ThaiPublica > Sustainability > Headline > TCP Spirit ปี 3 ชู ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ฟื้นประชากร ‘นกกระเรียน’ จ.บุรีรัมย์ หลังสูญพันธุ์ 5 ทศวรรษ

TCP Spirit ปี 3 ชู ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ฟื้นประชากร ‘นกกระเรียน’ จ.บุรีรัมย์ หลังสูญพันธุ์ 5 ทศวรรษ

15 พฤศจิกายน 2024


นอกจากสนามบอล ทีมฟุตบอล การเมืองบ้านใหญ่ ลูกชิ้นยืนกิน และอุทยานปราสาทพนมรุ้ง ‘บุรีรัมย์’ ยังมีของขึ้นชื่อตกสำรวจอย่าง ‘นกกระเรียน’

เนื่องจากภูมิศาสตร์ของ จ. บุรีรัมย์ มีพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ประกอบด้วยพื้นที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชั้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติและมนุษย์ รวมถึงมีแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ตลอดจนมีนาข้าว บ่อปลานาเกลือ คลอง และอ่างเก็บน้ำ ทั้งหมดเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของนกกระเรียน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2555 – 2559 กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้กรอบความร่วมมือขององค์กรสหประชาชาติกับรัฐบาลไทย ได้พัฒนาโครงการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทย จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้นกกระเรียนที่เคยสูญพันธุ์ในพื้นที่ดังกล่าวกลับมาฟื้นคืนถิ่นอีกครั้ง

  • ปี 2554 ปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยชุดแรก ณ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก บุรีรัมย์ จำนวน 10 ตัว
  • ปี 2555 ปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยชุดแรก ณ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน บุรีรัมย์ จำนวน 15 ตัว
  • ปี 2556 พบพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ของนกที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
  • ปี 2558 – 2562 โครงการ Flora and Fauna Project เข้ามาเผยแพร่องค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ชุมชนโดยรอบปรับเปลี่ยนกระบวนการทำเกษตร
  • ปี 2559 ปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยไปแล้ว 70 ตัว และมีชีวิตรอดเอง 40 ตัว และพบนกกระเรียนทำรังและวางไข่เป็นครั้งแรกจำนวน 2 ฟอง บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน ประโคนชัย บุรีรัมย์
  • ปี 2560 พบลูกนกกระเรียนตัวแรกที่เกิดในธรรมชาติ บริเวณตำบลสะแกโพรง บุรีรัมย์
  • ปี 2561 รวมมีนกกระเรียนพันธุ์ไทย 105 ตัวในพื้นที่
  • ปี 2562 นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติกว่า 70% ยังมีชีวิตรอด และมีลูกนกเกิดใหม่ 15 ตัว

จากความสำเร็จของการฟื้นฟูนกกระเรียน จ.บุรีรัมย์ ทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP เลือกพื้นที่นี้ในการจัดโครงการ TCP Spirit ปีที่ 3 ผ่านคณะเศษสร้าง ปี 3 “เฮียนธรรมชาติหมุนเวียน เบิ่งนกกระเรียนฟื้นคืน” พร้อมพาคณะสื่อมวลชนไปเรียนรู้และลงมือทำผ่านห้องเรียนวัฏจักรทางชีวภาพ การหมุนเวียนทรัพยากรในชุมชน และการฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้อาสาสมัครนำความรู้ไปปรับใช้ในชุมชน

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

TCP Spirit ปี 3 พาชมนกกระเรียน-เกษตรอินทรีย์ จ.บุรีรัมย์

“Biodiversity เหมือนจะห่างจากธุรกิจเรา แต่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของโลกใบนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัญหาเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราบินไปดูนกกระเรียนญี่ปุ่น แต่คนไม่รู้เลยว่ามีนกกระเรียนไทย”

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวถึงความเชื่อมโยงของ TCP Spirit ปี 3 กับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพกับนกกระเรียนไทย และย้ำว่าเป็นความตั้งใจขององค์กรที่พาเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิดความสนใจ และมีความสามารถไปถ่ายทอดเรื่องความยั่งยืน ส่งต่อเป็นเครือข่าย โดยแต่ละปีมีผู้ร่วมงานประมาณ 50 คน

นายสราวุฒิ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ TCP Spirit มุ่งปลูกฝังการรักษาและฟื้นฟูธรรมชาติผ่านคณะเศษสร้าง ปี 3 ด้วยการเรียนรู้แบบลงมือทำจริงในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่ตั้งใจพาอาสารุ่นใหม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด กิจกรรมนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้อาสาได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชุมชน พร้อมทั้งส่งต่อพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงให้กับคนรอบข้างและสังคม เพื่อร่วมกันรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้โลกของเราดียิ่งขึ้น

“ปีนี้มีรุ่น 1 และ 2 กลับมาด้วย เป็นตัวชี้วัดที่น่าดีใจ เชื่อว่าน้องๆ กลับไปก็ยังทำงานเรื่องพวกนี้ต่อเนื่อง หลายคนโปรไฟล์ก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เรามาทำงานให้เน็ตเวิร์กรู้จักกัน ได้ทำอะไรใหม่ๆ และทุกครั้งที่น้องต้องทำธีสิส ดู momentum มีอะไรพัฒนาให้ดีขึ้นได้ พยายามทำไปเรื่อยๆ และปรับปรุงจากสิ่งที่เราได้” นายสราวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ TCP Spirit เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการลงมือทำในห้องเรียนธรรมชาติ สัมผัสกับความหลากหลายของระบบนิเวศและชุมชนต้นแบบ โดยปีที่ 1 ที่จังหวัดระนอง และปีที่ 2 ที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย พูดถึงประเด็นการจัดการขยะ ส่วนปีที่ 3 ได้พูดถึงประเด็น ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ หรือ ‘Biodiversity’ ผ่านนกกระเรียนและพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนี้

  • พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาสาจะได้สำรวจและเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บและช่วยหมุนเวียนน้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง วิกฤตขาดแคลนน้ำ และสร้างความมั่นคงทางน้ำให้ชุมชน แสดงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ
  • นกกระเรียนคืนถิ่น หลังสูญพันธุ์ไปแล้ว 50 ปี อาสาจะได้เห็นด้วยตาตัวเองจากพื้นที่โครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ที่ได้ความร่วมมือของชุมชนช่วยปกป้องฟื้นฟู และสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ให้นกกระเรียนดำรงชีวิตอยู่ได้ พร้อมลงมือปลูกหญ้าแห้วซึ่งเป็นแหล่งอาหารของนกกระเรียน เพื่อช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนในระบบนิเวศ
  • เกษตรอินทรีย์ ดีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต และลดคาร์บอนจากการใช้เครื่องจักรและสารเคมี โดยอาสาจะได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งตีข้าว ฝัดข้าว และเพาะต้นกล้าด้วยตัวเอง
  • ทอผ้าไหม ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เปิดประสบการณ์การทอผ้าไหมกับชุมชนต้นแบบบ้านหัวสะพาน ที่ทอผ้าโดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยจากขี้วัวและฟางเพื่อคงสภาพดิน ช่วยให้หนอนไหมกินใบหม่อนที่สามารถปลูกซ้ำได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่ได้ในกระบวนการผลิต และแปรรูปรังไหมและหนอนไหม
ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และครูใหญ่คณะเศษสร้าง

ฟื้นนกกระเรียนไทย หลังสูญพันธุ์ 5 ทศวรรษ

ด้าน ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และครูใหญ่คณะเศษสร้าง เล่าถึงบทเรียนภาคต่อของเศรษฐกิจหมุนเวียนในครั้งนี้ว่า “เหล่าอาสาจะได้เรียนรู้วัฏจักรชีวภาพที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ ถิ่นอาศัยของสัตว์นานาชนิดและนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ครั้งหนึ่งเคยสูญพันธุ์ และปัจจุบันสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศ จัดการน้ำ และสร้างแหล่งอาหาร ด้วยความร่วมมือกันของนักอนุรักษ์และคนในชุมชนที่เข้าใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยอาสาจะได้เข้าไปสัมผัสและลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบยั่งยืน และการทอผ้าไหมที่ไม่ทิ้งของเสีย เพื่อให้เข้าใจวิธีการสร้างการหมุนเวียน การซ่อมแซม และฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสมดุลและความยั่งยืนของโลก”

ดร.เพชร กล่าวต่อว่า อาสาคนรุ่นใหม่จะได้ไปสัมผัสวัฏจักรทางชีวภาพ (Biological Cycle) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำในชุมชนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบที่อยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล ซึ่งอาสาจะได้มาสัมผัสและเกิดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่มีการหมุนเวียนและควรได้รับการฟื้นฟู (Regenerate)

“บุรีรัมย์เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่อง Nature-based Solution การกลับมาทำความเข้าใจธรรมชาติ และเทรนด์เกษตรอินทรีย์ Regenerative Farming ทางออกเกษตรอินทรีย์กับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมักจะถูกมองข้าม ไม่เกี่ยวเนื่องและแยกส่วน”

ดร.เพชร กล่าวต่อว่า หลักการ Nature Positive ที่จังหวัดบุรีรัมย์คือความสำเร็จของวงการอนุรักษ์ เนื่องจากประเทศไทยเคยสูญเสียนกกระเรียนไปแล้วกว่า 50 ปี แต่ด้วยความร่วมมือต่างๆ ทำให้สามารถฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพได้ ไม่ว่าจะเป็น ประชากรนกกระเรียน เกษตรอินทรีย์ กระทั่งสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวให้ชุมชน แต่โจทย์หลังจากนี้คือ การขยายผลในระดับโลก

“จากที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ตอนนี้ฟื้นฟูกลับมาได้ สิ่งที่ตามมาคือขยายพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ มองไปรอบๆ แมลงปอเยอะมาก เต่าทอง ความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม มันลดการใช้สารเคมีโดยปริยาย ดินยังสมบูรณ์” ดร.เพชร กล่าว

ดร.เพชร กล่าวถึงแนวคิด Regenerative ซึ่งพยายามมองเรื่องการเอาสัตว์เข้ามาคล้ายกับการเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ และใช้ประโยชน์จากสัตว์ให้ช่วยเสริมและฟื้นฟูดิน

ดร.เพชร ย้ำว่า กระบวนการทั้งหมด เช่น การฟื้นฟูนกกระเรียน เกษตรอินทรีย์ หรือประเด็นสิ่งแวดล้อมทั้งหมดจะมีช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition) ซึ่งต้องมีกลไกการสนับสนุน โดยเฉพาะจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยให้การเปลี่ยนผ่าน และกรณี TCP ก็ได้สร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น

“สิ่งที่เรามีคือ ต้นทุนธรรมชาติที่ได้เปรียบ เป็นบทเรียนคณะเศษสร้างของ TCP ว่าถ้าชุมชนได้รับการสนับสนุน เขาทำได้และฟื้นฟูธรรมชาติกลับมาได้ ชุมชนหลายที่มีความสามารถในการเรียนรู้ การมีองค์กรเป็นพี่เลี้ยงทำให้ชุมชนเรียนรู้ได้เร็ว”

ดร.เพชร กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปี คณะเศษสร้างได้จุดประกายคนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเชื่อมโยงความรู้สู่การลงมือทำ เพื่อสานต่อภารกิจของ TCP Spirit ในการปลุกพลังเครือข่ายอาสารักษ์โลก ที่จะช่วยส่งต่อสู่ชุมชนและสังคมในวงกว้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีที่ขึ้นและยั่งยืน 

“ผมเริ่มดูนกใหม่ๆ ต้องไปดูนกที่เวียดนาม แต่ตอนนี้เวียดนามมาดูงานบ้านเรา เป็นความสำเร็จที่น่าเหลือเชื่อ” ดร.เพชรกล่าว