ณัฐพล เลิศเมธาพัฒน์ และ ชนา กีรติยุตวงศ์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีกระบวนการในการดูแลเศรษฐกิจไทยที่ครอบคลุมทั้งระดับมหภาคผ่าน การติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจ และระดับจุลภาคผ่านโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Business Liaison Program (BLP) โดยมีการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจและลงพื้นที่จริงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างในแต่ละไตรมาส การจัดประชุมหารือในประเด็นที่มีนัยต่อเศรษฐกิจ โครงการผู้บริหาร ธปท. พบผู้ประกอบการในภูมิภาค ตลอดจนการศึกษาเชิงลึก ซึ่งข้อมูลจากการสัมภาษณ์และลงพื้นที่จริงได้เข้ามาเสริมให้การติดตามภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจของ ธปท. มีความรวดเร็วทันกาลและรอบด้าน
รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ซึ่งความรู้ความเข้าใจดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงดังเช่นในปัจจุบัน ในระยะข้างหน้า ธปท. ยังคงมุ่งพัฒนาโครงการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งการยกระดับการวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างความร่วมมือ กับหน่วยงานภายนอกเพื่อร่วมจัดทำผลสำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ รวมทั้งการสานสัมพันธ์กับธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกเพื่อพัฒนามาตรฐานระเบียบวิธีการสำรวจให้ทัดเทียมนานาชาติอยู่เสมอ
หนึ่งในหน้าที่หลักของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. คือการดูแลเศรษฐกิจของไทยให้มีเสถียรภาพและเติบโตได้ในระดับเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้กำหนดทิศทางของนโยบายการเงินผ่านการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผ่านการกลั่นกรองพิจารณาข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ ธปท. นำเสนอในที่ประชุม
หลายคนอาจเข้าใจว่า ธปท. ใช้งานเฉพาะข้อมูลตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการ ซึ่งบางครั้งข้อมูลเหล่านี้อาจไม่สะท้อนความรู้สึกที่ประชาชนและภาคธุรกิจประสบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลเศรษฐกิจที่ถูกเผยแพร่มักเป็นข้อมูลในระดับมหภาคที่เป็นภาพรวม จึงทำให้ไม่สามารถอธิบายถึงเศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ธปท. ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะกับตัวเลขเศรษฐกิจในระดับมหภาคเท่านั้น แต่ติดตามข้อมูลหลากหลายรูปแบบ ทั้งข้อมูลที่ดำเนินการจัดเก็บโดยหน่วยงานอื่น และข้อมูลปฐมภูมิที่จัดเก็บเองโดยมีข้อมูลแบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่สำคัญ คือ แบบสอบถามผู้ประกอบการเดือนละประมาณ 800 ราย ข้อมูลสำรวจความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานรากทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง ที่ ธปท. ร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจสำรวจความเชื่อมั่นของผู้จัดการสาขาธนาคารทั่วประเทศ ตลอดจนข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการลงพื้นที่เพื่อจับชีพจรของเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เพื่อให้แน่ใจว่า กนง. รับทราบภาพสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่หลากหลายมิติและในทุกระดับ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ
การเข้าพบและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและการลงพื้นที่สำรวจเศรษฐกิจจริง เปิดโอกาสให้ได้รับข้อมูลเชิงคุณภาพที่สามารถสนับสนุนข้อมูลสถิติทางการและข้อมูลแบบสำรวจความเชื่อมั่น อีกทั้งช่วยให้เกิดความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม (economic behaviors) ของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังมีความรวดเร็วเท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริง ในรูปแบบที่การวิเคราะห์ข้อมูลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ได้ บทความนี้จะอธิบายถึงบทบาทหน้าที่ในรูปแบบดังกล่าวซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งที่สาธารณชนอาจไม่ทราบนัก
โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP)
การติดตามภาวะเศรษฐกิจผ่านการพูดคุยกับภาคธุรกิจเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหลายธนาคารกลางทั่วโลก เช่น ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve Banks: FED) ออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia: RBA) แคนาดา (Bank of Canada: BOC) อังกฤษ (Bank of England: BOE) และสหภาพยุโรป (European Central Bank: ECB) ซึ่งธนาคารเหล่านี้ได้มีการสำรวจ จัดเก็บ และใช้ข้อมูลดังกล่าว ประกอบการดำเนินนโยบายมาหลายทศวรรษ รวมถึงมีการรวบรวมข้อมูลที่ได้เผยแพร่ออกมาเป็นรายงานทั้งในเชิงคุณภาพ เช่น The Beige Book ของ FED และในเชิงปริมาณตัวเลข เช่น The Agents’ Scores ของ BOE
การทำงานในระดับจุลภาคของ ธปท. เกิดขึ้นผ่านโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ หรือ ที่เรียกว่า Business Liaison Program (BLP) ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นการส่งผู้แทนจาก ธปท. ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบธุรกิจในสาขาต่างๆ รวมถึงสมาคมและองค์กรภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อภาวะและแนวโน้มในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อนำมาประเมินภาพเศรษฐกิจ ร่วมกับข้อมูลระดับมหภาคที่เป็นภาพรวม โดยการทำงานในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบหลัก ดังนี้
1) การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง โดยในแต่ละไตรมาส ผู้แทน ธปท. จากสำนักงานใหญ่ และสาม สำนักงานภาค มีการเข้าพบหรือโทรศัพท์เพื่อขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการประมาณ 200 บริษัท ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ขอสัมภาษณ์เป็นประจำทุกปีเพื่อติดตามภาวะธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มใหม่ๆ เพื่อเป็นการกระจายกลุ่มตัวอย่างให้มีความหลากหลาย สอดรับกับสถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในการกระจายกลุ่มตัวอย่างนั้น ได้ออกแบบให้ครอบคลุมและใกล้เคียงกับโครงสร้างเศรษฐกิจมากที่สุด ทั้งในมิติของอุตสาหกรรม ขนาด และพื้นที่ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างในโครงการ BLP ยังรวมไปถึงสมาคม องค์กรเอกชน และหน่วยงานวิจัยต่างๆ ที่สามารถให้ข้อมูลในลักษณะภาพรวมของอุตสาหกรรมได้อีกด้วย
ทั้งนี้ หากมีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการติดตามข้อมูลเร็วผ่านการโทรศัพท์สัมภาษณ์ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที หรือมีการลงพื้นที่จริงให้ สามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและรอบด้าน เช่น เหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ความล่าช้าของการเบิกจ่ายภาครัฐตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภาวะภัยแล้ง การปรับปรุง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ตลอดจนการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560
2) การจัดประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น (roundtable) ในประเด็นที่มีนัยต่อเศรษฐกิจ โดยระดมความคิดเห็นจากตัวแทนบริษัท หน่วยงาน หรือสมาพันธ์/สมาคม/สภาต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น ในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้เชิญคณะผู้แทนจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับภาวะการบริโภคและการค้าปลีก รวมถึงมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภค และร่วมหารือกับผู้แทนสภาแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เรื่องภาวะตลาดแรงงานและรูปแบบการจ้างงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนในช่วงหลังการปิดเมืองจากสถานการโควิด-19 ได้เชิญผู้แทนแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบหารือเกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มความเป็นอยู่ของผู้ประกอบอาชีพอิสระและตลาดแรงงาน รวมถึงข้อเสนอแนะและมาตรการช่วยเหลือที่แรงงานต้องการจากภาครัฐ
นอกจากนี้ ผู้บริหารของ ธปท. ได้เข้าร่วมประชุมกับสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา นอกจากนี้ ยังได้ประชุมหารือถึงภาวะการลงทุนกับสมาคมการค้า/นักธุรกิจต่างประเทศ เช่น หอการค้าญี่ปุ่นและอเมริกา โดยการจัดประชุมหารือเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ ธปท. ได้รับข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้หลากหลายมุมมองในเวลาเดียวกัน จนกระทั่งนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือนำไปเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐอื่นได้แล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอกอีกด้วย
3) โครงการผู้บริหาร ธปท. พบผู้ประกอบการในภูมิภาค เป็นการหารือกับผู้ประกอบการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. กับผู้ประกอบการภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับภาวะและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค รวมถึงการเยี่ยมชมบริษัทหรือลงพื้นที่ เพื่อให้เห็นการทำงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง โดยในแต่ละปี ธปท. จะมีการลงพื้นที่ในสี่ภูมิภาคหลัก ภาคละหนึ่งครั้ง ซึ่งในปี 2562 คณะทำงานได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เชียงใหม่ อุดรธานี และพระนครศรีอยุธยา
4) การศึกษาวิจัยเชิงลึก โดยใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ทั้งในกลุ่มตัวอย่างรายไตรมาส หรือที่นอกเหนือกลุ่มตัวอย่าง โดยมีการศึกษาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่จากแต่ละสำนักงานภาค และมีการสัมภาษณ์ในประเด็นเชิงลึกที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าการติดตามภาวะเศรษฐกิจตามปกติ เพื่อศึกษาถึงแก่นแท้ของปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการศึกษาวิจัยเชิงลึกในหลายประเด็น เช่น ทัวร์ศูนย์เหรียญ ทุนจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์และการเกษตร ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และพฤติกรรมการตั้งราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ ทำให้ ธปท. เข้าใจถึงปัญหาทางเศรษฐกิจมากขึ้น จึงสามารถจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและสื่อสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
รูปแบบการทำงานในโครงการ BLP มีความหลากหลาย เอื้อให้เกิดการสร้างเครือข่ายผ่านความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกภาคส่วน และทำให้ได้รับข้อมูลที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริง โดย ธปท. มีการดำเนินการด้านธรรมาภิบาลข้อมูลอย่างเข้มงวด ข้อมูลที่ได้รับถือเป็นความลับ และ ธปท. จะสรุปข้อมูลเป็นภาพรวมเพื่อเผยแพร่ในรายงานแนวโน้มธุรกิจเป็นประจำทุกไตรมาส และจะใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพประกอบการประชุมภาวะเศรษฐกิจรายเดือน และการประชุม กนง. อย่างต่อเนื่อง
ประโยชน์ของข้อมูล BLP และการประยุกต์ใช้ในงานของ ธปท.
การดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงจำเป็นต้องพึ่งพาการติดตามภาวะเศรษฐกิจที่รวดเร็วทันการณ์และรอบด้าน รวมทั้งมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากโครงการ BLP มีส่วนช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจของ ธปท. ในการติดตามและประเมินภาพเศรษฐกิจไทยหลายประการด้วยกัน ได้แก่
1) ใช้จับชีพจรเศรษฐกิจร่วมกับข้อมูลสถิติต่างๆ
ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ที่จัดทำและเผยแพร่โดย ธปท. และหน่วยงานอื่น เช่น ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index: PCI) รายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของภาครัฐ และมูลค่าการนำเข้า ส่งออก ถือเป็นหัวใจสำคัญของการติดตามภาวะเศรษฐกิจของ ธปท. เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวมีความแม่นยำและความน่าเชื่อถือสูงจากระเบียบวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมกิจกรรมเศรษฐกิจได้เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี ข้อมูลในลักษณะนี้ต้องอาศัยระยะเวลาในการกระบวนการจัดเก็บ ทำให้มีความล่าช้าในการเผยแพร่หนึ่งถึงสองเดือน ข้อมูลจากโครงการ BLP จึงเข้ามามีบทบาทเสริมภาพ การประเมินภาวะเศรษฐกิจในลักษณะม้าเร็ว เนื่องจากมีความเป็นปัจจุบันมากกว่า รวมทั้งผู้ให้สัมภาษณ์ยังสามารถบอกเล่าถึงมุมมองแนวโน้ม ในระยะข้างหน้าได้อีกด้วย
นอกจากประโยชน์ด้านการติดตามภาวะเศรษฐกิจรายเดือนแล้ว ข้อมูล BLP ยังเข้ามาช่วยประเมินสถานการณ์และผลกระทบเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท. ได้ติดต่อพูดคุยกับภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทำให้ได้ทราบว่าผลกระทบได้กระจายเป็นวงกว้างและรุนแรงไปในหลายกลุ่มธุรกิจ ไม่จำกัดเพียงแค่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเท่านั้น แม้แต่ภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น มังคุดและลำไยที่อุปสงค์จากจีนลดลง รวมถึงภาคการผลิตที่เผชิญปัญหาทั้งด้านคำสั่งซื้อที่ลดลง และด้านการผลิตที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากจีน โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มผลิตยานยนต์ที่ในช่วงแรกมีวัตถุดิบคงคลังเหลือเพียงพอสำหรับการผลิตอีกเพียงหนึ่งถึงสองเดือนเท่านั้น
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญ คือ ภัยแล้งนอกฤดูกาลในช่วงกลางปี 2562 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้าง เจ้าหน้าที่ ธปท. ทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานภาคจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพูดคุยกับเกษตรกรในหลายจังหวัดเพื่อประเมินผลกระทบเบื้องต้น โดยได้นำข้อมูลจากการสัมภาษณ์มาประมวลร่วมกับข้อมูลสถิติทางการ ทำให้ ธปท. ประเมินขนาดและความรุนแรงตลอดจนระยะเวลาของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และใช้นำเสนอสำหรับการประชุม กนง. เพื่อจับชีพจรเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็วทันการณ์
2) เติมช่องว่างของข้อมูลในการประเมินวัฏจักรเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
การพูดคุยกับภาคธุรกิจมีส่วนช่วยให้ ธปท. เข้าใจภาคเศรษฐกิจจริงได้ลึกซึ้งกว่าการวิเคราะห์จากตัวเลขสถิติเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะนำไปสู่การตรวจจับสัญญาณสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและด้านวัฏจักรเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจ ช่วยแยกภาพของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างออกจากภาวะตามวัฏจักรเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า ที่เศรษฐกิจเติบโตชะลอลงพร้อมกับการจ้างงานในภาคการผลิตที่ลดลงตามไปด้วย ซึ่งหากมองจากตัวเลขสถิติเพียงอย่างเดียวอาจประเมินว่าการลดลงของการจ้างงานเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับสมาคมและบริษัทขนาดใหญ่ในภาคการผลิตหลายแห่ง ทำให้พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มมีการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในสายการผลิตมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและอัตราการเปลี่ยนงานของพนักงานที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อมาอาจไม่ได้เอื้อให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นมากดังเช่นในอดีต
นอกจากนี้ มีหลายครั้งที่การสอบถามภาวะธุรกิจได้นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นเชิงโครงสร้างที่สำคัญ เช่น การสัมภาษณ์ภาคธุรกิจในช่วงปี 2562 พบว่า รูปแบบการจ้างงานของภาคการผลิตเปลี่ยนแปลงจากการจ้างประจำเป็นรายเดือนไปสู่ลักษณะรายวันหรือสัญญาจ้างมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มที่เป็นสัญญาจ้างอยู่แล้วก็มีการปรับอายุสัญญาให้สั้นลง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับเพิ่มหรือลดจำนวนแรงงานตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่ในระยะหลังมีความผันผวนมากขึ้นจากภาวะการค้าโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งโดยปกติการจ้างงานในลักษณะดังกล่าวจะพบมากในกลุ่มบริการร้านอาหารและโรงแรม แต่ในระยะหลังได้แพร่หลายไปในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ ส่งผลให้ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น
และอีกตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เชิงโครงสร้างสำคัญที่ ธปท. ได้รับข้อมูลจากการสัมภาษณ์ คือการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนจีนและมีการนำบริษัทจีนเข้ามาทั้งซัพพลายเชนในหลายกลุ่มธุรกิจมากขึ้นผ่านวิธีการทุ่มราคาเพื่อเจาะตลาด ซึ่งสามารถทำได้ง่ายเนื่องจากกลุ่มทุนจีนมีข้อได้เปรียบทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ดีกว่า ทำให้ตั้งราคาได้ต่ำกว่า และด้านเงินทุนที่มากกว่า ทำให้ทนการขาดทุนได้นานกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยโดยเฉพาะรายย่อยจึงไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ ธปท. เร่งเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อร่วมผลักดันนโยบายที่เหมาะสมกับ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากขึ้น
3) เสริมภาพการพยากรณ์เศรษฐกิจ
ธปท. มีการเผยแพร่ประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งข้อมูล BLP เข้ามามีบทบาทในแง่ของการสอบทานข้อสมมติและผลประมาณการ เช่น การสัมภาษณ์สมาคมโรงแรม สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายแห่ง ทำให้ได้ทราบว่านักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาหลังเหตุการณ์เรือล่มในเดือน ก.ค. 2561 มีจำนวนวันพำนักและ การใช้จ่ายที่ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้า ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยให้การตั้งข้อสมมติเพื่อประมาณการการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวหลังเหตุการณ์เรือล่มเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อมูล BLP เพื่อสอบทานผลการประมาณการอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขที่ได้จากแหล่งที่มาและแบบจำลองที่ต่างกันให้ผลที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น การใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บริษัทขนาดใหญ่ ในภาคการค้าเพื่อยืนยันตัวเลขประมาณการ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน
4) ให้ภาพหรือข้อมูลที่ไม่มีการเผยแพร่
โครงการ BLP ของ ธปท. มีการพัฒนากระบวนการสำรวจทั้งในแง่ของกลุ่มตัวอย่างและรูปแบบคำถามอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเสริมช่องว่างในการวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ตัวเลขทางสถิติยังไม่ครอบคลุม เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจฐานราก ที่ได้จากการสัมภาษณ์ธุรกิจร้านค้าปลีกท้องถิ่น และการลงพื้นที่จริงเพื่อติดตามภาวะ รวมถึงข้อมูลสำรวจความเชื่อมั่นของครัวเรือนฐานรากที่สอบถามจากผู้จัดการสาขาธนาคาร (Relationship Manager Sentiment Index: RMSI) รายเดือน ที่เกิดจากความร่วมมือกับธนาคารออมสินและและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านโครงการ BLP ขณะที่ข้อมูลทางสถิติยังให้เพียงภาพการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมเท่านั้น สำหรับการประเมินภาวะธุรกิจขนาดกลางและ ขนาดเล็ก SME ธปท. ได้ติดตามและพูดคุยกับสมาคมภาคเอกชนในสาขาต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เห็นภาพของธุรกิจ SME ที่อาจมีความแตกต่างไปจากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ ในระยะหลังผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้นผ่าน e-Commerce Platform และ Online Travel Agency (OTA) ที่ตัวเลขสถิติและดัชนีชี้วัดการบริโภคและการท่องเที่ยวจากช่องทางดั้งเดิมอาจยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ ธปท. จึงหารือกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวอยู่เป็นประจำเพื่อนำข้อมูลมาช่วยเสริมการประเมินภาพเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าข้อมูล BLP มีส่วนช่วยยกระดับการติดตามเศรษฐกิจในระดับจุลภาค รวมถึงเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจและดัชนีชี้วัดแบบดั้งเดิมยังไม่ครอบคลุมด้วย
5) เป็นช่องทางสื่อสารนโยบายกับภาคเอกชน
การออกไปพบปะพูดคุยกับภาคธุรกิจยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารนโยบายของ ธปท. รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจซักถามเพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ตลอดจนเสนอแนะนโยบายที่เหมาะสมในการลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจจากมุมมองของหน่วยเศรษฐกิจจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ ธปท. จะมีการนำเสนอนโยบายที่ได้รับการเสนอแนะจากภาคธุรกิจเหล่านี้ให้กับผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
ในช่วงที่มีเหตุการณ์เร่งด่วน เช่น เหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ธปท. ได้มีการพูดคุยกับหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะเพื่อประเมินผลกระทบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ด้วย โดย ธปท. พยายามประสานกับสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และผลักดันมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
ทิศทางของโครงการ BLP ในระยะข้างหน้า
ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการภาคเอกชนและลงพื้นที่ในโครงการ BLP นั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมินภาพเศรษฐกิจ ช่วยให้ รู้เร็ว (timeliness) รู้ลึก (insight) และ รู้รอบ (well-round) ธปท. จึงพัฒนาโครงการ BLP อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการสำรวจและการวิเคราะห์ข้อมูล โดยในระยะข้างหน้าจะมุ่งพัฒนาสามด้านหลัก คือ
1) ยกระดับการวิเคราะห์ข้อมูลสำรวจที่มีอยู่ด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น การทำ text mining ด้วยเทคนิค topic modeling และ sentiment analysis ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจที่ ธปท. จัดเก็บไว้ตลอด 16 ปีที่ได้ดำเนินโครงการมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มมุมมองการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งมากขึ้น รวมทั้งประยุกต์ใช้วิธีวิเคราะห์ ทางสถิติในรูปแบบอื่นๆ กับข้อมูลการสำรวจ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ นอกเหนือจากการวิเคราะห์ในรูปแบบดัชนีการกระจายตัว (diffusion index) ในปัจจุบัน เช่น การวิเคราะห์ความแปรปรวน (variance) ของความคิดเห็นภาคธุรกิจเพื่อใช้ตรวจจับสัญญาณการถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession)
2) เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนา การสำรวจภาวะความเป็นอยู่ของภาคธุรกิจ และประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในการเป็นคู่ค้าหลักให้มี ความครอบคลุมและรอบด้านมากขึ้น โดยเครือข่ายสำนักงานภาคของ ธปท. ได้สานสัมพันธ์กับหน่วยงานของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) รวมทั้งมณฑล ในตอนใต้ของประเทศจีน ด้วยการเข้าร่วมงานประชุมสัมมนาที่จัดโดยหน่วยงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนข้ามแดน และความเคลื่อนไหวด้านแรงงานระหว่างกัน นอกจากนี้ ธปท. จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพิ่มเติมผ่านโครงการ BLP เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ดังเช่นที่ได้จัดทำการสำรวจความเชื่อมั่นของครัวเรือนฐานรากร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดย ธปท. อยู่ระหว่างการจัดทำผลสำรวจภาวะธุรกิจในภาคการค้าและกำลังซื้อของผู้บริโภค
3) มุ่งยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมนานาชาติ ผ่านการสานสัมพันธ์กับธนาคารกลางชั้นนำเพื่อสร้างความร่วมมือที่ดีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านระเบียบวิธีในการสำรวจภาคธุรกิจ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจให้ทัดเทียมมาตรฐานนานาชาติ โดยเข้าร่วมงานประชุม Annual Conference on Central Bank Business Surveys and Liaison Programs (CBBS) เป็นประจำ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางชั้นนำจากทั่วโลกที่ดูแลโครงการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจโดยตรง ซึ่งธนาคารกลางแต่ละแห่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในทุกปี นอกจากนี้ ธปท. ยังได้เข้าร่วมการสำรวจภาคธุรกิจในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในเรื่อง “พฤติกรรมการตั้งราคาของธุรกิจ” ในปี 2562 ที่ผ่านมากับ 19 ธนาคารกลางทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ เช่น Reserve Bank of Australia (RBA), Sveriges Riksbank (ประเทศสวีเดน) และ Bank of Canada (BOC) ในฐานะผู้นำของภูมิภาคเอเชียในการนำเสนอหัวข้อและออกแบบข้อคำถามสำรวจ รวมถึงร่วมหารือกระบวนการสำรวจกับ Federal Reserve Bank of Atlanta ซึ่ง ธปท. วางแผนที่จะเข้าร่วมการสำรวจในประเด็นที่มีนัยต่อการดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
บทส่งท้าย
การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะมีความท้าทายมากขึ้นจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้การติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจด้วยตัวเลขทางสถิติเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและครอบคลุม การใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจประกอบการวิเคราะห์จึงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวช่วยให้ ธปท. สามารถประเมินภาวะเศรษฐกิจได้รวดเร็วทันการณ์และรอบด้านมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจในระดับจุลภาค ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ทำให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที