ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ธนาคารทองคำลาว” กับกระบวนการจัดตั้งแบบเร่งด่วน!

“ธนาคารทองคำลาว” กับกระบวนการจัดตั้งแบบเร่งด่วน!

5 ตุลาคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

อาคารทะนาคานคำ บ้านโพนไซ เมืองไซเสดถา นครหลวงเวียงจันทน์ สำนักงานใหญ่ของธนาคารทองคำลาว ที่มาภาพ : เพจทะนาคานคำ ลาว

วันที่ 27 กันยายน 2567 ธนาคารทองคำลาว จำกัด (Lao Bullion Bank : LBB) ได้จัดพิธีเปิดอาคารสำนักงานและเปิดให้บริการเฟสแรกอย่างเป็นทางการ มีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานด้านการเงินและเศรษฐกิจของลาวหลายคนเข้าร่วม เช่น สันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน วัดทะนา ดาลาลอย รักษาการผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว อาดสะพังทอง สีพันดอน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ ทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ จันทอน สิดทิไซ ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง จำกัดฯลฯ

ธนาคารทองคำลาว เป็นสถาบันการเงินที่ตั้งขึ้นจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว โดยกระทรวงการเงิน กับบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง จำกัด ในกลุ่ม”พงสะหวัน” สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อาคารทะนาคานคำ บ้านโพนไซ เมืองไซเสดถา นครหลวงเวียงจันทน์

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารทองคำลาวขึ้นมาก็เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บสะสมและสำรองทองคำสำหรับใช้ค้ำประกันฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลลาวให้เกิดความมั่นคง ค้ำประกันเสถียรภาพของเงินกีบ สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจลาวให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

จันทอน สิดทิไซ ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง กล่าวในฐานะประธานธนาคารทองคำลาว ว่า พิธีซึ่งถูกจัดขึ้นครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารทองคำลาวจะเปิดให้บริการเฟสแรกในปลายเดือนกันยายน 2567

เขาบอกว่า ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานของธนาคารทองคำลาวได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อเตรียมพร้อมเปิดให้บริการด้วยความรับผิดชอบสูง มีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลลาว โดยเฉพาะกระทรวงการเงิน และธนาคารแห่ง สปป.ลาว และองค์กรจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์ด้านวัตถุมีค่า เพื่อจัดหาระบบควบคุมการบริหารและการบริการ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล เช่น ระบบ Core Banking ระบบป้องกันความปลอดภัย ระบบตรวจวัดคุณภาพทองคำ ระบบห้องมั่นคงหรือตู้นิรภัยสำหรับเก็บทองคำ รวมถึงเครื่องกดทองคำอัตโนมัติ(Gold Vending Machine)

โลโก้ธนาคารทองคำลาว

ทั้งหมดที่ได้เตรียมการไว้นั้น เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์และบริการทุกประเภทของธนาคารทองคำลาว ซึ่งประกอบไปด้วย บัญชีฝากทองคำ การจำหน่ายทองคำแท่งผ่านตู้จำหน่ายวัตถุมีค่าอัตโนมัติ สินเชื่อทองคำ การออกใบรับรองเพื่อนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน การรับฝากทองคำด้วยห้องเก็บรักษาและตู้นิรภัยชั้นสูง บริการตรวจสอบคุณภาพและความบริสุทธิ์ของทองคำ บริการซื้อขายทองคำในตลาดระหว่างประเทศ(international gold trading) การประเมินมูลค่าทองคำที่ยังไม่ได้ขุดค้น และการสำรองทองคำให้กับรัฐบาล

ในพิธีเปิดครั้งนี้ ธนาคารทองคำลาวยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์นำร่อง 2 ผลิตภัณฑ์แรก ได้แก่ บัญชีฝากทองคำ(Gold Saving) และตู้กดทองคำอัตโนมัติ(Gold Vending Machine) โดยในระยะแรก มีการจำกัดจำนวนบัญชีฝากทองคำให้สามารถเปิดได้เพียง 50 บัญชีต่อวัน และหลังจากนี้จะทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์อื่นๆเพิ่มเติมอีก โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถให้บริการอย่างครบวงจรได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 และจะเปิดโรงงานสกัดและหลอมทองคำ(gold refinery)ได้ ในไตรมาสแรกของปี 2568

……

ผู้บริหารหน่วยงานด้านการเงินและเศรษฐกิจร่วมเปิดธนาคารทองคำลาว (ที่ 2 จากซ้าย) จันทอน สิดทิไซ (กลาง) สันติพาบ พมวิหาน และ (ที่ 2 จากขวา) วัดทะนา ดาลาลอย

การเปิดให้บริการของธนาคารทองคำลาว ถือเป็นกระบวนการจัดตั้งสถาบันการเงินที่ได้ถูกดำเนินการอย่างเร่งด่วนและรวดเร็วมาก หากนับจากวันแรกๆที่เริ่มปรากฏแนวคิดให้มีตั้งสถาบันการเงินประเภทนี้ในลาวเผยแพร่สู่สาธารณะ!

ลำดับเหตุการณ์การจัดตั้งธนาคารทองคำลาว ตามที่ปรากฏเป็นข่าว และจากข้อมูลประชาสัมพันธ์ขององค์กรได้คร่าวๆ ดังนี้…

วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว ได้กล่าวชี้นำถึงภารกิจเฉพาะหน้าที่รัฐบาลลาวต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเงินของประเทศ โดยหนึ่งในภารกิจที่ประธานประเทศลาวได้กล่าวขึ้นมา คือการเร่งรัดจัดตั้งธนาคารทองคำ

ถัดมายังไม่ถึง 1 เดือนเต็ม วันที่ 7 สิงหาคม สันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ได้เซ็นสัญญากับจันทอน สิดทิไซ ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง เพื่อร่วมทุนก่อตั้งธนาคารทองคำลาว ที่โรงแรมคราวน์พลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ไปร่วมในพิธีในฐานะสักขีพยาน

วันที่ 9 สิงหาคม 2 วันหลังพิธีเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่างกระทรวงการเงินกับบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง ได้มีการเปิดเพจ”ทะนาคานคำ ลาว – Lao Bullion Bank” ขึ้นเป็นเพจทางการ เพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูล ความเคลื่อนไหวของธนาคารทองคำลาว

รุ่งขึ้น วันที่ 10 สิงหาคม เพจ”ทะนาคานคำ ลาว” โพสต์คลิปวิดีโอแนะนำองค์กรความยาว 5.50 นาที

เนื้อหาส่วนหนึ่งในวิดีโอระบุว่า กลไกสำคัญในการทำงานของธนาคารทองคำลาว คือการสร้างโรงงานสกัดและหลอมทองคำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ สปป.ลาว ในการเพิ่มมูลค่าแก่แร่ทองคำซึ่งถูกขุดค้นได้ในลาวให้มีความบริสุทธิ์สูง 99.99% ตามมาตรฐานสากลที่ถูกรับรองโดย London Bullion Market Association(LBMA) โดยคาดว่าเมื่อได้สร้างโรงสกัดและหลอมทองคำเสร็จแล้ว จะสามารถผลิตทองคำบริสุทธิ์ได้ปีละ 10-30 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ทองคำที่ผ่านการสกัดและหลอมจากโรงงานจนได้มาตรฐาน LBMA จะสามารถนำไปแลกเปลี่ยน ซื้อขาย และนำไปทำธุรกรรมได้ในตลาดทองคำโลก

ในคลิป มีบทสัมภาษณ์จันทอน สิดทิไซ ในฐานะประธานธนาคารทองคำลาว ที่ได้กล่าวไว้ช่วงหนึ่งว่า ธนาคารทองคำลาวเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อคสภาพคล่องของอุตสาหกรรมทองคำในลาว เนื่องจากลาวมีอุตสาหกรรมทองคำ มีการผลิตและซื้อขายทองคำมานานหลายสิบปี แต่ที่ผ่านมาทองคำที่ผลิตได้ในลาวไม่ได้คุณภาพ มีความบริสุทธิ์ไม่ถึง 99.99% มีการบริหารจัดการที่ไม่ได้มาตรฐาน LBMA

การตั้งธนาคารทองคำลาวขึ้นมา ก็เพื่อทำให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองคำซึ่งมีอยู่หลากหลายในลาวเหล่านี้ มีความถูกต้องได้มาตรฐานตามหลักสากล

สมุดบัญชีฝากทองคำ เอกสารฝากทองคำ และใบรับรองคุณภาพทองคำ

วันที่ 13 กันยายน คำสอน สิดทิไซ รองประธาน ธนาคารทองคำลาว ได้ลงนามกับ Gyorgy Tamas Ladics กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท Silverlake Axis โดย Silverlake Axis จะนำระบบบริการลูกค้าในธุรกิจหลักของธนาคาร หรือ Silverlake Symmetri มาติดตั้งให้กับธนาคารทองคำลาว

Silverlake Symmetri เป็นหนึ่งในโซลูชันด้านไอทีสำหรับการบริหารจัดการระบบการเงินการธนาคาร มีการทำงานที่ครอบคลุมการให้บริการระบบทั้งหมดในธนาคาร และมีส่วนช่วยพัฒนาระบบ Core Banking ของธนาคารทองคำลาวให้ทันสมัย และช่วยควบคุมต้นทุนในการบริหารจัดการภายในธนาคาร

Silverlake Axis เป็นบริษัทเทคโนโลยี่และซอฟท์แวร์ด้านการเงิน มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งมานาน 35 ปี กลุ่มลูกค้าของ Silverlake Axis เป็นสถาบันการเงินและองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่ง ใน 70 ประเทศทั่วโลก

ในลาว ธนาคารทองคำลาวเป็นลูกค้ารายที่ 3 ของ Silverlake Axis โดยลูกค้า 2 รายก่อนหน้านี้ คือ ธนาคารพงสะหวัน และธนาคาร RHB สาขา สปป.ลาว

วันที่ 23 กันยายน ธนาคารทองคำลาว เผยแพร่ข่าวความร่วมมือกับ Stone X กลุ่มบริษัทการเงินเก่าแก่จากสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1924

เนื้อหาข่าวที่ถูกเผยแพร่ผ่านเพจทะนาคานคำ ลาว ไม่บอกรายละเอียดของความร่วมมือที่ธนาคารทองคำลาวทำไว้กับ Stone X โดยให้ข้อมูลเพียงว่า Stone X มีบทบาทสำคัญในตลาดทองคำและวัตถุมีค่า เป็นสมาชิกของ LBMA ทำให้ Stone X มีความน่าเชื่อถือ ทั้งด้านการจัดการความเสี่ยง การซื้อ-ขาย และการเก็บรักษาทองคำ การร่วมมือกับ Stone X จะทำให้การทำธุรกิจของธนาคารทองคำลาวเป็นไปตามมาตรฐานระดับโลก ทั้งในแง่ของความโปร่งใส ความมั่นคง รวมถึงการบริหารจัดการ และการป้องกันความเสี่ยง

วันที่ 25 กันยายน 2 วันก่อนมีพิธีเปิดให้บริการเฟสแรกอย่างเป็นทางการ ธนาคารทองคำลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) กับบริษัท Helmut Fischer เพื่อร่วมกันสร้างห้องวิเคราะห์ทองคำ

ตู้กดทองคำแท่งอัตโนมัติ(Gold Vending Machine)

เนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ผ่านเพจทะนาคานคำ ลาว ให้รายละเอียดว่า Helmut Fischer เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสแกน หรือเครื่องเอกซเรย์ แบรนด์ Fischer จากประเทศเยอรมนี ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1953 และได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับจากกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆทั่วโลก ทั้งอุตสาหกรรมทองคำ เครื่องประดับ อิเลคทรอนิคส์ ไปจนถึงเหมืองแร่

บันทึกความเข้าใจที่ธนาคารทองคำลาวเซ็นกับ Helmut Fischer ครั้งนี้ เพื่อจะร่วมกันสร้างห้องตรวจสอบ วิเคราะห์ทองคำตามมาตรฐานสากล เนื่องจากธนาคารทองคำลาวให้ความสำคัญกับคุณภาพการตรวจสอบ วิเคราะห์ทองคำและวัตถุมีค่า ที่จะมีผลต่อความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและประชาชนว่า ผลการตรวจสอบวิเคราะห์ทองคำของธนาคารทองคำลาว มีความถูกต้อง แม่นยำ

การตรวจสอบคุณภาพทองคำ
……

สปป.ลาวต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ การเงิน มาตั้งแต่ปี 2563 หลังเริ่มมีมาตรการปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ค่าเงินกีบของลาวตกต่ำลงมาตลอด เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกลับพุ่งสูงลิ่ว ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศร่อยหรอ จนกระทบฐานะการคลัง และความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศของรัฐบาล

4 ปีมานี้ รัฐบาลลาวได้นำหลายมาตรการออกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาฐานะการเงินของประเทศ และแม้ว่าได้เริ่มกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งแล้ว แต่สถานการณ์ที่ลาวเผชิญ ก็ยังคงน่าเป็นห่วง

การเปิดธนาคารทองคำลาวขึ้นมา จากภาพภายนอก ดูเหมือนเป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อแก้ไขวิกฤตการเงินของลาว

แต่กระบวนการจัดตั้งที่เร่งด่วน รวดเร็ว ใช้เพียง 3 เดือน ก็สามารถเปิดให้บริการได้ ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในลาวอาจยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจว่า “ธนาคาร”แห่งนี้ ทำธุรกิจอะไร เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ที่มีหลายคนตั้งเป็นข้อสังเกตุ

ความ”เร่งด่วน”เพื่อเปิดธนาคารทองคำลาว ดึงดูดให้ต้องเฝ้าติดตามดูภารกิจและบทบาทของ”ธนาคารทองคำลาว”นับจากนี้ ว่าจะมีส่วนอย่างไรและแค่ไหน ในแก้ไขวิกฤตการเงินการคลังของประเทศ…

  • บางข้อสังเกตุที่น่าบันทึกไว้ ในการตั้ง “ธนาคารทองคำลาว”