ThaiPublica > คอลัมน์ > โซลาร์ภาคประชาชน : กว่าจะได้ “มติครม.ชุดลุงป้อมรักษาการ” แต่…?!

โซลาร์ภาคประชาชน : กว่าจะได้ “มติครม.ชุดลุงป้อมรักษาการ” แต่…?!

15 ตุลาคม 2022


ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค

ในช่วงที่พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี อยู่ประมาณ 30 กว่าวันนั้น คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของท่านได้มีมติที่สำคัญอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญและเรียกร้องมาอย่างยาวนาน จึงเรียกว่ามติครม.ดังกล่าวได้สร้างความฮือฮาและรู้สึกดีใจต่อภาคประชาชนมากทีเดียว

แต่ปัญหาคือ คณะรัฐมนตรีกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจตรงกันหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายสำคัญมาก เป็นคำที่หากลงมือปฏิบัติตามนั้นได้จริงแล้วก็ถือได้ว่าเป็น “จุดพลิกผัน (Tipping Point)” ของระบบไฟฟ้าไทยเลยทีเดียว ด้วยความสำคัญของคำและความรู้สึกกังวลต่อผู้มีอำนาจในสังคมไทยที่ชอบ “ตีความ” ผมจึงขอนำเอาชื่อเรื่องและแหล่งข้อมูลมาลงให้ดูด้วย อย่างน้อยก็เพื่อให้เห็นว่ามีคำนี้อยู่จริง จะมาเบี้ยวกันในภายหลังไม่ได้ง่าย ๆ

คำที่มีความหมายสำคัญก็คือ “ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า” ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะมาจากคำในภาษาอังกฤษที่ว่า “Net Metering” ซึ่งภาคประชาชนได้แปลเป็นภาษาไทยแล้วว่า “ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า”

แต่ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกับความหมายของคำดังกล่าว ผมขอนำหนังสือราชการของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ดูกันทั้งฉบับครับ

ผมขอจับเอา 5 จุดสำคัญมาย้ำอีกครั้ง คือ (1) รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมมานานแล้ว (2) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้ากับประชาชน (3) ให้เร่งรัดให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว (4) ให้ใช้ระบบ “หักลบหน่วยไฟฟ้า” และที่แปลกมากคือ (5) จึงเรียนยืนยันมา

ผมเองก็อยู่ในระบบราชการมานานเกือบ 40 ปี ยังไม่เคยเห็นหนังสือราชการที่ใช้คำในข้อ (5) เลย ซึ่งผมเข้าใจว่าแสดงถึงความเอาจริงเอาจัง(serious) และหนักแน่นเป็นพิเศษ

ระบบ “หักลบกลบหน่วยไฟฟ้า” หรือ “Net Metering” สำคัญอย่างไร

ผมมีภาพประกอบพร้อมด้วยคำอธิบายสั้น ๆ ว่าระบบนี้ทำงานอย่างไรด้วยครับ

ขอย้ำว่าหัวใจสำคัญของระบบ “หักกลบลบหน่วย” คือการแลกไฟฟ้ากันแบบ 1 ต่อ 1 หน่วยระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้า หากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านส่งเข้าไปในสายส่งไม่เท่ากับที่รับมา จึงจะมีการจ่ายเงินในอัตราเท่ากับที่การไฟฟ้าขายปลีกให้เจ้าของบ้าน ไม่ใช่ระบบที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ซึ่งผมจะค่อยๆขยายความว่าเขาทำอย่างไรและได้ผลเป็นอย่างไรกัน

ผมเชื่อว่าเมื่อท่านผู้อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ท่านคงสามารถสรุปเองได้ว่า ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้ากับระบบที่กระทรวงพลังงานนำมาปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลนั้น อย่างไหนเป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่ากัน และจะได้รับความนิยมจากประชาชนมากน้อยแค่ไหน

ความเป็นมาของนโยบายส่งเสริมโซลาร์ประชาชนของรัฐบาล

ผมขอลำดับเหตุการณ์อย่างสั้น ๆ เพื่อให้เราได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจนทำให้คณะรัฐมนตรีได้มีมติที่สำคัญคือให้ “ให้เร่งรัด ให้ขยายตัว ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว”

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ผ่านมติ (5 ม.ค.58) กับโครงการที่ชื่อว่า “Quick Win” พอจะจำกันได้นะครับ

24 ธ.ค. 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวคิดดังกล่าว และให้ติดตั้งรวมกันทั่วประเทศจำนวน 100 เมกะวัตต์ โดยให้รับซื้อไฟฟ้าในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย

24 ม.ค. 2562 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ลดเป้าหมายลงจาก 100 เมกะวัตต์ เหลือ 47 เมกะวัตต์ในปี 2563 และอีก 50 เมกะวัตต์ จนถึงปี 2567 จากรายงานพบว่าตราบจนถึง 30 พ.ย.2563 มีผู้เข้าร่วมโครงการเพียง 4.4% ของเป้าหมายเท่านั้น

ธ.ค2563 กพช. จึงได้เพิ่มอัตรารับซื้อจาก 1.68 เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย แต่เท่าที่ทราบก็ยังไม่ได้รับความสนจากผู้บริโภคอยู่ดี ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าขายให้กับประชาชนในขณะนั้นประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วย

ปัจจุบัน (ตุลาคม 2565) ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นไปถึงประมาณ 4.50-5.50 บาทต่อหน่วย แต่อัตรารับซื้อจากหลังคาบ้านในราคา 2.20 บาทต่อหน่วยเหมือนเดิม

นอกจากกระทรวงพลังงานได้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านส่งเข้าสายส่งไม่ถึงครึ่งของอัตราที่การไฟฟ้าขายให้เจ้าของบ้านแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายและขั้นตอนอื่นๆอีก ซึ่งได้แก่

(1) ค่าติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัวราคาประมาณ 8,500 บาท คิดเป็นเกือบ 10% ของต้นทุนการติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์

(2) สัญญาซื้อขายมีอายุแค่ 10 ปี ทั้ง ๆที่อายุโซลาร์เซลล์ 25-30 ปี

(3) ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากให้วิศวกรรับรองความแข็งแรงของอาคาร ทั้ง ๆที่คนปกติธรรมดาสามารถดูด้วยตาเปล่าก็พอจะบอกได้แล้วว่ามีความแข็งแรงหรือไม่

(4) ค่าใช้จ่ายที่ให้วิศวกรไฟฟ้ารับรองวงจรไฟฟ้า

ผมเข้าใจดีว่า ความปลอดภัยเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องถูกต้องในเชิงวิชาการ แต่มีทางออกอื่นที่ดีกว่า ประหยัดกว่านี้ไหม เช่น ให้กระทรวงพลังงานออกมาตรฐานอุปกรณ์ทั้งหมดพร้อมทั้งคำแนะนำที่ชัดเจน ซึ่งประเทศอื่น เช่น อินเดียก็ทำคำแนะนำแบบที่ว่านี้ แล้วสุดท้ายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตรวจสอบก่อนที่จะเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกัน

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ระบบที่กระทรวงพลังงาน(โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ได้นำมาใช้เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคาในปัจจุบันนี้ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน เพราะผลตอบแทนไม่จูงใจ มีพิธีกรรมที่ไม่จำเป็นอีกมากในการปฏิบัติ และไม่ใช้ระบบ “หักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering)” ที่คณะรัฐมนตรีได้สั่งการและเสนอแนะประเภท “ด่วนที่สุด”

เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบสถานะของประเทศเรากับต่างประเทศ ผมขอนำเสนอข้อมูลอีก 2 ภาพ

ภาพแรกเป็นรายชื่อประเทศที่ได้นำระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าไปใช้แล้ว นับถึงก่อนปี 2561 จำนวน 63 ประเทศ ในจำนวนนี้มีทั้งประเทศที่มีรายได้สูง ปานกลางและรายได้ต่ำ เราจะพบว่าไม่มีประเทศไทยอยู่ในนั้น

สำหรับภาพถัดไป แสดงถึงร้อยละของไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศต่าง ๆ ในปี 2564

จากรูปเราจะเห็นว่าค่าเฉลี่ยของโลกเท่ากับ 4.9% (หมายเหตุ เวียดนาม 10.5% แต่ไม่อยู่ในกราฟนี้) แต่ประเทศไทยเรามีสัดส่วนเพียง 3.3% โดยที่กว่าร้อยละ 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยมาจากโซลาร์ฟาร์มซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปของ Adder และ Feed in Tariff ในราคา 6-8 บาทต่อหน่วย

เพื่อที่จะให้เห็นความสำคัญที่เป็นรูปธรรมของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ผมขอยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลียที่ในปี 2563 สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ 21,033 ล้านหน่วย ซึ่ง 2 ใน 3 มาจากการติดตั้งบนหลังคาขนาดเล็ก (ข้อมูลจาก Solar Report 2022, Australian Energy Council) หากประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้เท่ากับออสเตรเลีย(ซึ่งมีจำนวนประชากรไม่ถึงครึ่งของไทย) เราจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนได้กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศตามความประสงค์ของมติคณะรัฐมนตรีได้เลย ขอย้ำว่า หากสามารถทำได้จริง

แต่เรียนตามตรงว่า ผมไม่เชื่อว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะมีผลในทางปฏิบัติจริง หากภาคประชาชนรวมทั้งสื่อสาธารณะไม่ช่วยกันผลักดัน และช่วยกัน “ทำความจริงที่สำคัญต่อประชาชนให้ปรากฏ” อย่ามัวแต่นำเสนอ “ความจริงที่ไม่สำคัญ” อย่าลืมนะครับว่าระบบราชการไทยนอกจากจะมี “ความเฉื่อย (Government Inertia)” สูงแล้ว ยังมีอิทธิพลของพ่อค้าพลังงานฟอสซิลคอยขัดขวางอยู่ด้วยช่วยกันครับ