ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > Climate Action: NRF เร่งเดินหน้าตาม SBTi ลดปล่อยคาร์บอนสู่ Carbon Negative Company

Climate Action: NRF เร่งเดินหน้าตาม SBTi ลดปล่อยคาร์บอนสู่ Carbon Negative Company

12 มกราคม 2022


NRF ตั้งเป้า Net Zero Emission ภายในปี 2030 ก้าวสู่การเป็น The 1st Carbon Negative Company บริษัทยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 22 เพิ่มขีดการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ช่วยเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจด้วยการช่วยเหลือภาคเกษตร กลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกวัตถุดิบหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ใช้พลังงานสะอาดและวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรมาใช้ประโยชน์เพิ่มผลผลิต รวมทั้งสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคหันมาบริโภคสิ่งที่ยั่งยืนเพื่อช่วยกันลดคาร์บอนฟุตพรินต์

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2030 ตาม Science Based Targets initiative: SBTi หรือ การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีสบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเชื่อว่าจากการดำเนินการทั้งหมดนี้ NRF จะก้าวสู่การเป็น The 1st Carbon Negative Company บริษัทยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 22

NRF เป็น 1 ใน 3 องค์กรแรก ของประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมกับ Science-based target (SBT): 1.5-degree pledge ตั้งแต่ปี 2019

การเดินหน้าไปสู่เป้าหมายของความยั่งยืนด้วย Science-based target ในขอบเขตที่ 1 คือ ลดการปล่อยมลพิษโดยตรง ส่วนขอบเขตที่ 2 เป็นการลดมลพิษจากการปล่อยพลังงานทางอ้อม เช่น การเลือกใช้พลังงานสะอาด เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือการซื้อพลังงานมาใช้ภายในองค์กร และขอบเขตที่ 3 การลดการปล่อยมลพิษทางอ้อมด้านอื่นๆ

SBTi การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอิงกับเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
ขอบเขตที่ 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากแหล่งที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือควบคุมจากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมถึงแหล่งอื่นๆ
ขอบเขตที่ 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมจากการซื้อพลังงาน (เช่น ไฟฟ้า ไอน้ำ ฯลฯ)
ขอบเขตที่ 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากขอบเขตที่ 1 และ 2 (การจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนอื่นๆ การขนส่ง การใช้งานผลิตภัณฑ์ ฯลฯ) จากห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท

“ในเรื่องของขอบเขตที่ 1 และที่ 2 เราทำเท่าที่ทำได้ตอนนี้ แม้จะติดปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่สามารถเลือกพลังงานสะอาดได้จากการไฟฟ้าเพราะตอนนี้เราติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานได้แค่ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งรัฐบาลควรจะยกเลิกนโยบายนี้ เอกชนอยากติดเท่าไรก็ให้ติดไป”

“ในการดำเนินงานของโรงงานทั้งหมด ปัจจุบันเราพยายามปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด มีการใช้โซลาร์เซลล์ที่จะสามารถปล่อยคาร์บอนเป็นลบได้ ซึ่งบนขอบเขตที่ 1 กับที่ 2 เราปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงานประมาณ 4,600 กว่าตันคาร์บอน แต่สามารถชดเชยได้ จึงคิดว่าขอบเขตที่ 1 กับขอบเขตที่ 2 ในเรื่อง Net Zero เราน่าจะทำได้เร็วไม่เกินปี 2025 หรือเร็วกว่าที่ตั้งไว้ปี 2030 แต่จริงๆ ต้องทำคู่ขนานกันอยู่แล้วเพราะคือเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ว่ามีหลายอย่างมากที่อยู่บนขอบเขตที่ 3 เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ค่อนข้างยากกว่า จำเป็นต้องมีพันธมิตรเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนของบริษัท” นายแดนกล่าว

  • NRF มุ่งสู่ The 1st Carbon Negative Company บริษัทยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 22
  • หนุนภาคเกษตรลดปล่อยก๊าซมีเทนเปลี่ยนวัสดุเหลือทิ้งเพิ่มผลผลิต

    ที่มาภาพ:https://www.nrinstant.com/storage/document/sustainability-report/2020/sd-report-2020-un.pdf
    กลยุทธ์ที่บริษัทจะบรรลุถึงเป้าหมายในขอบเขตที่ 3 จึงแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก บริษัทจะพยายามให้ขอบเขตที่ 3 ก้าวเข้าสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ และเป็นองค์กรที่เข้าสู่ Carbon Negative ให้ได้ในที่สุดเพราะขอบเขตที่ 3 เป็นเรื่องของมาตรฐานด้านการเกษตร เรื่องที่สอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจ ซึ่งหากทำสำเร็จในห่วงโซ่การผลิตของบริษัท ก็จะนำไปช่วยเหลือคนอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร และใช้เรื่องนี้ทำเป็นธุรกิจ หากทำเป็นธุรกิจได้และมีกำไรเชื่อว่ายั่งยืนได้

    “การทำเรื่อง Net Zero ด้วยการให้เงินทุนสนับสนุนจากการดำเนินงานของบริษัทอาจจะไม่ยั่งยืนเพราะไม่มีใครรู้ว่าจะลงทุนได้นานขนาดไหน ดังนั้น บริษัทจึงอยู่ระหว่างการร่วมมือกับพันธมิตรในหลายๆ ประเทศประมาณ 7-8 แห่ง รวมถึงการซื้อกิจการบางบริษัทที่มีเทคโนโลยีเพื่อทำเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้น” นายแดนกล่าว

    นอกจากจะร่วมมือกับพันธมิตรแล้ว ยังต้องร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงเอสเอ็มอีที่อยู่ภายในซัพพลายเชนด้วย โดยเฉพาะในส่วนของภาคการเกษตรถือเป็นเรื่องที่ยากสุด ขณะที่คู่ค้าในธุรกิจอาหารเกษตรที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จะมีนโยบาย เรื่อง Net Zero อยู่แล้วจึงง่ายต่อการทำความเข้าใจ แต่เอสเอ็มอียังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ และไม่อยากจะลงทุน

    ในส่วนของเกษตรกร สิ่งที่บริษัทกำลังดำเนินการ คือ การผลักดันให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม หรือพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นระบบเกษตรแบบผสมผสานเพื่อที่จะสามารถลดปริมาณคาร์บอนให้ได้ เช่น ถ้าฤดูนี้ปลูกข้าว ฤดูหน้าปลูกถั่วเขียว และให้เลิกใช้ยาฆ่าแมลง หันมาทำเกษตรอินทรีย์

    นายแดนอธิบายว่า ปัญหาของการปลูกข้าว คือ การปล่อยน้ำในนาข้าวแล้วทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ดังนั้น เกษตรกรต้องหยุดใช้น้ำในนาข้าวหรือไม่ปล่อยน้ำในการทำนา จากงานศึกษาวิจัยพบว่า ข้าวปล่อยคาร์บอนเท่ากับอุตสาหกรรมการบิน หรือปีละประมาณ 2.5% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทั้งหมด เฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้าวปล่อยมีเทนราว 12% ของมีเทนที่ปล่อยทั้งหมดทั่วโลก

    “นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะนอกจากนโยบายกำแพงภาษีที่สินค้าข้าวไทยจะเจอเมื่อส่งออกข้าวในอนาคตแล้ว ก็อาจจะถูกการต่อต้านจากผู้บริโภคข้าวได้ ซึ่งภายในระยะเวลา 24 เดือนนี้หากไม่ช่วยเหลือเกษตรกรไทย เชื่อว่าจะเกิดปัญหาได้ เพราะฉะนั้น การที่ประเทศไทยคิดว่ามีเทคโนโลยี แต่ต้องดูว่าช่วยได้หรือไม่ในการลด มีเทนในนาข้าว ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนวิธีการ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลกำลังหาทางช่วยเกษตรกรอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ง่าย เพราะเกษตรกรในประเทศไทยมีเป็นล้านคน” นายแดนกล่าว

    นายแดนกล่าวว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องใกล้ตัว สหรัฐฯ กับยุโรปต้องการควบคุมมีเทนก่อนมลพิษตัวอื่นเพราะมีเทนมีผลต่อโอโซนมากกว่าคาร์บอน 180 เท่า เพราะฉะนั้น มีเทนถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูง และน่าวิตก วิธีการแก้ปัญหามีเทนที่ง่ายสุด คือ 1) แก้ไขที่อุตสาหกรรมการไฟฟ้าก่อน การปล่อยมีเทนจากข้าวสูงในอันดับรองลงมา อย่างไรก็ตาม หากมีการรณรงค์ห้ามบริโภคข้าว การส่งออกข้าวไปสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็จะได้รับผลกระทบ และอาจจะรวมไปถึงจีนเพราะจีนต้องปรับตามนโยบายสหรัฐฯ และยุโรป ไทยอาจจะต้องหันมาขายข้าวให้ประเทศด้อยพัฒนา เกษตรกรต้องปรับตัว

    2) ผู้บริโภคก็ต้องช่วยกัน ด้วยการหันมาบริโภคสิ่งที่ยั่งยืนขึ้น อย่าซื้อแต่สินค้าราคาถูกอย่างเดียว หากเกษตรกรที่ปลูกข้าว โดยใช้วิธีที่ดีปล่อยมีเทนต่ำ จึงขายในราคาแพง ก็ควรจะช่วยกันซื้อ หรือว่าบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืช (plant –based) ให้มากขึ้นมาเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลดีต่อคาร์บอนฟุตพรินต์ของประเทศ

    “การผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกจากพืชสามารถประหยัดต้นทุนเรื่องน้ำมากกว่าการผลิตเนื้อสัตว์ หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอนระหว่างเนื้อวัวกับพืชจะอยู่ในอัตรา 1 ต่อ 10 หากเทียบกับเนื้อหมูจะอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 3 หรือ 1 ต่อ 4 และเนื้อไก่อยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 2 ของจำนวนสัตว์ที่สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร และขึ้นอยู่กับประเภทของสัตว์ แต่โดยรวมจะประหยัดได้อย่างน้อยโดยเฉลี่ย 50% เนื่องจากอาหารของสัตว์ก็ยังมาจากพืช แต่โปรตีนทางเลือกเป็นการบริโภคจากพืชโดยตรง

    นายแดนกล่าวอีกว่า ในส่วนของขอบเขตที่ 3 นอกจากจะมีเอสเอ็มอีในห่วงโซ่อุปทานเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ยังมีเรื่องขนส่งหรือโลจิสติกส์ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนัก เพราะจะต้องจูงใจให้หันมาเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทตั้งใจอยากจะให้เกิดขึ้น

    ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งประสบความสำเร็จสามารถนำของเหลือทิ้งจากการเกษตร มาทำเชื้อเพลิง brown fuel ได้ ขณะเดียวกัน brown fuel ก็สามารถนำกลับมาเพื่อใช้ผสมกับน้ำมันได้เพื่อลดการปล่ยก๊าซคาร์บอน หรือใช้ผสมกับวัสดุอื่นเพื่อทำถนนได้ก็ถือว่าเป็น carbon renovable และนำไปสู่ carbon negative จึงเชื่อว่าเรื่องนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในขอบเขตที่ 3 ของบริษัทได้ค่อนข้างมากพอสมควร

    ทั้งนี้ ความท้าทายในขอบเขตที่ 3 คือ ซัพพลายเชนที่มีอยู่ทั่วโลก เนื่องจากบริษัทมีโรงงานในต่างประเทศด้วย ทำให้ต้องไปนำต้นแบบไปใช้ที่อื่นด้วย ปัจจุบันบริษัทฯ ได้เตรียมเทคโนโลยีไว้แล้ว และจะเริ่มใช้ได้ในต้นปี 2565 เพื่อให้ทันฤดูเก็บเกี่ยวที่จะเริ่มอีกทีประมาณกุมภาพันธ์-มีนาคม และเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในซัพพลายเชนของบริษัทที่สนใจด้านนี้หรือให้ความร่วมมือมากที่สุดในการลดการปล่อยคาร์บอน

    “ซังข้าวโพดสามารถนำมาผลิต brown fuel ได้ ผมคิดว่าในแง่ของการเกษตรในเรื่องของต้นน้ำที่จะทำสินค้าที่จะลดคาร์บอนได้เหมือนกันทั่วโลก มีซังข้าวโพด มีข้าว มีของเหลือจากการเกษตรอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ เพราะเป็นเรื่องของการลงทุน แต่ถ้าเป็นเรื่องของโลจิสติกส์ยาก เนื่องจากอยู่นอกเหนือการควบคุมและแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน แต่ข้อดีที่ในสหรัฐอเมริกา ซัพพลายเชนจำนวนมากก็ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าจะดำเนินการไปตามเป้าได้ “

    “ในส่วนของภาคการเกษตร ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำมีแต่ประโยชน์ให้กับเขา เพราะว่าสามารถนำรายได้จาก brown fuel ไปให้การเกษตร แล้วใส่ลงไปในดิน หนึ่งจะช่วยเพิ่มผลการผลิตให้แก่เขา สอง เป็นการฝังคาร์บอนอย่างถาวรบริษัทก็ได้ certificate ขึ้นมาเป็น Carbon Removal Certificate จึง win-win ” นายแดนกล่าว

    ชี้ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัว แนะเอกชนรวมตัวปฏิรูปช่วยภาคเกษตร

    นายแดนยังซึ่งเป็นภาคเอกชนจากไทยที่ได้เข้าร่วมการประชุม COP26 เมืองกลาสโกว์ในเดือนตุลาคม เล่าว่า COP26 เป็นเวทีเพื่อร่วมพูดคุยและหาแนวทางการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Action) ที่มีส่วนทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงต่างๆ มากขึ้น ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า ซึ่งช่วยตอกย้ำเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ NRF ที่จะก้าวไปขึ้นเป็น The First Carbon Negative Company

    สิ่งที่เห็นชัดเจนจากการประชุมรอบนี้ และคิดว่าเป็นประโยชน์มีอยู่ 2 ประเด็นคือ 1. ทุกอย่างที่เกิดขึ้นออกมาไม่ยุติธรรมอย่างมาก

    “ฉะนั้น ผมคิดว่าเราอาจจะต้องร่วมกับภาคเอกชนกับภาครัฐในการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมในเรื่องนี้ เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วเขาสนุกกับการทำลายสิ่งแวดล้อมมา 190 ปี ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม (industrialization) ได้ราว 20-30 ปี ไม่ยุติธรรมที่จะให้ประเทศไทยปรับมาเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว โดยที่ประเทศไทยยังไม่ได้รวย ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องต่อสู้ในเรื่องนี้

    “ลองคิดดู ประเทศอังกฤษเขาใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินมากี่ปีกี่ศตวรรษแล้ว ขณะเดียวกันเราเพิ่งพัฒนาได้ประมาณ 30 ปีเอง โดยภาคอุตสาหกรรม แล้วตอนนี้ก็มาบอกให้เราหยุดการสร้างโรงงานถ่านหิน ทั้งๆ ที่ถ่านหินเป็นพลังงานที่ถูกที่สุด และเป็นพลังงานที่เสถียรที่สุด จะให้เราทำอย่างไร สิ่งที่ถูกต้องผมคิดว่าคือ ประเทศที่พัฒนาต้องมาคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ของเขาตั้งแต่เขาเริ่มยุค industrialization เมื่อ 190 ปีที่แล้ว แล้วเขาต้องมาชดใช้กับโลกในสิ่งที่เขาปล่อยมา 190 ปีที่ผ่านมา ถึงจะแฟร์” นายแดนกล่าว

    นายแดนยอมรับว่า 2. การประชุม COP26 ในปีนี้ กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มาก แต่การตกลงผลประโยชน์ก็ไม่ได้ลงตัว เช่น ประเทศออสเตรียที่เป็นผู้ส่งออกถ่านหินเบอร์หนึ่งมีการให้คำมั่นแบบคลุมเครือ ด้านสหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงจาก shale oil ก็บอกว่าสนใจเรื่องนี้ ตราบใดที่ไม่กระทบต่อความเสี่ยงก็จะพูดคลุมเครือเช่นกัน

    “สำหรับผมคิดว่าปีนี้เป็นปีสำคัญเพราะว่าทุกคนรู้แล้วว่า ถ้าไม่รีบทำอะไรมันจะเสียหาย เป็นสิ่งที่ชัดเจนมากไม่ว่าไปพูดเวทีไหน เขาบอกโลกมันร้อนแล้ว ตอนนี้มีการพูดที่ระดับ 2.4 องศาเซลเซียส ไม่ใช่ 1.5 ถึง 2.0 องศาเซลเซียสแล้ว คงต้องติดตามการประชุม COP ในปีหน้า เชื่อว่าจะมีนโยบายที่ออกมาเป็นเครื่องชี้วัดอย่างชัดเจน หลังจากที่ IPCC Report มีการรายงานผลกระทบตามภูมิภาคต่างๆ” นายแดนกล่าว

    อย่างไรก็ตาม มีคนอีกจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศยังไม่เห็นถึงความสำคัญของโลกร้อนถึง 99% ทุกคนคิดว่าโลกร้อนเป็นประเด็นไกลตัวไม่มีปัญหา แต่ก็เป็นโอกาสที่จะต้องเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ประกาศไว้

    “สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเรื่องของภาวะโลกร้อนและเป็นประโยชน์กับผมก็คือว่า เราเห็นสิ่งที่กำลังจะมาคือ ความเปลี่ยนแปลงใน COP26 ในเรื่องของกฎหมาย เรื่องของภาษีที่กำลังจะมีผล โลกจะเปลี่ยนเร็วขึ้น แล้วบริษัทที่ไม่เตรียมตัวจะโดนโทษหนักพอสมควร จะกลายเป็นว่าผู้ส่งออกจะส่งออกไม่ได้หรือขายได้เฉพาะในประเทศอย่างเดียว”

    “ผมคิดว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนเร็วขึ้น บริบทเปลี่ยนไป เราก็ต้องเปลี่ยนกฎหมายเปลี่ยนวิธีการคำนวณเปลี่ยนวิธีการที่แต่ละกระทรวงแต่ละกรมที่ปฏิบัติในตอนนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้คำมั่นไปแล้วทำให้เราพลาดเป้าได้ เพราะเริ่มมีแนวคิดที่จะให้วัดผลเร็วขึ้น และวัดแบบระยะยาว ระยะกลาง แล้วก็ระยะสั้น และหากการวัดระยะสั้น กำหนดให้รายงานก็จะรู้ได้ว่ามีความคืบหน้าหรือไม่และหากประเทศไทยไม่ทำ ก็จะส่งผลให้เอกชนมีปัญหาด้วย จึงอยากขอให้ภาคเอกชนมารวมตัวกันปฏิรูปช่วยภาคการเกษตรปฏิรูปในเรื่องการต่อสู้กับภาวะโลก” นายแดนกล่าว