ThaiPublica > คอลัมน์ > เปรียบเทียบแผนพัฒนาไฟฟ้าไทยและเวียดนาม : วิญญูชนย่อมรู้ได้ว่า…

เปรียบเทียบแผนพัฒนาไฟฟ้าไทยและเวียดนาม : วิญญูชนย่อมรู้ได้ว่า…

1 พฤศจิกายน 2024


ประสาท มีแต้ม

  • ในขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุด(PDP8)ของเวียดนามซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อพฤษภาคม 2023 ได้ระบุไว้ในเป้าหมายเฉพาะว่า “จะใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ 50% ของบ้านอยู่อาศัยและอาคารสำนักงานต้องติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อใช้เอง ภายในปี 2030 มีจำนวนประมาณ 2,600 เมกะวัตต์ โดยต้องเป็นการติดตั้งเพื่อใช้เอง ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้” แต่ประเทศไทยเราได้ใช้เวลากว่า 3 ปีแล้วเพื่อยกร่างแผนใหม่ ภายใต้ “แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan)” ซึ่งในแผนดังกล่าวก็มี “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP2024)” รวมอยู่ด้วย แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้สักที มันอะไรกันหนักหนา
  • ทั้ง ๆที่ แผน PDP2024 ยังไม่ประกาศใช้ แต่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.-มติ 27 กันยายน 2567) ก็ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ทั้ง ๆที่ขณะนี้เรามีกำลังผลิตสำรองกว่า 50% เกินค่ามาตรฐานสากลที่ 10-15% ในจำนวนที่รับซื้อใหม่นี้เป็นโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนพื้นดินจำนวน 2,632 เมกะวัตต์ เฉพาะจากโซลาร์เซลล์ราคา 2.17 บาทต่อหน่วย (ทั้ง ๆที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยืนยันว่าต้นทุนอยู่ที่ 1.50 บาทต่อหน่วย-ข้อมูลจากเอกสารของพรรคประชาชน) ระยะเวลาโครงการ 25 ปี โดยไม่มีการกล่าวถึงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของประชาชนแม้แต่กิโลวัตต์เดียว
  • ‘ธนาธร’จี้นายกฯ ทบทวนสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 MW หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน – ปชช.จ่ายค่าไฟแพง

  • แผนพีดีพีฉบับที่ยังใช้อยู่จนถึงวันนี้คือ PDP2018(ฉบับปรับปรุง ตุลาคม 2020) ได้ปรับลดโซลาร์ประชาชน(ซึ่งหมายถึงโซลาร์เซลล์บนหลังคา) เมื่อปี 2562 โดยให้เหตุผลว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการน้อย ไม่เป็นไปตามแผน โครงการนี้มีขนาด 100 เมกะวัตต์ มีราคารับซื้อตอนแรกที่ 1.68 บาทต่อหน่วย แล้วขยับมาเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย อายุโครงการเพียง 10 ปี แทนที่ผู้เขียนแผนจะตั้งคำถามว่าทำไมประชาชนจึงไม่สนใจ
  • องค์กรที่มีความน่าเชื่อถือได้ให้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกัน เช่น IRENA (องค์กรระหว่างรัฐบาลขององค์การสหประชาชาติ) ว่าราคาเฉลี่ยตลอดโครงการในปี 2023 เท่ากับ 0.044 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย(ประมาณ 1.46 บาท) นักวิจัยจากกลุ่ม RethinkX ระบุว่า ในช่วง 2010-2020 ต้นทุนโซลาร์เซลล์ได้ลดลงแล้ว 82% และในช่วง 2020-2030 จะลดลงอีก 72% นอกจากนี้ยังชี้ว่า ภายในปี 2030 เกือบทั่วโลกจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100% ของความต้องการ ด้วยโซลาร์เซลล์ (S) กังหันลม(W) และแบตเตอรี่(B) ไม่ต้องใช้อย่างอื่น ด้วยต้นทุนค่าไฟฟ้า 3 เซนต์ หรือ ประมาณ 1 บาทต่อหน่วย (ดูข้อมูลประกอบจากภาพ)
  • จากข้อมูลข้างต้น วิญญูชน หรือ บุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปกติ ก็น่าจะได้รับรู้ได้ว่ามันต้องมีอะไรผิดปกติในวงการพลังงานไฟฟ้าของประเทศเราเป็นแน่
  • ผมได้เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นความแตกต่างที่สำคัญเพียงประเด็นเดียวระหว่างนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณะรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ซึ่งมีคำขวัญว่า “เอกราช-เสรีภาพ-ความสุข, Independence-Freedom-Happiness”) ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพีดีพีของทั้งสองประเทศ

    แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงมุมมองหรือหลักการในการจัดทำแผนพีดีพีของ 2 ประเทศดังกล่าว ผมขอย้อนไปขยายความเรื่อง การให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวน 2,600 เมกะวัตต์บนหลังคาบ้านของตนเองที่รัฐบาลไทยอ้างว่าประชาชนไทยไม่สนใจนั้น มันจะมีผลในเชิงมูลค่าของไฟฟ้าสักเท่าใดกัน

    โดยปกติโซลาร์เซลล์ขนาด 1 กิโลวัตต์ในปัจจุบันนี้สามารถผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยได้ประมาณ 1,460 หน่วยต่อปี ดังนั้น 2,600 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3,796 ล้านหน่วยต่อปี ถ้าค่าไฟฟ้า 4.50 บาทต่อหน่วย คิดเป็นเงินรวมประมาณ 17,000 ล้านบาท เงินจำนวนจะอยู่ในกระเป๋าชาวบ้าน แทนที่จะอยู่ในกระเป๋าของเจ้าของโซลาร์ฟาร์มที่มีกำไรมหาศาลจากราคาที่รัฐบาลรับซื้อที่สูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยของโลก(ที่อ้างถึงแล้ว)

    เนื่องจากค่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของไทย(ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ) ในปี 2565 และ 2566 เท่ากับ 3.35 และ 2.99 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ดังนั้น หากลดการใช้ก๊าซฯลง แล้วใช้แสงแดดแทนก็จะประหยัดเงินตราไม่ให้ไหลออกนอกประเทสได้ 1.1- 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

    มันมีผลต่อการเพิ่มจีดีพีของประเทศที่นักการเมืองบางคนชอบเอามาอ้างได้ไม่มากก็น้อย ใช่ไหมครับ

    นอกจากนี้ ผมขอนำเสนอข้อมูลล่าสุดจากเวียดนาม (22 ตุลาคม 2024) หลังจากที่ได้ประกาศใช้ PDP8 เมื่อพฤษภาคม 2023 ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามได้เตรียมจะประกาศใช้กฤษฎีกา(decree) ซึ่งกำลังร่างและปรับปรุงตามข้อเสนอที่ได้รับจากคำวิจารณ์ของสังคม คาดว่าประมาณเดือนตุลาคมนี้น่าจะประกาศใช้ได้ สาระที่สำคัญได้แก่

  • โซลาร์บนหลังคาที่มีขนาดมากกว่า 1,000 กิโลวัตต์ ที่ผลิตเองและใช้เอง ให้สามารถขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ได้ไม่เกิน 20% ของที่ติดตั้ง
  • การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) รับซื้อในราคา $0.049 ต่อหน่วย (ประมาณ 1.63 บาทต่อหน่วย) โดยมีข้อตกลงรับซื้อ 5 ปี (ราคาถูกกว่าที่ไทยกำลังประกาศรับซื้อ ทั้ง ๆที่ติดตั้งบนหลังคาและมีสเกลเล็ก)
  • โซลาร์บนหลังคาที่ขนาดน้อยกว่า 100 กิโลวัตต์ ไม่รับซื้อ สามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องมีมาตรฐานด้านความปลอดภัย
  • โซลาร์บนหลังคาที่ขนาดน้อยกว่า 100-1,000 กิโลวัตต์ ขึ้นกับการทบทวนหลังการติดตั้ง และ EVN จะตรวจสอบการก่อสร้างและคุณภาพไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย
  • อนึ่ง ระหว่างที่ผมกำลังอ่านข่าวนี้ ก็เหลือบไปเห็นข่าวว่า “กลุ่มเซ็นทรัล” จากประเทศไทยก็สนใจจะติดตั้งโซลาร์บนหลังคาห้างของตนในเวียดนาม ข่าวไม่ได้ระบุขนาด แต่บอกว่าจะสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 373 ตันต่อปี ก็น่าจะประมาณไม่น้อยกว่า 500 กิโลวัตต์มั่ง

    คราวนี้มาถึงเรื่อง มุมมองหรือหลักการในการจัดทำแผนพีดีพีของ 2 ประเทศ

    ในร่างแผนพีดีพี2024 ของไทยซึ่งบอกว่ามีหลักการ 3 ประการ คือ (1) ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (2) ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม และ (3) ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกันกับ PDP2018

    ความจริงแล้วคำว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ได้บัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 ของไทย โดยไม่มีคำนิยามหรือคำอธิบายใดๆ
    พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอดีตนายกรัฐมนตรีได้ให้ความหมายว่า หมายถึงการมีพลังงานใช้ตลอดไป ในขณะที่นักวิชาการอย่าง Evan Hillebrand จากมหาวิทยาลัย Kentucky สหรัฐอเมริกาได้ให้ความหมายว่า

    “Energy security is complicated, and multi-dimensional. It goes beyond over-simplified notions of energy self-sufficiency or energy independence. It’s about where our energy comes from and its the cost, reliability, sustainability, and scale of our energy use. Technical, economic, geopolitical and other factors all play a role, and one needs to understand how they interact. Energy security is not just a matter of energy; it’s about how energy affects national security.”

    ผมขออนุญาตไม่แปลนะครับ แต่ขอจับเอาใจความในตอนท้ายว่า “ความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่ความสำคัญของพลังงานเท่านั้น แต่มันเกี่ยวพันกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไรด้วย”

    ผมขอตีความและขยายความเพิ่มเติมว่า ภัยพิบัติจากสถานการณ์โลกร้อน โลกเดือด น้ำท่วม ดินถล่ม รวมถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมจากการผูกขาดพลังงานก็จะนำไปสู่ความไม่มั่นคงของชาติด้วย

    คราวนี้มาถึงมุมมองในการจัดทำแผนของเวียดนามซึ่งผมสรุปมาได้ 5 ประการ ดังนี้

    (1) ใช้ไฟฟ้าเป็นฐานไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ สร้างเศรษฐกิจที่เป็นอิสระ พึ่งตนเอง เป็นเศรษฐกิจพอเพียง (self-reliant economy) เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ต้องมีวิสัยทัศน์ในระยาว ทั้งด้านประสิทธิภาพและความยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นอันดับและสำคัญที่สุด

    (2) หาค่าที่เหมาะที่สุดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ควบคู่กับการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

    (3) อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่มีพลวัฒน์ และเปิดกว้าง แต่ต้องไม่ทำความผิดพลาดให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเข้าและส่งออกอย่างมีเหตุผลด้วย

    (4) ให้ความสนใจกับการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วน มีการแข่งขันที่เป็นธรรม

    (5) ต้องเป็นไปตามแนวโน้มของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยความเป็นธรรมและยุติธรรม

    อ่านแล้วทำให้ผมรู้สึกได้ว่ามุมมองและวัตถุประสงค์ใน PDP8 ของเวียดนามนั้น มีชีวิตของประชาชนอยู่ในแผนด้วย ในขณะที่ไทยเอง ผมไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย ประกอบกับข้อเท็จจริงและตัวเลขเรื่องราคาทั้งที่ผ่านมาแล้วและที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มันฟ้องชัดมากๆครับ

    อ้อ เวียดนามเพิ่งจะประกาศขึ้นราคาไฟฟ้าจากเดิมอีก 4.8% ไปอยู่ที่เฉลี่ย 2.83 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในขณะที่ตอนนี้บ้านคนไทยที่ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.21 บาทต่อหน่วย(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน) ครับผม