ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > 25 ปีของการมรณภาพของท่านอาจารย์พุทธทาส … สวนโมกข์เป็นอย่างไรบ้าง?

25 ปีของการมรณภาพของท่านอาจารย์พุทธทาส … สวนโมกข์เป็นอย่างไรบ้าง?

31 ตุลาคม 2018


สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ

นับถึงวันนี้เป็นเวลา 25 ปีแล้ว ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสจากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ ถ้าเป็นคนก็นับว่า “เบญจเพส” เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต และเมื่อชีวิตสวนโมกข์ขาดหัวเรือใหญ่เช่นนี้ หลายท่านคงสงสัยว่า ชีวิตของสวนโมกข์ของเป็นอย่างไร

ปัจจุบัน สวนโมกข์มี 3 เสาหลัก คือ สวนโมกข์ไชยา สวนโมกข์นานาชาติ และสวนโมกข์กรุงเทพ ที่ผูกพันและรับผิดชอบต่อกัน และมีจุดร่วมเดียวกันคือ ทำอย่างไรให้คนได้ปฏิบัติธรรม ให้ทุกข์น้อยลง และทำให้การแสดงออกทางกาย วาจา จิตใจ ความคิดนึก เป็นไปในทางที่ถูกต้อง วันนี้จึงได้มาพูดคุยกับผู้สืบสานงานธรรมของสวนโมกข์ และปณิธานของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ดูแล 3 เสาหลักนี้ ได้แก่

อาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล) ท่านรับผิดชอบการบวชและอบรมพระภิกษุ รวมถึงการปฏิบัติธรรมของประชาชนทั่วไปที่สวนโมกข์ไชยา

นายเมตตา พานิช หลานและอดีตเลขานุการส่วนตัวท่านอาจารย์พุทธทาส ประธานมูลนิธิธรรมทาน และเป็นกำลังสำคัญในการอบรมอานาปานสติแก่ชาวไทยและต่างประเทศที่สวนโมกข์นานาชาติ

น.พ.บัญชา พงษ์พานิช ปัจจุบันเป็นกรรมการและเลขานุการ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) กับการขับเคลื่อนงานนำธรรมะกลับมาสู่ใจคน

อาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล),นายเมตตา พานิช และ น.พ.บัญชา พงษ์พานิช (ภาพจากซ้ายมาขวา)

ทั้งสามท่านจะมาช่วยเล่าถึงปณิธานและแนวทางธรรมที่ท่านอาจารย์พุทธทาสฝากไว้ รวมถึงความท้าทายท่ามกลางกระแสวัตถุนิยมที่รุนแรงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน

ท่านอาจารย์โพธิ์กับงานที่สวนโมกข์ไชยา

ท่านอาจารย์โพธิ์เล่าว่าท่านอาจารย์พุทธทาสมีปณิธาน 3 อย่าง คือ หนึ่ง พยายามทำให้คนเข้าใจศาสนาของตน สอง พยายามทำความเข้าใจคนต่างศาสนา และสาม นำคนออกจากวัตถุนิยม ซึ่งเป็นแค่ของปรุงแต่งเท่านั้น ท่านแนะนำว่า ถ้าใครอยากเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ต้องลองมีชีวิตและความเป็นอยู่เหมือนพระองค์ที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานกลางดิน และท่านอาจารย์ก็ดำเนินชีวิตของท่านแบบพระพุทธเจ้า คือ “เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง” กล่าวคือ ท่านนอนกับพื้น หนุนหมอนไม้ นี่คือเป็นอยู่อย่างต่ำ

ขณะเดียวกัน ท่านก็ฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้น และหมั่นศึกษาพระไตรปิฎกจนรอบรู้ในพระคัมภีร์เรียกได้ว่าแตกฉาน และได้นำหลักในพระคัมภีร์มาทดลองปฏิบัติจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านจึงนำมาเผยแพร่ ท่านถือหลักกาลามสูตร ทำอะไรจะไม่เชื่อในทันที ท่านว่า ทำอะไรต้องคิดเป็นร้อยครั้ง พันครั้ง ใครจะมาให้ความคิดความเห็นอะไร ท่านจะบอกว่า ฟังก่อน ยังไม่ต้องเชื่อ และผลการปฏิบัติธรรมทำให้ท่านเป็นคนสงบเย็น ไม่เคยเห็นอะไรเป็นปัญหา มีแต่เรื่องให้พวกเราไปเรียนรู้ ซึ่งวัตรปฏิบัติของท่านต่องานทางโลกและทางธรรมทำให้ลูกศิษย์ต่างประจักษ์สิ่งที่ท่านกล่าวว่า “สอนให้ทำ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส” เป็นอย่างไรแนวปฏิบัติของสวนโมกข์ไชยา

ถ้าใครอยากเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ต้องลองมีชีวิตและความเป็นอยู่เหมือนพระองค์ที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานกลางดิน และท่านอาจารย์ก็ดำเนินชีวิตของท่าน แบบพระพุทธเจ้า คือ “เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง”

แนวปฏิบัติของสวนโมกข์จึงมุ่งเน้นความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและประหยัด ผู้มาปฏิบัติธรรมที่นี่ต้องภาวนา 3 อย่าง คือ (1) กายภาวนา (2) ศีลภาวนา (3) จิตภาวนา กล่าวคือ กายภาวนาคือการนำร่างกายมาทำประโยชน์ คนมาอยู่วัดมีหน้าที่ต่อวัดจะต้องช่วยกันทำความสะอาด กวาดลานวัด ล้างห้องส้วม รู้จักประหยัดและเสียสละ ถ้าไม่ช่วยกันแบบนี้ก็ถือว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว การปฏิบัติธรรมก็จะไม่ก้าวหน้า ซึ่งท่านอาจารย์เคยสอนว่า ขณะที่เรากวาดใบไม้ ปลายไม้กวาดอยู่ที่ถนน จิตมีสมาธิ มีความพอใจ ก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่ เมื่อเรายังมีเรี่ยวมีแรง แต่ละคนก็ต้องช่วยงานตามหน้าที่

ศีลภาวนา คือการปฏิบัติเพื่อพัฒนาศีลให้สูงขึ้น จากศีลธรรมดาเป็นอริยศีล เป็นโลกุตรศีล ศีลประเภทนี้ต้องทำงานร่วมกับสมาธิ ปัญญา ซึ่งก็คือจิตภาวนา จึงเรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง เพราะศีลตามประเพณีมันไม่พอ เรียกว่าขอศีล รับศีล แต่ไม่ปฏิบัติศีล ศีลก็ไม่สูงขึ้น จึงต้องใช้หลักการพวกนี้ คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา หรือเรียกว่า สมาธิภาวนา หรือปัญญาภาวนา

  • สวนโมกข์ไชยาเหมือนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น
  • อาตมาคิดว่า ตรงนี้เราห้ามไม่ได้ เราทำในส่วนของเราให้ดี เราไม่สามารถบังคับคนให้มีความเหมือนอย่างเรา ยกตัวอย่างนิทานชาวบ้าน มีเปรตเจ้าระเบียบตนหนึ่งเฝ้าอยู่ที่ศาลาเดินทาง กลางคืนมีคนมานอน แต่ศีรษะไม่เป็นระเบียบ เปรตก็ดึงเท้า ดึงไปดึงมาไม่ต้องหลับต้องนอน ดังนั้น การจัดการกับคนมากๆ เราบอกได้แค่เรามีหลักการแบบนี้ ถ้าเขาไม่ทำตามก็เรื่องของเขา ถ้าเราต้องไปจัดการกับทุกคนเราก็เครียดเอง อย่างน้อยเราต้องไม่ลืมว่าธรรมะของพระพุทธเจ้ามีเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลคนจำนวนมาก และคิดว่า คนเข้าวัดดีกว่าคนไม่เข้าวัด แต่ถ้ามีวัดแล้วคนไม่เข้าวัดก็เปล่าประโยชน์เหมือนกัน

    สิ่งที่สวนโมกข์จะทำได้คือ การเป็นแหล่งคุณธรรม แหล่งอริยทรัพย์ แหล่งอบรมสมาธิ เมื่อมีคนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ เราก็ทำให้ดีที่สุด และอาตมาเคยบอกกับพระให้ลองสังเกตดู “พระพุทธรูป” ไม่มีจิตไม่มีวิญญาณ แต่ทำไมคนกราบไหว้ ส่วนหนึ่งเพราะพระพุทธรูปมีลักษณะสงบงดงาม พระของเราที่มีจิตมีวิญญาณ ถ้ามานั่งสงบ เรียบร้อย คนเข้ามาเห็นก็จะศรัทธา เลื่อมใส ซึ่งอาตมาจะพยายามรักษาแนวทางของท่านอาจารย์พุทธทาสให้ดีที่สุด ให้คนเข้ามาในวัดเกิดศรัทธา ควบคู่กับการรักษาธรรมชาติและป่า

  • ความท้าทายในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
  • อาตมามองว่า อารมณ์ของโลก มันก็เป็นอย่างนี้เอง สำคัญอยู่ที่ชีวิตจิตใจของเราจะอยู่กับโลกแบบไหน แบบเหนือโลก เหนือกามโลก ซึ่งคนส่วนใหญ่เกิดมาในกามโลก วัตถุก็อยู่ในกามโลกทั้งนั้น ปัญหาต่างๆ ที่มีมากมายที่อยู่ในจิตใจของคนก็เพราะมัวหลงใหลอยู่ในกามโลก และตราบใดที่ยังยึดมั่นว่า เป็นเรา เป็นของเรา จะไม่มีทางอยู่เหนือโลกได้จึงอยู่ที่เราว่าจะเลือกอยู่แบบไหนต่างหาก

    อย่างปัจจุบันนี้วัตถุที่นิยมกันมากที่สุดคือ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นดาบ 2 คม ใช้ในการสร้างสัมมาทิฐิก็เป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นโทษและยากที่จะเอาชนะ อาตมาก็เตือนพระเหมือนกันว่า ยิ่งเป็นพระการใช้ยิ่งต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ รู้จักว่า ควรหรือไม่ควรใช้อย่างไร ขณะเดียวกัน อาตมาก็คิดว่า การจะทำให้คนคิดเหมือนกันนั้นเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนไว้ บอกทางไว้ แต่ถ้าสอนแล้วคนไม่เข้าใจ เขาตำหนิก็ไม่ต้องเสียใจ หรือไปสอนคน เขาเข้าใจ เขาศรัทธายกย่อง ก็ไม่ต้องยินดี ผู้เป็นครูต้องคิดแบบนี้ แม้จะหวังดีที่สุด แต่เขาคิดอย่างนี้ก็ปล่อยไป วันนี้เขาไม่เข้าใจแต่ต่อไปเขาอาจจะเข้าใจก็ได้

    ความกตัญญูเป็นธรรมะขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ถ้าไม่มีเรื่องนี้ คนก็ไม่เป็นคน มนุษย์ก็ไม่เป็นมนุษย์ พุทธศาสนาเน้นเรื่องความกตัญญูกตเวที และท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็มีความกตัญญูสูงมาก กตัญญูแม้กระทั่งต้นไม้

  • ความประทับใจในท่านอาจารย์พุทธทาส
  • อาตมาเป็นคนไม่มีความรู้อะไร แต่เพราะมาอยู่ที่สวนโมกข์จึงได้พัฒนาขึ้น ท่านทำให้อาตมาสามารถเคารพท่านได้สนิทใจ และนึกถึงบุญคุณท่านอาจารย์เสมอมา อย่างตอนนี้อาตมาก็อายุมากแล้ว และเคยลาออกไปแล้ว แต่ทางสวนโมกข์นิมนต์ให้อาตมากลับมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสอีกครั้ง อาตมาก็ต้องรับเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านอาจารย์ วัดนี้ท่านสร้างขึ้นมา ถ้าจะให้ช่วยอะไรได้ก็จะช่วย อาตมาคิดว่า ความกตัญญูเป็นธรรมะขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ถ้าไม่มีเรื่องนี้ คนก็ไม่เป็นคน มนุษย์ก็ไม่เป็นมนุษย์

    พุทธศาสนาเน้นเรื่องความกตัญญูกตเวที และท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็มีความกตัญญูสูงมาก กตัญญูแม้กระทั่งต้นไม้ ท่านว่า นอนใต้ต้นไม้ก็อย่าไปทำลายต้นไม้ ท่านได้รับการอบรมให้มีความกตัญญูรู้คุณมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อบวชเป็นพระแล้ว ก็ยังแสดงออกซึ่งความกตัญญู

    ตัวอย่างเช่น ท่านเอาอัฐิของโยมพ่อโยมแม่ไปใส่ไว้ในถ้ำเขาพุทธทอง เวลาอาจารย์เดินรอบเขาพุทธทอง ท่านจะยืนมองและระลึกถึงโยมพ่อโยมแม่ ท่านเคยบอกว่า เด็กๆ ของเรา วันๆ หนึ่งไม่ต้องทำอะไร ขอแค่มีใจคิดถึงพ่อแม่สักวันละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ ถ้าพวกเขาคิดถึงอย่างนี้ได้ เขาจะไม่กล้าทำอะไรเสียหาย หัวใจในการอบรมเด็กคือ การปลูกฝังให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์อยู่ในหัวใจเขา

    ท่านอาจารย์เคยบอกว่า ธรรมะมีหลายข้อ ถ้าจะให้ถือสักข้อหนึ่ง ก็ให้คิดว่า “รักผู้อื่น” เพราะเมื่อเรารู้จักรักผู้อื่น เราก็จะแบ่งปันกัน อย่าไปโกรธ อย่าไปไม่พอใจใคร ให้เข้าใจว่า ชีวิตเกิดมาแล้วเป็นของชั่วคราว ทุกคนก็ต้องจบชีวิตเหมือนกัน

  • สิ่งที่อยากจะฝากกับเด็กรุ่นใหม่
  • ท่านอาจารย์เคยบอกว่า ธรรมะมีหลายข้อ ถ้าจะให้ถือสักข้อหนึ่ง ก็ให้คิดว่า “รักผู้อื่น” เพราะเมื่อเรารู้จักรักผู้อื่น เราก็จะแบ่งปันกัน อย่าไปโกรธ อย่าไปไม่พอใจใคร ให้เข้าใจว่า ชีวิตเกิดมาแล้วเป็นของชั่วคราว ทุกคนก็ต้องจบชีวิตเหมือนกัน

    อาตมาอยากให้เด็กรุ่นใหม่นำแบบการปฏิบัติของท่านอาจารย์พุทธทาสมาดำเนินชีวิต กล่าวคือ ถ้าเรานับถือพุทธศาสนาก็พยายามอยู่กับเพื่อนให้เข้ากันได้ ทำความเข้าใจระหว่างคนที่นับถือศาสนาเดียวกัน เข้าใจระหว่างคนที่นับถือศาสนาต่างกัน และอย่าไปหลงวัตถุนิยม วัตถุนิยมมีทั้งคุณและโทษ ต้องรู้จักเอาประโยชน์จากวัตถุนิยม ใช้ให้เป็นก็จะเป็นประโยชน์ และให้เห็นความสำคัญของการประหยัด มัธยัสถ์ ขอให้อุปกรณ์ทุกอย่างที่ส่งเสริมความสะดวกสบายของเรา เป็นไปเพื่อจะให้เราเข้าใจธรรมะให้มากขึ้น ก็คงแค่นี้

    สวนโมกข์นานาชาติ : วิทยาลัยภาวนาของโลก

    นายเมตตา พานิช เล่าถึงงานที่สวนโมกข์นานาชาติว่า ตอนท่านอาจารย์พุทธทาสอายุ 80 ปี ท่านเห็นว่าโลกกำลังติดอยู่ในอันตราย เต็มไปด้วยคนแสวงหาวัตถุ หากเป็นแบบนี้ ก็จะมีแต่การเบียดเบียนกัน ท่านจึงมองว่า ในช่วงสุดท้ายของชีวิตจะช่วยโลกได้อย่างไร และคิดว่ามีวิธีเดียวคือ ต้องให้คนสนใจด้านจิตภาวนา จึงขวนขวายสร้างสวนโมกข์นานาชาติเพื่อเป็นวิทยาลัยภาวนาของโลก หมายความว่า ให้คนในโลกเข้ามาเรียนรู้วิธีทำจิตภาวนา โดยเน้นให้ผู้ปฏิบัติได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งจะเป็นทางออกจากอำนาจของวัตถุนิยม

  • ความตั้งใจของท่านอาจารย์พุทธทาสต่อสวนโมกข์นานาชาติ
  • สวนโมกข์นานาชาติ มุ่งอบรมสมาธิแก่คนไทยและคนต่างชาติ 3 โครงการ คือ

    โครงการแรก คือ “ธรรมาศรม ธรรมทูต” คือการสร้างพระฝรั่งเพื่อเป็นธรรมทูตเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศ โครงการต่อมาคือ “ธรรมาศรม นานาชาติ” อบรมสมาธิให้ชาวต่างชาติ และตอนที่ท่านอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ 2 โครงการเริ่มแล้ว โดยมี “ท่านสันติกโร” ดูแล และมีฝรั่งมาบวชกับท่านสันติกโรมาก แม้ปัจจุบันท่านสันติกโรจะลาสิกขาไปแล้ว แต่ท่านสันติกโรก็มาช่วยสอนสมาธิให้ฝรั่ง โครงการก็เดินหน้าไปได้ และพวกเขาเห็นผลการปฏิบัติชัดเจนว่า การทำสมาธิทำให้เขาดับทุกข์ได้จริงแม้มาอยู่แค่ 10 วัน เชื่อไหมว่า บางคนยกเลิกการเที่ยวทั้งหมดและอยู่ที่นี่ต่ออีก 2-3 อาทิตย์ เท่าที่สังเกต แนวโน้มจะมีฝรั่งมั่นคงทางธรรมขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือนที่นี่มีฝรั่งเข้ามารับการอบรมประมาณ 120-130 คนโดยเฉลี่ย โดยที่นี่แทบไม่ต้องโฆษณา ฝรั่งที่มาอบรมไปโฆษณาให้ ส่วนหนึ่งก็ส่งข่าวสารบอกเพื่อนๆ บางคนไปเปิดเว็บไซต์เผยแพร่ให้ด้วย

    สำหรับโครงการสุดท้ายที่ท่านอาจารย์ตั้งใจผลักดันคือ “ธรรมาศรม ธรรมมาตา” เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มาปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงเมื่อไปอยู่วัดหรือสำนักต่างๆ มักไปรับใช้พระ ไปอยู่ในครัวบ้าง อะไรบ้าง แต่ที่นี่เราอำนวยความสะดวกทุกอย่าง จนกระทั่งเขาพัฒนาตัวเอง พร้อมจะช่วยผู้อื่นได้ และมี “ธรรมทูตหญิง” ช่วยเผยแผ่ธรรมะเสริมแทน “ภิกษุณี” ที่ขาดสูญไป ที่สำคัญ ท่านมองเรื่องนี้อย่างแยบคายว่า ผู้หญิงจะสอนผู้หญิงด้วยกันได้ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุดด้วย แม้ในวาระจิตสุดท้าย ผู้หญิงสามารถเข้าไปช่วยให้จิตสุดท้ายของผู้หญิงด้วยกันได้รับความสงบง่ายที่สุด

    และในส่วนลึก ท่านต้องการทำโครงการนี้เป็นเครื่องตอบแทนคุณมารดาท่าน เพราะท่านรู้สึกว่า กว่าท่านจะรู้ธรรมะที่เป็นประโยชน์ แม่ก็ตายเสียแล้ว (ปี 2491) ไม่สามารถทำให้แม่ได้รู้ธรรมะที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ จึงคิดว่า อยากตอบแทนเพศแม่ด้วยการสร้างสถานที่ให้ผู้หญิงฝึกปฏิบัติจนสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดเหมือนผู้ชาย

    นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมาจากความคิดในช่วงท้ายชีวิตของท่านที่คิดว่า จะทำให้เกิดสันติภาพได้อย่างไร และถ้าผู้หญิงมีธรรมะแล้ว ผู้หญิงใกล้ชิดลูก ก็จะอบรมลูกให้เป็นยุวชนที่ดี ดังธรรมะสุดท้ายที่ท่านให้เขียนป้ายขึ้นที่ศาลาธรรมโฆษณ์ว่า “ศีลธรรมของยุวชน คือ สันติภาพโลก” และยุวชนจะดีได้ก็ด้วย “มารดาแห่งธรรม”

    ท่านพูดตลอดว่า การที่ท่านทำอะไรได้ดี ทำอะไรได้ละเอียด เพราะแม่หมั่นอบรมสั่งสอน เคี่ยวเข็ญ ไม่อย่างนั้นท่านจะทำงานใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้ และแน่นอนว่า แม่ท่านจึงเป็นหนึ่งในมารดาแห่งธรรม ท่านจึงให้ความสำคัญต่อโครงการนี้มาก แต่เสียดายที่ท่านมรณภาพก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการนี้

    “ธรรมาศรม ธรรมมาตา”เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มาปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่เต็มกำลังเพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงเมื่อไปอยู่วัดหรือสำนักต่างๆ มักไปรับใช้พระไปอยู่ในครัวบ้าง อะไรบ้างแต่ที่นี่โดยเราอำนวยความสะดวกทุกอย่าง

  • สานต่อปณิธานท่าน ผ่านโครงการธรรมาศรม ธรรมมาตา
  • หลังท่านอาจารย์มรณภาพสัก 2 ปี ผมได้เรียนเชิญ “อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง” ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่อยู่กับท่านอาจารย์พุทธทาส และคณาจารย์อีกหลายท่านก็ช่วยกันบุกเบิก โดยอาจารย์รัญจวนใช้เวลาเตรียมตัวถึง 5 ปี ในการค้นคว้า จัดหลักสูตร วางแผนการสอน และมาสอนให้กับ “ธรรมมาตา” รุ่นแรก ในปี 2542 โดยยึดหลักการปฏิบัติเหมือนสวนโมกข์ คือ “อยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง” แม้ตอนนี้อาจารย์รัญจวนเสียแล้ว แต่ก็มีสมาชิกที่ผ่านการอบรมรุ่นเก่าๆ 2-3 คน มาช่วยกันทำ บางคนก็มาเสียสละทำได้อยู่

    ความพิเศษของโครงการนี้ ไม่เพียงเรามีที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก อาหารให้แล้ว แต่ใครจะอยู่กี่วันก็ได้ โดยเราก็จะดูว่า อยู่เพื่อปฏิบัติหรือไม่ โดยเริ่ม 7 วัน ค่อยๆ ขยายเวลาให้ ฝรั่งบางคนอยู่ถึง 6 เดือน คนไทยที่อยู่เป็นปี หลายปีก็มี คนที่อยู่ 1-2 เดือนก็มีบ่อยๆ

    ให้คนในโลกเข้ามาเรียนรู้วิธีทำจิตภาวนา โดยเน้นให้ผู้ปฏิบัติได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งจะเป็นทางออกจากอำนาจของวัตถุนิยม

  • การปฏิบัติธรรมของคนไทยกับต่างชาติ ต่างกันหรือไม่
  • คงต้องยอมรับว่า เราจะรู้ธรรมะได้ดี ก็ต้องรู้สึกว่า มีความทุกข์ แต่ตอนที่รู้สึกมีความสุข ก็จะยังไม่พบธรรมะ พวกฝรั่งที่เจริญทางวัตถุมากๆ เราเข้าใจแล้วว่า เอาเข้าจริงแล้วความเจริญทางวัตถุไม่สามารถช่วยเขาได้ และถ้าเขายังเสพวัตถุมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้มีปัญหาขึ้นมาอีก คนต่างชาติจึงมาแสวงหาสำนักปฏิบัติธรรม ที่นี่คนต่างชาติจึงมาปฏิบัติธรรมมากกว่าคนไทยประมาณ 1 เท่า เพราะคนไทยยังไม่อิ่มจากวัตถุ จึงยังแสวงหา ขณะที่ฝรั่งอิ่มแล้ว คนไทยยังหลงในการบริโภค คงต้องอีกระยะหนึ่ง เพราะเพิ่งเริ่มต้น ผมคิดว่า ต่อไปในอนาคต คนหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานจะมีทุกข์ เครียด เพราะงานที่มีการแข่งขัน หยุดนิ่งไม่ได้ เหนื่อยเร็วขึ้น ทุกข์เร็วขึ้น มีปัญหามากขึ้น เมื่อทุกข์มากก็จะแสวงหาโอกาสที่เขาจะเข้าใจธรรมะ และจังหวะที่เขาทุกข์และอยากออกจากความทุกข์ จึงจะฟังคำสอนในพุทธศาสนาเข้าใจ

  • คนปฏิบัติธรรมจริงกับคนทำตามกระแสแฟชั่น
  • ของจริงกับของปลอม มันก็ต่างกัน ถ้าเข้าใจธรรมะตามแฟชั่น ก็ไม่ได้ดับทุกข์จริง ก็ให้ผลกับคนที่ทำแบบนั้น สุดท้ายมันก็เร่าร้อน เพราะเป็นกิเลส อยากโอ้อวด แต่ธรรมะที่เป็นความถูกต้อง มันจะนำเราไปสู่ความสงบเย็น ไม่มีกิเลส และสงบ สิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เหมือนภาวะของจิตที่เร่าร้อน มันตั้งอยู่ไม่ได้ ก็ต้องรีบขวนขวายไปสู่ภาวะไม่มีกิเลส ถ้าเราเรียนธรรมะ เราจะต้องเรียนว่า ภาวะของจิตมันเร่าร้อนอย่างไร จึงต้องรีบขวนขวายหาทางออกจากคุก

    ธรรมชาติมันจะวิ่งเข้ามาหาความถูกต้อง ขณะที่เรากำลังเดินทางผิดหมดทั้งโลก เราไปหลงบูชาวัตถุ ไปหาความสุขจากวัตถุ ทั้งที่มันไม่ใช่สุขจริง ซึ่งกว่าจะรู้ว่าทุกข์ ก็ไม่ง่าย แต่เมื่อคนรู้สึกทุกข์มากขึ้น ในที่สุดก็ต้องกลับมาหาธรรมชาติเดิมคือตัวธรรมะ และไม่หลงไปตามกระแสของความเจริญหรือแฟชั่นที่ไม่มีคำตอบว่า หยุดได้เมื่อไหร่ แต่ถ้ากลับมาที่พุทธศาสนา ตอบได้ว่า หยุดได้เมื่อไหร่ … หยุดได้เมื่อนิพพาน

    ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นคนทำงานจริง และทุกอย่างท่านจะให้ประหยัดที่สุด และให้มีเท่าที่จำเป็นจริงๆ ท่านจะมีหลักว่า ต้องมีคนที่ทำเสียก่อน ถ้าคนพร้อมแล้ว ท่านถึงจะลงทุนให้ทำ โครงการธรรมมาตาที่ทำไม่ได้เพราะตอนนั้นยังไม่มีคน ถ้าคนพร้อมก็ดำเนินการไปได้ และใช้คนที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่วิ่งหาคนจากที่อื่น สร้างคนขึ้นมาให้ทำงานได้ ท่านจะประเมินตลอด ตรงนี้ทำได้แค่ไหน จึงจะมั่นคง

    เหมือนสวนโมกข์ เริ่มจากไม่มีอะไร แต่ถ้าสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นมาแบบพร้อมเลย โดยไม่ผ่านความยากลำบากก็จะไม่มั่นคง ท่านให้เริ่มทีละเล็กละน้อย และใช้หลักช่วยตัวเองให้มากที่สุด เพราะฉะนั้น ภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ไม่กระทบ ขณะเดียวกัน การมีอะไรเท่าที่จำเป็น ไม่เพียงแต่ประหยัดแต่ในมุมคนดูแล เป็นข้อดีมาก รักษาง่ายหมด สะดวกไปหมด

    ตัวอย่างเช่น สวนโมกข์ไม่มีนโยบายเปิดไฟฟ้าตลอดเวลา แต่ให้ปิดเวลาที่ไม่ใช้ ช่วยควบคุมคนที่มาอยู่ด้วย ท่านประหยัดมาก คนที่มาปฏิบัติก็จะได้ฝึกด้วย ซึ่งการที่เราทำอะไรเท่าที่จำเป็น ไม่มีส่วนเกิน จะช่วยได้มาก เป็นการฝึกปฏิบัติโดยตรง คนที่ทำเช่นนี้ได้แสดงว่าเขาละวางตัวตนได้พอสมควร จิตเขาจะฟังธรรมเข้าใจง่ายขึ้น ถ้าไม่ลดตัวตน เมื่อมาอยู่ฟังธรรมก็จะเข้าใจยาก

    ถ้าเข้าใจธรรมะตามแฟชั่น ก็ไม่ได้ดับทุกข์จริง ก็ให้ผลกับคนที่ทำแบบนั้น สุดท้ายมันก็เร่าร้อน เพราะเป็นกิเลส อยากโอ้อวด แต่ธรรมะที่เป็นความถูกต้อง มันจะนำเราไปสู่ความสงบเย็น

  • สิ่งที่อยากฝากไว้
  • หากต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมให้มีความก้าวหน้า สำคัญที่สุดคือ ไม่ยึดติดกับครูบาอาจารย์มากเกินไป แต่ต้องหันมาปฏิบัติและดูสภาวะจิตของตัวเอง ถ้าเราศึกษาพุทธประวัติจะพบว่า ผลสุดท้ายพระองค์ก็ไม่คิดจะพึ่งใคร หันมาศึกษาด้วยตนเอง อยู่ตัวคนเดียวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร จนตรัสรู้ด้วยตัวเอง หรือท่านพุทธทาส แม้จะลองไปเรียนนักธรรมเปรียญอะไรมากมาย ผลสุดท้ายท่านไม่คิดจะไปหาครูบาอาจารย์ที่ไหนเลย ท่านก็มาเลือกสถานที่ที่เป็นวัดร้าง แล้วท่านก็ขวนขวายศึกษาจากพระไตรปิฎก ทดลองปฏิบัติ และพิจารณา จนเข้าถึงแก่นธรรมอย่างแท้จริง

    สวนโมกข์กรุงเทพ “สืบสานงานธรรม เพื่อศีลธรรมและความถูกต้อง”

    น.พ.บัญชา พงษ์พานิช กล่าวถึงงานที่สวนโมกข์กรุงเทพว่า “ในช่วงที่บวช (ปี 2527) ผมได้เข้าไปกุฏิท่านอาจารย์พุทธทาส เห็นแล้ว “อึ้งทึ่ง” ท่านเป็นคนที่แม้จะทำงานมากแต่มีความเป็นระเบียบอย่างเหลือเชื่อ และสิ่งที่ท่านทำไว้สุดยอดจริงๆ เรียกว่าท่านรับใช้พุทธศาสนาอย่างข้าทาสและถวายตัวเป็นทาสของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ผมเคยเสนอท่านให้ทำ “หอจดหมายเหตุ” เพื่อสืบสานและเผยแพร่สิ่งที่ท่านทำไว้ ท่านถามกลับว่า “ใครจะทำ” ซึ่งขณะนั้นผมไม่มีคำตอบ จนกระทั่งท่านสิ้นปี 2536 อาจารย์โพธิ์ให้ทุกคนเก็บของท่านไว้”

    จนกระทั่งปี 2549 อาจารย์โพธิ์มาชวนว่า “หมอทำอะไรมามากแล้ว มาช่วยทำหอจดหมายเหตุท่านอาจารย์เถอะ”

    อาจารย์หมอประเวศ วะสี ออกปากฝากไว้ว่า “ถ้าบัญชาทำเรื่องนี้ผมขอทำด้วย ทำให้คนในสังคมไทยให้เห็นสารพัดอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสทำ ให้รู้ว่าคนธรรมดาสามัญ การศึกษาไม่ได้สูง อยู่แต่ต่างจังหวัดก็ทำอะไรได้อย่างนี้ ทำให้คนไทยอีกหลายๆ คนลุกขึ้นมาทำอะไร จะได้มีพุทธทาสเกิดขึ้นหลายๆ คน”

    “ผมคิดว่า งานของท่านอาจารย์พุทธทาสมีคุณค่ามาก และท่านมีบุญคุณช่วยชี้ทางให้ผมมีเครื่องมือจัดการความทุกข์ ที่สำคัญ นี่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าที่สุดยอด และผมอยากให้คนอื่นมีโอกาสได้เจอธรรมะอย่างที่ผมเจอ จึงอยากอุทิศตัวให้กับงานนี้ ได้ร่วมกันนำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสขึ้นที่ “สวนวชิรเบญจทัศ” และทรงมีพระบรมราชานุญาต นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”

  • เหตุปัจจัยที่ผลักดันให้งานสำเร็จเกิดขึ้นพร้อมกัน
  • “ตอนแรกพวกเราก็คิดสั้นๆ ว่า จะสร้างหอจดหมายเหตุไว้ในสวนโมกข์ไชยา วันหนึ่งคุณบรรยง พงษ์พานิช (พี่ชาย) ข้องใจว่า ผมเป็นหมอแล้วมัวทำอะไรอยู่ที่สวนโมกข์ จึงตามมาดู พอได้เห็นสิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสทำไว้ แกก็พูดเสียงดังขึ้นมาตามสไตล์ว่า “นี่เป็น Wealth of the Nation” ที่มีคุณค่าเกินกว่าจะทำแค่นี้ ของอย่างนี้ต้องทำที่กรุงเทพฯ คนจะได้เข้าถึงง่ายและขยายผลได้เยอะ”

    หลังจากคุณบรรยงจุดประกาย ประกอบกับมีผู้หลักผู้ใหญ่อาสามาเป็นกรรมการ เช่น ท่านอาจารย์ ดร.เสนาะ อูนากูล ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านอาจารย์หมอเกษม วัฒนชัย อาจารย์วิจารณ์ พานิช คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นต้น ขณะเดียวกัน คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษา กทม. ในขณะนั้นก็สนใจ จึงได้ร่วมกันนำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสขึ้นที่ “สวนวชิรเบญจทัศ” และทรงมีพระบรมราชานุญาต นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

    ความท้าทายคือ การตัดสินใจไม่ทำหอจดหมายเหตุฯ ที่สวนโมกข์ไชยา เพราะปกติการทำหอจดหมายเหตุ จะต้องทำ ณ ถิ่นเกิด

    เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ทุกคนจึงตั้งใจทำงานนี้เต็มที่ และไม่น่าเชื่อ แม้งบประมาณที่ต้องใช้ในโครงการมากถึง 200 ล้านบาท แต่ด้วย “บารมีธรรมของพระพุทธเจ้า และงานของท่านอาจารย์พุทธทาส” ในเวลาไม่นาน ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาทยอยบริจาคเงินเข้ามาจนได้เงินตามเป้า นอกจากนี้ ยังทำให้ขบวนงานธรรมของสวนโมกข์กรุงเทพ รวมทั้งผม ได้รับความร่วมมือกับอีกหลายขบวนอย่างเกินประมาณ ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์สายพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ชา องค์ทะไลลามะ ท่านติชนัทฮัน ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ทำให้ผมประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ของพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพ ที่เป็นเสาหลักค้ำยันพุทธศาสนาอย่างไม่รู้ว่าจะหาคำใดมาเปรียบ

    นี่เป็น “Wealth of the Nation” ที่มีคุณค่าเกินกว่าจะทำแค่นี้ ของอย่างนี้ต้องทำที่กรุงเทพฯ คนจะได้เข้าถึงง่ายและขยายผลได้เยอะ

    ความท้าทายคือ การตัดสินใจไม่ทำหอจดหมายเหตุฯ ที่สวนโมกข์ไชยา เพราะปกติการทำหอจดหมายเหตุ จะต้องทำ ณ ถิ่นเกิด และคนสุราษฎร์มองว่า นี่คือมรดกของสุราษฎร์ จึงมีขบวนการคัดค้าน งานนี้ต้องให้เครดิตคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และ ส.ส.สุราษฎร์ ที่ช่วยกันสร้างความเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่แค่มรดกของคนสุราษฎร์ แต่เป็นมรดกของชาวพุทธ เป็นมรดกของโลก และที่ลืมไม่ได้คือ “ความเสียสละของคนสุราษฎร์” ที่สุดท้ายมีฉันทานุมัติให้สร้างหอจดหมายเหตุฯ ที่กรุงเทพฯ ได้

    สวนโมกข์กรุงเทพวางวัตถุประสงค์ว่าจะ “สืบสานงานธรรม เพื่อศีลธรรมและความถูกต้อง” งานที่นี่จึงประกอบด้วย 3 ส่วน

    ส่วนแรก เป็นศูนย์การเรียนรู้และสถานบริการด้านศาสนธรรมอันรื่นรมย์ เป็นกำลังเพื่อการบรรลุธรรมลักษณะ spiritual fitness & edutainment center

    ส่วนต่อมา เป็นการสืบสานงานพระพุทธศาสนา ผ่านงาน ปณิธาน และอุดมการณ์ของพุทธทาสภิกขุ ในการนำพาความถูกต้องและสันติสุขทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญา ให้กลับคืนสู่สังคมมนุษยชาติ ด้วยการเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา การทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนิกชนและการออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม จนเป็นพุทธทาสกันได้ทุกคน – ผู้รับใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติให้ดู เป็นอยู่ให้เห็น จนผู้อื่นพากันทำตาม และเป็นสวนโมกข์ได้ทุกที่ – บุญสถานเพื่อการบรรลุธรรม

    ส่วนที่สามเป็นส่วนของหอจดหมายเหตุฯ ซึ่งทำหน้าที่รวบรวม ดูแล รักษา และจัดระบบบริการสืบค้นมรดกธรรม เอกสารข้อเขียนต้นฉบับต่างๆ ของท่านอาจารย์พุทธทาส รวมถึงให้บริการสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา เผยแผ่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศาสนธรรม การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและจิตใจให้เจริญจนกล้าแข็งในความถูกต้องดีงาม

    สืบสานงานพระพุทธศาสนา ผ่านงาน ปณิธาน และอุดมการณ์ของพุทธทาสภิกขุ ในการนำพาความถูกต้องและสันติสุข ทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญาให้กลับคืนสู่สังคมมนุษยชาติ

  • สถานธรรม โจทย์รับใช้มนุษย์ทุกศาสนา
  • ตอนเริ่มงานที่นี่ ท่านเจ้าคุณปยุตโต (ปัจจุบันมีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ให้พรพวกเราผ่านบทความ “อยู่ในใจเหนือเกื้อโลก” หลักๆ คือ การเกิดขึ้นของสวนโมกข์กรุงเทพ เป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ทั้งประเทศนี้มีวัดอยู่หลายหมื่นวัด และทุกวัดที่พระพุทธเจ้าฝากไว้ก็ต้องการให้เป็นสถานธรรมทั้งนั้น เมื่อทำที่นี่ได้ดีแล้ว ก็ขอให้ไปช่วยวัดต่างๆ ให้เป็นสถานธรรม จึงเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก โจทย์ต่อมาคือ ทำอย่างไรให้งานธรรมของพระพุทธเจ้าที่ท่านอาจารย์พุทธทาสนำมาร้อยเรียงได้รับใช้มนุษย์ไม่ว่าศาสนาใดได้อย่างเต็มที่

    ยุทธศาสตร์สำคัญคือ เราจะออกไปเชื่อมประสานกับองค์กรภาคีทางธรรม ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่วัด แต่หมายความรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น แบงก์ชาติ ตลาดหลักทรัพย์ สภาธุรกิจ หอการค้า รัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนนำศีลธรรมกลับมา เพราะคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจในพุทธธรรม จนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์และปัญหาในทุกระดับ ผมคิดว่า ในวันนี้ การจะปลดล็อกความทุกข์และคลายปมปัญหาต่างๆ ในสังคม เราต้องกล้าพูด “ธรรมนิยม” แบบพุทธ เหมือนในอดีตเราใช้ธรรมะในเรื่องต่างๆ เช่น

    justice เรายังใช้คำว่า “ยุติธรรม” คือเอาธรรมะมาเป็นข้อยุติ หรือ good governance เราใช้คำว่า “ธรรมาภิบาล” คือใช้ธรรมะในการกำกับดูแลทั้งที่ จุดเริ่มต้นของเรื่องเหล่านี้มาจากต่างประเทศที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะ แต่เราสามารถใช้ “ธรรม” มาเป็นกรอบการปฏิบัติได้ ดังนั้น เมื่อเลือกใช้ “ธรรม” แล้วก็ใช้ให้เต็มที่ แม้ไม่ง่ายแต่เราเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนกระบวนธรรมครั้งใหญ่

    การจะปลดล็อกความทุกข์ และคลายปมปัญหาต่างๆ ในสังคม เราต้องกล้าพูด “ธรรมนิยม” แบบพุทธ

  • สิ่งที่อยากฝากไว้
  • ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่เกินจะคาดเดา ต้องตั้งหลักให้ได้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจู่โจม และผมคิดว่า ธรรมะท่านอาจารย์พุทธทาสเคยให้ผมเอาไปใช้จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ทุกคนสามารถก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ ธรรมชุดที่ว่าคือ “ธรรมะ 4 เกลอ” ประกอบด้วย สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ

    “สติ” คือ ระลึกรู้อยู่ว่าอะไรเป็นอะไร และเรากำลังเป็นอย่างไรอยู่ และมีความพร้อมเสมอในการดึงเอา

    “ปัญญา”คือความรู้ต่างๆ ที่มีและเคยฝึกฝนมาก่อน เอามาอยู่กับเนื้อกับตัวเป็น

    “สัมปชัญญะ” แบบพร้อมใช้ได้เสมอ หากฝึกฝน “สมาธิ” ให้ดี ก็จะตั้งมั่นรับมือได้สำเร็จ และอาจช่วยให้ก้าวข้ามทุกข์ไปได้

    และนี่คือคำตอบจากผู้สืบสานงานธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาสทั้ง 3 ท่าน เป็นการยืนยันว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า วันนี้ทั้งสามท่านพยายามทำเหตุปัจจัยให้ดีที่สุดตามกำลังความสามารถ

    หมายเหตุผู้เขียน: ขอขอบคุณคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช และเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ทุกท่านที่กรุณานำดิฉันไปที่สวนโมกข์ไชยา และทำให้ดิฉันมีโอกาสได้สนทนากับท่านอาจารย์โพธิ์ และคุณเมตตา พานิช จนเป็นที่มาของบทความนี้ พร้อมทั้งกรุณาตรวจต้นฉบับ สนับสนุนภาพประกอบและอนุญาตเผยแพร่ website ของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ www.bia.or.th และเพื่อเผยแพร่ปณิธานและแนวทางธรรมที่ท่านอาจารย์พุทธทาสฝากไว้ได้กว้างขวางขึ้น