‘เศรษฐา ทวีสิน’ สั่งการ 193 เรื่อง ถึง 251 หน่วยงาน ภายใน 11 เดือน พบระดับการสั่ง 4 รูปแบบคือ สั่งการ-ขอ-มอบหมาย-กำชับ สั่งเรื่องท่องเที่ยวมากสุด ตามด้วยเกษตรและยาเสพติด เน้นสั่งแบบไม่เฉพาะเจาะจง ‘หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ ส่วนอีก 162 เรื่องมีคำสั่งแต่ไม่มีกรอบเวลา
ทุกการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีมักจะมี ‘คำสั่ง’ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘ข้อสั่งการ’ ถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สะท้อนถึงทิศทางการดำเนินงาน ความคืบหน้า และการดำเนินการกับกระแสข่าวประจำสัปดาห์หรือช่วงนั้นๆ
ตามธรรมเนียมการทำงานของรัฐบาลจะมีการประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) ทุกช่วงเช้าวันอังคาร ยกเว้นบางสัปดาห์ที่เลื่อนไปเป็นวันจันทร์หรือวันพุธ และหลังจบการประชุม นายกรัฐมนตรีจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ทั้งการพูดถึงข้อสั่งการ คำสั่ง มติการประชุมที่สำคัญ และตอบคำถามกับสื่อมวลชน จากนั้นในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะรายงานข้อสั่งการของนายกฯ โดยมีทั้งการทบทวนหรือลงรายละเอียดในประเด็นที่นายกฯ พูดไปแล้ว และรายงานข้อสั่งการเพิ่มเติมที่นายกฯ ไม่ได้กล่าวถึง
รูปแบบและวิธีการ ‘สั่งงาน’ ของนายเศรษฐา ยังถูกตั้งคำถามจาก “วรชัย เหมะ” ที่ปรึกษาของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยนายวรชัย กล่าวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ว่า “(นายเศรษฐา ทวีสิน) เป็นนายกฯ ที่ขยันลงพื้นที่เพื่อรับรู้ปัญหาของประเทศชาติและประชาชน รวมถึงเดินสายโรดโชว์ประเทศไปทั่วโลก พยายามดึงนักลงทุนรายใหญ่ๆ และนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา การทำงานเช่นนี้ถือว่าเป็นนายกฯ ที่ขยันที่สุดคนหนึ่ง…แนวทางการทำงานที่ผ่านมาของนายกฯ ด้วยความขยัน ความอดทน แต่ไม่เร็วพอที่จะทำให้ประชาชนพึงพอใจได้”
“วันนี้จึงอยากให้นายกฯ นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ปรับใช้ และทวงถามความคืบหน้าข้อสั่งการต่างๆ ที่เคยให้ไว้ในรอบเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา กับข้าราชการผู้ที่รับผิดชอบแต่ละกระทรวงแต่ละหน่วยงาน ว่าคืบหน้าไปถึงไหน มีอะไรต้องทำเพิ่มเติมบ้าง เพราะข้าราชการคือแขน ขา มือ ที่คอยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล อยากให้นายกฯ แบ่งเวลาการลงพื้นที่มานั่งทำงานที่ทำเนียบ เรียกข้าราชการมารายงานความคืบหน้านโยบาย ไม่ใช่ตะบี้ตะบันลงพื้นที่โดยไม่เหลียวแลหลัง เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจะไม่มีอะไรต่างจากรอบปีที่ผ่านมา ประชาชนต้องการผลสำเร็จของนโยบาย ถึงเวลาแล้วที่นายกฯ ต้องเร่งขันนอตกำชับตรวจการบ้าน ไม่ใช่สั่งแล้วสั่งเลย”
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า รวบรวมข้อมูลคำสั่งและข้อสั่งการของ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพื่อแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ แล้วนายเศรษฐามีการตรวจการบ้านอย่างไร ตลอดจนติดตามความคืบหน้าหลังจากสั่งการไปแล้ว หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายดำเนินการอย่างไร มีการรายงานซ้ำหรือไม่
ทั้งนี้ รวบรวมข้อมูลตั้งแต่การประชุม ครม. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ถึง 9 กรกฎาคม 2567
นายกฯ มีอำนาจสั่งอะไรบ้าง
ตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้มอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสามารถออกคำสั่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
- กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการนี้จะสั่งให้ราชการ ส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีก็ได้ และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
- มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวงหรือทบวงหนึ่ง หรือหลายกระทรวงหรือทบวง
- บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง ซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม
- สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
- แต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง ไปดำรงตำแหน่งของอีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตั้งแต่อธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
- แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง
- แต่งตั้งข้าราชการการเมืองให้ปฏิบัติราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี
- วางระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- ดำเนินการอื่นๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย
นอกจากนี้ มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ยังมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนได้
เทียบกฎหมาย ข้อสั่งการ-มติ ครม.
ในวันที่ 13 กันยายน 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข้อสั่งการของนายเศรษฐา เรื่องการยกเลิกมติ ครม. ในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า
“มติ ครม. ก็ยกเลิกได้อยู่แล้ว ตอนนี้รัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยกเลิกได้อยู่แล้ว ทุกอย่าง คำสั่งอะไรก็ตามของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) และ ครม. ภายในวันที่ 9 ตุลาคม ถ้าไม่มีเสนอมาใหม่ว่าจะขอใช้ต่อ ให้มีผลเป็นอันยกเลิกทันที ไม่ว่าจะศักดิ์เทียบเท่าหรือไม่ มัน effective เป็นกลไกที่ได้มีการออกคำสั่งมาเรียบร้อย ขอย้ำว่า ข้อสั่งการมีผลเท่ามติ ครม.”
จากคำกล่าวข้างต้นเห็นได้ว่า ‘ข้อสั่งการมีผลเท่ามติ ครม.’ แต่ตามกฎหมายแล้ว น้ำหนักของ ‘มติ ครม.’ กับ ‘ข้อสั่งการ’ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรีที่สามารถผ่านกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกำหนด ร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับ ร่างประกาศ ตลอดจนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เรื่องที่ต้อใช้งบประมาณแผ่นดินนอกจากที่ได้รับอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่ข้อสั่งการไม่มีอำนาจเทียบเท่า
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับหลักคือ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 อีกทั้งยังมีกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีอีก
11 เดือน ‘เศรษฐา’ สั่ง 193 เรื่อง
ตั้งแต่การประชุม ครม. วันที่ 9 กันยายน 2567 พบว่า มีคำสั่งทั้งหมด 193 เรื่อง โดยคำที่นายเศรษฐาใช้มีอยู่ 5 คำ คือ (1) สั่งการ (2) ขอ-ขอให้ (3) มอบหมาย (4) กำชับ และ (5) เร่งรัด
ทั้งนี้ นายเศรษฐาใช้คำว่า ‘เร่งรัด’ ปนกับคำว่า ‘สั่งการ’ ตัวอย่างเช่น “ขอสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินงานในประเด็นต่างๆ” ดังนั้น ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคำสั่งที่มีการเร่งรัดจะถูกนับรวมในกลุ่มสั่งการ รายละเอียดดังนี้
ข้อสั่งการ 132 เรื่อง ตัวอย่างเช่น
- สั่งการทีมงานว่าต่อจากนี้เวลาลงพื้นที่ อย่ายกขบวนไปเยอะ ให้ลดให้น้อยที่สุด ถึงทีมงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชุม ครม. วันที่ 13 กันยายน 2566
- สั่งการให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาเสนอให้ ครม. พิจารณา ในการประชุม ครม. วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
- สั่งการให้จัดตั้งสำนักงานท่องเที่ยวประจำจังหวัด ภายในไตรมาส 4/2567 เพื่อประกาศให้จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในการประชุม ครม. วันที่ 19 มีนาคม 2567
- สั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาพร้อมจัดการเรื่องใบอนุญาตโรงงานหรือใบ รง.4 ที่มีความล่าช้าและค้างในระบบเป็นจำนวนมาก ในการประชุม ครม. วันที่ 21 พฤษภาคม 2567
- สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดกลไกการประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบและสามารถดำเนินการปิดเว็บบนสื่อโซเชียลต่างๆ ในการประชุม ครม. วันที่ 28 พฤษภาคม 2567
ขอ 27 เรื่อง ตัวอย่างเช่น
- ขอให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่หมดอายุ รวมถึงการจัดซื้อหรือเช่ารถเมล์อีวี ในการประชุม ครม. วันที่ 16 ตุลาคม 2566
- ขอให้รัฐมนตรีช่วยไปเที่ยวงานกาชาด ประจำปี 2566 จัดระหว่างวันที่ 8-18 ธันวาคม 2566 ที่สวนลุมพินี สนับสนุนสินค้าโอทอป ในการประชุม ครม. วันที่ 12 ธันวาคม 2566
- ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกท่านให้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสภาพของปัญหาว่า มีปัญหาอะไรที่จะสามารถแก้ไขช่วยเหลือประชาชนได้ในระดับพื้นที่ ในการประชุม ครม. วันที่ 30 มกราคม 2567
- ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยดูแลอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในการประชุม ครม. วันที่ 9 เมษายน 2567
- ขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันเร่งเบิกงบลงทุน ตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในการประชุม ครม. วันที่ 11 มิถุนายน 2567
มอบหมาย 17 เรื่อง ตัวอย่างเช่น
- มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งทีมงานกวาดล้างผู้มีอิทธิพล รวมถึงเรื่องการซื้อตำแหน่ง และยาเสพติด ในการประชุม ครม. วันที่ 13 กันยายน 2566
- มอบหมายนโยบายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ศึกษาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบเมื่อเก็บ VAT สินค้าออนไลน์ ในการประชุม ครม. วันที่ 2 เมษายน 2567
- มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และตรวจสอบการขนย้ายกากสังกะสีปนแคดเมียม ในการประชุม ครม. วันที่ 9 เมษายน 2567
- มอบหมายให้กระทรวงการคลังศึกษาแนวทางเตรียมแผนที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น financial hub ในการประชุม ครม. วันที่ 7 พฤษภาคม 2567
- มอบหมายให้ สสปน. (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ) และ กกท. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) เจรจารายละเอียดการจัดงาน ภายใต้กรอบวงเงินประมาณ 15-20 ล้านยูโร ในการประชุม ครม. วันที่ 25 มิถุนายน 2567
กำชับ 17 เรื่อง ตัวอย่างเช่น
- กำชับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า ขอให้เร็วๆ นี้ โดยโอกาสที่เร็วที่สุด ให้เชิญทูตพาณิชย์จากทั่วโลกที่ประจำประเทศต่างๆ ให้กลับมาเวิร์กชอปกันด่วน ในการประชุม ครม. วันที่ 24 ตุลาคม 2566
- กำชับทุกหน่วยงานเรื่องการดูงานต่างประเทศ ขอให้ได้ผลลัพธ์คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย ที่ใช้ไปกับการเดินทางต่างประเทศ ในการประชุม ครม. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566
- กำชับในที่ประชุม ครม. ว่าให้ลดจำนวนผู้ติดตามลง อย่าทำให้เกิดปัญหากับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการจราจร ในการประชุม ครม. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567
- กำชับกระทรวงคมนาคมให้ดูแลประชาชน เรื่องการเดินทางช่วงสงกรานต์ ในการประชุม ครม. วันที่ 26 มีนาคม 2567
- กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ออกมาตรการสกัดการเผาสินค้าเกษตร ในการประชุม ครม. วันที่ 18 เมษายน 2567
‘ท่องเที่ยว’ คำสั่งสูงสุด
ประเด็นที่นายเศรษฐามีคำสั่งบ่อยที่สุดคือเรื่อง ‘การท่องเที่ยว’ สั่งทั้งหมด 18 ครั้ง ยิ่งกว่านั้นยังสั่งแทบทุกเดือน (ยกเว้นเดือนตุลาคม 2566) โดยครั้งแรกเป็นการกำชับให้ดูแลภาพรวมการท่องเที่ยวช่วง 3 เดือนหลังของปี 2566 จากนั้นขอให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ หาอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีน (influencer) มาทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวจีนที่อาจหลงเชื่อข่าวเฟกนิวส์ต่างๆ ในเดือนพฤศจิกายน 2566 พอมาปี 2567 นายกฯ เริ่มหันไปสั่งเรื่องเมืองรองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำแผนท่องเที่ยวเมืองรอง การเพิ่ม KPI ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น
- สั่งการเร่งให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจัดตั้งสำนักงานท่องเที่ยวประจำจังหวัด ภายในไตรมาส 4/2567 เพื่อประกาศให้จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในการประชุม ครม. วันที่ 19 มีนาคม 2567
- สั่งการให้กรมป่าไม้ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาความเหมาะสมในการพัฒนาอุทยานหินเขางู เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในการประชุม ครม. วันที่ 14 พฤษภาคม 2567
- ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งทำแผนบูรณาการการท่องเที่ยวของเมืองรองและเมืองน่าเที่ยว ในการประชุม ครม. วันที่ 11 มิถุนายน 2567
- สั่งการให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ในการประชุม ครม. วันที่ 25 มิถุนายน 2567
‘เกษตร’ สั่ง 11 ครั้ง เน้นเพิ่มผลผลิต
รองจากเรื่องท่องเที่ยวคือ ‘เกษตร’ สั่งทั้งหมด 11 เรื่อง โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ตัวอย่างคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเกษตร เช่น
- กำชับร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าขอให้เร่งพัฒนามาหลายสายพันธุ์แล้ว ก็ต้องเอามาใช้ได้จริง ในการประชุม ครม. วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
- ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่างๆ บูรณาการผลิตลำไยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในการประชุม ครม. วันที่ 19 มีนาคม 2567
- สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดในการออกใบรับรองคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์ปาล์มของไทย ในการประชุม ครม. วันที่ 9 เมษายน 2567
- กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการสกัดการเผาสินค้าเกษตร ในการประชุม ครม. วันที่ 18 เมษายน 2567
ยก ‘ยาเสพติด’ นโยบายเร่งด่วน สั่ง 10 ครั้ง
อันดับ 3 คือ ‘ยาเสพติด’ สั่งทั้งหมด 10 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลชูเป็นหนึ่งในนโยบายหลักว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ดังนั้น คำสั่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การกำจัดยาเสพติดเป็นหลัก ตัวอย่างคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติด เช่น
- สั่งการเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนและนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะยาบ้า ได้กำหนดจำนวนและปริมาณที่ถือเป็นผู้เสพคือจำนวนไม่เกิน 10 เม็ด ถ้าเกินกว่านั้นเป็นผู้ค้า มอบหมายให้ ป.ป.ส. เป็นเจ้าภาพในการวางแผนและประสาน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในการประชุม ครม. วันที่ 16 ตุลาคม 2566
- สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดการยาเสพติดอย่างเด็ดขาด ในการประชุม ครม. วันที่ 7 พฤษภาคม 2567
- สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหายาเสพติด ในการประชุม ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2567
PM2.5 สั่งรวดเดียว 9 ครั้ง
ส่วนอันดับ 4 คือ ‘PM 2.5’ สั่งทั้งหมด 9 ครั้ง โดยเป็นการสั่งการนโยบายใหญ่ตั้งแต่เรื่องการเผา การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และพิจารณาตั้งงบใหม่ โดยคำสั่งทั้งหมดเกิดขึ้นในวันเดียวคือ ในการประชุม ครม. วันที่ 9 เมษายน 2567
อันดับ 5 คือ ‘การศึกษา’ สั่งทั้งหมด 6 ครั้ง มีทั้งเรื่องการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ ส่งเสริมศักยภาพเยาวชน ประชาสัมพันธ์ หลักสูตรการเรียนรู้ของสถาบันการเรียนรู้การพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน มูลนิธิโครงการหลวง ฯลฯ
ประเด็นที่มีคำสั่งรองลงมา คือ 5 ครั้ง มี 3 เรื่องคือ พนันออนไลน์ การเฉลิมพระเกียรติ และการรับมือภัยพิบัติ
ประเด็นที่มีคำสั่ง 4 ครั้ง มี 5 เรื่องคือ คมนาคมและขนส่ง Formula E งบประมาณและการเบิกจ่าย ดิจิทัลวอลเลต และสถานการณ์ที่อิสราเอล
ประเด็นที่มีคำสั่ง 3 ครั้ง มี 9 เรื่อง คือ ลดขบวนผู้ติดตาม พลังงาน น้ำท่วม-แล้ง ที่ดิน ด่านศุลกากรหนองคาย อภิปรายในสภา ที่อยู่อาศัย การแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ และสนามบิน
10 หน่วยงานรับการบ้านมากสุด สั่ง ‘หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ อันดับ 1
จากคำสั่งทั้งหมด 193 เรื่อง นายเศรษฐาสั่งการบ้านไปถึง 251 หน่วยงาน และเมื่อแบ่งตามจำนวนหน่วยงานที่ได้รับคำสั่งมากที่สุด 10 ลำดับแรก พบข้อมูล ดังนี้
- 41 คำสั่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบุกว้างๆ และไม่เฉพาะเจาะจง
- 15 คำสั่งถึงกระทรวงมหาดไทย
- 12 คำสั่ง มี 2 หน่วยงาน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง
- 10 คำสั่งถึงกระทรวงคมนาคม
- 9 คำสั่ง มี 2 หน่วยงาน คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- 8 คำสั่งถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- 6 คำสั่งถึงกระทรวงอุตสาหกรรม
- 5 คำสั่ง มี 2 หน่วยงาน คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการต่างประเทศ
- 4 คำสั่ง มี 4 หน่วยงาน, 1 คณะทำงาน และ 1 คน คือ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กรมชลประทาน, ถึงที่ประชุม ครม. และนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล
- 3 คำสั่ง มี 6 หน่วยงาน และ 1 คน คือ กระทรวงพลังงาน, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงแรงงาน, ผู้ว่าราชการจังหวัด, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
เรื่องเดียวจัด 4 หน่วยงาน เน้นประสานความร่วมมือ
บางครั้งสั่ง 1 เรื่องต่อ 1 หน่วยงาน และบางครั้งสั่ง 1 เรื่องถึงสูงสุดที่ 4 หน่วยงาน ตัวอย่างประเด็นที่นายเศรษฐาสั่ง 4 หน่วยงานพร้อมกันมักจะเป็นเรื่องที่ให้ประสานความร่วมมือ และทำงานร่วมกัน เช่น
- สั่งการให้คณะกรรมการด้านการขอปฏิรูปกฎหมายฯ เร่งแก้ไขและปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ สั่งถึง 4 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการด้านการขอปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ (2) กรมศุลกากร (3) กรมสรรพสามิต และ (4) สำนักงานอาหารและยา ในการประชุม ครม. วันที่ 23 มกราคม 2567
- สั่งการบูรณาการการปรับผังเมืองและโซนนิ่งอย่างเร่งด่วน สั่งถึง 4 หน่วยงาน คือ (1) กระทรวงมหาดไทย (2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (3) กระทรวงอุตสาหกรรม และ (4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการประชุม ครม. วันที่ 11 มิถุนายน 2567
- สั่งการพิจารณาพื้นที่โคงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ให้ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สั่งถึง 4 หน่วยงาน คือ (1) กระทรวงการคลัง (2) กระทรวงมหาดไทย (3) กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และ (4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการประชุม ครม. วันที่ 25 มิถุนายน 2567
สั่งไม่มีกำหนด 162 เรื่อง
จากทั้งหมด 193 เรื่อง พบว่า นายเศรษฐาสั่งงานโดยไม่มีกำหนดเวลาถึง 162 เรื่อง ในจำนวนนี้มีไม่ถึง 10 เรื่องที่หน่วยงานที่ได้รับการบ้านนำกลับมารายงานซ้ำหรือรับลูกนโยบาย เช่น
- สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ทบทวนมาตรการการควบคุมอาวุธปืนและกระสุน ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 จากนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เสนอแนวทางกลับมา
- สั่งการเรื่องการปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ได้กำหนดจำนวนและปริมาณที่ถือเป็นผู้เสพคือจำนวนไม่เกิน 10 เม็ด ถ้าเกินกว่านั้นเป็นผู้ค้า ในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 จากนั้น ป.ป.ส. รายงานแนวทางกลับมา
ส่วนอีก 21 เรื่องที่มีกำหนดเวลาชัดเจน ก็มีทั้งเรื่องที่นำกลับมารายงานซ้ำ และเรื่องที่ไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่า หน่วยงานนั้นๆ ดำเนินการกับนโยบายที่ได้รับมอบหมายอย่างไร
อ่านเพิ่มเติม เทียบภารกิจเยือนต่างประเทศ “ยิ่งลักษณ์-เศรษฐา” นายกฯ เซลส์แมน 6 เดือน 14 ประเทศ