ThaiPublica > Sustainability > CSR Movement > “เซ็นทรัล รีเทล” ถอดบทเรียนลองผิดลองถูก “โครงการฝึกอาชีพคนพิการ” ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

“เซ็นทรัล รีเทล” ถอดบทเรียนลองผิดลองถูก “โครงการฝึกอาชีพคนพิการ” ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

31 ตุลาคม 2019


นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“พิชัย จิราธิวัฒน์” ถอดบทเรียนโครงการฝึกส่งเสริมอาชีพคนพิการจากอดีตสู่ปัจจุบัน “เซ็นทรัล รีเทล” เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือกลุ่มเซ็นทรัล นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพคนพิการ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ 5 โรง พร้อมไก่พันธุ์ไข่อีก 2,500 ตัว มอบให้กับสมาคมรวมใจคนพิการเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เลี้ยงดูครอบครัว อีกทั้งได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน) ในการให้ความรู้ด้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ที่ถูกต้องด้วย

นายพิชัย กล่าวว่ายุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัลมีอยู่ 4 เสาหลัก แต่ในฐานะที่เซ็นทรัล รีเทล เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกหลากหลายประเภทผ่านหลายช่องทาง (multi-format and multi-category) เพื่อความเหมาะสมจึงนำมาคัดกรองเหลือแค่ 3 เสาหลัก ได้แก่ การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (environment), ความรับผิดชอบต่อสังคม (society) และการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมภายใต้หลักธรรมาภิบาล (governance) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “ESG”

“ความจริงเซ็นทรัล รีเทล ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับ SDGs มามากมายหลายโครงการตั้งแต่รุ่นคุณพ่อของผม แต่สำหรับช่วงปลายปีนี้จนถึงปีหน้า ผมขอเน้นความสำคัญไปที่เรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มคนพิการ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ให้ได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

จับมือมูลนิธิพระมหาไถ่ฯ ตั้ง Contact Center รับพนักงานคนพิการ

นายพิชัยกล่าวถึงโครงการให้ความช่วยเหลือคนพิการโดยมองว่าคนกลุ่มนี้ทำงานได้ดีไม่แพ้คนปกติ จึงพยายามพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมให้คนกลุ่มนี้มาโดยตลอด

พร้อมเล่าว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทล ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการลองผิด ลองถูก ทำกิจกรรมให้ความช่วยเหลือคนพิการมาหลายโครงการ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จ เริ่มจากการจ้างคนพิการเข้ามาเป็นพนักงานประจำ ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เข้ามาทำงานร่วมกับพนักงานกลุ่มเซ็นทรัล ปรากฏว่าคนพิการกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งทำงานกับเซ็นทรัล รีเทลได้ไม่นานก็ลาออก

ต่อมาจึงได้มีการปรับปรุงทดลองแนวทางให้ความช่วยเหลือคนพิการใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจาก “มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ” จัดตั้งศูนย์ contact center ของกลุ่มเซ็นทรัลที่มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ จังหวัดชลบุรี เปิดรับสมัครคนพิการเข้ามาทำงานที่นั่นในฐานะพนักงานประจำ

“เริ่มต้นโครงการนี้มีพนักงาน 4 คน ต่อมาก็มีการเปิดศูนย์ซ่อมเพาเวอร์บายที่มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ ปัจจุบันมีพนักงานซึ่งเป็นคนพิการทำงานอยู่ที่นั่นประมาณ 40 คน ผลปรากฏว่า ตั้งแต่เปิดศูนย์ Contact Center และศูนย์ซ่อมเพาเวอร์บายมา ยังไม่มีพนักงานคนไหนลาออกเลย ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จากบทเรียนที่ศูนย์ Contact Center และศูนย์ซ่อมบำรุงเพาเวอร์บาย ทำให้เราได้ข้อคิดว่าคนพิการเขาก็ต้องมีสังคมของเขา ซึ่งปัจจุบันจนเซ็นทรัล รีเทล ไม่สามารถเปิดรับคนพิการเข้ามาทำงานที่นั่นได้อีกเพราะเต็มอัตรากำลังแล้ว จึงต้องคิดหาวิธีต่อยอดโครงการฝึกอบรมอาชีพคนพิการกันใหม่”

ช่วงแรกๆ เซ็นทรัล รีเทล ร่วมมือกับรัฐบาล จัดทำโครงการฝึกอบรมอาชีพให้คนพิการ สอนทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำสวน และเลี้ยงวัว ปรากฏว่ามันไม่เวิร์ก บางอาชีพก็ไม่เหมาะสมกับคนพิการ อีกโครงการคือไปสอนทำเบเกอรี่เคลื่อนที่ ทำเสร็จ ก็ต้องจ้างคนขับรถไปส่งเบเกอรี่ให้กับลูกค้า มีค่าน้ำมันด้วย ตอนหลังจึงเปลี่ยนไปวางขายไว้ที่ท็อปส์ มาร์เก็ต แทน

สำหรับกลุ่มคนพิการนี้ เราไม่ได้มองเพียงให้โอกาสในการมาร่วมงานกับกลุ่มเซ็นทรัล แต่เรายังให้โอกาสกลุ่มคนพิการในต่างจังหวัด ที่ไม่สามารถเข้าทำงานตามมาตรา 33 ได้ จึงได้ทำโครงการส่งเสริมอาชีพคนพิการ มาตรา 35 ขึ้น อาทิ โครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ จ.สระบุรี โครงการเพราะเห็ด จ.นครราชสีมา และ โครงการด้านหัตถกรรมต่างๆ ในจ.เชียงใหม่ และ จ.อุดรธานี เป็นต้น

นอกจากเซ็นทรัล รีเทล ได้เข้าไปช่วยเหลือคนพิการแล้ว ยังไปช่วยโรงเรียนที่ขาดแคลนงบประมาณในการจัดหาอาหารกลางวันให้เด็กเรียนด้วย ซึ่งการให้ความช่วยเหลือของเราจะยึดหลักเศษฐกิจพอเพียง กล่าวคือ เราไม่ได้เอาปลาไปให้เขา แต่สอนเขาจับปลา โดยเซ็นทรัล รีเทล ได้รับความร่วมมือจากบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เข้าไปสร้างโรงเลี้ยงไก่ให้กับโรงเรียน 10 แห่ง พร้อมกับนำไก่พันธุ์ไข่ไปให้ทดลองเลี้ยงไก่ ผลปรากฏว่าเลี้ยงไก่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เลี้ยงไม่ดี ไก่ตายยกเล้า และถ้าไปสร้างเล้าไก่ไว้ใกล้กับห้องเรียน เด็กก็ไม่สบาย ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 3-4 โรงเรียนเท่านั้น

“จากบทเรียนที่เซ็นทรัล รีเทล ทำมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการรับคนพิการเข้ามาทำงานร่วมกับพนักงานทั่วไป ตอนหลังแยกคนพิการออกไปทำงานร่วมกันที่ศูนย์ซ่อมเพาเวอร์ บาย และ Contact Center จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้ผลมาก ไปจนถึงการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเพาเวอร์ บาย และ Contact Center จังหวัดชลบุรี ซึ่งดำเนินการโดยคนพิการเกือบทั้งหมด ซึ่งได้ผลดีมาก ดูได้จากผลงานที่ได้และไม่มีอัตราการลาออกของคนพิการเลย นำมาสู่โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึก เราจึงคิดต่อยอด ทำอย่างไรจึงจะไม่ทิ้งคนพิการในต่างจังหวัดจึงเริ่มโครงการส่งเสริมอาชีพคนพิการแห่งแรกที่จังหวัดสระบุรี ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยเซ็นทรัล รีเทล ร่วมกับเบทาโกร เข้าไปสร้างโรงเลี้ยงไก่ให้ 2 โรง พร้อมกับนำไก่พันธุ์ไข่ไปมอบให้ ส่วนคนพิการที่เดินทางมาที่ศูนย์ฝึกอบรมไม่ได้ ก็ไปสร้างเล้าไก่เล็กๆ ให้ที่บ้าน โดยเซ็นทรัล รีเทล จะส่งพนักงานไปรวบรวมไข่ไก่มาขายให้กับเซ็นทรัล และให้นำไก่ไข่ เข้ามาจำหน่ายภายในศูนย์การค้าโรบินสัน จ.สระบุรี อีกด้วย”

“ผลิตภัณฑ์ผ้าซาโอริ” ทอผ้าด้วยมือสไตล์ญี่ปุ่น

นอกจากที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการที่จังหวัดสระบุรีแล้วนอกจากการส่งเสริมอาชีพคนพิการใน จ.สระบุรีแล้วเซ็นทรัล รีเทล ยังได้ให้การสนับสนุน “มูลนิธิบ้านสมานใจ” เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนพิการในมูลนิธิฯ ด้วยการพัฒนาอาคาร สนับสนุนอุปกรณ์ และสนับสนุนการตลาด เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าซาโอริ ซึ่งเป็นวิธีการทอผ้าด้วยมือสไตล์ญี่ปุ่นด้วยฝีมือของศิลปินคนพิการผู้ที่เป็นโรคออทิสติก และเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ จึงให้ดีไซเนอร์นำผ้าซาโอริมาออกแบบร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เสื้อยืดหรือกระเป๋า นำไปจำหน่ายในแฟมิลี่มาร์ทหลายสาขาพร้อมเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้อีกด้วย

ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ จังหวัดอุดรธานี

จากบทเรียนที่เซ็นทรัล รีเทล ทำมาในอดีต ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดที่ศูนย์ฝึกอาชีพในสำหรับโครงการสนับสนุนอาชีพคนพิการ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 นอกจากสอนให้สมาชิกของสมาคมรวมใจคนพิการเลี้ยงไก่แล้ว ยังช่วยฝึกอบรมทักษะอาชีพอื่นๆ สอนทำบัญชีครัวเรือน บัญชีรายรับ-รายจ่ายด้วย

“ช่วงที่ผมและทีมงานมาลงพื้นที่สำรวจความต้องการของคนพิการในจังหวัดอุดรธานี พบว่าคนพิการที่นี่มีความสามารถหลายอย่าง เช่น การสานตะกร้า ทำรองเท้า นำเศษผ้ามาทำพรมเช็ดเท้า ทางเซ็นทรัล รีเทล จึงพาดีไซเนอร์ของเซ็นทรัลมาช่วยคนพิการออกแบบผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่าง ตะกร้าพลาสติก เราก็ให้ดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบ เพื่อนำไปขายในร้าน Good Goods โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และ เพิ่มยอดขายให้แก่คนพิการ เพื่อให้คนพิการมีกำลังใจในการประกอบอาชีพต่อไปพรมเช็ดเท้าที่ทำมาจากเศษผ้า ก็ให้ดีไซเนอร์ออกแบบเป็นรูปการ์ตูน ทำเสร็จก็ส่งขายที่ “ไทวัสดุ” ในราคา 3 ผืน 100 บาท ซึ่งในช่วงแรกๆ เราก็ต้องช่วยเขารับซื้อไปก่อน เพื่อให้คนพิการเหล่านี้มีกำลังใจ”

ข้อสังเกต สินค้าที่วางขายที่ศูนย์ฝึกอบรมสมาคมคนพิการ จังหวัดอุดรธานีจะออกแบบไม่เหมือนกับที่เซ็นทรัล รีเทลนำไปวางขายในร้าน Good Goods เพราะเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกัน ดังนั้น การออกแบบผลิตภัณฑ์จึงขึ้นอยู่กับรสนิยมของลูกค้า ถ้าขายให้กับคนกรุงเทพฯ หรือชาวต่างชาติ ก็ต้องออกแบบอย่างหนึ่ง แต่ถ้าขายให้กับคนชนบทก็ต้องออกแบบอีกอย่างหนึ่ง

นอกจากฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรให้กับคนพิการแล้ว เซ็นทรัล รีเทล ยังสนับสนุนคนพิการที่ประกอบอาชีพนวดแผนโบราณอีกประมาณ 45 คน โดยจัดรถรับ-ส่งโดยให้คนพิการกลุ่มนี้ไปนวดให้กับพนักงานในเครือเซ็นทรัลทั้งหมด หมุนเวียนกันไป ด้านการกีฬา เซ็นทรัล รีเทล ได้สนับสนุนนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ในสังกัดสโมสรกีฬาเซ็นทรัลจำนวน 29 คน โดยดูแลการฝึกซ้อม และส่งไปแข่งขันในรายการต่างๆ เช่น Paralympic, Asian Para Games

ด้านคุณภาพชีวิตคนพิการ เซ็นทรัล รีเทล ได้สร้างทางลาดวีลแชร์, ปุ่มกดอักษรเบรลล์ในลิฟต์ และที่จอดรถสำหรับคนพิการตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล รวมทั้งยังได้จัดงบประมาณ 15 ล้านบาท ปรับปรุงห้องน้ำ 9 หลังภายในส่วนลุมพินีให้เป็นห้องน้ำต้นแบบสำหรับทุกคน โดยยึดหลัก “ครบสูตร-เข้าถึง-เท่าเทียม” หรือ “universal design” พร้อมให้บริการคนพิการ ตามหลักมาตรฐานสากล และยังสนับสนุนงบประมาณอีก 5.8 ล้านบาท ปรับปรุง “ลานตะวันยิ้ม” ในสวนลุมพินีให้กลายเป็นลานกิจกรรมที่รองรับการใช้งานของคนพิการ

ปัจจุบันในปี 2562 มีคนพิการได้รับการส่งเสริมอาชีพจากกลุ่มเซ็นทรัลไปแล้วประมาณ 762 คน ในจำนวนนี้ได้สนับสนุนโดยเซ็นทรัล รีเทล ประมาณ 470 คน และทั้งหมดมีรายได้เฉลี่ย 180,000 บาทต่อคนต่อปี

“ผลพลอยได้จากการทำโครงการนี้ นอกเหนือจากการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนพิการแล้ว โครงการนี้ยังช่วยให้คนพิการได้มีสังคม เมื่อก่อนคนพิการเคยอยู่บ้านคนเดียว แต่วันนี้เขาอยากออกจากบ้านเพื่อมาพบปะพูดคุยกับเพื่อน แถมยังได้เงินเยอะด้วย เดิมที่สมาคมรวมใจคนพิการ จังหวัดอุดรธานีมีคนพิการประมาณ 25 คน แต่ตอนนี้มีคนพิการพักอาศัยอยู่ที่นี่ประมาณ 50 คน ผมคิดว่าการพัฒนาอาชีพตามแนวทางนี้น่าจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ดีกว่าที่จะเอาเงินไปหว่าน หรือจัดอีเวนต์จบก็แยกย้ายกันกลับ ไม่ได้อะไร การทำโครงการลักษณะนี้แม้จะเหนื่อย และใช้เวลามากกว่า แต่ในระยะยาวคิดว่าน่าจะยั่งยืนมากกว่า” นายพิชัยกล่าว

นอกเหนือจากช่วยเหลือคนพิการแล้ว ยังทำโครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาร่วมกับโรงเรียนและสถานศึกษาอาชีวะ ผลิตนักศึกษาให้มีทักษะความรู้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ที่ผ่านมามีสถานศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการกับเซ็นทรัล รีเทล หลายแห่ง เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ซึ่งได้เข้าร่วมพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management) หลักสูตรการโรงแรมและการท่องเที่ยว (Hospitality & Tourism) และหลักสูตรแฟชั่นและผ้าทอ (Fashion & Textile) โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเซ็นทรัล รีเทล ได้เข้าไปพัฒนาสถาบันอาชีวะและโรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 134 โรงเรียน มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 34,890 คน และครูอีก 2,091 คน

นอกเหนือจากช่วยหลือคนพิการแล้ว โครงการเซ็นทรัลทำ ยังได้พัฒนาโรงเรียนสังกัด สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 134 โรงเรียน ผ่านครูจำนวน 2,091 คน นักเรียน 34,890คน

นอกจากนั้น “กลุ่มเซ็นทรัล” จับมือ “กระทรวงศึกษาธิการ” ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาสถานศึกษาเป็นเวลา 5ปี ผ่าน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project)

ปัจจุบันมีสถานศึกษา 6 แห่งที่อยู่ภายใต้การพัฒนาของกลุ่มเซ็นทรัล ทั้งหมด 3 โรงเรียน และ 3 วิทยาลัย ได้แก่ โรงเรียนบ้านควนสวรรค์, โรงเรียนบ้านหนองนาคำ, โรงเรียนสะแกราชวิทยาคม, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี และวิทยาลัยเทคนิคตรัง โดยบริษัทเริ่มต้นจากความคิดว่าต้องการสร้างสายอาชีพอาชีวะให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงาน ดังนั้น “กลุ่มเซ็นทรัล” จึงร่วมพัฒนาทั้งสิ้น 3 หลักสูตรให้ ‘วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี’ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อเป็นต้นแบบโรงเรียนอาชีวะในสาขาวิชาเรียน ปวช.–ปวส.

เริ่มที่หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ บริษัทเปิดโอกาสให้นักศึกษาของวิทยาลัยฯ ได้ไปศึกษาดูงาน ณ คลังสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลที่บางนา และไปเรียนรู้ด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่ประเทศจีนเป็นเวลา 1 ปี และให้นักศึกษาได้กลับมาฝึกงานกับธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล อาทิ TOPS, Office Mate และ Central Omni Logistics เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ พ.ค. 2562 ถึง เม.ย. 2563 และในปี 2563 จะเพิ่ม 2 สาขา ได้แก่ สาขายานยต์ และ ค้าปลีกวัดุก่อสร้าง โดยจะนำร่องที่วิทยาลัยเทคนิคตรัง

หลักสูตรการโรงแรม-ท่องเที่ยว บริษัทส่งบุคลากรจากโรงแรมเซนทารา อุดรฯ มาร่วมแชร์ความรู้ และประสบการณ์ ตลอดจนรับนักศึกษามาฝึกงานที่โรงแรม และมีแผนที่จะจำลองห้องพักโรงแรมเสมือนจริงในวิทยาลัย

เปิด “ตลาดจริงใจ” เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตร

หลังจากที่เซ็นทรัล รีเทล เข้าช่วยพัฒนาอาชีพให้ชาวบ้านและคนพิการ เซ็นทรัล รีเทล ก็ได้จัดทำ โครงการตลาดจริงใจ หรือ “Farmers’ Market” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ในลักษณะ Win-Win ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรสามารถนำสินค้ามาวางขายได้ที่ศูนย์การค้าของเซ็นทรัล รีเทล ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด หรืออำเภอนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเกษตรกรกระจายสินค้าบริเวณด้านหน้าร้านท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งได้ให้ความรู้ด้านของการค้าปลีกแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ เช่น การเงินและการบัญชี การทำงานร่วมกับพันธมิตร การโฆษณาและการตลาด และระบบการขาย ซึ่งรูปแบบการให้ความช่วยเหลือนั้นมีทั้งแบบที่ให้เกษตรกรเข้ามาขายสินค้าเป็นเงินสด และจำหน่ายผ่านท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในด้านการวางแผนการผลิตสินค้า สนับสนุนด้านโลจิสติกส์ และยกระดับมาตรฐานสินค้าชุมชนให้มีรูปแบบที่ทันสมัย ปลอดภัย ตรงตามมาตรฐานและความต้องการของผู้บริโภค

“เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรขยายช่องทางการกระจายสินค้านั้น ตอนแรกเราคิดว่าจะเปิดเป็นตลาดขนาดใหญ่ๆ เหมือนกับตลาด อตก.ในกรุงเทพฯ แต่เมื่อศึกษาลงไปในรายละเอียดแล้ว พบว่าต้นทุนสูงมาก ทั้งค่าเช่าพื้นที่และค่าขนส่งสินค้า หากเราไม่คิดค่าเช่าพื้นที่กับเกษตรกรที่นำสินค้ามาวางขาย ทำอย่างไรก็ขาดทุนแน่นอน ดังนั้น จึงไปทดลองเปิดภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เริ่มเปิดสาขาแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ และแห่งที่ 2 เปิดที่ห้างเซ็นทรัล สาขาอุดรธานี ซึ่งใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ปรากฏว่าสาขาเชียงใหม่ขายดีมาก เพราะคนที่นั่นเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ นิยมบริโภคผักปลอดสารพิษ ออร์แกนิก”

จุดเด่นของตลาดจริงใจของเซ็นทรัล รีเทล จะเน้นไปที่เกษตรอินทรีย์ สนับสนุนให้เกษตรกรขายพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษ หรืออาหารที่พร้อมรับประทาน ส่งตรงมาจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้สินค้าที่นำมาจำหน่ายคงความสดใหม่อยู่ตลอด รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสินค้าถูกลง และสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร

ปัจจุบันเซ็นทรัล รีเทล ได้เปิดตลาดจริงใจในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปแล้ว 10 สาขา ช่วยสนับสนุนสินค้าของเกษตรกรไปแล้วกว่า 3,786 ราย หรือ 1,122 ครัวเรือน จาก 176 ตำบล 6 จังหวัด ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 มีรายได้รวม 52 ล้านบาท ซึ่งตามเป้าหมายภายในเดือนธันวาคม 2562 จะเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา และขยายเป็น 45 สาขาภายในปี 2564

จัดโครงการ Big Brother ให้คำปรึกษา SMEs

ส่วนการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs เซ็นทรัล รีเทล ได้มอบหมายให้บริษัทในเครือ เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และพาวเวอร์ บาย เข้าไปทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” คอยให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจรายย่อย เช่น Omega 3.6.9, ถาวรเมดไลน์, Thaiwiscreation, ป.เกรียบกุ้ง อุตสาหกรรมอาหาร, Secret Bake, S.C. Food & Beverage, Evecosmetics และ PAC Corporation เป็นต้น ทำให้ธุรกิจรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 11% ต้นทุนลดลงประมาณ 36%

จากการทำโครงการพัฒนาสินค้าชุมชน และธุรกิจรายย่อย (SME) มาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เซ็นทรัล รีเทล ได้รับซื้อผลิตภัณฑ์จากสินค้าชุมชนกว่า 4,650 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่า 403 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพและส่งเสริมรายได้ ให้กับชุมชนและธุรกิจรายย่อย 13,471 ครัวเรือน

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เซ็นทรัล รีเทล ทำภายใต้หลักการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้กับสังคม (creating shared value หรือ CSV) ที่ผสมผสานมิติของภาคธุรกิจค้าปลีก เพื่อมุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมอย่างยั่งยืน