ThaiPublica > เกาะกระแส > การพิมพ์ 3 มิติ ประตูบานใหม่ประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มโอกาสแข่งขัน ลดข้อได้เปรียบของบริษัทใหญ่

การพิมพ์ 3 มิติ ประตูบานใหม่ประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มโอกาสแข่งขัน ลดข้อได้เปรียบของบริษัทใหญ่

24 กรกฎาคม 2020


รายงานโดย สุนิสา กาญจนกุล

เครื่องพิมพ์ 3 มิติขนาดใหญ่สามารถสร้างบ้านหลังเล็กได้ในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง และอาจสร้างเสร็จได้ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ที่มาภาพ: https://www.iconbuild.com/updates/this-house-can-be-3d-printed-for-cheap

พัฒนาการของเทคโนโลยีหลายชนิด เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ ฯลฯ สร้างความกังวลให้กับหลายอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากความได้เปรียบเรื่องแรงงานราคาถูกเริ่มหมดไป รายได้จากการเป็นฐานการผลิตให้บริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศที่พัฒนาแล้วจึงอาจจะลดต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อบริษัทเหล่านั้นเริ่มทยอยกันย้ายโรงงานกลับไปยังประเทศของตน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคืออุตสาหกรรมเสื้อยืดของสหรัฐฯ

โดยระหว่างปี 1994-2005 สหรัฐฯ สูญเสียงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอกว่า 9 แสนตำแหน่งให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า แต่เมื่อถึงปี 2018 ตัวเลขสถิติแสดงให้เห็นว่า ตลอดช่วงหกปีหลัง หลายบริษัทที่เคยมีโรงงานผลิตกระจุกตัวอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มย้ายไปตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีช่วยให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ามีขนาดเล็กลงและใช้แรงงานน้อยลงกว่าเดิมมาก โดยเป้าหมายของการย้ายฐานไปผลิตในสหรัฐฯ ก็เพื่อใช้คำว่า “Made in USA” ดึงดูดใจชาวสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่

แนวโน้มที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นการบีบบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องย้อนกลับไปพึ่งพาการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและผลิตผลทางการเกษตรอีกครั้ง แต่ขณะที่เทคโนโลยีปิดประตูบานเก่าลง ดูเหมือนว่ามันก็เปิดประตูบานใหม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน

เริ่มหมดยุคความประหยัดจากขนาด

หนึ่งในเทคโนโลยีอัตโนมัติที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดคือระบบการพิมพ์ 3 มิติ และเทคโนโลยีนี้เองที่หลายคนมองว่าอาจจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องหวั่นเกรงข้อได้เปรียบเรื่องขนาดเหมือนในอดีต

กว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการขนาดใหญ่ใช้ระบบสายการผลิตที่ยิ่งผลิตมากต้นทุนยิ่งต่ำ แต่ความประหยัดจากขนาดนั้นต้องแลกมาด้วยต้นทุนมหาศาลและระยะเวลายาวนานในการก่อตั้งโรงงาน

การผลิตแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตแบบขึ้นรูป (formative manufacturing) ที่อาศัยการฉีดเป่าในแม่พิมพ์เพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงานที่มีลักษณะตามต้องการ กระบวนการนี้ใช้เงินทุนในการตั้งต้นสูงแต่ได้ความประหยัดจากขนาด ขณะที่การพิมพ์ 3 มิติจะเป็นการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ (additive manufacturing) โดยเติมวัสดุเข้าไปทีละชั้นทีละส่วนจนกลายเป็นชิ้นงานสุดท้าย

นอกจากจะมีข้อดีที่การลงทุนเริ่มต้นไม่มากนัก การพิมพ์ 3 มิติยังเป็นระบบการผลิตที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตได้ตามต้องการ วันนี้อาจผลิตชิ้นส่วนรถตัดหญ้า แต่วันรุ่งขึ้นผลิตชิ้นส่วนจักรยาน อีกทั้งยังสามารถผลิตน้อยชิ้นเท่าที่ต้องการและผลิตได้แทบทุกที่ แม้แต่ในอวกาศ หรือบนเรือรบ

จีนคาดหวังจะเป็นผู้นำ

ทั้งนี้ เอเชียแปซิฟิกคือตลาดการพิมพ์ 3 มิติ ที่กำลังเติบโตรวดเร็วที่สุดในปัจจุบัน คาดว่าอัตราการเติบโตจะสูงถึง 18 % และมีมูลค่า 3.6 พันล้านเหรียญภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยที่จีนคือแรงผลักดันสำคัญสุดของการเติบโตในเอเชีย รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก มีการออกแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบบเติมวัสดุ ในปี 2017 เพื่อกระตุ้นให้จีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการพิมพ์ 3 มิติ ก่อตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติแห่งแรกของโลกและมีแผนจะติดตั้งเครื่องพิมพ์ 3 มิติ 4 แสนเครื่องในโรงเรียนประถมด้วย

เกาหลีใต้และสิงคโปร์คืออีกสองประเทศที่น่าจับตามอง แม้เกาหลีใต้ดูจะล่าช้ากว่าประเทศชั้นนำอื่นในการตอบรับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ แต่เกาหลีใต้ก็กำลังไล่ตามอย่างรวดเร็วด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะที่สิงคโปร์ริเริ่มผลักดันอุตสาหกรรมการพิมพ์ 3 มิติด้วยการก่อตั้งศูนย์รวมนวัตกรรมการผลิตแบบเติมวัสดุแห่งชาติ (NAMIC) มาตั้งแต่ปี 2015 และสิงคโปร์ยังเป็นแหล่งที่ตั้งของศูนย์วิจัยด้านการพิมพ์ 3 มิติของบริษัทระดับโลกหลายต่อหลายบริษัทอีกด้วย

อาจก้าวหน้าถึงขั้นคุกคามการค้าโลก

หลายคนเชื่อว่าเมื่อการพิมพ์ 3 มิติมีพัฒนาการจนถึงระดับหนึ่ง สินค้าส่วนใหญ่จะสามารถพิมพ์ขึ้นได้เองในระดับท้องถิ่น และส่งผลให้ขนาดของการค้าระหว่างประเทศหดตัวลงจนสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบการค้าโลกได้เลยทีเดียว

รายงานของไอเอ็นจีโฮลเซลแบงกิ้ง สถาบันการเงินสัญชาติดัตช์ที่จัดว่าเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินระดับโลก ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายรายคาดการณ์ว่าในชั่วเวลาเพียงสองทศวรรษ การผลิตด้วยระบบการพิมพ์ 3 มิติจะมีส่วนแบ่งราว 50 % ของการผลิตโดยรวม และจะส่งผลให้การค้าโลกหดหายไปถึง 1 ใน 4 เมื่อถึงปี 2060 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น

โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะการพิมพ์ 3 มิติ จะทำให้การค้าขายข้ามพรมแดนหมดความจำเป็นไปโดยปริยาย เนื่องจากสามารถพิมพ์ขึ้นเองได้ภายในประเทศ

อาจจะดูเหลือเชื่อเมื่อคิดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเลิก “ผลิต” สินค้าหลายชนิด แต่ใช้วิธี “พิมพ์” มันออกมา แต่หากย้อนกลับไปดูธุรกิจสื่อสารในอดีต ที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด เราคงได้แต่รอดูว่าประตูบานใหม่ที่การพิมพ์ 3 มิติเปิดขึ้นมานั้น จะปรับเปลี่ยนทิศทางของอุตสาหกรรมต่างๆ ให้พลิกผันไปแค่ไหน และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาก้าวไปสู่ความสำเร็จได้มากเพียงใด

ดูวิดีโอขั้นตอนการก่อสร้างได้ที่ https://youtu.be/SvM7jFZGAec

แหล่งข้อมูล:

1. http://documents1.worldbank.org/curated/en/152701569432061451/pdf/Is-3D-Printing-a-Threat-to-Global-Trade-The-Trade-Effects-You-Didnt-Hear-About.pdf

2. https://www.forbes.com/sites/richarddaveni/2019/03/19/how-3d-printing-can-jumpstart-developing-economies/?utm_source=newsletter&utm_medium=email&utm_campaign=daily-dozen#419a15574400

3. https://www.smartcitylab.com/blog/digital-transformation/3d-printing-will-boost-sustainable-development/
4. https://amfg.ai/2019/11/20/am-around-the-world-how-mature-is-3d-printing-in-the-asia-pacific-region/