ThaiPublica > เกาะกระแส > ความรุ่งเรืองของเอไอ อาจเพิ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์ปีละนับล้านตัน

ความรุ่งเรืองของเอไอ อาจเพิ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์ปีละนับล้านตัน

19 พฤศจิกายน 2024


สุนิสา กาญจนกุล รายงาน

การถือกําเนิดของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) นําพาความก้าวหน้าและความสะดวกสบายมากมายมาสู่ชีวิตมนุษย์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ติดตามมาควบคู่กันคือปัญหาและผลกระทบหลากหลายประการ เช่น การสูญเสียตําแหน่งงาน การเพิ่มขึ้นของข่าวปลอม ฯลฯ

ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดด้านหนึ่งคือในแง่สิ่งแวดล้อม การทํางานของเอไอบริโภคพลังงานและน้ำอย่างมหาศาล

การสร้างภาพหนึ่งภาพด้วยเอไอต้องใช้พลังงานมากเท่ากับการชาร์จโทรศัพท์หนึ่งเครื่องจนเต็ม และการตั้งคําถามให้แชตจีพีทีสืบค้น 4 คําถามอาจสิ้นเปลืองน้ำประมาณครึ่งลิตร หากลองคิดดูว่าแต่ละเดือนมีคนใช้งานแชตจีพีทีมากกว่า 200 ล้านคน คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะจินตนาการว่าต้องสิ้นเปลืองพลังงานและน้ำมากเพียงใด

ไม่เพียงเท่านั้น เอไอยังก่อให้เกิดของเสียและขยะจากกระบวนการดําเนินงานเป็นจํานวนมาก จนทําให้เกิดความกังวลเรื่องการจัดการ นอกจากน้ำเหลือทิ้งจากการหล่อเลี้ยงเพื่อระบายความร้อน ผลการศึกษาล่าสุดยังคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2030 เอไออาจสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเต็มไปด้วยสารพิษมากกว่าปีละหนึ่งล้านตัน

ห้องเซิร์ฟเวอร์ในศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ของบริษัทเอไอ นอกจากจะใช้พลังงานมหาศาลและใช้น้ำปริมาณมากเพื่อระบายความร้อน ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ให้ทันสมัยอยู่เป็นประจํา ก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณมาก ที่มาภาพ: https://www.scientificamerican.com/article/generative-ai-could-generate-millions-more-
tons-of-e-waste-by-2030/

ประโยชน์มากมายมาพร้อมขยะกองยักษ์

ขณะที่เอไอช่วยสอนภาษาต่างประเทศให้เรา ช่วยร่างข้อเสนอด้านการตลาด ให้ข้อมูลด้านการทํางาน และให้แนะนำเรื่องการศึกษา แต่เอไอก็กําลังก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์จํานวนมาก โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา เอไอสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2,400 ตันโดยประมาณ ตัวเลขนี้อาจจะยังดูไม่มากนัก เมื่อคิดว่าในปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมทั่วโลกในแต่ละปีมีมากกว่า 60 ล้านตัน

แต่ที่น่ากังวลก็คือ ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นและศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ของบรรดาบริษัทเอไอต้องรื้อทิ้งของเก่าเพื่อเปลี่ยนไปใช้ของใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ที่สําคัญ เทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์ของอุตสาหกรรมเอไอนั้นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อายุการใช้งานของฮาร์ดแวร์ต่างๆ จึงหดสั้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยแล้วเหลือเพียง 2-5 ปีเท่านั้น และต้องมีการเปลี่ยนไปใช้ของใหม่ที่ทันสมัยกว่าอยู่เสมอ เพราะการแข่งขันที่รุนแรงจะบีบบังคับให้ศูนย์ข้อมูลของบริษัทเอไอต้องมีการปรับแต่งฮาร์ดแวร์ให้ดีขึ้นตลอดเวลา เศษซากขยะ
อิเล็กทรอนิกส์ยิบย่อยจากศูนย์ข้อมูลจึงน่าจะมีปริมาณมหาศาล

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่าว่ มูลค่าเงินลงทุนที่ไหลไปสู่อุตสาหกรรมเอไอเพิ่มขึ้นจาก 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2022 เป็น 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023 จึงไม่น่าแปลกใจที่ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าในอนาคต

โดยผลการศึกษาที่เผยแพร่ในนิตยสารเนเจอร์ คอมพิวเทชันแนล ไซเอนซ์ คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2030 เอไออาจสร้างขยะ
อิเล็กทรอนิกส์และวัตถุมีพิษได้มากถึง 1.2 – 5.0 ล้านตันต่อปี

มูลค่าแอบแฝง

ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเอไอเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ แต่ละปีเติบโตขึ้นถึง 110 % สูงกว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปที่มีอัตราเติบโต 2.8 % อย่างชัดเจน โดยอเมริกาเหนือคือแชมป์สร้างขยะในสัดส่วน 58 % เอเชียตะวันออก 25 % และยุโรป 14 %

นักวิจัวิจัยประเมินว่าเมื่อถึงปี 2030 ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเอไอจะมีสารตะกั่วเจือปนอยู่เกือบหนึ่งล้านตัน แบเรียม 6,000 ตัน ยังไม่นับสารพิษอื่นๆ อีกหลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แคดเมียม ปรอท พลวง โครเมียม ฯลฯ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผืนดิน แหล่งน้ำและสุขภาวะของผู้คน

อย่างไรก็ตาม ขยะจากเอไอก็ยังมีประโยชน์ซุกซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีวัตถุมีค่าหลายอย่างอยู่ในเศษซากเหล่านั้นทั้งทองแดง ทองคํา เงิน อลูมินัม แพลตินัม และสินแร่หายากต่างๆ รวมๆ กันแล้ว แร่ธาตุจากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าไม่น้อยเลยเมื่อสกัดออกมา โดยอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเอไออย่างจริงจัง เพราะในปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโลกตะวันตกมักถูกส่งออกไปยังประเทศยากจนเพื่อแยกส่วนด้วยมือซึ่งอาจเป็นอันตรายทั้งต่อผู้ใช้แรงงานและชุมชนโดยรวม

รายงานผลการติดตามตรวจสอบขยะอิเล็กทรอนิกส์โลกประจํา ปี 2024 ของสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัวิจัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations Institute for Training and Research หรือ UNITAR) ระบุว่า…

ในปี 2022 ทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมถึง 62 ล้านตัน ซึ่งต้องขนด้วยรถบรรทุก 40 ตัน ถึง 1.55 ล้านคัน ถ้านํารถบรรทุกเหล่านี้มาจอดเรียงต่อกันจะมีความยาวเท่ากับเส้นรอบวงของโลกเมื่อวัดที่เส้นศูนย์สูตร

ในบรรดาขยะ 62 ล้านตันนี้ มีเพียง 22.3 % เท่านั้นที่มีการบันทึกว่าสามารถเก็บรวบรวมและนํากลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่อย่างถูกต้องเหมาะสม ขณะที่การเก็บรวบรวมและนํากลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่อย่างไร้ประสิทธิภาพ อาจจะทําให้ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถนํากลับมาใช้ใหม่ได้สูญหายไป และถึงแม้จะมีการสกัดแยกโลหะมีค่าออกไปบ้าบ้ง แต่ก็อาจจะมีการทิ้งโลหะมีพิษแบบไม่ปลอดภัย เป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านมลพิษให้กับชุมชนทั่วโลก

แนวทางรับมือ

นักวิจัวิจัยชี้ให้เห็นว่ายังพอมีแนวทางแก้ไขบางอย่างที่อาจช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหานี้ได้ โดยแนวทางที่ดีที่สุดในการลดขยะอิเล็ก ทรอนิกส์จากเอไอคือการปรับปรุงประสิทธิภาพการบํารุงรักษาเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานเซิร์ฟเวอร์ในศูนย์ข้อมูลเอไอให้นานกว่าเดิม ซึ่งจะสามารถลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงได้ถึง 58 %

ขณะที่การนําชิ้นส่วนบางอย่างหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ก็เป็นแนวทางที่สําคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะจะช่วยลดขยะลงได้อีก 21 % การหมุนเวียนใช้งานอาจจะทําได้ด้วยการนําฮาร์ดแวร์ของศูนย์ข้อมูลเอไอที่ล้าสมัยแล้วไปใช้ในงานด้านอื่นๆ ที่ไม่ต้องการประสิทธิภาพสูงมากนักแทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ในโครงการด้านการศึกษาหรือการสร้างโฮสต์ สําหรับเว็บไซต์พื้นฐาน ซึ่งการทําเช่นนี้จะช่วยให้ชิ้นส่วนที่ถูกคัดออกไม่ไปกองรวมเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์และเป็นการเพิ่มประโยชน์การใช้งานได้อย่างคุ้มค่า หากนําทั้งสองแนวทางไปผนวกรวมกับการปรับวิธีวิธีออกแบบฮาร์ดแวร์ให้สะดวกต่อการอัปเกรดและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเอไออาจลดลงได้มากถึง 86 % เลยทีเดียว

ทั้งนี้ขณะที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมพยายามอย่ายงหนักที่จะหาหนทางลดขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเอไอ ในฐานะผู้บริโภคเราอาจจะทํา อะไรไม่ได้มากนัก แต่ก็ยังมีบางอย่างที่เราพอจะทําได้ นั่นคือระลึกอยู่เสมอว่ายิ่งเราขยันใช้เอไอ ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

ดังนั้นหนทางที่ง่ายดายที่สุดที่จะช่วยลดขยะจากเอไอก็คือการใช้เอไอเท่าที่จําเป็นนั่นเอง เพราะนักวิจัยเตือนเอาไว้ว่าหากทุกคนใช้เอไอจนคุ้นชินและกลายเป็นกิจวัตรประจําวันเหมือนกับที่ใช้งานโซเชียลมีเดีย ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจทะยานสูงถึง 16 ล้านตันต่อปีได้เลยทีเดียว

ข้อมูลอ้าอ้งอิง:
https://ewastemonitor.info/the-global-e-waste-monitor-2024/
https://www.washingtonpost.com/technology/2024/10/29/ai-electronic-waste-recycling/
https://decrypt.co/290638/ai-boom-e-waste-toxic-materials-2030
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/electronic-waste-(e-waste)
https://www.datacenterdynamics.com/en/opinions/energy-and-e-waste-the-ai-tsunamis/#:~:text=One%20of%20IMDC’s%20larger%20campuses,total%20supply)%20in%20Q2%