ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Round สิงคโปร์ออกสิทธิประโยชน์ภาษีใหม่ชดเชย Global Minimum Tax

ASEAN Round สิงคโปร์ออกสิทธิประโยชน์ภาษีใหม่ชดเชย Global Minimum Tax

17 พฤศจิกายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 10-16 พฤศจิกายน 2567

  • สิงคโปร์ออกสิทธิประโยชน์ภาษีใหม่ชดเชย Global Minimum Tax
  • เวียดนามตั้งเป้าการเติบโตปี 2568 ที่ 6.5-7%
  • เวียดนามยกเลิกภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสเตนเลสรีดเย็นนำเข้า
  • เวียดนามสั่ง Temu-Shein จดทะเบียนธุรกิจภายในสิ้นเดือนนี้
  • เวียดนามเล็งฟื้นโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์
  • กัมพูชาวางแผนพัฒนาทางรถไฟมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์
  • สปป.ลาวเปิดรับคนลาวต่างแดนกลับมาลงทุนในประเทศ

    สิงคโปร์ออกสิทธิประโยชน์ภาษีใหม่ชดเชย Global Minimum Tax

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/places-to-see/singapore-river/
    สิงคโปร์ได้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษีหลายข้อ ก่อนที่ภาษีขั้นต่ำทั่วโลก(global minimum tax)ที่เรียกเก็บในอัตรา 15% จะมีผลบังคับใช้กับบริษัทที่ต้องการลงทุนในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2568

    ภาษี global minimum tax จะมีผลสำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNE) ที่มีรายได้กลุ่มต่อปี 750 ล้านยูโร (1.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ขึ้นไป

    นายอัลวิน ตัน รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวในรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนว่า สิงคโปร์จะปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์จูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างงานที่ดีสำหรับพลเมืองต่อเนื่องเป็นระยะ

    โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก แรงงานที่มีคุณภาพ ระบบการเงินที่เชื่อมโยงกันอย่างดี และเสถียรภาพทางการเมืองทำให้สิงคโปร์อยู่ในสถานะที่ดีเมื่อเทียบกับนักลงทุนทั่วโลก แต่สิงคโปร์ไม่สามารถวางใจได้ว่าบรรษัทข้ามชาติ (MNC) จะยังคงลงทุนในสิงคโปร์ต่อไป

    แม้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการค้าได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของกระแสการลงทุนในสิงคโปร์ ความตึงเครียดเหล่านี้ยังได้ทำลายระบบการค้าโลกที่อิงกฎเกณฑ์ ซึ่งทำให้การไหลเข้าในอนาคตมีความไม่แน่นอน

    “เราจะต้องคิดให้ไวและดำเนินการอย่างคล่องตัว แก้ไขและเปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่นด้วยชุดเครื่องมือของเราที่มีอยู่เพื่อดึงดูดการลงทุนเหล่านี้” นายตันกล่าวในการกล่าวปิดการอภิปรายหลังจากผลักดันร่างกฎหมายเพื่อบังคับใช้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านที่ประกาศในงบประมาณปี 2567

    ร่างแก้ไขกฎหมายสิทธิประโยชน์ในการขยายเศรษฐกิจ (บรรเทาภาระภาษีเงินได้)หรือ Economic Expansion Incentives (Relief from Income Tax) (Amendment) Bill ยกเว้นอัตราภาษีให้อีก 15% สำหรับบริษัทที่อยู่ภายใต้ Development and Expansion Incentive (DEI:โครงการสิ่งจูงใจในการพัฒนาและขยายธุรกิจ เปิดตัวในปี 1997 เพื่อส่งเสริมบริษัทต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และดำเนินกิจกรรมใหม่ๆ และขยายในสิงคโปร์ โดยปัจจุบันมีอัตราภาษียกเว้นสองระดับที่ 5% และ 10%)

    นายตัน กล่าวว่า บริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก global minimum tax นี้จะไม่สามารถได้รับประโยชน์จาก DEI ในการยกเว้นภาษีในอัตรา 5% หรือ 10% แต่อัตราภาษีที่ยกเว้นใหม่ 15% อาจจะเพียงพอต่อความต้องการ

    ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับการลงมติเป็นเอกฉันท์

    พระราชบัญญัติสิทธิประโยชน์ในการขยายเศรษฐกิจ (การบรรเทาจากภาษีเงินได้) ซึ่งบังคับใช้ในปี 1967 และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถของตน และดำเนินกิจกรรมใหม่ๆ หรือขยายกิจกรรมในสิงคโปร์

    นายตันกล่าวว่า สิงคโปร์จะทบทวนมาตรการจูงใจทางภาษีเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่ายังคงใช้ได้กับบริษัทที่สถานการณ์แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในปัจจุบันที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่กำลังเตรียมพร้อมรับกับการเก็บภาษีขั้นต่ำทั่วโลกในอัตรา 15% ภายใต้กฎ Base Erosion and Profit Shifting 2.0(BEPS คือ การหลบเลี่ยงภาษีโดยกัดกร่อนฐานภาษีในประเทศ ที่มีภาระภาษีสูง เพื่อเคลื่อนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีภาระภาษีต่ำกว่าหรือไม่มีภาระภาษี)ในเสาหลักที่สอง(Pillar Two)

    กฎ BEPS ซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) มีเป้าหมายเพื่อให้บรรษัทข้ามชาติจ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรมไม่ว่าจะประกอบกิจการที่ไหนก็ตาม

    สิงคโปร์จะใช้กฎ Pillar Two ในปีงบประมาณที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2568

    นายตันกล่าวว่า ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังขยายขอบเขตให้ครอบคลุมบริษัทที่ให้บริการที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ด้วย โดยจะมีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ของ DEI สูงสุดถึง 40 ปี ก่อนหน้านี้ บริษัทที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ ทั้งด้านบริการและการผลิต จะรับสิทธิประโยชน์เพียง 20 ปีเท่านั้น โดยจะขยายไปถึงปี 2571

    บริษัทที่อาจได้รับประโยชน์ ได้แก่ บริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีการชำระเงิน โซลูชั่นปัญญาประดิษฐ์ และบริการบำรุงรักษาและยกเครื่องเครื่องบิน

    นอกจากนี้ ร่างแก้ไขกฎหมายจะอนุญาตให้รัฐมนตรีกำหนดโครงการที่อาจได้รับการลดหย่อนด้านการลงทุน(Investment Allowance -IA) ผ่านกฎระเบียบ ทำให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการตอบสนองต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

    ในการตอบคำถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายตันกล่าวว่า “ร่างกฎหมายทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ตัวอย่างเช่น หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอก การเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการลงทุน บรรยากาศทางเศรษฐกิจ จะทำให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจ และบริษัทเองมีลู่ทางในการเจรจา”

    ต่อคำถามที่ว่าสิทธิประโยชน์ของ DEI จะมีให้สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือไม่ นายตันกล่าวว่า ขั้นของอัตราภาษีที่ยกเว้นของ DEI จะใช้กับบริษัทที่มีสิทธิ์ทั้งหมด โดยไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน ขนาดของบริษัท หรือไม่ว่าจะเป็นเข้าข่ายของ BEPS Pillar Two หรือไม่

    “ปรัชญาเศรษฐกิจของเราคือ การสนับสนุนบริษัททั้งหมดที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับสิงคโปร์มาโดยตลอด และเพื่อให้บริษัทที่ได้รับสิทธิประโยชน์ มุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานทางเศรษฐกิจให้กับสิงคโปร์ ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิประโยชน์หรือผลประโยชน์ที่ได้รับ”

    นายตันกล่าวว่า การยื่นขอ DEI ใหม่หรือปรับสิทธิประโยชน์เดิมนั้นจะได้รับการประเมินอย่างเป็นระบบเพื่อพิจารณาข้อดีของแต่ละกรณี
    เพื่อให้มีสิทธิ์ได้รับ DEI บริษัทจะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะผ่านการจัดตั้งใหม่หรือการขยายกิจกรรมที่มีอยู่

    หน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ Enterprise Singapore จะประเมินโครงการใหม่หรือโครงการที่ได้รับการยกระดับตามขนาดและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพที่คาดการณ์ไว้ โดยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณ ได้แก่ การจ้างงานแรงงานที่มีทักษะ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และรายจ่ายทางธุรกิจทั้งหมดที่ผูกพันภายใต้โครงการ

    ผลประโยชน์เชิงคุณภาพ ได้แก่ ผลกระทบรองทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโครงการหรือการพัฒนา คุณภาพของงานที่สร้างขึ้นจากโครงการ และความมุ่งมั่นในการขยายขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ชุดทักษะ และองค์ความรู้

    เวียดนามตั้งเป้าการเติบโตปี 2568 ที่ 6.5-7%

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/parliament-targets-2025-growth-rate-of-6-5-7-4815356.html
    เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 สมัชชาแห่งชาติเวียดนามมีมติเห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2568 ที่ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)ไว้ที่ 6.5 – 7%

    มติดังกล่าวกำหนดให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการเร่งความเร็ว บุกทะลวง และเข้าเส้นชัย มุ่งมั่นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุดที่เป็นไปได้ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสำหรับปี 2564 – 2568 และยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตบนพื้นฐานของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยั่งยืน การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และการดูแลความสมดุลที่สำคัญของเศรษฐกิจ เป็นอันดับต้นๆ

    แม้สมัชชาแห่งชาติตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ในปีหน้าไว้ที่ 6.5 – 7% แต่ขอให้ผลักดันให้ได้ถึง 7 – 7.5% ในขณะเดียวกัน GDP ต่อหัวคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4,900 ดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนของอุตสาหกรรมแปรรูป-การผลิตใน GDP คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 24.1% และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นประมาณ 4.5%

    เป้าหมายอื่นๆ ได้แก่ ผลิตภาพแรงงานโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.3 – 5.4% สัดส่วนแรงงานภาคเกษตรกรรมต่อกำลังแรงงานทั้งหมดอยู่ที่ 25 – 26% อัตราแรงงานที่ได้รับการฝึกอบรมประมาณ 70% และอัตราการว่างงานในเขตเมืองน้อยกว่า 4%

    เป้าหมายหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 2568 มาจากการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศ ข้อได้เปรียบและความท้าทายในปีหน้า ตลอดจนทิศทาง เป้าหมาย และภาระงานที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2564 – 2025

    ในส่วนของงานหลักและแนวทางนั้น สมัชชาแห่งชาติขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิรูปกรอบความคิดในการพัฒนากฎหมายในลักษณะที่สอดคล้องกับข้อกำหนดการบริหารจัดการของรัฐ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และใช้ทรัพยากรเต็มศักยภาพทั้งหมด นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สนับสนุนการเสริมสร้างสถาบันและการกระจายอำนาจ และขจัดกลไกของ “การขอกับการให้” อย่างแข็งขัน

    ในมติดังกล่าว สมัชชาแห่งชาติขอให้มีแนวทางแก้ไขที่แข็งแกร่งและทันท่วงทียิ่งขึ้น สำหรับปัญหาคอขวดและข้อบกพร่องเชิงสถาบัน เพื่อเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐตั้งแต่ต้นปี 2568 โดยเฉพาะสำหรับโครงการที่สำคัญของประเทศ การก่อสร้างงานหลัก และโครงการเป้าหมายระดับประเทศ

    นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ดำเนินการของขั้นตอนต่างๆ ให้เสร็จสิ้นและเริ่มงานรถไฟสายหล่าวกาย – ฮานอย – ไฮฟองในปีหน้า การเตรียมการสำหรับทางรถไฟสายลางเซิน – ฮานอย และหม่องก๋าย – ฮาลอง – ไฮฟอง และการเตรียมขั้นตอนต่างๆ เพื่อเร่งลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้

    นอกจากนี้ รัฐสภายังขอให้ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจรูปแบบใหม่และมีประสิทธิภาพ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับองค์กรเอกชนให้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างแท้จริง อำนวยความสะดวกในการเติบโตของกิจการขนาดใหญ่ของเวียดนาม เสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรเศรษฐกิจส่วนรวมกับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ พ.ศ. 2566 อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนต่อ GDP เป็นประมาณ 55%

    เวียดนามยกเลิกภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสเตนเลสรีดเย็นนำเข้า

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/1661502/india-initiates-anti-dumping-investigation-into-vietnamese-hot-rolled-coil-steel.html

    เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้ประกาศยกเลิกภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สเตนเลสรีดเย็นที่นำเข้าจากไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และจีน

    กระทรวงระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นผลจากการดำเนินการตามกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก กฎหมายว่าด้วยการจัดการการค้าต่างประเทศ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

    นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการทบทวนความจำเป็นในการใช้มาตรการต่อไป(sunset review) อย่างครอบคลุม ซึ่งได้ประเมินถึงความจำเป็นและผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม หากยังใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดต่อไปสำหรับผลิตภัณฑ์สเตนเลสรีดเย็นนำเข้าซึ่งอยู่ภายใต้พิกัด HS 7219.32.00, 7219.33.00, 7219.34.00 7219.35.00, 7219.90.00, 7220.20.10, 7220.20.90, 7220.90.10 และ 7220.90.90

    กระทรวงฯกล่าวว่า จะยังคงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าจะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของทั้งผู้ผลิตในท้องถิ่นและผู้บริโภค

    เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมปีที่แล้ว กระทรวงได้ออกประกาศเกี่ยวกับการการทบทวนความจำเป็นในการใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดสำหรับสเตนเลสรีดเย็นหลายชนิดจากทั้งสามประเทศและดินแดนของจีน

    เวียดนามสั่ง Temu-Shein จดทะเบียนธุรกิจภายในสิ้นเดือนนี้

    ที่มาภาพ: https://www.vietnamplus.vn/tu-hien-tuong-temu-tinh-tao-truoc-nhung-khuyen-mai-hap-dan-khi-mua-online-post988270.vnp
    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ได้เรียกตัวแทนจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้ง Temu และ Shein เข้าพบและแจ้งให้ดำเนินการตามขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจให้เสร็จสิ้นภายในเดือนนี้

    ข้อมูลดังกล่าวมาจากการเปิดเผยโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้านาย เหงียน ฮวาง ลอง ในงานแถลงข่าวของรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน

    กระทรวงได้สั่งให้ Temu และ Shein แจ้งผู้บริโภคเวียดนามอย่างเป็นทางการผ่านแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการจดทะเบียนที่กำลังดำเนินการอยู่
    และในช่วงที่อยู่ในกระบวนการจดทะเบียนสำหรับการดำเนินงานในเวียดนาม แพลตฟอร์มจะต้องหยุดกิจกรรมการโฆษณาและการตลาดเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้แจ้งให้บริษัทเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมายเวียดนามตามคำเตือนหลายชุด การไม่ปฏิบัติตามอาจนำไปสู่มาตรการทางเทคนิคที่มีการประสานงาน เช่น การบล็อกแอปและการจำกัดชื่อโดเมน โดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายลองกล่าว

    เพื่อเสริมสร้างการดำเนินการด้านกฎระเบียบ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ากำลังทำงานร่วมกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ การสื่อสาร และคำแนะนำผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงในการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่ไม่มีใบอนุญาต และได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ เพื่อทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในการปรับปรุงกรอบกฎหมายสำหรับกิจกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

    ในงานแถลงข่าว มาย เซิน รองอธิบดีกรมสรรพากร เน้นย้ำถึงพันธกรณีของซัพพลายเออร์ต่างประเทศในเวียดนาม

    ณ เดือนตุลาคม 2567 ซัพพลายเออร์ต่างประเทศ 116 รายได้ลงทะเบียนเพื่อสำแดงภาษีผ่านพอร์ทัลอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร มีมูลค่ามากกว่า 20.17 ล้านล้านเวียดนามด่อง (798.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเฉพาะรายรับภาษีผ่านพอร์ทัลสูงถึง 8.6 ล้านล้านด่องนับตั้งแต่ต้นปี เพิ่มขึ้น 25.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    เมื่อวันที่ 4 กันยายน บริษัท Temu ในเวียดนามประสบความสำเร็จในการจดทะเบียนภาษีผ่านพอร์ทัลอิเล็กทรอนิกส์ในฐานะซัพพลายเออร์ต่างประเทศของกรมสรรพากร และได้รับรหัสภาษี (MST) 9000001289 บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีของไตรมาสที่สาม โดยรายงานว่าไม่มีรายได้พร้อมกับเอกสารแนบ คำอธิบาย รายได้ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมจะประกาศในรายการภาษีของไตรมาสที่สี่

    กระทรวงการคลังได้สั่งให้กรมสรรพากรเร่งรัดการรายงานและยื่นรายได้ของไตรมาสที่ 4/2567 ของ Temu ภายในวันที่ 30 มกราคม 2568 ตามข้อกำหนดทางกฎหมาย

    การทำงานร่วมกันระหว่างกรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ามีความสำคัญอย่างมากในการดูแลให้มีการจัดการภาษีในเวลาที่เหมาะสม และครอบคลุมถึงการออกใบอนุญาตสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

    กระทรวงการคลังยังเสนอให้แก้ไขกฎหมายการจัดการภาษี เพื่อรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ์ให้รับผิดชอบการหักภาษีและการชำระเงินในนามของธุรกิจแต่ละรายบนแพลตฟอร์ม

    เมื่อเร็วๆนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เช่น Temu, Shein และ 1688 ได้ดำเนินธุรกิจในเวียดนามโดยไม่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

    เวียดนามเล็งฟื้นโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์

    ที่มาภาพ: https://en.vneconomy.vn/absolute-safety-a-must-for-nuclear-power-official.htm
    รัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) ให้พิจารณาการนำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาดำเนินการ นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567

    การยื่นข้อเสนอดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีแหล่งจ่ายไฟเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่รวดเร็วและยั่งยืน นายกรัฐมนตรีฝ่ามกล่าว

    รัฐบาลคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น 12-13% ในปี 2568 และสูงถึง 1,200 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2588 แทนที่จะเป็น 1,000 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8

    รัฐบาลกำลังแก้ไขกฎหมายว่าด้วยไฟฟ้า ซึ่งจะครอบคลุมถึงกลไกในการสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

    เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน สมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนมากเรียกร้องให้เริ่มโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิญถ่วนอีกครั้งโดยเร็วที่สุด ท่ามกลางความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น

    ในเดือนพฤศจิกายน 2559 รัฐสภามีมติยุติโครงการดังกล่าวเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โครงการนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สองแห่งที่มีกำลังการผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ในจังหวัดทางตอนกลาง

    กัมพูชาวางแผนพัฒนาทางรถไฟมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/-10-billion-railway-development-plan-to-drive-economic-growth
    รัฐบาลกัมพูชากำลังจัดทำแผนสำหรับการพัฒนาโครงการรถไฟหลัก 8 โครงการ< โดยคาดว่าจะมีการลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการยกระดับภาคการขนส่งและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    ผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์ได้เน้นย้ำว่าการขยายเครือข่ายระบบรางจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ

    ตามรายงานความคืบหน้ารอบครึ่งปีแรกประจำปี 2567ของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ซึ่งหนังสือพิมพ์ Phnomphen Post ได้มาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน เครือข่ายรถไฟของประเทศในปัจจุบันประกอบด้วยเส้นทางหลัก 2 เส้นทาง รวมระยะทาง 652 กิโลเมตร

    เส้นแรกทางภาคเหนือยาว 386 กิโลเมตร เชื่อมพนมเปญกับเมืองชายแดนปอยเปต ในขณะที่เส้นที่สองทางใต้ยาว 266 กิโลเมตร เชื่อมต่อเมืองหลวงกับสีหนุวิลล์

    รายงานเปิดเผยว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางของรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การยกระดับรางที่มีอยู่ให้เป็นรถไฟความเร็วสูง และพัฒนาเส้นทางรถไฟใหม่ กัมพูชามีโครงการรถไฟ 8 โครงการที่วางแผนไว้ ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสี่โครงการในนั้นมีกำหนดไว้ระหว่างปี 2566 ถึง 2570 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่อีกสี่แห่งที่เหลือมีกำหนดในปี 2571 ถึง 2576 คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุน 6.21 พันล้านดอลลาร์

    “รัฐบาลได้เปิดตัวยุทธศาสตร์การพัฒนาทางรถไฟที่ครอบคลุม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการขนส่งแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2576 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบทางรถไฟมีประสิทธิภาพ ทันเวลา และคุ้มต้นทุนมากขึ้น” รายงานระบุ

    กระทรวงฯ ชี้แจงว่าโครงการส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ส่วนหนึ่งของการพัฒนาตามแผนนั้น การปรับปรุงเส้นทางรถไฟพนมเปญ-ปอยเปต อยู่ระหว่างการศึกษาโดยกรมรถไฟของกระทรวง ร่วมกับ CRBC (China Railway Construction Corporation) และบริษัท Royal Railway Cambodia

    นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟใหม่ที่เชื่อมต่อพนมเปญกับสนามบินนานาชาติเตโช ในจังหวัดกันดาล และเมืองเสียมราฐไปยังสนามบินนานาชาติอังกอร์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยร่วมมือกับ China Metro

    “แผนพัฒนาทางรถไฟจัดทำบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม และการคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไปของกัมพูชา โดยผสมผสานประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาค” รายงานระบุ

    นายเจีย จันดารา ประธานสมาคมธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในกัมพูชา กล่าวกับ Phnomphen Post เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ว่าเขาเชื่อว่าการปรับปรุงและขยายระบบทางรถไฟมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา การขนส่งทางรถไฟคาดว่าจะให้ประโยชน์หลายประการแก่เศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คนในปริมาณมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการใช้จ่ายของรัฐบาลในการบำรุงรักษาถนน

    “การพัฒนาระบบรางจะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ค่าขนส่งที่ต่ำจะช่วยลดราคาสินค้าในตลาดด้วย”

    ฮง วานาค นักเศรษฐศาสตร์จากราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า การขนส่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีอิทธิพลต่อทั้งอุปสงค์และอุปทานตลอดจนราคา การเสริมสร้างความเข้มแข็งและขยายรูปแบบการขนส่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ ถนน ทางน้ำ หรือทางอากาศ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เและชี้ว่าการขนส่งทางรถไฟได้รับความนิยมทั่วโลกเนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ความจุสูง และปัญหาความแออัดน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางถนน

    นอกจากนี้เขายังเชื่อว่าการพัฒนาทางรถไฟสามารถกระตุ้นการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติของกัมพูชาได้

    “ด้วยโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่ดีและการเชื่อมต่อที่ดีขึ้นไปยังจุดหมายปลายทางหลักๆ กัมพูชาจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศผ่านการลดต้นทุนการผลิต”

    สถิติจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม การค้าของกัมพูชากับประเทศหุ้นส่วนทั้งหมดมีมูลค่ารวม 45.06 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ซึ่งมีมูลค่ารวม 38.67 พันล้านดอลลาร์

    การส่งออกมีมูลค่า 21.57 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16% จาก 18.59 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23.49 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.5% จาก 20.07 พันล้านดอลลาร์

    สปป.ลาวเปิดรับคนลาวต่างแดนกลับมาลงทุนในประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_221_y24/freefreenews/freecontent_221_Govtopen_y24.php

    รัฐบาลลาวได้เปิดตัวโครงการริเริ่มใหม่เพื่อส่งเสริมให้ ชาวลาวที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและผู้ที่มีเชื้อสายลาว เชื่อมโยงกับบ้านเกิดอีกครั้ง และพิจารณาโอกาสในการลงทุนเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม

    การพบปะครั้งแรกกับชาวลาวในต่างประเทศมีขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่เวียงจันทน์ในแนวคิด “รักบ้านเกิด” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการความสัมพันธ์ของคนลาวในต่างประเทศ(Committee on Relations of Lao People Abroad) และแนวร่วมลาวเพื่อการพัฒนาประเทศ(Lao Front for National Development)

    งานดังกล่าวเป็นเวทีสำหรับการพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายของลาว การพัฒนาประเทศ และช่องทางการลงทุนที่มีศักยภาพ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสะเหลิมไซ กมมะสิต เป็นประธาน

    นายสะเหลิมไซสนับสนุนให้ชาวลาวที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศมาเยี่ยมครอบครัวและเชื่อมโยงกับรากเหง้าอีกครั้ง โดยเน้นย้ำถึงความเปิดกว้างของรัฐบาลต่อผู้ที่ต้องการลงทุนและสร้างอาชีพในลาว

    “เรายินดีต้อนรับผู้ที่มีความสามารถในการลงทุนในบ้านเกิดของตนอย่างอบอุ่น” นายสะเหลิมไซกล่าวและว่า รัฐบาลหวังว่าจะเห็นการมีส่วนร่วมมากขึ้นจากชุมชนลาวในต่างประเทศในการขับเคลื่อนการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองในระดับหมู่บ้าน

    นายบุนเหลือ พันดานุวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่ามีชาวลาวจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ

    แม้จะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่นายบุนเหลือชี้ว่า ชาวลาวในต่างประเทศจำนวนมากยังคงรักษาความเชื่อมโยงอันแน่นแฟ้นกับมรดกทางวัฒนธรรม โดยรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีของลาวที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น

    “ความสัมพันธ์ของพวกเขากับวัฒนธรรมและประเพณีของเรายังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันก็ตาม” นายบุนเหลือกล่าว

    รัฐบาลตระหนักถึงคุณค่าของชาวลาวพลัดถิ่นมาเป็นเวลานาน และได้ดำเนินมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อกับลาว เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานในปี 2550 เพื่อให้การสนับสนุนทางกฎหมาย

    ในปี 2564 รัฐบาลได้ออกกฎหมายที่อนุญาตให้สถานทูตลาวสามารถออกวีซ่าเข้าออกได้หลายครั้งซึ่งมีอายุ 6 เดือน หนึ่งปี หรือ 2 ปี ให้กับบุคคลที่มีสิทธิ์ โดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการดำเนินการสำหรับผู้ที่ยื่นคำขอที่สถานทูตหรือสถานกงสุลลาว จากการให้ข้อมูลของนายบุนเหลือ

    ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์(Vientiane Times) นายจอมคำ หลวงลาด ประธานความสัมพันธ์ลาวในฝรั่งเศส (Lao Relations in France) เน้นย้ำข้อเสนอนโยบายที่สำคัญสำหรับชาวลาวที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ

    “สิ่งที่คนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศต้องการมากที่สุด คือ การที่รัฐบาลให้สิทธิ์แก่พวกเขาในการอยู่พำนักในลาวอย่างถาวร” เขากล่าว โดยเน้นย้ำว่าต้องเป็นกระบวนการที่รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น

    นายจอมคำเสนอแนะให้คนลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นได้รับอนุญาตให้ถือครองที่ดินในประเทศลาว ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้คนมาลงทุนและตั้งถิ่นฐานในประเทศมากขึ้น

    “แนวทางนี้สามารถดึงดูดลูกหลานชาวลาวในต่างประเทศให้ไปเยี่ยมบ้านบรรพบุรุษของพวกเขาได้”

    ในระหว่างการประชุม ตัวแทนคนลาวต่างประเทศได้แบ่งปันประสบการณ์และมุมมอง โดยการหารือในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่ผู้พลัดถิ่นชาวลาวในฝรั่งเศส การสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวชาวลาวอพยพรักษาภาษาและวัฒนธรรมของตน การจัดให้มีพระภิกษุลาวทั่วยุโรป และการประเมินโอกาสทางธุรกิจในลาว

    เวทีดังกล่าวยังได้หาแนวทางที่ชุมชนลาวในต่างประเทศสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและทรัพยากรมนุษย์ในประเทศลาว

    การประชุมเสร็จสิ้นลงโดยผู้เข้าร่วมแบ่งปันข้อเสนอแนะและเสนอแนวคิดที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนชาวลาวในต่างประเทศ และมีการเสวนาเน้นถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจถึงความต้องการของชุมชนลาวในต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างบทบาทของพวกเขาในการพัฒนาประเทศลาว