ThaiPublica > คอลัมน์ > DNA เผยความตายเบโธเฟน

DNA เผยความตายเบโธเฟน

2 พฤศจิกายน 2024


1721955

อย่างที่เราเคยทิ้งท้ายเอาไว้เมื่อบทความที่แล้ว เกี่ยวกับอีกคดีที่เกี่ยวข้องกับคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ เบโธเฟน อีกหนึ่งคดีที่เราเล่าค้างเอาไว้ว่าเกิดขึ้นหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว นั่นคือสาเหตุการตายของเบโธเฟน ซึ่งด้วยความที่เขาเป็นคนดัง และมีนักประวัติศาสตร์มากมายพยายามจะขุดข้อเท็จจริงจนแตกเป็นทฤษฎีต่างๆ มากมาย มีกระทั่งข้อสงสัยว่าเขาจะถูกลอบฆ่า วางยาหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันก็มีการยืนยันแล้วว่าแนวคิดเหล่านั้นไม่เป็นจริง

การชันสูตรพลิกศพเบโธเฟน เป็นหนึ่งในคำสั่งเสียที่เขาต้องการทำเป็นลำดับแรกหลังจากเขาเสียชีวิต และเป็นคำสั่งที่เขาเขียนขึ้นขณะมีอายุเพียง 32 ปี คือย้อนกลับไปในปี 1802 เบโธเฟนเคยเขียนจดหมายถึงพี่ชายเพื่อขอว่า หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว ช่วยชันสูตรศพให้ด้วยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้อาการหูหนวกของเขาย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเบโธเฟนจะอยากรู้ไปทำไม เพราะไม่ว่าจะค้นพบสาเหตุที่แท้จริงได้หรือไม่ เขาก็ไม่สามารถจะรับรู้ได้อยู่ดี

แล้วการชันสูตรพลิกศพเบโธเฟนก็เกิดขึ้นจริงในปี 1827 เมื่ออัจฉริยะทางดนตรีชาวเยอรมันผู้นี้เสียชีวิตด้วยวัย 56 ปี ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเวลานั้นเขาหูหนวกสนิท และการแพทย์สมัยนั้นให้คำตอบได้แค่ว่า เขาน่าจะเป็นโรคตับแข็งบวกกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกหลายโรค

อาการก่อนเสียชีวิตของเขาเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1826 เมื่อเบโธเฟนอาเจียนและท้องเสียเป็นระยะ ๆ จนมีหลายครั้งเกือบจะทำให้เขาเสียชีวิต ก่อนที่เขาจะได้รับการผ่าตัดสี่ครั้งเพื่อบรรเทาอาการท้องมาน ซึ่งการผ่าตัดครั้งแรกมีผลให้ติดเชื้อ จนหมอต้องระวังเป็นพิเศษไม่ให้เขาติดเชื้อซ้ำอีกในการผ่าตัดครั้งหลังๆ

กระทั่งผ่านไปวันที่ 24 มีนาคม เบโธเฟนได้เข้าพิธีสวดวิงวอนพระเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในช่วงค่ำของวันที่ 26 มีนาคม 1827

การชันสูตรพลิกศพเบโธเฟนครั้งแรกเกิดขึ้นในวันถัดไปคือเมื่อ 27 มีนาคม โดยนายแพทย์โยฮันน์ วากเนอร์ ซึ่งเผยให้เห็นภาวะตับแข็งขั้นรุนแรง และการหดตัวของตับ นักวิชาการมีความเห็นไม่ตรงกัน บ้างว่าตับของเขาเสียหายเนื่องจากดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นเวลานาน หรือไม่ก็อีกกรณีคือการปนเปื้อนโลหะหนัก เนื่องจากในยุคนั้นมักจะใช้โลหะหนักเป็นยารักษาโรค และมีแตกไปอีกทฤษฎีว่าไวน์ผิดกฎหมายในยุคนั้นมักเสริมสารตะกั่ว อันเป็นวิถีปฏิบัติทั่วไปสมัยนั้น (ที่สืบทอดมาจากสมัยโรมัน) เพื่อจะทำให้ไวน์ราคาถูกมีรสหวานขึ้น และแม้ว่าในช่วงศตวรรษที่ 18 ไวน์เสริมตะกั่วจะถูกห้ามจำหน่ายในยุโรปส่วนใหญ่ แต่การห้ามจำหน่ายก็ทำได้ยากยิ่ง อีกทั้งเคยมีข่าวลือว่าเขาน่าจะตายด้วยโรคซิฟิลิส แต่ผลการชันสูตรในยุคสมัยใหม่ยืนยันว่าไม่มีข้อบ่งชี้ใดที่เกี่ยวข้องกับซิฟิลิสเลย

Screenshot

การชันสูตรระบุว่าเส้นประสาทหูของเขาเสียหายอย่างหนัก หลอดเลือดแดงแข็งตัว มีการอธิบายเกี่ยวกับสมองของเขาว่า “มีรอยหยักที่มากเกินไป” พบของเหลวมากเกินไปในกะโหลกศีรษะ นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเขามีภาวะสมองฝ่อ แต่ไม่แสดงอาการบกพร่องทางสติปัญญา และกะโหลกของเขามีความหนาผิดปกติ

ทั้งยังพบว่าไตของเขามีหินปูนเกาะ รวมถึงความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเบาหวานเนื่องจากม้ามของเขาบวมเป็นสองเท่าของขนาดปกติ รวมถึงมีความดันเลือดสูงและสอดคล้องกับภาวะตับวาย

ช่วงหลายวันก่อนที่เบโธเฟนจะเสียชีวิต มีผู้คนจำนวนมากตัดผมของเขาออกเพื่อเก็บรักษาไว้ และเส้นผมของเขายังคงไม่เน่าเปื่อยและถูกเก็บรักษาในคอลเลกชันส่วนตัวของใครอีกหลายคนมาจนทุกวันนี้

มีข้อโต้แย้งมากมายเกิดขึ้นในยุคเรา บ้างก็ว่าเบโธเฟนตับแข็งจากแอลกอฮอล์ หรือไม่ก็เพราะติดเชื้อซิฟิลิส ไม่ก็ตับอักเสบจากการติดเชื้อพิษตะกั่ว ฯลฯ

สมมติฐานเหล่านี้นำไปสู่การพิสูจน์หลายต่อหลายครั้ง เช่น ในปี 2008 นักพยาธิวิทยาชาวออสเตรีย คริสเตียน ไรเดอร์ อ้างว่าแอนเดรียส วาวรุช แพทย์ของเบโธเฟนฆ่าเขาโดยไม่ตั้งใจ ด้วยการให้ยาที่มีตะกั่วผสมอยู่เกินขนาด ไรเดอร์สันนิษฐานว่าวาวรุชน่าจะใช้ยานี้เพื่อบรรเทาอาการของเหลวในช่องท้อง แต่ทำให้ตะกั่วแทรกซึมเข้าไปในตับ อันเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เบโธเฟนเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราจะนำเสนอในบทความนี้อิงมาจากงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Current Biology เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2023 ที่รายงานนี้ใช้วิธีจัดลำดับดีเอ็นเอเพื่อเปิดเผยให้เห็นว่า ประพันธกรเพลงผู้ยิ่งใหญ่มิได้เสียชีวิตจากพิษตะกั่วอย่างที่เคยเชื่อกันมา

“เป้าหมายของเราคือทำให้เกิดความกระจ่างเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของเบโธเฟน ซึ่งเริ่มมีปัญหาในการสูญเสียการได้ยินตั้งแต่ช่วงกลางๆ ถึงปลายอายุ 20 ปี และส่งผลให้เขาหูหนวกในปี 1818” โยฮันเนส เคราเซอ แห่งสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อมานุษยวิทยาเชิงวิวัฒนาการในเมืองไลฟ์ซิก เยอรมนี กล่าวโดยอิงจากรายงานที่เผยแพร่ใน Current Biology

(ซ้าย) หลุมศพ (ขวาบน) รูปหล่อจากแม่พิมพ์ใบหน้าขณะเขายังมีชีวิตอยู่ (ขวาล่าง) หล่อจากใบหน้าตอนเขาเสียชีวิต

แม้จะมีความบกพร่องทางการได้ยิน แต่เบโธเฟนได้ประพันธ์ผลงานเพลงมากถึง 722 ชิ้น ในบรรดานั้นรวมถึงซิมโฟนี 9 ชิ้น โซนาตาเปียโน 35 ชิ้น และควอเท็ตเครื่องสาย 16 ชิ้นตลอดช่วงชีวิตเขา

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เคยพบมาแล้วก่อนนั้นเมื่อปี 2010 คือได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่ได้มีตะกั่วมากไปกว่าคนทั่วไป ทว่ารายงานในปี 2023 ให้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นมาอีกเล็กน้อย ทีมวิจัยนี้นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ค้นหาเส้นผม 8 ช่อที่เชื่อกันว่าเป็นของเบโธเฟน ก่อนจะพบว่ามีเพียง 5 ช่อที่เป็นของแท้ แล้วนำไปเรียงลำดับจีโนมของเบโธเฟน และใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ

“แม้เราจะหาสาเหตุที่แน่ชัดของการหูหนวกไม่พบ แต่เราพบหลักฐานการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอย่างน้อยในช่วงหลายเดือนก่อนที่เขาจะป่วยครั้งสุดท้าย ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเสียชีวิต” เคราเซอกล่าว

แต่นอกเหนือไปจากการค้นพบสาเหตุการตายของเขาแล้ว งานวิจัยนี้ยังให้ข้อมูลน่าประหลาดใจอีกอย่างคือ ปรากฏว่าโครโมโซม Y ของเบโธเฟนไม่ตรงกับญาติที่มีบรรพบุรุษร่วมกันในสายฝั่งพ่อตามบันทึกลำดับวงศ์ของตระกูลเบโธเฟน ซึ่งบ่งชี้ว่าในรุ่นพ่อของเขามีบางคนมีความสัมพันธ์นอกสมรส

“เราค้นพบว่าดีเอ็นเอของเบโธเฟน เมื่อย้อนกลับไปอีกเจ็ดรุ่นก่อนหน้าเขา คือ เฮนดริก ฟาน เบโธเฟนที่เกิดในประเทศเบลเยี่ยมราวปี 1572 มีความสัมพันธ์นอกสมรส และส่งผลให้ดีเอ็นเอของสายตระกูลเปลี่ยนไปจากตรงนั้น”

อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยที่มีต่อเบโธเฟนเสมอมาคือ เหตุใดเขาจึงสามารถประพันธ์เพลงได้ทั้งที่มีอาการหูหนวก ในส่วนนี้ศาสตราจารย์ลอรา ทันบริดจ์ แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของเบโธเฟนที่ชื่อ Beethoven: A Life in Nine Pieces เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีเอาไว้ว่า

“เบโธเฟนใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยขยายเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ แต่เครื่องดนตรีที่ทรงพลังที่สุดของเขาก็คือสมอง” ตรงนี้น่าจะสอดคล้องกับผลชันสูตรที่พบว่ารอยหยักในสมองของเขามีมากเกินไป ศาสตราจารย์ทันบริดจ์กล่าวเสริมว่า “นักดนตรีต้องพึ่งพาการใช้จินตนาการอย่างสูง และพวกเขาสามารถได้ยินเสียงดนตรีในหัวได้จากตัวโน้ตต่างๆ อันเป็นวิธีที่เบโธเฟนใช้ในการสร้างสรรค์ดนตรีของเขาเสมอมาตั้งแต่ยังเด็ก การเขียนเพลงที่ตัวเขาเองไม่ได้ยิน ผลักดันให้เบโธเฟนจำเป็นต้องใส่พลังและภาษากายเข้าไปในชิ้นงานของเขาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วอันที่จริงผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีในยุคปัจจุบันมองว่า ความพิการทางโสตประสาทของเขาเป็นตัวกระตุ้นพรสวรรค์ทางด้านดนตรีของเขาให้เพิ่มมากขึ้นด้วย