ThaiPublica > คอลัมน์ > AGO สิงคโปร์กับการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างในรอบปีที่ผ่านมา

AGO สิงคโปร์กับการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างในรอบปีที่ผ่านมา

6 พฤศจิกายน 2023


สุทธิ สุนทรานุรักษ์

สิงคโปร์นับเป็นประเทศที่ระบบการตรวจเงินแผ่นดินเข้มแข็งประเทศหนึ่ง…แน่นอนว่าการตรวจเงินแผ่นดินสิงคโปร์ยึดตามอดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษ หรือที่รู้จักกันในระบบ Westminster Model

Auditor General Office of Singapore หรือ AGO ทำหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบงบประมาณสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 1966

ปัจจุบัน AGO ตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยรับตรวจเช่นเดียวกับภารกิจพื้นฐานที่องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกดำเนินการ

อย่างไรก็ดี นอกจากงานตรวจสอบนอกเหนือจาก Financial Statement Audit แล้ว AGO ได้จำแนกประเภทงานตรวจสอบอีกสองประเภท เรียกว่า Selective audit และ Thematic audit

Selective audit เป็นการตรวจสอบแบบเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ เลือกหน่วยรับตรวจนั้นโดยอาศัยพื้นฐานการประเมินความเสี่ยงจากรายงานการเงินและพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ เช่น หน่วยงานนั้นมีปัญหาเรื่องร้องเรียนบ่อยครั้ง

การเจาะจงเช่นนี้ทำให้ AGO สามารถตรวจสอบได้ทั้งมุมกว้างสุดตั้งแต่การบริหารจัดการทรัพยากรภายในหน่วยรับตรวจว่ามีประสิทธิภาพ คุ้มค่าหรือไม่ ไปจนถึงมุมย่อยสุด เช่น การตรวจสอบใบสำคัญ ธุรกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญา การใช้ประโยชน์ เป็นต้น

ขณะที่ Thematic audit เป็นการตรวจสอบแบบเจาะลึกลงหมวดหมู่ ประเภทงานที่อาจมีความเสี่ยงหรืออยู่ในความสนใจของสาธารณชน เช่น ปีที่ผ่านมา AGO รายงานผลการตรวจสอบ Thematic audit การบริหารจัดการแก้ไขปัญหา Covid-19 ช่วงการแพร่ระบาด

จุดน่าสนใจอีกจุดหนึ่ง คือ AGO เริ่มใช้แนวทางรายงาน Good practice ของหน่วยรับตรวจประเภทที่”ทำดีต้องชม”…เหตุผล คือ ให้หน่วยรับตรวจอื่นได้ดูเป็นตัวอย่าง

อย่างไรก็ดี แนวคิดการรายงาน Good practices ยังเป็น”วิวาทะ”ที่ถกเถียงกันอยู่ว่าองค์กรตรวจเงินแผ่นดินควรชมหน่วยรับตรวจหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าจะขัดต่อเรื่องมาตรฐานทางวิชาชีพผู้ตรวจสอบ

รายงานประจำปีล่าสุด 2021/2022 ของ AGO ได้กล่าวถึงประเด็นข้อสังเกต (Audit observations) ในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง (Public Procurement Audit) ซึ่ง AGO ใช้การตรวจแบบ Selective audit และพบประเด็นน่าสนใจที่ทำให้มองเห็นว่าการตั้งประเด็นข้อสังเกตแบบภาพรวมนั้นส่งผลต่อหน่วยรับตรวจตระหนักว่าตนเองควรปรับปรุงเรื่องใดก่อนหลัง

AGO รายงานประเด็นข้อสังเกตไว้ว่าปีที่ผ่านมา หน่วยรับตรวจสามแห่งที่เลือกมาตรวจสอบ คือ กระทรวงมหาดไทย (Ministry of House Affairs: MHA) กระทรวงสื่อสารและสารสนเทศ (Ministry of Communication and Information : MCI) และคณะกรรมการด้านสาธารณูปโภค (Public Utilities Board : PUB)…ทั้งสามหน่วยนี้มีจุดอ่อนในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารสัญญา (Weaknesses in Procurement and Contract Management)

หน่วยงานทั้ง 3 แห่ง มีประเด็นบกพร่องส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระดับ Macro และระดับ Micro

หากนำ Procurement Performance Model (PPM) มาอธิบายเรื่องนี้ ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น กล่าวคือ ทั้งสามหน่วยที่ AGO เลือกตรวจสอบนั้น พบว่า มีข้อสังเกตที่สะท้อนปัญหาความอ่อนแอในการบริหารจัดการพัสดุ กล่าวคือ

    ระดับ Macro ; AGO พบว่า หน่วยงานทั้ง 3 แห่งขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอาจส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้างไม่มีประสิทธิภาพและเกิดความเสี่ยงต่อการทุจริต (ขนาดสิงคโปร์ยังกังวลเรื่องนี้เลย !!)

    ในระดับ Macro ทั้ง 3 หน่วยงานยังขาดการกำกับดูแลและติดตามตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจส่งผลให้การแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างไม่สามารถทำได้ดีพอ

    ระดับ Micro ; มองในมุมการปฏิบัติงานที่ตรวจในลักษณะ Compliance audit ซึ่งข้อสังเกตส่วนใหญ่พบคล้าย ๆ กัน กล่าวคือ ทั้ง 3 หน่วยงานยังเกิดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานตามขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

…ที่สำคัญ คือ หน่วยงานเหล่านี้ยังขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างเพียงพอในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

AGO ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคตโดยหน่วยงานภาครัฐสิงคโปร์สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างได้โดยนำแนวทางเหล่านี้ไปปฏิบัติ กล่าวคือ

1. พัฒนากลยุธ์การจัดซื้อจัดจ้างที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ
2. ปรับปรุงกระบวนการและระบบจัดซื้อจัดจ้างโดยนำแนวคิดการจัดซื้อจัดจ้างสมัยใหม่มาใช้
3. ปรับปรุงการติดตามและการตรวจสอบภายในหน่วยงานให้เข้มแข็ง

…ขยายความข้อเสนอแนะข้างต้นเพิ่มเติม AGO พยายามชี้ให้เห็นว่า

  • กลยุทธ์การจัดซื้อจัดจ้างที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้หน่วยงานรัฐกำหนดเป้าหมายและแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างเหมาะสม
  • แนวคิดและเครื่องมือการบริการพัสดุสมัยใหม่ช่วยให้หน่วยงานรัฐสามารถประเมินต้นทุนและความเสี่ยงของการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างถูกต้อง
  • การติดตามตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้หน่วยงานรัฐสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดและป้องกันปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างได้
  • กล่าวโดยสรุป AGO สิงคโปร์นับเป็นองค์กรตรวจเงินแผ่นดินที่มีส่วนสนับสนุนกลไก Public Accountability ในประเทศให้เข้มแข็ง เป็นองค์กรตรวจเงินแผ่นดินที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ทำงานภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า Data Driven Culture คือ ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อน ตัดสินใจทุกระดับ

    ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สิงคโปร์ยังคงครองแชมป์ความโปร่งใสสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย มาตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปัจจุบัน