ThaiPublica > Sustainability > NRF มุ่งสู่ The 1st Carbon Negative Company บริษัทยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 22

NRF มุ่งสู่ The 1st Carbon Negative Company บริษัทยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 22

9 กรกฎาคม 2021


นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)

“FOOD FOR FUTURE Transforming the food system for a low carbon world” เป็นสิ่งแรกที่จะพบเมื่อคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีที่ผ่านมา

“NRF เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 2020 และเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทจดทะเบียนไทยที่ขับเคลื่อนองค์กร เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนผ่านการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากธุรกิจอาหารมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก” นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพบริษัท

“การที่เราจะพัฒนาไปต่อเนื่องด้วยโดยไม่ใส่ใจกระบวนการผลิตโลกจะไม่ยั่งยืน NRF ที่เป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อยั่งยืน พยายามใช้ธุรกิจของเราต่อสู้กับโลกร้อน” นายแดนกล่าว

บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) NRF ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2534 ประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์ปรุงรส โดยมีผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่ม Ethnic Food 2) กลุ่มPlant-Based Food และ3) กลุ่ม Functional Product และผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของ NRF และผลิตภัณฑ์ของรับจ้างผลิต(OEM) กว่า 2,000 รายการ

NRF ยังให้คำจำกัดความบริษัทไว้บนเว็บไซต์ด้วยว่า เป็นบริษัทอาหารระดับโลกสำหรับศตวรรษที่ 22 ซึ่งนายแดนตอกย้ำว่า

“บริษัทสำหรับศตวรรษที่ 22 คือ เป้าหมายของ NRF ที่จะเป็นบริษัทที่ยั่งยืน นอกเหนือจากการมีความคล่องตัวหรือ Agile และเชื่อมต่อกับลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง”

โลกมีการพัฒนาก้าวหน้ามาตลอด 100 ปีที่ผ่านมา และก้าวสู่การพัฒนาดิจิทัลมากขึ้น แต่ไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะสร้างผลกระทบในหลายด้านรวมทั้งสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน โลกกำลังก้าวสู่ยุคของผู้บริโภคที่ต้องการการตอบสนองในทันที และมีความโปร่งใสของข้อมูล

“ผมมองว่า บริษัทที่เหมาะที่จะเป็นบริษัทแห่งศตวรรษ คือต้องเป็นบริษัทที่ยั่งยืน มีความคล่องตัวเพราะยิ่งคล่องตัวมากเท่าไร องค์กรก็ยิ่งเล็กการปล่อยคาร์บอนก็ยิ่งน้อย และสามารถเชื่อมต่อกับกับลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายแดนกล่าว

NRF เป็นหนึ่งในตัวแทนประเทศไทย ที่ได้เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการงานสัมมนาระดับโลก UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2021 ที่จัดขึ้นในวันที่ 15-16 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนศักยภาพของภาคธุรกิจไทยที่พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนระดับโลก และเป็นตัวอย่างขององค์กรธุรกิจที่นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs มาผนวกเข้ากับเป้าหมายองค์กร มีแผนงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

5 ก้าวมุ่งบริษัทอาหารยั่งยืน

นายแดนให้เส้นทางการก้าวสู่บริษัทอาหารยั่งยืนว่า เริ่มจากการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ให้ชัดเจน จากนั้นวางแผนการดำเนินงานซึ่งแบ่งออกเป็นแผนระยะสั้นและแผนระยะปานกลาง โดย NRF มีแผน 3 ปี ซึ่งวางแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้ NRF พลิกโฉมอย่างยั่งยืนภายใน 3 ปี

นายแดนกล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา NRF เปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งเป็นก้าวแรกไปสู่ Future of Food และ 3 ปีหลังจากนี้จะเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล เพื่อการเติบโตที่มีความคล่องตัว และมีการปล่อยคาร์บอนน้อย

“เรากำลังจะสร้างโรงงานในประเทศอื่น มีสำนักงาน แต่เราจะมีบุคลากรไม่มาก เพราะไม่สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ใหญ่” นายแดนกล่าว

การเปลี่ยนผ่านด้านที่สามคือ การปรับเปลี่ยนองค์กร เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กร ความคิดของคนมีความสำคัญ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งอุปสรรคและโอกาสในการที่ก้าวไปข้างหน้า ดังนั้นต้องเริ่มจากภายในองค์กรก่อน

นายแดนกล่าวว่า…

การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและการพัฒนาองค์กรให้ไปสู่ความยั่งยืน มีความสำคัญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องปรับความคิดภายในทำให้บุคลากรยอมรับการประเมินผลงาน( KPI) ที่ไม่มีตัววัดผลที่ชัดเจนออกเป็นรูปธรรม และไม่เกี่ยวข้องกับตัวคน

“KPI ของเรากำหนดไว้ว่า อย่างน้อยใน 1 ปีต้องมี 1 ชั่วโมงที่พนักงานต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น มิฉะนั้นจะไม่มีการเข้าร่วม เนื่องจากงานในหน้าที่ของพนักงานแต่ละคนก็มีมากอยู่แล้ว” นายแดนกล่าวและว่า กิจกรรมของพนักงาน มีความหลากหลายพอสมควร เช่น การนำเศษอาหารไปทำปุ๋ย การนำสินค้าของบริษัทฯไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด และการให้ความรู้”

การเปลี่ยนผ่านด้านที่สี่ คือ การปรับเปลี่ยนระบบปฏิบัติการ(Operations) เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากการกำหนดรูปแบบธุรกิจ(Business Model ) ก่อน ซึ่ง NRF วางรูปแบบธุรกิจที่มุ่งสู่การลดคาร์บอน รวมทั้งให้คนบริโภคโปรตีนจากพืช(Plant-based Food) ให้มากขึ้น และเป็นบริษัทผลิต plant-based food ที่ใหญ่

“ผมประเมินว่าบนแพล็ตฟอร์มของเราหลังจากพัฒนาเสร็จแล้ว โรงงานของเราในแต่ละประเทศจะสามารถลดคาร์บอนได้ปีละ 12 ล้านตัน ไม่ใช่คาร์บอนที่ชดเชยได้ แต่เป็น Carbon Saving Multiplier จากการที่ คนไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และหันมาบริโภค plant-based food แทน” นายแดนกล่าว

การเปลี่ยนผ่านด้านสุดท้ายเกี่ยวข้องกับผู้จัดหาสินค้า(Supplier)ให้บริษัทฯและผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต(Supplier Chain) ซึ่งไม่สามารถบังคับให้ปฏิบัติได้ และเป็นการดำเนินการที่ยากที่สุดในก้าวสู่บริษัทยั่งยืน NRF จึงมีนโยบายที่จะซื้อวัตถุดิบและสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่มีวัตถุประสงค์ไม่แตกต่างกัน

“เราพยายามที่จะเพิ่มจัดซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านคนกลางและที่สำคัญคือ ซื้อสินค้าปลอดสาร ซึ่งมีผลกระทบต่อคาร์บอนจากการใช้สารเคมี”

นอกจากนี้ยังใช้แนวทางการสร้างแรงบันดาลใจให้เลิกใช้สารเคมีเพื่อลดคาร์บอน โดยในกลุ่มเกษตรหากปลูกพืชให้ได้ตามคุณสมบัติและคุณภาพที่บริษัทกำหนด เช่น พืชปลอดสาร จะได้ราคาที่สูงกว่าตลาด 20% ส่วนการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่เป็นบริษัทขายสินค้าออร์แกนิกซึ่งมีต้นทุนสูง ก็จะรักษาความสมดุลระหว่างต้นทุนกับความยั่งยืนด้วยการกำหนดคุณภาพสินค้า

สร้างแนวร่วมขับเคลื่อนทุกระดับ

นายแดนกล่าวต่อว่า NRF ได้นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals:SDGs)เข้ามาผนวกในการปฏิบัติงาน(Operations)ของบริษัทฯ เพื่อก้าวสู่บริษัทยั่งยืน และโดยที่ NRF เป็นบริษัทผลิตอาหารที่มีการปล่อยคาร์บอน การดำเนินการตาม SDGs จึงยึด SDGs ข้อที่ 13 เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น(Take urgent action to combat climate change and its impacts)

นอกจากนี้ยังนำ SDGs ข้อ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน(Strengthen the means of implementation and revitalize the global partnership for sustainable development)มาใช้ เนื่องบริษัทฯไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง แต่ต้องมีหุ้นส่วนทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อช่วยกันให้ความรู้ให้คนตระหนักถึงโลกร้อน และพัฒนากิจกรรมที่ก่อให้เกิดผล

สำหรับการขับเคลื่อนในประเทศ NRF ได้ดำเนินการผ่านบริษัทลูกซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ชื่อว่า Root the Future โดยได้จัดงาน Root the Future Festival:Plant-Based & Sustainability ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมีคนเข้าร่วมกว่าหมื่นคน มีเอสเอ็มอีเข้าร่วมจำนวนมาก มีปริมาณธุรกรรมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

“การสร้าง partnership สำคัญที่สุด ไม่ว่าจากคู่แข่งหรือ ภาคส่วนอื่น การแข่งขันคือการพัฒนา ทุกอย่างที่เราทำคือการสร้าง partnership การสร้างระบบนิเวศในประเทศเพื่อให้ SMEs ร่วมโครงการกับเรา”

NRF ยังได้ร่วมทุนกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินธุรกิจโปรตีนทางเลือก ระยะแรกจะเป็นการพัฒนา ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (Plant-based protein) แบบครบวงจร โดยบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ปตท. จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ NRF

ส่วนการขับเคลื่อนในระดับโลก NRF ได้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World Economic Forum เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นประเทศฐานในการผลิตโปรตีนทางเลือก ซึ่งนอกจากจะเพิ่มพืชเศรษฐกิจให้เกษตร กรแล้ว ยังเป็นการสร้าง s-curve ใหม่ให้กับประเทศ ด้วยการร่วมมือกับกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์

NRF ได้ร่วมมือกับ Forum for the Future มูลนิธิแห่งหนึ่งในอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์กรแรกที่ทำการวิจัย รายงานในปี 2015 ว่า โลกจะประสบกับวิกฤติ โปรตีน ปี 2040 เนื่องจากจำนวนพื้นที่ที่มีเทียบกับประชากรค่อนข้างจำกัด รวมทั้งความต้องการเนื้อสัตว์มีมากว่าปริมาณ เพื่อทำให้ทุกคนตระหนักรู้และหันมาบริโภค plant-based protein หรือ โปรตีนทางเลือกมากขึ้น

ความร่วมมือกับ Forum for the Future ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยในเร็วๆนี้จะร่วมกันออกรายงานฉบับใหม่ที่จะสร้างผลกระทบได้ ซึ่งมีเป้าหมายที่ไปการปรับเปลี่ยนการลงทุนของกองทุนโดยเฉพาะ ESG Fund โดยพยายามให้ความรู้และทำให้กองทุนตระหนักว่า การลงทุนในบริษัทต่างๆ ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย

“ESG Fund มีมากแต่ยังไม่เข้มงวดพอ ส่วนใหญ่มองจากรายงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรายงานแบบใส่เครื่องหมายถูกลงในช่องว่าง ทั้งๆที่ควรจะดูที่ core KPI ของกิจการบริษัท” นายแดนกล่าว

นายแดนขยายความเพิ่มเติมว่า เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจทั้งเงินที่ไหลเข้าตลาดทุนและนอกตลาดทุน NRF จึงทำงานเชิงวิชาการร่วมกับ Forum for the Future เพื่อพยายามทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง โดยประเมินจาก กระแสการลงทุนทั้งในและนอกตลาดทุน และเริ่มจากกลุ่มประเทศอาเซียนก่อน เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาการลงทุนให้กับกองทุน

เดินหน้าสู่องค์กร Carbon Negative ใน 3 ปี

นายแดนกล่าวว่า เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของ NRF แบ่งออกเป็น 2 เป้าหมาย เป้าหมายแรกเป็นการตั้งเป้าหมายตาม Science-based Targets (SBT) คือ การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส บนพื้นฐานทาง Climate Science ซึ่งมีเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และมุ่งสู่การจำกัดอุณหภูมิฯ ไว้ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

NRF เป็น 1 ใน 3 องค์กรแรก ของประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมกับ Science-based target (SBT): 1.5-degree pledge ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน

“เป้าหมายด้านนี้ของเราคือ การชดเชยคาร์บอนจากการดำเนินงาน ปีละ 4,500 ตัน และมีโครงการปลูกป่า” นายแดนกล่าว

NRF มีเป้าหมายต้องการที่จะเป็นบริษัทที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ หรือ Carbon Negative Company ของไทยรายแรก

“เราต้องการที่จะเป็นบริษัทที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นลบรายแรกของไทย ซึ่งเชื่อว่ามีเวลาที่จะทำได้และพยายามทำให้ได้”

เป้าหมายที่สองไม่ใช่ science based target แต่เป็น การบริโภคอย่างยั่งยืน ต้องการให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคสิ่งที่ดีต่อโลกและต้องการที่จะผลิต plant based food

“เป้าหมายของเราคือต้องการเป็นผู้ผลิตอาหารจากพืชรายใหญ่ที่สุด ด้วยการสร้างเครือข่ายการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อที่จะเปิดให้สตาร์ตอัพ แบรนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นผู้ผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ”

นายแดนกล่าวว่า เชื่อว่าภายใน 3 ปีเมื่อโรงงานของ NRF สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต และผู้บริโภคหันมาบริโภค plant based food ก็จะช่วยลดคาร์บอนได้ปีละ 2 ล้านตันซึ่งถือลดได้มาก เพราะปี 2019 ทั้งปีไทยปล่อยคาร์บอน 271 ล้านตัน

“เป้าหมายการเป็น บริษัทที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบรายแรกเป็นความมุ่งหวังใน 3 ปี ของเราและ เริ่มจากฐานที่ไม่ใหญ่ การลดคาร์บอน 5,000-6,000 ตันไม่ยากมาก แต่จะพยายามผนวกเข้าไปในการดำเนินงานของโรงงานทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันเราพยายามปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด มีการใช้โซลาร์ การที่จะสามารถปล่อยคาร์บอนเป็นลบ ระบบปฏิบัติงาน ต้องลดคาร์บอนได้” นายแดนกล่าว

นายแดนกล่าวว่า แนวโน้มการบริโภคทั่วโลกแตกต่างกัน โดยในยุโรปผู้บริโภคมีความตระหนักถึงความยั่งยืนและบริโภคสินค้ายั่งยืนไม่เฉพาะ plant-based food เท่านั้นแต่รวมไปถึงสินค้าประเภทอื่นด้วย แม้มีราคาสูง ส่วนในสหรัฐฯตระหนักถึงความยั่งยืนแต่จะบริโภคเมื่อตอบโจทย์ความต้องการ ขณะที่ในเอเชียเริ่มตระหนักแต่ยังไม่มากเท่ากับต่างประเทศ เนื่องจากยังนิยมอาหารที่มีรสชาติและยังไม่อยากจ่ายในราคาสูง

“เราต้องขยายความร่วมมือมากในขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค ในเอเชียเริ่มมีกระแสธุรกิจ plant-based food และขยายเร็วทั้งใน ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน” นายแดนกล่าว

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนการลดคาร์บอนยังมีความท้าทาย จากหลายประเด็น แต่อุปสรรคที่สำคัญคือ ข้อจำกัดของเทคโนโลยี โดยปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถผลิตวัสดุที่ใช้แทนพลาสติกซึ่งมีคุณสมบัติถนอมอาหารได้นานและมีความปลอดภัย อุปสรรคต่อมาคือ ผู้บริโภคยังไม่รับรู้ต้นทุนที่แท้จริงของสินค้า True Cost Accounting

การจำหน่ายสินค้าในปัจจุบันอยู่ในระบบซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีรูปแบบธุรกิจคือ ตั้งราคาสินค้าให้ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงเกิดการบีบราคาในห่วงโซ่ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ไปจนถึงอุตสาหกรรม และ เกษตรกร

SDGs ข้อ17 สามารถนำมาแก้ไขประเด็นนี้ได้ โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องร่วมกันไม่กดราคาแต่ปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนจริงของเกษตรกร หรือผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ ผู้บริโภคเองก็ต้องยอมที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น รวมทั้งภาครัฐเองก็ต้องมีนโยบายเรื่องนี้

“บางอุปสรรคแก้ไขไม่ได้ บางอุปสรรค์แก้ไขได้ด้วยการเมือง และบางอุปสรรคแก้ไขด้วย partnership”

นายแดนกล่าวต่อว่า ในเร็วๆนี้จะเปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับต้นทุนที่แท้จริงของสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีความรู้ มีความเข้าใจ

“สำหรับผู้บริหารเราไม่มีเวลาเหลือ จำเป็นต้องวางแผนและปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนบริษัทให้ยั่งยืนตาม SDGs เราไม่มีเวลาเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนผู้บริโภค จำเป็นต้องบริโภคที่ยั่งยืน วิธีการที่ง่ายที่สุดบริโภค plant based food ซื้อของออร์แกนิกหรือซื้อของที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนชัดเจน ค่อยๆทำทีละขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไป ถ้าทุกคนร่วมกันทำจะเกิดเป็นพลังที่มหาศาลมาก” นายแดนกล่าว