ThaiPublica > คอลัมน์ > รีวิวหนังสือ “Thoughts of a Philosophical Fighter Pilot” : เมื่อเราเข้าใกล้ความตาย เราย่อมเข้าใจความจริง

รีวิวหนังสือ “Thoughts of a Philosophical Fighter Pilot” : เมื่อเราเข้าใกล้ความตาย เราย่อมเข้าใจความจริง

14 พฤศจิกายน 2024


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

รีวิวหนังสือ “Thoughts of a Philosophical Fighter Pilot” โดย James Bond Stockdale: เมื่อเราเข้าใกล้ความตาย เราย่อมเข้าใจความจริง

สองปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเริ่มสนใจศึกษาปรัชญาสโตอิก (Stoic) ซึ่งเป็นปรัชญาโบราณของโลกตะวันตกที่ทุกวันนี้ถูกนำมาปัดฝุ่นและศึกษากันอย่างจริงจัง

ผู้เขียนมีโอกาสศึกษาประวัติของนายทหารชาวอเมริกันท่านหนึ่ง คือ นายพลเจมส์ บอนด์ สตอคเดล (Admiral James Bond Stockdale) อดีตนายพลกองทัพเรือสหรัฐฯ และนักบินรบในฐานะ “วีรบุรุษสงครามเวียดนาม”

Stockdale นับเป็นนายทหารที่สนใจศึกษาหลักการปรัชญาสโตอิกอย่างลึกซึ้ง ซึ่งช่วยให้เขารับมือกับประสบการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิต เมื่อถูกจับเป็นเชลยศึกระหว่างปี 1965-1973

ช่วงสงครามเวียดนาม เชลยศึกจะถูกนำมาขังที่เรือนจำ Hỏa Lò Prison ซึ่งพูดติดตลกว่าเป็น “Hanoi Hilton” สถานที่ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการทรมานเชลย

เดือน ก.ย. ปี 1965 ระหว่างปฏิบัติภารกิจการบิน…เครื่องบินของ Stockdale ถูกยิงตกและเขากระโดดร่มลงในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง หลังจากนั้นจึงถูกจับไปเป็นเชลย

ณ คุก Hỏa Lò เขาถูกทำร้ายร่างกายสารพัด ถูกทรมานทางจิตใจ และถูกกักขังในห้องขังเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน

อย่างไรก็ดี Stockdale กลับไม่ยอมจำนนต่อข้าศึก ไม่เคยทรยศต่อประเทศชาติ และสามารถเป็นผู้นำให้เพื่อนเชลยศึกยืนหยัดไปด้วยกัน

…ทั้งหมดนี้มาจากความเข้มแข็งทางจิตใจล้วน ๆ

ก่อนสงคราม Stockdale ศึกษาปรัชญาสโตอิกของ Epictetus นักปรัชญาโบราณที่เน้นควบคุมตนเอง มีสติ และยอมรับความจริง

เขาใช้หลักการนี้จัดการกับความเจ็บปวดและความทรมาน โดยยอมรับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และประคับประคองจิตใจให้มั่นคงเพราะคือสิ่งเดียวที่ควบคุมได้

ภายหลังจากที่เขาได้รับอิสรภาพแล้ว …มีการศึกษาวิจัยถึงวิธีคิดของ Stockdale โดยหนึ่งในแนวคิดที่ถูกถูกถ่ายทอดออกมา เรียกว่า “Stockdale Paradox”

Stockdale Paradox คือ การผสมผสานระหว่างการมีความหวังในอนาคตและยอมรับความจริงที่โหดร้ายในปัจจุบัน

นายพลเจมส์ บอนด์ สตอคเดล (Admiral James Bond Stockdale) อดีตนายพลกองทัพเรือสหรัฐฯ และนักบินรบในฐานะ “วีรบุรุษสงครามเวียดนาม”

ด้วย Mindset นี้ทำให้เขารอดพ้นจากความสิ้นหวังและเป็นผู้นำที่สร้างกำลังใจให้เพื่อนเชลยศึกได้

ระหว่างอยู่ในเรือนจำ Stockdale คิดค้นวิธีสื่อสารกับเชลยศึกคนอื่น ๆ โดยใช้ “รหัสเคาะผนัง” ซึ่งช่วยให้พวกเขามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและรู้สึกได้รับการสนับสนุนแม้จะถูกขังในห้องขังเดี่ยว

Stockdale กลายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและความเข้มแข็งที่ทุกคนยกย่อง เขาได้รับรางวัล Medal of Honor ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดจากกองทัพ

ต่อมาเขาเขียนหนังสือชื่อ Thoughts of a Philosophical Fighter Pilot โดยใช้ชื่อว่า Jim Stockdale ซึ่ง Jim เป็นชื่อเล่นของเขา

Thoughts of a Philosophical Fighter Pilot ถ่ายทอดปรัชญาและประสบการณ์เอาชีวิตรอดจากความโหดร้าย… หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา

โลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ เราต้องการความสำเร็จอย่างรวดเร็วและชีวิตที่สะดวกสบาย เราต้องการผลลัพธ์ทันที รอไม่เป็น เย็นไม่ได้ อดทนไม่นาน

เราเริ่มให้ค่ากับชีวิตแบบฉาบฉวย ละเลยคุณค่าแท้จริงของการใช้ชีวิตที่ต้องผ่านการรอคอย อดทน

หนังสือเรื่อง “Thoughts of a Philosophical Fighter Pilot” ของ James Bond Stockdale ได้แสดงให้เห็นว่าชีวิตนั้นต้องการความมั่นคงทางจิตใจ ความอดทนต่อความยากลำบากและยึดมั่นในหลักการ

https://images.app.goo.gl/myJ4pNvS8RpAHuoD8
ภาพจาก amazon.com

แนวคิดแบบสโตอิก ที่ Stockdale ใช้เป็นเข็มทิศดำเนินชีวิต แนวคิดนี้ให้คุณค่ากับความเป็นจริงของชีวิต ยอมรับข้อจำกัด ปรับตัว และควบคุมอารมณ์ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นไปตามที่หวัง

สโตอิกสอนให้เรามองลึกลงไปในความเป็นจริง และยอมรับว่าโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่คงอยู่ถาวร เราต้องพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

James Bond Stockdale คือ บุคคลที่ใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาสโตอิกอย่างชัดเจน

ปรัชญาสโตอิกนำเสนอหลักการดำเนินชีวิตที่เน้นการใช้เหตุผลและการควบคุมอารมณ์ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ

เราทุกคนย่อมต่างเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวัง ความล้มเหลว หรือการสูญเสีย ….แต่สโตอิกสอนให้เรารู้จักครองสติ ยอมรับความจริง และเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้

“Thoughts of a Philosophical Fighter Pilot” สะท้อนให้เห็นว่าสโตอิกไม่ใช่ปรัชญาที่พูดให้เท่… แต่เป็นการมีชีวิตอยู่กับความจริงอย่างเข้าอกเข้าใจ…เราไม่จำเป็นต้องหนีความเจ็บปวดหรือความลำบาก หากแต่เรายอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน โดยไม่ดราม่าหรือเสียเวลากับสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้

ท้ายสุด ผู้เขียนนึกถึงคำพูดหนึ่งที่ว่า “เมื่อเข้าใกล้ความตาย เราย่อมเข้าใจความจริง”

หมายเหตุ ภาพของ จาก
Wikipedia

Dr. Sutthi Suntharanurak