจุดนี้ในวันนี้ เป็นเพราะความร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหารและพนักงาน ภายใต้การนำและวิสัยทัศน์ของคุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งในแง่ของการทำธุรกิจในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ว่าเราจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง หรือจะช่วยสังคมในการปรับตัวอย่างไรบ้าง
“ยกตัวอย่างเช่น Carbon Markets Club คุณชัยวัฒน์คุยกับทีมงานตั้งแต่เกือบ 4 ปีที่แล้ว โดยบอกว่าเราต้องเตรียมอุตสาหกรรมให้พร้อม เพราะเรากำลังจะมีเรื่องภาษีคาร์บอน เรื่องภาษีข้ามพรมแดน หรือ CBAM ดังนั้น เราต้องทำให้คนรู้จักเรื่องของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เรามองว่าเป็นสะพานเชื่อม เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด”
“นั่นคือสาเหตุที่เราต้องทำการบ้านอย่างหนัก ก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อที่จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของ Climate Action และให้คนเห็นความสำคัญของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งวันนี้เรามาได้ไกลจาก 11 องค์กรร่วมก่อตั้ง จนปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 1,300 ราย”
ขับเคลื่อนแผน BCP316NET เส้นทางสู่ Net Zero
นางกลอยตาขยายความเรื่องแผนงาน Net Zero ว่า บางจากฯ พร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดแผน ”BCP316NET” เพื่อตอบสนองเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 ขององค์กร โดยครอบคลุม 4 มิติหลัก
มิติแรกตัว B -“Breakthrough Performance” คือการพยายามลดคาร์บอนด้วยตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งได้เริ่มทำไปตั้งแต่ก่อนที่จะมีแผนดังกล่าวแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เรามีโรงไฟฟ้าอยู่ในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง เดิมโรงไฟฟ้าของเราใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต แต่หลังจากเปลี่ยนมาเป็นแก๊สธรรมชาติ ก็ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงไปได้มาก
นอกจากนั้น ยังมีโครงการต่าง ๆ ในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงกลั่น ปรับปรุงเครื่องจักร ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนพลังงานที่ใช้ในองค์กร อาทิเช่น ในโรงกลั่นหรือปั๊มน้ำมันของเราวันนี้ มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อจะผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ตัว C –“Conserving Nature and Society” เป็นเรื่องของ Green and Blue Carbon คือการดูดซับคาร์บอนจากธรรมชาติด้วยป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าบก หรือป่าชายเลน โดยเรามีโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
นอกจากนั้น ยังมีโครงการพรรณ D สนับสนุนสหกรณ์การเกษตร พันธมิตรทางธุรกิจของเรา ในการประเมินคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน รวมถึงสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดลองทำการศึกษาเรื่องการดูดชับคาร์บอนของหญ้าทะเลที่หมู่เกาะหมาก จังหวัดตราด เป็นต้น
Green and Blue Carbon เป็นแนวคิดที่มีการทดลองมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะพบอุปสรรคจากธรรมชาติที่เปราะบางและถูกกระทบหนัก เช่น ไฟป่าที่สามารถปลดปล่อยคาร์บอนสะสมได้ในพริบตา อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุ่งมั่นศึกษาต่อไป เพื่อค้นหาวิธีที่ตอบโจทย์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง
ถัดมาคือตัว P -“ Proactive Business Growth and Transition” หรือการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจสู่พลังงานสะอาด การปรับเปลี่ยนพอร์ตโฟลิโอ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีกรีนบลูไฮโดรเจน หรือในเรื่องของการดูดซับคาร์บอน Carbon Capture Utilization and Storage
สำหรับเทคโนโลยีนี้ ยังอยู่ในช่วงของการทดลองศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสตาร์ทอัปต่าง ๆ ก็ยังเป็นจุดที่ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน แต่ก็ได้บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของเราว่าจะต้องมีพอร์ตโฟลิโอที่เป็นนวัตกรรมสีเขียวให้มากขึ้น
ส่วนสุดท้าย NET ก็คือ การสร้างระบบนิเวศสำหรับรับรอง Net Zero หรือ “Net Zero Ecosystem” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวินโนหนี้ เรื่อง Carbon Markets Club หรือแม้แต่เรื่อง SAF ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนเพื่อจะให้อุตสาหกรรมการบินสามารถไปสู่คาร์บอนต่ำได้ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
“Adaptation” รับมือโลกเดือด เริ่มต้นจากพนักงานในองค์กร
อย่างไรก็ดี นางกลอยตาบอกว่า การลดคาร์บอนของบางจากฯ เป็นการตั้งเป้าที่สอดคล้องกับเป้าหมายของโลก แต่การจะไปสู่ Net Zero อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยการตั้งเป้า วางแผน แล้วตั้งใจทำ แม้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะไปถึงได้หรือไม่ ก็ยังดีกว่าไม่คิดทำอะไรเลย
เพราะฉะนั้นบางจากฯ จึงเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่มีการตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 โดยสิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรก คือสำรวจตัวเองก่อนว่าเราปล่อยคาร์บอนจำนวนเท่าไหร่ แล้วจะลดให้ได้มากที่สุดอย่างไร
หลังจากนั้นค่อยต่อด้วยการชดเชยจากการซื้อคาร์บอนเครดิต แต่เป้าหมายนี้ไม่สามารถสำเร็จได้เพียงลำพัง เราต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับซัพพลายเออร์และสังคมในภาพรวม ที่สำคัญที่สุดคือการเริ่มต้นปรับตัวจากภายใน โดยเฉพาะพนักงานของเราเอง
“ในช่วงที่เราเริ่มประกาศเป้าหมาย Net Zero คนแรกที่เราต้องคุยด้วยก็คือพนักงาน เราบอกทุกคนไว้เสมอว่า เวลาเราจะสื่อสารประเด็นนี้กับสังคมข้างนอก คนข้างในของเราต้องเข้าใจและรู้เรื่องก่อน ถ้าจะรณรงค์เรื่อง Climate Action พนักงานต้องรู้ว่า Carbon Neutrality คืออะไร Net Zero คืออะไร และเขาจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร”
จึงเป็นที่มาของการมี KPI Climate Action ในองค์กร เช่น ในเรื่องการแยกขยะ การประหยัดไฟ การเดินทางโดยใช้รถสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามจะเชิญชวนให้พนักงานเราทำก่อน แล้วต่อยอดไปที่ซัพพลายเออร์ ไปที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ของเรา
“มีสิ่งหนึ่งที่คุณชัยวัฒน์ชอบพูดกับพวกเราก็คือ หลายคนวันนี้ ถึงเวลาจะกินอะไรก็ขับรถเปิดแอร์ไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ กลับมาที่บ้านก็เปิดแอร์ในห้อง แล้วก็ขึ้นเดินบนลู่วิ่ง เพื่อออกกำลังกาย แต่จริง ๆ แล้วถ้าเดินไปซื้อของ แล้วก็เดินกลับมา ก็ไม่ต้องเสียทรัพยากรด้วยการเปิดแอร์ในรถ ในการขับรถ แล้วก็ในการเปิดแอร์ในห้องที่คุณออกกำลังกาย”
“เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่าวันนี้พฤติกรรมของเราก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แล้วเราช่วยกันปรับ ก็จะช่วยโลกได้”
ความท้าทายเร่งด่วนเรื่องความยั่งยืนคือ “Climate Action”
นางกลอยตามองว่า จากนี้ไปความท้าทายเร่งด่วนที่สุดในเรื่องความยั่งยืนคือเรื่อง “Climate Action” เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการศึกษา เรื่องปากท้อง เรื่องการเข้าถึงพลังงาน หรือแม้แต่เรื่องการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด
โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษา บางจากฯ พูดอยู่เสมอว่า ถ้าการศึกษาไม่แข็งแรง เราจะไม่ยั่งยืน นั่นก็คือสาเหตุที่บางจากฯ ทำโครงการอ่านเขียนเรียนสนุกร่วมกับมูลนิธิใบไม้ปันสุข โดย จัดอบรมครูที่สอนภาษาไทยให้กับนักเรียนชั้นป.1 ให้อ่านออกเขียนได้
แม้เราเป็นแค่จุดเล็ก ๆ ในสังคม ไม่สามารถที่จะขยับประเทศได้ในภาพรวมแต่เราก็ให้ความสำคัญในการวางรากฐานสร้างความยั่งยืนผ่านการศึกษา
“ถ้าให้มองภาพใหญ่ วิกฤติที่ส่งผลกระทบหนักที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฤดูกาลแปลกไป วิถีชีวิตก็แปลกไป เช่น ความแห้งแล้งที่ส่งผลกระทบกับราคาพืชผลของเกษตรกรไปจนถึงผู้บริโภค เกิดมาจากวิกฤติของสภาพภูมิอากาศ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก ที่ต้องช่วยกันเร่งดูแลอย่างเร่งด่วนในเรื่องของความยั่งยืน”
ความยั่งยืนคือการร่วมมือ
นางกลอยตาย้ำว่า ความท้าทายเร่งด่วนที่สุดคือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ซึ่งการไปสู่ Net Zero ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภายในองค์กร ซัพพลายเออร์ และชุมชน
“สิ่งเล็ก ๆ อย่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคน สามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และช่วยโลกได้” นางกลอยตากล่าว พร้อมเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน “สำหรับบางจากฯ เราจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป แต่เราไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกคน”