ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียก้าวสู่ฮับ Data Centre อาเซียน

ASEAN Roundup มาเลเซียก้าวสู่ฮับ Data Centre อาเซียน

29 ธันวาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 22-28 ธันวาคม 2567

  • มาเลเซียก้าวสู่ฮับ Data Centre อาเซียน
  • กฎหมายลงทุนใหม่เวียดนามมีผล 15 มกราคม 2568
  • ตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนามทะลุ 25 พันล้านดอลลาร์โต 20% ปี 2567
  • ชาวเวียดนามส่งเงินกลับประเทศ 16 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567
  • ปี 2567 บริษัทจีนจดทะเบียนในกัมพูชาเกือบ 3,000 แห่ง
  • ญี่ปุ่นลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในปี 2567
  • กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนมูลค่า 6.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำลงทุนแล้ว 5 พันล้านดอลลาร์

    มาเลเซียขึ้นแท่นฮับ Data Centre อาเซียน

    รัฐยะโฮร์ บารู มาเลเซีย ที่มาภาพ:https://www.knightfrank.co.th/th/properties/commercial/to-let/menara-jland-johor-bahru-city-centre-jbcc-jalan-wong-ah-fook-johor-bahru-johor/mymenarajland
    ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มาเลเซียได้รับเงินลงทุน 141.7 พันล้านริงกิตมาเลเซีย (31.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตอกย้ำความแข็งแกร่งของ มาเลเซียในฐานะศูนย์กลางดาต้า เซ็นเตอร์(data centre) ชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาไนท์แฟรงค์(Knight Frank)

    มูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าของการลงทุนที่ได้รับอนุมัติมูลค่า 46.2 พันล้านริงกิตมาเลเซียตลอดปี 2566 จากรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 การเติบโตในปีนี้นำโดยการลงทุน 23.3 พันล้านดอลลาร์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น Microsoft, Amazon Web Services, Google และ Oracle

    มาเลเซียมีความจุ (capacity) ของ data centre ถึง 429 เมกะวัตต์(megawatts:MW)ต่อปี แซงหน้าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย (93MW) ไทย (31MW) เวียดนาม (3MW) และฟิลิปปินส์ (1MW) ไนท์แฟรงค์ระบุในรายงานการวิจัย อุปสงค์มุ่งเน้นไปที่ตลาดdata centre ของรัฐยะโฮร์ ใกล้กับสิงคโปร์ ในขณะที่ความจุใน Klang Valley( ปริมณฑลกัวลาลัมเปอร์) ก็เพิ่มขึ้นด้วย

    “ความพยายามเชิงยุทธศาสตร์ของมาเลเซียในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงพิมพ์เขียวสำหรับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเชิญชวนให้ผู้เล่นทั่วโลกคว้าโอกาสที่ไม่มีใครเทียบได้นี้” คีธ ออย(Keith Ooi) กรรมการผู้จัดการ Knight Frank มาเลเซีย กล่าว “ความมุ่งมั่นของประเทศต่อนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความยั่งยืนทำให้มาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการลงทุนใน data centre และเป็นแบบอย่างของความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ”

    ไนท์แฟรงค์เน้นย้ำถึง “มาตรการเชิงรุก” ของรัฐบาลมาเลเซียเพื่อดึงดูดการลงทุนด้านdata centre ซึ่งรวมถึง Green Lane Pathway ซึ่งย่นระยะเวลากระบวนการขออนุมัติพลังงานไฟฟ้าสำหรับโครงการต่างๆ และ Corporate Renewable Energy Supply Scheme ซึ่งช่วยให้บริษัทขนาดใหญ่สามารถซื้อพลังงานหมุนเวียนได้โดยตรงจากผู้ผลิตพลังงานอิสระ

    การที่ย่นระยะเวลาในการจัดหาไฟฟ้าลงอย่างมากและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน โครงการริเริ่มเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของมาเลเซีย แต่ยังตอกย้ำความมุ่งมั่นของประเทศต่อความยั่งยืนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอีกด้วย

    เอมี่ หว่อง(Amy Wong) ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษากล่าวว่า การครองตลาดนี้ไม่เพียงแต่ เสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของมาเลเซียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังส่งสัญญาณถึงความพร้อมของประเทศในการรักษาการเติบโตในระยะยาวในเศรษฐกิจดิจิทัล

    รายงานยังกล่าวอีกว่า ความเป็นผู้นำของมาเลเซียในด้านพลังงานหมุนเวียนและ data centre ที่ยั่งยืนได้สร้างแบบอย่างสำหรับการเติบโตทางเทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ

    ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ให้บริการ data centre และบริษัทซัพพลายเชน มาเลเซียกำลังสร้างระบบนิเวศที่มีพลวัตรที่ขับเคลื่อนวิวัฒนาการของอุตสาหกรรม

    “การทำงานร่วมกันระหว่างความคิดริเริ่มภาครัฐและนวัตกรรมภาคเอกชนทำให้มาเลเซียเป็นแม่เหล็กดึงดูดการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยปลดล็อกโอกาสมากมายสำหรับผู้เล่นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกในปีต่อ ๆ ไป” เชลวิน ซู(Chelwin Soo) ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดหาที่ดินและอุตสาหกรรมกล่าว

    ขณะเดียวกัน จัสติน ชี(Justin Chee) ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายประเมินราคาและที่ปรึกษากล่าวว่า การมุ่งเน้นที่ความยั่งยืน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และนวัตกรรมจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางอนาคตของอุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลในประเทศ นอกจากนี้ยังกล่าวว่ายะโฮร์กลายเป็นผู้เล่นหลัก โดยแซงหน้า Klang Valley ในด้านความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และผลักดันการทำธุรกรรมที่ดินจำนวนมากสำหรับการพัฒนาศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่

    “การเติบโตแบบก้าวกระโดดในรัฐยะโฮร์ โดยเฉพาะในพื้นที่เช่น กุไล(Kulai) และ อิสกันดาร์ ปูเตรี (Iskandar Puteri) กำลังดึงดูดผู้ให้บริการรายใหญ่จากต่างประเทศ และสร้างโอกาสที่สำคัญสำหรับการซื้อที่ดินและความร่วมมือ” ชีกล่าว

    “นอกจากนี้ Klang Valley ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมี data centre ขนาดใหญ่ เช่น data centre ขนาดใหญ่ที่วางแผนโดย Google และ AWS”

    เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว NVIDIA บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศแผนการที่จะพัฒนา AI ใน data centreในย่านอิสกันดาร์ของรัฐยะโฮร์ และนำโครงสร้างพื้นฐานของซูเปอร์คอมพิวเตอร์เข้ามาในมาเลเซีย ห้าเดือนต่อมา ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Microsoft และ Google ต่างก็ให้คำมั่นว่าจะลงทุนมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในมาเลเซีย

    ในเดือนมิถุนายน Microsoft ได้ซื้อกิจการ data centre มูลค่า 85 ล้านดอลลาร์ในเขตกุไลของรัฐยะโฮร์ และ Google ได้เริ่มสร้างโรงงานหลายแห่งในรัฐสลังงอร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ภายใต้ความร่วมมือกับ Sime Darby Property

    สำหรับผู้เล่นรายอื่น ๆ ที่ประกาศความมุ่งมั่นจะลงทุนในมาเลเซียในปีนี้ ได้แก่ ByteDance เจ้าของ TikTok, Amazon Web Services และฐานข้อมูลยักษ์ใหญ่อย่าง Oracle ซึ่งวางแผนจะลงทุนมากกว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์(cloud region) แห่งแรกในประเทศ

    การลงทุนศูนย์ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐยะโฮร์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความต้องการไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำที่เพิ่มขึ้น ไนท์แฟรงค์กล่าว แรงกดดันที่คล้ายกันทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ระงับการก่อสร้างใหม่ในปี 2562 และจำกัดกำลังการผลิตสำหรับโครงการในอนาคตเมื่อมีการยกเลิกการระงับในปี 2565

    รัฐบาลมาเลเซียได้เปิดตัวระบบสิ่งจูงใจ โดยใช้แนวทางดัชนีชี้วัดเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่สมดุลและมีความรับผิดชอบ ขณะที่ทางการยะโฮร์ได้กำหนดแนวทางในการพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ การจัดการน้ำ ความพร้อมของทรัพยากร และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยะโฮร์ปฏิเสธคำขอตั้ง data centre เกือบ 30%ตั้งแต่เดือนมิถุนายน

    กฎหมายลงทุนใหม่เวียดนามมีผล 15 มกราคม 2568

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/na-adopts-law-on-amendments-supplementations-to-nine-laws-post141738.html
    เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 สมัชชาแห่งชาติเวียดนามได้ตรากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหลายมาตรา ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการวางแผน(Law on Planning กฎหมายว่าด้วยการลงทุน(Law on Investment) กฎหมายว่าด้วยการลงทุนภายใต้รูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน(Law on Investment under the Public-Private Partnership Model) และกฎหมายว่าด้วยการประมูล(Law on Bidding) หรือ (กฎหมายฉบับที่ 57/2024/QH15)

    กฎหมายฉบับที่ 57/2024/QH15 ได้แก้ไขและเพิ่มเติมส่วนที่สำคัญในกฎหมายว่าด้วยการลงทุน ซึ่งจะมีผลในวันที่ 15 มกราคม 2568

    DFDL บริษัทที่ปรึกษากฎหมายและภาษีได้สรุปสาระสำคัญในกฎหมายว่าด้วยการลงทุน ดังนี้

    1. ห้ามมิให้ลงทุนอีก 2 ภาคธุรกิจ ได้แก่ การค้าสมบัติของชาติ และการส่งออกศาสนวัตถุโบราณและโบราณวัตถุ

    2. โอนอำนาจในการอนุมัตินโยบายการลงทุน (Investment Policy Approval:IPA) สำหรับโครงการลงทุนด้านการก่อสร้างและการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานของเขตอุตสาหกรรมและเขตแปรรูปส่งออกจากนายกรัฐมนตรีไปยังคณะกรรมการประชาชนระดับจังหวัด

    3. ข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนสนับสนุนการลงทุน(Fund for Investment Support)
    รัฐบาลจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการลงทุน โดยใช้เงินจากรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมตามข้อบังคับทางกฎหมายและแหล่งที่มาทางกฎหมายอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อดูแลสภาพแวดล้อมการลงทุนให้มีเสถียรภาพ ส่งเสริมและดึงดูดนักลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ บริษัทข้ามชาติ และให้การสนับสนุนกิจการในประเทศในภาคส่วนที่ต้องการสิ่งจูงใจในการลงทุน รูปแบบการดำเนินงาน สถานะทางกฎหมาย แหล่งที่มาของงบประมาณประจำปี และรายละเอียดอื่นๆ จะกำหนดและออกโดยรัฐบาล

    4. ข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทุนพิเศษ
    ขั้นตอนการลงทุนพิเศษจะมีใช้กับโครงการการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในเขตอุตสาหกรรม เขตแปรรูปเพื่อการส่งออก และพื้นที่การทำงานภายในเขตเศรษฐกิจ

    ที่สำคัญ กระบวนการพิเศษเหล่านี้ยกเลิกข้อกำหนดสำหรับการอนุมัติที่สำคัญหลายประการ รวมถึง IPA การประเมินเทคโนโลยี, การอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report:EIAR), การอนุมัติแผนแม่บทรายละเอียดการก่อสร้าง 1/500, ใบอนุญาตก่อสร้าง การอนุมัติการดับเพลิงและการป้องกัน ส่งผลให้ผู้ลงทุนสามารถรับใบรับรองการลงทุนได้ภายในเวลาเพียง 15 วันหลังจากที่ใบคำขอได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากคณะกรรมการจัดการที่เกี่ยวข้องของเขตอุตสาหกรรม เขตแปรรูปเพื่อการส่งออก เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง หรือเขตเศรษฐกิจ

    บทบัญญัติใหม่ที่สำคัญของกฎหมายฉบับที่ 57/2024/QH15 คาดว่าจะสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน ดึงดูดเงินทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

    ตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนามทะลุ 25 พันล้านดอลลาร์โต 20% ปี 2567

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnams-e-commerce-grows-quickly-but-unsustainably-post274995.vnp
    ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามมีมูลค่าทะลุ 25 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ เติบโต 20% จากปี 2566 และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยออนไลน์ยังคงเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และธุรกิจต่างๆ ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซ จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

    มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซที่ประเมินล่าสุดทำให้ เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามหลังอินโดนีเซีย (65 พันล้านดอลลาร์) และไทย (26 พันล้านดอลลาร์) และยังมากกว่า 22 พันล้านดอลลาร์ที่ Google และพันธมิตรคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

    อีคอมเมิร์ซมีสัดส่วน 60% ในเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามในปีนี้ และเป็นเสาหลักการเติบโตที่สำคัญควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวออนไลน์ ภาคส่วนอื่นๆ ที่มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ บริการเรียกรถ และบริการจัดส่งอาหารและสื่อออนไลน์

    แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ได้แก่ Shopee, TikTok Shop, Lazada, Tiki และ Sendo โดยมีแพลตฟอร์มใหม่เช่น Temu และ Shein ที่พยายามจะเข้าสู่ตลาดในปีนี้

    กระทรวงฯกล่าวว่า รูปแบบของอีคอมเมิร์ซมีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น และยอมรับว่ายังขาดกรอบทางกฎหมายในการควบคุมรูปแบบเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ไลฟ์สตรีมมิ่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้กฎระเบียบอีคอมเมิร์ซทั่วไป ซึ่งถือว่าการขายเหล่านี้เป็นการผสมผสานระหว่างกิจกรรมการโฆษณาและกิจกรรมการขาย แต่ไม่มีกฎเกณฑ์เฉพาะสำหรับผู้ขายผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง การระบุบัญชี หรือการกำกับดูแลข้อมูลระหว่างการไลฟ์สด

    การแพร่กระจายของสินค้าลอกเลียนแบบและสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานยังคงเป็นความท้าทายหลัก โดยเฉพาะเมื่อการละเมิดทางออนไลน์มีความซับซ้อนมากขึ้น

    การจัดการกับกิจกรรมข้ามพรมแดนทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีกฎระเบียบมากพอ ทำให้แพลตฟอร์มอย่าง Temu และ Shein สามารถเข้าสู่เวียดนามได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายให้เสร็จสิ้น

    การขาดการกำกับดูแลทำให้สินค้าจากประเทศอื่น ๆ เข้าสู่เวียดนาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ มีการเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายอีคอมเมิร์ซเพื่อยกระดับการกำกับดูแลของรัฐบาล โดยเฉพาะแพลตฟอร์มข้ามพรมแดน

    เวียดนามมีผู้ขายเกือบ 725,000 รายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยธุรกรรมรวมของผู้ขายเหล่านี้เกินกว่า 75 ล้านล้านด่อง (2.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามข้อมูลจาก 439 แพลตฟอร์มที่ส่งไปยังหน่วยงานด้านภาษี

    การจัดเก็บภาษีจากกิจกรรมอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 20% ในปี 2567 เป็น 116 ล้านล้านด่อง

    ชาวเวียดนามส่งเงินกลับประเทศ 16 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและประธานคณะกรรมาธิการแห่งรัฐด้านกิจการเวียดนามโพ้นทะเล ถ่ายภาพร่วมกับคณะผู้แทนและเยาวชนวเวียดนามในต่างประเทศในพิธีเปิดค่ายฤดูร้อนเวียดนามปี 2567 ที่กรุงฮานอย วันที่ 16 กรกฎาคม 2567
    ที่มาภาพ:https://tuoitrenews.vn/news/society/20240717/summer-camp-for-young-overseas-vietnamese-opens/80994.html
    รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บุย แทง เซิน เวียดนามกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดี(26 ธันวาคม 2567) ว่า ในปีนี้มีการโอนเงินกลับประเทศราว 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว จากชาวเวียดนามเกือบ 6 ล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 130 ประเทศและเขตปกครองซึ่ง มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การศึกษา และการดูแลสุขภาพจำนวนมากในเวียดนาม

    เมื่อปีที่แล้วมีการส่งเงินกลับประเทศจำนวน 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นสถิติใหม่ของเวียดนาม หลังจากการชะลอตัวมาระยะหนึ่งเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19

    บุย แทง เซินกล่าวว่า การส่งเงินกลับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาเวียดนามในปีนี้ ควบคู่ไปกับโครงการที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 421 โครงการ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนรวมกัน 1.72 พันล้านดอลลาร์

    เวียดนามจะยังคงปรับปรุงนโยบายและกรอบกฎหมายต่อไป เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างชาวเวียดนามโพ้นทะเลและบ้านเกิด โดยจะมีมาตรการที่ครอบคลุมและระยะยาวเพื่อสนับสนุนและพัฒนาชุมชนชาวเวียดนามในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อลดความซับซ้อนของขั้นตอนการบริหาร ทำให้ชาวเวียดนามโพ้นทะเลสามารถเดินทางกลับเวียดนามเพื่ออาศัย ลงทุน และดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น

    รัฐบาลยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับการเชื่อมต่อของชุมชน ตลอดจนบ่มเพาะและพัฒนาผู้มีความสามารถชาวเวียดนามในต่างประเทศ

    รองนายกรัฐมนตรีแสดงความมั่นใจว่า ชุมชนชาวเวียดนามในต่างประเทศจะยังคงใช้ศักยภาพเต็มที่ เติบโตให้แข็งแกร่งขึ้น และกระชับความสัมพันธ์กับบ้านเกิด ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในปีต่อๆ ไป

    การทูตทางเศรษฐกิจยังคงมีบทบาทสำคัญในความสำเร็จทางเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนาม มูลค่าการค้ารวมของประเทศคาดว่าจะสูงถึง 800 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

    เวียดนามยังคงเป็นหนึ่งในประเทศผู้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศชั้นนำของโลก นอกจากนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเวียดนามมากกว่า 15.8 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566

    ปี 2567 บริษัทจีนจดทะเบียนในกัมพูชาเกือบ 3,000 แห่ง

    เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐและบุคคลสำคัญ ร่วมเปิดตัวโชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้า BYD กัมพูชา และ Harmony Auto ในกรุงพนมเปญ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501442009/phnom-penh-gets-new-ev-facilities-launched-by-chinese-firms/

    รายงานของกระทรวงพาณิชย์ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า ในปี 2567 บริษัทของจีน 2,921 แห่งจดทะเบียนในกัมพูชา ซึ่งเพิ่มขึ้น 20.65% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยตามรายงานดังกล่าว การเติบโตนี้สอดคล้องกับปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนที่มีมูลค่ารวม 13.76 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 24.23% จากปีก่อนหน้า ซึ่งการส่งออกของกัมพูชามีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 22.27%

    รายงานความสำเร็จและการค้าทวิภาคีในปี 2567 ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับคณะผู้แทนจากฝ่ายบริหารระดับจังหวัดและภาคเอกชนของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมุ่งไปที่การดึงดูดนักธุรกิจให้ลงทุนในกัมพูชา การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพของกัมพูชาให้กับลูกค้าในภูมิภาค และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการค้าและโอกาสในการลงทุน

    ลอร์ วิเชต รองประธานสมาคมการค้าจีนกัมพูชา (Cambodia Chinese Commerce Association:CCCA) กล่าวกับสำนักข่าว Khmer Times ว่า การจดทะเบียนของบริษัทจีนในกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นนั้น มากจากความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้บริษัทจีนจำนวนมากต้องแสวงหาทำเลที่น่าลงทุนใหม่

    “กัมพูชามีที่ตั้งที่ดีและแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับการลงทุน” วิเชตกล่าวและว่า “ที่สำคัญกัมพูชาได้รับประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้ามากมาย และบริษัทที่เลือกลงทุนที่นี่ก็ได้รับสิทธิประโยชน์จูงใจที่สำคัญจากรัฐบาล”

    “เพื่อลดแรงกดดันทางการค้าระหว่างประเทศและลดความเสี่ยง บริษัทจีนได้ย้ายโรงงานผลิตบางแห่งมายังกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีนที่เข้ามายังสหรัฐอเมริกา

    “แนวโน้มการค้าและสถานการณ์ในปัจจุบันคาดว่าจะยังคงต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ ขณะที่กัมพูชายังคงนโยบายการค้าที่เปิดกว้างต่อโลก รวมถึงจีน เพื่อรับมือกับความซับซ้อนของสงครามการค้าระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน”

    เจีย วุธีเลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชาของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา(The Council for the Development of Cambodia:CDC) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า จีนยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของรายชื่อนักลงทุนในกัมพูชามานานกว่าทศวรรษ ในแง่ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

    “บริษัทจีนขนาดใหญ่หลายแห่งยังลงทุนในภาคส่วนใหม่ๆ ในกัมพูชา เช่น การผลิตยางรถยนต์ การประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตเฟอร์นิเจอร์ การลงทุนเหล่านี้กำลังสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกเหนือจากภาคเสื้อผ้าและรองเท้าแบบดั้งเดิม”

    จง เจี่ย ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการค้าของสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนในกัมพูชากล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จีนและกัมพูชาเป็นพันธมิตรที่แน่วแน่ต่อการสนับสนุนซึ่งกันและกัน

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายใต้คำแนะนำเชิงยุทธศาสตร์ของผู้นำของทั้งสองประเทศ การสร้างประชาคมจีน-กัมพูชาแห่งอนาคตร่วมกันลึกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    “กรอบความร่วมมือเพชรหกเหลี่ยม’ มีความเข้มแข็งมากขึ้น และมีความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนา ‘ระเบียงพัฒนาอุตสาหกรรม’ และ ‘ระเบียงปลาและข้าว’ ซึ่งนำผลประโยชน์ที่จับต้องมาสู่ทั้งสองประเทศ” “จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาเป็นเวลา 12 ปีติดต่อกัน และ สถิติของกัมพูชายังแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชามาหลายปีแล้ว”

    ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคมปีนี้ บริษัทของจีนได้ลงนามข้อตกลงการลงทุนในกัมพูชามูลค่าเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์

    ญี่ปุ่นลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในปี 2567

    พิธีเปิด Japan₋Cambodia Association (JCA) จัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยเฮง ซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและอาชีวศึกษา กัมพูชาและ อัตสึชิ อูเอโนะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา ที่มาภาพ:https://japan-cambodia.or.jp/en/jca-activities/cambodia-en/japan%E2%82%8Bcambodia-association-cambodia-office-opening-ceremony

    จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน มีบริษัทญี่ปุ่นทั้งหมด 88 แห่งที่จดทะเบียนในกัมพูชา ในช่วงเวลาเดียวกัน การค้าทวิภาคีมีมูลค่าสูงถึง 1.949 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18.9% เมื่อเทียบกับปี 2566 การส่งออกไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่า 1.272 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19.4% ขณะที่การนำเข้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวม 677.41 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18.1%

    ญี่ปุ่นยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 5 ของประเทศ รองจากจีน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย

    กระทรวงฯชี้ว่า ความร่วมมือทางการค้ากัมพูชา-ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567 มีการหารือร่วมกันหลายครั้งระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงเรื่อง “ธุรกิจคาร์บอนเครดิตและบรรยากาศการลงทุนในกัมพูชา”

    กระทรวงฯระบุว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยมระยะที่ 1 กระทรวงฯ ประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างตลาดเดิม ขยายไปสู่ตลาดใหม่ และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกัมพูชา เพื่อการส่งออกและอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ การดำเนินการเหล่านี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

    ซัม ซกเนิน ประธาน SAM SN Group ซึ่งกำลังเตรียมที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา-ญี่ปุ่น (SEZ) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Phnom Penh Post เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมว่า การลงทุนของญี่ปุ่นถือว่ามีคุณค่าสูง ทั้งความชัดเจนและความยั่งยืนในระยะยาว และชี้ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมักศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนหรือเลือกที่ตั้งของการลงทุน

    การเติบโตของการจดทะเบียนบริษัทในญี่ปุ่นได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน

    “มันไม่เพียงสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังให้ทักษะและความรู้ให้กับคนงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกด้วย” ประธาน SAM SN Groupกล่าว

    “โดยทั่วไปแล้ว การลงทุนของญี่ปุ่นมีความชัดเจน และการเพิ่มขึ้นของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินงานในกัมพูชาจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ปัจจุบัน การลงทุนของญี่ปุ่นในกัมพูชาครอบคลุมหลายภาคส่วน รวมถึงการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์” ประธาน SAM SN Group กล่าว

    กัมพูชาและญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) คาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในความสัมพันธ์ทางการค้า

    เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน เอรี อาร์ฟิยะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ในระหว่างการพบปะกับนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ในจังหวัดเสียมราฐ ให้คำมั่นที่จะกระชับความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขณะที่จำนวนนักลงทุนญี่ปุ่นในกัมพูชายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    “การเป็นพัธมิตรและความร่วมมือ ตลอดจนการสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและกัมพูชา ไม่เพียงแต่จะคงอยู่ แต่จะยังคงมีความเแข็งแกร่งและขยายต่อไป” อาร์ฟิยะกล่าว

    เพื่อส่งเสริมการค้าทวิภาคีให้แข็งขันมากขึ้น หอการค้ากัมพูชาร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่น-กัมพูชา ได้จัดงาน “การประชุมจับคู่ธุรกิจกัมพูชา-ญี่ปุ่น ประจำปี 2567 2024 Cambodia-Japan Business Matching Conference” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน

    สินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษ เครื่องใช้สำนักงาน และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ในทางกลับกัน กัมพูชานำเข้าเครื่องจักร ยานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์พลาสติกจากญี่ปุ่น

    กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนมูลค่า 6.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567

    นายซุน จันทอล รองนายกรัฐมนตรี กัมพูชา ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501611827/6-9-billion-worth-investment-projects-registered-in-2024/
    สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (Development of Cambodia :CDC) อนุมัติโครงการลงทุน 414 โครงการในปี 2567 เพิ่มขึ้น 54% จาก 268 โครงการในปีที่แล้ว

    โครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติมีเงินลงทุนรวม 6,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 40% จาก 4,927 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

    เมื่อเร็วๆ นี้ นายซุน จันทอล รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานคนที่หนึ่งของ CDC กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของโครงการลงทุน มาจากความสงบ เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจมหภาค กรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่ดีขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชา

    “รัฐบาลได้ดำเนินการเชิงรุกในการจัดการกับความยากลำบากและความท้าทายของภาคเอกชน เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมการลงทุนสำหรับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศดีขึ้น” นายจันทอลกล่าว

    เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำลงทุนแล้ว 5 พันล้านดอลลาร์

    นายคำแสวง วิไลพง รองประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_251_y24/freefreenews/freecontent_251_Golden_y24.php
    ผู้ดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอต้นผึ้ง จังหวัดบ่อแก้ว ได้ใช้เงินมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ การพัฒนาเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในเขตเศรษฐกิจให้ทันสมัย เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและศูนย์กลางธุรกิจ จากการเปิดเผยของนายคำแสวง วิไลพง รองประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่ได้พบปะกับผู้สื่อข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้าล่าสุด

    เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยกลุ่ม Kings Romans หรือ ดอกงิ้วคำ ในภาษาลาว และ Golden Kapok ในภาษาจีน ภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลลาวและจีน เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำครอบคลุมพื้นที่ 3,000 เฮกตาร์ภายใต้สัญญาเช่า 99 ปี

    จนถึงปัจจุบัน ได้มีการลงทุนประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ โดยดอกเงี้ยวคำจัดสรรเงินให้ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    รัฐบาลลาวได้สนับสนุนเงินสนับสนุนการก่อสร้างถนนระยะทาง 46.6 กิโลเมตร ระหว่างหมู่บ้านน้ำกิงและหมู่บ้านมอม และเขื่อนริมแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันการกัดเซาะ มูลค่า 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ตั้งแต่ปี 2550 นักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจ 2,459 หน่วยในเขตเศรษฐกิจ ด้วยทุนจดทะเบียนมากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงบริษัท 331 แห่ง และธุรกิจขนาดย่อย 2,128 แห่ง

    นายคำแสวงกล่าวว่า คณะกรรมการบริหารของเขตเศรษฐกิจได้สนับสนุนทางการเงืนเพื่อการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ด่านตรวจระหว่างประเทศ สนามบินนานาชาติ โรงเรียน โรงพยาบาล สวนสาธารณะ และโรงบำบัดน้ำเสีย และริเริ่มแผนการเกษตรสมัยใหม่ในวงกว้าง นอกจากนี้มีการสร้างโรงแรมทั้งหมด 22 แห่ง รวมถึงสนามกอล์ฟ 18 หลุม ศูนย์การค้า สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ และตลาดกลางคืน

    ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา มีรายรับรวมกันถึง 605 พันล้านกีบ ในปี 2566 มีรายได้ 80.3 พันล้านกีบ ค่าธรรมเนียมวีซ่าที่เรียกเก็บที่จุดผ่านแดนระหว่างประเทศสามเหลี่ยมทองคำมีมูลค่า 1.4 ล้านดอลลาร์ โดยมีรายได้จากภาษีอยู่ที่ 30.15 พันล้านกีบ

    ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ รายได้รวมที่ได้รับในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มีมูลค่า 128 พันล้านกีบ ขณะที่ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บที่ด่านระหว่างประเทศสามเหลี่ยมทองคำในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ 1.31 ล้านและ 21.82 พันล้านกีบ