ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > กลุ่มบางจากฯ ร่วมทุนตั้ง BSGF ผลิตเชื้อเพลิงจาก ‘น้ำมันจากการทำอาหาร’ ลดคาร์บอน 8 หมื่นตันต่อปี

กลุ่มบางจากฯ ร่วมทุนตั้ง BSGF ผลิตเชื้อเพลิงจาก ‘น้ำมันจากการทำอาหาร’ ลดคาร์บอน 8 หมื่นตันต่อปี

2 กันยายน 2022


(ซ้าย) นายธนวัฒน์ ลินจงสุบงกช กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด, (กลาง) นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), (ขวา) นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)

การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดของ ‘อุตสาหกรรมการบิน’ ในปัจจุบันนับว่ายังมีข้อจำกัดอยู่มาก ผิดกับอุตสาหกรรมอื่นที่มีเงื่อนไขในการมุ่งสู่ net zero ได้ง่ายกว่า เพราะเมื่อเทียบระหว่างอุตสาหกรรมรถยนต์กับเครื่องบินแล้ว ทั้งสองประเภทมีจุดเริ่มต้นจากน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบันมีนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ช่วยให้ภาคยานยนต์ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่เงื่อนไขของภาคการบินไม่สามารถใช้แบตเตอรี่ในระดับอุตสาหกรรม เนื่องจากแบตเตอรี่มีขนาดหนัก ความปลอดภัยและความไม่คุ้มทุน ทำให้ยังไม่มีวิธีการที่เป็นรูปธรรมในการไปสู่ net zero ของอุตสาหกรรมการบิน

ทางออกเดียวที่มีในปัจจุบันคือการพัฒนานวัตกรรมเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด

ในประเทศไทยเองเพิ่งมีการริเริ่มการผลิต SAF ผ่านบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด ด้วยงบลงทุน 8,000 – 10,000 ล้านบาท ในสัดส่วนการลงทุนโดยบางจากฯ 51% ธนโชค ออยล์ ไลท์ 29% และ บีบีจีไอ 20% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย

โมเดลธุรกิจของ BSGF เริ่มจากการรับซื้อน้ำมันจากการทำอาหารโดยธนโชค ออยล์ ไลท์ จากนั้นใช้เทคโนโลยีและการกลั่นจากบีบีจีไอ ขณะที่พื้นที่โรงงานและการขายจะทำโดยบางจากฯ

  • บางจาก – โรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย เป็นผู้บุกเบิกการรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารในครัวเรือนเพื่อผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยเป็นรายแรก และมีความเชี่ยวชาญในการค้าน้ำมันผ่านบริษัท BCP Trading จำกัด หรือ BCPT ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ค้าน้ำมันอิสระอันดับหนึ่งในตลาดสิงคโปร์
  • บริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ฯ – ผู้มีประสบการณ์ในการจัดหาวัตถุดิบอย่างน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร
  • บริษัท บีบีจีไอฯ – ผู้นำอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง

โดย BSGF จะเริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการก่อสร้างหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) ภายในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันบางจาก คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ช่วงปลายปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1,000,000 ลิตรต่อวัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินลงได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมทุนครั้งนี้เป็นการนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระหว่างพันธมิตรทั้ง 3 มาร่วมวางรากฐานที่มั่นคงให้กับบริษัท BSGF ทั้งในด้านการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการจัดจำหน่าย

“สำคัญที่สุดคือการฟอกน้ำมันพืชที่ใช้แล้วเป็นน้ำมันสะอาดที่สามารถเติมเข้าเครื่องบินได้ ต้องให้ธุรกิจที่มีกระบวนการกลั่นน้ำมันถึงจะสามารถเข้าใจกระบวนการผลิตและได้รับประโยชน์จากตรงนี้ ส่วนบางจากมีพื้นที่และมีสารไฮโดรเจนเหลือเพียงพอที่จะทำ SAF ได้” นายชัยวัฒน์กล่าว

“BSGF พร้อมขยายเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการใช้ SAF ในอนาคต ตามแนวโน้มความต้องการใช้ SAF ทั่วโลก สอดคล้องกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรปที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ที่ 2% ในปี 2568 (2025) และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2573 (2030), 37% ในปี 2583 (2040) และ 85% ในปี 2593 (2050) สอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่ให้การสนับสนุน เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593”

“ถ้าบินเข้ายุโรปโดยไม่มีสัดส่วน SAF จะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย และคาร์บอนเครดิตที่ยุโรปแพงกว่าไทยประมาณ 3,000 เท่า ที่นู่นประมาณ 80 ถึง 100 ยูโร ของไทยประมาณ 1 เหรียญ”

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า การร่วมทุนก่อตั้งบริษัท BSGF ในครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมพลังงานสีเขียว และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญตามแผน BCP 316 NET ของกลุ่มบางจาก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ. 2050 และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้า Net Zero ในปีค.ศ. 2065

ขณะที่ นายธนวัฒน์ ลินจงสุบงกช กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ธนโชคฯ ดำเนินธุรกิจมา 46 ปี สามารถเก็บรวบรวมน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารได้ 17 ล้านลิตรต่อเดือน จากแบรนด์ฟาสฟู้ดทั่วประเทศในส่วนแบ่งการตลาด 100% รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารสำหรับการส่งออก 98% อีกทั้งยังรวบรวมจากจุดรับซื้อ-กิจกรรมเพื่อสังคมและการรณรงค์ให้คนไม่ทิ้งน้ำมันอาหารลงในท่อระบายน้ำทิ้ง

นายธนวัฒน์ มองว่า ปริมาณน้ำมันพืชใช้แล้วขึ้นกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถ้าเศรษฐกิจดีคนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยมาก ทำให้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้น ดังนั้นมองว่าน้ำมันพืชใช้แล้วยังสามารถเก็บได้เพิ่มอีกมาก โดยเฉพาะจากาผู้ประกอบการรายเล็ก พ่อค้าและแม่ค้า รวมถึงตามครัวเรือน

นายธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ธนโชคฯ เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มบริษัทบางจาก ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่ไปกับดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมมาโดยตลอด สอดคล้องกับพันธกิจของธนโชคฯ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้ว โดยมีการลงพื้นที่จัดเก็บในชุมชน ป้องกันการนำกลับไปใช้ซ้ำหรือระบายทิ้งลงในพื้นที่สาธารณะหรือแหล่งน้ำต่างๆ

“ธนโชค ออย ไลท์ฯ จะมุ่งเน้นพัฒนาวิธีการและจัดหาน้ำมันใช้แล้วสำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF เพื่อยกระดับมาตรฐานของธุรกิจจัดเก็บและรวบรวมน้ำมันใช้แล้วให้พร้อมรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมการบินได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายธนวัฒน์กล่าว

ด้านนายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากความชำนาญในการปฏิบัติการโรงงานไบโอดีเซล พร้อมด้วยเทคโนโลยี และ feedstock สำหรับการผลิต SAF ทำให้กลุ่มบีบีจีไอ สามารถสนับสนุนวัตถุดิบให้กับหน่วยผลิต SAF ได้อย่างเพียงพอ ทั้งยังมีหน่วยที่สามารถปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิต SAF อาทิเช่น กรดไขมันปาล์มและน้ำมันใช้แล้ว อีกด้วย

“ผลิตภัณฑ์ SAF จากน้ำมันใช้แล้วในการทำอาหารส่งผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG Economy Model อย่างครบวงจร ตั้งแต่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)”

“พอทุกคนทราบว่ากลุ่มบางจากฯ ทำ SAF ทุกคนเข้ามาเคาะประตูหาบอกว่าถ้ามี supply ขอแบ่งด้วย ลูกค้ามารออยู่เพียบ โดยเฉพาะกลุ่ม international airline ที่ต้องการเรื่องนี้ แต่เขาไม่มีที่เติมน้ำมันเวลาบินมาไทย จากที่เขา commit ในภูมิภาคเรื่องความยั่งยืน” นายกิตติพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มบางจากฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เฉลี่ย 1,000,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าน้ำมัน SAF จะช่วยลดปริมาณการปล่อยได้ 80,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนการลดการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดประมาณ 8%