
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
นายกฯเล็งจ่ายค่าล้างดินโคลน 10,000 บาท/ครัวเรือน จี้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คลังเล็งตั้งกองทุนฯ ซื้อสัมปทานคืน สั่ง ผบ.ตร.สอบ จนท.รับส่วย ‘ดิ ไอคอน’ นัดพรรคร่วมฯทานข้าว 21 ต.ค.นี้ – ไม่ห่วงปมแก้ รธน. เผย ‘พล.อ.พิศาล’ ลาออกจาก สส.เพื่อไทยแล้ว มติ ครม.เปิดลงทะเบียน ‘บัตรคนจน’ รอบใหม่ก่อน มี.ค.ปี’68 อนุมัติแผนก่อหนี้ผูกพันปี’68 กว่า 3.5 แสนล้าน ยกเว้นยื่นใบ ตม.6 ดึงต่างชาติเที่ยวไทยถึงสิ้น เม.ย.ปีหน้า ผ่าน กม.ลูกป้องกันค้ามนุษย์ในโรงงาน – เรือประมงต่างชาติ ตั้งเลขาฯ-ที่ปรึกษา รมต. 15 ตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
เล็งจ่ายค่าล้างดินโคลน 10,000 บาท/ครัวเรือน
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย 9,000 บาทต่อครัวเรือน โดยที่ประชุม ครม. วันนี้ได้มีมาตรการช่วยเหลือด้านการล้างดินโคลนอีก 10,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่
นอกจากนี้ นางสาวแพทองธาร กล่าวถึงมาตรการถัดมาคือ การยกเว้นการเก็บค่าน้ำประปาและค่าไฟ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอมาตรการช่วยเหลือทางภาษี เช่น การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และลดค่าเช่าที่ราชพัสดุ ตลอดจนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อฟื้นฟูบ้าน ที่พักอาศัย และกิจการ โดยมีทั้งธนาคารรัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการ โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดต่อไป
จี้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คลังเล็งตั้งกองทุนฯ ซื้อสัมปทานคืน
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้นายสุริยะ จึงรุ่งงเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินการเรื่องนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
“นโยบายนี้เห็นชัดอยู่แล้วว่าจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย และถ้าประชาชนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นจะช่วยเรื่องมลพิษด้วย” นางสาวแพทองธาร กล่าว
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ในการศึกษาดังกล่าว ให้ทั้งสองกระทรวงคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่าทางการเงิน รวมถึงแหล่งที่มาของเงินว่าจะจัดการและชี้แจงอย่างไร ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ให้ได้เร็วที่สุด
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งศึกษาเรื่องการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายคืนจากเอกชน คาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 2 – 3 แสนล้านบาท เพื่อนำมาให้บริการประชาชนในราคา 20 บาทตลอดทุกสาย ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าทางการเงิน และประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งแหล่งเงินที่ใช้จะมาจากไหนด้วย
สั่ง 4 หน่วยงาน คุมเข้ม ‘ขายตรง’ ป้องกันแชร์ลูกโซ่
สืบเนื่องจากกรณีการขายตรงและสินค้าออนไลน์ นางสาวแพทองธาร ได้สั่งการไปถึงหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
-
• สั่งการให้สำนักงานสำรวจแห่งชาติ จัดให้มีช่องทางที่ประชาชนจะสามารถเข้าแจ้งเบาะแส และแจ้งความได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ลดปริมาณผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และถูกทำให้เข้าใจผิด
• ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภค เร่งกำหนดมาตรการและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงให้ความรู้กับประชาชน
• ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เร่งตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันมิให้การนำสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาจำหน่ายในระบบของการขายตรงและขายออนไลน์
• ขอให้กระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่ขึ้นอีก
“บางทีคนเข้ามาก็ยังไม่ทราบว่าการขายตรงมีอะไร อย่างไรบ้าง อาจทำให้เกิดปัญหาต่อไป เราก็อยากจะป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงเช่นนี้เกิดขึ้นอีก” นางสาวแพทองธาร กล่าว
ต่อเวลายกเว้น ‘ตม.6’ 16 ด่าน ถึง 30 เม.ย.ปีหน้า
นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอเรื่องการขยายระยะเวลาขอยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรทาง (ตม.6) ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองเป็นการชั่วคราวจำนวน 16 ด่าน ทั้งทางบกและน้ำ ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ถึง 30 เมษายน 2568
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ตนสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศโดยเร็ว เพื่อลดขั้นตอนการเดินทางและส่งเสริมการท่องเที่ยว รรวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
สั่ง ผบ.ตร.สอบ จนท.รับส่วย ‘ดิ ไอคอน’
เมื่อถามถึงกรณี The iCON Group ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปรับส่วย-สินบน เพราะผู้บริหารก็ยอมรับว่ามีการจ่ายส่วย
นางสาวแพทองธาร ตอบว่า เรื่องดังกล่าวได้มีการพูดคุยกับพลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่
“ทั้งรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ต้องมีการสอบสวนต่อว่ามีใครเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับ ผบ.ตร.แล้ว ต้องการให้ทางตำรวจจริงจังเรื่องนี้ และในทางคดีต้องดูว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จะเข้ามาช่วยหรือไม่ เพื่อให้คดีมีความละเอียดและดียิ่งขึ้น” นางสาวแพทองธาร กล่าว
“ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับส่วยนั้น ได้พูดคุยกับทาง ผบ.ตร.ไปแล้ว ขอให้จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะไม่อยากให้มีผู้เสียหายเพิ่มเติม” นางสาวแพทองธาร กล่าว
ถามต่อว่า มีข้อกล่าวหาว่ามีเทวดาใน สคบ. เป็นจุดหลักที่ทำให้ธุรกิจนี้อยู่ได้ จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ในกรอบกว้าง ๆ เราก็ไม่อยากให้ธุรกิจในลักษณะหลอกลวงประชาชนเกิดขึ้นอีก เห็นได้ว่ามีผู้ได้รับความเสียหายมากกว่าที่คิดไว้เยอะ ต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง”
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการไปยังทุกฝ่ายให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเร็วที่สุด และให้แถลงผลการดำเนินงานต่อประชาชน เพื่อให้เกิดความสบายใจ เพราะต่อไปการทำธุรกิจจะได้มีข้อมูลและป้องกันไม่ให้ถูกหลอก
เมื่อถามถึงคลิปเสียงหลุด ที่ผู้บริหารคุยกับนักการเมือง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า ประเด็นดังกล่าว นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้สั่งการแล้ว
นัดพรรคร่วมฯทานข้าว 21 ต.ค.นี้ – ไม่ห่วงปมแก้ รธน.
ผู้สื่อข่าวถามถึงการนัดรับประทานอาหารร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล ในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2567 โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ทานข้าวกับหัวหน้าพรรคเลย ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลอีกหลายท่านที่ไม่ได้อยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงอยากจะคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ปกติแล้วอาจจะมีวาระสำคัญไม่กี่เรื่อง แต่เป็นการมาเจอกันและคุยกันมากกว่า และจะอัพเดทให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะทำอะไรต่อบ้าง และขอคอมเมนต์รวมๆ”
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้น การนัดรับประทานอาหารเป็นเวทีสบายๆ คุยกับผู้มีประสบการณ์ ทำให้ได้ประโยชน์จากทุกคน
ถามต่อว่า มีวาระสำคัญที่จะพูดคุยกับพรรคร่วมเรื่องใดบ้าง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ขอกลับมาทานข้าวตามวงรอบปกติเหมือนเดิม เพราะจากที่นักข่าวตามมาน่าจะ 2 เดือนแล้ว คิดว่าจะกลับมาเดือนละครั้งเหมือนเดิม ก็เป็นวาระแรกที่เราคิดว่าจะกลับมาคุยกัน ใครมีวาระอะไรก็ตามนั้น”
ถามย้ำว่า นายกฯ มีอะไรจะพูดเป็นพิเศษหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “มีหลายเรื่องที่ต้องคุย เพราะรับตำแหน่งมาประมาณ 2 เดือนแล้ว คงมีหลายเรื่องที่จะขอความร่วมมือซึ่งกันและกัน เดี๋ยวไปอัพเดตอีกทีก็ได้”
เมื่อถามว่า ในการนัดรับประทานอาหารจะมีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “จริงๆ ก็ได้คุยไปบ้างแล้วกับหลายๆ ท่าน ไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เรามีสิทธิเห็นต่างกันได้ ทุกคนเห็นต่างกันได้ ฉะนั้นการคุยกันเราคุยกันรู้เรื่องอยู่แล้วไม่ต้องห่วง”
ถามต่อว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญให้ทันตามกรอบสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบสั้นๆ ว่า “ค่ะ เราก็พยายามทำให้เต็มที่”
เมื่อถามว่าจะมีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ถึงคดีต่างๆ ที่นายกฯ ถูกร้องหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ยิ้มและไม่ตอบคำถามดังกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ขออย่าเพิ่งพิจารณาผลการศึกษาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่จะเข้าสภาในช่วงสัปดาห์นี้ จะเป็นการยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับรัฐบาลหรือไม่ ทำให้ นางสาวแพทองธาร ยังคงยิ้มและไม่ตอบคำถามดังกล่าว
เผย ‘พล.อ.พิศาล’ ลาออกจาก สส.เพื่อไทยแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเร่งรัดติดตามตัว พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มาดำเนินคดีก่อนคดีตากใบจะหมดอายุความ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เรื่องนี้ต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการทางกฎหมาย เพิ่งได้รับหนังสือลาออกของ พล.อ.พิศาลเมื่อเช้านี้ และมีการขยับบุคคลที่จะมาเป็น สส.บัญชีรายชื่อแทนตามลำดับ ส่วนพรรคเพื่อไทยก็มีการประชุมกันอยู่แล้ว ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ขอให้รอกระบวนการตามกฎหมายดีกว่า ซึ่งความจริงได้สั่งการไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ความจริงอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ เราไม่ต้องการไปทำอะไรให้ยากกว่าเดิม” นางสาวแพทองธาร กล่าว
ถามต่อว่า รัฐบาลจะกดดันให้ พล.อ.พิศาล กลับมาต่อสู้คดีหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ก็เป็นสิ่งที่เราได้ทำทุกอย่างไปแล้ว และได้พูดต่อสาธารณะ อย่างที่บอกในเรื่องของที่อยู่เราก็ได้แจ้งไปแล้ว ให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องช่วยดูว่า พล.อ.พิศาลอยู่ที่ไหน”
แจงรายละเอียดค่าล้างดินโคลน 10,000 บาท สัปดาห์หน้า
ด้านนายจิรายุ รายงานว่า นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. เรื่องมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยกว่า 50 จังหวัด โดยหลังจากที่รัฐบาลได้เร่งฟื้นฟูและบรรเทาปัญหาต่างๆ ได้มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 9,000 บาทต่อครัวเรือนไปแล้ว อีกทั้งรัฐบาลสั่งการให้ทุกหน่วยช่วยเหลือล้างดินโคลน 10,000 บาทต่อครัวเรือน
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ ตลอดจนการยกเว้นการเก็บค่าน้ำประปาเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน และค่าไฟฟ้า ซึ่งสัปดาห์หน้าจะลงรายละเอียดว่ามีกี่ครัวเรือน” นายจิรายุ กล่าว
สั่งคลังระดมมาตรการช่วยผู้ประสบอุทกภัยชุดใหญ่
นายจิรายุ รายงานว่า นายกฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังหามาตรการช่วยเหลือด้านภาษี และลดค่าใช้จ่ายตลอดจนสินเชื่อฟื้นฟูบ้านพักอาศัย และกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล, ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับการช่วยเหลือ
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า กระทรวงการคลังจะจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan วงเงินที่เคยอนุมัติไว้ก่อนหน้าคือ 50,000 ล้านบาทสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี และแต่ละรายจะมีวงเงินประมาณ 40 ล้านบาท โดยขอรายละเอียดสินเชื่อได้จากธนาคารที่ใช้บริการอยู่ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ 16 ธนาคาร เช่น
-
• โครงการเอสเอ็มอี โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท ต่อรายประมาณ 10,000 – 2,000,000 บาท ค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี และเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
• ธนาคารออมสินจะช่วยเหลือลูกหนี้เดิมด้วยการพักชำระหนี้เงินต้น และไม่คิดดอกเบี้ยเป็นจำนวน 6 เดือนสำหรับสินเชื่อที่มีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท
• ผู้ถือบัตรเครดิต ให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 3% ใน 3 รอบบัญชี
• ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยลูกหนี้ที่ยังมีสถานะปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน สามารถขอขยายเวลาการชำระหนี้ได้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี
• มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับการเสริมสภาพคล่อง และการใช้จ่ายภาคอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในวงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกกระทรวงการคลังไม่เก็บดอกเบี้ย หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ย MRR
• มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการลงทุนซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรต่างๆ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR 2% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี
“ส่วนนโยบายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจะต้องนำกลับเข้ามาใน ครม. อีกครั้ง คือ การออกกฎระเบียบด้านกฎหมายต่างๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี โดยจะมีการกำหนดรายจ่ายการซื้ออุปกรณ์วัสดุแต่งบ้านหรือการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่อุทกภัยนำไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นการแบ่งเบาภาระของพี่น้องประชาชน” นายจิรายุ กล่าว
ดึงศิลปินระดับโลกจัด ‘Exclusive Concert’ ในไทย
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า “เมืองไทยเราไม่ค่อยได้จัดคอนเสิร์ตระดับโลกกันมานานแล้ว สมัยก่อนเคยมีมาจัดเมืองไทยและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ”
ดังนั้น นายกฯ จึงมีข้อสั่งการว่า ในปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2568 จะเป็นการท่องเที่ยวระดับโลก เรื่องสำคัญที่สุดคือวัฒนธรรมและดนตรี รวมทั้งศิลปะการแสดงต่างๆ ที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ และรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทั้งในปีงบประมาณ 2568 ถึงปีงบประมาณ 2569
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดแคมเปญส่งเสริม Exclusive Concert หรือ คอนเสิร์ตที่ไม่ค่อยไปเล่นที่ไหน หรือไม่ค่อยเปิดการแสดงทั่วไป เพื่อให้การแสดงสำคัญๆ ของโลกะมาจัดแสดงที่ประเทศไทย
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ร่วมมือกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำศิลปินระดับโลกมาจัดแสดงที่ประเทศไทย ซึ่งมีหอประชุมใหญ่ๆ มากมายหลากหลายในกรุงเทพฯ และภูมิภาค ดังนั้น ขอให้เร่งดำเนินการ
“นายกฯ บอกว่าปีหน้าจะเป็นปีทองของประเทศไทยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือชมคอนเสิร์ต กระทั่งวัฒนธรรมไทย” โดย
สั่ง พม.จัดระบบฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า จากการแจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางและคนพิการที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่าฐานข้อมูลของรัฐไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้ข้อมูลหลายหน่วยงานไม่ตรงกัน
“ไปดูที่นี่เป็นแบบนี้ อีกที่หนึ่งก็ไม่เหมือนกัน เช่น คำนำหน้าบ้างงเปลี่ยนนามสกุลแล้วบ้าง คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนชื่อที่อยู่ เป็นต้น” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพและประสานกับกระทรวงหมาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการคลัง บูรณาการกันเพื่อรวบรวมจัดทำข้อมูล big data โดยสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ให้การสนับสนุน
“ไม่ว่าจะไปติดต่อเรื่องการเรียน คีย์เลขบัตรประชาชนไปก็รู้เรื่อง จะไปติดต่อสาธารณสุข หาหมอ คีย์เลข 13 หลักเข้าไปก็รู้เรื่อง เป็นข้อมูลที่สามารถออนไลน์เข้าหากัน เป็นไปตามแนวทางที่นายกฯ ดำริในที่ประชุม” นายจิรายุ กล่าว
กำชับ 4 หน่วยงาน บังคับใช้ กม.เข้มงวด สกัดแชร์ลูกโซ่
นายจิรายุ กล่าวถึงกระแสข่าวการขายตรงและสินค้าออนไลน์ ว่า นายกฯ สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดให้มีช่องทางที่ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสและแจ้งความได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีที่มีผู้กระทำความผิดโดยเร็ว และให้รายงานตรงต่อนายกฯ ได้ตลอดเวลา
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งกำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งให้ความรู้กับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดการหลอกลวงเช่นนี้อีก
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข โดยให้ อย. ทำงานอย่างแข็งขัน เร่งตรวจสอบตามกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีการรับรองเข้ามาขายในระบบขายตรงหรือระบบออนไลน์ ซึ่งจะส่งผลเป็นวงกว้าง
“หมายความว่าต่อไปนี้ การจะขายอะไรก็แล้วแต่ ต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่ขึ้นอีก มอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา” นายจิรายุ กล่าว
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
เปิดลงทะเบียน ‘บัตรคนจน’ รอบใหม่ก่อน มี.ค.ปี’68
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 (โครงการฯ) ในประเด็นแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรฯ) (Exclusion Error) ตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (คณะกรรมการฯ) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน) เสนอ
สาระสำคัญ คณะกรรมการฯ รายงานว่า
1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากมีประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ เพราะมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติจากเดิมที่ตรวจสอบเฉพาะข้อมูลของผู้ลงทะเบียน เป็นตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน (เกณฑ์บุคคล) และครอบครัวของผู้ลงทะเบียน (คู่สมรสและ/หรือบุตร) (เกณฑ์ครอบครัว) โดยหากผู้ลงทะเบียนผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์บุคคลแล้ว จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์ครอบครัว (ถ้ามี) ในขั้นตอนต่อไป ซึ่งส่งผลให้การตรวจสอบคุณสมบัติเกิดความคลาดเคลื่อน และทำให้มีการตรวจสอบข้อมูลของผู้อุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติอีกหลายครั้ง ซึ่งใช้ระยะเวลาเกินกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้อุทธรณ์กลุ่มสุดท้ายสามารถเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกได้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ที่ได้รับสิทธิอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการยืนยันตัวตน
2. เพื่อให้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติที่ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง คณะกรรมการฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 จึงพิจารณาประเด็นดังกล่าวและมีมติเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (1 กุมภาพันธ์ 2565) เรื่อง โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ในประเด็นแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรฯ (Exclusion Error) โดยจะเปิดรับลงทะเบียนตามโครงการฯ ครั้งต่อไปในระยะเวลาภายใน 2 ปีนับจากวันที่เริ่มใช้สิทธิครั้งแรกในโครงการที่เปิดรับลงทะเบียนครั้งล่าสุด (ต้องเปิดรับลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2568 เนื่องจากสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566) โดยคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ลงทะเบียนประมาณ 10 ล้านราย (ประมาณการจากกลุ่มกรอกข้อมูลลงทะเบียนโครงการฯ ปี 2565 ไม่ครบถ้วน 1.3 ล้านราย กลุ่มผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจำนวนประมาณ 5.1 ล้านราย และกลุ่มผู้ที่ตกหล่น/ต้องการลงทะเบียนเพิ่มจำนวนประมาณ 2 ล้านราย รวมถึงกลุ่มผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากกรมการปกครองจำนวนประมาณ 1.4 ล้านราย)
3. การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ส่งผลให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐสามารถพัฒนาปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และมีความถูกต้อง เพื่อลดปัญหาสถานะข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนลดการร้องเรียนเรื่องผลการตรวจสอบจากผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งยังส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยที่สมควรได้รับสิทธิสวัสดิการสามารถรับสิทธิสวัสดิการได้อย่างถูกต้อง และช่วยให้การดำเนินโครงการฯ และการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อนุมัติแผนก่อหนี้ผูกพันปี’68 กว่า 3.5 แสนล้าน
นายจิรายุ กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ สำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
สำนักงบประมาณนำเสนอเรื่อง ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามนัยมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณรวบรวมรายการงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายในปีต่อ ๆ ไป รวมทั้งจำนวนเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายมีผลใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
-
1. อนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี งบประมาณรายการใหม่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 1,612 รายการ เป็นวงเงินภาระผูกพัน รวมทั้งสิ้น 352,583 ล้านบาท [อยู่ในสัดส่วนตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568)] สำหรับรายการที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 33 รายการ วงเงิน 114,666.6 ล้านบาท เมื่อทราบผลประกวดราคาแล้วเห็นสมควรให้หน่วยรับงบประมาณนำเสนอนายกรัฐมนตรีทราบอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการต่อไป
2. อนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณที่ไม่สามารถดำเนินการ ตามหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 (เช่น รายจ่ายลงทุนที่จะขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณ ต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20) สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณตามที่เสนอได้ จำนวน 102 หน่วยรับงบประมาณ
3. อนุมัติให้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพิ่มวงเงินรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการค่าเช่าทรัพย์สิน จากวงเงินผูกพัน 3,407,055,400 บาท เป็นวงเงินผูกพัน 3,407,055,500 บาท [เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้กำหนดค่าเช่าพื้นที่ให้แก่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพื่อดำเนินโครงการรวมระยะเวลา 33 ปี เป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,407,055,426.83 บาท]
4. รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่จะต้องจ่ายในรูปของเงินตราต่างประเทศ เช่น รายการค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าอาคารสำนักงาน และค่าเช่าทรัพย์สินในต่างประเทศ ให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติวงเงินผูกพันที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณสามารถปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง
5. เพื่อเป็นการเร่งรัดให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งราคากลาง คุณลักษณะเฉพาะ แบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง และรายละเอียดประกอบที่เกี่ยวข้องให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการ จัดซื้อจัดจ้าง และเมื่อได้ผลจัดซื้อจัดจ้างแล้ว หากไม่เกินวงเงินที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบให้แจ้งสำนักงบประมาณทราบและดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันต่อไปได้
ต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 จว.ชายแดนใต้อีก 3 เดือน
นายจิรายุ กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 78 พร้อมทั้งร่างประกาศฯ รวม 2 ฉบับ ดังนี้
-
1.1 ร่างประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง
1.2 ร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
2. รับทราบร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
สาระสำคัญ
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 4/2567 มีสาระสำคัญเป็นการขอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2568 (พื้นที่คงเดิม) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ให้ยุติลงโดยเร็ว รวมทั้งหากไม่มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะส่งผลให้ผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่อยู่ในการควบคุมตัวในกระบวนการซักถามของฝ่ายความมั่นคงและที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลต่อการสืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานในการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ยกเว้นยื่นใบ ตม.6 ดึงต่างชาติเที่ยวไทยถึงสิ้น เม.ย.ปีหน้า
นายจิรายุ กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
-
1.เห็นชอบในหลักการการขอขยายระยะเวลาการขอยกเว้นการยื่นรายการ ตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
2. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกำกับติดตาม และประเมินผลกระทบจากการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ภายหลังครบระยะเวลา ที่ประกาศไว้ (6 เดือน) ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวต่อไปได้
สาระสำคัญ กต. เสนอว่า
1. ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าว บางจําพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ รายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ลงวันที่ 11 เมษายน 2567 กำหนดให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร ตามช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง ได้รับยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของ คนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2567 รวมจำนวน 16 ด่าน ได้แก่
1.1 ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก ดังนี้
-
(1) ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
(2 ด่านตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เฉพาะช่องทางอนุญาตเส้นทางคมนาคมทางบกจากพรมแดนถึงที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหาร
(3) ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เฉพาะช่องทางอนุญาตเส้นทางคมนาคมทางบกจากพรมแดนถึงที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง หนองคาย และช่องทางอนุญาตเส้นทางคมนาคมทางรถไฟจากพรมแดนถึงบริเวณเขตสถานีรถไฟหนองคาย
(4) ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเฉพาะช่องทางอนุญาตเส้นทางคมนาคมทางบกจากพรมแดนถึงที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน
(5) ด่านตรวจคนเมืองปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา
(6) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา
(7) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
(8) ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จังหวัดยะลา
1.2 ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำที่เดินทางมากับเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช) ดังนี้
-
(1) ด่านตรวจคนเข้าเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
(2) ด่านตรวจคนเข้าเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี
(3) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสีชัง จังหวัดชลบุรี
(4) ด่านตรวจคนเข้าเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง
(5) ด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
(6) ด่านตรวจคนเข้าเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
(7) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
(8) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะช่องทางอนุญาตทำเลจอดเรือบริเวณอ่าวหน้าทอน
2. โดยที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยตามข้อ 1 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 กต. (กรมการกงสุล) จึงได้หารือร่วมกับ มท. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในเบื้องต้นแล้ว ไม่ขัดข้องต่อการขยายระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งไม่ขัดข้องต่อร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจําพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษโดยได้รับยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) (ฉบับที่ 2) โดยกำหนดรายชื่อช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ได้รับการยกเว้นทั้ง 16 ด่าน ไว้เช่นเดิม และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
ผ่าน กม.ลูกป้องกันค้ามนุษย์ในโรงงาน – เรือประมงต่างชาติ
นายจิรายุ กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (23 กรกฎาคม 2567) เห็นชอบในหลักการ และคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศฉบับปัจจุบัน (ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงานและยานพาหนะ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558) เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร่วมรักษาการ กำหนดความผิดและมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดฐานบังคับใช้แรงงาน หรือ บริการ ซึ่งร่างประกาศในเรื่องนี้ยังคงหลักการเดิมในการกำหนดให้สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ เช่น สถานบริการ โรงแรม โรงงาน เป็นต้น อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
นอกจากนี้ ได้ปรับแก้ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแลให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือ ผู้ดำเนินกิจการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเพิ่มฐานความผิดการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เช่น (1) ชี้แจงให้ความรู้แก่ลูกจ้าง หรือผู้รับบริการ เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน หรือ บริการอย่างน้อยปีละครั้ง (2) อนุญาตให้ลูกจ้างติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ (3) ตรวจสอบให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นใดกล่าวอ้างว่ามีการใช้กำลังบังคับ หรือทำร้ายเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เป็นต้น
ร่างประกาศดังกล่าวมีมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดให้ พม. กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะตามกฎหมายนั้น กำกับ ดูแลให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ดำเนินกิจการ ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะดังต่อไปนี้
-
(1) ชี้แจงหรือให้ความรู้แก่ลูกจ้าง หรือผู้รับบริการอย่างน้อยปีละครั้ง
(2) อนุญาตให้ลูกจ้างติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้
(3) ตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นใดกล่าวอ้างว่ามีการใช้กำลังบังคับหรือทำร้ายเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
(4) อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในสถานประกอบกิจการ โรงงาน หรือยานพาหนะ ที่ตนเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครอง
(5) ควบคุม สอดส่อง และดูแล ไม่ให้มีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
(6) แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือให้ข้อมูลข่าวสาร หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ของบุคคลซึ่งมีเหตุอันสมควรสงสัยหรือควรเชื่อได้
2. กำหนดให้สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการ โรงงานและยานพาหนะ ได้แก่ สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ อาคารที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ อาคารชุด เกสต์เฮ้าส์ (Guest House) หรือ อาคารที่ให้ผู้อื่นเช่า1 โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เรือประมงต่างประเทศที่เข้ามาในน่านน้ำไทย อยู่ภายใต้บังคับของมาตรฐานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม รมว.คลังเอเปค ปี’67
นายจิรายุ กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ประจำปี 2567 โดยหากมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมปรับปรุง และแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการคลังดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
สาธารณรัฐเปรูในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคประจำปี 2567 มีกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 31 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยเอเปคเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยึดหลักของความสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยร่างถ้อยแถลงฯ ไม่ถือเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (รัฐธรรมนูญฯ)
ร่างถ้อยแถลงฯ มีสาระสำคัญ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินนโยบายทางการคลังและการเงินอย่างผสมผสาน เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นพลวัต พร้อมกับให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจควรดำเนินนโยบายที่ช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าและการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและดิจิทัล พัฒนาทุนมนุษย์ และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยในปี 2567 ภายใต้การนำของสาธารณรัฐเปรู เขตเศรษฐกิจได้ผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืน กลไกกำหนดราคาคาร์บอนในประเทศ และมาตรการที่ไม่กำหนดราคา การเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การเงินที่เปิดกว้าง การเงินดิจิทัลที่ครอบคลุม และการเงินเพื่อบรรเทาความเสี่ยงทางอุทกอุตุนิยมวิทยา (Hydrometeorological Risk) เพื่อให้เขตเศรษฐกิจบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืนและการพัฒนาที่ยืดหยุ่น
ตั้งเลขาฯ-ที่ปรึกษา รมต. 15 ตำแหน่ง
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอ แต่งตั้งนายอิสระ ละอองสกุล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยกายการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการบูรณาการการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองเสนอแต่งตั้ง นายวัธนชัย ทองประเสริฐ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนัก 1 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบงานการข่าว (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงบประมาณ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุมสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
-
1. นายธีรเดช ถิรพร ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สงป. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สงป. ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2567
2. นางสาวศรินทิพย์ ธนวิจิตรพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สงป. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สงป. ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567)
3. นายพลากร ม่วงพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สงป. ให้ดำรงตำแห่นง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สงป.ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567
4. นางอมรรัตน์ ภูมิวสนะ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สงป. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สงป.ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ(สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
-
1. นางศศิพร ปาณิกบุตร ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) สำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2567
2. นายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) สำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
5. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ การมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้
-
1. นายอัครา พรหมเผ่า
2. นายอิทธิ ศิริลัทธยากร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
6. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอแต่งตั้ง คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (Thai National Mekong Committee: TNMC) ดังนี้
องค์ประกอบที่เสนอแต่งตั้งขึ้นใหม่มีดังนี้ 1) รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ 2) เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการ 3) กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำเจ้ากรมอุทกศาสตร์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชัยยุทธ สุขศรี (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการน้ำ) นายวิจารย์ สิมาฉายา (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน) โดยมีรองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
7. การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
8. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอามาจักร (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร จำนวน 5 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
9. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงยุติธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
2. นายกูเฮง ยาวอหะซัน ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
10. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง บุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้
-
1. นายชื่นชอบ คงอุดม ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
2. นายสยาม บางกุลธรรม ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
3. นายโรจน์พิศาล อินทรักษ์ ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
11. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายวิชัย ไชยมงคล เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
12. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงวัฒนธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นายวิเชียร สุขสร้อย ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งนางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นางสาวจิราพร สินธุไพร)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง บุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นางสาวพลอย ธนิกุล
2. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง จำนวน 5 ราย ดังนี้
-
1. นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
2. นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
3. นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี)
4. นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ)
5. นางสาวณภัทรา กมลรักษา ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2567เพิ่มเติม