ThaiPublica > Sustainability > Headline > NRF เดินหน้า “ไบโอชาร์” นวัตกรรมเพื่อเกษตรกร สู้โลกร้อน

NRF เดินหน้า “ไบโอชาร์” นวัตกรรมเพื่อเกษตรกร สู้โลกร้อน

28 พฤศจิกายน 2024


นายแดน ปฐมวาณิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF)
ระบบอาหารเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก งานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพบว่า การกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) บนพื้นที่เกษตรกรรม มีศักยภาพในการลดภาวะโลกร้อน ในขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนการบรรเทาผลกระทบทั้งระบบเศรษฐกิจด้วย

หนึ่งในแนวทางกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่เกษตรกรรม คือ การนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาแปลงเป็นถ่านไบโอชาร์ biochar ที่มาจากคำว่า “ชีวมวล (biomass)” และ “ถ่าน (charcoal)” เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศและเก็บไว้ในดิน ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมกลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนสามารถขยายผลไปสู่การใช้งานในระดับชุมชนและเกษตรกรรายย่อยได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

ผลการศึกษา ระบุว่า ภายในปี 2593 การใช้แนวทางการปฏิบัตินี้ในประเทศแถบอเมริกาใต้ และกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณที่เทียบเท่ากับการปลูกป่าใหม่ การกักเก็บคาร์บอนบนพื้นที่เกษตรกรรมไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อความพยายามในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจช่วยให้ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการใช้ที่ดิน บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลกภายในปี 2593

  • NRF เดินหน้าสู่ Carbon Negative ด้วยโครงการ Decarbonization ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน
  • ในประเทศไทย บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ได้นำแนวทางนี้มาปรับใช้กับภาคเกษตรกรรมในไทยผ่าน โครงการดักจับคาร์บอน (Decarbonization) ที่เกิดจากการเผาชีวมวลจากภาคเกษตร เดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero

    “เหตุผลหลักที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับบริษัทและตัวผมเอง ก็คือ ความห่วงใยต่อชุมชน เพราะภาวะโลกร้อนกําลังสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลมากต่อพี่น้องเกษตรกรของเรา” นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์
    โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

    นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า เป้าหมายความยั่งยืนของ NRF เริ่มตั้งแต่ภารกิจของ NRF คือ จุดมุ่งหมายที่จะทําให้ระบบอาหารทั่วโลกยั่งยืนแล้วก็เข้าไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (net zero) ให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ บนภารกิจนี้ ได้แยกออกมาเป็นเป้าหมายตาม SDGs ไปถึงพันธกิจ (mission) ของ NRF คือ การดักจับคาร์บอน (Decarbonization) ในระบบอาหาร ด้วยการทำให้ระบบอาหาร ระบบการเกษตร ห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงทุกคนในอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของ NRF สามารถที่จะเดินก้าวต่อไปด้วยความเป็นธรรม มีรายได้ที่สามารถอยู่ได้ และทําให้ทั้งบริษัท รวมไปถึงสินค้าสามารถที่จะเข้าสู่ net zero

    นายแดนกล่าวเสริมว่า NRF ได้ประกาศเป้าหมายสู่ net zero ในปี 2050 โดยมุ่งการลดการปล่อยคาร์บอนตามแนวทาง SBTi (Science-based Target Initiatives) ซึ่งการปล่อยในช่วงปลายน้ำนั้น ได้เริ่มลดจากการดำเนินของบริษัทเองแล้ว แต่ไม่เต็ม 100% ทำได้เพียงซื้อคาร์บอนเครดิต รวมไปถึงการขนส่งไปถึงปลายน้ำ ส่วนกลางน้ำ ทําเท่าที่ทําได้ ทั้งการบริหารการใช้พลังงาน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การใช้ไฟฟ้าในโรงงาน ในโรงงานมีระบบ zero waste และขณะนี้กำลังเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในส่วนของต้นน้ำ สิ่งที่พยายามทําอยู่ ขั้นแรก คือพยายามไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ที่ช่วยลดการใช้สารเคมีไปในหนึ่งประเภท ส่วนการใช้ปุ๋ยยังเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างใหญ่ และขั้นตอนสุดท้าย คือ การแปลงชีวมวลเป็น biochar

    แม้ตั้งเป้าหมายสู่ net zero ในปี 2050 แต่การดำเนินงาน คือ ต้องทําให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะในห่วงโซ่อุปทานก็ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังไม่รวมถึงคาร์บอน ซึ่งมีก๊าซมีเทน (methane) ด้วย

    “NRF ซื้อข้าวจากเกษตรกร ซึ่งมีก๊าซมีเทนค่อนข้างมาก ประมาณปี 2018-2019 เราศึกษาทั่วโลกเลยว่าจะทำอย่างให้บริษัทอาหารอย่างเรา เข้าสู่ net zero ได้ พบว่า มีวิธีเดียวในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ที่จะสามารถลดคาร์บอนได้ คือภาคการเกษตรต้นน้ำ เพราะภาคการเกษตรมีการปล่อยคาร์บอนและมีเทน จาก 3 เรื่องหลัก คือ 1) ยาฆ่าแมลง 2) ปุ๋ย ซึ่งถือว่าหนักสุด เพราะในกระบวนการผลิตยาฆ่าแมลงกับปุ๋ย ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก และ 3) การใช้เชื้อเพลิงกับเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร และการขนส่งสินค้าเกษตร ปัญหาหลักในภาคเกษตร คือการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นี่คือการปล่อยคาร์บอนมหาศาลมาก” นายแดนกล่าว

    นายแดนเปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยอาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 300 ถึง 340 ล้านตันต่อปี ทั้งประเทศ และประเมินปริมาณการเผาไร่และของเหลือในไร่ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านตัน ซึ่งแปลงออกมาเป็นคาร์บอนที่ปล่อย ประมาณ 50 ล้านตันต่อปี นี่คือเป็นปัญหา

    “ผมคิดว่า ถ้าหากว่าผมทําเป้าได้เร็วกว่าปี 2050 หรือก่อนปี 2030 ผมต้องลดกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลางน้ำไปถึงปลายน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ พร้อมกับการซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อให้บริษัทมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ได้ ซึ่งที่ผ่านมา เราเป็นบริษัทเดียวที่มีโรงงานที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน 4 ปีซ้อนแล้ว”

    นายแดน กล่าวว่า นวัตกรรมมีความสําคัญมากเพราะว่าปัญหาหรือการแก้ปัญหาเรื่องของโลกร้อนจะต้องนําเทคโนโลยีที่สามารถปฏิบัติได้ในแต่ละประเทศ แล้วก็เหมาะสมกับประเทศเหล่านั้น ต้องสามารถที่จะสร้างผลกระทบได้จริง

    “NRF ศึกษาเทคโนโลยีทั่วโลก ลึกลงไปถึงขั้นที่ว่ารัฐบาล กลุ่มเกษตรใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นใช้ได้ผลหรือไม่ สุดท้ายเราก็เจอนวัตกรรม คือ การแปรรูปชีวมวลมาเป็นไบโอชาร์ (biochar) เป็นนวัตกรรมที่ดีที่สุดและง่ายที่สุด ซึ่งเกษตรกรทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไทย อินเดีย หรือแอฟริกา สามารถนํานวัตกรรมเตาเผาที่ไร้มลพิษมาใช้ได้”

    …นายแดนกล่าว

    นายแดนกล่าวว่า เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมอาหารภาคการเกษตรเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดถึง 30% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก บริษัทฯ จึงได้นํานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนและยกระดับให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน โดยใช้ในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากชีวมวลในภาคการเกษตร และแปรรูปเป็น biochar หรือ biocarbon แล้วนํา biochar กลับไปฝังในดินในพื้นที่ของเกษตรกร ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และกักเก็บน้ำได้สมบูรณ์ขึ้น แต่สําคัญกว่านั้น คือเป็นการลดคาร์บอนในตัวเพราะวิธีนี้ช่วยให้เกษตรกรมีทางออกในการเผาของเหลือใช้จากการเกษตร เป็นการลดคาร์บอนบนโลก และอาจจะได้คาร์บอนเครดิต (carbon credit) ด้วย

    “ผมเชื่อว่านวัตกรรมนี้จะเป็นเครื่องมือสําคัญในการต่อสู้โลกร้อน”

    …นายแดนกล่าว

    “เราต้องใช้เทคโนโลยีที่ง่ายและไม่แพง ประหยัดต้นทุน เกษตรกรทําได้จริง ฉะนั้นจึงคิดว่านวัตกรรมที่เราหามาได้ ตอบโจทย์เรื่องพื้นที่เกษตรกรรมในไทยที่กระจัดกระจาย ไม่ใช่เกษตรกรรมแปลงใหญ่แบบในสหรัฐฯ พื้นที่เกษตรกรรมในไทยไม่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติได้ทั้งหมด และยังตอบโจทย์เรื่องคุณสมบัติชีวมวลที่ต้องใกล้เคียงกัน ดังนั้น เทคโนโลยีที่ NRF นำมาใช้ จึงมีความเหมาะสมกับพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน หรือลงไปถึงระดับครอบครัว”

    นายแดนกล่าวว่า โครงการลดคาร์บอนในภาคการเกษตรเป็นโครงการพิเศษที่เริ่มขึ้นในปี 2564 นับตั้งแต่บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนระบบอาหารและเข้าสู่ net zero โครงการลดคาร์บอนในภาคการเกษตร เป็นการลดการเผาไหม้ของเหลือ หรือเผาไร่ในการเกษตร โดยในช่วงแรกบริษัทได้ไปสำรวจค้นหาเทคโนโลยีจากทั่วโลก เพื่อจะแก้ปัญหา และพบเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภาคการเกษตรของไทย จากนั้นได้สำรวจและรับสมัครหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ พร้อมสอบถามความเห็นชุมชนในพื้นที่ และขออนุญาตเพื่อดำเนินการในพื้นที่ รวมไปถึงการทดสอบเพื่อประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีที่จะนํามาใช้ ปัจจุบันดำเนินงานโครงการนำร่องแล้วที่ สองหมู่บ้าน ในภาคเหนือ

    นายแดนกล่าวว่า NRF ใส่ใจเรื่องของชุมชนกับภาคการเกษตรมาก ในสองหมู่บ้านที่ได้เริ่มโครงการนำร่อง ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มรายได้ และสร้างอาชีพใหม่ให้กับภาคการเกษตร เนื่องจากว่า อีก 20 ปีข้างหน้า ภาคการเกษตรของประเทศไทยคาดว่าจะประสบปัญหาแน่นอน และโครงการนี้เป็นก้าวแรกของทั้ง NRF และภาคการเกษตรที่จะเข้าสู่การเกษตรยั่งยืน

    “ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ การทําการเกษตรก็จะมีปัญหาพอสมควร จาก 1) ปัญหาเรื่องภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากโลกร้อน 2) การส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศจะเจอเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ถ้าหากว่าเราไม่เริ่มจากภาคการเกษตร ก็อาจจะมีผลกระทบในเรื่องของการส่งออก เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะต้องสามารถที่จะสร้างอาชีพ ที่ทันกับนโยบาย ที่เท่าทันกับโลกที่กําลังเปลี่ยนแปลงไปให้กับพี่น้องเกษตรกร”

    นายแดนกล่าวอีกว่า NRF มีทีมงานพิเศษที่ดูแลการแก้ปัญหาโลกร้อน คือ ภาคการเกษตร โดยได้ส่งทีมลงพื้นที่ ค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสม สำรวจหาชุมชน หมู่บ้านที่น่าจะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงการเชิญชวนคนในพื้นที่ให้เข้ามารับการอบรม เพื่อเป็นตัวแทนในการกระจายความรู้ให้กับเกษตรกร ซึ่งก็ประสบความสําเร็จที่ดีกับโครงการแรกแล้ว

    “ผมว่าการที่เราชี้ให้เขาเห็นด้วยความรู้เทคโนโลยี และสนับสนุนเรื่องการเงิน พร้อมชี้ให้เห็นด้วยว่าจะสามารถร่วมมือได้อย่างไร เกษตรกรเองก็อยากจะร่วม เป็นจุดสำคัญที่ NRF ได้ช่วยเกษตรกร” นายแดนกล่าว

    “สิ่งที่เราจะทําต่อ คือการพัฒนาวิธีการที่จะทำให้เราสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ และถ้าสําเร็จก็จะขยายไปหมู่บ้านอื่น พื้นที่อื่นๆ และจะขยายโครงการไปเรื่อยๆ โดยเป้าหมายคือ ทําให้เกษตรกรมีทางเลือกที่จะไม่เผาไร่ในภาคเหนือ แล้วก็สามารถที่จะผลิตสินค้าเกษตรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมอาหารรวมไปถึงบริษัทใหญ่ๆ ด้วย” นายแดนกล่าว

    นายแดนซึ่งยังเป็นประธานคณะอนุกรรมการความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยด้วยได้กล่าวต่อว่า จากการทำงานกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อชักชวนให้เลิกเผ่าไร่ พบว่า เกษตรกรเองก็ไม่อยากเผา ส่วนใหญ่รู้ว่าไม่ควรเผาแต่ที่เผาเพราะไม่มีทางออกอื่น ไม่เช่นนั้นการทิ้งของเหลือ เช่น ซังข้าวโพดในพื้นที่จะมีปัญหาอื่นตามมา หากแนวทางของ NRF สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ทั้งประเทศก็ได้ประโยชน์

    นายแดนกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้ทดลองกระบวนการนี้กับชุมชนที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งอาจจะยังไม่เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทแต่ก็นับว่าสําเร็จพอสมควร เพราะสามารถเแปรชีวมวลเป็น biochar ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ต้องเอาไปฝังในไร่ แล้วให้ต่างประเทศมารับรองว่า กระบวนขบวนการนี้ทั้งหมด ทําให้สามารถที่จะลดคาร์บอนในโลกนี้ได้ ซึ่งหากรับรองว่ากระบวนการนี้ลดคาร์บอนได้ ก็จะมาปรับใช้กับเกษตรกรที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานผลิตสินค้าให้กับบริษัททั้งหมด โดยจะทำในรูปของธุรกิจ และเผยแพร่ออกไป เพราะว่าสามารถทําเงินได้ ด้วยการขายความเป็นเครดิต

    นายแดนย้ำว่า กระบวนการนี้ยังอยู่ในช่วงทดลอง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ (validation and procedures) ว่า กระบวนการนี้ใช้ได้จริง ขั้นตอนสิ่งสําคัญสุด คือการรับรองหรือการยืนยันขบวนการ ถ้าต่างประเทศยืนยันว่า กระบวนการถูกต้องไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หักลบก๊าซเรือนกระจก ก็สามารถขายความเป็นเครดิตได้

    “ถ้าผมทํากระบวนการนี้ได้สําเร็จแล้ว แล้วต่างประเทศยอมรับได้ เท่ากับว่าเราจะเข้าสู่ net zero ด้วย science-based target initiatives (SBTi)”

    …นายแดนกล่าว

    ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำร่องของ NRF จำนวนรวมกว่าสองร้อยคนจากสองชุมชน แต่กระบวนการนี้ยังไม่ได้นำไปใช้กับเกษตรกรทั้งหมดที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท เนื่องจากต้องมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึง ความสำเร็จ ว่าทำเงินได้ ลดต้นทุน คุ้มค่าที่จะเรียนรู้และลงมือทำ

    สำหรับการขับเคลื่อนความยั่งยืนของบริษัทให้ต่อเนื่อง นายแดนกล่าวว่า ทุก 3 เดือน NRF จะมีการประชุมใหญ่ทั้งองค์กรที่ทุกคนในบริษัทต้องเข้าร่วม และจะมีการพูดถึงความยั่งยืน ซึ่งได้พูดมาต่อเนื่องหลายปี จนกระทั่งทุกคนรู้ว่า เป็นสิ่งสําคัญสําหรับบริษัทว่าต้องยั่งยืน และก็มีการจัดกิจกรรมตาม SDGs พร้อมกับมีเป้า KPI และส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรม

    “เราก็พยายามที่จะทํานี้ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็พยายามจะพูดกับพนักงานว่า สิ่งที่เราทําไม่มีโรงงานอื่นทำ และมีส่วนช่วยทําให้โลกเราดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็คือในการกําหนดพันธกิจกับภารกิจของบริษัทตั้งแต่คณะกรรมการลงมา ว่านี่คือสิ่งที่เราต้องทํา”

    “สุดท้ายสิ่งที่ผมอยากจะบอก คือ วิธีการที่เราจะต่อสู้โลกร้อน วิธีการที่เราจะช่วยภาคการเกษตร วิธีการที่เราจะทําให้พวกเรายั่งยืนขึ้นแล้วโดยเฉพาะเข้าสู่เป้าใน net zero ทั้งระดับประเทศแล้วระดับองค์กร รวมทั้งเกษตรกรของเรา คือ ให้เลือกซื้อสินค้าที่ยั่งยืน ให้เลือกซื้อสินค้าที่ใช้กรรมวิธีที่สีเขียว ให้เลือกสินค้าที่มีตรา net zero หรือ carbon neutral เพียงเท่านี้ก็มีส่วนร่วมในการที่จะแก้ปัญหาแล้วก็ต่อสู้โลกร้อนได้” นายแดนกล่าว

    ชม VDO เราปรับโลกเปลี่ยน NRF เดินหน้า “ไบโอชาร์” นวัตกรรมเพื่อเกษตรกร สู้โลกร้อน