ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯยันไม่ ‘เตะถ่วง’ ตั้งใจขึ้นค่าแรง 400 บาท ปีนี้ – มติ ครม.ไฟเขียว ธ.ก.ส.สำรองจ่ายพักหนี้ 2 ปี 22,972 ล้าน

นายกฯยันไม่ ‘เตะถ่วง’ ตั้งใจขึ้นค่าแรง 400 บาท ปีนี้ – มติ ครม.ไฟเขียว ธ.ก.ส.สำรองจ่ายพักหนี้ 2 ปี 22,972 ล้าน

24 กันยายน 2024


เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี ณ โถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯยันไม่ ‘เตะถ่วง’ ตั้งใจขึ้นค่าแรง 400 บาท ปีนี้
  • โยนคลังถก ธปท.แก้ปม ‘บาทแข็ง’
  • ปัดตอบแก้ รธน. ขอแก้น้ำท่วมก่อน
  • วอนนักข่าวอย่าถามประเด็น ‘ยุแยง’
  • ย้ำงบฯช่วยน้ำท่วมไม่ได้มีแค่ 3,045 ล้าน ไม่พอ – ขอเพิ่มได้
  • จี้ผู้ประกอบการเร่งผลิตรถ EV ตามสัญญา
  • มติ ครม.ไฟเขียว ธ.ก.ส.สำรองจ่ายพักหนี้เกษตรกร 2 ปี 22,972 ล้าน
  • จัดงบกลาง 7,125 ล้าน หนุน ปชช.ซื้อรถ EV
  • อนุมัติงบกลาง 2,850 ล้าน จ่ายค่ายา ขรก.
  • เห็นชอบ 1,453 ล้าน ชดเชยดอกเบี้ย-ความเสียหาย Soft Loan
  • อนุมัติงบฯ 3,849 ล้าน จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดฯ
  • คลังจัดทัพใหม่ ตั้ง ‘ปิ่นสาย สุรัสวดี’ อธิบดีกรมสรรพากร
  • เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

    งดเก็บค่าไฟเดือน ก.ย.ช่วยผู้ประสบอุทกภัย ต.ค.ลด 30%

    นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบอุทกภัยจากในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำเดือนกันยายน – ตุลาคม 2567 โดยเดือนกันยายน 2567 จะไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า และเดือนตุลาคมจะให้ส่วนลดค่าไฟ 30% โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

    ไฟเขียวพักหนี้เกษตรกรถึง ก.ย.ปี’69

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอเรื่องมาตรการพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 2 และ 3 และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 และระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึง 30 กันยายน 2569

    สั่ง ‘ดีอี’ ยกระดับแอปฯ ‘ทางรัฐ’ รายงานสถานการณ์ฉุกเฉิน

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า จากที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอาสาสมัคร ทำให้ตนได้สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะอนุกรรมการ คอส. และ ศปช. ดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้แอปพลิเคชั่นทางรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์อุทกภัยสำหรับการรายงานอาสาสมัคร การแบ่งหน้าที่และแบ่งความรับผิดชอบ

    “ได้รับคอมเมนต์มาว่าการรายงาน เพื่อจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมีการรายงานที่ซ้ำซ้อน ทำให้เสียเวลา และจะมีการช่วยลงทะเบียนรับเงินเยียวยา การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ และเกิดความรวดเร็ว ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    นอกจากนี้ นางสาวแพทองธาร ยังสั่งการเร่งรัดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งดำเนินการใช้ Cell Broadcast เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

    ยันไม่ ‘เตะถ่วง’ ตั้งใจขึ้นค่าแรง 400 บาท ปีนี้

    ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเลื่อนจ่ายเงินจากวันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยนางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เป็นนโยบายจากรัฐบาล มีความชัดเจนเรื่องนี้เรื่องการขึ้นค่าแรง แต่ว่าก็ต้องอาศัยทางไตรภาคีว่าให้ความคิดเห็นอย่างไร เราก็พยายามนัดหมาย และเร่งให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด พยายามพูดคุยกัน”

    ถามต่อว่า ยืนยันในนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “นโยบายเรื่องนี้รัฐบาลขอยืนยัน ต้องคอยผลักดันเรื่องนี้”

    ถามต่อว่าจะไม่มีการเตะถ่วงใช่หรือไม่ โดยเฉพาะส่วนของผู้ประกอบการ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ต้องคุยกันก่อนทั้งหมด ไม่ได้เตะถ่วงอะไร คิดว่าทั้งสามส่วนต้องคุยกันในรายละเอียดเพิ่มเติม อีกอย่างมีเรื่องของกฎหมายด้วย ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า บอกได้ไหมว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อยากให้เร็วที่สุด แต่ต้องมาดูก่อนว่าติดอะไรกันบ้าง”

    ถามย้ำว่าภายในสิ้นปีนี้หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “นั่นคือความตั้งใจว่าเป็นปีนี้”

    โยนคลังถก ธปท.แก้ปม ‘บาทแข็ง’

    เมื่อถามถึงประเด็น ‘บาทแข็ง’ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เรื่องบาทแข็งทำให้เกิดความกังวลในทุกภาคส่วน ในส่วนรัฐบาลเราก็ทำได้ในหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก หรือ อะไรก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ใช้ข้อดีของบาทแข็งตอนนี้ อีกด้านก็ต้องพูดคุยกัน”

    ถามต่อว่าจะใช้โอกาสนี้พูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ หรือไม่ ทำให้นางสาวแพทองธาร บอกว่า “คงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังให้ไปคุยดีกว่า ว่าจะแก้อย่างไรได้บ้าง ร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง”

    วอน ปชช.โหลดแอปฯ ‘ทางรัฐ’ รับเงินเยียวยา

    ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะใช้แอปพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ’ ในการจ่ายเงินเยียวยา และเช็กสิทธิต่างๆ ประชาชนควรโหลดแอปเก็บไว้หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “จริงๆ แล้วเคยประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ตอนดิจิทัล วอลเล็ตแล้วว่าให้โหลดแอปทางรัฐเอาไว้ เพราะนอกจากการ Register ชื่อแล้ว มันยังเป็นการต่อยอดในการใช้ Facility ของรัฐด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยา และอื่นๆ ซึ่งเราพยายามพัฒนาระบบนี้ เพื่อให้ Link ถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อความรวดเร็วในการจ่ายเงินเยียวยาก็จะเร็วขึ้น ขอให้โหลดไว้ และ Register ข้อมูลสำคัญของตัวเองให้ครบถ้วน”

    ปัดตอบแก้ รธน. ขอแก้น้ำท่วมก่อน

    ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ต้องมีการพูดคุยกัน ตอนนี้รัฐบาลเองขอโฟกัสเรื่องน้ำท่วม เพราะเมื่อเช้าก็เพิ่งได้รับรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า ลำปางน้ำท่วมหนักขึ้น เมื่อกี้ที่คุยกันข้างนอก รัฐมนตรีทั้งหมดก็คุยกันเรื่องน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ นี่คือโฟกัสที่สำคัญ”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า แสดงว่าพักเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไว้ก่อน โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ก็เป็นเรื่องที่ให้อยู่ในสภาไป รัฐบาลต้องทำงานให้พี่น้องประชาชนก่อน”

    เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีบางพรรค ‘กลับลำ’ อย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขณะเดียวกันหลังจบคำถามนี้ได้มีเสียงหัวเราะออกมาจากรัฐมนตรีที่ยืนอยู่ด้านหลังนายกฯ ทำให้นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ต้องพูดคุยกัน จริงๆ แล้วไม่อยากให้นักข่าวถามแบบนี้ในเรื่องการ ‘กลับลำ’ เพราะก่อนที่จะเข้าประชุม ครม. เรามีการคุยกันทั้งก่อนและหลังประชุม ถามความคิดเห็นเลยว่ายังไง เข้าใจว่าเวลาสัมภาษณ์ถูกตัดบางคำพูด ทำให้รู้สึกว่ากลับลำหรือไม่เห็นด้วยได้ แต่ความจริงแล้วเราคุยกันหลังไมค์ เราเข้าใจอยู่แล้ว”

    วอนนักข่าวอย่าถามประเด็น ‘ยุแยง’

    “เมื่อกี้ได้คุยกับท่านรองนายกฯ หลายท่าน และหัวหน้าพรรคด้วย รัฐมนตรีด้วย เรามีความคิดเหมือนกันว่าตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลควรเน้นย้ำคือเรื่องพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม หรือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ…ถ้ารัฐบาลมั่นคง มีเสถียรภาพการเมืองมั่นคง ประเทศชาติก็มั่นคงไปด้วย นักข่าวก็ต้องช่วยกันในเรื่องนี้ด้วย” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    ถามต่อว่า เวลาจะแก้รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นว่าจะแก้กันสุดซอยหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เรื่องนี้ต้องพูดคุยกัน…รัฐบาลเข้มแข็ง นั่นคือสิ่งที่ดีของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นจำไว้ว่าเราก็อยากให้รัฐบาลเข้มแข็งต่อไป”

    “ขอให้นักข่าวไม่ถามอะไรที่เป็นการยุแยงนะคะ” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    เมื่อถามย้ำว่า พูดได้ไหมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่วาระเร่งด่วน นางสาวแพทองธาร ตอบทันทีว่า “ณ ขณะนี้ สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดคือสถานการณ์น้ำท่วม ถ้าหันมามองหน้ารัฐมนตรีตรงนี้ทุกคน ทุกคนมีความกังวลใจเรื่องนี้ แต่ทุกคนจะแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด เมื่อกี้ก็พูดเรื่องเยียวยากันไป และเพิ่งพูดเรื่องว่าเราจะสามารถปลดกรอบตรงนี้อย่างไรให้ประชาชนได้รับเงินให้เร็วที่สุด นี่พูดภาษาง่ายๆ เลย นี่คือสิ่งที่เราโฟกัส”

    เผยปลัดมหาดไทยคนใหม่ลงพื้นที่เชียงรายแล้ว

    นางสาวแพทองธาร ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันกำลังจะเกษียณอายุ ได้มีการส่งต่องานให้ปลัดฯ คนต่อไป และได้ลงพื้นที่และบูรณาการพื้นที่ของเชียงรายเรียบร้อยแล้ว

    “ไม่ต้องห่วงว่าในพื้นที่ของเชียงรายได้คนไปดูแลเต็มที่แล้ว วันนี้ขอประมาณนี้” นางสาวแพทองธารกล่าว

    ขอ รมต.ตรวจคุณสมบัติ ขรก.การเมืองก่อนส่ง สลน.

    ด้านนายจิรายุ รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม รวมทั้ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 ได้ระบุคุณสมบัติของข้าราชการการเมืองไว้ จึงต้องมีการตรวจสอบด้วยเวลานานขึ้น ทำให้รัฐบาลขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 14 หน่วยงาน

    โดยนายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า การแต่งตั้งในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้เวลานานขึ้น ในโอกาสต่อไปจะขอให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทั้งหลายได้กรุณาตรวจสอบคุณสมบัติก่อนส่งมาที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

    “ในที่ประชุม รัฐมนตรีหลายท่านสอบถามว่าทำแบบไหน อย่างไร ในอดีตจะส่งเฉพาะรายชื่อเอกสาร การศึกษา วุฒิ ส่งมาที่ ครม. คราวนี้อยากให้ทางต้นสังกัดพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนตามที่นายกฯ สั่งการ” นายจิรายุ กล่าว

    ย้ำงบฯช่วยน้ำท่วมไม่ได้มีแค่ 3,045 ล้าน ไม่พอ – ขอเพิ่มได้

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการในที่ประชุมว่า ถ้ากระทรวง ทบวง กรมใด ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ขอให้นำเข้าสู่ ครม. เพื่อพิจารณาได้ ไม่ใช่เพียงแค่กรอบงบประมาณ 3,045 ล้านบาท แต่ยังมีอีกจำนวนมาก

    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 งบกลางเป็นจำนวน 3,045 ล้านบาท

    สั่งทุกกระทรวงรวมข้อมูลผลกระทบน้ำท่วมให้ ศปช. ชง ครม.จัดงบฯเพิ่มเติม

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการเรื่องการลดค่าน้ำค่าไฟที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และอยากขอความร่วมมือทุกกระทรวงที่อยู่ใน ศปช. หรือ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคืนพื้นที่ถนน ประปา ไฟฟ้า ระบบสื่อสาร คมนาคม และรวบรวมเพื่อนำสู่ ครม. ให้พิจารณางบประมาณต่อไป

    ใช้แอป ‘ทางรัฐ’ แบ่งหน้าที่อาสาสมัคร-แจกเงินเยียวยา

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แอปพลิเคชันทางรัฐในการรายงานตัวอาสาสมัคร และมูลนิธิต่างๆ โดยเฉพาะการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ การรายงานสถานการณ์ฉุกเฉิน และการลงทะเบียนขอรับการเยียวยาและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

    “สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดความชุลมุน หลานท่านเข้าไปจุดซ้ำๆ จริงๆ แล้วส่วนราชการควรจะบอกว่าตรงนี้มาเยอะแล้ว เกินจำนวนที่อยากได้ความช่วยเหลือแล้ว น่าจะไปตรงจุดนั้น แอปพลิเคชันนี้ก็จะเป็นศูนย์รวมบริหารจัดการให้มูลนิธิต่างๆ หรือพี่น้องประชาชนที่ไปด้วยตัวเองได้ไปได้ถูกจุด” นายจิรายุ กล่าว

    เร่ง Cell Broadcast แจ้งเตือนภัย – จัดระเบียบเสียงตามสาย

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการ Cell Broadcast และพิจารณาการส่งสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านทางสื่อและระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ วิทยุโทรทัศน์ และระบบอนาล็อก คือหอกระจายข่าวของชุมชน

    “เราต้องยอมรับความจริงว่าไปต่างจังหวัด ผู้ใหญ่บ้านยังใช้ไมค์เปิดบอกพี่น้องประชาชนอยู่ แต่ที่นายกฯ รับข้อมูล หลายหมู่บ้านเตือนจนไม่แน่ใจว่าของจริงหรือว่าอย่างไร จนกระทั่งไม่รู้ว่าหนักหนาสาหัสหรือไม่อย่างไร” นายจิรายุ กล่าว

    “ให้ไปจัดระเบียบว่าควรจะมีสัญญาณเสียง ถ้าดัง ‘ตื๊ด ตื๊ด ตื๊ด’ ก็เตือนภัยให้ติดตามดูสื่อต่างๆ ของรัฐ แต่ถ้าเตือนยาวหรือเสียงดังต่อเนื่องให้อพยพ เป็นต้น เพื่อจัดลำดับความสำคัญให้ประชาชน เหมือนเราไปตามห้างและมีคนส่งเอสเอ็มเอสเข้ามา ร้านนั้นส่งส่วนลดเข้ามาเราก็ไม่ค่อยอยากจะเปิดดู เพราะฉะนั้นต้องทำระบบนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น” นายจิรายุ กล่าว

    ‘ดีอี’ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางระบบ Cell Broadcast

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ระบบ Cell Broadcast สามารถใช้ได้จริงๆ ในไตรมาส 2 ปี 2568 ใช่หรือไม่ นายจิรายุ ตอบว่า “มันมีที่เราใช้ SMS กันอยู่แล้ว เพียงแต่ทำอย่างไรจะทำให้คนรู้สึกว่ามันจำเป็น ช่วงบ่ายนี้ (24 กันยายน 2567) คุณประเสริฐ จันทรรวงทอง จะพูดคุยเพิ่มเติมกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นว่ามีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา GISTDA ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ กรมป้องกันภัย กรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ มาพูดคุยกัน”

    “สมมติตอนนี้เราอยู่จังหวัดนครสวรรค์ น้ำจะมาปากน้ำโพแล้ว มันมาระดับไหน คนปากน้ำโพอาจคุ้นเคยกับระดับน้ำอยู่แล้ว แต่เตือนแบบไหน ต้องยกของขึ้นที่สูง สัญญาณระดับนี้อพยพระดับไหน ต้องหนีออกจากพื้นที่แบบไหน ระบบมีอยู่แล้ว คิดว่าไม่น่าจะเกิน 2-3 เดือนน่าจะมีผลออกมาอย่างชัดเจน”

    “ผมจำได้ตอนสึนามิ เราจะเห็นว่ามุมจอเขาจะมีคลื่นสัญญาณกระพริบ ไม่ใช่ทำเฉพาะมือถืออย่างเดียว อย่าลืมว่าประชาชนอยู่ต่างจังหวัด บางท่านก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ปู่ย่าตายายเขาไม่ได้ดูมือถือตลอดเวลา ทำอย่างไรจะส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายของกรมการปกครองท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังพี่น้องประชาชนให้ทราบ ส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่เขาติดตามสถานการณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา” นายจิรายุ กล่าว

    จี้ผู้ประกอบการเร่งผลิตรถ EV ตามสัญญา

    ผู้สื่อข่าวถามถึงมติ ครม. ที่ได้มีการอนุมัติงบกลางเพื่อสนับสนุนมาตรการ EV โดยนายจิรายุ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “มีการตั้งข้อสังเกตในที่ประชุม ครม. ว่า หากหน่วยงานใดยังไม่ผลิตเป็นไปตามเป้าหมาย เช่น การใช้ local content หรือใช้วัสดุอุปกรณ์ในประเทศไทยจำนวนที่ลดลง หรือ ยืดการผลิตที่ให้สัญญาไว้ ขอให้เร่งดำเนินการตามปีงบประมาณ”

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ไฟเขียว ธ.ก.ส.สำรองจ่ายพักหนี้เกษตรกร 2 ปี 22,972 ล้าน

    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (มาตรการพักชำระหนี้ฯ) ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (การพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ฯ) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 22,972 ล้านบาท แบ่งเป็น

      • รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี จำนวน 21,172 ล้านบาท และ
      • สนับสนุนค่าใช้จ่ายการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวน 1,800 ล้านบาท

    โดยให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น และตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป

    สาระสำคัญของเรื่อง

    เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2567 ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง กค. จึงเสนอมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ฯ ดังกล่าว โดยมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 2 และระยะยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งยังไม่ฟื้นตัว และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ธนาคาร โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้

      • ระยะที่ 1 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 จำนวน 1,855,433 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม จำนวน 240,836 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี
      • ในระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 กรอบวงเงินชดเชย 10,550 ล้านบาท และ
      • ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 กรอบวงเงินชดเชย จำนวน 10,622 ล้านบาท

    รวมกรอบวงเงินชดเชย จำนวน 21,172 ล้านบาท รวมทั้งรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. สำหรับเกษตรกร ปีละประมาณ 300,000 ราย (รายละ 3,000 บาท) ระยะเวลา 2 ปี

    จัดงบกลาง 7,125 ล้าน หนุน ปชช.ซื้อรถ EV

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7,125.63 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (มาตรการ EV3) ต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอสาระสำคัญของเรื่อง

    1. มาตรการ EV3 เป็นมาตรการที่กำหนดอยู่ในประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (ประกาศกรมสรรพสามิตฯ) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    เงินอุดหนุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภท

      (1) กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับ

        • เงินอุดหนุน 70,000 บาท สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง
        • เงินอุดหนุน 150,000 บาท สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป

      (2) กรณีรถยนต์กระบะ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)
      (3) กรณีรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV

    ขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ที่ผู้ขอเข้าร่วมมาตรการจะต้องดำเนินการเพื่อขอรับเงินอุดหนุน

      (1) ผู้ขอเข้าร่วมมาตรการต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตฯ กำหนด และต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนดและยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้
      (2) ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องยื่นขอรับสิทธิตามมาตรการ EV3 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองเป็นรายรุ่น เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำก่อนและหลังรับสิทธิตามมาตรการ EV เพื่อให้ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับยานยนต์รุ่นดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนลดต่าง ๆ ที่ภาครัฐมอบให้ตามมาตรการดังกล่าว
      (3) เมื่อผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3 จำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ได้รับสิทธิให้แก่ผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว จะต้องดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานการจำหน่ายและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าคันดังกล่าว เพื่อส่งให้กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อให้กรมสรรพสามิตดำเนินการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนต่อไป
      (4) กรมสรรพสามิตดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานพร้อมประเมินเงินอุดหนุนทั้งหมดในไตรมาสนั้น ๆ เพื่อดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณ หากได้รับการอนุมัติก็จะดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้รับสิทธิต่อไป

    2. รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีการจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 จำนวน 90,380 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 11,917.34 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้

    3. กค. (กรมสรรพสามิต) ได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับมาตรการ EV3 รวมทั้งสิ้น 6,947.78 ล้านบาท ดังนี้

    4. กค. แจ้งว่า ในการดำเนินการตามมาตรการ EV3 จะต้องใช้เงินอุดหนุน รวมทั้งสิ้น 11,917.34 ล้านบาท ซึ่ง กค. ได้รับงบประมาณไปแล้ว 6,947.78 ล้านบาท โดยได้เบิกจ่ายไปแล้ว 5,901.19 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามมาตรการ EV3) และต่อมาได้เบิกจ่ายเพิ่มเติมอีก จำนวน 996.62 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันยังคงเหลือที่ได้ไม่รับการจัดสรรรงบประมาณอีก จำนวน 5,019.53 ล้านบาท (11,917.34 – 6,897.81) ประกอบกับ กค. คาดว่าจะสามารถจำหน่ายและจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3 แจ้งข้อมูลต่อกรมสรรพสามิตว่า มีความพร้อมสำหรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป และหากสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้แล้วก็จะขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์อีกจำนวน 16,500 คัน วงเงิน 2,475 ล้านบาท จึงทำให้ กค. ต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการ EV3 รวมทั้งสิ้น 7,494.53 ล้านบาท ซึ่ง สงป. แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7,125.63 ล้านบาทแล้ว

    5. มาตรการ EV3 จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยการสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลงใกล้เคียงกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน และช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยลดให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ด้วยการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลภาวะ

    อนุมัติงบกลาง 2,850 ล้าน จ่ายค่ายา ขรก.

    นายจีรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,850.00 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายสำหรับงบกลาง รายการค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    สำนักงบประมาณได้นําเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้กรมบัญชีกลางใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,850.00 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายสำหรับงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ที่มีผลการเบิกจ่ายจริงสูงกว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อบรรเทาภาระเงินคงคลังและการตั้งงบประมาณ รายจ่ายประจำปีเพื่อชดใช้เงินคงคลังดังกล่าว

    เห็นชอบ 1,453 ล้าน ชดเชยดอกเบี้ย-ความเสียหาย Soft Loan

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,453.11 ล้านบาท สำหรับการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยตามมาตรา 9 และเงินชดเชยความเสียหายตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนด Soft Loan) รอบแรก ครั้งที่ 1 และรอบแรก ครั้งที่ 2 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567) เห็นชอบกรอบวงเงินการจัดสรรงบประมาณ สำหรับการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    1. ในปี 2563 กค. ได้ออกพระราชกำหนด Soft Loan เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ให้แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ และป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจเกิดสภาวะการขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้จากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด 19 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำสินเชื่อดังกล่าวให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกู้ยืมต่อ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

      (1) วงเงินที่ให้ยืมต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง และ
      (2) อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี สำหรับ 2 ปีแรก (ไม่เรียกเก็บดอกเบี้ย 6 เดือนแรก)

    ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินได้รับเงินชดเชยดอกเบี้ยและความเสียหายตามพระราชกำหนด Soft Loan

    2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (27 กุมภาพันธ์ 2567) เห็นชอบกรอบวงเงินการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยและเงินชดเชยความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ตามมาตรา 9 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนด Soft Loan คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,453.11 ล้านบาท ตามที่ กค. เสนอ สรุปได้ ดังนี้

    และให้ กค. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดำเนินการยื่นขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อสำนักงบประมาณ (สงป.) ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ตามขั้นตอนและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป

    3. ในครั้งนี้ กค. จึงได้ขอรับการจัดสรรรประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยตามมาตรา 9 และเงินชดเชยความเสียหายตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนด Soft Loan รอบแรก ครั้งที่ 1 และรอบแรก ครั้งที่ 2 เพื่อดำเนินการจ่ายให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อมิให้เป็นภาระแก่สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเกินสมควร เป็นจำนวนเงิน รวมทั้งสิ้น 1,453.11 ล้านบาท ซึ่ง สงป. ได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กค. โดย สศค. ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 1,453.11 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยและความเสียหายดังกล่าวตามพระราชกำหนด Soft Loan โดยเบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่นและขอให้ สศค. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป

    อนุมัติงบฯ 3,849 ล้าน จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดฯ

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,849.30 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ค้างจ่ายของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนอกสังกัด สธ. ที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – เดือนกันยายน 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    สำนักงบประมาณ (สงป.) ได้นำเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ สธ. และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,849.30 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วย COVID – 19 ค้างจ่ายของหน่วยงานใน และนอกสังกัด สธ. ที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – เดือนกันยายน 2565

    โดยก่อนที่จะเบิกจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ คุ้มค่า โดยคำนึงขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งประโยชน์สูงสุดของทางราชการเป็นสำคัญ ตลอดจนสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และขอให้หน่วยงานในสังกัด สธ. และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องจัดทำการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงประมาณ เพื่อขอทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป

    จัดงบกลาง 1,034 ล้าน ให้กลาโหม บริหารจัดการน้ำ

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,034,352,700 บาท ให้กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบก (ทบ.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริการบริหารจัดการน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ กห. (กองบัญชาการกองทัพไทย และ ทบ.) ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 224 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,034,352,700 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และให้ กห. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    อนุมัติงบกลางให้กรมราชทัณฑ์ดูแลผู้ต้องขัง 999 ล้าน

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการควบคุมดูแลผู้ต้องขังจำนวน 999,503,900 บาท ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ยธ. โดยกรมราชทัณฑ์ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น จำนวน 999,503,900 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการควบคุม ดูแลผู้ต้องขัง ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยเบิกจ่ายในงบดําเนินงาน และขอให้กรมราชทัณฑ์จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป

    ชดเชยค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.ให้ กฟน.-กฟภ. 1,790 ล้าน

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ใช้จ่ายงบประมาณในวงเงิน 1,790.70 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม 2567 ถึงเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยให้ กฟน. และ กฟภ. เบิกจ่ายเงินจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ต่อไป ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอดังนี้

    สาระสำคัญ

    1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (7 พฤษภาคม 2567) เห็นชอบในหลักการมาตรการลดค่าใช้จ่าย ด้านพลังงานให้แก่ประชาชน รวมถึงการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 4 เดือน (พฤษภาคม – สิงหาคม 2567) จำนวน 19.05 สตางค์ต่อหน่วย ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ทั้งนี้ ให้ มท. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชดเชย ค่าใช้จ่ายให้ กฟน. และ กฟภ. ตามขั้นตอนต่อไป

    2. สงป. ได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว โดยนายกรัฐมนตรี [รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น] ได้ให้ความเห็นชอบให้ มท. โดย กฟน. และ กฟภ. ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็นในกรอบวงเงินรวม 1,790.70 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยขอให้ กฟน. และ กฟภ. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป

    เห็นชอบแผนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
    1. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง รวม 2 ฉบับ ได้แก่

      1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …
      1.2 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …

    2. การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ในลักษณะ MOU และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง รวม 2 ฉบับ ได้แก่

      2.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …
      2.2 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …

    3. การปรับปรุงแก้ไขการกำหนดเงื่อนไขการทำงานกับนายจ้างรายใหม่ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) ตามร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องการขยายระยะเวลาการเปลี่ยนนายจ้างและระยะเวลาการทำงานกับนายจ้างรายใหม่ สำหรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ

    4. การยกเว้นหน้าที่การแจ้งข้อมูลการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 64/2 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การยกเว้นการแจ้งข้อมูลการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 64/2

    5. ให้ รง. โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้นายจ้าง/ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้อง รับทราบข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวอย่างทั่วถึง

    สาระสำคัญของเรื่อง
    1. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เป็นการกำหนดมาตรการเพื่อบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้เพียงพอต่อความต้องการจ้างแรงงานของภาคธุรกิจ ซึ่งมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่

      1.1 การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นมาตรการกำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย กลุ่มคนต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง และกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกกฎหมายแต่ทำงานกับนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถดำเนินการขออนุญาตเพื่อให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจะสามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้เป็นระยะเวลา 1 ปี และ
      1.2 การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ในลักษณะ MOU ซึ่งเป็นมาตรการกำหนดให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาสามารถดำเนินการขออนุญาตเพื่อให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้ต่อไปเป็นระยะเวลา 2 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี

    รวมทั้งได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คนต่างด้าว ได้แก่ การกำหนดให้ขยายระยะเวลาที่คนต่างด้าวต้องหานายจ้างรายใหม่ภายหลังออกจากงาน จากเดิม 30 วัน เป็น 60 วัน และกำหนดยกเว้นให้คนต่างด้าวไม่ต้องแจ้งข้อมูลแก่นายทะเบียนเกี่ยวกับการจ้างงาน เว้นแต่มีการเพิ่มหรือเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ได้เห็นชอบกับมาตรการดังกล่าวแล้ว

    ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเปิดรับแรงงานต่างด้าว เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและแรงงานทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ ภาคการพัฒนาเทคโนโลยี ที่แรงงานกลุ่มดังกล่าว ยังมีความจำเป็นในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

    2. รง. ได้เสนอเรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 โดยประกอบด้วยมาตรการในการบริหารจัดการคนต่างด้าวในด้านต่าง ๆ รวมทั้งได้ยกร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่าง ๆ ด้วย ดังนี้

    [pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2024/09/คนต่างด้าว.pdf”]

    5. ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่2/2567 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าวแล้ว

    คลังจัดทัพใหม่ ตั้ง ‘ปิ่นสาย สุรัสวดี’ อธิบดีกรมสรรพากร

    นายจิรายุ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ / อนุมัติ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายมนตรี ดีมานพ ผู้อำนวยการสำนักงาน (ผู้อำนวยการสูง) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สศช. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สศช. ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2567

      2. นางสาวจินนา ตันศราวิพุธ ผู้อำนวยการสำนักงาน (ผู้อำนวยการสูง) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง สศช. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สศช. ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567

      3. นายสุรรัฐ เนียมกลาง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สศช. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สศช. ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2567

    ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    ต่ออายุเลขาสภาพัฒน์ฯอีก 1 ปี

    2. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของนายดนุชา พิชยนันท์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช. สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2567 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1)ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งรองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายวันนี นนท์ศิริ ข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่ง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง (กค.) ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 9 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์
      2. นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพสามิต
      3. นายปิ่นสาย สุรัสวดี รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร
      4. นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      5. นางสาวศุกร์ศิริ อภิญญานุวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      6. นางสาวพิมพ์เพ็ญ ลัดพลี ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      7. นายธีรลักษ์ แสงสนิท ผู้ตราจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      8. นายอรรถพล อรรถวรเดช ที่ปรึกษาการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      9. นางสาวชุติมา ศรีปราชญ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่า (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    6. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ครั้งที่ 1)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ พิจารณาอนุมัติการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2567 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

    ต่ออายุปลัด ทส.อีก 1 ปี

    7. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบการต่อเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ในวันที่ 1 กันยายน 2567 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

    8. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร (นักบริหารการทูตระดับสูง) (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบการต่อเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ในวันที่ 30 กันยายน 2567 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

    ดัน ‘สุริยพล นุชอนงค์’ ขึ้นอธิบดีกรมชลฯ

    9. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 8 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน และทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้

      1. นายถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
      4. นายนวนิตย์ พลเคน รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมหม่อนไหม
      5. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
      6. นายชัยวัฒน์ โยธคล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
      7. นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
      8. นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    10. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
      2. นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
      3. นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

    ทั้งนี้ ลำดับที่ 1 – 3 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป และลำดับที่ 4 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    11. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 7 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. ร้อยตรี จักรา ยอดมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทระทรวง
      2. นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
      3. นายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน
      4. นางสาวนุสรา กาญจนกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
      5. นางอารดา เฟื่องทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
      6. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      7. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอ รับโอนร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    ตั้ง ‘นลินี ทวีสิน’ ผู้แทนการค้าไทย

    13. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นางนลินี ทวีสิน
      2. นายชัย วัชรงค์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

    14. เรื่อง การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคล เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Chief Executive Officer, CEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้

      1. แต่งตั้ง นายพิพัฒน์ จิรพงศ์พิพัฒน์ วิศวกรปิโตรเลียมชำนาญการพิเศษปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองสัญญาแบ่งปันผลผลิต สังกัดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Chief Executive Officer, CEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2571

      2. ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ที่องค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ให้ นายพิพัฒน์ จิรพงศ์พิพัฒน์ ได้รับการพิจารณาความดีความชอบจากทางราชการต้นสังกัดด้วย และในกรณีที่จำเป็น พน. อาจให้กลับมาปฏิบัติงานในหน่วยงานต้นสังกัดก่อนระยะเวลาที่สั่งให้ไปสิ้นสุดลงเพื่อประโยชน์แก่ราชการได้ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ไปปฏิบัติงานให้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการจากองค์กรร่วมไทย – มาเลเซียโดยไม่รับเงินเดือนจากทางราชการ

    สาระสำคัญของเรื่อง พน. รายงานว่า

    1. รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซียได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ขึ้นเพื่อร่วมกันแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย โดยตามโครงสร้างการบริหารงานองค์กรร่วมตามที่รัฐบาลทั้งสองได้ให้ความเห็นชอบไว้กำหนดให้มีการสลับหมุนเวียนตำแหน่งหัวหน้าและรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ระหว่างคนไทยและคนมาเลเซียทุก ๆ 4 ปี ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่/ฝ่ายบริหาร (CEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย สำหรับ 4 ปีต่อไป (1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2571) จะเป็นวาระของประเทศไทย

    2. เนื่องจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่หน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนาย Emi Suhardi bin Mohd Fadzil ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2567 และจะต้องมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวในวาระถัดไป โดยตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซียเป็นของฝ่ายไทย รัฐบาลไทยจึงต้องมีการเสนอแต่งตั้งบุคคลฝ่ายไทยเพื่อเข้าดำรงตำแหน่ง

    3. พน. พิจารณาแล้วเห็นว่า นายพิพัฒน์ จิรพงศ์พิพัฒน์ วิศวกรปิโตรเลียมชำนาญการพิเศษปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองสัญญาแบ่งปันผลผลิต สังกัดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย เนื่องจากมีประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract, PSC) รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โดยที่การแต่งตั้งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองก่อน องค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย จึงจะสามารถทำการแต่งตั้งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 24 กันยายน 2567 เพิ่มเติม