รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เมื่อวันอาทิตย์ 20 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ที่คนอินโดนีเซียเรียกชื่อว่า “โจโควี” ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากดำรงตำแหน่งมา 2 สมัยนาน 10 ปี ระยะเวลาดังกล่าว โจโควีทำให้ความยากจนที่รุนแรงแทบจะหมดไป จากประเทศที่มีประชากร 280 ล้านคน เมื่อก้าวลงจากตำแหน่ง คะแนนนิยมในตัวเขาสูงถึง 75%
คนอินโดฯบอกว่า เขาเป็นผู้นำคนเดียวที่ยึดโยงกับคนธรรมดาทั่วไป และมีผลงานรูปธรรม เช่น การสร้างถนน สะพาน นำระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ และแจกเงินกับอาหารแก่คนที่ยากจน
ในสมัยรัฐบาลโจโควี เป็นครั้งแรกที่อินโดฯเป็นประเทศแรก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เศรษฐกิจมีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน เศรษฐกิจอินโดฯใหญ่อันดับ 16 ของโลก มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์
จากพื้นเพเป็นนักธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์ ทำให้โจโควีเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นความต้องการของคนธรรมดาทั่วไป รวมทั้งเอาใจใส่ต่อคนที่ยากจน
ทุกวันนี้ คนอินโดฯที่ไม่สบาย สามารถไปหาแพทย์ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย จากเดิมต้องอาศัยการกินยาเองโดยไม่ไปพบแพทย์
ความสำเร็จด้านต่างประเทศ
บทความของ foreignaffairs.com เรื่อง The President Who Never Picked a Side กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น พื้นฐานจากครอบครัวฐานะต่ำ และสไตล์การสื่อสารแบบง่ายๆ ทำให้โจโควีเป็นหนึ่งในผู้นำการเมือง ที่มาจากประชาธิปไตย ที่ได้รับความนิยมมากสุดคนหนึ่ง แต่ความสำเร็จที่สำคัญอีกอย่างของโจโควี ที่คนมักไม่ค่อยเข้าใจคือ การเปลี่ยนโยบายต่างประเทศอินโดนีเซีย เป็นเวลาหลายสิบปี ผู้นำอินโดนีเซียพยายามวางตัวกึ่งกลางระหว่างมหาอำนาจ บางครั้งแสดงก็ออกความเป็นอิสระ และบางครั้งแสดงออกการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
แต่จากพื้นฐานการเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ และเคยเป็นเทศมนตรีเมืองขนาดกลางของอินโดฯ ทำให้โจโควีเปลี่ยนทิศทางบางส่วนจากนโยบายต่างประเทศของผู้นำอินโดฯในอดีต มาเป็นนโยบายแบบมุ่งให้เกิดผลทางปฏิบัติ มุ่งเรื่อง “การทำมาหากิน” หรือการทำให้เกิดธุรกรรมเศรษฐกิจ โจโควีวางกรอบนโยบายต่างประเทศของอินโดฯ ให้เป็น “ศิลปะการทำความตกลงทางธุรกรรม” (the art of deal)
โจโควีปฏิเสธการที่อินโดนีเซียจะต้องเลือกมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือสหรัฐฯกับจีน อินโดฯวางนโยบายทำความตกลงกับหลายฝ่าย เช่นเป็นหุ้นส่วนกับจีนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างฐานอุตสาหกรรม ทำความตกลงทางธุรกิจกับซาอุดิอาระเบียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรต เจรจาการค้ากับอิหร่านกับรัสเซีย ขณะเดียวกัน ก็รักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯและยุโรป
การต่างประเทศเพื่อในประเทศ
บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า เมื่อโจโควีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2014 หลังจากเป็นเทศมนตรีเมืองโซโล ในเกาะชวาภาคกลางนาน 7 ปี สื่อต่างประเทศมักเปรียบเทียบเขากับบารัก โอบามา เพราะการขึ้นมาเป็นผู้นำการเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และโหนกระแสคลื่นความหวังของการเปลี่ยนแปลง ในหมู่คนอินโดฯรุ่นใหม่ คนอินโดฯประทับใจผลงานรูปธรรมสมัยที่เป็นเทศมนตรี เช่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ทำงานร่วมกับชุมชนในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน มีพื้นเพมาจากครอบครัวคนธรรมดา และทำให้เมืองโซโลไร้คอร์รัปชัน
จากการมีสัญชาตญาณทางการเมือง ที่ฉลาดและคิดอะไรรวดเร็ว โจโควีแสดงออกถึงภาพลักษณ์การเป็นคนของประชาชน การสื่อสารของเขาจะแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนที่ทำงานให้เสร็จมากกว่าการพูด ปีแรกการเป็นประธานาธิบดี โจโควีมุ่งไปที่ปัญหาการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตจาก 5% เป็น 7% สร้างท่าเรือ สนามบิน และทางด่วน ปรับปรุงการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนอินโดฯ และดึงการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น
สำหรับโจโควี นโยบายต่างประเทศเป็น “เครื่องมือ” รับใช้เป้าหมายภายในประเทศ ในฐานะอดีตผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ เขาจะมองเรื่องต่างประเทศในความหมายประโยชน์ที่จับต้องได้สำหรับอินโดฯ แนวคิดนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี ปี 2014 เมื่อเกิดความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เพราะเรือของเวียดนามและชาติอื่นเข้าไปจับปลาในพื้นที่ทางทะเลที่มีข้อพิพาทกับจีน โจโควีสนใจปัญหานี้ทันที เมื่อที่ปรึกษาบอกเขาว่า ความขัดแย้งนี้จะทำให้ผู้ส่งออกอินโดฯ มีต้นทุนค่าขนส่งและประกันภัยสูงขึ้น
การให้ความสำคัญเรื่องประโยชน์เศรษฐกิจของอินโดฯสูงสุด ทำให้โจโควีแตกต่างจากผู้นำอินโดฯในอดีต รวมทั้งผู้นำหลายคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โจโควีเคยกล่าวว่า…
“สำหรับผม คำว่า ‘เสรีกับลงมือทำ’ หมายถึงการเป็นมิตรกับประเทศ ที่สามารถให้ประโยชน์แก่เรา มีประโยชน์อะไรกับการสร้างมิตรประเทศ หากเราต้องขาดทุนอยู่ตลอด”
โจโควีพยายามเลี่ยงการประชุมนานาชาติหลายฝ่าย แต่มาเน้นการเข้าประชุมเวทีระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ เช่นการประชุมกลุ่ม G-20 และ Asia-Pacific Economic Cooperation เพื่อใช้เวทีการประชุมนี้ ดึงการลงทุนมาอินโดฯ ช่วงที่ดำรงตำแหน่งนาน 10 ปี โจโควีดึงการลงทุนจากต่างประเทศมาอินโดฯถึง 286 พันล้านดอลลาร์
การเป็นหุ้นส่วนกับจีน
เนื่องจากประทับใจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รวดเร็วของจีน ปี 2015 โจโควีเลือกบริษัทจีนที่รัฐบาลจีนสนับสนุน เป็นผู้พัฒนารถไฟความเร็วสูงสายแรกของอินโดฯ โดยปฏิเสธบริษัทญี่ปุ่น เหตุผลหนึ่งที่เลือกบริษัทจีน เพราะไม่เรียกร้องการค้ำประกันของรัฐบาลอินโดฯ ต่างจากบริษัทญี่ปุ่น นอกจากนี้ แนวโน้มที่โจโควีเลือกบริษัทที่มาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือความรวดเร็วในการทำโครงการขนาดใหญ่
โจโควีใช้วิธีการเดียวกันในเรื่องอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่มีความสำคัญต่ออินโดฯ โจโควียังคงใช้นโยบายห้ามการส่งออกแร่ต่างๆ เช่น นิกเกิล เพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมต้นน้ำในการถลุงแร่ ยุโรปและสหรัฐฯคัดค้านนโยบายดังกล่าว ตะวันตกขู่ว่าการห้ามส่งออกวัตถุดิบที่ยังไม่มีการแปรรูป ถือเป็นการละเมิดกฎการค้าระหว่างประเทศ แต่โจโควีไม่ฟังเสียงคัดค้านนี้ ต่อมาบริษัทจีนได้เข้ามาลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ในอุตสาหกรรมแปรรูปแร่ต่างๆในพื้นที่ห่างไกลของอินโดฯ
แม้สหรัฐฯจะกลัวว่าโจโควีเลือกจีนมากกว่าสหรัฐฯ แต่โจโควีก็พยายามดึงนักลงทุนจากยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ โดยบริษัท Hyundai, LG และ Microsoft ล้วนแสดงท่าทีที่จะเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย ความสำเร็จในการทำความตกลงทางธุรกิจ ทำให้โจโควีมองว่า อินโดฯมีอำนาจต่อรองระดับหนึ่ง ในการเจรจาระหว่างประเทศ ซึ่งผู้นำอินโดฯในอดีตประเมินตัวเองต่ำไป
บทความของ foreignaffairs.com ก็กล่าวว่า นโยบายต่างประเทศ ที่เน้นการทำความตกลงทางธุรกรรม โดยไม่ยึดถือค่านิยมใดๆ อาจมีความเสี่ยงอยู่ในตัวมันเอง การพึ่งพาการลงทุนจำนวนมากจากจีน ในอนาคต ก็อาจเป็นภัยต่อความเป็นอิสระของนโยบายต่างประเทศอินโดฯ เพราะจีนมีแนวโน้มที่จะใช้การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ มาเป็นแรงกดดัน
แต่การดำเนินนโยบายต่างประเทศของโจโควี เพื่อประโยชน์เศรษฐกิจของอินโดฯ อาจเป็นตัวอย่างการบุกเบิกแนวทางต่างประเทศ ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายชาติอยู่ในขณะนี้ ระเบียบการค้าโลกถือว่า การแสวงหาประโยชน์ของชาติตัวเองฝ่ายเดียว เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่สหรัฐฯกับยุโรปก็กำลังนำเอาความคิดชาตินิยม มาเป็นนโยบายต่างประเทศของตัวเองมากขึ้น เช่น นโยบายการปกป้องอุตสาหกรรม แทนที่จะมีนโยบายทำให้การค้าโลกกลับมามีพลังเข็มแข็งใหม่
เอกสารประกอบ
The President Who Never Picked a Side, Ben Bland, October 17, 2024, foreignaffairs.com
ง