ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ธนาธร’จี้นายกฯ ทบทวนสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 MW หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน – ปชช.จ่ายค่าไฟแพง

‘ธนาธร’จี้นายกฯ ทบทวนสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 MW หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน – ปชช.จ่ายค่าไฟแพง

28 ตุลาคม 2024


นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

‘ธนาธร’ทำ จม.เปิดผนึกถึงนายกฯ ขอให้ทบทวนรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 MW หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน – ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงโดยไม่จำเป็น

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เวลา 17.04 น. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยขอให้ทบทวนการการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน

นายธนาธร ระบุว่า ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น เพราะไม่เห็นด้วยกับการประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่ท่านนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง เป็นประธาน

ผมเห็นว่าการรับซื้อพลังงานครั้งนี้ รับซื้อด้วยราคาที่แพงเกินไป ไม่มีการเปิดประมูล เพื่อให้มีการแข่งขัน ซึ่งหากดำเนินการต่อไป อาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้รัฐ และประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินไปโดยไม่จำเป็น

การจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ครั้งนี้ ใช้ราคา และหลักการเดียวกับการจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกกะวัตต์ในปี 2565 สมัยที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรี การจัดซื้อครั้งนั้น มีเอกชนเสนอขายมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลต้องการซื้อถึง 3.3 เท่าตัว (ต้องการซื้อ 5,200 เมกะวัตต์ เอกชนเสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคารับซื้อสูงเกินกว่าราคาตลาด จึงมีเอกชนสนใจเสนอขายจำนวนมาก

ในฐานะที่นางสาวแพทองธาร เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ผมขอให้ท่านทบทวนนโยบายการจัดซื้อพลังงาน 3,600 เมกะวัตต์นี้เสียใหม่ ซึ่งการประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ และลงนามในสัญญาปีหน้า ยังไม่สายเกินไปที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเป็นไปด้วยความเป็นธรรม

“และในการตอบกระทู้สดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในสภาผู้แทนราษฎร นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ตอบนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ผู้ตั้งกระทู้ ว่าท่านเห็นด้วยว่าเงื่อนไขมีข้อบกพร่อง และรับปากกับสภาว่าจะทบทวนการซื้อพลังงานครั้งนี้เช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ผมจำเป็นต้องเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่า อำนาจในการหยุดยั้งแก้ไข ไม่ได้อยู่ที่ท่านรัฐมนตรี แต่อยู่ที่ตัวท่านนายกฯ เอง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

“อย่าให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเป็นโอกาสให้กลุ่มทุนร่ำรวยขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยนวัตกรรมใดๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ อย่าให้ประชาชนต้องรับภาระการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม จากการประเมินเบื้องต้น หากการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ดำเนินต่อไปด้วยเงื่อนไขปัจจุบัน รัฐจะจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็น หากเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมถึง 66,000 ล้านบาท (พิจารณาจากมูลค่าปัจจุบัน)”

ท่านนายกรัฐมนตรีมีทางเลือกคือ หากต้องการดำเนินนโยบายนี้ต่อ ผมขอให้มีการประมูล ให้เอกชนแข่งขันกัน ไม่ใช่กำหนดราคาตายตัว เช่นเงื่อนไขปัจจุบันหรือเงื่อนไขแบบ 5,200 เมกะวัตต์ของปี 2565 หรือ ใช้กลไก Direct PPA ที่มีอยู่ ที่เปิดให้ผู้ผลิตซื้อขายกับผู้ใช้ได้โดยตรง

ไปไกลกว่านั้น หากท่านต้องการปฏิรูปอุตสาหกรรมพลังงานอย่างจริงจัง ท่านมีทางเลือก คือ การยุติการจัดซื้อครั้งนี้ ปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตและการขายพลังงาน ให้เกิดการแข่งขันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม สอดคล้องต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด

ท่านนายกรัฐมนตรีย่อมทราบดีว่าพรรคเพื่อไทย ก็มีนโยบายที่ต้องการจะลดราคาพลังงาน และปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการบริหารจัดการพลังงานเช่นกัน การรับซื้อพลังงาน 3,600 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำลังทำอยู่นี้ ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงต่อแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทย

ค่าไฟแพงไม่ใช่ความบังเอิญ และไม่ใช่ผลจากการแข่งขัน แต่มาจากนโยบายรัฐ 20 ปีที่ผ่านมา เราปล่อยให้นโยบายพลังงาน สร้างกลุ่มทุนพลังงานที่รวยเป็นแสนล้านขึ้นในประเทศไทย ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้นมหาศาล รัฐออกนโยบายเอื้อกลุ่มทุนผูกขาด ส่วนประชาชนต้องแบกรับผลกระทบในฐานะเป็นคนจ่ายค่าไฟ

วันนี้ ท่านมีอำนาจที่จะพิจารณาชะลอ หยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัตินี้ ผมหวังว่าท่านจะใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้ประชาชน ขอแสดงความนับถือลงชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ…

  • นายกฯเคาะซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668 MW ยันไม่มี “ค่าพร้อมจ่าย” – ดันไฟฟ้าสำรองเพิ่ม