1721955
ต่อเนื่องจากบทความคราวที่แล้ว ที่เราเขียนเรื่อง “รักเร้นของเบโธเฟน” อันสืบเนื่องมาจากบทความของลุงหมีปุ๊ ก็ไม่คาดว่าลุงหมีปุ๊จะกรุณาฝากข้อความมาหาเป็นการส่วนตัว เราขอเล่าก่อนว่าไอเดียต่าง ๆ ในการทำคอลัมน์ของเราจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากว่าในยุคของเราไม่มีงานเขียนดี ๆ ที่ได้ถางทางเอาไว้เป็นแบบอย่างมากมาย และจำนวนหนึ่งในนั้นที่เราเคยอ่านและชื่นชมโปรดปรานมากเป็นพิเศษ อาทิ ค้นคว้ามาคุย, สัตว์น่ารักจากหนังสือยอดนิยม, เรื่องเล่าจากคนรักหมี, วรรณกรรมจากแสตมป์ และเล่มที่จุดประกายเราอย่างมากในเวลานั้น คือ ความรักที่มาทางไปรษณีย์ ฯลฯ อันล้วนเป็นผลงานเขียนของลุงหมีปุ๊ หรือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เจ้าของนามปากกา วินนี่ เดอะ ปุ๊
คอลัมน์เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊
ส่วนหนึ่งของอีเมล์ดังกล่าว ลุงหมีปุ๊ ได้เอ่ยถึงหนัง Immortal Beloved (1994) ที่เราจงใจยังไม่เอ่ยถึงในบทความคราวก่อน เพราะคิดว่าอยากจะยกมาเล่าในบทความคราวนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญของเบโธเฟน เหตุการณ์สำคัญนี้เป็นคดีดัง 2 คดี คดีแรกเกิดขึ้นขณะที่เบโธเฟนยังมีชีวิตอยู่ ส่วนอีกคดีเกิดขึ้นหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว
เราขอเริ่มจากภาพยนตร์ Immortal Beloved (1994) ตามที่ลุงหมีปุ๊ได้แนะนำมาก่อนเลย ภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษผลงานกำกับของ เบอร์นาร์ด โรส (Anna Karenina-1997, Frankenstein-2015 และเร็ว ๆ นี้เขากำลังจะมีหนังเรื่องใหม่ Lear Rex ที่ดัดแปลงมาจากโศกนาฎกรรมสุดคลาสสิก King Lear ของ วิลเลียม เชกสเปียร์) โดยในบทของเบโธเฟนได้สุดยอดนักแสดงรางวัลออสการ์ แกรี่ โอลด์แมน ส่วนตัวดำเนินเรื่องสำคัญ คือ แอนตัน ชินด์เลอร์ ที่หนังเรื่องนี้กล่าวว่าเป็นเพื่อนสนิท เลขานุการ และผู้จัดการมรดก
หนังเปิดเรื่องในพิธีแห่ศพของเบโธเฟน ก่อนจะพาไปพบว่าชินด์เลอร์ได้พบ Immortal Beloved จดหมายที่ไม่เคยไปถึงมือผู้รับ โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าจดหมายเหล่านี้เบโธเฟนตั้งใจจะส่งถึงใคร เนื่องจากเขาระบุตัวผู้รับในชื่อว่า “ผู้เป็นรักอมตะ” ทำให้ชินด์เลอร์ต้องออกเสาะหาตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งในหนังเรื่องนี้เจาะจงถึงหญิงสามนาง ได้แก่ จูลี หรือ จูลีเอตตา กูอิชชาร์ดี ที่เราเอ่ยถึงไปแล้วในบทความคราวก่อน ส่วนอีกสองหญิงที่เรายังไม่เคยเอ่ยถึงเลย คือ แอนนา-มารี แอร์โดดี กับโยฮันนา ไรส์
ชินด์เลอร์ไปหาเคาน์เตสจูลี่ที่เวียนนา เธอเล่าว่ารู้จักเบโธเฟนมาตั้งแต่ตอนเธอยังอายุเพียง 17 ปี เขาเป็นครูสอนเปียโนให้เธอ และพวกเขามีความรักเร่าร้อนต่อกัน ทว่าบิดาของจูลี่คัดค้านการแต่งงานของทั้งคู่ ในหนังเล่าว่าเธอรู้ความลับในครั้งแรกที่เขาเล่นเพลง Moonlight Sonata ซึ่งพอเธอเอื้อมมือไปสะกิดเขาก็ตกใจเป็นอย่างมาก อันทำให้เธอรู้ในครานั้นเองว่าเบโธเฟนหูหนวก
เบโธเฟนรู้สึกเสียหน้าอย่างมากเป็นเหตุให้เขาตัดสัมพันธ์กับเธอ ในหนังถูกเล่าแบบนี้ เมื่อชินด์เลอร์พบว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จบลงเช่นนั้นเขาจึงเดินทางไปยังฮังการีเพื่อพบท่านหญิง แอนนา-มารี แอร์โดดี
แอร์โดดีเป็นสตรีสูงศักดิ์ชาวฮังกาเรียน เธอพบเขาขณะแสดงคอนเสิร์ตที่ด้วยความหูหนวกทำให้เขาไม่อาจควบคุมวงออเครสตร้าได้ และเธอเป็นผู้เดียวที่ออกโรงปกป้องเขา ในเรื่องเล่าว่าเธอสูญเสียลูกชายตัวน้อยไปในสงครามระหว่างนโปเลียนกับออสเตรีย ทำให้เบโธเฟนคอยปลอบโยนเธอแล้วก่อกลายเป็นสัมพันธ์รัก ทว่าเธอปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าเธอไม่มีทางเป็น “ผู้เป็นรักอมตะ”
ในระหว่างไทม์ไลน์ย้อนอดีต จริง ๆ แล้วเส้นเรื่องได้โยงไปหาหญิงอีกคน คือ โยฮันนา ไรส์ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องสะใภ้ของเบโธเฟน โดยหนังได้เล่าว่าเบโธเฟนและน้องชายแอบลอบส่องหญิงสวยสะคราญนางนี้ด้วยกัน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้เธอหันไปแต่งงานกับน้องชายของเบโธเฟนจนมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนชื่อ คาร์ล แล้วพอหลังจากน้องชายของเบโธเฟนตาย เบโธเฟนก็เปิดศึกแย่งคาร์ลกับโยฮันนา
ในหนัง Immortal Beloved (1994) ได้อธิบายว่าชินด์เลอร์ค้นพบว่า จริง ๆ แล้วโยฮันนาท้องก่อนแต่ง และคาร์ลผู้เป็นลูกในท้องของโยฮันนาในเวลานั้น อาจไม่ใช่แค่หลานของเบโธเฟน แต่หนังส่อนัยยะว่ามีความเป็นไปได้ที่คาร์ลจะเป็นลูกชายของเบโธเฟนเอง เพราะเรื่องเล่าระหว่างบรรทัดที่หายไปคือโยฮันนากับเบโธเฟนเคยลักลอบคบหากันมาก่อน แต่ด้วยความเข้าใจผิดบางประการ และเวลานั้นโยฮันนาต้องการใครสักคนมารับผิดชอบหน้าที่พ่อของลูกในท้องเธอ เธอจึงจำเป็นต้องแต่งงานกับน้องชายของเบโธเฟนแทน
ความรักจึงกลายเป็นความเกลียดชัง ยิ่งรักมากก็ยิ่งเกลียดมาก แล้วยิ่งเมื่อพบว่าคาร์ลมีพรสวรรค์ทางเปียโนเช่นเดียวกับเขา เบโธเฟนจึงพยายามอย่างหนักที่จะมาเป็นผู้ปกครองเพียงคนเดียวของคาร์ล ทว่าหลังจากเบโธเฟนได้รับสิทธิ์นั้น ทำให้คาร์ลต้องเติบโตมาเป็นวัยรุ่นด้วยการฝึกเปียโนอย่างหนักทั้งวันทั้งคืน ความกดดันนั้นบีบให้คาร์ลพยายามจะยิงตัวตาย แต่ก็รอดชีวิตมาได้และไม่ต้องการจะพบเจอเบโธเฟนอีก
ในหนังเล่าว่าหลังจากโยฮันนาได้ชมการแสดง Symphony No. 9 (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อเพลง Ode to Joy) เธออยากจะอภัยให้เบโธเฟนจึงไปหาเขาในช่วงเวลาที่เบโธเฟนจวนเจียนจะเสียชีวิต ซึ่งเขาได้ยื่นจดหมายลงนามมอบสิทธิ์ดูแลคาร์ลคืนให้แก่โยฮันนา
หนังจบลงด้วยการที่ชินด์เลอร์ปาดน้ำตาซึ้งใจต่อรักอมตะของทั้งคู่พร้อมกับมอบจดหมายรักเหล่านั้นส่งให้ถึงมือโยฮันนา อันทำให้เธอเพิ่งมารู้ว่าเหตุการณ์ในอดีตถ้าเธอเพียงแต่จะเชื่อใจเขา ชีวิตรักของทั้งคู่คงไม่พลิกผันแยกทางกันเดินไกลขนาดนี้ จากคนรักกลายเป็นศัตรูสุดอาฆาต หนังจบลงด้วยฉากที่โยฮันนาไปเยี่ยมหลุมศพของเบโธเฟน
‘ขณะที่ผมยังอยู่บนเตียงนอน ความคิดของผมก็แล่นไปหาคุณผู้เป็นที่รักอมตะของผม บางครั้งมีความสุข แล้วก็เศร้าอีกครั้ง รอคอยโชคชะตา หากว่าโชคชะตาจะประทานการรับฟังที่ดีแก่เรา ผมจักอยู่กับคุณเพียงคนเดียวหรือไม่อยู่เลยก็เป็นได้’
…ส่วนหนึ่งจากจดหมาย Immortal Beloved ฉบับเช้าวันที่ 6 กรกฎาคม 1812 ณ เมืองเทปลิตซ์
เรื่องจริงยิ่งกว่าในหนัง
จากเนื้อหาในหนังฟังดูเป็นหนังคนละม้วนกับเรื่องราวที่เราเคยเล่าเอาไว้ในบทความคราวก่อนใช่ไหม เนื่องจากตัวผู้กำกับและเขียนบท เบอร์นาร์ด โรส ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ทว่าในปีที่สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เขาประกาศก้องว่าสามารถระบุตัวตน Immortal Beloved ได้อันเป็นปริศนาที่ยังไม่เคยมีผู้ใดไขได้มานานกว่า 167 ปี(ในเวลานั้น) ซึ่งท้ายที่สุดในยุคเราพบแล้วว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีนักวิชาการคนใดรับรองแนวคิดนี้เลย หนึ่งในนั้นคือ เกล เอส. อัลท์แมน นักการศึกษา นักเขียนชีวประวัติ และนักวิชาการด้านเบโธเฟน เขาเขียนโต้แนวคิดนี้ในหนังสือ Beethoven: A Man of His Word – Undisclosed Evidence for his Immortal Beloved (1996) ว่า ‘ทั้งตัวตนของหญิงทั้งสามที่ถูกบรรยายในหนังเรื่องนี้ และความสัมพันธ์โดยทั่วไประหว่างพวกเธอกับเบโธเฟน เรียกได้ว่าแตกต่างจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่อย่างลิบลับ’
จากบทความคราวก่อนผู้อ่านน่าจะรู้แล้วว่าปัจจุบันนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าใครเป็นผู้รับ Immortal Beloved อีกทั้งนับตั้งแต่ปี 2002 หลังจากหอจดหมายเหตุยุโรปได้เผยแพร่หลักฐานใหม่ ๆ หลายประการ ผ่านการเรียบเรียงโดย ริต้า สเตบลิน ในปี 2002, 2007 และ 2009 ทำให้ปัจจุบันเรื่องราวที่ถูกเล่าในภาพยนตร์ดังกล่าว ไม่ได้ใกล้เคียงความจริงแม้แต่น้อย
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
1.ตัวร้ายหลักที่ทำลายประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเบโธเฟนเอง คือคนแรกที่ได้แสงไปอย่างมากในการเขียนชีวประวัติเบโธเฟนเล่มแรก นั่นก็คือ แอนตัน ชินด์เลอร์ วายร้ายตัวแสบที่กลายมาเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักในหนังไปเสียฉิบ
2.หลักฐานใหม่ ๆ ถูกทยอยค้นพบหลังจากหนังออกฉายไปแล้ว 7 ปี
3.ในหนังมีบางฉากที่อธิบายว่าเบโธเฟนเป็นคนอารมณ์ร้าย แต่อันที่จริงอย่างที่เราเคยบอกไปในคราวก่อนว่า เบโธเฟน มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสเปรคตรัมออทิสติก “แอสเพอร์เกอร์”
ในปัจจุบันหลายคนอาจจะรู้จักโรคซึมเศร้า (Depression) หรือไม่ก็ โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) ที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะดิ่งดาวน์ หรือเหวี่ยงแบบขึ้นสุดลงสุดเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากฮอร์โมน หรือความผิดปกติทางสมอง หรือสารสื่อนำประสาทไม่สมดุล ทว่าแอสเพอร์เกอร์เป็นธรรมชาติจำเพาะของคนบางกลุ่มที่เกิดมาเป็นเช่นนี้เอง โดยทั่วไปคนกลุ่มนี้จะมีอาการ คือ
ชาวแอสเพอร์เกอร์ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ทำให้หมกมุ่นในบางสิ่งอย่างจริงจัง แล้วด้วยความหมกมุ่นนี้เอง ทำให้คนอย่างเบโธเฟนเมื่อสนใจในเปียโนแล้ว เขาจึงรู้ลึกรู้รอบและจมดิ่งไปกับมัน มีเชาวน์ปัญญาหรือทักษะบางอย่างสูงกว่าปกติ คนกลุ่มนี้มักจะเผลอใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว ทำให้คนรอบข้างเข้าใจผิดว่าเขาเป็นพวกขี้เหวี่ยงขี้วีน มักจะเมินเฉย เชิดใส่ ไม่ค่อยสบตา พูดช้า พูดไม่ชัด พูดติดขัด พูดแต่เรื่องตัวเอง หรือพูดเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจ ไม่ค่อยรู้กาละเทศะ ไม่ชอบการถูกสัมผัสตัว ยิ่งจากคนแปลกหน้าด้วยแล้ว การโอบกอดที่ไม่จริงใจแทนที่จะช่วยปลอบประโลมกลับจะยิ่งทำให้พวกเขาขยาดกลัว เนื่องด้วยชาวแอสเพอร์เกอร์มีความละเอียดอ่อนทางประสาทสัมผัสอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาไวต่อเสียง ไวต่อแสง และไวต่อกลิ่น ทว่าในกรณีของเบโธเฟนจะยิ่งซับซ้อนไปอีกเมื่อเขามีอาการหูหนวกในภายหลังที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น
ในนิตยสารนิวยอร์กไทม์ ฉบับวันที่ 19 มกรา 2003 ในบทความ The First Modern ของไมเคิล คิลเมลแมน ได้อ้างอิงว่า ‘ในงานศพของเบโธเฟน นักเขียนบทละคร ฟรานซ์ กริลล์ปาร์เซอร์ ได้กล่าวรำลึกถึง เบโธเฟน ว่าเป็นบุคคลที่มีความขัดแย้งในตัวเองอย่างมาก เขาไม่พอใจทุกสิ่งรอบตัว และแปลกแยกจากสังคมส่วนใหญ่ แต่กลับเต็มไปด้วยความรักต่อมนุษยชาติผ่านดนตรีของเขา บารอน เดอ เทรมงต์ ซึ่งเคยแวะไปเยือนอพาร์ตเมนต์ของเขาในเวียนนาเมื่อปี 1809 เคยเล่าให้เขาฟังว่า “เป็นสถานที่สกปรกและไร้ระเบียบที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้” เปียโนถูกกลบด้วยฝุ่นและกองกระดาษ มีกระโถนอึฉี่ที่ยังไม่ได้เทออกซุกไว้ใต้เปียโน” ปีดังกล่าวเป็นปีเดียวกับที่เบโธเฟน แต่ง Piano Concerto No. 5 “จักรพรรดิ” อันสูงส่ง [เพลงนี้รู้จักกันในชื่อ Emperor Concerto] และเพลง “Les Adieux (อำลา)” [Piano Sonata No. 26] อันเป็นโซนาตาเปียโนที่งามสง่าที่สุดของเบโธเฟน’
ในข้อเขียนของ โดมินิก ราห์เมอร์ บรรณาธิการเว็บบล็อกของ G. Henle Publishers สำนักพิมพ์เพลงแห่งแรกของเยอรมัน(อายุ 76 ปี นับตั้งแต่ปี 1948-ปัจจุบัน) ได้ระบุว่า ‘เบโธเฟนย้ายที่อยู่บ่อยมาก เขาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์อย่างน้อย 29 แห่งในเวียนนา ไม่นับรวมการเข้าพักช่วงฤดูร้อนนอกเมือง’
จาคิโน รอสซินี นักประพันธ์เพลง เคยกล่าวไว้ในปี1822 ว่า “ขณะที่ฉันเดินขึ้นบันไดไปยังอพาร์ตเมนต์ทรุดโทรมที่บุคคลผู้ยิ่งใหญ่อาศัยอยู่…ฉันพบว่าตัวเองอยู่ในหลุมมืดแห่งหนึ่ง ซึ่งสกปรกและอยู่ในสภาพที่แย่มาก ฉันจำได้ว่าเหนือทุกสิ่งทุกอย่างคือเพดานที่อยู่ใต้หลังคามีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ที่ฝนสามารถเทลงมาได้”
อิกนาซ ฟอน ไซฟรีด ผู้ควบคุมวงและเพื่อนของเบโธเฟน บันทึกความทรงจำปี 1832:
“…แม้ว่าในครัวเรือนของเขาจะมีความสับสนที่น่าชื่นชมอย่างแท้จริงก็ตาม หนังสือและดนตรีวางเกลื่อนกลาดอยู่ทุกมุม – มีเศษของอาหารว่างเย็นชืด – มีขวดที่ปิดผนึกหรือดื่มไปครึ่งหนึ่ง – มีภาพร่างอย่างรีบเร่งของควอเต็ตชุดใหม่บนโต๊ะสูง – มีเศษซากของมื้อเที่ยง – มีแผ่นกระดาษที่เขียนด้วยลายมือที่เปียโน มีเนื้อหาสำหรับซิมโฟนีอันแสนวิเศษที่ยังคงหลับใหลเหมือนตัวอ่อน – มีภาชนะสำหรับทำอาหารที่รอการไถ่บาป – มีจดหมายส่วนตัวและในทางธุรกิจเป็นพรมปูพื้น – มีขนมปังสตราคคิโนที่น่าเคารพระเกะระกะอยู่ระหว่างช่องหน้าต่าง และมีเศษซากของซาลามิแท้ ๆ จากเวโรนาจำนวนมากเกลื่อนอยู่…”
ดังนั้นตัวตนของเบโธเฟนในหนังเรื่องนี้ที่ถูกสาธยายออกมาราวกับเขาเป็นคุณชายนักรักคาสโนว่าจอมเจ้าชู้ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยในชีวิตจริง
เรื่องจริงเท่าที่โลกรู้ในตอนนี้
เราขอเริ่มต้นแบบนี้ว่า ไม่มีใครรู้ความจริงแบบเป๊ะ ๆ หรอก สิ่งที่เราจะเล่าต่อไปนี้ คือข้อเท็จจริงเท่าที่มีหลักฐานปรากฎอยู่ในปัจจุบันนี้ แถมหลักฐานเหล่านั้นยังไม่ใช่ผลตรวจดีเอ็นเอ หรืออะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันอีกต่างหาก แต่เป็นเพียงบันทึกข้อความ คำให้การในศาล จดหมาย จากผู้คนแวดล้อมรอบตัวเบโธเฟน เพราะบันทึกส่วนตัวของเขาส่วนใหญ่ถูกชินด์เลอร์ตัวแสบเผาทำลายไปแล้ว อย่างไรก็ตามหากวกกลับไปหาเนื้อหาของหนัง นอกจากจูลี่ และ ชินด์เลอร์ ที่เราเคยเล่าไปในคราวก่อนแล้ว อีก 2-3 คนที่เรายังไม่เคยเล่าเลย คือ
แอนนา-มารี แอร์โดดี (1779-1837)
เธอไม่มีทางมีความสัมพันธ์สวาทกับเบโธเฟนอย่างในหนังเด็ดขาด เพราะเบโธเฟนเรียกเธอว่า “Father confessor (บาทหลวงผู้ไถ่บาป / ธรรมสักขี)” เธอคือเคาน์เตสจากเมืองอาราดที่ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการี (ปัจจุบันคือโรมาเนีย) เธอแต่งงานกับเคานต์เปเตอร์ แอร์โดดี ทายาทขุนนางฮังการีโครเอเชีย พวกเขามีลูกสาวสองคนและลูกชายอีกหนึ่งคน
กระทั่งในปี 1805 เธอก็ถูกสามีทอดทิ้ง ก่อนจะหันไปสร้างครอบครัวใหม่กับ โยฮานน์ เซเวียร์ เบราเชล เลขานุการและครูสอนดนตรีเด็ก ซึ่งรับใช้เธอมาอย่างยาวนาน ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเบโธเฟนย้อนไปได้ถึงปี 1802 เธอเป็นเสมือนผู้มีพระคุณของเบโธเฟน เนื่องจากมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยโน้มน้าวสมาชิกขุนนางของจักรวรรดิให้มอบเงินบำนาญตลอดชีพแก่เบโธเฟน เพื่อรั้งให้เบโธเฟนอยู่ในดินแดนของออสเตรีย เนื่องด้วยเบโธเฟนเป็นชาวเยอรมันจากเมืองบอนน์ และย้ายมาเวียนนาเมื่ออายุ 21 แต่เขาไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โตในราชสำนัก
วีล็อก เทเยอร์ นักประวัติศาสตร์ที่เราเอ่ยถึงไปคราวก่อนระบุว่า ‘เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณแด่เธอ เบโธเฟนได้อุทิศผลงานให้เธอถึง 5 เพลง ได้แก่ Piano Trios Op. 70 (Nos.1 “Ghost” และ 2), Cello sonatas opus 102 (Cello Sonatas Nos. 4 และ 5) และเพลง WoO 176 Canon ‘Glück zum neuen Jahr (สวัสดีปีใหม่)’
อันที่จริงไอเดียที่ว่า แอนนา-มารี อาจจะเป็น Immortal Beloved เคยปรากฎอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อนักวิชาการเบโธเฟน เกล เอส อัลท์แมน เคยตั้งสมมติฐานถึงอักษรย่อที่ถูกระบุไว้ในท้ายจดหมายว่า A.K. โดยเธอคิดว่า K น่าจะหมายถึง เมืองโคลสเตนนูเบิร์ก ในออสเตรียอันเป็นพื้นที่ใกล้เคียงที่ดินของ แอนนา-มารี อีกทั้งบ้านพักฤดูร้อนของนางที่เมืองเฮอร์นัลส์ยังอยู่ใกล้เคียงกับ โคลสเตนนูเบิร์ก เป็นอย่างมาก โดยมีบันทึกว่าเบโธเฟนและแอนนา-มารี สนิทสนมกันในช่วงปี 1808 และอัลท์แมนสังเกตว่าขณะนั้นแอนนา-มารีแยกทางกับสามีก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ปี 1805 และมีความเป็นไปได้ว่าในปี 1812 เบโธเฟนจะกลับมาพบกับเธอที่นี่ ซึ่งหลักฐานในยุคปัจจุบันพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากช่วงเวลาที่จดหมายถูกเขียนขึ้นนั้น เบโธเฟนน่าจะไปพบคนอื่น และที่อื่นดังที่เราเล่าไปแล้วในบทความคราวก่อน
Queen of the Night ฉบับปี 2018
โยฮันนา ไรส์ (1786-1869)
หรือ โยฮันนา ฟาน เบโธเฟน น้องสะใภ้ของเบโธเฟน มาถึงตรงนี้เราคงต้องเล่าสาแหรกครอบครัวของเบโธเฟนสักหน่อย พ่อของเบโธเฟน คือ โยฮันน์ ฟาน เบโธเฟน (1740-1792) นักดนตรี ครูดนตรี และนักร้องชาวเยอรมันประจำโบสถ์อาร์ชบิชอปแห่งโคโลญสังกัดราชสำนักบอนน์ โยฮันน์มีลูกทั้งหมด 7 คน แต่รอดชีวิตจนโตมาได้เพียง 3 คน ได้แก่ ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน (1770-1827), คาสปาร์ อันตัน คาร์ล ฟาน เบโธเฟน (1774-1815) และนิโคลัส โยฮันน์ ฟาน เบโธเฟน (1776-1848)
ตามคำบอกเล่าของพยานแวดล้อมระบุว่าในวัยเด็ก ลุดวิกมักจะถูกพ่อเฆี่ยนตีอยู่เสมอ หลายสำนักเชื่อว่าเนื่องจากความโด่งดังของโมสาร์ท ทำให้โยฮันน์หวังว่าลุดวิกจะโด่งดังอย่างโมสาร์ทบ้าง หลายคนเล่าว่า “มีไม่กี่วันนักหรอกที่ลุดวิกจะไม่ถูกตีเพื่อบังคับให้เขาไปเล่นเปียโน” มีบันทึกจากที่ปรึกษาศาลรายงานว่า “โยฮันน์มักจะขังลุดวิกไว้ในห้องใต้ดินเป็นครั้งคราว เมื่อใดที่ลุดวิกเล่นเปียโนไม่ดี โยฮันน์ก็มักจะก่นด่าว่าเขาเป็นความอับอายของครอบครัว”
ลุดวิกตัวน้อยมักจะถูกลากออกจากเตียงเพื่อไปเล่นเปียโนตลอดทั้งคืนโดยไม่ได้นอน สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อแม่ของลุดวิกเสียชีวิตในปี 1787 ทำให้โยฮันน์ยิ่งติดเหล้าอย่างหนัก ครอบครัวจึงจำต้องพึ่งพาลุดวิกผู้เติบโตขึ้นมาเป็นพี่คนโต พอลุดวิกเริ่มมีรายได้เมื่ออายุ 18 ปี ในปี 1789 เขาต้องโอนเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้โยฮันน์เพื่อมาเลี้ยงคนทั้งครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่โยฮันน์เอาไปถลุงลงขวดเหล้า อย่างไรก็ตามโยฮันน์เสียชีวิตลงในปี 1792 มีหลักฐานว่านายจ้างของลุดวิกเคยเขียนจดหมายไปหาเพื่อนอย่างเหน็บแนมว่า “รายได้จากภาษีสุราเสียหายไปเยอะมากหลังจากโยฮันน์เสียชีวิต” ไม่นานจากนั้นลุดวิกก็ย้ายไปเวียนนาเมื่ออายุ 21 ปี เพื่อไปร่ำเรียนกับฟรานซ์ โจเซฟ ไฮเดิน คีตกวีชาวออสเตรียประจำราชสำนักเอสเตอร์ฮาซี
ส่วนโยฮันนา ไรส์ เป็นบุตรีของช่างทำเบาะชาวเวียนนาผู้มั่งคั่ง แม่ของเธอเป็นบุตรสาวของพ่อค้าไวน์และนายกเทศมนตรีท้องถิ่น ทว่าในปี 1804 โยฮันนามีคดีติดตัวเมื่อเธอถูกพ่อแม่ตัวเองกล่าวหาว่าเป็นหัวขโมย คดีนี้ภายหลังส่งผลต่ออีกคดีหนึ่งเมื่อเบโธเฟนฟ้องร้องเธอในชั้นศาลเรื่องสิทธิในการเลี้ยงดู คาร์ล
ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม 1806 เธอได้แต่งงานกับคาสปาร์ อันตัน คาร์ลน้องชายของเบโธเฟน และคลอด คาร์ล ลูกชายในอีกสามเดือนต่อมาเมื่อวันที่ 4 กันยายนปีเดียวกันนั้น (ตรงนี้จึงเป็นเหตุให้สงสัยว่าคาร์ลอาจเป็นลูกชายของลุดวิก เพราะตั้งท้องก่อนแต่ง ซึ่งปัจจุบันพบว่าไม่น่าจะจริง)
ต่อมาในปี 1811 โยฮันนาต้องโทษอีกข้อหาหนึ่งในการใส่ร้ายกล่าวหาว่าอดีตสาวใช้เป็นหัวขโมยสร้อยมุกราคาแพงสามเส้น ทั้งที่จริง ๆ แล้วโยฮันนาเองเป็นผู้นำไปซ่อน ความมาแดงเมื่อโยฮันนาถูกจับได้ว่าสวมสร้อยมุกหนึ่งในสามเส้นนั้น (อีกสองเส้นเธอนำไปขาย) ศาลตัดสินจำคุกเธอหนึ่งปี แต่ด้วยบารมีเส้นหน้าของคาสปาร์สามีเธอที่เวลานั้นเป็นเสมียนของรัฐและเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนหนึ่ง ทำให้ในที่สุดเธอก็ถูกจำคุกเพียงแค่เดือนเดียว อย่างไรก็ตามด้วยความที่โยฮันนาและสามีเป็นพวกใช้เงินเกินตัวก็ทำให้พวกเขามีหนี้สินท่วมหัวด้วยเช่นกัน
ในปี 1812 คาสปาร์ ป่วยเป็นวัณโรค ทำให้ในปี 1813 คาสปาร์ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อระบุในพินัยกรรมให้ลุดวิกเป็นผู้ปกครองคาร์ลแต่เพียงผู้เดียวหากเขาเสียชีวิตลง และในปี 1815 สองวันก่อนคาสปาร์จะเสียชีวิตเขาได้ย้ำความปรารถนานี้ในพินัยกรรม โดยคาสปาร์ระบุว่า “ไม่มีความสามัคคีระหว่างพี่ชายกับภรรยาของผมเลย” อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้นพบว่าพินัยกรรมถูกแก้ไขเพิ่มเติมให้โยฮันนาเป็นผู้ปกครองร่วม โดยระบุว่า “ขอพระเจ้าอนุญาตให้ทั้งสองอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียวเพื่อผลประโยชน์แก่ลูกของผม นี่คือความปรารถนาสุดท้ายของสามีและพ่อผู้กำลังจะเสียชีวิต”
ลูอิส ล็อควูด นักดนตรีวิทยาชาวอเมริกันระบุในหนังสือ Beethoven: The Music and the Life (2005) ว่า “การต่อสู้ทางกฎหมายที่ทรมานและเต็มไปด้วยทิฐิระหว่างเบโธเฟนกับน้องสะใภ้เพื่อสิทธิในการดูแลเด็ก กินเวลานานกว่าสี่ปี เต็มไปด้วยความเคียดแค้น ขึ้นโรงขึ้นศาล ความสำเร็จที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นไปสู่การพลิกกลับ และการอุทธรณ์ ในที่สุดเบโธเฟนก็ได้รับชัยชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ แต่ผลที่ตามมาสำหรับคาร์ลนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเกือบถึงแก่ชีวิต”
Queen of the Night ฉบับปี 2013
เหตุใดเบโธเฟนจึงชิงชังโยฮันนา
เบโธเฟนมีทัศนคติเชิงลบต่อโยฮันนาเป็นอย่างมาก ในจดหมายเมื่อเดือนกันยายน 1826 เขาเรียกเธอว่า “นังคนเสื่อมทรามอย่างยิ่ง” และบรรยายลักษณะนิสัยของเธอว่า “ชั่วร้าย ร้ายกาจ และทรยศ” บ่อยครั้งที่เขาเรียกเธอว่า “Queen of the Night (ราชินีแห่งรัตติกาล)” [นังตัวร้ายในโอเปร่าชื่อดัง The Magic Flute ของโมสาร์ท]
นอกจากนี้ยังมีคนอื่นที่เห็นด้วยกับเบโธเฟน อาทิ จาค็อบ ฮอตเชวาร์ ญาติของโยฮันนาและผู้ปกครองตามกฎหมายของคาร์ล(หลังจากเบโธเฟนเสียชีวิตไปแล้ว) ในปี 1830 จาค็อบเคยแจ้งต่อศาลว่า เนื่องจากโยฮันนา “มีพฤติกรรมในทางเสื่อมเสียศีลธรรมอย่างไม่ควรต่อการสรรเสริญ” ทำให้เขาไม่ต้องการติดต่อกับเธออีกต่อไป
นอกจากคดีความขโมยของโยฮันนาสองครั้งที่เล่าไปแล้ว ภายหลังแม้สามีของเธอ-คาสปาร์จะเสียชีวิตไปเมื่อปี 1815 แต่กลับให้ปรากฎว่า โยฮันนา คลอดบุตรสาวนอกสมรสอีกคนชื่อ ลูโดวิกา โยฮันนา เมื่อ 12 มิถุนายน 1820 กับ โยฮันน์ คาสปาร์ ฮอฟเบาเออร์ ชายมั่งมีผู้ให้เงินสนับสนุนโยฮันนาหลังจากเธอมีหนี้สินท่วมหัว
ต่อมาภายหลังในปี 1824 โยฮันนาได้ยืมเงินจากเบโธเฟนด้วย แต่เขาไม่ยอมควักกระเป๋าตัวเอง ทว่าเลือกจะยกเงินสวัสดิการรัฐที่ให้กับหญิงม่าย โอนสิทธิ์กลับไปให้โยฮันนาแทน (เดิมทีสิทธิ์นี้เป็นของโยฮันนา แต่เมื่อเธอแพ้คดีในศาล เงินจึงถูกริบแล้วย้ายไปจ่ายให้ผู้ปกครองซึ่งก็คือเบโธเฟนแทน) ซึ่งเงินนี้เขาตั้งใจจะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาของคาร์ล
คาร์ล ฟาน เบโธเฟน
ศึกสู้คดีเพื่อสิทธิ์ในการดูแลคาร์ลเกิดขึ้นในศาลที่เรียกว่า Imperial and Royal Landrechte of Lower Austria อันเป็นศาลสำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีเชื้อสายขุนนาง (ทำให้ศาลนี้ค่อนข้างเอนเอียงในการเอื้อประโยชน์แก่พวกขุนนางมากกว่าสามัญชน) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1815 ซึ่งในที่สุดวันที่ 9 มกราคม 1816 เบโธเฟนก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเพียงคนเดียว แล้ว 2 กุมภาพันธ์ในปีนั้นเขาก็ส่งคาร์ลไปโรงเรียนประจำ
ตราประจำตระกูลดัชชีแห่งบราบันต์
[ราชสกุล “เบโธเฟน” สืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลในเบลเยี่ยม Bettenhoven แห่งดัชชีบราบันต์ รัฐหนึ่งในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ระบบการเมืองแห่งชาติเยอรมันหลังจากปี 1512-1806) ส่วนคำว่า “ฟาน” แปลว่า “house of -แห่งตระกูล” อันคล้ายคลึงของบ้านเราที่มี หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง และ ณ นั่น ณ นี่ เอย ฯลฯ อย่างไรก็ตามตามลำดับชั้นของราชสกุล เบโธเฟน นั้น ผู้ที่มีศักดิ์เป็นขุนนางคนสุดท้ายในสาแหรกนี้คือ บิดาของ ลุดวิก ดังนั้นนับตั้งแต่ลุดวิกลงมาต้องถือว่าเป็นสามัญชน]โยฮันนาถูกจำกัดให้เจอหน้าคาร์ล ทำให้นางเปิดฉากโจมตีเบโธเฟนอีกครั้งในปี 1818 โดยคราวนี้ศาลลันเดรชเตรพบว่าเชื้อสายขุนนางของเบโธเฟนสิ้นสุดลงที่พ่อของเขา ทำให้คดีนี้ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลราชวงศ์จึงส่งไปสู่ศาลสามัญชนเวียนนาแทน ซึ่งศาลนี้เห็นอกเห็นใจโยฮันนาผู้เป็นแม่แท้ ๆ มากกว่า อีกทั้งโยฮันนายังให้การเพิ่มเติมว่า “คาร์ลหนีออกจากบ้านของเบโธเฟนเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมปีนั้นเพื่อไปหาดิฉัน” แถมคาร์ลยังถูกไล่ออกจากโรงเรียนประจำในช่วงต้นปีนั้นด้วย ทำให้ช่วงนี้คาร์ลถูกศาลสั่งให้ย้ายไปอยู่กับแม่
อย่างไรก็ตามคดีพลิกกลับอีกรอบเมื่อเบโธเฟนยื่นอุทธรณ์ในปี 1820 เขาจ้างทนายมือดีที่สุดมาช่วย แล้วอ้างถึงคดีเก่า ๆ ของโยฮันนา รวมถึงในปีนั้นเธอยังให้กำเนิดลูกนอกสมรสอีกคนด้วย ทำให้ในที่สุดเบโธเฟนก็ได้รับสิทธิ์ในการดูแลคาร์ลตลอดไป แม้ว่าต่อมาโยฮันนาจะยื่นอุทธรณ์ต่อจักรพรรดิทว่าก็ถูกปัดตกไปเป็นอันสิ้นสุดคดียืดเยื้อนี้ลงอย่างถาวร
ย้อนกลับไปในหนังสือของ ลูอิส ล็อควูด ที่ระบุว่า ‘ผลที่ตามมาสำหรับคาร์ลนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเกือบถึงแก่ชีวิต’ การพิจารณาคดีส่งผลกระทบต่อจิตใจของคาร์ลอย่างมาก เพราะนอกจากเขาจะถูกบังคับให้เป็นพยานแล้ว ยังถูกปฏิเสธไม่ให้เจอหน้าแม่ตัวเองด้วย แล้วเมื่อคาร์ลโตพอที่จะไม่เชื่อฟังคำสั่งของลุงอีกต่อไป เขาก็พยายามจะหนีเพื่อแอบไปหาแม่ แต่สุดท้ายก็ถูกตำรวจบังคับลากให้เขากลับไปหาลุงเบโธเฟนอีกอยู่ดี
คาร์ลถูกบังคับให้เรียนเปียโน ทว่าครูของเขากลับบอกว่าคาร์ลไม่มีพรสวรรค์ แม้ว่าเพื่อนสนิทของลุดวิกหลายคนจะขอร้องให้เขาเลิกบังคับคาร์ล แต่ดูเหมือนลุดวิกจะหมกมุ่นกับการพยายามจะเป็นพ่อของเด็กคนนี้ ทว่ายิ่งพยายามกลับยิ่งทำให้คาร์ลยิ่งหนีห่างออกไปทุกที
คาร์ลถูกจับย้ายโรงเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าคาร์ลจะประพฤติตัวไม่ดี แต่เบโธเฟนก็ยังคงทุ่มเทอย่างเอาเป็นเอาตายและภักดี มีหลักฐานว่าในจดหมายฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม 1825 ลุดวิกจ่าหน้าจดหมายถึงคาร์ลว่า “ลูกชายของฉัน…” แล้วลงท้ายจดหมายว่า “จากพ่อที่แสนดีและซื่อสัตย์ต่อเธอเสมอมา”
อย่างไรก็ตามเมื่อศาลถามคาร์ลในวันที่ 11 ธันวาคม 1818 คาร์ลให้การว่า “ลุงปฏิบัติต่อผมเป็นอย่างดี แล้วถ้าหากสามารถจัดหาคนกลางมาเพื่อทำให้เราเข้าใจกันได้มากขึ้น ผมก็ยังอยากจะอาศัยอยู่กับลุง”
จากพฤติกรรมของเบโธเฟนหลายอย่างทำให้ศาลสามัญชนแห่งเวียนนามีคำสั่งเมื่อ 17 กันยายน 1819 ว่า “คาร์ลตกอยู่ภายใต้ความเอาแต่ใจของลุงของเขา และถูกโยนไปมาเหมือนลูกบอลจากสถานศึกษาแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง ศาลจึงเห็นว่าโยฮันนาควรได้รับสิทธิ์ในการร่วมดูแลคาร์ล” …แต่อย่างที่เราเล่าไปแล้วว่าลุดวิกชนะคดีนี้ไปในท้ายที่สุดเมื่อปี 1920
นิโคลัส โยฮันน์ น้องชายอีกคนของลุดวิก เคยเขียนจดหมายถึงคาร์ลเมื่อ 10 มิถุนายน 1925 ว่า “หากหลานจะลองนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ลุงลุดวิกทำเพื่อหลานแล้ว เธอคงจะตระหนักได้ว่าลุงเขาใช้เงินไปมากกว่าหนึ่งหมื่นฟลอริน [เทียบค่าเงินปัจจุบันคือราวสองแสนบาท] เพื่อต่อสู้คดีนี้ที่จะได้เธอมา แต่กลายเป็นว่าหลานทำให้เขาต้องลำบากและทุกข์ใจสาหัส…ตอนเรายังเด็ก คนเรามองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่เชื่อลุงเถิดเมื่อเธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เธอจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้น”
กระทั่งคาร์ลเข้ามหาวิทยาลัยเวียนนาเมื่อปี 1825 ด้วยวัย 19 ปี ลุดวิกมอบหมายหน้าที่ให้คาร์ลเป็นผู้ดูแลธุรกรรมการเงิน แม้ว่าขณะนั้นลุดวิกจะไม่ได้อยู่ในเวียนนาตามคำแนะนำของหมอที่เชื่อว่าการไปอาศัยในชนบทจะทำให้ดีต่ออาการหูหนวก ลุดวิกก็ยังคงจับตาดูคาร์ลด้วยการจ้างเพื่อนไปคอยสอดส่องคาร์ลทุกฝีก้าว
พยายามฆ่าตัวตาย
ในปี 1826 ลุดวิกจับได้ว่าคาร์ลพยายามจะไปเข้าร่วมกองทัพทำให้ลุดวิกโกรธมาก คาร์ลจึงตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยการเอานาฬิกาไปจำนำเพื่อมาซื้อปืนพกสองกระบอก เขาขึ้นไปยังปราสาท บูร์กรูอิเน เราเฮนชไตน์ ในเมืองบาเดิน กระบอกแรกกระสุนพลาดเป้า ส่วนกระบอกที่สองเมื่อเขาพยายามจะเล็งหัวตัวเองคราวนี้กระสุนเฉียดขมับเขาไปเพียงนิดเดียว เช้าวันรุ่งขึ้นมีคนขับเกวียนผ่านมาพบ เขาขอให้ไปส่งบ้านแม่ เหตุการณ์นี้สะเทือนใจลุดวิกเป็นอย่างมาก เมื่อตำรวจซักถามคาร์ล คาร์ลให้การว่า “ลุงทรมานผมเกินไป…ผมแย่ลงเพราะลุงพยายามอย่างมากที่จะทำให้ผมดีขึ้น”
คาร์ลเข้ารับคำปรึกษาทางศาสนาและรักษาในโรงพยาบาลก่อนจะออกมาในเดือนกันยายน ลุดวิกจึงยอมใจอ่อนอนุญาตให้คาร์ลไปโบฮีเมียเพื่อเข้ารับราชการทหาร ทว่าเพียงหนึ่งเดือนก่อนคาร์ลจะเข้าประจำการ สุขภาพของลุดวิกก็ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว คาร์ลตัดสินใจอยู่เคียงข้างลุดวิกตลอดเดือนธันวาคม 1826 วันรุ่งขึ้นหลังจากคาร์ลออกปฏิบัติหน้าที่ ลุดวิกได้ร่างพินัยกรรมโดยยกมรดกทั้งหมดให้แก่คาร์ล
คาร์ลมักจะหวีผมปิดขมับเพื่อปกปิดรอยแผลเป็นจากการพยายามฆ่าตัวตาย ขณะคาร์ลรับราชการทหารอยู่นั้น ลุดวิก ฟาน เบโธเฟนก็เสียชีวิตลงเมื่อ 26 มีนาคม 1827 คาร์ลกลับมาอีกครั้งในอีกสามวันต่อมาเพื่อร่วมพิธีแห่ศพ
หลังการตายของลุดวิก
คาร์ลออกจากราชการทหารในปี 1832 เพื่อแต่งงาน เขาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นผู้จัดการที่ดินทางการเกษตร ซึ่งอันที่จริงเขาอยู่ได้อย่างสบายด้วยเงินมรดกจากลุดวิก ครอบครัวนี้มีลูกสาวสี่คน และลูกชายหนึ่งคน เขาตั้งชื่อลูกชายคนนั้นว่า ลุดวิก ตามชื่อของลุง คาร์ลเสียชีวิตด้วยวัย 51 ปีเมื่อวันที่ 13 เมษายน 1858
ตอนแรกเราตั้งจะพ่วงเขียนอีกคดีหนึ่งของเบโธเฟน แต่คิดว่ายกยอดไปคราวหน้าน่าจะดีกว่า เนื่องจากมีรายละเอียดยิบย่อยอยู่มาก ส่วนบทความนี้เราขอทิ้งท้ายด้วยส่วนสุดท้ายจากจดหมาย Immortal Beloved ฉบับเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม 1812 ความว่า
‘เราบรรลุเป้าหมายในการอยู่ร่วมกัน—อดทน—รัก
ผม—วันนี้—เมื่อวาน—โหยหาจนน้ำตาริน
คุณ—คุณ—คุณ—ที่รักของผม—ทั้งหมดของผม—ลาก่อน—จงรักต่อไป
ผม—อย่าตัดสินผิดจากใจที่สัตย์ซื่อที่สุดของคนรักของคุณ
L.ตลอดไปเป็นของคุณ
ตลอดไปเป็นของผม
ตลอดไปเป็นของเรา’
A.K.’