ThaiPublica > คนในข่าว > “นิพนธ์ พัวพงศกร” ห่วงชนบทไทยหยุดนิ่ง 20 ปี “ภาคเกษตรเปลี่ยนผ่านแบบหางด้วน” ไม่รองรับคนกลับบ้าน

“นิพนธ์ พัวพงศกร” ห่วงชนบทไทยหยุดนิ่ง 20 ปี “ภาคเกษตรเปลี่ยนผ่านแบบหางด้วน” ไม่รองรับคนกลับบ้าน

23 มกราคม 2024


“นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มองเศรษฐกิจไทย ห่วงชนบทไทย “เปลี่ยนผ่านแบบหางด้วน” หยุดนิ่งการพัฒนามา 20 ปี ชี้การถือครองที่ดินต่อครัวเรือนลดลง รองรับคนกลับบ้านไม่ได้ แนะรัฐต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตัวเอง

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจหลังการฟื้นตัวของโรคระบาดโควิด-19 ยังมีข้อถกเถียง “เศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่วิกฤติ” และรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความพยายามผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการแจกเงินดิจิทัลหรือ Digital Wallet 10,000 บาท เพื่อกระตุ้น GDP ของประเทศ

ภายใต้การเปลี่ยนผ่านของวิกฤติเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และหลังโควิด-19 จึงมีคำถามถึงการผลักดันมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ว่าแก้ปัญหาที่ตรงจุด ตรงประเด็นหรือไม่ แล้วในเรื่องการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจไทย สิ่งที่รัฐไทยกำลังดำเนินการอยู่ ถือเป็นการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นแล้วหรือไม่

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้มองภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่หยุดนิ่งมานานกว่า 20 ปี ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง พร้อมไล่เรียงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ต่อจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด กระทั่งเริ่มชะลอตัวลงเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

การเติบโตเศรษฐกิจที่ชะงักลง เติบโตช้ากว่าศักยภาพมา 20 ปี ทำให้การกระจายความเจริญไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้ชนบทไทย ไม่เติบโตเท่าที่ควร

“ผมเป็นห่วงชนบทไทย เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมันชะงักมา 20 ปี มันโตช้ามา 20 ปี โตต่ำกว่าศักยภาพ ขณะที่รัฐบาลบอกมีวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อหาเหตุผลแจกเงิน แต่ความจริงที่เป็นเหตุผลใหญ่ คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมันแย่ด้วยหลายสาเหตุ”

สาเหตุที่ชนบทไทยหยุดนิ่ง มาจากการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเกิดขึ้นไม่มาก ต่างจากในอดีต โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสถาบัน มีกติกา มีกฎหมาย มีแรงจูงใจใหม่ๆ เช่น มีการเลิกทาส มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำให้ในช่วงนั้นประเทศไทยมีการพัฒนาด้านการเกษตรจำนวนมาก

ในช่วงรัชกาลที่ 5 มีการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร โดยเฉพาะระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีการพัฒนาระบบชลประทาน มีการขุดคลองรังสิต โดยเหตุผลในเรื่องของการขนส่งคมนาคมร่วมด้วย

“ในสมัยของ ร.5 ได้จ้างชาวต่างชาติ ชื่อนายเย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด วิศวกรชลประทาน ชาวฮอลันดา มาเป็นอธิบดีกรมชลประทานคนแรก หลังจากนั้นก็มีการเสนอให้สร้างขื่อนเจ้าพระยาและอื่นๆ แต่ด้วยสถานการณ์ในช่วงนั้นเป็นเรื่องของการล่าอาณานิคม ทำให้การสร้างเขื่อนยังไม่เกิด แต่ ร.5 ตัดสินใจสร้างทางรถไฟแทน”

นอกจากนี้ ความเจริญยังกระจายไปยังชนบท เมืองริมคลอง และการขนส่งข้าว โดยเฉพาะในช่วงหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง เริ่มมีการส่งออกข้าว และรัชกาลที่ 5 ได้ส่งคนไปเรียนด้านการเกษตรในต่างประเทศ 5 คน ในจำนวนนั้นไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา และยุโรป มีคนสำคัญที่ชื่อพระยาโภชากร (ตริ มิลินทสูต) ไปเรียนทางด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าว กลับมาเป็นนายสถานีข้าว รังสิต ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวไทย 200 สายพันธุ์ และส่งไปประกวดหลายครั้งในงานเกษตรและการคลัง

“ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีงานเกษตรการคลัง และมีการประกวดพันธุ์ข้าว เมื่อพ่อค้าโรงสีมาเห็น จึงได้กราบทูลว่า ถ้าข้าวส่งออก ใช้ข้าวที่ประกวด จะชนะอินเดียได้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 5 สมัยนั้นมีความก้าวหน้ามาก มองว่าถ้าจะเป็นมหาอำนาจต้องไม่ใช่มหาอำนาจทางอาวุธ ต้องเป็นมหาอำนาจทางการค้า จึงสนับสนุนเรื่องนี้มาตลอด

ในยุคนั้นภาคเกษตรมีความก้าวหน้าในการพัฒนาพันธุ์ข้าว หลังจากนักเรียนไทยท่านหนึ่งไปเรียนเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวกับศาสตราจารย์ LOVE และได้เชิญมาอบรมให้นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ภายใน 3 ปี ไทยมีนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวถึง 200 คน นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวมาตั้งแต่ปี 2400 ก่อนประเทศอินเดีย

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ปี 2500-2520 “ชนบทไทย” พัฒนาต่อเนื่อง

หากย้อนกลับไปนับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง ชนบทไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เน้นการพัฒนาด้านการเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อน เนื่องจากประเทศไทยมีที่ดินจำนวนมาก ทำนาไว้กินและเหลือไว้ขายตั้งแต่สมัยอยุธยา

“ในช่วงนั้นรัฐบาลส่งเสริมให้บุกเบิกพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเกษตรกรรม จนประมาณปี 2513 ที่ดินหมด การบุกเบิกเริ่มกลายเป็นการบุกรุก แต่พื้นที่เกษตรกรของไทยก็มีมากเพียงพอ”

อาจารย์นิพนธ์บอกว่า ชนบทไทยเปลี่ยนแปลงมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2500-2520 เป็นยุคภาคเกษตรเฟื่องฟูและมีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ นอกจากปลูกข้าวแล้ว ประเทศไทยยังขยายปลูกพืชอย่างอื่น เช่น พืชไร่ มันสำปะหลัง ปอ อ้อย และการส่งออกด้านการเกษตรเป็นอันดับหนึ่ง

ยุคที่สองที่มีความชัดเจนในของเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ ยุคปลายสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มาจากการที่พลเอกเปรมไปเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยใช้เวลานานมากในการเจรจา และผลการเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่น หลังเกิด Plaza Accord ปี ค.ศ. 1986 โดยปลายปี 1986 มีการประชุม G5 ผลการประชุม G5 ทำให้ญี่ปุ่นต้องขึ้นค่าเงินเยน และอุตสาหกรรมส่งออกที่ใช้แรงงานเข้มข้นของญี่ปุ่นต้องย้ายโรงงานอุตสาหกรรมมาประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเดียวในช่วงนั้น โดยเป็นผลจากความพยายามเจรจาของรัฐบาลพลเอก เปรม

ความสำเร็จในการเจรจาอย่างยาวนานกับรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้เกิดการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด และเศรษฐกิจไทยเติบโตรุ่งเรืองมากในสมัยรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า

“จริงๆ เป็นฝีมือพลเอกเปรม กับทีมอาจารย์เสนาะ อูนากูล เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการเจรจาครั้งนั้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นบทเรียนสำหรับรัฐบาลเศรษฐา (ทวีสิน) ที่ขณะนี้กำลังพยายามไปเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่น ผมคิดว่าเรื่องสำคัญคือการทำการบ้าน เพราะว่าสมัยพลเอก เปรม แรกๆ ญี่ปุ่นไม่ฟังเลย ทำการบ้าน เจรจาอยู่หลายปี จนภาคราชการ เอกชนของญี่ปุ่น ไว้วางใจ”

บทเรียนที่สำคัญจากการเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นคือการทำการบ้าน เนื่องจากหากสามารถสร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นได้จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว เพราะญี่ปุ่นเป็นคนจริงใจ ฉะนั้น ทีมงานที่จะทำงานกับญี่ปุ่นของ “รัฐบาลเศรษฐา” ต้องไปศึกษาบทเรียนการทำงานของรัฐบาลเปรมและทีมอาจารย์เสนาะ

“ผมเรียกร้องเลย ให้ไปศึกษาวิธีการของอาจารย์เสนาะ แล้วจะเข้าใจวิธีการทำงาน แล้วก็สร้างความสัมพันธ์กับนักธุรกิจและข้าราชการญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นทั้งราชการ การเมือง ธุรกิจ เขาไปด้วยกัน แล้วตรงนี้เป็นการสร้างความสัมพันธ์อีกระดับหนึ่งในอุตสาหกรรมต่างๆ อันนี้คือประสบการณ์ที่อยากจะบอกว่า รัฐบาลถ้าจะทำเรื่องนี้ต้องทำต่อเนื่อง แล้วทำแบบนี้ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นประเทศเดียว เพราะว่าขณะนี้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดคือจีน ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ทิ้งไม่ได้ 3 ตลาด 3 ประเทศนี้ รวมทั้งอินเดียเป็นตลาดใหญ่”

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ขยายการศึกษา-เปลี่ยนโครงสร้างชนบทไทย

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในรัฐบาลพลเอก เปรม เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษกิจที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้มีความต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก ทำให้แรงงานจากชนบทอพยพเข้าเมือง

“ในยุครัฐบาลเปรมตอนต้น มีแรงงานอพยพมาจากชนบทเข้าเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นคือความจนในชนบทลดลง แม้ว่าในช่วงนั้นเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่รัฐบาลพลเอกเปรม สามารถแก้ปัญหาได้ แก้ปัญหาความยากจนได้ แก้ปัญหาวิกฤติการคลังได้ เปลี่ยนประเทศไทยเลย นั่นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”

หลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูต่อเนื่อง ในปี 2533 ประเทศไทยเริ่มเปิดเสรีเงินทุน ภาคชนบทไทยเริ่มเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ คนชนบทอพยพเข้าเมือง ขณะที่รัฐบาลมีการลงทุนเรื่องการศึกษา และขยายการเรียนการสอนจากภาคบังคับจากชั้นประถมปีที่ 7 มาเป็นการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา ขยายโอกาสในปี 2530

“เราสร้างมัธยมขยายโอกาส เปลี่ยนวิทยาลัยครู วิทยาลัยอาชีวศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล ทั่วประเทศ ก็เปิดโอกาสให้คนชนบทมากขึ้นในระดับอุดมศึกษา จากนั้นในปี 2540 ยุคต่อเนื่องมาจากรัฐบาลพลเอเปรม มาเป็นรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน การศึกษาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนบทครั้งใหญ่”

การส่งเสริมการศึกษามีโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษา ทำให้เปิดโอกาสให้ครอบครัวชนบทยากจนสามารถกู้ยืมเรียนได้ถึงระดับมหาวิทยาลัย คนชนบทมีการศึกษาสูง ชนบทไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา จนถึงรัฐบาลทักษิณ(ชินวัตร)1

อาจารย์นิพนธ์บอกว่า หลังจากนั้นรัฐบาลทักษิณ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจและชนบทไทยก็เริมมีปัญหา เนื่องจากเกิดปัญหาการเมือง เรื่องสีเสื้อเหลือง แดง หรือเสื้อสีต่างๆ ต่อเนื่องมาโดยตลอด

ประกอบกับประเทศไทยมีปัญหาเรื่องอัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2513 ทำให้ประชากรเกิดใหม่ของไทยน้อยลง ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และทำให้เข้าสู่สังคมชราภาพเร็วขึ้น

“ประเทศไทยเข้าสู่สังคมชราภาพเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียเลย รองๆ จากญี่ปุ่น ประเทศไทยลดอัตราการเกิดแบบที่ไม่ต้องมีนโยบายคุมประชากรเหมือนประเทศจีน ไทยลดอัตราการเกิดลงโดยอัตโนมัติ ขณะที่การศึกษาเราไม่มีคุณภาพเพราะขยายเร็ว นั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวยาวมากตั้ง 20 ปี… 20 ปีเต็มๆ”

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เศรษฐกิจชะลอตัว ชนบทหยุดนิ่ง- เศรษฐกิจตามอัธยาศัยเสี่ยงสูง

อาจารย์นิพนธ์บอกว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจชนบทไม่เปลี่ยน มีจังหวัดบางจังหวัดเท่านั้นที่ยังเติบโตสูง ส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน และอยู่ชายแดน เช่น นครพนม อุบลราชธานี เพราะว่าอยู่ติดประเทศเพื่อนบ้านลาว พม่า เพราะฝั่งนั้นมีจีนมาลงทุน ตอนแรกลงทุนเรื่องศูนย์การค้า ศูนย์อุตสาหกรรม แล้วก็กลายเป็นบ่อนการพนันเป็นอะไรต่างๆ แล้วกลายเป็นพวกจีนสีเทา ซึ่งการลงทุนในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ฝั่งไทยเจริญไปด้วย การค้าไทย การค้าชายแดนก็เจริญ

อย่างไรก็ ตามจังหวัดตามเมืองชายแดนที่เติบโต ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือบางจังหวัด มีอัตราการเติบโตไม่เกิน 5-6 % ขณะที่จังหวัดที่เคยเป็นเมืองขนาดใหญ่ เช่น จังหวัดสงขลา จันทบุรี ขอนแก่น อัตราการเติบโตหยุดชะงัก

ขณะที่การเติบโตของแรงงานนอกภาคเกษตร มีอพยพเข้าเมืองแล้วจำนวนมาก คนชนบทอพยพรุ่นแรกตั้งแต่ก่อนสมัยพลเอกเปรมไปทำงานต่างประเทศ และมีการอพยพเข้าเมืองแต่อพยพตามฤดูกาลหมดฤดูทำนาเข้ามาทำงานก่อสร้าง เพราะฉะนั้นแรงงานรุ่นนั้นที่เข้ามาทำงานก่อสร้างก็ได้ทักษะในการก่อสร้างกลับไปก็กลายเป็นช่างก่อสร้าง และ บางคนก็เป็น ช่างเครื่อง ซ่อมรถยนต์ ซ่อมอะไรต่างๆก็ได้ทักษะ การอพยพมันก็ได้ประโยชน์ทักษะ

ส่วนแรงงานอพยพรุ่นสอง ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาทำงานตามโรงงาน เช่น โรงงานทอผ้าเย็บเสื้อผ้า ซึ่งแรงงานในยุคนี้ไม่ได้ทักษะการทำงานจากการการทำงาน เนื่องจากการเย็บผ้าทำเพียงบางชิ้นไม่ได้ทำทั้งระบบ เมื่อไม่ทำงานโรงงาน กลับบ้านจึงนำทักษะกลับไปใช้ไม่ได้

“ขณะที่โรงงานในต่างจังหวัดไม่ค่อยมี เพราะนโยบายการส่งเสริมเราเปลี่ยนทิศจากเดิมที่เรามักส่งเสริมจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคให้เจริญ เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา ลำพูน เชียงใหม่ สงขลา แต่ตอนหลังมีการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษในบางจังหวัด เช่น จังหวัดระยอง”

อาจารย์นิพนธ์บอกว่า การพัฒนาที่เน้นความเจริญที่ส่วนกลาง พอเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ชนบทไม่มีการพัฒนาเมืองรองรับ เมื่อเศรษฐกิจในเมืองตกต่ำ แรงงานเริ่มอพยพกลับบ้าน แต่ในต่างจังหวัดก็ไม่มีงานให้ทำเช่นกัน

“แต่ก่อนเขาอพยพมาอยู่กรุงเทพฯ เพราะต้องการเปลี่ยนชีวิต ไม่อยากทำเกษตร โดยเฉพาะผู้อพยพที่มีการศึกษาสูง แต่ว่าพอตอนหลังเศรษฐกิจเราไม่โต เขาไม่ได้ทำงานในระบบ เช่น ข้าราชการ บริษัท

แต่เขาไปทำงานนอกระบบ มันขาดความมั่นคง เราเรียกว่าเศรษฐกิจตามอัธยาศัย พอไปรับจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้างถาวร กิจการนอกระบบ กิจการตามอัธยาศัย เมื่อตกงาน ไม่มีหลักประกันรองรับ และมีแนวโน้มอพยพกลับบ้าน”

อาจารย์นิพนธ์บอกอีกว่า คนที่ทำงานนอกระบบมีภาวะความเสี่ยงมาตลอด เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540-2541 และในปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ คนตกงาน ขณะที่หลังสุดมาเกิดโรคระบาดโควิด-19 คนตกงาน เพราะฉะนั้น ชีวิตคนอพยพเข้ามาในเมือง ถ้าอยู่ในเศรษฐกิจตามอัธยาศัย ขาดความมั่นคง มีแนวโน้มอพยพกลับบ้านสูง

“ผมพบว่ากลุ่มคนที่มาทำงานในเมืองตอนแรกตั้งใจจะอยู่ถาวร แต่ตอนนี้เริ่มอพยพกลับแล้ว มีงานศึกษาของนักวิชาการชาวต่างประเทศ ที่เป็นนักสังคมศาสตร์คาดการณ์ว่า ผู้อพยพรุ่นสอง คือรุ่นที่จบการศึกษาสูงกว่ามัธยมตอนแรก ตั้งใจว่าจะอพยพมาอยู่ถาวร แต่ในที่สุดอยู่ไม่ได้เพราะว่าเกิดปัญหา และมีแนวโน้มกลับบ้านในปี 2540 ประมาณ 25%”

อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวพบว่ามีแนวโน้มที่ผู้อพยพรุ่นที่สองจะเดินทางกลับบ้านมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2550 ขณะที่พบว่าการถือครองที่ดินต่อครัวเรือนลดลง โดยเฉพาะในอีสาน

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ทั้งนี้ จากงานศึกษาพบว่า ในพื้นที่ภาคอีสานอัตราการถือครองที่ดินต่อครัวเรือนเริ่มลดลงมาก ทำให้ อาจารย์นิพนธ์ เป็นห่วงว่าผู้คนที่เริ่มมีปัญหาการทำงานในเมืองและอพยพกลับของคนชนบทจะเริ่มลำบาก หากต้องการกลับไปทำการเกษตร ขณะที่มีที่ดินน้อยลงส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอ

“มีตัวเลขสำรวจต่อเนื่อง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา กระทั่งถึงปี 2564-2565 ปรากฏว่ามีคนอพยพกลับชนบทมากขึ้นจากประมาณ 25% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 30% ขณะที่ที่ดินถือครองต่อครัวเรือนลดลง”

คนที่ดินที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากครัวเรือนที่มีที่ดินจำนวนน้อย ไม่เกิน 20 ไร่ มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ส่วนคนที่มีที่ดินเกิน 20 ไร่ขึ้นไปจำนวนเท่าเดิม ขณะที่จังหวัดที่มีอัตราการเติบโตจนสามารถจ้างงานได้มีเพียงไม่กี่จังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น

“ที่สำคัญคือการกลับบ้านเร็วขึ้น กลับบ้านไปแล้ว จะทำอะไร ปรากฏว่าส่วนใหญ่ทำเกษตร รองลงมา คือค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ขณะที่ที่ดินลดจำนวนลง ส่วนงานนอกภาคเกษตรไม่ต้องหวัง มีน้อยมาก เพราะไม่มีการพัฒนาจังหวัดต่างๆ มีเพียงไม่กี่จังหวัดที่เติบโต ”

เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่ที่กลับบ้านไป น่าเป็นห่วง เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างรองรับ รัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้ มัวแต่เน้นนโยบายแก้ปัญหาระยะสั้น แจกเงิน ทำให้รัฐบาลไม่มีเงิน ในการพัฒนาแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน แก้ปัญหาการสร้างงานในชนบท

อาจารย์นิพนธ์เป็นห่วงว่า หากรัฐบาลยังไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ คนชนบทที่อพยพเข้าเมืองจากเดิมตั้งใจอาศัยอยู่ถาวร แต่ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ทำให้ต้องกลับบ้าน

แต่ชนบทหยุดนิ่งไม่พัฒนามานานกว่า 20 ปี ขณะที่สัดส่วนที่ดินต่อครัวเรือนลดลง การพึ่งพาภาคเกษตรจึงไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป

“การจะเพิ่มรายได้ให้เกษตร ที่รัฐบาลประกาศไว้ 4 เท่า ผมว่าชาติหน้าก็ไม่มีทาง เพราะที่ดินแปลงเล็กลง ถ้าทำเกษตร ต้องรวมที่ดินแปลงใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีปริมาณมากพอ และมีเงินทุนอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีความรู้ด้วย”

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเปลี่ยนแปลงของชนบท คือภาคเกษตรอาจจะไม่สามารถรองรับการอพยพกลับบ้านครั้งนี้ได้

จากสัดส่วนที่ดินต่อครัวเรือนลดลง ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุมากขึ้น การทำเกษตรที่จะสามารถอยู่รอดได้ ต้องรวมตัวกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่ และต้องใช้เทคโนโลยีและความรู้ ซึ่งต้องอาศัยเกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรกรที่เป็นผู้สูงอายุอาจปรับตัวกับการทำเกษตรแบบใหม่ได้ไม่ง่ายนัก

“ที่ผ่านนมารัฐบาลมีการส่งเสริมรวมกลุ่มเกษตรกรให้มีที่ดินผืนใหญ่ มีเกษตรกรที่เก่งๆ ที่ได้รับการส่งเสริมแล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งดีมาก แต่กลุ่มคนเหล่านี้มีเพียง 10% ของกลุ่มเกษตรกร และอีก 90% พอได้รับการส่งเสริมได้รับเงิน และได้เครื่องจักรไปแล้ว ในที่สุดก็ไม่ได้ทำอะไร ให้ประสบความสำเร็จ”

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ไทยเปลี่ยนผ่าน “ภาคเกษตรแบบหางด้วน”

อาจารย์นิพนธ์บอกว่า แม้จะมีความพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคชนบทด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินและเครื่องจักรกล แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จึงถือเป็นการเปลี่ยนภาคเกษตรแบบหางด้วน

พร้อมอธิบายว่าหากเป็นการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรแบบสมบูรณ์ ที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแล้วคนอพยพออกจากภาคเกษตร จนนำไปสู่การทำเกษตรกรมีที่ดินแปลงใหญ่ แบบเดียวกับสหภาพยุโรปได้ ครัวเรือนหนึ่งมีที่ดินประมาณ 300-400 ไร่ กลายเป็นเศรษฐี มีแรงงานในภาคเกษตรครัวเรือนหนึ่งประมาณ 2-3 คน ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติทำงาน นี่คือการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรไปสู่แปลงใหญ่ได้

“แต่ประเทศไทยเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบหางด้วน ผู้อพยพกลับบ้าน แต่ที่ดินแปลงเล็กลง การทำแปลงใหญ่ ต้องให้เกิดการรวมกลุ่ม ซึ่งรัฐบาลพยายามส่งเสริม แต่วิธีการวิธีการส่งเสริม เป็นแบบเสื้อโหลเหมือนกันทั่วประเทศ”

อาจารย์นิพนธ์บอกว่า…

ต้องเลิกส่งเสริมเกษตรกรกรแบบเสื้อโหล โดยไม่รู้ว่าความต้องการของเกษตรกรคืออะไร เพราะฉะนั้น ต้องเปลี่ยนวิธีการ ควรให้กลุ่มเกษตรกรคิดเองว่าเขาต้องการอะไร ต้องการสนับสนุนอย่างไร จึงจะแก้ไขปัญหาและเกิดการเปลี่ยนผ่านที่ถูกต้องได้

“เกษตรกรต้องเสนอ ไม่ใช่ให้รัฐบาลเสนอ ไม่ใช่ให้หน่วยราชการเสนอ และอย่าไปมองวาพ่อค้าเป็นศัตรู พ่อค้าไม่ได้เป็นศัตรู ผมไปทำงานเกษตรกร เขาไม่เคยเห็นพ่อค้าเป็นศัตรู เขาเป็นมิตรกัน ทำงานร่วมกัน บริษัทต่างๆ โรงสี เขาก็พยายามจะทำให้เกษตรกรมีฐานะดีขึ้น เอาความรู้ เอาเทคโนโลยีไปให้”

4 ประสาน “เกษตรกร-นักวิชาการ-เอกชน-ราชการ”

อาจารย์นิพนธ์เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านของภาคชนบทต้องอาศัยความร่วมมือแบบ 4 ประสาน คือ เกษตรกร นักวิชาการ เอกชน และภาคราชการ โดยภาคราชการต้องเปลี่ยนบทบาท เป็นผู้ประเมินโครงการ และสนับสนุนงบประมาณ

“ต้อง 4 ประสาน คือ เปลี่ยนบทบาท ของรัฐราชการที่เคยเป็นคนคิดโครงการ ทำโครงการ มาเป็นประเมินโครงการ คัดเลือกโครงการสนับสนุนงบประมาณ ส่วนเกษตรกรร่วมกับบริษัทเอกชน เอานักวิชาการมาสนับสนุนความรู้”

อาจารย์นิพนธ์เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านในระยาวต้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรจากแปลงเล็กไปสู่แปลงใหญ่ โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกร

“นโยบาย 4 ประสานเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในระยะยาวเพื่อไปสู่เกษตรฟาร์มใหญ่ ที่เริ่มทำไปแล้ว เช่น ไร่อ้อย หรือ การทำนา ในภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม มีที่ดิน 400-500 ไร่ หรือ 1,000 ไร่ บางส่วนเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ บางส่วนเช่า ซึ่งถ้าทำนาเพียง 2 รอบชาวนาในพื้นที่เหล่านี้มีรายได้เพียงพอ”

การสนับสนุนทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นได้ เช่น การทำนา ปลูกข้าวไม่ไวแสงได้ไร่ละ 1 ตัน หากขายได้ราคา 8,000 บาทต่อตัน ขณะที่ต้นทุน 5,000 บาท ได้กำไร 3,000 บาท ถ้าได้กำไรไร่ละ 3,000 บาท มีที่นา 10 ไร่ ปีหนึ่งได้กำไร 3 หมื่นบาท หากมีที่นาแปลงใหญ่ 100 ไร่ ปีหนึ่งก็ได้กำไร 3 แสนบาท ดังนั้นการทำนาในที่ดินแปลงใหญ่จึงมีกำไรมากกว่า

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

แก้กฎหมายเช่าที่ดิน หนุนเกษตรแปลงใหญ่

นอกจากส่งเสริมการรวมที่ดินแปลงใหญ่เพื่อทำเกษตรแล้ว รัฐบาลต้องแก้กฎหมายเช่าที่ดินที่ไม่เอื้อให้เกิดการเช่า ปัจจุบันกฎหมายเอียงเข้าข้างผู้เช่าที่ดิน ต้องแก้กฎหมายให้เจ้าของที่ดินยอมปล่อยเช่า

“กฎหมายต้องแก้ไข เพราะปัจจุบันตราชูสัญลักษณ์เอียงไปเข้าข้างผู้เช่า บอกว่าถ้าเจ้าของที่ดินจะขาย ต้องขออนุญาตผู้เช่าก่อน ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นสิทธิของคนขาย แต่ต้องไปขออนุญาตผู้เช่า มันสูญเสียกรรมสิทธิ์ เพราะฉะนั้น ต้องแก้กฎหมายฉบับนี้ ให้สิทธิเสรีภาพของทั้งสองฝ่ายเท่ากัน”

อาจารย์นิพนธ์เห็นว่า หากต้องการให้เกิดการรวมที่ดินเป็นแปลงใหญ่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพราะที่ผ่านมากฎหมายเข้าข้างคนเช่าที่ดินเพราะเกรงว่าเจ้าของที่ดินเอาเปรียบผู้เช่า ทำให้เข้าของที่ดินไม่คอยปล่อยให้เช่า

“การเช่าเป็นหนทางสู่การเป็นเจ้าของที่ดิน จะเห็นว่ามีตระกูลใหญ่ๆ ที่เริ่มต้นมาจากการเช่าที่ดิน เช่น ตระกูลมิตรผล รุ่นพ่อแม่เขาก็เช่าที่ดินมาก่อน แต่วันนี้เขากลายเป็นเจ้าของกิจการและเจ้าของที่ดิน”

นอกจากการแก้ไขเรื่องของกฎหมายเช่าที่ดินแล้ว อาจจะต้องแก้ไขปัญหาการกู้ซื้อที่ดินที่ดอกเบี้ยสูงมากกว่าการซื้อรถยนต์

“การกู้เงินซื้อที่ดินดอกเบี้ยแพงมหาศาล ซื้อที่ดินดอกเบี้ย 7% แพงมาก ขณะที่ซื้อรถยนต์ดอกเบี้ย 1-2% เท่านั้น ปัญหาที่ธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยซื้อที่ดินดอกเบี้ยแพงเพราะหากมีปัญหาผู้กู้ไม่ผ่อนชำระยึดคืนยาก ต้องฟ้องบังคับคดีใช้เวลา 6-7 ปี จึงต้องแก้ปัญหาตรงจุดนี้ก่อน”

อาจารย์นิพนธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้หากต้องการให้การเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรสมบูรณ์ เป็นเกษตรแปลงใหญ่ ต้องจัดการแก้ปัญหาเรื่องระบบชลประทานและจัดให้มีมาตรการเก็บค่าน้ำ

“ถ้าจะเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ต้องมีระบบน้ำที่ดี ซึ่งการจัดการน้ำต้องไม่ฟรี ขณะนี้เราใช้น้ำฟรี จึงใช้กันสุรุ่ยสุร่าย เราควรจะจัดการน้ำให้กับเกษตรกร โดยให้กลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำตามโควตาและสิทธิในการใช้ หากเขาประหยัดน้ำได้ สามารถนำส่วนที่ประหยัดไปขายได้”

ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรต้องทำ 3 มาตรการคือ 1. จัดการเรื่องน้ำ 2. แก้ปัญหาเรื่องการเช่าที่ดิน 3. เรื่องของการบังคับคดี

รวมไปถึงมาตรการอุดหนุนของภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ใช้มาตรการอุดหนุนแบบให้ฟรี แต่ต้องอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข เช่น ถ้าทำนาแล้วไม่เผาที่นา หรือทำนาเปียกสลับแห้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดระบบ big data ที่สามารถนำข้อมูลทั้งหมดไปใช้ประโยชน์ เป็นข้อมูลข่าวสารให้เกิดประโยชน์ในการตัดสินของเกษตรกรให้ได้

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

กระจายอำนาจ-เพิ่มรายได้ต่อหัวเกษตรกร

อาจารย์นิพนธ์บอกว่า เป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านสู่ภาคเกษตรที่สมบูรณ์คือการทำให้รายได้นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเท่ากับรายได้นอกภาคเกษตร

“รายได้ต่อหัวภาคเกษตรจะเท่ากับรายได้ต่อหัวนอกภาคเกษตรคือเป้าหมาย เพราะไม่ว่าคุณจะเลือกอาชีพไหนในประเทศไทย รายได้ต้องเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น ต้องลดคนในภาคเกษตรที่มีอยู่ 28% ลดลงมาเหลือไม่เกิน 10% เพราะถ้าคนในภาคเกษตรลดลง ทำให้ที่ดินต่อหัวต่อครัวเรือนก็จะสูงขึ้น รายได้จะเพิ่มขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิพนธ์ห่วงว่าการส่งเสริมที่ดินแปลงใหญ่จะทำให้ที่ดินเป็นของบริษัทเอกชน ดังนั้นนโยบายต้องไม่ไปส่งเสริมการผูกขาด ต้องเป็นนโยบายที่ส่งเสริมครอบครัวให้เกษตรกรให้ทำเกษตรโดยมีที่ดินแปลงใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ อาจารย์นิพนธ์เห็นว่า ต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาตัวเองได้ โดยการกระจายอำนาจทั้งงบประมาณและอำนาจในการตัดสินใจ

“นโยบายในการพัฒนาประเทศต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดรอบๆ แม้ว่าที่ผ่านมาเรามีนโยบายกระจายอุตสาหกรรมให้ภูมิภาค แต่ในช่วงหลังมีนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่เกิดขึ้นแค่การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือ EEC แต่นโยบายนี้พิสูจน์แล้วว่าสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น”

อาจารย์นิพนธ์อยากเห็นนโยบายการกระจายอำนาจการพัฒนาพื้นที่ ให้แต่ละจังหวัด พัฒนาตามศักยภาพตัวเอง สร้างงานในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาส่วนกลางออกแบบและกำหนดโดยที่ไม่รู้ว่าแต่ละจังหวัดต้องการอะไร

“ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะรู้ความต้องการของแต่ละจังหวัด แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ย้ายบ่อยมาก เพราะเป้าหมายของเขาไม่ได้เป็นการพัฒนาพื้นที่ แต่เป้าหมายใหญ่ของเขาคือเส้นทางความเจริญส่วนตัว ขณะที่ภาระงานของกรมฯ คือ มีเจ้าหน้าที่เยอะที่สุด มีอำนาจมากที่สุด แต่ว่าชีวิตประชาชนไม่ใช่เป้าหมายของกรมฯ”

อาจารย์นิพนธ์เห็นว่า ต้องกระจายอำนาจทางการคลังเพื่อให้ท้องถิ่นแข็งแรง ที่ผ่านมาการพัฒนาในจังหวัด แต่การเสียภาษีให้กับส่วนกลาง ซึ่งรายได้จากภาษีไม่ไปยังจังหวัดนั้นๆ ดังนั้นแผนพัฒนาแต่ละจังหวัดต้องมีเรื่องการกระจายงบประมาณลงไปด้วย

“ที่ผ่านมาไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ รัฐบาลส่วนกลางยังต้องการอำนาจเพื่อให้สามารถควบคุมได้ทั้งประเทศ ไม่มีนักการเมืองคนไหนที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วบอกว่าต้องการกระจายอำนาจไปในจังหวัดต่างๆ และไม่มีรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคนไหนที่ต้องการลดอำนาจของตัวเองเพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด”

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะนอกจากอำนาจทางการเมืองแล้วต้องมีอำนาจการบริหารพัฒนาทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการคลังร่วมด้วย เพื่อให้อำนาจในการบริหารจัดการจังหวัดได้เต็มศักยภาพ

ชนบทไทยจึงน่าเป็นห่วง ถ้าไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้ชนบทมีศักยภาพในการดูแลตัวเอง คนที่อพยพกลับไปไม่รู้จะทำอะไร มากกว่าไปทำเกษตร และทำการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ