![](https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2024/11/ThaiPublica_แพทองธาร-ชินวัตร-ครม-29-11-620x413.jpg)
นายกฯยันไม่ยกเลิก MOU44 ฝ่ายเดียว ขอหารือก่อน ‘สุริยะ’ เตรียมลงโทษผู้รับเหมา ‘งานล่าช้า – เกิดอุบัติเหตุ’ งดรับงาน 2-4 ปี ห่วง ‘ม็อบ’ กระทบท่องเที่ยว – ชวน ‘สนธิ’ คุยก่อนลงถนน มติ ครม.สั่งเพิ่มเบี้ยคนชราสูงสุดเดือนละ 1,250 บาท ต่ออายุ 20 บาท ตลอดสาย ‘สีแดง-ม่วง’ อีก 1 ปี เล็งปรับค่าตอบแทน ขรก. – เพิ่มค่าครองชีพ พนง.ราชการ เคาะลดหย่อนภาษีน้ำท่วม ซ่อมบ้าน 1 แสน – รถ 3 หมื่นบาท
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ครั้งที่ 1/2567 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นางสาวแพทองธาร ได้มอบหมายให้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ
ประกาศน้ำท่วมภาคเหนือจบแล้ว ‘เชียงใหม่-เชียงราย’ พร้อมรับนักท่องเที่ยว
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ในการประชุม ครม. ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็น ครม. สัญจรครั้งแรก จึงถือโอกาสติดตามอุทกภัยและการเยียวยาต่างๆ และยืนยันว่าทั้งเชียงใหม่และเชียงรายสามารถเที่ยวได้แล้ว ทั้งในและต่างประเทศสามารถมาเที่ยวภาคเหนือได้ ส่วนเรื่องน้ำท่วมก็จบเรียบร้อยแล้ว
นางสาวแพทองธาร เสริมว่า รัฐบาลจะจัดงาน Winter Festival ในช่วงปลายปี 2567และวันนี้ก็มาตอกย้ำว่าภาคเหนือจะร่วมกับ Winter Festival ด้วย และมีอีกหลายรายการรองรับนักท่องเที่ยวให้เป็นจุดสนใจให้ทั้งคนไทยและต่างชาติมาทำกิจกรรมดีๆ ปลายปีและต้นปีหน้า
เล็งใช้นวัตกรรมลดหมอกควัน – PM 2.5
นางสาวแพทองธาร กล่าวถึงปัญหาหมอกควัน และ PM2.5 ว่า ครม. จะลงพื้นที่และคุยกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือและหาทางใช้นวัตกรรมทำให้หมอกควันลดน้อยลง และต้องดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งวันนี้ก็มีแนวทางแก้ไขปัญหาอีกหลายแนวทาง คาดว่าช่วยบรรเทาเรื่องฝุ่น PM2.5 ได้มาก
ชู‘เชียงใหม่-เชียงราย’ ต้นแบบเยียวยาน้ำท่วม
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า วันนี้มีปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดของภาคใต้ โดยมีสาเหตุจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำมาก
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับรัฐมนตรีช่วยการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่หน้างานแล้ว
“ท่านได้ Zoom เข้า และทำหน้าที่ต่อเลย ไม่ได้รอช้า ขอให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน และได้รับรายงานว่า กรุงเทพมหานครได้ส่งความช่วยเหลือ อยู่ระหว่างการเดินทาง มีทั้งเรือท้องแบน 7 ลำ เรือเครื่อง 5 เครื่อง รถกระบะ 2 คัน รถช่าง 1 คัน รถบรรทุก 6 ล้อ เครน เจ้าหน้าที่กู้ภัย 23 นาย และช่าง 3 นาย” นางสาวแพทองธาร กล่าว
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า รัฐบาลสั่งการให้ ศอ.บต. ประสานงานกับ ศปช. ส่วนกลาง ให้เร่งรัดการทำงานทุกส่วนราชการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การประกอบอาหาร ครัว โรงครัวพระราชทานและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อพยพประชาชนจากพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงและหน่วยแพทย์สาธารณสุขต่างๆ ให้เตรียมเรื่องยากับโรคต่างๆ ที่จะมาพร้อมน้ำท่วม
“ตัวดิฉันเองเร่งเรื่องการเยียวยาว่า ระหว่างนี้ที่ดูแลพี่น้องประชาชน ให้ดูเรื่องมาตรการเยียวยาควบคู่กันไป เพราะประชาชนจะได้ไม่ต้องรอนาน เหมือนทางจังหวัดเชียงราย-เชียงใหม่ที่ประชาชนไม่ได้รอนาน” นางสาวแพทองธาร กล่าว
เห็นชอบ 39 โครงการ 641 ล้าน ฟื้นฟู ‘เชียงใหม่-เชียงราย’
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการเร่งด่วนจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายที่จะฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ที่เห็นควรได้รับการสนับสนุนจำนวน 39 โครงการ กรอบวงเงิน 641.13 ล้านบาท โดยให้ทั้งจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ขอรับจัดสรรงบปีงบประมาณ 2568 งบกลาง ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
“ส่วนมากเป็นโครงการซ่อมแซมคมนาคม และเขื่อนป้องกันตลิ่ง ระบบการระบายน้ำต่างๆ รวมถึงโครงการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว” นางสาวแพทองธาร กล่าว
ห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองช่วงวิกฤติ PM 2.5
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อควบคุมพื้นที่เผาไหม้จากการเผาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย และควบคุมการเผาในกลุ่มพืชเป้าหมาย ตลอดจนควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง โดยช่วงที่วิกฤติ PM2.5 ให้มีการประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมือง และตรวจจับรถควันดำอย่างเข้มงวด รวมทั้งควบคุมพื้นที่ก่อสร้างและจัดการหมอกควันข้ามแดน โดยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล ศูนย์แจ้งเตือนและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวังและควบคุม
ชวน ปชช.ชมขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว 5 ธ.ค.67 – 14 ก.พ.68
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า รัฐบาลขอประชาสัมพันธ์การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทย เป็นการชั่วคราวเนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา และเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน
โดยประชาชนผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ได้ในวันที่ 4 ธ.ค.2567 ตลอดเส้นทาง และประชาชนสามารถเข้าสักการะพระเขี้ยวแก้ว ในระหว่างวันที่ 5 ธ.ค.2567-14 ก.พ. 2568
ห่วง ‘ม็อบ’ กระทบท่องเที่ยว – ชวน ‘สนธิ’ คุยก่อนลงถนน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ระบุว่ามีความจำเป็นต้องนัดชุมนุมลงถนน เป็นวาระสุดท้ายของชีวิต โดยนางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราต้องรักษาความสงบในประเทศให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่าถ้าเรากำลังจะไปประเทศไหนแล้ว เขามีม็อบ เราก็คงยังไม่อยากไปใช่ไหม อันนี้ก็กระทบกับการท่องเที่ยวและประเทศแน่นอน”
“ถ้าประชาชนมีข้อเรียกร้องหรือข้ออยากเสนอต่อรัฐบาล เรามีกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยื่นจดหมาย เรามี process ของมันอยู่แล้ว ยังไงรัฐบาลก็เห็นความคิดเห็นของประชาชนสำคัญเสมอ แต่ในการเกิดม็อบหรืออะไร เราพูดคุยกันได้ และยังไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น” นางสาวแพทองธาร กล่าว
ยันไม่ยกเลิก MOU44 ฝ่ายเดียว ขอหารือก่อน
ถามต่อว่า นายสนธิจะเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้าน MOU 44 และเข้าพบนายกรัฐมนตรี นายกฯ จะมารับหนังสือด้วยตัวเองหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “คงจะต้องรับเป็นกระบวนการที่วางไว้ คงไม่ได้มีอะไรพิเศษในเคสไหน ไม่อย่างนั้นต้องมีการวางเคสใหม่เรื่อยๆ ก็อยากให้เป็นตามกฎ ตามกระบวนการมากกว่า”
ถามต่อว่า MOU 44 ยังมีเสียงคัดค้าน รัฐบาลจะต้องทบทวนหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “สิ่งที่เดินหน้าตอนนี้เรื่องเดียวคือ การตั้งคณะกรรมการในการเจรจาระหว่างสองประเทศ ในเรื่อง MOU44 เราจะได้ให้ข้อมูลประชาชนเรื่อยๆ ว่าในนั้นมีเนื้อความอย่างไรบ้าง จะให้ข้อมูลมากกว่า ส่วนเรื่องเดินต่อหรือไม่ เดี๋ยวเราให้คณะกรรมการคุยกันสองประเทศดีกว่าว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ”
“เราสามารถยกเลิกได้เลยในประเทศเดียวไหม จริงๆ ก็สามารถยกเลิกได้ตามหลักของกฎหมาย แต่ถามว่าเราควรจะยกเลิกฝ่ายเดียวไหม ในเมื่อมันเป็นเรื่องระหว่างประเทศ มันต้องมีการคุยกันก่อน เอาอย่างนี้ดีกว่า ควรหรือไม่ควร คุยกันก่อนระหว่างสองประเทศ” นางสาวแพทองธาร กล่าว
“เมื่อวานก็ได้คุยกับนายกฯ สิงคโปร์ เราคุยกันใน general เลยว่า ไม่มีประเทศไหนอยากขัดแย้งกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องเซนซิทีฟ พยายามจะไม่ให้คนในประเทศของเราเข้าใจผิดในเรื่องใดๆ ก็ตาม เรื่องนี้ควรจะเป็นการคุยกันทั้งสองประเทศเพื่อการสร้างความไม่แตกแยก” นางสาวแพทองธาร กล่าว
เมื่อถามว่า มีประเด็นอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ ทำให้นางสาวแพทองธาร นิ่งคิด ก่อนจะตอบว่า “ก็อาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือเปล่า ต้องดูว่าประเด็นทางการเมืองก็มีมากมายในแต่ละวัน แต่เรื่องระหว่างประเทศเป็นเรื่องเซนซิทีฟ ถ้านายกฯ หรือรัฐมนตรีกระทรวงว่าการต่างประเทศได้สื่อสารออกไป ประเทศอื่นๆ ก็จะรับข้อนั้นเลย เพราะฉะนั้น เราก็พยายามที่จะสื่อสารด้วยความระมัดระวังและเห็นอกเห็นใจทั้งสองฝ่าย แต่ในพื้นที่ต่างๆ ที่เราคุยกันมายังเป็นเรื่องของพื้นที่อ้างสิทธิ ยังไม่มีการเคาะอะไรทั้งสิ้น ทั้งเราและกัมพูชาไม่ได้มีใครเสียผลประโยชน์อะไรในตอนนี้ ฉะนั้นเราต้องคุยกันก่อน”
“แน่นอนว่าดิฉันเองเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไม่มีทางเห็นประเทศใดสำคัญกว่าประเทศไทย ขอให้มั่นใจตรงนี้ไว้อย่างหนึ่งว่า ดิฉันเองเกิดในแผ่นดินนี้ ไม่มีทางที่จะเห็นที่ไหนดีกว่าบ้านเรา ขอให้มั่นใจในจุดนี้ เราตั้งคณะกรรมการขึ้นมาและคุยกันด้วยเหตุผลด้วยการตกลงระหว่างประเทศที่ดี เป็นอย่างนั้นค่ะ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากยังเดินหน้าเรื่องนี้แล้วทำให้ประเทศไม่สงบ จะเลือกแบบไหน เมื่อถามจบนางสาวแพทองธารอุทาน “โอ้” และกล่าวต่อว่า “เราอย่าเพิ่งไปมองตรงนั้นดีไหม เพราะจริงๆเรื่อง MOU44 มันมีมานานแล้ว และเรื่องความแตกแยกอะไรที่ทำให้คนเข้าใจผิดมันไม่มี เราต้องฟังข้อมูลที่จริงให้ครบ อย่าเอาเป็นเรื่องกระแส หรือ ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทของเรามาทำให้เป็น issue ที่กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ อันนั้นก็จะไม่ดี ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”
จากนั้น นางสาวแพทองธาร บอกว่า “เรามีเรื่องอื่นไหมคะนอกจากเรื่องนี้”
แต่ผู้สื่อข่าวถามประเด็นเดิมอีกว่า เคยมีการยกพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสถึงไหล่ทวีป จะนำมาพิจารณาด้วยหรือไม่ โดยนางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ในนั้นเราได้ดูเนื้อหาในเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้ว อะไรที่เป็นปัญหา เราไม่ชนกับปัญหานั้นแน่นอน เราต้องร่วมกันแก้ไข ขอประเด็นอื่นค่ะ”
ชี้คนเพื่อไทยมั่นใจ หลังชนะเลือกตั้ง อบจ.อุดรฯเป็นเรื่องปกติ
เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เป็นสัญญาณของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราก็ทำตรงนี้ให้เต็มที่ทุกจังหวัด ทั้งท้องถิ่นและส่วนกลางต้องประสานกันอยู่เสมอ ถ้าเรามีท้องถิ่นที่สามารถคอนเนคกับส่วนกลางได้ดี ก็จะเป็นเรื่องดี เราต้องทำ ทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครลงแข่งก็ต้องพยายามทำให้เต็มที่ทุกพรรค”
ถามต่อว่า การที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไปขึ้นเวทีช่วยหาเสียง ทำให้พรรคเพื่อไทยเกิดความมั่นใจมากขึ้นใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อย่างที่เคยพูดไว้ตลอด ท่านทักษิณเอง ก็เป็นคนก่อตั้งพรรคไทยรักไทยมา ซึ่งก็คือเพื่อไทยในปัจจุบัน ความมั่นใจที่ท่านสร้างขึ้น ก็มีผลต่อคนเพื่อไทยเป็นเรื่องปกติ โอเค พอแล้วเนาะ”
‘สุริยะ’ เตรียมลงโทษผู้รับเหมา ‘งานล่าช้า – เกิดอุบัติเหตุ’ งดรับงาน 2-4 ปี
เมื่อถามเรื่องอุบัติเหตุเครนถล่ม บริเวณจุดก่อสร้างทางด่วนบนถนนพระรามที่ 2 นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เมื่อกี้เพิ่งพูดคุยกัน ท่านสุริยะ กำลังจะกลับจากที่นี่เพื่อไปดูพระรามสอง จริงๆ ท่านต้องอยู่อีกคืน แต่ท่านต้องรีบกลับไปดูพระรามสองก่อน” และหลังจากนางสาวแพทองธาร กล่าวจบ จึงขอให้นายสุริยะ เป็นผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 4 ราย โดยหลังจากจบการสัมภาษณ์ในการประชุม ครม. สัญจรวันนี้ นายกฯ ได้สั่งการให้ตนบินกลับไปลงพื้นที่ทันที
“ท่านนายกฯ เป็นห่วงมาก ได้สั่งการให้ผมบินกลับไปเลย สิ่งสำคัญที่สุดที่กระทรวงคมนาคมได้ตั้งเป้าหมายคือ ที่ผ่านมาบริษัทผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ถ้าไปทำเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ที่ทำให้เสียชีวิต เราจะมีมาตรการที่เป็นสมุดพกว่า ทำผิดตรงไหนบ้าง ล่าช้า เราได้ประสานกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังว่าเราจะมีมาตรการออกมา” นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กรณีนี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิต จึงมีมาตรการที่จะไม่ให้ผู้รับเหมารายนี้รับงาน 2 – 4 ปี ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องไปคุยกับกรมบัญชีกลาง เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน
“ถ้าเราไม่มีมาตรการนี้ ผู้รับเหมาก็ไม่ได้สนใจที่จะตั้งใจทำอย่างจริงจัง แต่ถ้ามาตรการนี้ออกมา อุบัติเหตุต่างๆ ที่ทำให้่เสียชีวิตหรือล่าช้าจะน้อยไปมากๆ” นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ ย้ำว่า “เราต้องมีความเด็ดขาดกับผู้รับเหมา แต่ที่ผ่านมา มาตรการนี้ยังไม่มี เราประกาศไปแต่ยังไม่มีออกมาเป็นรูปธรรม เพราะการควบคุมส่วนหนึ่งอยู่ที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งเราจะไปคุยกัน และถ้ามีมาตรการนี้ออกมา ผมว่าจะทำให้ปัญหาพวกนี้ลดน้อยไป 80-90% แน่นอน”
เมื่อถามว่า มาตรการนี้จะเสร็จเมื่อไร เพราะไอเดียนี้มีมานานมากแล้ว โดย นายสุริยะ ตอบว่า “ภายในปีนี้จะทำให้เป็นรูปธรรมให้ได้ เดี๋ยวจะไปคุยกับกระทรวงการคลัง”
นายกฯ มั่นใจ ประสบการณ์แก้ปัญหาน้ำท่วม
ด้านนายจิรายุ รายงานว่า นายกฯ มีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. วันนี้ เรื่องสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดชายแดนใต้ และมอบหมายให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่แก้ไขสถานการณ์ โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่า ศปช.ส่วนหน้าขึ้น และสถานการณ์อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื่นที่พร้อมกับ ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
“ขณะนี้มีการลำเรียงเรือท้องแบน เจ็ตสกี ช่วงเช้าได้มีการประสานงานกับมูลนิธิต่างๆ ที่ได้ทำงานร่วมกันจังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา และช่วงบ่ายๆ จะรายงานสถานการณ์ให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการแก้ไขตามแผน ศปช. ที่เคยวางไว้ เนื่องจากมีประสบการณ์จากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาว่าเรื่องน้ำจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร
สั่ง ‘อนุทิน’ ลงพื้นที่ภาคใต้ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยถึงประชาชนทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ได้แก่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา โดยได้มอบหมายให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ นางสาวธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ติดตามสถานการณ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
“แม้ว่าขณะนี้ท่านนายกรัฐมนตรีมีภารกิจในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ท่านได้ฝากความห่วงใยผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลประชาชนทันที เนื่องจากขณะนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดเกิดน้ำท่วมหนักในหลายจุด อีกทั้งในช่วง 2 วันนี้กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่ายังมีแนวโน้มที่จะมีฝนตกหนักเข้ามาเติมในพื้นที่ จึงต้องสั่งการให้ระดมความช่วยเหลือจากนอกพื้นที่เข้ามาเพิ่มเติมโดยต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ” นายจิรายุ กล่าว
มติ ครม. มีดังนี้
![](https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2024/11/ThaiPublica_ครม.-โฆษก-29-11-620x411.jpg)
สั่งเพิ่มเบี้ยคนชราสูงสุดเดือนละ 1,250 บาท
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรายงานว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบข้อเสนอเรื่อง การพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จากคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานเกี่ยวข้องกลับไปศึกษาให้คำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่า และให้นำกลับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง โดยมีข้อเสนอการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพ ดังนี้
- อายุ 60-69 ปี เป็นเดือนละ 700 บาท จาก 600 บาท
- อายุ 70-79 ปี เดือนละ 850 จาก 700 บาท
- อายุ 80-89 ปี เดือนละ 1,000 บาท จาก 800 บาท
- อายุ 90 ปีขึ้นไป เดือนละ 1,250 บาท จาก 1,000 บาท
- กลุ่มผู้พิการปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาท จาก 800 บาท
ต่ออายุ 20 บาท ตลอดสาย ‘สีแดง-ม่วง’ อีก 1 ปี
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 67 – 30 พ.ย 68 โดยประมาณการว่ามีการสูญเสียรายได้ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีม่วง 35.35 ล้านบาท 272.99 ล้านบาท
ทั้งนี้ แหล่งที่มาของเงินชดเชยค่าโดยสาร รฟท. จะเสนอขอรับจัดสรรงบฯ เพื่อชดเชยต่อไปรฟม. จะนำเงินรายได้ที่ต้องส่งคลังมาชดเชย
เคาะมาตรการรับมือไฟป่า-หมอกควัน-PM2.5
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบและรับทราบมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 พร้อมกลไกการบริหารจัดการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานต่อไป สาระสำคัญ เช่น
(1) พื้นที่เป้าหมาย
- พื้นที่ป่า : ควบคุมพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จ.กาญจนบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเป้าหมายให้ลดลงร้อยละ 25
- พื้นที่เกษตร : ควบคุมพื้นที่เผาไหม้จากการเผาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน (เช่น 17 จังหวัดภาคเหนือ เผาลดลงร้อยละ 30 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผาลดลงร้อยละ 20 และควบคุมการเผาในกลุ่มพืชเป้าหมาย เช่น นาข้าว เผาลดลงร้อยละ 30 อ้อยโรงงานเผาลดลงร้อยละ 15
- พื้นที่เมือง : ควบคุมการระบายฝุ่นในพื้นที่เมือง โดยควบคุมให้ยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบร้อยละ 100
(2) การปฏิบัติการ
- ระยะเตรียมการ เช่น จัดทำแผนที่เสี่ยงเผาและแผนปฏิบัติการจัดการไฟป่า (ก.ทรัพยากรฯ) จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกรายชนิดของพืชเกษตรที่เสี่ยงต่อการเผา (ก.เกษตรฯ)
- การจัดการไฟในป่า เช่น ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ จัดตั้งจุดตรวจและจุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพื่อป้องกันการเผาป่า (ก.ทรัพยากรฯ)
- ควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง โดยในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 ให้มีการออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมือง และตรวจจับรถควันดำอย่างเข้มงวด รวมทั้งควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง (ก.คมนาคม ก.ทรัพยากรฯ สนง.ตำรวจแห่งชาติ กทม.)
- จัดการหมอกควันข้ามแดน โดยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล ศูนย์แจ้งเตือน และศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุม และดับไฟในประเทศเพื่อนบ้าน (ก.กลาโหม ก.ทรัพยากรฯ)
- กลไกการบริหารจัดการ เช่น แต่งตั้ง คกก. อำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ (รอง. นรม.และ รมว. ดส.นายประเสริฐฯ เป็นประธาน) ทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า)
เล็งปรับค่าตอบแทน ขรก. – เพิ่มค่าครองชีพ พนง.ราชการ
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อเสนอการปรับอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุ และการปรับค่าตอบแทนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของพนักงานราชการ
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 2,670 ล้านบาท โดยปีที่ 1 (5 เดือน) จํานวน 830 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จํานวน 1,840 ล้านบาท (ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568) โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลําดับแรก หากไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจําปี งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ตามที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) เสนอ
สาระสำคัญ ดังนี้
เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 พฤศจิกายน 2566) เกี่ยวกับการปรับอัตราเงินคุมข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่สํานักงาน ก.พ. เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับ เงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว โดยมีวัตถุประสงค์และหลักการเพื่อปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาให้เหมาะสม สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล และสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ โดยผู้ที่ปฏิบัติงานในตําแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตําแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี
ทั้งนี้ อัตราเงินเดือนของผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนจะต้องไม่น้อยกว่าผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ โดยใช้คุณวุฒิระดับเดียวกัน และอัตราเงินเดือนหลังการปรับจะต้องไม่ทําให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่ากลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ดํารงตําแหน่งประเภท และระดับเดียวกันที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน และเพื่อปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งรับราชการอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1.1 การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
(1) ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) ในอัตราร้อยละ 10 ภายใน 2 ปี โดยปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 (เช่น คุณวุฒิระดับปริญญาตรี จากเดิม 15,000 บาท เป็น 16,500 บาท ในปีที่ 1 และปรับเป็น 18,150 บาท ในปีที่ 2)
(2) การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จํานวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่ อัตราแรกบรรจุที่กําหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี
1.2 การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เป็นการปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท และปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือน รวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิมเดือนละ 10,000 บาท เป็นเดือนละ 11,000 บาท และปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบํานาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท ซึ่งการปรับเพดานเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวนี้ จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยข้าราชการ ลูกจ้างประจํา ทหารกองประจําการ และผู้รับบํานาญ และคาดว่าจะใช้งบประมาณ เพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการ เป็นลําดับแรก หากไม่เพียงพอให้ขอทําความตกลงกับสํานักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจําปี งบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ หรือรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นแล้วแต่กรณี ตามลำดับ
2. มอบหมายให้สํานักงาน ก.พ. ร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กําหนดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการแต่ละประเภท รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดําเนินการมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายและสอดคล้องตามหลักการดังกล่าวต่อไป
3. มอบหมายให้สํานักงาน ก.พ. ประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง (กค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับหลักการและแนวทางดําเนินการในเรื่องดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาดําเนินการในส่วนของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นและพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อไป
ทั้งนี้ คพร. ได้จัดทําข้อเสนอการปรับอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุ และการปรับค่าตอบแทนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของพนักงานราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ ของมติคณะรัฐมนตรี (28 พฤศจิกายน 2566) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
- วัตถุประสงค์
- ปรับอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุของพนักงานราชการตามคุณวุฒิการศึกษาให้เหมาะสม สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล และสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ
- ปรับค่าตอบแทนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบซึ่งได้รับการว่าจ้างอยู่ก่อนวันที่อัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุใหม่ที่นําเสนอในครั้งนี้มีผลใช้บังคับ
- หลักการ
- ปรับอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา
- อัตราค่าตอบแทนของผู้ที่ได้รับการว่าจ้างอยู่ก่อน จะต้องไม่น้อยกว่าผู้ที่ได้รับการว่าจ้างเป็นพนักงานราชการใหม่โดยใช้คุณวุฒิระดับเดียวกัน
- อัตราค่าตอบแทนหลังการปรับจะต้องไม่ทําให้ผู้ซึ่งเคยได้รับค่าตอบแทนสูงกว่ากลายเป็นผู้ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าผู้ที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน ทั้งนี้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณมากจนเกินควร
- แนวทางดําเนินการ
- การปรับอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุ โดยทยอยปรับอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) แตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิ การศึกษา ภายใน 2 ปี คือ ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ซึ่งสอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี (28 พฤศจิกายน 2566) และหลักการกําหนดค่าตอบแทนพนักงานราชการตามมติ คพร. ที่กําหนดค่าตอบแทนแรกบรรจุของพนักงานราชการโดยนําบัญชีอัตราแรกบรรจุของข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นฐานในการคํานวณ โดย (1) พนักงานราชการกลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิค และกลุ่มงานบริหารทั่วไป บวกเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 20 จากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อเป็นค่าชดเชยบําเหน็จ สวัสดิการอื่นๆ และสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และ (2) พนักงานราชการกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ บวกเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 30 เพื่อชดเชยลักษณะงานวิชาชีพ บําเหน็จ สวัสดิการอื่นๆ และสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
- การปรับค่าตอบแทนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจํานวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับค่าตอบอัตราการที่ได้รับผลกระทบก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กําาหนดใหม่มีผลใช้บังคับ โดยมีอัตราชดเชยเท่ากับ 0.84 ของผลต่างอัตราค่าตอบแทนได้รับในปัจจุบันกับอัตราแรกบรรจุเดิม ซึ่งมีหลักการ แนวคิด และสมมติฐาน ดังนี้
(1) กําหนดกลุ่มเป้าหมาย ชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ในแต่ละปีโดยครอบคลุมผู้ได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการอยู่ก่อนวันที่อัตราค่าตอบแทน แรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี
(2) กําหนดอัตราค่าตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับการชดเชย โดยแปลงจํานวนปีของผู้ได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการเป็นอัตราค่าตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับการปรับค่าตอบแทนชดเชย โดยมีสมมติฐานว่าเป็นผู้ซึ่งมีผลงานดีเด่นตลอด 10 ปี และได้รับการเลื่อนค่าตอบแทนเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี (ปีละ 1 ครั้ง) ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับการปรับค่าตอบแทนชดเชย คือ ผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนระหว่างค่าตอบแทนแรกบรรจุ (ปัจจุบัน) กับอัตราค่าตอบแทนที่ผ่านการเลื่อนเงินเดือนตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานมาแล้วประมาณ 10 ครั้ง จากนั้นน่าอัตราค่าตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับการปรับค่าตอบแทนชดเชยแล้วมาคํานวณหาอัตรา การชดเชยที่เหมาะสม โดยทําการจําลองในทุกกลุ่มงานและจําแนกตามคุณวุฒิต่าง ๆ ซึ่งได้อัตราการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นไปตามหลักการที่กําหนดไว้ เท่ากับ 0.84
3.3 การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ปรับเพดานอัตราค่าตอบแทนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิมค่าตอบแทนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็นค่าตอบแทนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท และปรับเพดานขั้นต่ำของค่าตอบแทนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น 11,000 บาทให้แก่พนักงานราชการ ทั้งนี้ การให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพและวันที่มีผลใช้บังคับให้เป็นไป ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ และลูกจ้างประจําของส่วนราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่ง กค. โดยกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างดําเนินการ ปรับปรุงระเบียบดังกล่าว
3.4 การปรับปรุงประกาศ คพร. เรื่อง ค่าตอบแทนของพนักงานราชการ พ.ศ. …. เพื่อปรับปรุงบัญชีกําหนดอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุ ของพนักงานราชการและการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว โดยยกเลิกประกาศ คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง ค่าตอบแทนของพนักงานราชการ พ.ศ. 2554และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีก 3 ฉบับ ได้แก่ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2561 และ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2565 และจัดทําประกาศฉบับใหม่โดยจะเป็นการรวมประกาศไว้เป็นฉบับเดียว เพื่อให้สะดวกในการนําไปใช้
ประโยชน์และผลกระทบจากการดำเนินการ
- ประโยชน์ : อัตราค่าตอบแทนของพนักงานราชการ มีความเหมาะสม สอดคล้องกับตลาดแรงงานและค่าครองชีพในปัจจุบัน สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการตลอดจนรักษา คนที่มีความรู้ ความสามารถ และมีศักยภาพระบบราชการต่อไปได้
- ผลกระทบ : การดําเนินการดังกล่าวคาดว่าจะใช้ งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 2,670 ล้านบาท โดยปีที่ 1 (5 เดือน) จํานวน 830 ล้านบาท (12 เดือน) จํานวน 1,840 ล้านบาท
ไฟเขียว ‘ราชภัฏเชียงใหม่’ ก่อหนี้ผูกพัน 412 ล้าน
นายคารม กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติการเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการกลุ่มอาคาร มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (อาคารเรียนรวมและปฏิบัติกลาง) ตําบลสะลวง อําเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จํานวน 1 หลัง จากเดิม 367,500,000 บาท เป็น 412,492,107.02 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 44,992,107.02บาท และขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสําหรับรายการฯ จากเดิมปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 -2568 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2570 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
นายคารม กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 มีนาคม 2563) อนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จํานวน 1,470 รายการ ซึ่งรวมถึงรายการกลุ่มอาคารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (อาคารเรียนรวมและปฏิบัติกลาง) ตําบลสะลวง อําเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเงินงบประมาณ 315,000,000 บาท เงินนอกงบประมาณ 35,000,000 บาท เงินสํารองเผื่อเหลือเผื่อขาด 17,500,000 บาท รวมทั้งสิ้น 367,500,000 บาท โดยผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 (3 ปี) ของ อว. (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี จํานวน 6 หลักสูตร 24 สาขาวิชาและระดับปริญญาโท จํานวน 1 หลักสูตร ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาประมาณ 4,000 คน
เห็นชอบมาตรการรับมือไฟป่า – หมอกควัน – PM 2.5
นายคารม รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 พร้อมกลไกการบริหารจัดการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานต่อไป รวมทั้งรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ และผลการประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 (ฝุ่น PM2.5) โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีเป็นประจำทุกปี โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากกิจกรรมในพื้นที่ ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ว่าในช่วง ปี 2567 สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จะมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐานและมีจุดความร้อนเป็นจำนวนมากในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งต้องเผชิญกับหมอกควันข้ามแดนที่เกิดจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับในช่วงต้นปีจะมีความกดอากาศสูง ทำให้อากาศปิด ลมสงบ ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในพื้นที่สูงขึ้นและเกินมาตรฐาน ทส. จึงจัดทำมาตรการรับมือสถ่านการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชน ภายใต้กรอบแนวคิด เช่น (1) การเตรียมการรับมือล่วงหน้าให้เร็วขึ้น (2) วิเคราะห์จัดทำพื้นที่เสียงการเผา (Risk Map) (3) ควบคุมพื้นที่แบบมุ่งเป้ากลุ่มป่าแปลงใหญ่ป่ารอยต่อไฟที่เผาไหม้ซ้ำซาก (4) บริหารไฟในพื้นที่เกษตรช่วงการเก็บเกี่ยวภายใต้ระบบการลงทะเบียน (5) ใช้หลักการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านก่อนเริ่มหมอกควันข้ามแดน และ (6) ใช้การสื่อสารที่รวดเร็ว ตรงประเด็น ทันเหตุการณ์ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
2. มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568
3. ทส. เห็นว่า มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ที่เสนอในครั้งนี้ มีการยกระดับการปฏิบัติการและมีการดำเนินงานที่เข้มข้นมากขึ้นใน 3 มิติจากที่ดำเนินการในปัจจุบัน ดังนี้
3.1 มิติด้านการกำหนดเป้าหมาย : มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น การเพิ่มการกำหนดเป้าหมายการเผาในกลุ่มพืชเป้าหมายแต่ละชนิด ดังนี้ (1) นาข้าว กำหนดให้มีการเผาลดลงร้อยละ 30 (2) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดให้มีการเผาลดลงร้อยละ 10 และ (3) อ้อยโรงงาน กำหนดให้มีการเผาลดลงร้อยละ 15 (เดิมไม่ระบุแยกเป็นพืชรายชนิด)
3.2 มิติด้านการบูรณาการ : เดิมมีการบริหารจัดการปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 แบบแบ่งตามเขตจังหวัด ส่งผลให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการ เช่น กรณีพื้นที่ป่าที่ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ดังนั้น มาตรการที่เสนอในครั้งนี้ จึงยกระดับการดำเนินการให้มีการบูรณาการมากขึ้น โดยกำหนดให้ยึดพื้นที่ที่เกิดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 เป็นตัวตั้งและบริหารจัดการร่วมกันจากหลายฝ่ายข้ามเขตจังหวัดหรือเขตการปกครอง
3.3 มิติด้านความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน : โดยยกระดับความร่วมมือมากขึ้น เช่น สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล ศูนย์แจ้งเตือน และศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟในประเทศเพื่อนบ้าน (ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีศูนย์ดังกล่าวทำให้ขาดข้อมูลและกลไกสำคัญที่ใช้ในการบริหารจัดการปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้น)
ทั้งนี้ หากนำไปสู่การปฏิบัติโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และมีกลไกการสนับสนุนงบประมาณเสริมการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึงมากขึ้น จะสามารถบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองในปี 2568 ได้
4. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบต่อมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 แล้ว
เคาะลดหย่อนภาษีน้ำท่วม ซ่อมบ้าน 1 แสน – รถ 3 หมื่นบาท
นายคารม กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้านและมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ)
2. รับทราบการดำเนินการของ กค. ในการออกประกาศกระทรวงการคลังขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษีออกไปเป็นภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2567
สาระสำคัญของเรื่อง
1. จากการรายงานสถานการณ์สาธารณภัยของศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่า ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ประเทศไทยมีร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดย ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2567 พบว่า มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 256,405 ครัวเรือน และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (กรณีอุทกภัย) และการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) แล้วดังนี้
- จังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (กรณีอุทกภัย) มีจำนวน 49 จังหวัด 291 อำเภอ 1,358 ตำบล และ 8,367 หมู่บ้าน
- จังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) มีจำนวน 45 จังหวัด 262 อำเภอ 1,183 ตำบล และ 7,336 หมู่บ้าน
2. ที่ผ่านมา กค. โดยกรมสรรพากรได้มีมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับผู้ประสบอุทกภัยและสำหรับผู้บริจาคอยู่แล้ว แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
2.1 มาตรการภาษีถาวรเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัย เป็นมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยสำหรับผู้ประสบอุทกภัย โดยผู้ประสบอุทกภัยไม่ต้องนำเงินช่วยเหลือที่ได้รับไปเสียภาษีเงินได้ ผู้ประสบอุทกภัยทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินช่วยเหลือที่ได้รับ ดังนี้
- เงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล
- เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
- ค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้รับจากบริษัทประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหาย
ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัยที่เป็นผู้ประกอบการสามารถหักค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ เช่น ทรัพย์สินหรือสินค้าเสียหาย สามารถหักค่าใช้จ่ายหรือหักรายจ่ายค่าความเสียหายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
- ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา (ซึ่งมีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) ค่าเช่าทรัพย์สิน (6) ค่าวิชาชีพอิสระ เช่น ทนายความ แพทย์ วิศวกร และสถาปนิก (7) ค่ารับเหมาหรือ (8) เงินได้จากธุรกิจ แห่งประมวลรัษฎากร) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น (มีผลเท่ากับการให้หักค่าใช้จ่ายค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น)
- ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล (ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้)
- ผู้ได้รับเงินจากรัฐบาลเพื่อนำไปใช้ป้องกันอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นไม่ต้องนำเงินดังกล่าวไปเสียภาษีเงินได้ • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินที่ได้รับจากรัฐบาล เพื่อนำไปใช้ลงทุนในทรัพย์สินเพื่อป้องกันอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยทรัพย์สินนั้นต้องมีอายุการใช้งานเกินกว่า 1 ปี หรือ 1 รอบระยะเวลาบัญชี
มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยสำหรับผู้บริจาค ดังนี้
- ผู้บริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์กรสาธารณกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สามารถหักลดหย่อน หรือ หักรายจ่ายได้ 1 เท่า ส่วนผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ
- ผู้บริจาคให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สิน (เช่น การรับบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านรายการโทรทัศน์) เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยสามารถหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายได้ 1 เท่า และผู้บริจาคที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือเป็นนิติบุคคลอื่น ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) สำหรับการบริจาคสินค้า (ไม่ถือว่าการบริจาคสินค้า เป็นการขายสินค้า)
มาตรการภาษีเฉพาะคราวเมื่อเกิดอุทกภัยเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัย (ซึ่งได้สิ้นสุดไปแล้ว) ดังนี้
3. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยตามข้อ 2 เริ่มคลี่คลายแล้ว ประกอบกับประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยที่ผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว แต่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาส่วนใหญ่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายหรือหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมทรัพย์สินในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดั้งนั้น เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่บุคคลธรรมดาผู้ประสบอุทกภัย เห็นควรออกมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้านและมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ โดยได้ยกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้านและมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ) ซึ่งมีหลักการเดียวกับมาตรการภาษีเฉพาะคราวที่เคยดำเนินการตามข้อ 2.2 โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
- มาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้าน ให้บุคคลธรรมธรรมดาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล) สำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคารหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับตัวอาคารหรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารหรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุดหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับห้องชุดในอาคารชุด ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,00 บาท
- มาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ ให้บุคคลธรรมธรรมดาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล) สำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์) หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 30,000 บาท
4. เนื่องจากผู้เสียภาษีที่อยู่ในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลา (ไม่ว่าการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาหรือการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต) เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือนำส่งภาษีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าว กค. จึงเห็นควรขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ซึ่ง กค. สามารถดำเนินการได้เองและเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีทราบไปในคราวเดียวกันนี้ โดย กค. จะขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาออกไปเป็นภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันทำการวันสุดท้ายของปีตามปฏิทินภาษีอากร (ขยายระยะเวลาให้สำหรับการยื่นรายการภาษีแบบกระดาษทุกประเภทรายการภาษี) โดยออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ กำหนดการการยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567) มีรายละเอียด ดังนี้
ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการประมาณ 1,500,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีภาระการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีน้อยลงและมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในช่วงประสบอุทกภัยโดยไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้
5. กค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับร่างกฎกระทรวงที่เสนอมาครั้งนี้แล้ว
โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
1) ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิตามมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้าน 4 ล้านราย และผู้ใช้สิทธิตามมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ 4 ล้านราย
2) ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
พยุงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี’67/68 รวม 2 โครงการ 320 ล้าน
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบ (1) ผลการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 (ตามข้อ 1.1) และ (2) รับทราบมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ตามข้อ 1.4 – 1.5 )
2. อนุมัติการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 จำนวน 2 โครงการ และมาตรการเพิ่มช่องทางการตลาด จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 113.17 ล้านบาท (ตามข้อ 1.2) รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 207.54 ล้านบาท (ตามข้อ 1.3) รวมทั้งหมด 320.71 ล้านบาท ดังนี้
(1) มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 และมาตรการเพิ่มช่องทางการตลาด วงเงิน 113.17 ล้านบาท
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2567/68 วงเงิน 26.67 ล้านบาท
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 วงเงิน 35 ล้านบาท
- โครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 วงเงิน 51.50 ล้านบาท
(2) มาตรการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงิน 207.54 ล้านบาท
- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567 – 2568 วงเงิน 138 ล้านบาท
- โครงการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย (ปีที่ 1) วงเงิน 69.54 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
จากข้อมูลสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย ปีการผลิต 2567/68 แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังคงมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงอยู่ที่ประมาณ 8.906 ล้านต้น ในขณะที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.971 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 1.979 ล้านต้น และพืชพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว กลับมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากจนทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยในส่วนของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันปรับลดลงเหลือประมาณ 5.59 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าราคาต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2563 ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการรักษาเสถียรภาพราคาและส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2567/68 ในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรี
(1) รับทราบผลการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 (ตามข้อ 1.1) และมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ตามข้อ 1.4 – 1.5 ) และ (2) อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2567/68 มาตรการเพิ่มช่องทางการตลาด และมาตรการส่งเสริมการผลิต (5 โครงการ) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. คณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน) มีมติ ดังนี้
1.1 รับทราบผลการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้
(1) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566/67 มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 30 รายใน 14 จังหวัดโดยมีผลการตรวจสอบสต็อก 5 ครั้ง ระหว่างเดือนธันวาคม 2566 – เมษายน 2567 (สิ้นสุดการเก็บสต็อก 31 พฤษภาคม 2567) มีปริมาณเก็บสต็อกสูงสุด ณ เดือนมกราคม 2567 ปริมาณ 140,333.59 ตัน คิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณเป้าหมาย 200,000 ตัน วงเงินขอรับชดเชยรวม 13.79 ล้านบาท (ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะทำงานตรวจสอบเอกสารหลักฐานการขอรับเงินชดเชยดอกเบี้ยก่อนเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกพิจารณาจ่ายชดเชยต่อไป)
(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 สิ้นสุดระยะเวลาการจ่ายเงินกู้แล้วเมื่อ 31 พฤษภาคม 2567 สถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 5 ราย จำนวน 7 สัญญาวงเงินกู้ 60.94 ล้านบาท (เป้าหมาย 1,000 ล้านบาท) ปริมาณ 7,732 ตัน (คิดเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 2.13 ล้านบาท)
1.2 เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 และมาตรการเพิ่มช่องทางการตลาด โดยมีเป้าหมายปริมาณรวมประมาณ 400,000 ตัน ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1.3 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1.4 เห็นชอบคงมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2568 (พิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 1005.9099 รหัสสถิติ 001) เช่นเดียวกับปี 2567 ยกเว้นกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อผูกพันในกรอบระยะเวลา ปี 2568 ให้กำหนดนโยบายและมาตรการตามข้อผูกพันของกรอบ ปี 2568 ดังนี้
ทั้งนี้ ให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายอาหารเป็นผู้พิจารณากำหนดมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามความจำเป็นเหมาะสม และดำเนินการตามระเบียบต่อไป
1.5 เห็นชอบกำหนดมาตรการนำเข้าข้าข้าวสาลี โดยให้ใช้หลักฐานการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป มาแสดงประกอบการขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลีในปี 2568 และมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการออกระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็น มอบหมายให้ นบขพ. เป็นผู้พิจารณากำหนดมาตรการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน ตามความจำเป็นเหมาะสม และดำเนินการตามระเบียบต่อไป
1.6 เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์ด้านการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน ร่วมเป็นอนุกรรมการ เพื่อให้การบริหารจัดการการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักสมดุลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายในห่วงโซ่การผลิต
2. พณ. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลประกอบการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว
เคาะมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก วงเงิน 9,019.01 ล้านบาท
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 9,019.01 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) และ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงินประมาณรวมทั้งสิ้น 8,362.76 ล้านบาท จำแนกเป็น (1) ค่าฝากเก็บ 4,500 ล้านบาท (2) วงเงินชดเชย 2,088.71 ล้านบาท และ (3) กรณีมีการระบายข้าวโครงการฯ รัฐบาลจ่ายคืนและชดเชย ให้ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,774.05 ล้านบาท
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 656.25 ล้านบาท
2. เห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกปีการผลิต 2567/68 และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 585 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอให้กรมการค้าภายในเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567
สาระสำคัญของเรื่อง
นบข.ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 (นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 ตามที่ กษ. (กรมการข้าว) ร่วมกับ ธ.ก.ส. และ พณ. (กรมการค้าภายใน) เสนอ จำนวน 3 โครงการ เป้าหมาย 8.50 ล้านตัน วงเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 60,085.01 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินสินเชื่อ จำนวน 50,481 ล้านบาท และวงเงินงบประมาณที่ต้องขอรับการชดเชย (เสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี) จำนวน 9,604.01 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
‘ภูมิธรรม’ สั่ง รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมภาคใต้
ด้าน นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และสั่งการให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบทบาทเป็น ศปช.ส่วนหน้าภาคใต้เพื่อเป็นแกนกลางติดตามสถานการณ์และประสานความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
“ขณะนี้ทุกภาคส่วนได้ระดมความช่วยเหลือทุกรูปแบบเข้าพื้นที่ เบื้องต้นกองทัพบกได้สั่งการกองทัพภาคที่ 4 พร้อมจิตอาสาพระราชทานลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้จัดสรรเรือ รถบรรทุกขนย้ายผู้ประสบภัย เครื่องสูบน้ำ พร้อมเครื่องมือ 1,264 หน่วยพร้อมเฮลิคอปเตอร์ KA-32 เข้าช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งยังระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากพื้นที่ที่ไม่มีสถานการณ์ เช่น ปภ.เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ และเขต 8 กำแพงเพชร เข้าสนับสนุนการปฏิบัติงานช่วยชาวใต้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” นางสาวศศิกานต์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สตูล รวม 68 อำเภอ 452 ตำบล 2,831 หมู่บ้าน มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 240,007 ครัวเรือน โดยมีผู้ประสบภัยอพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 91 แห่ง ใน 4 จังหวัด รวม 4,380 คน ซึ่งได้มีการประกาศแจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงสูงทำให้สามารถอพยพและเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางได้อย่างทันท่วงที
MOU ‘ไทย-จีน’ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานในไทย
นางสาวศศิกานต์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ของวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย ซึ่งร่างความตกลงดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดรายละเอียดและความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2568 อาทิ เงื่อนไขการขนส่ง การจัดแสดง การประกันภัย มาตรการการรักษาความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
สำหรับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ของวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย นั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้มีโอกาสสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อความเป็นสิริมงคล และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีและศาสนาพิธีสำคัญอันดีงาม
ตั้ง ‘สุรชาติ เทียนทอง’ ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ ‘จุลพันธ์’
ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ รายละเอียด ดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายสุรศักดิ์ จิตประไพกุลศาล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์) กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการะดับทรงคุณวุฒิ ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ จำนวน 6 ราย และตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์และมีคำสั่งให้รักษาการในตำแหน่ง จำนวน 2 ราย รวม 8 ราย ดังนี้
- นางอารยา บุญยะลีพรรณ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขารังสีวิทยา) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขารังสีวิทยา) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
- นายอรรถพล รัตนสุภา นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
- นายวสันต์ เศรษฐวงศ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
- นางสาวอรศิริ เสรีรัตน์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรศาสตร์ ภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
- นายธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาล [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) สูง] โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน) สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์และมีคำสั่งให้รักษาการในตำแหน่ง
- นายประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) สูง] โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์และมีคำสั่งให้รักษาการในตำแหน่ง
- นางสาวสมจิตต์ วงศ์สุวรรณสิริ นักวิชาการพยาบาลเชี่ยวชาญ (ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์) กลุ่มงานพัฒนาระบบบริการพยาบาล กลุ่มภารกิจวิชาการ กองการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพทรงคุณวุฒิ (ด้านการพยาบาล) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
- นายวัชระ เอี่ยมรัศมีกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) (ด้านเวชกรรมป้องกัน) โรงพยาบาลพนมไพร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาสูติ-นรีเวชกรรม) โรงพยาบาลสระบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
- นายทรงยศินทร์ ชนปทาธิป ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
- นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
- นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงกลาโหม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอแต่งตั้ง นายนิโรธ สุนทรเลขา เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
5. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้
- นายพลนชชา จักรเพ็ชร ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์)
- นายยงยุทธ มั่นบุปผชาติ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล)
- นายสุรชาติ เทียนทอง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์)]
- นายธกร เลาหพงศ์ชนะ ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล)]
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
5. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 3 ราย ดังนี้
- นางสาวณมาณิตา กลับบ้านเกาะ
- นายยู่สิน จินตภากร
- นายนราพัฒน์ แก้วทอง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว
6. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 5 ราย ดังนี้
- นายเอกรัฐ พลซื่อ
- นายพรชัย อินทร์สุข
- นายพีรพร สุวรรณฉวี
- นายเสฏฐนันท์ ราฟาเอล เตชะวิบูลย์
- นายภุชงค์ วรศรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
7. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ประธานกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการเสนอแต่งตั้ง นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารและการจัดการ การวางแผน) ในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) แทน นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
8. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จำนวน 5 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
- นายกุลิศ สมบัติศิริ
- นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ
- นายเข็มชัย ชุติวงศ์
- นายวรวิทย์ จำปีรัตน์
- นายวิเลิศ ภูริวัชร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
9. การแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แทนตำแหน่งที่ว่างลง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 จำนวน 2 คน แทนกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากลาออก ดังนี้
- เรือเอก สาโรจน์ คมคาย
- นายอัครุตม์ สนธยานนท์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
10. คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอแต่งตั้ง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติดณะรัฐมนตรี จำนวน 45 คณะ ดังนี้
- คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย – บรูไน ดารุสซาลาม
- คณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย
- คณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งนิวซีแลนด์
- คณะกรรมาธิการฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม วิชาการ เกษตรกรรม และวิทยาศาสตร์ ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
- คณะกรรมาธิการฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรบาห์เรน
- คณะกรรมการร่วมฝ่ายไทยว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย – ตุรกี
- คณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยเพื่อความมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน
- คณะกรรมาธิการฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและวิชาการระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – ฟิลิปปินส์ (ฝ่ายไทย)
- คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย – มาเลเซีย
- คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย – อินโดนีเซีย
- คณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือไทย-อินเดีย
- คณะกรรมาธิการฝ่ายไทยสำหรับกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย – ศรีลังกา
- คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนาม (ฝ่ายไทย)
- คณะกรรมาธิการฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งรัฐกาตาร์
- คณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ
- คณะกรรมการประสานงานด้านสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศอื่นๆ และองค์การต่างประเทศ
- คณะกรรมการประสานงานช่วยเหลือคนไทยและประเทศที่ประสบภัยพิบัติในภาวะฉุกเฉิน
- คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศในระดับชาติ
- คณะกรรมการกฎหมายทะเลและเขตทางทะเลของประเทศไทย
- คณะกรรมการเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐในประเทศไทย
- คณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – รัสเซีย
- คณะกรรมการฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย – เยอรมัน
- คณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย – จีน (คกร. ไทย – จีน ฝ่ายไทย)
- คณะกรรมการความร่วมมือไทย – สหภาพยุโรป
- คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ
- คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ของไทยต่อประเด็นทะเลจีนใต้
- คณะกรรมการหมู่ประจำชาติไทยในศาลอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก
- คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – กัมพูชา (ฝ่ายไทย)
- คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – ลาว (ฝ่ายไทย)
- คณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมระหว่างไทย – มาเลเซีย (ฝ่ายไทย)
- คณะกรรมการเพื่อวิเคราะห์คำพิพากษาและแนวทางการดำเนินการ
- คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – ลาว (ฝ่ายไทย) (เดิม คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย – ลาว)
- คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – กัมพูชา (ฝ่ายไทย) (เดิม คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – กัมพูชา)
- คณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษา ไทย – อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2566-2567 [เดิม คณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน (ฟุลไบรท์)]
- คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ
- คณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเคนยา
- คณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยเพื่อความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชุดอุซเบกิสถาน
- คณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยสำหรับกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย – บังกลาเทศ
- คณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือไทย – เนปาล
- คณะกรรมาธิการฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจไทย – ปากีสถาน
- คณะกรรมาธิการฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอียิปต์
- คณะกรรมาธิการฝ่ายไทยสำหรับคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับยูเครน
- คณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย – เมียนมา (ฝ่ายไทย)
- คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เมียนมา (ฝ่ายไทย)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เพิ่มเติม