รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

บทความของ The Financial Times (FT) เรื่อง From palm oil to data: Malaysia builds AI hub on Singapore’s doorstep กล่าวว่า พื้นที่ตอนใต้ของมาเลเซีย ที่เป็นรัฐยะโฮร์บาห์รู มีพรมแดนติดกับสิงคโปร์ ครั้งหนึ่งเป็นเขตป่าเขาและสวนปาล์มน้ำมัน แต่ปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค เช่น TikTok, NVIDIA และ Microsoft กำลังแข่งกันสร้าง “หน่วยโครงสร้าง” (building block) ที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล สิ่งนี้ก็คือ data center
บริษัทโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลหลายแห่ง ลงทุนเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในรัฐยะโฮร์ ที่ตั้งอยู่ห่างจากสิงคโปร์แค่ 1-2 กม. เพื่อเอาประโยชน์ยะโฮร์ ซึ่งที่ดินราคาถูก มีพลังงานไฟฟ้าเหลือเฟือ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานคอมมิวเตอร์ เวลาเดียวกันก็ตั้งอยู่ติดกับสิงคโปร์ ศูนย์กลางการเงินใหญ่สุดของภูมิภาคนี้
“เสิ่นเจิ้น” ของเศรษฐกิจดิจิทัล
รายงานของ FT กล่าวว่า ความรุ่งเรืองของรัฐยะโฮร์ จะเกี่ยวพันมากขึ้นกับสิงคโปร์เพื่อนบ้าน การเปลี่ยนแปลงของยะโฮร์จะมีโมเดลคล้ายกับการเปลี่ยนแปลงของเสิ่นเจิ้นจากหมู่บ้านประมง หลังจากกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นประตูสู่ฮ่องกง และพัฒนาต่อมามาเป็นมหานครไฮเทค มาเลเซียคาดหวังว่า รัฐยะโฮร์จะบูรณาการกับเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ เหมือนกับที่เสิ่นเจิ้นเป็นส่วนหนึ่งการเติบโตของจีน
Tengku Zafrul Aziz รัฐมนตรีการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรม มาเลเซียกล่าวว่า “ยะโฮร์สามารถกลายเป็นเสิ่นเจิ้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลจะเป็นกระดูกสันหลัง เปลี่ยนแปลงยะโฮร์ให้เป็นพื้นที่ที่แข็งแกร่งอย่างมากในการประกอบการผลิตด้านไฮเทค”
ความรุ่งเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของยะโฮร์ เพราะในปี 2019 สิงคโปร์ที่มีปัญหาพลังงานไฟฟ้าที่จำกัด ประกาศระงับการก่อสร้าง data center เป็นเวลา 3 ปี เพราะมีการใช้ไฟฟ้ามาก รัฐยะโฮร์จึงใช้โอกาสนี้ มาเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนใน data center โดยลดระยะเวลาการขออนุมัติจาก 3 เดือน เหลือแค่ 7 วัน
ตัวเลขของสำนักงานพัฒนาการลงทุนของมาเลเซียระบุว่า ปี 2019 การลงทุนต่างประเทศในยะโฮร์ เป็นเงิน 10 พันล้านริงกิต ในปี 2022 ตัวเลขการลงทุนเพิ่มเป็น 58 พันล้านริงกิต และ 2023 เป็นเงิน 31 พันล้านริงกิต ทำให้คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจของยะโฮร์จะเติบโตสูงกว่ารัฐอื่นๆ ของมาเลเซียไปจนถึงปี 2025
เนื่องจากวงการอุตสาหกรรมวัดขนาดของตลาด data center ที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้า การลงทุนใน data center ดังกล่าว ทำให้มาเลเซียก้าวขึ้นเป็นตลาด data center ที่เติบโตรวดเร็วสุดของเอเชีย มาเลเซียมีแผนที่จะพัฒนาศักยภาพการเก็บข้อมูลที่ 1.2 กิกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 189 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 600% ภายในระยะเวลา 5 ปี
การเติบโตที่รวดเรซของอุตสาหกรรม data center ในรัฐยะโฮร์ มาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความก้าวหน้าที่รวดเร็วของ AI กับเทคโนโลยี 5G การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลของ internet of things (IoT) ทำให้มาเลเซียสามารถไล่ตามสิงคโปร์ ที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาคด้าน data center

หนึ่งในโครงการ AI ที่ใหญ่สุดของโลก
ส่วนบทความของ The Wall Street Journal (WSJ) เรื่อง AI Shapes Sleepy Malaysian State เขียนไว้ว่า ไม่มีที่ไหนในโลกที่สภาพทางภูมิศาสตร์จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเหมือนรัฐยะโฮร์ มาเลเซีย เมื่อ 3 ปีที่แล้ว แม้รัฐยะโฮร์อยู่ติดกับสิงคโปร์ แต่เป็นพื้นที่ถูกทอดทิ้งจากการพัฒนา พื้นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำเป็นสวนปาล์มน้ำมัน แต่ทุกวันนี้ การก่อสร้างอาคารทรงสี่เหลี่ยมมากมายในยะโฮร์ คือหนึ่งในโครงการก่อสร้าง AI ที่ใหญ่สุดของโลก
บริษัท ByteDance เจ้าของ TikTok ใช้เงิน 350 ล้านดอลลาร์ ลงทุนด้าน data center ในรัฐยะโฮร์ Microsoft ซื้อที่ดินด้วยเงิน 95 ล้านดอลลาร์ Oracle ประกาศลงทุนด้าน data center ในมาเลเซียเป็นเงิน 6.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้การลงทุน data center ในยะโฮร์ ที่จะนำไปใช้ในด้าน AI และ cloud computing จะเป็นเงินถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024
การที่รัฐยะโฮร์กลายเป็นเมืองรุ่งเรืองของยุค AI ขึ้นมาทันที จะต้องเข้าใจสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของ AI บริษัทไฮเทคต้องการฝึกฝน chatbot รถยนต์ไร้คนขับ และเทคโนโลยี AI อื่นๆ ให้เร็วที่สุด การดำเนินงานดังกล่าวทั้งหมดจะทำกันใน data center ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากมาย รวมทั้งระบบหล่อเย็นจากน้ำ
บริษัทไฮเทคไม่สามารถสร้าง data center ได้พอกับความต้องการในสหรัฐฯ จุดนี้ทำให้ยะโฮร์มีโอกาสเกิดขึ้นมา มีทั้งที่ดินและพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินที่มากมาย มาเลเซียเป็นมิตรต่อสหรัฐฯ และจีน จึงไม่เสี่ยงทางการเมืองจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ปัจจัยสำคัญอื่นๆ คือทำเลที่ตั้ง เพราะข้ามพรมแดนไปก็คือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชุมทางเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเล ที่คับคั่งที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง เคเบิลอินเทอร์เน็ตคือมอเตอร์เวย์สมัยใหม่ ทำให้บริษัทไฮเทคสามารถโยงข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ทั่วโลก Rangu Salgame จาก Princeton Digital Group ที่ดำเนินงานด้าน data center ให้ลูกค้าบริษัทไฮเทคกล่าวว่า การพัฒนาของยะโฮร์ไม่ใช่เพื่อมาเลเซียเท่านั้น แต่เป็น AI ที่ดำเนินงานทั่วโลก
บริษัทไฮเทค เช่น Amazon.com, Google หรือ Meta Platforms ต่างก็ดำเนินการด้าน data center ของตัวเอง แต่ก็อาศัยบริการจากบริษัทดำเนินงาน data center ที่เป็นบุคคลที่ 3 สำหรับความต้องการ 30% ในสหรัฐฯ และ 90% ในต่างประเทศ
การลงทุน data center ของบุคคลที่ 3 จะมีค่าใช้จ่ายแห่งหนึ่ง 1-2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนบริษัทไฮเทคจะเป็นผู้มาเช่าใช้บริการ โดยติดตั้งฮาร์ดแวร์ของตัวเอง data center ในรัฐยะโฮร์แทบทั้งหมดดำเนินการโดยบุคคลที่ 3 ตัวแทน Princeton Digital Group กล่าวว่า บริษัทไฮเทคแสดงออกชัดเจนว่า ต้องการมี data center ในยะโฮร์ เนื่องจากไม่เคยเห็นที่ไหนดำเนินการได้รวดเร็วแบบนี้ ภายใน 5 ปี ยะโฮร์จะกลายเป็นตลาด data center ใหญ่อันดับ 2 ของโลก
รายงานของ WSJ กล่าวว่า เมื่อวัดจากการใช้พลังงานไฟฟ้า data center ของเขต Northern Virginia สหรัฐฯ มีพลังงานไฟฟ้า 4.2 กิกะวัตต์ และกำลังก่อสร้างอีก 11.4 กิกะวัตต์ ส่วนยะโฮร์ เมื่อ 3 ปีที่แล้วมีพลังงานไฟฟ้าสำหรับ data center ที่ 0.01 กิกะวัตต์ ปัจจุบันมีอยู่ 0.34 กิกะวัตต์ และกำลังก่อสร้างอีก 2.6 กิกะวัตต์

มหาวิทยาลัย UTM ตั้งคณะ AT ลองรับ
เมื่อเดือนกันยายน British Council ในมาเลเซียเปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐยะโฮร์มีการลงทุนด้าน data center มากกว่า 50 โครงการ ทำให้ยะโฮร์ก้าวบนเส้นทางที่จะเป็นศูนย์กลาง data center ของภูมิภาคนี้
ทั้งรัฐบาลรัฐยะโฮร์และรัฐบาลกลางมาเลเซีย ล้วนมีบทบาทในการผลักดันให้ยะโฮร์กลายเป็นศูนย์กลาง data center ปี 2022 มาเลเซียประกาศแผนการ “เร่งสร้างระบบนิเวศดิจิทัล” (digital ecosystem acceleration) โดยยกเว้นภาษีให้กับผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ให้หลักประกันที่ data center จะได้รับการสนองพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แผนงานอุตสาหกรรมใหม่ 2030 ก็ประกอบด้วยการส่งเสริมรัฐยะโฮร์เป็นศูนย์กลางภูมิภาคด้าน data center
มาเลเซียยังส่งเสริมให้รัฐยะโฮร์เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้าน AI เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Universiti Teknologi Malaysia (UTM) ได้ตั้งคณะปัญญาประดิษฐ์ (artificial Intelligence) ขึ้นมา ที่ยะโฮร์ เนื่องจากการศึกษาด้าน AI ของมาเลเซียยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับความร่วมจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกในเรื่องการพัฒนาหลักสูตร หรือการตั้งศูนย์ฝึกอบรม เป็นต้น
ครั้งหนึ่ง ยะโฮร์บารูห์ถูกมองว่าเป็นดินแดน “ชายขอบที่ป่าเถื่อน” (wild west) ของมาเลเซีย แต่สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนไป หากในอนาคต มีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ” (SEZ) ระหว่างยะโฮร์กับสิงคโปร์ ยะโฮร์จะยิ่งมีมนต์เสน่ห์มากยิ่งขึ้น ทั้งต่อบริษัทข้ามชาติและนักวิศวกรต่างๆ เช่น การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในยะโฮร์ จะเหมือนการลงทุนในสิงคโปร์ แต่ใช้เงินน้อยกว่า
เอกสารประกอบ
From palm oil to data: Malaysia builds AI on Singapore’s doorstep, July 19, 2024, The Financial Times.
AI Reshapes Sleepy Malaysian State,08 October 2924, The Wall Street Journal.
Malaysia’s Johor state set to become data capital, 30 September 2024, British Council.