ThaiPublica > เกาะกระแส > 9 ปี นโยบายข้าว จาก “ประยุทธ์” ถึง “เศรษฐา” ยังวนเวียน ‘แจกเงิน’ เกษตรกรไทย

9 ปี นโยบายข้าว จาก “ประยุทธ์” ถึง “เศรษฐา” ยังวนเวียน ‘แจกเงิน’ เกษตรกรไทย

6 มกราคม 2024


‘ข้าว’ สินค้าเกษตรและพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย

ข้าวยังเป็นสินค้าเกษตรที่ใช้พื้นที่ในสัดส่วนสูงสุดเกือบ 50% เมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ

ปี 2566 ได้ผลผลิตรวมกว่า 34.08 ล้านตัน พื้นที่เพาะปลูก 74.2 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปี 62.9 ล้านไร่ ผลผลิต 26.7 ล้านตัน และข้าวนาปรัง 11.3 ล้านไร่ ผลผลิต 7.3 ล้านตัน มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกือบ 9 ล้านคน คิดเป็น 7.7 ล้านครัวเรือน

แต่คนปลูกข้าวโดยส่วนใหญ่ยังยากจน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องได้รับการเยียวยาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

‘ไทยพับลิก้า’ สำรวจนโยบายเกี่ยวกับข้าว 3 รัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์สมัย 2 จากการเลือกตั้ง จนมาถึงรัฐบาลเศรษฐา พบว่ารัฐบาลยังไม่หยุดนโยบาย “แจก” ส่วนจะแจกแบบไหนอย่างไรก็แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น การประกันราคา การให้สินเชื่อ พักชำระหนี้ รวมถึงการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการอุดหนุนทางตรง เช่น การให้เงิน เมล็ดพันธุ์ ฯลฯ ส่วนทางอ้อม เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือในวาระต่างๆ โดยรัฐบาลดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งมีทั้งลูกค้ากลุ่มเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และลูกค้าสถาบัน

2557 – 2560 : ยุคแก้หนี้ – แจกเงิน 1,000 บาทต่อไร่

ตามรายงานของ ธ.ก.ส. ระบุว่า ในช่วงปี 2550-2559 เป็นยุคของการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบของเกษตรกร โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

พลเอกประยุทธ์เข้ามาบริหารช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 ให้น้ำหนักนโยบายการให้สินเชื่อกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ขณะที่นโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรงมีเพียงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีเกษตรกรที่ขอขึ้นทะเบียนร่วมโครงการ 103,641 ราย ทั้งนี้ ในรายงานประจำปีของ ธ.ก.ส. ไม่ได้ระบุตัวเลขเม็ดเงินแต่อย่างใด

สำหรับนโยบายเกี่ยวกับสินเชื่อข้าว 5 โครงการ ได้แก่

    (1) มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 3,567,829 ราย เป็นเงิน 38,886.61 ล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายไฮไลท์ของปี เพราะใช้วิธีแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่
    (2) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าาวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ช่วยเหลือเกษตรกร 1,003,413 ราย วงเงินกู้ 29,961.70 ล้านบาท
    (3) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีสถาบันเกษตรกรได้รับอนุมัติ 316 แห่ง เป็นเงิน 12,231.52 ล้านบาท
    (4) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58 ช่วยเหลือเกษตรกร 79,438 ราย เป็นเงิน 6,731.58 ล้านบาท
    (5) สินเชื่อเพื่อเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางเกษตรกร ช่วยเหลือ 9 ราย เป็นเงิน 0.45 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีนโยบายประกันภัยข้าวนาปี โดยมีเกษตรกรร่วมโครงการ 55,567 ราย เบี้ยประกันภัย 360.35 ล้านบาท รวมแล้วปี 2557 รัฐบาลอัดฉีดเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปเกือบ 90,000 ล้านบาท

ปี 2558 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยออกมาทั้งหมด 4 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการพักชำระหนี้ลูกค้า ธ.ก.ส. ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งหมด 71,266 สัญญา เป็นเงิน 5,009.82 ล้านบาท (2) มาตรการสินเชื่อผ่อนปรน (soft loan) ให้สินเชื่อ 787 ราย เป็นเงิน 1,272.43 ล้านบาท (3) โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. ให้เงินทั้งหมด 1,146,286 ราย เป็นเงิน 181,966.69 ล้านบาท และ (4) โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ช่วยเหลือเกษตรกร 39,727 ราย เป็นเงิน 3,873 ล้านบาท

ส่วนนโยบายข้าวปี 2558 มี 3 โครงการ งบประมาณรวม 16,709 ล้านบาท ได้แก่ (1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 ช่วยเหลือเกษตรกร 609,594 ราย เป็นเงิน 456.97 ล้านบาท (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 อนุมัติเงินกู้ 244 แห่ง วงเงิน 9,343.55 ล้านบาท และ (3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 จ่ายสินเชื่อให้เกษตรกร 64,343 ราย เป็นเงิน 5,803.70 ล้านบาท และจ่ายสินเชื่อให้สหกรณ์ 42 แห่ง เป็นเงิน 1,105.74 ล้านบาท รวมช่วยเหลือเกษตกรผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 74,385 ราย เป็นเงิน 6,904.44 ล้านบาท

ในปี 2559 รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ผุดไอเดียบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘บัตรคนจน’ โดยใช้โอนเงินสวัสดิการของรัฐเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ออกโครงการคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะ นั่นคือ ‘โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือเกษตรกร’ โดยโอนเงินผ่านระบบ ธ.ก.ส. เข้าบัญชีเกษตรกร 1,822,695 ราย เป็นเงิน 9,889.05 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปี 2559 รัฐบาลยังคงอุ้มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ออกมาทั้งสิ้น 4 โครงการหลัก และมาตรการคู่ขนาน งบประมาณรวม งบประมาณ 198,972.62 ล้านบาท ได้แก่

(1) โครงการโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 จ่ายสินเชื่อ 3,874,408 ราย เป็นเงิน 32,165.68 ล้านบาท

(2) โครงการเพื่อแบ่งเบาหนี้สินด้วยการพักต้นเงินและลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ไป 1,397,955 ราย เป็นเงิน 118,276.09 ล้านบาท โดยมีมาตรการคู่ขนานคือ โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

(3) โครงการเพื่อสนับสนุนสินเชื่อตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ให้สินเชื่อ 2,470,357 ราย กลุ่มเกษตรกร 58 กลุ่ม สถาบันเกษตรกร 280 แห่ง เป็นเงิน 47,921.16 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแปลงใหญ่ ปีการผลิต 2559/60 โดยมีมาตรการคู่ขนานคือ โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ, โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 และโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 และ (4) โครงการเพื่อการคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 จ่ายสินไหมทดแทนเป็นเงิน 639.69 ล้านบาท

ปี 2560 มีโครงการข้าว 3 โครงการ และมาตรการคู่ขนาน ใช้เงินไป 140,177.95 ล้านบาท ได้แก่

(1) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 โดยมีมาตรการคู่ขนานคือการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560/61 เกษตรได้รับสินเชื่อ 3,846,471 ราย เป็นเงิน 111,848.28 ล้านบาท

(2) โครงการสนับสนุนสินเชื่อตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ช่วยเหลือเกษตรกร 220,937 ราย สถาบันเกษตรกร 404 แห่ง วิสาหกิจชุมชน 14 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 9 กลุ่ม เป็นเงิน 25,512.08 ล้านบาท โดยมีมาตรการคู่ขนานคือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2560/61 และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61

(3) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 จำนวน 265,544 ราย จ่ายสินไหมทดแทนรวม 2,817.59 ล้านบาท

2561 – 2562 : มาตรการชะลอการขายข้าวหอมมะลิ

ผ่านมาครึ่งทางของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์สมัยที่ 1 ในปี 2561 นโยบายการช่วยเหลือเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมที่เน้นการจ่ายเงินอุดหนุนเป็นการจ่ายเงินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ ธ.ก.ส. ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นต้นมา คือทศวรรษของการพัฒนาชนบทและภาคการเกษตรครบวงจร

นโยบายการเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งครอบคลุมเกษตรกรทุกกลุ่มมี 4 โครงการ ได้แก่

(1) มาตรการเกษตรประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 562,205 ราย มีการใช้จ่ายเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตผ่านบัตรฯ เป็นเงิน 2,401 ล้านบาท

(2) มาตรการส่งเสริมปรับเปลี่ยนการผลิต 13,550 ราย และกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน 1,390 กลุ่ม

(3) มาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตรและส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกล 27 ราย และกลุ่มเกษตรกร 328 กลุ่ม

(4) มาตรการปรับโครงสร้างการผลิตและความมั่นคงทางอาหารด้านปศุสัตว์

ส่วนนโยบายข้าวในรายงานประจำปีของ ธ.ก.ส. ระบุว่ามีเพียง 1 โครงการ โดยเอาไปใส่ในหมวดการสร้างมูลค่าเพิ่ม 5 พืชเศรษฐกิจหลัก เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่มีอย่างละ 1 โครงการเช่นกัน ประกอบด้วย (1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4,455,269 ราย สถาบันเกษตรกร 271 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 5 กลุ่ม วิสาหกิจชุมชน 16 แห่ง (2) มาตรการพัฒนายางพาราทั้งระบบ 766,872 ราย สถาบันเกษตรกร 565 แห่ง (3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 232,868 ราย (4) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 225 ราย สถาบันเกษตรกร 31 แห่ง และ (5) มาตรการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวโพด ทั้งนี้ไม่ได้มีการระบุตัวเลขเม็ดเงินรายมาตรการ

แม้ปี 2562 จะสิ้นสุดรัฐบาลพลเอกประยุทธ์สมัยแรก แต่ผลการเลือกตั้งและคะแนนเสียงของ ส.ว. ส่งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกฯต่อในทันที โดยในปีนี้มีนโยบายที่เกี่ยวกับข้าวจำนวน 3 โครงการ ใช้เงินไปไม่น้อยกว่า 70,776.53 ล้านบาท ได้แก่

    (1) มาตรการชดเชยส่วนต่างรายได้ให้เกษตรกรตามราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเปรียบเทียบกับราคาประกันรายได้
    (2) มาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯ 3 โครงการ ได้รับความช่วยเหลือ 4,463,526 ครัวเรือน เป็นเงิน 68,183.39 ล้านบาท
    (3) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 มีเกษตรกรร่วมโครงการ 2,156,996 ราย ค่าเบี้ยประกันภัย 2,593.14 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนสินเชื่อที่เกี่ยวกับข้าวเปลือก ใช้เงิน 25,826.8 ล้านบาท คือ (1) มาตรการชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ รวมถึงข้าวเหนียวในช่วงที่มีปริมาณมากเกินความต้องการตลาด 6 โครงการ เกษตรได้รับสินเชื่อ 259,316 ราย คิดเป็นยอดเงินสนับสนุนสินเชื่อ 18,349 ล้านบาท และ (2) เสริมสภาพคล่องให้กับระบบสหกรณ์เป็นทุนหมุนเวียนในการธุรกิจการรวบรวมรับซื้อข้าวเปลิือกและมันสำปะหลังจากเกษตรกร 2 โครงการ มีสถาบันได้รับสินเชื่อ 156 แห่ง ยอดสินเชื่อ 7,477.80 ล้านบาท

รวมแล้วปี 2562 รัฐบาลใช้เงินกับนโยบายที่เกี่ยวกับข้าว 96,603.33 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี งบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรในปี 2562 ยังคงพุ่งเป้าไปที่การดูแลภาระหนี้สินผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งหมด 1.17 ล้านราย คิดเป็นเงิน 317,746.38 ล้านบาท

2563 – 2566 : โควิด-19 จ่ายเงินเยียวยา – พักชำระหนี้ – สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

เข้าสู่ช่วงวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563 รัฐบาลงัดมาตรการระยะสั้นอย่างการโอนเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 7,564,682 ราย เป็นเงิน 113,304.33 ล้านบาท อีกทั้งพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอก 3,009,119 ราย เป็นเงิน 938,466 ล้านบาท

ที่สำคัญคือโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชาวสวนยาง มันสำปะหลัง สวนปาล์มน้ำมัน ทั้งหมด 6,973,086 ราย รวมเป็นเงิน 57,928.34 ล้านบาท และมีโครงการประภัยข้าวนาปี ถูกจัดในโครงการประกันภัยพืชผล มีเกษตรกรได้รับการประกัน 3,582,617 ราย ค่าเบี้ยประกัน 4,414.36 ล้านบาท

ปี 2563 มีมติ ครม. สั่งการโดยตรง คิดเป็นเม็ดเงินรวม 23,082 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (3) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (4) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมผลไม้ (5) โครงการสินเชื่อเพิ่มเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการการประมง (6) โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ (7) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ บรรเทาความเดือดร้อนจากภาระต้นทุนการผลิต

นอกจากนี้มีโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 5.066,729 ราย เป็นเงิน 66,346.28 ล้านบาท

ปี 2564 รัฐบาลยังคงเน้นเรื่องการเยียวยา ได้แก่ (1) โครงการพักชำระหนี้ (พักหนี้โควิดภาคสมัครใจ) ให้ความช่วยเหลือเป็นเงิน 516,679.44 ล้านบาท (2) โครงการชำระดีมีคืน 1,024.32 ล้านบาท และ (3) โครงการนาทีทองลดดอกเบี้ยสู้โควิด คืนดอก 1,258.81 ล้านบาท

นอกจากนี้มีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คิดเป็นเม็ดเงิน 667,971 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (2) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (3) สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง (4) โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (5) โครงการสินเชื่อธุรกิจ ชุมชนสร้างไทย (6) โครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ (7) โครงการสินเชื่อนวัตกรรมดีมีทุน และ (8) โครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19

ส่วนนโยบายที่เกี่ยวกับข้าว จัดอยู่ในกลุ่มโครงการประกันพืชผล 5 ชนิด ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เกษตรกรได้ความช่วยเหลือ 5,193,572 ราย เป็นเงิน 88,363.94 ล้าน

ปี 2565 ยังคงมุ่งเน้นไปที่การช่วยเกษตรกรจากโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 3 หมวดคือ ลดภาระ จ่ายเงิน และให้สินเชื่อ

หมวดลดภาระ 2 โครงการ เป็นเงิน 5,757 ล้านบาท ได้แก่ (1) โครงการชำระดีมีคืน ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 2,468,244 ราย คืนดอกเบี้ยเป็นเงินทุนใช้จ่ายในครัวเรือน 2,688 ล้านบาท และเมื่อรวมกับโครงการชำระดีมีคืนพลัส จะใช้เม็ดเงินทั้งสิ้น 2,840 ล้านบาท และ (2) โครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน จำนวน 1,077703 ราย จำนวน 2,917 ล้านบาท

หมวดจ่ายเงินช่วยเหลือ 6 โครงการ เป็นเงิน 70,008.74 ล้านบาท ได้แก่ (1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีกาารผลิต 2565/66 จำนวน 2,631,334 ครัวเรือน (2) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 จำนวน 4,643,871 ครัวเรือน (3) โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูกาลผลิต 2565/65 จำนวน 114,890 ราย (4) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 (5) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ปี 2564/65 และ (6) โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ 2565

หมวดสินเชื่อเกษตรกร 6 โครงการ เป็นเงิน 13,719.03 ล้านบาท ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 จำนวน 317,747 ราย (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันการเกษตร ปีการผลิต 2565/66 มีสถาบันการเกษตรได้รับการสนับสนุนสินเชื่อ 58 แห่ง (3) โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน ปี 2564 จำนวนสินเชื่อ 10 ราย (4) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแปลงใหญ่ มีกลุ่มเกษตรกรได้รับการสนับสนุนสินเชื่อ 523 กลุ่ม (5) โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 37,116 ราย และ (6) โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้มีการคุ้มครองข้าวจากภัยธรรมชาติ คือโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เกษตรกรร่วมโครงการ 1,919,198 ราย วงเงิน 1,705.26 ล้านบาท

2566 : รัฐบาลเศรษฐาแจกเงิน 1,000 บาทต่อไร่

ก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน พลเอกประยุทธ์ มีเวลาเหลือเกือบ 9 เดือนในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 มีนโยบายที่สำคัญคือโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่นโยบายที่เกี่ยวกับข้าวมีเพียง 1 โครงการคือ โครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก BCG Model กรอบวงเงิน 877.85 ล้านบาท โดยจัดหาปัจจัยการผลิตและเครื่องจักร ให้กับศูนย์ข้าวชุมชนจำนวน 292 ศูนย์

ถัดมาที่รัฐบาลนายเศรษฐา นโยบายการเกษตรชิ้นแรกและเกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวโดยตรงถูกเสนอโดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร กับโครงการส่งเสริมผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2564 วงเงิน 1,034.98 ล้านบาท

  • 60 วัน รัฐบาลเศรษฐา แจก 2.6 แสนล้านบาท
  • แต่นโยบายเรือธงด้านการเกษตรของรัฐบาลนายเศรษฐา คือมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวนทั้งสิ้น 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 55,038.96 ล้านบาท แบ่งเป็น1.วงเงินสินเชื่อ 44,437 ล้านบาท 2.วงเงินจ่ายขาด 10,601 ล้านบาท วิธีการคือให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรวงเงิน 34,437.00 ล้านบาท เพื่อเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกเข้าสู่ตลาด 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยกำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท

    นอกจากนี้ยังมีโครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าวแจกเงินชาวนา 468,000 ครัวเรือน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท โดยจะมีการจ่ายเงินเกษตรกร 5 งวด เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. – 2 ธ.ค. 2566 ครอบคลุม 21 จังหวัด และใช้เวลา 5 วันจะสามารถจ่ายได้ครบทั้ง 77 จังหวัด กรอบวงเงินรวมกว่า 54,336 ล้านบาท