ThaiPublica > ประเด็นร้อน > วิกฤติโครงสร้างประเทศไทย > “นิพนธ์ พัวพงศกร” มองวิกฤติโครงสร้างภาคเกษตร การลงทุน-การพัฒนาหยุดนิ่ง 20 ปี

“นิพนธ์ พัวพงศกร” มองวิกฤติโครงสร้างภาคเกษตร การลงทุน-การพัฒนาหยุดนิ่ง 20 ปี

22 สิงหาคม 2024


รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองวิกฤติโครงสร้างภาคเกษตรหยุดนิ่ง ไม่พัฒนากว่า 10-20 ปี ลงทุนลดลงต่อเนื่องเหลือเพียง 15-20% ขณะที่รายได้ภาคเกษตรลดลง แนะยกเครื่องตั้งเป้า 5 ปี ลงทุนภาคเกษตรเพิ่ม 25-30% สร้างเกษตรสมัยใหม่

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

แม้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกปี 2567 ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยขยายตัว 1.9%

แต่นี่คือการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ลงมาอยู่ในระดับนี้มานานหลายปี จนมีคำถามว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติโครงสร้างหรือไม่ ที่ทำให้การเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น

“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า”ได้นำเสนอซีรีส์วิกฤติโครงสร้างประเทศไทยในมิติต่างๆ ที่มีผลทำให้ศักยภาพไทยตกต่ำ

สำหรับปัญหาโครงสร้างภาคการเกษตร รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ โดยเล่าย้อนอดีตให้เห็นพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์ ในแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ว่า

“เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่1 และเริ่มมีการปรับเปลี่ยนการพัฒนาด้านต่างๆ มาเรื่อยๆ แล้วก็มาประสบความสำเร็จเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงต้นทศวรรษ พ.ศ. 2500 เราปรับโครงสร้างภาคเกษตรใหม่”

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตรจากเกษตรยังชีพมาเป็นเกษตรการค้า ขณะนั้นภาคเกษตรเป็นภาคที่เติบโตมากที่สุด และถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญเติบโต ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรจำนวนมาก

ยุค “ป๋าเปรม” เปลี่ยนโครงสร้างสู่อุตสาหกรรม

หลังจากการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตร มาสู่ยุคที่ต้องเผชิญวิกฤติน้ำมันในปี ค.ศ. 1970 หรือ พ.ศ. 2513 แต่ในช่วงนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้พ้นวิกฤติ และเกิดโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งได้เปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกได้สำเร็จ

ความสำเร็จในยุคพลเอก เปรมมาจากการทำงานอย่างต่อเนื่องในความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ ทำงานร่วมกันหลายปี จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นและภาคเอกชนญี่ปุ่นไว้วางใจ แล้วตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เพราะตอนนั้นประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่เหมาะสมที่สุด

“ตอนนั้น ถ้าเราจำได้ ผมขออนุญาตใช้ ค.ศ. ปี 1988-1989-1990 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเติบโตสูงที่สุดในโลก 3 ปี ติดต่อกัน จนมาสู่ยุคพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นายกรัฐมนตรีและใช้คำขวัญว่า ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ แต่จริงๆ ฝีมือต้องบอกเลยมาจากสมัยพลเอก เปรม”

ยุค “อานันท์ ปันยารชุน” เปิดเสรีทางการเงิน

รศ. ดร.นิพนธ์ บอกว่าในยุคต่อมาเป็นยุคของเปิดเสรีทางการเงิน แม้ในช่วงนั้นมีข้อผิดพลาด เพราะว่าเราเปิดเสรีทางการเงิน แต่ไม่ลอยตัวค่าเงินบาท เลยทำให้เกิดวิกฤติ แต่โชคดีที่รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเรื่องระบบเสรี และแก้ระบบกฎหมายที่เป็นอุปสรรคไปได้บางส่วน ขณะที่ในสมัยนายชวน หลีกภัย ได้กระจายอำนาจทางด้านการคลังเป็นครั้งแรก

“นี่คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมด ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดต่างๆ จนทำให้ประเทศเติบโตจากประเทศยากจนมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แล้วกำลังขึ้นมาเป็นประเทศกำลังพัฒนาไปสู่รายได้สูง”

รศ. ดร.นิพนธ์กล่าวว่า หลังวิกฤติปี 2540 ประเทศไทยสามารถปรับตัวได้ดีพักหนึ่ง แต่หลังจากนั้นการเมืองไทยเป็นระบบการเมืองแบบประชานิยม ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ปรับตัว

“มีงานวิจัยพิสูจน์ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมีงานของ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ จากธนาคารโลก แล้วก็งานวิจัยของผมเอง ค่อนข้างชัดเจนว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจหยุดการปรับตัวมา 10 กว่าปี”

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

โครงสร้างภาคเกษตร “หยุดนิ่ง”

ไม่เพียงแต่ภาคเศรษฐกิจหยุดปรับตัว ภาคเกษตรก็หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในประเด็นนี้ รศ. ดร.นิพนธ์อธิบายว่า ในช่วงปี 2500 ภาคเกษตรมีความยากจนมาก แต่ว่าตอนหลังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีฐานะดีขึ้น ส่งผลให้ความแตกต่างของรายได้ต่อหัวระหว่างรายได้ในภาคเกษตรและรายได้นอกภาคเกษตรลดลง

ข้อมูลดังกล่าวมีงานวิจัยยืนยันสอดคล้องกันในช่วงนั้น โดยคนชนบทอพยพเข้ามาทำงานในเมืองและมีรายได้มากขึ้นจากนอกภาคเกษตร ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้จากนอกภาคเกษตรประมาณ 60-70% ส่วนอีก 30% มาจากภาคเกษตร

หากเปรียบเทียบการพัฒนาภาคเกษตรไทยกับมาเลเซีย พบว่าในช่วงแรกช่องว่างระหว่างรายได้ในภาคเกษตรกับรายได้นอกภาคเกษตรลดลง จากเดิมที่รายได้นอกเกษตรสูงกว่ารายได้ในภาคเกษตร 8-9 เท่า ลดลงเหลือเพียง 4 เท่า แต่ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภาคเกษตรไทยหยุดเติบโต ทำให้ช่องว่างรายได้ภาคเกษตรหยุดนิ่งอยู่ที่ 4 เท่า ขณะที่มาเลเซียลดลงไป ปัจจุบันห่างกันแค่ 1.5 เท่าเท่านั้นเอง

“นี่คือสภาพที่เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันภาคเกษตรหยุดเติบโตมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ที่น่าตกใจคือ ภาคเกษตรหยุดเติบโตไม่พอ คนชนบทที่ไปทำงานในเมืองเริ่มกลับชนบทมากขึ้น เนื่องจากการทำงานในเมืองมีตวามเสี่ยง เช่น ในปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง คนตกงานจำนวนมาก และในปี 2554 มีน้ำท่วมใหญ่ ทำให้คนชนบทกลับบ้านมากขึ้น รวมทั้งวิกฤติโควิดในปี 2563”

“ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างภาคเกษตรหยุดการเปลี่ยนแปลง มาจากระบบการเมืองเน้นนโยบายประชานิยมมากเกินไป เข้าไปช่วยเหลือภาคเกษตร จนส่งผลให้ภาคเกษตรไม่ปรับตัว”

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ชนบท “น่าห่วง” คนย้ายกลับบ้านแต่ไม่มีงานรองรับ

รศ. ดร.นิพนธ์กล่าวว่า เมื่อภาคเกษตรหยุดนิ่ง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเองไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ แม้ว่าที่ผ่านมามีความพยายามพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดให้เป็น new S-curve แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยมีเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่สามารถปรับตัวได้ดีคืออุตสาหกรรมรถยนต์

ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นๆ ทำให้คนชนบทที่มีการศึกษาสูงที่เคยทำงานในเมืองต้องกลับชนบท แต่การกลับบ้านไม่ได้มีงานที่ดีและมีรายได้สูงเพียงพอ ทำให้สถานการณ์ในชนบทค่อนข้างน่าเป็นห่วง

รศ. ดร.นิพนธ์ย้ำว่า มีข้อมูลค่อนข้างจะชัดเจนว่าคนชนบทที่อพยพมาทำงานในเมืองเริ่มย้ายกลับบ้าน โดยจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยแฮนโนเวอร์ ซึ่งมีการทำสำรวจครัวเรือนเกษตรกร 2,000 ครัวเรือนใน 3 จังหวัดภาคอีสานติดต่อกันเกือบ 20 ปีโดยใช้ข้อมูลชุดเดิม ก็พบว่าคนกลับบ้านส่วนใหญ่กลับไปทำเกษตร และไปค้าขายเล็กๆ น้อยๆ อันนี้น่าห่วง

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือการกลับมาทำเกษตร แต่ที่ดินต่อครอบครัวลดลงจากการแบ่งมรดก ทำให้ขนาดที่ดินที่มีอยู่จำนวนน้อย ไม่สามารถจะมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ บางส่วนกลับบ้านมาเพื่อค้าขายเล็กๆ น้อยๆ แต่รายได้ก็ไม่เพียงพอเช่นกัน”

ในชนบทไม่มีงานดีๆ รองรับคนที่อพยพกลับบ้าน ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีภาคบริการที่ดีๆ ที่จะทำให้มีรายได้สูงเท่ากรุงเทพฯ เนื่องจากการพัฒนาของเราเติบโตแบบกระจุกตัว เฉพาะที่กรุงเทพฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด กับเมืองท่องเที่ยวบางเมืองเท่านั้น

“ในชนบท เราไม่มีงานดีๆ ที่จะรองรับและสร้างรายได้มากพอ ซึ่งหากนับจริงๆ มีเมืองที่สร้างรายได้ คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย มีไม่กี่จังหวัด สะท้อนให้เห็นว่าเรามีปัญหาโครงสร้าง นอกจากหยุดชะงักแล้ว เป็นเพราะว่าเรามีนโยบายการพัฒนาแบบรวมศูนย์ รวมศูนย์การพัฒนา”

การกระจุกตัวของภาคอุตสาหกรรม เกิดจากการพัฒนาไม่ได้กระจายตามหัวเมืองขนาดใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้หยุดชะงัก ทำให้คนต่างจังหวัดที่มีการศึกษาสูงไม่มีงานที่มีรายได้

รศ. ดร.นิพนธ์กล่าวว่า “อันนี้คือภาพสะท้อนการหยุดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ถ้าสังเกตว่ามันหยุดชะงักยังไง เวลาเราไปต่างจังหวัด ลองสังเกตดู ในเมือง ในจังหวัด มีอะไรบ้าง โดยเฉพาะธุรกิจในเมือง มีร้านค้า ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ร้านขายรถยนต์ ตอนนี้มีร้านขายรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นเยอะ และโรงแรม แตกต่างจากเมืองในต่างประเทศ ที่มีชีวิตชีวาและมีการพัฒนามากกว่า เช่น เมืองโตโยต้าที่ญี่ปุ่น เมืองเบนซ์ที่เยอรมัน ซึ่งเมืองเหล่านี้มีคนที่มีความรู้ไปทำงาน แม้ว่าประเทศไทยอาจจะมีเมืองในลักษณะดังกล่าว เช่น ลพบุรี ที่มีโรงงานใหญ่ อย่างเครือเบทาโกร แต่ในระดับผู้บริหารทำงานที่กรุงเทพฯ”

พร้อมกล่าวต่อว่า “ถ้าเรามีคนมีความรู้ไปอยู่ในจังหวัดพวกนี้ จะสร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ชนิดใหม่ๆ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะสังเกตได้ว่า 10 ปี 20 ปีที่ผ่านมา เมืองในชนบทของไทยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับที่เราเห็นในต่างประเทศ”

รศ. ดร.นิพนธ์อธิบายว่า สาเหตุที่เมืองในต่างจังหวัดไม่เจริญ มาจากการเน้นการพัฒนาแบบรวมศูนย์ ยิ่งในยุคของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี การพัฒนาก็เน้นการรวมศูนย์ ขณะที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เห็นนโยบายชัดเจนเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง เนื่องจากประเทศหยุดการพัฒนา

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

การลงทุนหด-การพัฒนาหยุดชะงัก

รศ. ดร.นิพนธ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ปัญหาการลงทุนคือปัจจัยที่ทำให้ภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก ไม่เกิดการพัฒนามานานกว่า 10-20 ปี ในอดีตการลงทุนโดยรวมของประเทศไทยเติบโตถึง 40% ของจีดีพี ขณะที่การลงทุนภาคเกษตรเติบโตมากถึง 25-30% ของจีดีพีภาคเกษตร เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ มีการลงทุนมวลรวมทั้งประเทศทุกภาคสูงหมด แต่ปัจจุบันการลงทุนภาคเกษตรลดลงเหลือ 15-20% ส่วนการลงทุนด้านการวิจัยภาครัฐก็ลดลงเช่นกัน โดยปี 2530 ลงทุนวิจัยมากเกือบ 1% ของจีดีพีภาคเกษตร แต่ปัจจุบันลดลงไปเหลือ 0.2-0.3% ของจีดีพีเกษตรเท่านั้น

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยวันนี้ไม่น่าแปลกใจที่สภาพัฒน์ฯ แถลงออกมาว่า จีดีพีในครึ่งปีแรกที่เราเติบโตน้อย แล้วปีที่แล้วที่เราเติบโตช้า เพราะว่าอัตราการลงทุนของภาครัฐติดลบ เนื่องจากปัญหาของเรื่องงบประมาณ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานาน มันเป็นปัญหามา 20 กว่าปีแล้ว ทำให้การลงทุนมันชะลอตัว ไม่มีใครอยากลงทุน

“เวลานี้คนไทยเอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ ตลาดหุ้นไทยหมดอนาคตเลย นี่คือปัญหาที่สะท้อนว่า ปัญหาระยะยาวคือเราลงทุนน้อยเกินไป ทั้งลงทุนโดยรวมและลงทุนภาคการเกษตร อันนี้แหละคือเรื่องใหญ่มากๆ เลย”

“จุดอ่อน” ภาคเกษตรไม่พัฒนา ใช้สูตรเดิมๆ

รศ. ดร.นิพนธ์ย้ำว่า ปัญหาการลงทุนของภาคการเกษตร รวมถึงการลงทุนด้านการวิจัย ที่มีจุดอ่อนมาก โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนด้านการพัฒนาพันธุ์ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปัจจุบันเกษตรกรภาคกลางหันไปใช้พันธุ์ข้าวเวียดนามจำนวนมาก ในบางจังหวัดมีมากถึง 40-50% ของพื้นที่ เนื่องจากพันธุ์ข้าวเวียดนามมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่า และเหมาะในช่วงการปลูกข้าวนาปี มีผลผลิตค่อนสูงและอายุสั้น 90 วัน

การวิจัยพันธุ์ข้าวไทยที่กรมการข้าวพยายามทำวิจัยไม่ตอบโจทย์ พอไม่ตอบโจทย์ เกษตรกรก็พยายามดิ้นรนที่จะหาอะไรที่ผลผลิตดีกว่า ก็ไปเอาข้าวเวียดนามมาปลูก ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยไม่ได้ต่ำกว่าแค่เวียดนาม แต่ข้าวเราต่ำกว่าลาว ต่ำกว่าบังกลาเทศ ต่ำกว่าศรีลังกา ไปดูได้เลย ข้าวโพดก็เหมือนกัน คือ ผลผลิตต่อไร่เราต่ำมาก

รศ. ดร.นิพนธ์บอกอีกว่า นอกจากไม่มีการลงทุนวิจัยด้านการเกษตรที่ตอบโจทย์แล้ว ยังไม่มีการพัฒนาในเรื่องของปุ๋ย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตร ได้คิดค้นปุ๋ยสูตรใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ปุ๋ยสูตรนี้มาจากการที่อาจารย์ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร 2 คนเห็นว่าแปลงนาที่ จ.ร้อยเอ็ด มีผลผลิตน้อย จึงเข้าไปตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร จนพัฒนาได้ปุ๋ยสูตรใหม่ขึ้นมาซึ่งเพิ่มผลผลิตจำนวนมาก

“ปุ๋ยสูตรเดิมของกรมการข้าว ส่วนใหญ่เป็นสูตร 16-20-0, 20-20-0, 18-22-0 แต่ปุ๋ยสูตรใหม่เป็น K 20-8-20 สำหรับข้าวไวแสง”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า เราใช้ปุ๋ยสูตรเดิมๆ ไม่ได้ศึกษาความต้องการของข้าว สภาพดิน สะท้อนความอ่อนแอของระบบรัฐ ระบบวิจัย ระบบส่งเสริมของรัฐ ขณะนี้เรื่องของทุเรียนก็เช่นเดียวกัน เราพยายามส่งเสริมแต่ไปไม่สุด เพราะความจริงแล้วทุเรียนแต่ละพื้นที่มีรสชาติที่แตกต่างกัน

“ผลไม้มีรสชาติต่างกัน ถ้าปลูกในพื้นที่ต่างกัน อย่างทุเรียน ถ้าเราปลูกหมอนทองที่ระยอง กับปลูกที่ศรีสะเกษ หรือไปปลูกที่ป่าละอู รสชาติไม่เหมือนกัน แต่หน่วยราชการไม่เคยโฆษณาว่าทุเรียนมันไปปลูกในพื้นที่ที่ต่างกัน รสชาติมันต่างกันนะ มีแต่ชาวบ้านโฆษณากันเอง”

นอกจากนี้ ยังไม่เคยวิจัยเรื่องของรสชาติที่แตกต่างกันของผลไม้ในแต่ละพื้นที่ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ในทางวิทยาศาสตร์ มาจากสภาพดิน อากาศ หรือไม่ ขณะที่ในญี่ปุ่น ไต้หวัน ศึกษาวิจัยโดยศูนย์วิจัยทำร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้ได้เอกลักษณ์ของผลไม้ในแต่ละพื้นที่

“พอทำศึกษาวิจัยแล้ว ในซูเปอร์มาร์เกตของเขาจะบอกรสชาติผลไม้ที่ต่างกัน อันนี้รสเปรี้ยว อันนี้กรอบ อันนี้หวาน แต่มาจากจังหวัดนี้นะ แล้วให้ผู้บริโภคเลือกรสชาติที่ชอบได้เลย”

รศ. ดร.นิพนธ์ย้ำว่า นี่คืองานวิจัยที่ตอบโจทย์คนสมัยใหม่ เพราะคนสมัยใหม่ไม่ได้กินเหมือนกัน แต่ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของงานวิจัย เราไม่ลงทุนและไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการ

“เราเคยประสบความสำเร็จกับการทำเกษตรในตอนที่เรียกว่าปฏิวัติเขียว ในช่วงปี 2513, 2520 อะไรแถวๆ นั้น มีเทคโนโลยีใหม่ มีข้าวพันธุ์ใหม่ มีข้าวโพดพันธุ์ใหม่ แต่เราใส่ปุ๋ยสูตรเดียวกันสำเร็จรูปทั่วประเทศ ทำให้ผลผลิตเพิ่มทั่วราชอาณาจักร ประสบความสำเร็จ”

รศ. ดร.นิพนธ์อธิบายว่า “เราติดสูตรความสำเร็จเดิมและวิธีการส่งเสริมแบบเดิม ที่เรียกว่าเสื้อโหล แล้วก็ติดแนวทางแบบนี้ มาจนกระทั่งปัจจุบัน แต่วันนี้มันไม่ใช่เสื้อโหล เพราะภาคการเกษตรในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน จะต้องปลูกพืชที่แตกต่างกัน ปลูกพันธุ์ที่แตกต่างกัน มีการบำรุงดินแตกต่างกัน เราไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างอันนี้เท่าที่ควร”

“ขนาดสูตรข้าว ข้าวไวแสงกับข้าวไม่ไวแสง สูตรปุ๋ยยังไม่เหมือนกันเลย แล้วสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรค้นพบ ผลผลิตมันเพิ่มขึ้น อย่างข้าวหอมมะลิจาก 400 กิโลกรัมต่อไร่เป็น 600 กว่ากิโลกรัม นี่คืออนาคต”

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความท้าทายภาคเกษตร

รศ. ดร.นิพนธ์ย้ำว่า การส่งเสริมแบบเสื้อโหลต้องหยุด ขณะที่ต้องเพิ่มการลงทุน หรือปรับโครงสร้างเกษตรให้มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อเพิ่มรายได้ และเพิ่มผลผลิตให้เกษตกร

“เป้าหมายคือ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้ของเกษตรกร ลดต้นทุน ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน เพิ่มรายได้ต่อหัวขึ้นมา อันนี้โจทย์หนึ่ง แต่โจทย์แค่นี้ไม่พอแล้ววันนี้ ภาคเกษตรมีความท้าทายที่สำคัญอันหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่าหลัง จากรัฐบาลไทยไปสัญญาใน COP Net Zero แล้ว ขณะที่ภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จากการปลูกข้าว ซึ่งมีการใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมี ดังนั้น ต้องปรับเป็นเกษตรสมัยใหม่ ถ้าจะส่งออก ทำเกษตรแบบเดิมไม่ได้ ในอนาคตจะถูกเก็บภาษี จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จึงเป็นโจทย์สำคัญ โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก

“อันนี้คือเรื่องใหญ่ คนที่จะทำเกษตรกรรุ่นเดิม ที่ทำแบบเดิมมันใช้ไม่ได้แล้ว ความรู้แบบเดิม มันล้าสมัยแล้ว เพราะสภาพภูมิอากาศมันเปลี่ยนแปลง เกษตรมันต้องใช้ความรู้สมัยใหม่ เทคโนโลยี ดิจิทัล มีโดรน อะไรต่างๆ มาช่วย เกษตรกรรุ่นเก่ากว่าจะปรับตัวได้ใช้เวลามาก ต้องให้คนรุ่นใหม่ทำให้ดูก่อน ค่อยๆ ทำไป แต่เรารออย่างนั้นไม่ได้ กว่ารุ่นเก่าจะออกไป แล้วรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน ดังนั้น เราต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือเกษตรกรที่มีทักษะ”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า มีงานวิจัยพิสูจน์ชัดเจนว่าถ้าเราจะเพิ่มจีดีพีของภาคเกษตร โดยเฉพาะจีดีพีต่อหัว ต้องอาศัยแรงงานที่มีฝีมือ และแรงงานที่ไม่มีฝีมือต้องลดลง ต้องใช้แรงงานไทยที่มีความรู้สูง ซึ่งกระทรวงเกษตรจัดอบรม Young Smart Farmer และหลายคนเก่ง นำความรู้ไปรวมกลุ่มตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรรุ่นใหม่เหล่านี้มีการศึกษาสูง ใฝ่หาความรู้ มีความร่วมมือกับภาคเอกชน ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จนกระทั่งทำให้เกษตรกรรุ่นเก่ายอมรับว่า ความรู้สมัยใหม่นำมาใช้กับภาคเกษตรแล้วมีประโยชน์

“การทำเกษตรสมัยใหม่ อาจจะเริ่มต้นจากจดบันทึก ใส่ปุ๋ยเท่าไหร่ ใส่วันไหน การทำเกษตรแบบมีรายละเอียด จนส่งผลให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รายได้ต่อไร่สูงขึ้น จนการรวมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่เติบโตกลายเป็นธุรกิจ กลายเป็นผู้ประกอบการ กระแสนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย กระแสการรวมกลุ่มเกษตรกรเกิดทั่วโลก”

เกษตรสมัยใหม่ : ทางรอดภาคเกษตร

รศ. ดร.นิพนธ์เล่าว่า ในสมัยก่อน การรวมกลุ่มเกษตรกรเกิดในรูปสหกรณ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ประเทศที่ประสบความสำเร็จแรกๆ คือ ยุโรป สแกนดิเนเวีย เยอรมัน สวีเดน ฟินแลนด์ และในเอเชีย มีญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ขณะที่ไทย อินเดีย นำมาใช้ไม่ประสบความสำเร็จ

“ตอนนี้มีกลุ่มเกษตรกรสมัยใหม่ ซึ่งไม่ติดในกรอบ เพราะว่าเดิมสหกรณ์มันติดกรอบ ติดกฎหมาย ถูกครอบงำโดยรัฐ แต่กลุ่มเกษตรสมัยใหม่เขาทำกันเอง ใช้ความรู้ ร่วมมือกับธุรกิจเอกชน เช่น ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ เขาต้องการข้าวโพดต้องมี GAP มีมาตรฐาน เพื่อให้การส่งออกไก่ หมู ได้มาตรฐาน”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า ตัวอย่างที่ดีในการปรับโครงสร้างภาคเกษตรคือ ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการยกระดับภาคการเกษตรในเวลา 20 ปี เปลี่ยนจากเกษตรสมัยเก่ามาสู่สมัยใหม่ได้

“ผมไปประเทศจีนครั้งแรก ผมไปตลาดสด ดูไม่ได้เลย ฆ่าไก่ ฆ่าหมูในตลาด แต่วันนี้เป็นดิจิทัลหมดเลย จีนเริ่มต้นจากการมีแผน ทำข้อมูล จากนั้นทำแซนด์บ็อกซ์เพื่อทดลองแต่ละพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรจีนเริ่มตั้งแต่สมัยเหมาเจ๋อตุง มีนักวิชาการจากสหรัฐอเมริกาไปสอน ขณะนั้นเหมาเจ๋อตุงเป็นนักศึกษา และอาจารย์ชาวสหรัฐฯ คนนี้ได้ทดลองทำเกษตรจนทำให้เหมาเจ๋อตุงเห็นว่าประเทศจีนมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จได้ทุกพื้นที่ ต้องทดลองในแต่ละพื้นที่”

เพราะฉะนั้น เหมาเจ๋อตุงเริ่มทดลองเพื่อหาข้อดีข้อเสียก่อนจะทำนโยบาย และจีนใช้นโยบายนี้มาโดยตลอด ขณะที่ในปัจจุบันนโยบายดิจิทัลประเทศจีนก็เริ่มทดลองเก็บข้อมูล พอสำเร็จ เกิดนวัตกรรม ก็เอามาใช้ในชนบท เกิดการเปลี่ยนแปลงชนบทของจีน ทำให้เกษตรกรขายพืชผล โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ได้ในราคาสูงขึ้น

“เวลานี้ดิจิทัลอยู่ที่บ้าน เกษตรกรเขารู้แล้วว่าตลาดราคาเท่าไหร่ ตกลงกันบนดิจิทัล ประเทศไทยต้องเลียนแบบจีนตรงนี้ให้ได้ ก้าวไปสู่ตรงนี้ นี่คือเงินลงทุนครั้งใหญ่ว่า รัฐจะต้องลงทุนอะไรบ้าง ร่วมกับเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องคน แล้วลงทุนเรื่องวิจัย”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า มหาวิทยาลัยสามารถจัดหลักสูตรต่างๆ ไม่ต้องเป็นปริญญา เป็นโมดูลเล็กๆ ต้องเคี่ยวเข็ญมหาวิทยาลัยให้นำนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติ ไปช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาให้สำเร็จ แล้วทำเป็นรายงานวิจัย จนทำให้ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์

“เราต้องสร้างระบบนี้ขึ้นมา ในต่างประเทศเขาทำระบบนี้ จะเห็นว่าอเมริกา ญี่ปุ่น ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยไปช่วยเกษตรกรในการคิดวิเคราะห์ ในการแก้ปัญหาภาคเกษตร อันนี้แหละคือตัวสำคัญ”

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สร้างแพลตฟอร์ม รวบรวมความรู้เกษตกร

รศ. ดร.นิพนธ์ บอกด้วยว่า ขณะนี้เกษตรกรที่ต้องการเรียนรู้เรียนตามยูทูบกันเอง ซึ่งความรู้เหล่านั้นมีถูกบ้างผิดบ้าง ดังนั้น ต้องทำแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อคัดเลือกและรวบรวมความรู้เหล่านี้ให้เป็นห้องสมุดที่ดี เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และลองถูกลองผิดได้

“ผมถือว่าแพลตฟอร์มมันเหมือนกับห้องสมุด ความรู้มันไม่ใช่อยู่มหาวิทยาลัยอย่างเดียวแล้ว อันนี้รัฐต้องลงทุน สนับสนุนให้มหาวิทยาลัย คัดเลือกนำเอายูทูบของกลุ่มเกษตรกรที่เขาทำถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์มาให้เรียนรู้ เพราะนี่คือความรู้ขนานใหญ่ เวลานี้โชคดี มีสตาร์ทอัปศึกษาเรื่องเกษตรสมัยใหม่ และมีบริษัทใหญ่ๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้ จริงๆ จังๆ เริ่มทดลองแล้วได้ผล ทำเกษตรสมัยใหม่ แล้วสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ เพราะฉะนั้น รัฐต้องพยายามส่งเสริม ต้องลงทุนวิจัยเรื่องเหล่านี้”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า “ความรู้ที่มีอยู่หลากหลายของเกษตรกร จะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้รวดเร็ว เพราะหลักสูตรมหาวิทยาลัยไม่เคยเปลี่ยน ความรู้หยุดนิ่ง นี่คือการปฏิรูประบบการศึกษาใหม่เลย”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า รัฐต้องลงทุนในคน ลงทุนในดิจิทัล เทคโนโลยี โดยตั้งเป้าหมายการลงทุนด้านนี้ภายใน 5 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 1% แล้วภายใน 10 ปีขึ้นไปถึง 2% เพราะปัจจุบันประเทศไทยลงทุนวิจัยแค่ 0.2-0.3% ของจีดีพีเกษตรเท่านั้น

“เราต้องสร้างนักปรับปรุงพันธุ์ เพราะนักวิจัยด้านนี้ที่เก่งๆ กำลังจะเกษียณ และหลายคนก็เกษียณไปแล้ว มันต้องสร้างคนพวกนี้ เพราะกว่าจะได้พันธุ์ใหม่ใช้เวลาหลายปี ต้องมีทีมวิจัยแล้วต้องได้รับการสนับสนุนจริงๆ จังๆ ตั้งเป้าลงทุนวิจัยเรื่องนี้สัก 1% ใน 5 ปี และตั้งหมายเรื่องงบลงทุนด้านเกษตรจาก 15-20% ขึ้นไป 25% แล้วขยับเป็น 30% ใน 5-10 ปีข้างหน้า ตรงนี้ต้องทำก่อน

เร่งปรับโครงสร้างภาคเกษตร สู่สมัยใหม่

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า การปรับโครงสร้างเกษตรต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการลงทุน เช่น เทคโนโลยีและเทคโนโลยีชีวภาพ ต้องแก้กฎหมาย เช่น กรณีที่กฎหมายไทยไม่ยอมให้ทำวิจัยเรื่องจีเอ็มโอ อาจจะต้องเปิดให้มีการลงทุนวิจัยทางด้านนี้

“การวิจัยเรื่องจีเอ็มโอ ไม่ต้องเป็นจีเอ็มโอแบบเอายีนของสัตว์เข้าใส่ในพืช แต่เป็นการตัดต่อยีนในพืชด้วยกันเอง ตอนนี้มันก้าวหน้าไปเยอะ ฉะนั้น ต้องมีการทบทวนเรื่องพวกนี้ ต้องมีเทคโนโลยีชีวภาพ ต้องยอมให้เรามีเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีเครื่องไม้เครื่องมือ”

นอกจากนี้ รศ. ดร.นิพนธ์เห็นว่า อาจจะต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูปอฟ (UPOV หรือ The International Union for the Protection of New Varieties of Plants) เพื่อคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากนักปรับปรุงพันธุ์เขาใช้ชีวิตทั้งชีวิตในการทุ่มเทปรับปรุงพันธุ์ เขาต้องได้รางวัล

“รัฐบาลจีนให้รางวัล นักปรับปรุงพันธุ์เขาเป็นข้าราชการเงินเดือนเท่าคนอื่น แต่เวลาค้นพบพันธุ์แล้วประสบความสำเร็จ ได้เงิน ได้ส่วนแบ่ง อันนี้กฎหมายไทยเริ่มมีแล้ว แต่เราควรจะไปสู่ยูปอฟด้วย อันนี้ต้องคุยกัน เพราะมีคนค้านเรื่องนี้ พอมีคนค้านก็ไม่ทำ ระบบประชาธิปไตยควรจะต้องคุยกัน ฟังเหตุฟังผลทั้งสองด้าน ชั่งน้ำหนักว่าน้ำหนักส่วนใหญ่ไปทางด้านไหน แล้วรัฐบาลตัดสินใจตามผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่”

ปรับระบบส่งเสริม

รศ. ดร.นิพนธ์เห็นว่า งานส่งเสริมเกษตรกรต้องปรับปรุง รัฐมีหน้าที่แค่ประเมิน ให้เงินงบประมาณ แต่คนทำคือเกษตรกรร่วมมือกับภาคเอกชน ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแล้วเสนอโครงการมา ซึ่งจะได้หลากหลาย ระบบจะไม่เป็นเสื้อโหล และประเมินตรงไปตรงมา ใช้หลักวิทยาศาสตร์ประเมิน อันไหนสำเร็จเราก็สนับสนุนเพิ่มเติม อันนี้ก็เหมือนแซนด์บ็อกซ์ ทดลองไปทำ”

รศ. ดร.นิพนธ์เห็นว่าภาครัฐต้องเล็กลง ทำหน้าที่ประเมิน งบประมาณบุคลากรก็จะลดลง จะถ่ายจากเงินบุคลากรไปเป็นงบวิจัย งบส่งเสริมผ่านมหาวิทยาลัย ให้ไปวิจัยในแปลงของเกษตรกร แล้วมันต้องแพร่ไปในแปลงทดลองอื่นด้วย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่ส่งเสริม อบรมให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยด้านต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อให้ไปส่งเสริม อบรมเกษตรกร เป็นเครือข่าย

“อันนี้คือการปฏิรูประบบส่งเสริม มันโยงไปหมด เพราะว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏที่สุรินทร์ ที่ปัตตานี เขารู้จักพื้นที่ รู้จักเกษตรกร แล้วเขาได้ความรู้จากมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยมาแล้ว และพิสูจน์แล้วในแปลงเกษตรกร เป็นแปลงที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเครือข่ายแบบนี้มันเกิดในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน สหรัฐฯ

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า กระทรวงเกษตรฯ ต้องปรับตัว ไม่ใช่ทำงานกับเกษตรอย่างเดียว ต้องร่วมกับมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ในสหรัฐอเมริกามี land-grant university แต่เมืองไทยยังไม่มี ต้องสร้างอันนี้ขึ้นมา

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

บูรณาการ-ปรับโครงสร้างงานวิจัย

ส่วนงานวิจัยและส่งเสริม รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า ต้องแก้ไขใน 2 อย่าง คือ ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยวิจัย เนื่องจากกรมการข้าวกับกรมวิชาการแยกกันอยู่แล้วไม่เป็นผลดี เพราะว่างานวิจัยต้องบูรณาการข้ามสาขาร่วมกัน แล้วต้องไม่เป็นราชการ ต้องเป็นองค์กรอิสระมีการวัดประเมินผลงานตาม KPI ทำให้นักวิจัยไม่ต้องไปวิ่งเต้นไปเป็นผู้บริหาร

“เวลานี้ ถ้านักวิจัยอยากจะโตต้องไปเป็นผู้บริหาร แล้วเราจะเสียนักวิจัยดีๆ ไปเป็นผู้บริหารที่แย่ๆ เพราะนักวิจัยที่เก่งๆ มักจะบริหารไม่เก่ง ซึ่งผมเสนอให้ต้องปรับกรมการข้าวกับกรมวิชาการเอานักวิจัยมารวมกัน เพราะตอนนี้ผมตกใจมากที่กรมวิชาการแยกเป็นฝ่ายๆ แยกเป็นส่วนๆ ไม่ร่วมมือกัน มันไม่บูรณาการ เวลานี้จะต้องบูรณาการให้ได้ ไม่ใช่สร้างแต่ตึก เราจะมีแนวโน้มไปสร้างตึกมากเกินไป”

รศ. ดร.นิพนธ์ยังบอกด้วยว่า ศูนย์วิจัยอะไรต่างๆ อาจจะมีมากเกินไป ต้องปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม งานวิจัยบางโครงการอาจไม่จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก เพราะต้องลงทุนใช้ความรู้ ต้องใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี

“ต้องปรับโครงสร้างเรื่องการวิจัยขนานใหญ่ จะทำอย่างไรที่จะเป็นการวิจัยระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีโมเดลที่ดี แต่ก็จะมีความเป็นไปได้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนที่เริ่มเกิดขึ้น ทีดีอาร์ไอเองก็ต้องเริ่มทำงานวิจัยที่ร่วมมือกับเอกชน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องสร้างระบบการวิจัยขึ้นมา ปฏิเสธไม่ได้ว่างานวิจัยจริงๆ ภาคเอกชนเป็นตัวสำคัญมาก ในต่างประเทศ ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาจากภาคเอกชนทั้งนั้น”

รศ. ดร.นิพนธ์ย้ำว่า นโยบายวิจัยเราจะต้องเริ่มเสรีมากขึ้น แล้วดึงพวกภาคเอกชนบริษัทใหญ่ๆ มาลงทุน มาทำวิจัยในประเทศไทย และต่อยอดจากงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร และทำให้ภาคเกษตรมีรายได้เราสูงขึ้น

ต้องลงทุน “ระบบบริหารจัดการน้ำ”

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านภาคเกษตรอื่นๆ ที่ต้องปรับปรุงคือ ระบบการบริหารจัดการน้ำ ในบางพื้นที่ที่มีน้ำส่วนเกิน แล้วไหลลงทะเล เพราะพื้นที่สาธารณะบางแห่งไม่สามารถจัดเก็บน้ำได้ เช่น จ.นครสวรรค์ บึงบอระเพ็ด ถูกบุกรุก ตื้นเขิน หากสามารถดูแลบึงตามธรรมชาติและให้เป็นแหล่งเก็บน้ำได้จะดี เพราะเมืองไทยมีน้ำไหลทิ้งเยอะ

“อันนั้นเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งซึ่งผมยังไม่ได้ศึกษาจริงๆ จังๆ ต้องมีที่เก็บน้ำเป็นที่เล็กๆ ไม่ต้องไปสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ไม่ต้องไปบุกป่า การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ไม่เวิร์กแล้ว มันไม่มีพื้นที่แล้วในประเทศไทย คุณจะต้องเอาน้ำที่มันมีอยู่ ที่ไหลทิ้งเนี่ย เก็บมาใช้ประโยชน์ เพราะเรื่องใหญ่ของเราคือการบริหารจัดการน้ำ ให้มันใช้น้ำมีประสิทธิภาพที่สุด”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า เราต้องปรับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการทำนาใช้น้ำทำนามากเกินไป เพราะมูลค่าที่ได้จากการผลิตข้าวต่อการใช้น้ำหนึ่งลูกบาศ์เมตรยังต่ำมาก เพราะฉะนั้น เราต้องบริหารจัดการใหม่ โดยต้องเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ ให้กลุ่มเกษตรกร ผู้ใช้น้ำเข้มแข็ง งานนี้มีงานวิจัยทั่วโลกว่าเราสามารถสร้างกลุ่มเกษตรกร กลุ่มใช้น้ำที่เข้มแข็งได้ แต่เรายังไม่ได้ทำ

ส่วนเรื่องน้ำท่วมเป็นอีกปัญหาที่ต้องแก้ไข เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมมาจากเรื่องของการใช้ที่ดินผิด มีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ ขณะที่มีผังน้ำ แต่กฎหมายผังน้ำยังไม่ได้บังคับใช้ทำให้การก่อสร้างและการใช้ที่ดินไม่ได้คำนึงถึงเส้นทางน้ำ ซึ่งต้องมีการควบคุมว่าคุณห้ามก่อสร้างในพื้นที่ดังต่อไปนี้ เพราะถ้าสังเกตพื้นที่น้ำท่วมใหม่ๆ เพราะเราไปสร้างสิ่งก่อสร้าง ทั้งรัฐและทั้งเอกชน ในที่ที่ทางน้ำไหล ฉะนั้น การควบคุมต้องมีเครื่องมือใหม่ เช่น ผมเป็นเจ้าของที่ดินตรงนี้ แล้วน้ำมันท่วม ผมก่อสร้างไม่ได้ ผมจะต้องมีสิทธิโอนที่ของผมตรงนี้ไปที่อื่น นี่ยกตัวอย่างของมาตรการที่ต้องมีเพิ่มขึ้น คือเรื่องการควบคุมการใช้ที่ดิน

ต้องลงทุน Regenerative Agriculture

ส่วนเรื่องของการจัดการดิน รศ. ดร.นิพนธ์เห็นว่า ในภาคเกษตรของไทยใช้ที่ดินในการทำไร่ทำนามาตั้งแต่ 2503 ทำให้การใช้ที่ดินเสื่อมโทรม ขณะที่การบำรุงดินไม่เพียงพอ เราต้องลงทุน ซึ่งเกษตรสาขาใหม่ ที่เรียกว่า regenerative agriculture(หรือระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู) ฟื้นชีวิตเกษตร

อย่างไรก็ตามในงานวิจัยด้านไบโอเทคเริ่มให้ความสนใจเรียนเรื่อง micro organism แล้วก็บทบาทของ micro organism หรือปลูกพืชกลุ่มดินเพื่อช่วย พืชมันสังเคราะห์แสงได้ เนื่องจาก micro organism จะช่วยพารากพืชไปหาอาหาร ได้ไกลมากขึ้น

“คนใต้ เขาปลูกปาล์ม แล้วเอาใบปาล์มที่ตัดมากองเป็นทางไป เขาเรียกว่า ‘กองทาง’ ที่พอใต้ใบมันจะชื้น รากพืชมันไปหาอาหารได้ เพราะแบคทีเรียของ micro organism มันพาไป เพราะฉะนั้น บทบาทของ Micro organism เนี่ยมันช่วยให้ต้นไม้สังเคราะห์แสงหาอาหารได้”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า นี่คือ micro organism จะช่วยฟื้นฟูดิน ถือเป็นบทบาทของ regenerative เป็นศาสตร์ใหม่เพิ่งเริ่มต้น และประเทศไทยควรจะลงทุน ทุนมนุษย์ในเรื่องนี้

“คุณเรียนเกษตรสมัยเก่าไม่ได้อีกแล้ว เกษตรสมัยปฎิวัติเขียวมันล้าสมัยแล้ว โดยอาจารย์ที่ทำปุ๋ยสูตรใหม่ เขาเริ่มต้นวิเคราะห์ด้วยการศึกษา regenerative เพราะต้นไม้มันมีธาตุอาหารของมัน แล้วธาตุอาหารมันอยู่ในต้นไม้ มันมาจากการสังเคราะห์แสงเป็นส่วนใหญ่ มาจากปุ๋ยเป็นส่วนน้อย เพราะ 90% มาจากการสังเคราะห์แสง อีก 10% มาจากการใส่ปุ๋ย ซึ่งการการศึกษาในศาสตร์นี้เพิ่งเริ่มต้น”

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

คนทำเกษตรไม่รวย แต่เลี้ยงโลกได้

ภาคเกษตรไทยจะอยู่รอดหรือไม่ รศ. ดร.นิพนธ์ บอกว่า…

เกษตรไทยอยู่รอด แต่ทำให้ตายยังไงก็ไม่รวย เพียงแต่เลี้ยงโลกได้ แต่ไม่รวย

“ถ้าจะทำเกษตรให้ รวยได้ คุณต้องมีที่ดิน 300 ไร่ 400 ไร่ ถ้าคนมี 300 ไร่ 400 ไร่ ทำเกษตรรวยได้ เพราะผมเจอเกษตรกรที่มี 300-400 ไร่รวยจริง อันนั้นต้องอีก 20 ปีข้างหน้า ต้องปรับโครงสร้างกฎหมาย ต้องเอื้อให้คนซื้อที่ดินได้ ดอกเบี้ยต้องไม่แพง เวลานี้ซื้อที่ดิน กู้ ธ.ก.ส. ดอกเบี้ย 6-7% ซื้อรถยนต์ดอกเบี้ยร้อยละเท่าไหร่ 2% ทำไมซื้อรถยนต์ดอกเบี้ยถูกกว่าซื้อที่ดิน เพราะกฎหมายบังคับคดี ยึดรถที่เบี้ยวผ่อนชำระง่ายกว่าการยึดที่ดินที่ไม่มีปัญญาผ่อนชำระ เพราะต้องขึ้นศาลใช้เวลา 5 ปีชนะคดี และใช้เวลาอีก 3-4 ปีในการบังคับคดี ทำให้ธนาคารต้องกำหนดดอกเบี้ยสูง”

“ต้องไปรื้อกฎหมายบังคับคดี ให้กระบวนการเร็วขึ้น ต้นทุนถูกลง ดอกเบี้ยก็จะลด ขณะที่กฎหมายเช่าที่ดินก็ต้องไปแก้ไข เพราะกฎหมายที่ดินสร้างขึ้นมีลำเอียง ให้ประโยชน์ผู้เช่ามากกว่า ทำให้ผู้ที่มีที่ดินไม่อยากปล่อยเช่า เพราะฉะนั้น ต้องรักษาสมดุล”

รศ. ดร.นิพนธ์บอกว่า ภาคเกษตรไทยต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อให้อยู่รอดและเลี้ยงโลกได้ โดยในอนาคตจะต้องปรับเป็นเกษตรแปลงใหญ่ แก้ไขกฎหมาย เปิดให้มีการซื้อขายที่ดินได้ง่าย และทำให้เจ้าของที่ดินกล้าปล่อยเช่าที่ดิน ขณะที่ปรับระบบน้ำ นำเอาการเจรจาตกลงกันมาใช้ในการแบ่งผลกระประโยชน์เรื่องน้ำ ขณะที่เรื่องของดินต้องฟื้นฟูดินด้วยเกษตรสาขาใหม่ที่เรียกว่า regenerative agriculture หรือระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู เพื่อให้เกษตรไทยไปรอดและเลี้ยงโลกได้