CIMB Thai เตรียมส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนด้วย Transition Finance โฟกัส Oil & Gas และ Power sector เป็นกลุ่มแรก พร้อมตอบสนองดีมานด์ 20,000 ล้านบาท สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
นายเจสัน ลี ผู้บริหารฝ่ายความยั่งยืน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมเดินหน้าสนับสนุน การเงินเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) เปลี่ยนโลกให้สะอาดขึ้น โดยเน้นกลุ่มธุรกิจน้ำมัน & ก๊าซ (Oil & Gas) และพลังงาน (Power) เพราะด้วยลักษณะธุรกิจเป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ 70% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด
ธุรกิจกลุ่ม Oil & Gas ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน แท่นขุดเจาะน้ำมัน ขณะที่ธุรกิจกลุ่ม Power คือ โรงไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ ธนาคารเล็งเห็นภาคธุรกิจ 2 กลุ่มนี้ มีความต้องการเงินทุนเพื่อนำไปลงทุนในทรัพยากร คน อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ที่จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ ตลอดจนปลายน้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างเป็นรูปธรรม
“ธนาคารให้ความสำคัญกับ 2 กลุ่มนี้เป็นอันดับแรก เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและช่วยการลดก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ที่น่ายินดีคือจากการสำรวจพบว่าธุรกิจ 2 กลุ่มนี้มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจโดยเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นรูปธรรม และมีความต้องการการสนับสนุนทางการเงินอย่างชัดเจน (Committed Demand) วงเงินรวมกันจำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคาร CIMB Thai พร้อมตอบสนอง Transition Finance ในส่วนนี้ ภายใน 24 เดือน ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) ตราสารหนี้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Transition Bond) และสินเชื่อเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืน (Transition Loan) เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets) หรือเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทต่างๆ กำหนดขึ้นเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก (1.5 องศาเซลเซียส)” เจสัน ลี กล่าว
นอกจากความพร้อมให้การสนับสนุนด้านการเงิน CIMB Thai ยังมี ESG Advisory ที่พร้อมให้คำแนะนำการเปลี่ยนผ่านอย่างมีหลักการ แก่กลุ่มธุรกิจอีกด้วย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบรรลุเป้าหมาย โดยการสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) อีกด้วย
ทั้งนี้ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ลงนามความร่วมมือ Sustainability Linked Loan จำนวน 3,000 ล้านบาท กับ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เมื่อปี 2566 โดยมีลักษณะสอดคล้องกับเป้าหมายของผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets: SPTs) รวมถึงการลดการปล่อยคาร์บอน Scope 1 (ทางตรง) และ Scope 2 (ทางอ้อม) ต่อปี จนได้รับรางวัล Best Sustainability Linked Loan จาก The Digital Banker: Global Finance Awards 2024 นอกจากนี้ ธนาคารกำลังเสนอการจำหน่ายตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อระดมเงินทุนสำหรับปล่อยกู้ให้โครงการสีเขียว ขณะที่กลุ่มซีไอเอ็มบี บริษัทแม่ของซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศชัดว่าความยั่งยืนเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจ ไม่ใช่เพียงคำศัพท์ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายด้านการเงินเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนเป็น 1 แสนล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาท ภายใน ปี 2564-2567.