เป้าหมายการก้าวสู่การเป็น The 1st Carbon Negative Company บริษัทยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 22 ของบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF หัวใจสำคัญ คือ โครงการดักจับคาร์บอน (Decarbonization) ที่เกิดจากการเผาชีวมวลจากภาคเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ นอกจากจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ลดการเผาทางการเกษตรที่ก่อมลพิษ PM2.5 แล้ว ยังได้ผลิตภัณฑ์ “ไบโอชา (Biochar)” ที่เมื่อนำไปฝังลงดินจะสามารถดูดซับคาร์บอน หรือเป็น Carbon Negative ได้ตามเป้าหมาย ไบโอชาที่ฝังดินยังช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถอุ้มน้ำได้ดียิ่งขึ้น เหมาะแก่การทำการเกษตรในฤดูกาลต่อไปอีกด้วย ทำให้ NRF กลายเป็นบริษัทยั่งยืนแห่งศตวรรษอย่างแท้จริง
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF กล่าวว่า แต่ละปี NRF มีการปล่อยคาร์บอนประมาณ 4,600 กว่าตันคาร์บอน ส่วนใหญ่จะปล่อยจากภาคเกษตร จากเกษตรกรที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท โดยแทนที่จะให้เกษตรกรเผาซังข้าวโพด ก็จ้างเกษตรกรให้เก็บรวบรวมซังข้าวโพดมา แล้วนำมาเผาในเตาเผาพิเศษที่บริษัทผลิตโดยใช้เทคโนโลยีของยุโรปในการออกแบบ เป็นเตาเผาที่เผาด้วยความร้อนอุณหภูมิ 1,000 องศาในระบบสูญญากาศ ทำให้ไม่มีการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก แล้วยังได้วัสดุเหมือนถ่าน เรียก ไบโอชา แต่ NRF เรียกว่า ไบโอคาร์บอน
ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มโครงการนำร่องขึ้นในปี 2565 โดยร่วมกับกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่น 20 รายในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ เผาซังข้าวโพดได้ครั้งละประมาณ 200-300 กิโลกรัม ผลคือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก ส่งผลให้ไม่เกิดมลพิษทางอากาศน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเผาในที่โล่งแจ้ง
นายแดน กล่าวว่า นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ไบโอชาที่ได้จากการเผาสามารถดักจับและเก็บกักคาร์บอน ไม่ให้คาร์บอนกลับสู่อากาศ สมมติหากคำนวณคร่าวๆ คือ 20% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดจำนวน 1 ไร่ หรือคิดเป็น 200 กิโลกรัม จะเป็นซังข้าวโพดที่ที่รอการเผา ซึ่งการเผาแบบโล่งแจ้งจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2-2.5 เท่าหรือประมาณ 400 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถ้าหากเกษตรกร ไม่ได้เผาซังข้าวโพด 200 กิโลกรัมในที่โล่งแจ้ง เท่ากับว่าไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ 400 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ แต่อันนี้ยังไม่ได้ Generate Carbon Credit แค่นับว่า เป็นการเกษตรที่ไม่ปล่อยมลพิษ
แต่พอเป็นไบโอชา แล้วนำไปฝังดิน อยู่ในดินถาวร ทำให้แทนที่จะปล่อยคาร์บอน 400 กิโล ก็เอาไปฝัง 400 กิโล เป็นการ generate carbon credit ขึ้นมา
โดยไบโอชาที่ได้จากการเผาในเตาพิเศษจะมีลักษณะเป็นก้อนคล้ายถ่าน ด้านในคล้ายฟองน้ำ คือมีรูเต็มไปหมด เมื่อนำไปฝังดิน รูเหล่านี้จะเปรียบเสมือนบ้านที่ให้จุลินทรีย์ แบคทีเรีย เข้าไปอยู่ พอมีการรดน้ำต้นไม้ น้ำก็จะเข้าไปอยู่ตามรูเหล่านั้น ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้ดี และยังสร้างคาร์บอนในดิน ทำให้เวลาต้นไม้เติบโตรากจะไปเจอดินที่มีความอุสมบูรณ์ ทั้งนี้ หากโครงการนำร่องไปได้ดีก็จะขยายโครงการได้ในปีหน้า
“ตอนนี้เวลาไปไร่ข้าวโพดจะเห็นซังข้าวโพดกองกันเป็นภูเขา ถ้าเผาตามปกติก็จะเป็นมิลพิษทั้งนั้น และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปล่อยคาร์บอนกลับสู่อากาศ รวมถึงไนโตรเจนออกไซด์ด้วย ถ้าทิ้งไว้แมลงมากิน หนูมากิน สุดท้ายจะเป็นคาร์บอนขึ้นมา จึงต้องมีการแปรรูปออกมา ไม่ให้คาร์บอนกลับไปสู่อากาศ และเกษตรกรก็ไม่ได้อยากเผา แต่ใครจะมาเก็บเกี่ยว หากจะจ้างก็นับเป็นต้นทุนเพิ่ม หรือการหาทางออกร่วมกันหรือเพิ่มเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ การสนับสนุนในแง่ของการจ้างเกษตรกร โดยเขาสามารถเลือกได้ว่าจะเก็บเกี่ยวเองหรือจ้างคนในพื้นที่มาเก็บเกี่ยว อันนี้ขึ้นอยู่กับเขาจะพิจารณา ซึ่งพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดเป็นส่วนใหญ่คือ จังหวัดลำปาง บริเวณใกล้กับไร่ของเรา และจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ใช้เวลาไม่นานในการทำความเข้าใจกับเกษตรกร เพราะด้วยปัญหาที่เขามองเห็นและได้รับผลกระทบก็ค่อนข้างชัดเจน ผนวกกับการตระหนักรู้และอยากร่วมเป็นส่วนสาคัญในการขับเคลื่อนการเป็นเกษตรยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูและรักษาโลกใบนี้ให้คนรุ่นต่อไป”
นายแดน กล่าวว่า นอกจากในไทยแล้ว NRF มีโครงการจะขยายไปในต่างประเทศ โดยกำลังพิจารณาที่สหรัฐอเมริกากับอินเดีย แทนที่จะใช้เป็นเตาเผาขนาดจิ๋ว ก็สร้างเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่เผาได้วันละ 150-200 ตัน โดยลักษณะของโครงการจะเหมือนกับในไทยทั้งหมด คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรไม่เผาไร่ มีการนำเศษวัสดุมาแปรรูปแบบไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำสิ่งที่ได้จากการเผาแล้วไปฝังดิน การขยายไปต่างประเทศ เพราะพื้นที่การเกษตรของไทยไม่เหมือนที่อื่น อย่างอเมริกา การปลูกจะใช้เครื่องจักรมหาศาลมาก การเก็บเกี่ยวก็ปริมาณมหาศาล ทำให้สามารถสร้างโรงงานขนาดใหญ่เพื่อการแปรรูปได้ แต่ในภาคการเกษตรของไทย เป็นการเกษตรแบบกระจัดกระจาย ยีลด์ต่ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของ NRF ที่จะต้องคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูกในไทย
นายแดน กล่าวว่า โครงการดักจับคาร์บอน เป็นความคืบหน้าหนึ่งในการก้าวสู่การเป็น The 1st Carbon Negative Company เพราะถ้า NRF เป็นบริษัทแรกที่เข้าสู่ Net Zero ได้ แน่นอนว่า ลูกค้าและพันธมิตรก็จะหันมาสนใจบริษัทมากยิ่งขึ้น เพราะเท่ากับเข้าสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 3 ของเขาเองด้วย ต่อมา คือเมื่อเข้าสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว ยังต้องไปต่อกับการต่อสู้กับโลกร้อน ซึ่งหมายถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกติดลบ ซึ่งหาก NRF ทำได้ก็จะตอบ mission และเป็นโอกาสในการสร้างแบรนด์ไปพร้อมๆกัน โดยจุดแข่งขันต่อไป จะแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือด้านภาพลักษณ์ของแบรนด์และบริษัท ในสายตาของลูกค้าและพันธมิตร ซึ่งตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่จุดโฟกัสอันดับต้น
แต่ในปี 2030 เป้า Net Zero ของแต่ละบริษัท ภาพนี้จะสำคัญ และผู้บริโภคที่ตระหนักเรื่องนี้ก็อยากได้แบรนด์ที่มีส่วนในการต่อสู้โลกร้อนได้ ส่วนที่สองคือ บริษัท commit เป้าหมายไปแล้ว นี่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ถ้า NRF ทำก่อนก็จะให้ได้เปรียบคู่แข่ง
นายแดน กล่าวว่า ในฐานะผู้ส่งออกอาหารและขายในตลาดยุโรป อเมริกา ประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าลูกค้ามีเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 สำหรับ NRF มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป้าหมายใหญ่ คือปี 2030 สิ่งที่ทำแล้วคือตั้งแต่กลางน้ำถึงปลายน้ำ ทำเท่าที่ทำได้แล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนหลอดไฟ ลดการใช้พลังงานโดยใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาจับ หรือใช้แผงโซลาร์ อย่างการขนส่ง เวลานี้มีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แล้ว ค่อนข้างตอบโจทย์ ด้านบรรจุภัณฑ์ ยังยากอยู่ เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งหนึ่งที่คุมไม่ได้ คือ บรรจุภัณฑ์ เช่น ทูน่ากระป๋อง ถ้าไม่กระป๋องจะบรรจุในอะไรที่ราคาถูก และอาหารอยู่ได้เกิน 24 เดือน มันยังไม่มี ฉะนั้น ก็ต้องใช้ พลาสติกก็เลิกใช้ไม่ได้ เป็นต้น และ ณ ปัจจุบัน คือทำอย่างไรให้เข้าสู่ Net Zero จริง ที่จะเกิดจากต้นน้ำ คือภาคการเกษตรที่ทำการศึกษามาพอสมควรประมาณ 2 ปี อะไรที่คิดว่าง่าย ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด อะไรที่คิดว่ายาก ก็สามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา และใช้ความอดทน เพราะว่าการร่วมมือกับภาคเกษตรไม่ใช่ว่าเรื่องง่าย
“การเข้าร่วม Science-based target ในขอบเขตที่ 3 หลัก ๆ จึงเป็นภาคเกษตรกร ซึ่งถ้าโครงการนำร่องเสร็จ ปีหน้าก็จะมีวิธีการจัดการในขอบเขตที่ 3 ได้ชัดเจนมาก เรื่องการสร้างแบรนด์จึงเป็นเรื่องระยะปานกลาง เพราะต้องทำให้ได้ตามเป้าก่อน ขณะนี้ เป็นการทดลอง ยังไม่สามารถระบุผลลัพธ์ที่แน่นอนได้ ส่วนผลประกอบการ จะต้องดูในระยะยาว เนื่องจากโปรเจกต์ดังกล่าวนี้ต้องใช้ระยะเวลา 3-5 ปี จึงจะสามารถเห็นการพัฒนาหรือผลลัพธ์ ขณะที่ยุทธศาสตร์นี้ต้องใช้เวลา 3-5 ปีจึงจะเห็นประโยชน์ และก็หวังว่าภาพเหล่านี้จะผลักดันให้สังคมมาร่วมกันขับเคลื่อน Net Zero ให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศ เพราะวิธีการเหล่านี้ สมัยก่อนเคยคิดว่าเป็นความลับ แต่ผมบอกวิธีการทำกับทุกคน มันไม่ยาก ใครอยากทำ ทำไปเลย ทำในฐานะประชาชนคนไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศสู่ Net Zero”
นายแดน ยังกล่าวถึงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (COP) ว่า ใน Cop26 ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายที่ชัดเจน แต่ใน Cop27 ยังไม่เห็นอะไรที่ชัดมาก สิ่งที่ได้อย่างเดียว คือ article 6 เป็นความชัดเจนในการส่งออกคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารยังไม่มีอะไรออกมาเป็นรูปธรรม แต่เข้าใจว่าปีนี้ ใน Cop28 สหรัฐและกลุ่มประเทศ UAE ตั้งใจให้มี Food Center เพื่อมาคุยกันและทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบอาหาร ซึ่งต้องมาดูว่าจะทำได้จริงหรือไม่ ส่วนที่ชัดเจนมาก น่าจะเรื่องการขายคาร์บอนเครดิต อีกประเด็นที่ต้องจับตาดู คือ carbon renewal การชดเชยคาร์บอนเครดิต ว่าจะให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ถือว่าเป็นหัวใจ เพราะคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันมีความหลากหลาย และของประเทศไทยควรให้ความสำคัญ Cartbon renewal มากกว่าคาร์บอนเครดิต เนื่องจากคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหา และการวางเกณฑ์ในเรื่องของการวัดการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่น่าจะเห็นผลภายในปี 2025
สำหรับรายละเอียดโครงการโครงการดักจับคาร์บอน(Decarbonization) ของ NRF เริ่มจากเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาชีวมวลจากภาคเกษตร ปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ อาทิ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือคาร์บอนไดออกไซด์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจุบันวิกฤตโลกร้อนมีภาวะที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยที่ไม่เกิดการปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะส่งผล “การขาดแคลนอาหาร” เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถที่จะเพาะปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการหรืออาจจะนำไปสู่การขาดแคลนผลผลิตได้ ขณะที่อุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหาร นับเป็น 1 ใน3 ผู้ผลิตที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศที่สูง และเป้าหมายดังกล่าวยังสอดรับกับการคาดการณ์ของ Paris Agreement ที่ต้องควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ NRF ได้นำเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในกระบวนการ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับรางวัลคุณภาพ (X-prize Award) ซึ่งในประเทศไทยด้มีการนำร่องโครงการเพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเพื่อทำให้เป้าหมายของเราบรรลุไปร่วมกัน โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิภาคนั้นๆ และได้ริเริ่มไปแล้วกับกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่นในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ โดยได้รับความสนใจจากกลุ่มเกษตรกร นับเป็นสัญญานที่ดีที่กลุ่มเกษตรกรนี้มองเห็นเป้าหมายเดียวกันคือ การลดการเผา ที่ไม่เพียงลดมลพิษทางอากาศแล้ว แต่พวกเขายังมองไปถึงอนาคตของคนรุ่นต่อไป
ซึ่งในกระบวนการดักจับคาร์บอนจะได้ผลิตภัณฑ์ “ไบโอชา (Biochar)” ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงชีวมวลผ่านเทคโนโลยีที่ใช้การเผาด้วยความร้อนอุณหภูมิ 1,000 องศา มาเป็นผลิตภัณฑ์ไบโอชา ที่จะนำไปใช้ภาคเกษตรกร โดยการฝังไบโอชาลงสู่ดินที่จะใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งไบโอชาจะช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการกักเก็บคาร์บอน
ชม เราปรับ โลกเปลี่ยน Decarbonization