ThaiPublica > เกาะกระแส > แตกต่างอย่างสันติ “เดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว” เพื่อสร้างสันติสุข

แตกต่างอย่างสันติ “เดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว” เพื่อสร้างสันติสุข

16 ตุลาคม 2024


บรรยากาศที่สังคมแบ่งขั้ว หลากหลาก แตกต่าง เราจะเดินหน้าอย่างไร ให้ความแตกต่างคือความสันติและสวยงาม ชมรมนักเรียนทุนหลวงชวนอ่านหนังสือ เดินหน้าอย่างไรในสังคมแบ่งขั้ว ของพระราชพุทธิวรคุณ (พระอมโรภิกขุ)

ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทำให้การแบ่งขั้วทางความคิดเห็นทางการเมือง หรือการถูกบีบให้เลือกฝ่ายเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะในยุคของโลกโซเชียลมีเดีย การแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างทำให้เกิดความขัดแย้ง และหลายครั้งหากไม่มีกระบวนการลดความขัดแย้งที่ดีพอ อาจนำไปสู่ความรุนแรงมากกว่าการสร้างสันติสุขให้กับสังคม

แล้วท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันในชีวิต ส่วนตัวและชีวิตการทำงาน เราเผชิญกับความเห็นต่างเหล่านั้นได้อย่างไร เมื่อไม่นานมานี้ ชมรมนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงได้จัดเสวนา แตกต่างอย่างสันติ โดยเปิดตัวหนังสือ “เดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว” ของพระราชพุทธิวรคุณ (พระอมโรภิกขุ) ที่สวนโมกข์กรุงเทพ

โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พระมหาจักรธร อตฺถธโร (พระโตน), นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย, นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ในฐานะผลิตสื่อสารคดี และ นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการคณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทรปัญญา

สำหรับหนังสือ “เดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว” เกิดขึ้นจากการแสดงธรรมของพระอมโรภิกขุ ในช่วงบรรยากาศการแบ่งขั้วความคิดทางการเมืองไทย หลังการเลือกตั้งการเมืองไทยในปี 2566 ที่ผ่านมา

ต้องยอมรับว่าในสังคมไทย ยังคงมีการแบ่งขั้วความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเห็นทางการเมือง แล้วผู้คนในสังคมที่เดินหน้าอย่างไร ต้องเลือกข้างเพื่อเดินต่อไป หรือต้องเดินทางสายกลาง

ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง

นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ผลิตสื่อสารคดีให้ความเห็นว่า ยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด แต่เห็นว่า ความแตกต่างทางความคิดในสังคมเป็นเรื่องปกติ โดยส่วนตัวแล้วในช่วงที่เป็นเด็กไม่เคยรู้สึกว่ามีการแบ่งขั้วทางความคิดเห็นในสังคมไทย จนเข้ามหาวิทยาลัยและอายุประมาณ 20 ปี เริ่มรับรู้และเผชิญกับการแบ่งขั้วทางการเมือง โดยหลายครั้งมีความรู้สึกอยากร่วมลงไปต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้นด้วย

กระทั่งเริ่มเข้ามทำงานสารคดี ได้เรียนรู้ความขัดแย้งและการแบ่งขั้วจากทั่วโลก เพื่อมาศึกษาความขัดแย้งในประเทศ โดยเฉพาะกรณีรวันดา แม้ว่าเหตุการณ์จบลงไปแล้วแต่ปัญหายังไม่จบ จนทำให้เข้าใจว่า ความขัดแย้ง ความแตกต่าง หรือการแบ่งขั้วทางความคิดเป็นเรื่องปกติของสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง เราพบว่ามีความเห็นแตกต่างหรือการแบ่งขั้ว แต่อาจจะเป็นเรื่องที่ดราม่าเกินกว่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นได้

“ผมเป็นมือใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยได้เข้าไปนั่งทำงานในคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม แล้วพบว่าการเมืองมีหลายระดับที่แตกต่างจากเราเสพสื่อกันในข่าว ซึ่งเต็มไปด้วยการแสดงจุดยืน และการแสดงจริยธรรม แต่พอเราเข้าไปดูแล้ว มีการเมืองที่เป็นเอกสาร ข้อมูล เปิดกฎหมาย ประชุมตั้งแต่เช้ายันเย็น ที่ไม่ได้เป็นข่าว แต่เรามีความรู้สึกกับการเมืองเชิงจริยธรรมมากกว่าการเมืองแบบเทคนิค เป็นการเสพดราม่าร่วมกันทางสังคม ทำให้เรามองว่าประเทศเรามีความขัดแย้งมากกว่าความจริงที่เกิดขึ้น ในกระบวนการทำงานเชิงการเมืองก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ในห้องประชุม”

นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

นายวรรณสิงห์บอกอีกว่า นับจากอายุ 20 ปี เริ่มเห็นความขัดแย้งจากการชุมนุมประท้วงทางการเมือง และมีความเห็นที่แตกต่างกันเกิดขึ้นในสังคมและพอมาเป็นสื่อสารคดี โดยเฉพาะการลงไปทำข่าวสงคราม เพื่อต้องการศึกษาสะท้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสังคมไทย ว่าทำไมสังคมของพวกเขาถึงหยิบอาวุธขึ้นมาฆ่าฟันกันได้

“เราต้องการเห็นตัวอย่างประเทศอื่น ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขาสามารถหยิบอาวุธฆ่าฟันกันได้ และทำไมเขามองคนที่แตกต่างออกไป โดยไม่ได้มองเป็นมนุษย์อีกต่อไปแล้ว สังคมของเขามันไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร เพราะถ้ามองจุดเริ่มต้นการเป็นมนุษย์ไม่ต่างกันแล้วมันไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร”

นายวรรณสิงห์บอกว่า หลังจากทำงานสารคดีและลงพื้นที่ภาคสนามใส่เสื้อเกาะกันกระสุน วิ่งหลบกระสุนในการถ่ายทำสารคดีสงคราม และ สัมภาษณ์ผู้คนหลายพันคนในเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ สิ่งที่ได้คือการสะท้อนกลับในมุมมองต่อความขัดแย้งของสังคมในประเทศไทย จนได้ข้อสรุปว่า ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง

“ผมผ่านมาหลายเหตุการณ์ ผมมีโอกาสอยู่มาหลายจุด ทั้งที่จุดที่มีความรู้สึกอยากลงไปร่วมต่อสู้กับประเด็นความขัดแย้งเหล่านั้น จนมีโอกาสที่ได้มุมมองจากทั้งโลกและถอดตัวเองจากสิ่งที่เห็นตรงหน้าและได้มองในมุมที่กว้างขึ้น จนสามารถเบรกตัวเองได้ ไม่ให้เข้าไปในกระบวนการขัดแย้งนั้น”

ข้อสรุปที่ผมเห็นมา ความขัดแย้งคือส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง แล้วภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และอยู่ด้วยความเคยชินมาตลอด บางคนอายุยังน้อยชื่อว่าสังคมไม่ได้หยุดที่ตรงจุดนี้ต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงจะนำมาสู่ความขัดแย้งในทุกสมัย

ส่วนในความขัดแย้งทางการเมือง นายวรรณสิงห์เห็นว่า ในกระบวนการขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มีขัดแย้งตลอดเวลา เล็กน้อยบ้าง แต่ก็จะมีคนเห็นโอกาสตรงนี้ และขึ้นไปขี่คลื่นความขัดแย้ง พยายามสร้างภาวะผู้ถูกกระทำกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง และผู้กระทำเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทำให้ความขัดแย้งก็เขม็งเกลียวขึ้นมาได้

“โอกาสที่ผมหยุดตัวเอง ไม่ให้เข้าไปสู่ความขัดแย้งได้ เพราะมีโอกาสในการสัมภาษณ์หลายพันคนทั่วโลก มีโอกาสให้หยุดตัวเอง ทุกมุมมองมีเหตุผลที่มาที่ไปของมัน อาจจะมาจากพื้นเพที่ควบคุมไม่ได้ ในฐานะที่เราเกิดมาและอยู่ในยุคสมัย มันหล่อหลอมเป็นความคิดของเรา และบางครั้งเราดึงเอาอัตตา ตัวตนออกมา แต่ถ้าในเชิงการทำงาน อาจจะต้องถกเถียง มีประโยชน์เพื่อหาทางเลือกที่ดีกว่า แต่จะทำอย่างไรให้การถกเถียงไม่มีความเกลียดชัง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์”

ในมิติของคนทำงานสื่อ นายวรรณสิงห์มองว่า สื่อยังมองเรื่องความขัดแย้งเป็นเรื่องที่สื่อง่าย ขายได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสังคมไทยหรือสังคมอื่น สื่อมันก็เลยอยู่ในกระบวนการที่เรามักจะกระตุ้นเป็นบางช่วงให้ความขัดแย้งตรงนี้ขึ้นมา แต่ความต้องการเปลี่ยนแปลง มันสามารถที่จะทำได้โดยไม่เข้าไปสู่ความเกลียดชัง เพราะฉะนั้น เราแยกให้ออกจากกันว่า ความขัดแย้งเพื่อความเปลี่ยนแปลงอาจจำเป็นต้องไปต่อ แต่ความเกลียดชังไม่จำเป็นต้องมีในความขัดแย้งนั้น

“จากหนังสือ ‘เดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว’ ผมเห็นว่าเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือทางสายกลาง เป็นสิ่งสำคัญในมุมมองทางการเมืองที่เรามักจะมองทุกอย่างเป็นขาวและดำเสมอ แต่ในเวทีการเมืองที่มีความขัดแย้ง ที่ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ อย่างกรณีเส้นแบ่งการเมืองไทยเรื่องประเพณีที่มีมาแต่ช้านาน คนหนึ่งบอกว่าคือสิ่งที่เกิดขึ้นกดขี่ ไม่มีเสรีภาพ แต่อีกคนหนึ่งบอกว่าสิ่งนี้คือความปลอดภัย เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาช้านาน รุ่นพ่อแม่ ถ้าเรามองแค่ขาวหรือดำก็จะจะขัดแยงกัน แต่ถ้าผมมองว่ามันมีประโยชน์ทั้งคู่ คือมีทั้งกดขี่และทั้งให้ ไม่มีอะไรขาวและดำ และถ้าจะทำให้ความขัดแย้งเบาลงไปได้ ถ้ามองทางสายกลาง”

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร

ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติในสังคม

ขณะที่นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นในฐานะคุณแม่ลูกสองและคนทำธุรกิจว่า ความคิดเห็นแตกต่างเป็นเรื่องปกติ และมันมีมาช้านาน แม้ในครอบครัวของตัวเองมีพี่น้อง 4 คน แต่ละคนมีความคิดเห็นไปคนละทาง ซึ่งเชื่อว่าในหลายครอบครัวก็คงเหมือนกัน ที่ความแตกต่างเป็นปกติของชีวิต

ขณะที่ในการทำธุรกิจ เราต้องการคนคิดเห็นแตกต่างด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น การคิดต่างไม่ได้เป็นเรื่องลบ เป็นเรื่องปกติ แต่เราจะทำให้ความคิดต่างเกิดประโยชน์กับเราหรือไม่เท่านั้นเอง

“ความคิดเห็นแตกต่างเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะไม่มีใครเป็นผู้รู้ทั้งหมด ไม่มีอะไรขาวหรือดำทั้งหมด ความคิดต่างและรู้สึกต่าง ถ้าเราไม่เอามาคิดและมีอัตตา ปิดบังตัวเอง ทำให้เราแคบลง ในกรอบความเห็นต่างจะช่วยให้เราได้สติว่า ลองมองมุมนั้นมั้ย มุมนี้มั้ย ทำให้เรามองกว้างขึ้น”

นางกอบกาญจน์บอกอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทธุรกิจ เราต้องการคนคิดต่าง และต้องคิดต่างเพื่อให้หาทางเลือกที่ดีที่สุดได้ เพราะสุดท้ายในทุกสังคมต้องตัดสินใจและเดินต่อ ไม่ใช่เรื่องใครแพ้หรือชนะ แต่ว่าถ้าไม่ตัดสินใจอะไรเลยคือความพ่ายแพ้ การที่เราตัดสินใจว่าเราจะเลี้ยวซ้ายหรือขวา ต้องมีข้อมูลว่าเลี้ยวซ้ายอะไรคือจุดแข็ง และมีอะไรที่เป็นอันตราย ทางเลือกขวาก็เช่นกัน อะไรคือจุดด้อย เพราะเราต้องบริหารความเสี่ยงและปรับเปลี่ยนไปให้ได้

“อยากบอกว่าประสบการณ์ตัวเอง ความคิดต่างอย่าไปคิดว่าเรามีปัญหามากกว่าเดิม หรือเป็นประเทศมีปัญหา เพราะจริงๆ มันคือความเป็นจริงของชีวิตและหน้าที่ของเรา คือ เข้าใจมัน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้คือให้สติว่าเข้าใจและทำอย่างไรกับความคิดต่าง ให้เราสามารถเข้าใจและเดินไปข้างหน้าได้ และวิธีการเดินไปข้างหน้าจะทำอย่างไร”

นางกอบกาญจน์ได้ยกคำสอนของแม่ที่บอกเสมอว่า “จากบริษัทไปบางลำพู มันมีหลายทาง ไม่ได้มีทางเดียว แต่ถ้าเรามีอัตตา เราก็จะบอกว่ามีเพียงเส้นทางนี้ทางเดียวเท่านั้น แต่คุณแม่สอนเสมอว่า ไปบางลำพูมีหลายทาง บางทางเร็วกว่า แต่เสี่ยงกว่า บางทางช้ากว่าแต่สะดวกกว่า บางทางตรงอาจจะมีขวางหนามมากกว่า เพราะฉะนั้น ไม่ได้มีอะไรผิด ที่เราเลือกเส้นใดเส้นหนึ่งเพราะเราเลือกเส้นทางไหนตามความเหมาะสม แต่หน้าที่ของเรา ปรับตัวเอง ปรับทีมงาน สภาพแวดล้อม เพื่อให้เราไปให้ถึงบางลำพูให้ได้ การถึงเร็วการถึงช้า จริงๆ อาจจะไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือการไปให้ถึง และเรื่องระหวางทาง ว่าเรามีความรู้สึกที่ดี เราพัฒนาตัวเองไปน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า”

“แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับชื่อหนังสือนิดหนึ่ง เดินหน้าอย่างไรกับสังคมแบ่งขั้ว เพราะส่วนตัวไม่มีขั้ว และไม่เชื่อเรื่องขั้วเลย แต่ก็เคยโดนด่าเหมือนกันในพี่น้องว่า คิดต่างแต่เราใจเดียวกัน แต่เขาบอกว่าเราต้องเลือกข้าง เราไม่เลือกข้าง ทำไมต้องเลือกข้าง เพราะเราบอกว่าเรื่องนี้เราเห็นด้วย เรื่องนี้ไม่เห็นด้วย เรื่องนี้เฉยๆ แล้วทำไมเราจะต้องเลือกข้าง และคิดว่าคนจำนวนมากเขาไม่ได้เลือกข้าง”

พร้อมบอกว่า หลายคนที่เสพโซเชียลมีเดีย จะพบว่าข่าวที่เราชอบดูจะโผล่ขึ้นมาให้เราเห็นทุกเช้า พอเราดูข่าวแบบเดิมและแบบเดียว เราก็จะรู้สึกร่วมกับมัน ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่โลกทั้งหมด และดิฉันคิดว่าคนที่เขามีขั้วเขาก็ไม่มีผิด แต่เราต้องเตือนสติกันได้ว่า การไม่มีขั้ว มันอยู่ที่ว่าอันนี้เราเห็นด้วย เราอยากทำอย่างนี้ อันนี้เราคิดว่าไม่ใช่ เราจะไม่ทำแบบนี้ เพราะการจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เราอาจต้องใช้เวลาในการหาข้อมูลก่อน

“เราไม่มีขั้วและอยากให้แต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง ดูเรื่องต่อเรื่องไปเลยว่า อันนี้เราว่าเป็นอย่างไร อันนี้เราเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร ความเห็นต่างมันอยู่ในทุกวันของชีวิต เราต้องมีสติอยู่กับตัวเอง และบางครั้งเราต้องขอบคุณคนที่เห็นต่าง เพราะมันอาจจะเป็นมิติที่เรามองข้ามไปหรือเปล่า หลายครั้งเรารับฟังจากผู้อื่น มันจะทำให้เราครบถ้วนมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราต้องตัดสินใจ เราจะตัดสินใจได้ครบถ้วน ดีที่สุด แต่ถามว่าสุดท้าย ไม่มีอะไรถูกที่สุด และไม่มีอะไรผิดที่สุด”

ฝึกจิตใจ ลดอัตตา ลดขั้ว

ขณะที่พระมหาจักรธร อตฺถธโร หรือพระโตน ได้ให้มุมมองจากหนังสือว่า หลังจากที่เห็นหนังสือแล้วก็คิดว่าจะตัดสินใจมาร่วมเสวนาหรือไม่ เพราะรู้สึกว่าน่าจะเป็นประเด็นเล็กน้อย แต่พออ่านเนื้อหาข้างใน มีเนื้อหาที่มีประโยชน์มาก เพราะชีวิตของตัวเองในช่วงที่ยังเป็นฆราวาสก่อนบวช ทำงานเพลงสังกัดค่ายเพลง ซึ่งก็มีการแบ่งค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก ค่ายเพลงทันสมัย ไม่ทันสมัย ค่ายคนฟังในเมืองหรือต่างจังหวัด หรือแม้แต่ในวัดเองก็มีการแบ่ง เป็นพระป่า พระบ้าน เพราะฉะนั้น การแบ่งเป็นเรื่องธรรมดา และในเรื่องขั้วหรือข้างก็เป็นเรื่องปกติ โดยพุทธศาสนาเองก็บอกว่าคนเกิดมาไม่เท่ากัน สมาธิไม่เท่ากัน บุญ บาป ไม่เท่ากันเลย พอไม่เท่ากันก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การแบ่งจึงทำได้จากสมมติ หรือจากนิยามที่เราตั้งไว้

พระโตนบอกว่า แม้การแบ่งจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ตามหลักพุทธศาสนามีหลักให้มอง โดยต้องมองจากหลายมุม เช่น มองประโยชน์ ได้ประโยชน์อะไร ถ้าแบ่งแล้วได้ประโยชน์ก็แบ่ง เช่น เวลาทำงานต้องแบ่งคนตามความสามารถ คนพูดเก่งเอาไปทำงานขาย แต่คนที่ละเอียดระมัดระวังเอาไปทำบัญชี ส่วนคนนี้มองกว้างๆ เร็วๆ เอาไปตัดสินใจหน้างาน ถ้ายึดหลักเอาประโยชน์เป็นที่ตั้ง เราก็สามารถเอาเรื่องสมมติทางโลกมาสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตได้

“พุทธศาสนาจะมีหลักมาให้มองให้ยึดหลักประโยชน์และเป้าหมายว่าคืออะไร ถ้าเราเอาประโยชน์เป็นที่ตั้งมันก็มีหลัก ถ้าเราไม่เอาประโยชน์เป็นที่ตั้ง ก็ต้องถามต่อว่าเราเอาอะไรเป็นที่ตั้ง แล้วที่ตั้งอันนั้นจะกลับไปสู่อะไร หลวงพี่เองกำลังเรียนอยู่ ก็พยายามจับหลักให้ได้ คือ หลักใจเขาใจเรา ไม่เบียดเบียน และในส่วนพุทธศาสนา มีหลักสำคัญคือหลักของการฝึกใจ”

พระมหาจักรธร อตฺถธโร หรือพระโตน

พระโตนบอกว่า ตามหลักพุทธศาสนา ถ้าเอาสติมาจับ มันจะจับได้ 3 ทางเลย เหมือนบทสวดศพ คือ จิตที่คิดแบบนี้เป็นกุศลหรือเปล่า จิตที่คิดแบบนี้เป็นอกุศลหรือเปล่า จิตที่กำลังคิดตรงนี้เป็นกลางหรือเปล่า เกิดประโยชน์หรือเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครรู้เลย พุทธศาสนาให้ฝึกตัวเองให้มีสติ ฝึกจิต ฝึกใจตัวเองเป็นเบื้องต้น หลังจากฝึกใจตัวเองเพราะการฝึกจะสกัด 2 อย่างออกไป คือ อคติและอัตตา ถ้าทั้งสองอย่างออกไปเมื่อไหร่ คำว่าขั้วหรือข้างก็จะไม่มี

หลังจากอ่านหนังสือ “เดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว” พระโตนได้หลักทั้งหมดดังนี้ เริ่มจากประโยคที่หนึ่งที่หนังสือได้บรรยายไว้ คือ เป้าหมายของวัดหรือพระสงฆ์คือหลักแห่งปัญญาและความดีงาม ซึ่งหลักแห่งปัญญาและความดีงามมาจากคำสอนและพระธรรมวินัย และถ้าเราไม่ใช้หลักนี้ก็จะเป็นหลักของความคิดเห็น

หากยึดหลักความคิดเห็นก็จะเหมือนกับคำถามที่ว่า ทำไมเราต้องแบ่งสิ่งของ เช่น ต้นไม้ ทำไมเราไม่มองว่าเป็นแค่ต้นไม้ แต่ถ้าอ้างบาลีจะพบว่า จิตมีธรรมชาติคือการคิด เขามีการคิดเป็นปกติ แล้วการคิดของแต่ละคนแตกต่างกันไม่เหมือนกัน แต่เหมือนกันคือสภาพของจิตที่มีการคิดเป็นปกติ

“ข้อที่หนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ มองตามคำสอน โดยมองแบบมีปัญญา มองหลักของความดี และข้อที่สองที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือการแบ่งขั้วเป็นเรื่องปกติ มีทุกที่ แม้แต่ในวัดนอกวัดก็มี ข้อที่สามคือ อย่าไปมองเรื่องข้าง เพราะมันเป็นเรื่องสมมติ แต่ให้มองที่ความจริง มองที่ความดี มองที่ประโยชน์ ซึ่งตลอดเส้นทางของหนังสือเล่มนี้ จะสอดคล้องกันในเรื่องความดีกับปัญญา จึงเป็นความสวยงามของหนังสือเล่มนี้”

ส่วนข้อคิดที่ 4 และ 5 จากหนังสือเล่มนี้ พระโตนบอกว่าเป็นเรื่องของเครื่องมือที่จะช่วยลดข้างลดขั้วลงได้อย่างไร ซึ่งพระพุทธศสานาเรียกว่าความเมตตา ให้เอาความเมตตามาเป็นเครื่องมือ แล้วจะทำให้มุมมองเรื่องนี้เบาบางลง เพราะความเมตตาจะรักษาทิฐิ ความเห็น ทั้งความเห็นจากการยึดถือจากสิ่งที่เรามองเห็น ยึดถือตามธรรมเนียมความเชื่อและสิ่งที่ได้ยินมา หรือจากความพอใจ จากสัมผัสของเรา จากอัตตาของเรา ซึ่งความเมตตาจะรักษาอากาการเหล่านี้ได้

“ข้อคิดที่หกที่หลวงพี่เห็นจากหนังสือเล่มนี้ คือ ข้อควรระวัง เรื่องของการปล่อยว่าง ไม่ใช่การไม่สนใจ เพราะการปล่อยว่างคือการปล่อยว่างอัตตา แล้วคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวม นั่นคือการปล่อยว่างไม่ใช่ไม่สนใจ”

นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ได้ให้ข้อคิดที่ 7 คือ อาจารย์ได้ยกพระสูตรขึ้นมา ชื่อพระสูตรก้อนน้ำผึ้ง มีเนื้อหาเรื่องของนักโต้วาทีมาขอโต้วาทีกับพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงนิ่งเงียบและบอกว่าไม่มีประโยชน์ การสนทนารอบนี้เป็นเพียงการเอาชนะกันเท่านั้นเอง ซึ่งหลักการพูดของพระพุทธเจ้าคือ มีประโยชน์ เป็นความจริง และรู้กาลเวลาที่จะพูดด้วย หลังจากเทศนาจบเหมือนได้ก้อนน้ำผึ้ง

พระโตนยังบอกถึงข้อคิดที่แปดว่า อาจารย์ได้ยกพระสูตรเรื่องของพระพาหิยะ ที่เข้าใจว่าตัวเองบรรลุธรรม แต่ในที่สุดก็มีเทวดามาบอกว่ายังไม่บรรลุธรรม แล้วบอกว่าคนที่บรรลุธรรมอยู่ที่สาวัตถี จึงเดินทาง 3 วัน 3 คืนเพื่อไปหาพระพุทธเจ้า ให้ท่านสอน เมื่อไปถึงก็ขอให้ท่านสอน แต่พระพุทธเจ้าไม่สอน จะบิณฑบาตร แต่พระพาหิยะขออยู่ 3 ครั้งเพราะถ้าไม่สอนพระพาหิยะเกรงว่าจะตายเสียก่อน

พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าได้ ให้ฟังไว้ เมื่อท่านเห็น อย่าสักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังอย่าสักแต่ว่าฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้เธอจะไม่มีทั้งโลกนี้และโลกหน้า เมื่อได้ฟัง พระพาหิยะก็บรรลุเป็นพระอรหันต์และได้ถูกวัวขวิดตายหลังจากนั้น พระสูตรข้อนี้ทำให้เห็นว่า ทำไมเรามองอะไรบางอย่างในแบบที่มันเป็นไม่ได้ เพราะว่าธรรมชาติของจิตที่ไม่ฝึกจะเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเป็นจิตที่ได้ฝึก เราจะมันจะมองมันอีกแบบหนึ่ง

“ถ้าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงและมองด้วยปัญญา การถืออคติของตนมันก็หมด การถืออัตตาของตนก็เบาบาง อคติหมดเมื่อไหร่ขั้วก็หมด อัตตาหมดเมื่อไหร่ขั้วก็หมด ข้างก็หมด และได้ประโยชน์ด้วย และมีสันติสุขคือเป้าหมาย”

พระโตนสรุปว่า จะเดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว ซึ่งเห็นว่ามี 3 ข้อ คือ หนึ่ง OUT โดยอันแรกมาจากงานวิจัย มีการศึกษากลุ่มคนที่พบว่า ถ้าเราคุยกับคนที่คิดเหมือนกัน ไม่เคยคุยกับคนที่คิดต่างเลย ความรู้สึกจะเกินจริง แต่ถ้าเราคุยกับคนเห็นต่างบ้าง ความรู้สึกจะลดลง เพราะหากได้คุยกันคนคิดต่าง จะมีหลายอย่างที่ร่วมกันอยู่ คืออยากได้ชีวิตที่ดีขึ้น อยากได้เศรษฐกิจที่ดีขึ้น และพอได้คุยกัน จินตนาการเกินจริงว่าเราไม่เหมือนกันสักอย่างก็จะลดลง

สอง เป็นเรื่องของสื่อที่มีอิทธิพล และจากการศึกษาคนที่ดูสื่อกลุ่มเดียวกันจะมีความสุดโต่ง ความคิดสูงขึ้น แตกต่างจากคนที่ดูสื่อกว้างๆ หลายเรื่อง ไม่ได้ดูเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น ควรดูสื่อและฟังให้กว้างๆ ฟังให้ทั่ว สาม คือ การอ่าน หนังสือคาถาธรรมบทซึ่งมี 8 เล่ม และมีการแสดงธรรม 302 เรื่อง มี 422 คำสอน เพราะฉะนั้น การอ่านหนังสือธรรมบทจะช่วยให้เดินหน้าไปได้ โดยต้องได้ 3 ข้อก่อนแล้วค่อยเดิน คือ 1. ฟังคนที่เห็นต่าง 2. ดูสื่อให้กว้างทุกสำนัก และ 3. อ่านธรรมบท เพราะเป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจ และบอกแนวทางการลดอคติ ลดอัตตา และสร้างประโยชน์ส่วนร่วมในมิติต่างๆ กันได้

ยึดทางสายกลาง ไม่ใช่การยอมจำนน

สำหรับสาระสำคัญของหนังสือ “เดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว” กับสังคมไทยที่มีความแตกต่างหลากหลาย แบ่งแยกแตกขั้ว สุดโต่ง เนื้อหาของหนังสือช่วยให้ประชาชนและนักการเมืองจะนำไปปฏิบัติใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนคิดต่างรอบตัวได้

เนื้อหาหนังสือระบุถึง “ทางสายกลาง “ ที่ไม่ใช่การยอมจำนน ปล่อยวางทุกอย่าง และก็ไม่ใช่การต่อสู้ให้เป็นไปตามที่เราต้องการ แต่เป็นการพิจารณาสิ่งที่เป็นอยู่ด้วยสติและภูมิปัญญา” ท่านสอนให้เรา “มีส่วนร่วมแบบไม่พัวพัน” คือ “เราพร้อมที่จะแสดงความคิดเห็น ใช้ความคิดริเริ่ม และใช้มุมมองของตัวเราเอง แต่ทำด้วยทัศนคติที่ปราศจากการยึดมั่น ปราศจากการผูกพัน หรือยึดติด และการยึดทางสายกลางทำให้แสดงออกได้ เพียงแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น

ทางสายกลางคือ ไม่ยึดมั่นพัวพันกับสิ่งที่ตนคิดหรือเชื่อจนเกินไป ก็หมายความว่า ต้องเปิดหัวใจรับฟังฝ่ายอื่นด้วย และตัดสินใจโดยถือคุณธรรมความถูกต้องและประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

หมายเหตุ : รับหนังสือได้ที่สวนโมกข์กรุงเทพ ยุวพุทธิกสมาคม และบ้านบุญ ปากช่อง